Skip to main content
sharethis

"คมสันต์รับคำชวนอย่างไม่ลังเล ภายหลังข้าพเจ้าชวนไปเยือนบ้านห้วยวาด หมู่บ้านที่ถอดแบบโศกนาฏกรรมมาจากบ้านวังใหม่อย่างไม่มีสิ่งใดผิดเพี้ยน....."

โดย  อานุภาพ นุ่นสง

 

 

โศกนาฏกรรมซ้ำรอย

คมสันต์รับคำชวนอย่างไม่ลังเล ภายหลังข้าพเจ้าชวนไปเยือนบ้านห้วยวาด หมู่บ้านที่ถอดแบบโศกนาฏกรรมมาจากบ้านวังใหม่อย่างไม่มีสิ่งใดผิดเพี้ยน

 

เขาขอตัวไปเปลี่ยนเสื้อพร้อมกำชับเจ้าเจี๊ยบให้อยู่ดูแลบ้าน

 

 "ให้ไปด้วยก็ได้นะครับ" ข้าพเจ้าบอกคมสันต์ให้เจ้าเจี๊ยบเดินทางไปกับเรา หลังจากเจ้าตัวเล็กเอ่ยปากขอไปด้วยแต่ถูกผู้เป็นพ่อปฏิเสธ เพราะกลัวจะกลับออกมาค่ำมืด

 

บ่ายแก่ๆ เจ้ากุ๊ดจี่จึงทำหน้าที่อีกครั้ง

 

 

สภาพสองข้างทางจากวังใหม่ไปบ้านห้วยวาด

 

บนลูกรังที่ทอดผ่านหน้าบ้านคมสันต์ เจ้ากุ๊ดจี่เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ก่อนบรรจบถนนลาดยางแล้วเลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ไกลไปประมาณ 3 กิโลเมตรด้านขวามือจะมีทางแยกเป็นถนนลูกรังเล็กๆ ตรงทางแยกมีป้ายเล็กๆเขียนว่า "บ้านห้วยวาด 8 กม." เรามุ่งหน้าไปทางนั้น

 

แดดบ่ายร้อนจัด เครื่องปรับอากาศของเจ้ากุ๊ดจี่ดูจะทำหน้าที่บกพร่อง เพราะทั้งคมสันต์และข้าพเจ้าต่างเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ เราตัดสินใจหยุดการทำงานของมันแล้วเปิดกระจกแทน

 

สภาพพื้นที่แถบนี้เป็นเนินดินลูกรังขึ้นลงเตี้ยๆ สภาพสองข้างทางที่แห้งแล้งจึงไม่มีพื้นที่ทำการเกษตร ป่าแถบนี้ส่วนใหญ่เป็นป่าไผ่ สลับกับต้นไม้ขนาดโคนขาที่พร้อมใจกับร่วงใบ

 

ว่าไปแล้วชะตากรรมของชาวบ้านห้วยวาดแทบไม่ต่างอะไรกับชาวบ้านวังใหม่แม้แต่น้อย ต่างก็ต้องเผชิญมรสุมชีวิตอย่างหนักหน่วงหลังราชการสั่งอพยพออกจากเขตป่าอุทยานแห่งชาติ

 

คมสันต์บอกว่าชาวบ้านที่ถูกอพยพมาอยู่ยังบ้านห้วยวาดเขารู้จักมักคุ้นหลายคน เพราะตอนอยู่บนดอยหมู่บ้านวังใหม่ของเขาอยู่กันคนละฟากดอยกับหมู่บ้านทั้ง 4 แต่เขาไม่คิดว่าหลังชาววังใหม่ถูกอพยพลงมา 9 ปีให้หลังจะมาเจอเพื่อนบ้านในสภาพต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน

 

 

จากเนินท้ายหมู่บ้านจะเห็นบ้านห้วยวาดตั้งกระจัดกระจาย

 

...กันยายน 2546 ฝ่ายปกครองอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง มีคำสั่งอพยพชาวเขา 4 หมู่บ้านคือ บ้านแม่เม่า บ้านแม่ต๋าง บ้านห้วยครั่ง และบ้านห้วยริน ต.ทุ่งผึ้ง อำเภอแจ้ห่ม จำนวน 85 ครอบครัว 361 คนออกจากเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท

 

