Skip to main content
sharethis

"วูบหนึ่ง" ต้นเดือนพฤศจิกายน หลังสึนามิเล็กๆ ในหีบบัตรเลือกตั้งที่อเมริกา วูบนั้น "แอนตี้วอร์" หลายคนออกจะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ...พร้อมกับแอบคาดหวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นบ้างในนโยบายตะวันออกกลาง... แต่แล้วอากาศก็เปลี่ยนแปลงบ่อย วูบที่ว่านั้น..จึงวูบวาบไปเร็วเกือบไม่ทิ้งร่องรอย

 

 

 

 

 

 

 

  

 

Middle East Uncensored

โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย

..................................................................................................................... 

 

 

ร้อน ร้อน ร้อน ร้อน ร้อน

 

ฤดูหนาวปีนี้...ที่เตหะรานอากาศดูจะร้อนระอุกว่าทุกปี

 

มี "วูบหนึ่ง" ต้นเดือนพฤศจิกายน หลังสึนามิเล็กๆ ในหีบบัตรเลือกตั้งที่อเมริกา วูบนั้น แอนตี้วอร์หลายคนออกจะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ...พร้อมกับแอบคาดหวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นบ้างในนโยบายตะวันออกกลาง...สักกะนิดนึงก็ยังดี

 

แต่แล้วอากาศก็เปลี่ยนแปลงบ่อย วูบที่ว่านั้น..จึงวูบวาบไปเร็วเกือบไม่ทิ้งร่องรอย

 

หลังสัญญาณของการเพิ่มทหาร หลังการขุดซากสำนวนโวหารและคำว่า "ชัยชนะในอิรัก" ขึ้นมาหลอกหลอน หลังความรุนแรง-แตกแยกที่พุ่งขึ้นตั้งแต่อิรัก ปาเลสไตน์ ยันเลบานอน จนมาถึงมาตรการแซงก์ชันอิหร่านจากคณะมนตรีความมั่นคงก่อนคริสมัสต์เพียง 2 วัน - - ปี 2007 ที่จะมาถึง ดูจะไม่มีที่ว่างใดๆ สำหรับการมองโลกในแง่ดีเหลือไว้อีกแล้ว

 

ความแตกต่างอยู่ที่...กี่สงครามกันแน่ที่รอเราอยู่ในปีหน้า?

 

มีบางคนสงสัยและ "ได้กลิ่น" ว่า นักพนัน (ขี้แพ้-ขาลง) สามคน...กำลังจะจับมือกัน "ทุ่มเดิมพัน" แก้ตัว-เล่นเกมใหม่ที่พร้อมจะทำลายล้างตะวันออกกลางได้มากกว่าเดิม

 

มาลองดมกลิ่นสกปรกนี้ดูซิว่า...มีความน่าจะเป็นแค่ไหน? กับ รอเบิร์ต แพรี (Robert Parry) บิ๊กนักข่าวมือดี-เชิง Investigative ที่เคยเปิดโปงเรื่องอิหร่าน-คอนทราในยุคแปดสิบมาแล้ว กับบทความ A Very Dangerous New Year จาก ConsortiumNews 21 ธันวาคม 2006

 

o o o

 

 

 

2007 ปีใหม่อันตราย

 

รอเบิร์ต แพรี

21 ธันวาคม 2006

 

 

2-3 เดือนแรกของปี 2007 จะเป็นการเริ่มต้นปีที่อันตรายและนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายของสงครามในตะวันออกกลางมากขึ้น เมื่อ จอร์จ บุช ถูกดึงดูดให้ต้องวางเดิมพันมากขึ้นเป็นสองเท่าของอิรัก...โดยคิดจะร่วมกับ เอฮุด โอลเมิร์ต และ โทนี แบลร์ เข้าโจมตีซีเรียและอิหร่าน - - แหล่งข่าวจำนวนหนึ่งในสำนักข่าวกรองกล่าว

 

เป้าหมายของบุชคือ การก้าวไปให้พ้นอาการติดหล่มจมปลักเลือดในอิรัก ด้วยวิธีการโค่นล้มผู้นำหรือที่เรียกกันว่า "เปลี่ยนระบอบปกครอง" ในซีเรีย พร้อมกับทำลายโรงงานนิวเคลียร์ในอิหร่าน การโจมตีทั้งสองประเทศนี้ ก็เพื่อที่จะให้กลุ่มติดอาวุธทั้งหลายในอิรัก เลบานอน และปาเลสไตน์อ่อนกำลังลง

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า กองทัพอากาศและกองทัพบกของอิสราเอลจะเป็นส่วนที่มีบทบาทหลักในการต่อสู้ครั้งนี้ แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากกองทัพอเมริกาทั้งทางบก-ทางน้ำในตะวันออกกลางก็ตาม ตอนนี้ บุชกำลังคิดที่จะเพิ่มทหารจากเดิม 140,000 โดยอาจจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 170,000 และเขาก็ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินชุดที่สองไปยังชายฝั่งอิหร่านแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ บุชยังเผชิญกับการคัดค้านจากเสนาธิการทหารของเพนตากอนอยู่สำหรับแผนการที่จะเพิ่มทหารในอิรัก ส่วนหนึ่งเพราะนายพลเหล่านั้นคิดว่าการเพิ่มทหารโดยปราศจากการกำหนดภารกิจที่เฉพาะเจาะจงเป็นเรื่องไม่สมเหตุผล (1)

 

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า นายพลเหล่านั้นจะรู้รายละเอียดเกี่ยวกับ "ออปชันสงครามที่ขยายออกไป" ของบุชมากน้อยแค่ไหน มีการพูดคุยปรึกษาเกี่ยวกับออปชันนี้แบบหนึ่งต่อหนึ่งมาสักพักแล้วในหมู่ผู้นำหลัก คือ บุช แบลร์ และโอลเมิร์ต - - แหล่งข่าวกล่าว

 

หลังเลือกตั้งสภาคองเกรสในวันที่ 7 พย. เป็นต้นมา ผู้นำทั้งสามได้เวียนนัดหมายพบปะกันทีละคู่ โดยแสดงท่าทีเหมือนไม่มีอะไรเป็นพิเศษ โอลเมิร์ตพบบุชเป็นส่วนตัวในวันที่ 13 พย., แบลร์แวะไปทำเนียบขาววันที่ 7 ธค., และแบลร์ก็ได้แวะไปเจอโอลเมิร์ตในอิสราเอลวันที่ 18 ธค.

 

ผู้นำทั้งสามนี้จะสามารถกอบกู้ชื่อเสียงของตัวเองได้ ถ้าสงครามที่ขยายวงกว้างออกไปเกิดขึ้น และเกิดในแบบที่พวกเขาได้เปรียบ

 

บุชกับแบลร์เป็นหัวหอกในการโจมตีอิรักเดือนมีนาคม 2003 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา การยึดครองอิรักก็ตามมาด้วยหายนะโดยตลอด ในฤดูร้อน 2006 โอลเมิร์ตได้เปิดฉากโจมตีทั้งกับฮามาสในกาซา และเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน นอกจากเรียกเสียงประณามจากนานาชาติสำหรับความตายของพลเรือนนับพันในเลบานอนแล้ว ยังเรียกเสียงวิจารณ์ในบ้านเกี่ยวกับแผนทำสงครามสุดห่วยของเขาอีกด้วย

 

ผู้นำทั้งสามต่างก็รู้สึกว่า ตัวเองถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองต้อนเข้ามุมอับเหมือนๆ กัน พรรครีพับลิกันของบุชต้องสูญเสียที่นั่งทั้งสองสภาเมื่อวันที่ 7 พย. ขณะที่แบลร์ก็ทนแรงต้านจากพรรคแรงงานของตัวเองไม่ได้ จำใจจะต้องก้าวลงจากอำนาจในฤดูใบไม้ผลิ 2007 พร้อมกันนั้น โอลเมิร์ตก็ต้องเจ็บปวดกับกระแสยี้ที่แพร่สะพัดอย่างหนักสำหรับความล้มเหลวของเขาในเลบานอน

 

แต่ถึงกระนั้น ท่ามกลางผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นลบทุกอย่าง ผู้นำทั้งสามก็ยังปฏิเสธไม่ยอมรับฟังคำแนะนำจากที่ปรึกษาสายที่นิยมการประนีประนอมมากกว่า ที่ปรึกษาเหล่านั้นแนะนำให้ใช้แนวทางที่ลดการเผชิญหน้าและเปิดการเจรจาแบบไม่ต้องตั้งเงื่อนไขกับฝ่ายที่เป็นศัตรูชาวมุสลิม