การอพยพครั้งนั้น อำเภอแจ้ห่มในฐานะผู้ดำเนินการให้เหตุผลว่าพื้นที่ของทั้ง 4 หมู่บ้านอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายแล้วไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ พื้นที่ก็มีสภาพเป็นป่าต้นน้ำเกรงว่าชาวบ้านจะลักลอบตัดไม้ทำลายป่า อีกทั้งเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติด ขณะที่การคมนาคมเป็นไปด้วยความยากลำบากทำให้เจ้าหน้าที่ดูแลไม่ทั่วถึง

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อม และการควบคุมพืชเสพติดบนพื้นที่สูง ระยะที่ 3 (พ.ศ.2545-2549) จึงจำเป็นต้องอพยพหมู่บ้านทั้ง 4 ออก โดยกำหนดพื้นที่รองรับบริเวณป่าห้วยวาดซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนวัง แปลงที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับที่เหมาะสมมีเนื้อที่กว่า 500 ไร่

 

เจ้ากุ๊ดจี่เคลื่อนตัวไปข้างหน้าด้วยความเร็วที่สม่ำเสมอ เว้นแต่จังหวะขึ้นเนินที่ต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ มองไปทางกระจกหลังเห็นฝุ่นสีลูกรังปลิวฟุ้งกระจาย แม้เป็นถนนลูกรังแต่สภาพถนนดูจะไม่ลำบากมากนัก แต่กระนั้นคมสันต์บอกว่าช่วงหน้าฝนการใช้เส้นทางนี้สำหรับคนไม่คุ้นเคยนับว่าเป็นเรื่องลำบากเอาการ

 

เริ่มเข้าเขตหมู่บ้านห้วยวาดเห็นป้าย"บ้านใหม่สามัคคี"อยู่ด้านซ้ายมือ คมสันต์บอกว่าทางอำเภอเพิ่งเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากบ้านห้วยวาดเป็นบ้านใหม่สามัคคีเมื่อไม่นานมานี้ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับชื่อห้วยวาดมากกว่า

 

สภาพหมู่บ้านห้วยวาดจะตั้งเป็นหย่อมๆ อยู่เป็นกลุ่มตามหมู่บ้านเดิมก่อนถูกอพยพ ทั้งหย่อมบ้านแม่เม่า แม่ต๋าง ห้วยครั่ง และห้วยรินแยกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน หย่อมบ้านเหล่านี้ตั้งกระจายเรียงรายไปตามสองข้างทางถนนลูกรังที่ทอดผ่านใจกลางหมู่บ้านก่อนจะไปสิ้นสุดบนเนินสูงท้ายหมู่บ้าน ถัดจากเนินนั้นไปจะเป็นแม่น้ำวัง

 

บรรยากาศภายในชุมชนที่นี่ค่อนข้างแตกต่างกับบ้านวังใหม่อย่างเห็นได้ชัด คนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่มสาว คนวัยกลางคนทั้งชายหญิง รวมทั้งลูกเด็กเล็กแดงเดินกันขวักไขว่

 

เจ้ากุ๊ดจี่พาเราไปกลางหมู่บ้าน ผ่านบ้านเรือนที่ตั้งเรียงรายสองข้างทาง ผ่านชาวบ้านที่นั่งเป็นกลุ่มๆ สังเกตเห็นถึงเขาเหล่านั้นมิได้ตื่นเต้นกับการเข้ามาของเราเท่าไรนัก เฉยๆเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

คมสันต์บอกว่าหมู่บ้านแห่งนี้ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมามีบุคคลภายนอกเข้ามาเยอะมากทั้งหน่วยงานของรัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน นานเข้าชาวบ้านจึงเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

 

เจ้ากุ๊ดจี่หยุดนิ่งกลางหมู่บ้าน บนเนินดินด้านขวามือมีบ้านอยู่หลังหนึ่ง

 

"จะก่าคงอยู่บ้านนะ" ข้าพเจ้าเปรยกับคมสันต์

 

"คิดว่าน่าจะอยู่นะ" คมสันต์เดินนำไปยังบ้านหลังนั้น

 

เดินขึ้นเนินไปถึงบ้านก็เจอจะก่าผู้เป็นเจ้าของบ้านพอดี

 

เขา-จะก่า ในชุดเปลือยท่อนบนยิ้มทักทายพลางเชื้อเชิญนั่งตรงชานหน้าบ้าน วันนี้ครอบครัวของเขาอยู่กันพร้อมหน้า ทั้งภรรยาและลูกๆ 2 คน

 