 

ที่ชัดเจนและน่าตกใจมากที่สุดก็คือ บุชบอกปัดแผนของไอเอสจี (Iraq Study Group) - แผนที่มาจากคณะกรรมการทั้งสองพรรคและมี เจมส์ เบเกอร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศและที่ปรึกษาเก่าแก่ประจำตระกูลบุชเป็นผู้ร่วมเขียน

 

แทนที่จะรับฟังคำแนะนำของเบเกอร์ เริ่มลดจำนวนทหารในอิรักพร้อมกับเปิดเจรจากับอิหร่านและซีเรีย บุชกลับปฏิเสธแนวทาง "graceful exit" (การถอนตัวอย่างสง่างาม) แล้วหันไปตั้งเงื่อนไขชนิดที่ไม่สามารถยอมรับได้ในการเปิดเจรจากับอิหร่านและซีเรีย

 

หรืองานนี้พูดอีกอย่างได้ว่า เบเกอร์อุตส่าห์โยนเครื่องช่วยชีวิตไปให้ แต่บุชกลับขว้างคืนมาอย่างไม่ใส่ใจ

 

 

อะเจนดาเพื่อ "ชัยชนะ"

บุชยังคงยึดมั่นถือมั่นกับ "ชัยชนะ" ในอิรักไม่เลิก พร้อมหยิบสำนวนโวหารเดิมๆ มาวนเวียนตอกย้ำกันอีกครั้ง ตอนนี้เขากลับมาพูดถึงการทำสงครามอันยาวนานกับพวกมุสลิม "สุดขั้ว" อีกแล้ว ไม่ใช่แค่เป้าหมายตอนแรก ที่เคยบอกไว้ว่าจะเอาชนะ "ผู้ก่อการร้ายที่มีความสามารถในการก่อการร้ายระดับโลก" เท่านั้น

 

ในงานแถลงข่าวสิ้นปี เมื่อ 20 ธค. บุชได้วาดภาพถึงการต่อสู้ครั้งใหญ่ที่มีต่อพวกอิสลามมิสต์หรือมุสลิมสุดขั้ว-หัวรุนแรงทั้งหมดว่า...เปรียบเสมือนบททดสอบความเพียรพยายามและความแข็งแกร่งเป็นลูกผู้ชายของอเมริกา เขาได้วาดภาพศัตรูของเขาว่า "พวกนั้นจะไม่สามารถขับเราออกมาจากตะวันออกกลางได้ พวกนั้นจะไม่มีทางทำให้อเมริกาต้องเสียขวัญ"

 

บุชยังได้กล่าวอีกว่า การตัดสินใจที่เต็มไปด้วยความยากลำบากและเจ็บปวด...รอเขาอยู่ข้างหน้า ในช่วงเวลาปีใหม่นี้

 

"ผมคงไม่มาทำนายทายทักว่าปี 2007 ในอิรักจะออกมาเป็นยังไง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมพอจะบอกได้ก็คือ มันจะเป็นเรื่องของทางเลือกที่ยากลำบากและการเสียสละที่เพิ่มมากขึ้น เพราะศัตรูของเรานั้นโหดร้ายและไม่ปรานีใคร"

 

แทนที่จะล่าถอยไปจากความฝันของนีโอคอนที่คิดจะเปลี่ยนตะวันออกกลาง บุชกลับพยายามหาเหตุผลข้ออ้างมารองรับการขยายตัวของกองทัพเพื่อที่จะทำสงครามต่อไประยะยาว

 

"เราต้องทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่า กองทัพจะมีความสามารถในการยืนหยัดรับมือกับการต่อสู้ที่ต้องกินเวลายาวนานได้" บุชกล่าว "ผมไม่ได้หมายความถึงสมรภูมิไหนเป็นการเฉพาะเจาะจง ผมเพียงแต่กำลังคาดการณ์ว่า มันคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเดียว กว่าที่อุดมการณ์แห่งเสรีภาพจะมีชัยชนะเหนืออุดมการณ์แห่งความเกลียดชัง......"

 

"เรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างสองอุดมการณ์ที่กำลังชิงดีชิงเด่นกัน - - และความขัดแย้งนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าลูกหลานของเราจะสามารถใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในอนาคตได้หรือไม่ ความล้มเหลวในตะวันออกกลาง ความล้มเหลวในอิรัก หรือแนวคิดแบบ Isolationism ที่บอกให้เราสนใจเฉพาะกิจการในประเทศ หันหลังให้กับความวุ่นวายนอกบ้าน จะทำให้เยาวชนอเมริกันรุ่นหลังต้องตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามจากโลกภายนอกอย่างถาวร"

 

ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะมองหาทางออกจากปลักตมในอิรัก บุช - ซึ่งตอนนี้จมลึกไปถึงเอวแล้ว - ยังคงมุ่งมั่นที่จะลุยหนักกันต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ความยากลำบากในการตัดสินใจของบุชก็คือ เวลาที่เหลือน้อยลงทุกทีและไม่เป็นใจให้เขา ไม่เพียงประชาชนอเมริกันจะไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องที่ทหารต้องเสี่ยงภัยอยู่ภายใต้สงครามกลางเมืองในอิรัก แต่ฐานเสียงที่สนับสนุนเขาทั้งในและนอกประเทศก็กำลังทรุดตัวลงเรื่อยๆ เช่นกัน

 

สำหรับแบลร์ ผู้ซึ่งถูกเย้ยหยันอย่างกว้างขวางในอังกฤษว่าเป็นเพียง "ลูกหมาพูเดิลของบุช" นั้น ช่วงเวลามีอำนาจของเขากำลังจะจบลงแล้ว พรรครีพับลิกันของบุชก็กำลังวิตกเกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี 2008 ถ้าทหารอเมริกันยังคงเดินหน้าสูญเสียต่อไปในอิรักอีกสองปี

 

ยิ่งกว่านั้น มีนักวิเคราะห์ด้านการทหารจำนวนน้อยมากที่เชื่อว่า การเพิ่มทหารอย่างเดียวชั่วระยะเวลาหนึ่ง จะสามารถหยุดสถานการณ์ที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องในอิรักได้ บุชก็ดูเหมือนจะเข้าใจข้อกังวลตรงนี้อยู่ไม่น้อย

 

"เพื่อที่จะทำเช่นนั้น (เพิ่มทหาร) มันจำเป็นจะต้องมีการระบุให้ชัดว่าภารกิจคืออะไร เพิ่มไปแล้วกองทัพที่มีทหารเพิ่มขึ้นจะทำอะไร ภารกิจนี้ต้องเฉพาะเจาะจงและสามารถปฏิบัติให้ประสบผลตามนั้นได้" บุชกล่าว "นั่นเป็นสิ่งที่ม่ทัพของเราและผู้ที่มีความเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องนี้กล่าวเอาไว้ และผมก็ยอมรับว่าเราจำเป็นจะต้องมีภารกิจที่ชัดเจนและสามารถบรรลุได้ ก่อนที่ผมจะตกลงใจยอมรับยุทธศาสตร์เรื่องการเพิ่มทหาร"

 

แม้ฟังดูแล้วจะไม่น่าเชื่อว่า นี่คือหนทางที่จะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างนิกายในอิรักสงบลงได้ แต่การใส่ทหารเพิ่มเข้าไปหรือการทำให้กองทัพอเมริกาแข็งแกร่งขึ้นนี้ จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกาในอิรักได้ ในกรณีที่อิสราเอลโจมตีซีเรียและอิหร่าน ซึ่งนั่นย่อมจะส่งผลให้เกิดการแก้แค้นตอบโต้เป้าหมายที่เป็นอเมริกาหรืออังกฤษตามมา

 

 

สงครามใหม่-ใหญ่กว่า

สำหรับบุช ความคิดที่จะขยายสงครามให้กว้างกว่าอิรักไม่ใช่เรื่องใหม่

 

ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิ 2006 ตามที่มีรายงาน...บุชให้น้ำหนักอย่างมากกับออปชันการใช้กำลังทหารในการโจมตีแหล่งผลิตนิวเคลียร์อิหร่าน แต่เขาไม่สามารถเผชิญกับแรงต้านของเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของกองทัพได้

 

นักข่าวสาย investigative อย่าง ซีมัวร์ เฮิร์ช เขียนไว้ในนิวเยอร์คเกอร์ว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทัพจำนวนหนึ่ง เดือดร้อนกับวิธีคิดของนักวางแผนสงครามของฝ่ายบริหารมาก พวกนั้นเชื่อว่า การใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่มีอำนาจเจาะทะลวงบังเกอร์ (bunker-busting) หรือที่รู้จักกันว่า B61-11 นั้น คือหนทางเดียวที่จะทำลายแหล่งผลิตนิวเคลียร์อิหร่านที่ฝังลึกอยู่ใต้ดินได้

 

อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองอาวุโสรายหนึ่ง บอกกับเฮิร์ชว่า ทำเนียบขาวปฏิเสธที่จะเอานิวเคลียร์ออปชันทิ้งไปจากแผน แม้จะมีเสียงค้านจากฝ่ายเสนาธิการทหารก็ตาม "เมื่อไหร่ที่ใครสักคนพยายามจะเอาออก คนๆ นั้นก็จะถูกเล่นงานเสียงดัง" อดีตเจ้าหน้าที่กล่าว (นิวยอร์คเกอร์ เมษายน 17, 2006)

 

อย่างไรก็ตาม ปลายเมษายน 2006 สุดท้าย เสนาธิการทหารก็สามารถทำให้ทำเนียบขาวต้องยอมรับฟังเหตุผลของพวกเขาได้ การใช้อาวุธทำลายโรงงานเสริมสมรรถนะนิวเคลียร์ของอิหร่านที่นาทานซ์ - ซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของเตหะรานไม่ถึง 200 ไมล์ - ผลลัพธ์ของมันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในทางการเมือง - - เฮิร์ชกล่าว

 

"บุชและเชนีย์ เอาจริงเอาจังอย่างมากกับแผนใช้นิวเคลียร์" อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองรายหนึ่งว่าไว้

 

แต่ถึงแม้ว่านิวเคลียร์ออปชันจะถูกโยนทิ้งจากโต๊ะไปแล้ว (2) แต่เหล่าเจ้าหน้าที่อาวุโสในกองทัพก็ยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจการเมืองจากแคมเปญทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ในอิหร่านอยู่นั่นเอง เฮิร์ชเขียนไว้ว่า :

 

"ภายในเพนตากอน ผู้บัญชาการอาวุโสเริ่มท้าทายแผนทำสงครามของประธานาธิบดีบุชมากขึ้นเรื่อยๆ ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่จำนวนมากทั้งที่อยู่ในราชการและที่เกษียณแล้ว พลเอกและพลเรือเอกหลายนายได้บอกกับฝ่ายบริหารว่า แคมเปญทิ้งระเบิดที่ว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จในการทำลายโปรแกรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน พวกเขายังเตือนด้วยว่า การโจมตีจะนำไปสู่ผลลัพธ์ทางการทหาร การเมือง และเศรษฐกิจที่ร้ายแรงต่ออเมริกา"

 

เฮิร์ชอ้างถึงคำพูดของนายพลเกษียณแล้วรายหนึ่งที่กล่าวว่า "คนในระบบ (กองทัพ) เริ่มรู้สึกว่าเรากำลังจะไปถึงทางตันแล้ว พวกเขาไม่ต้องการถูกประณามในบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่จะมีขึ้น พวกเขาอยากจะพูดได้เต็มปากว่า...เราลุกขึ้นมาต้านเรื่องนี้นะ" (นิวยอร์คเกอร์ กรกฎาคม 10, 2006)

 

พ้นไปจากอันตรายเรื่องโปรแกรมนิวเคลียร์อิหร่าน คณะผู้บริหารบุชยังมองว่า การเติบโตของชีอะต์ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นภัยคุกคามต่ออิทธิพลของอเมริกา

 

รอบิน ไรท์ (Robin Wright) นักวิเคราะห์ต่างประเทศของวอชิงตัน โพสต์ เขียนไว้ว่า เจ้าหน้าที่อเมริกาบอกเธอว่า "สำหรับอเมริกา เป้าหมายที่กว้างกว่าสำหรับภูมิภาคนี้ก็คือ การกีดกันขัดขวางอักษะแห่งเฮซบอลเลาะห์ ฮามาส ซีเรีย และอิหร่านไม่ให้ขึ้นมีอำนาจ ซึ่งบุชเชื่อว่าจะทำได้ด้วยวิธี pooling resources หรือระดมทรัพยากรทั้งหมดที่มีมาใช้ต้านร่วมกัน เพื่อที่จะเปลี่ยนสนามยุทธศาสตร์ในตะวันออกกลางเสียใหม่" (วอชิงตันโพสต์ กรกฎาคม 16, 2006)

 

จนมาถึงฤดูร้อน 2006 แหล่งข่าวอิสราเอลจำนวนหนึ่งได้เล่าว่า ระหว่างนั้นบุชกำลังสนใจที่จะหาเงื่อนไขนำไปสู่การโจมตีซีเรียและอิหร่าน และเรื่องก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อความตึงเครียดตรงพรมแดนระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในกาซา และเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน นำไปสู่การจับตัวทหารสามคนของอิสราเอลไป ตามมาด้วยสถานการณ์ที่บานปลายอย่างรวดเร็วเมื่ออิสราเอลบุกโจมตีเลบานอนทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน

 

ตอนนั้นเองที่บุชและเหล่าที่ปรึกษานีโอคอนของเขา เห็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-เลบานอนเป็นโอกาสดี ที่จะขยายวงไปสู่การโจมตีซีเรีย และบรรลุเป้าหมายที่เพียรพยายามมานาน นั่นก็คือ โค่นล้มผู้นำของดามัสกัสทิ้งไป (regime change) - - แหล่งข่าวหลายฝ่ายอิสราเอลกล่าว

 

แหล่งข่าวอิสราเอลรายหนึ่งบอกกับผมว่า ความสนใจของบุชที่จะขยายสงครามไปสู่ซีเรียนั้น ถูกเจ้าหน้าที่อิสราเอลระดับอาวุโสหลายรายให้ความเห็นว่า "บ้า" แม้ว่าโดยทั่วไป นายกรัฐมนตรีโอลเมิร์ตจะเห็นดีเห็นงามกับยุทธศาสตร์ต่อต้านกลุ่มติดอาวุธอิสลามของบุชก็ตาม (3)

 

ในรายงานชิ้นหนึ่ง กรกฎาคม 30, 2006 เจรูซาเล็มโพสต์ ได้กล่าวเป็นนัยๆ ไว้เช่นกัน ถึงการที่อิสราเอลปฏิเสธความต้องการของบุชเรื่องการทำสงครามที่ขยายวงไปถึงซีเรีย "เจ้าหน้าที่กลาโหมกล่าวกับโพสต์ว่า......เขาได้รับข้อความบ่งชี้จากอเมริกาว่า อเมริกามีความสนใจอยากจะเห็นอิสราเอลโจมตีซีเรีย" หนังสือพิมพ์รายงานไว้อย่างนั้น

 

สิงหาคม 2006 สำนักข่าวไอพีเอส (Inter-Press Service) ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องนี้ไว้ว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข้อความหรือความต้องการที่ว่าของอเมริกามายังอิสราเอลก็คือ เอลเลียต เอเบริมส์ (Elliott Abrams) รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของบุช ผู้เคยมีบทบาทเป็นแกนนำสำคัญในกรณีอื้อฉาว "อิหร่าน-คอนทรา" ยุคแปดสิบ

 

"ในการพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิสราเอลรายหนึ่ง เอเบริมส์ได้ชี้แจงว่า วอชิงตันจะไม่คัดค้านถ้าอิสราเอลตัดสินใจขยายสงครามไปยังเพื่อนบ้านที่อยู่ตอนบนอีกประเทศหนึ่ง จากคำพูดนี้ ผู้ร่วมสนทนาจึงไม่สงสัยเลยว่าประเทศเป้าหมายที่พูดถึงคือซีเรีย" แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวกับไอพีเอส (4)

 

ธันวาคม 2006 มีราฟ เวอร์มเซอร์ (Meyrav Wurmser) นีโอคอนระดับหัวแถวอีกรายหนึ่ง ซึ่งสามีนีโอคอนของเธอ (เดวิด เวอร์มเซอร์ - David Wurmser) เป็นที่ปรึกษาด้านตะวันออกกลางของเชนีย์ ได้ออกมาคอนเฟิร์มว่า นีโอคอนทั้งในและนอกทำเนียบหวังจะเห็นอิสราเอลโจมตีซีเรีย นั่นเป็นหนทางที่จะบั่นทอนกำลังฝ่ายต่อต้านในอิรัก

 

"ถ้าซีเรียถูกปราบ พวกกบฎในอิรักก็จะถึงจุดจบ" เวอร์มเซอร์กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ ยิตซัก เบ็นโฮริน (Yitzhak Benhorin) ในเว็บไซต์ของ Ynet (Yedioth Internet - อิสราเอล)

 

"สิ่งที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้ก็คือ ความคิดที่ว่าอิสราเอลควรจะต่อสู้กับศัตรูตัวจริง ศัตรูที่หนุนหลังเฮซบอลเลาะห์อยู่......ถ้าอิสราเอลโจมตีซีเรีย มันจะทำให้อิหร่านได้รับผลสะเทือนหนักไปด้วย มันจะทำให้อิหร่านอ่อนแอลง และส่งผลต่อ (การเปลี่ยนแปลง) แผนที่ยุทธศาสตร์ในตะวันออกกลาง"

 

ต้นปี 2007 การฟื้นชีพของยุทธศาสตร์นีโอคอนที่คิดจะใช้กองทัพอิสราเอลขับไล่รัฐบาลซีเรียและสร้างความเสียหายให้กับโปรแกรมนิวเคลียร์อิหร่าน อาจหมายถึง - เกมพนันเดิมพันสุดท้าย - เกมที่มีความเสี่ยงสูง - ของบุชและสมัครพรรคพวกนีโอคอน เพื่อที่จะกอบกู้ชื่อเสียง หน้าตา และสิ่งที่พวกเขาจะเหลือทิ้งไว้ในประวัติศาสตร์อเมริกา 

 

และถ้าสิ่งนี้คือสิ่งที่พวกเขากำลังคิดอยู่ เราจะได้เห็นบุชยอมรับแนวทางการเพิ่มทหารในอิรัก ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ยั่วยุบางอย่างตามมา...ในลักษณะที่อเมริกาจะสามารถกล่าวโทษอิหร่านหรือซีเรียได้ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้ออ้างสำหรับสงครามที่จะขยายวงออกไป


ด้วยเกมพนันที่เล่นกับชีวิตของทหารอเมริกันและผู้บริสุทธิ์นับไม่ถ้วนทั่วทั้งตะวันออกกลาง บุชกำลังจะเดินตามรอยคำพังเพยเกี่ยวกับนักพนันที่ว่า
: ตอนแรกเล่นเพื่อสิบเซ็นต์ ตอนหลังเล่นเพื่อ (ล้าน) ดอลลาร์ o

 

 

.................................................................

อธิบายท้าย

(1) ล่าสุด ในแอลเอไทมส์ 23 ธค. อ้างถึงแหล่งข่าวในกลาโหมว่า ผู้บัญชาการระดับสูงในกองทัพเห็นชอบกับแนวทาง "การเพิ่มทหาร" แล้ว อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน - Generals: More Troops Needed in Iraq, Julian E. Barnes, Los Angeles Times, 23 December 2006

 

(2) มีรายงานใน Raw Story 21 กย. แหล่งข่าวฝ่ายข่าวกรองหลายรายระบุว่า นิวเคลียร์ออปชันยังอยู่บนโต๊ะ และเหล่าเสนาธิการเริ่มเปลี่ยนใจหันมายอมรับความคิดของฝ่ายบริหารแล้ว อ่านเพิ่มเติมใน - Senior intel official: Pentagon moves to second-stage planning for Iran strike option, Larisa Alexandrovna, Raw Story, September 21, 2006

 

(3) อ่านเพิ่มเติมใน - Bush Wants Wider War, Robert Parry, Consortium News, August 3, 2006

 

(4) อ่านเพิ่มเติมใน - Neo-Cons Wanted Israel to Attack Syria, Jim Lobe, IPS, Dec 18, 2006

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net