คมสันต์ทักทายจะก่าด้วยความคุ้นเคย ก่อนจะหันมาหยอกล้อเด็กทั้ง 2 คน และไม่ลืมที่จะทักทายภรรยาของจะก่าซึ่งกำลังวุ่นวายอยู่กับการทำกับข้าวในครัว

 

ข้าพเจ้าแปลกใจที่เห็นหล่อนกำลังทำกับข้าวมื้อเที่ยง ในเมื่อนี่มันบ่ายแก่ๆแล้ว

 

จะก่าอาจเห็นความสงสัยจึงบอกว่าช่วงนี้ไม่ได้ไปไหน ไม่ได้ทำอะไร อยู่บ้านเฉยๆจึงกินเมื่อไรก็ได้

           

สัญญาปากเปล่า

จะก่า หรือนายจะก่า สันโดษชน วัย 38 ปีเดิมเป็นชาวบ้านแม่ต๋าง หลังถูกอพยพลงมาอยู่ที่บ้านห้วยวาดใหม่ๆเขาเป็นผู้ใหญ่บ้าน นับเป็นแกนนำชาวบ้านคนสำคัญที่ผลักดันเรียกร้องต่อทางการให้เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านโดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกิน

 

ทว่า เขาดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านได้ไม่นานนักก็ถูกทางอำเภอแจ้ห่มสั่งปลด แล้วแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ขึ้นมาแทน

 

ในวงสนทนาบนชานบ้าน เขาบอกว่าตั้งแต่ถูกอพยพมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน สภาพปัญหาที่เคยเกิดขึ้นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังคงอยู่อย่างนั้น โดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกินและแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งที่ก่อนการอพยพนายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์ นายอำเภอแจ้ห่มในขณะนั้นรับปากชาวบ้านว่าเมื่ออพยพลงมาทางอำเภอจะจัดหาสาธารณูปโภคให้อย่างเพียงพอ

 

จะก่าบอกว่าใจจริงแล้วชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านไม่มีใครอยากอพยพลงมา เพราะหลายคนต่างรับรู้บทเรียนในชะตากรรมจากการอพยพชาวบ้านวังใหม่เป็นอย่างดี แต่เมื่อเจ้าหน้าที่อ้างกฎหมายรวมทั้งความมั่นคง ชาวบ้านจึงจำใจต้องอพยพลงมาอย่างไร้ทางเลี่ยงเช่นเดียวกัน

 

นอกจากนี้ ทางการเองก็รับปากว่าหากชาวบ้านอพยพลงมาจะให้ความช่วยเหลือทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินที่เพียงพอ จะมีการฝึกอาชีพ รวมทั้งจัดหาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งไฟฟ้า ประปา อนามัย  โรงเรียนให้ และที่สำคัญทางอำเภอจะให้สัญชาติแก่ชาวบ้านทั้งหมดด้วย

 

ดูเหมือนว่าข้ออ้างเรื่องการให้สัญาชาติจะทำให้ชาวบ้านใจอ่อนมากที่สุด เพราะช่วงอยู่บนดอยชาวบ้านเกือบทั้งหมดยังไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน ส่วนใหญ่มีเพียงบัตรสีฟ้าและบัตรสีเขียวขอบแดงที่อนุญาตให้อยู่ได้เฉพาะเขตพื้นที่ที่ราชการกำหนดให้เท่านั้น หากใครออกนอกพื้นที่ที่กำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

แน่ล่ะ ! ข้อเสนออันหอมหวานนั้นทำให้ชาวบ้านยอมอพยพลงมา เพราะอย่างน้อยคำสั่งดังกล่าวไม่มีใครปฏิเสธได้อยู่แล้วแถมยังได้สัญชาติเป็นพ่วงท้ายมาอีก หลายคนคิดว่ายังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย แม้ลึกๆไม่มีใครอยากออกมาเผชิญชะตากรรมที่ไม่สามารถล่วงรู้ความเป็นไปในอนาคตได้ แต่เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นเมล็ดพันธุ์แห่งดอยสูงจึงปลิวคว้างไปตามกระแสพายุร้ายที่พัดพาไปหล่นอยู่ ณ ผืนดินแห้งผาก

 

จะก่าบอกว่า ก่อนการอพยพไม่นานนักทางอำเภอพาตัวแทนชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านจำนวนหนึ่งมาดูสภาพพื้นที่รองรับซึ่งมีเนื้อที่กว่า 500 ไร่ อยู่บริเวณป่าห้วยวาดซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนวัง เขาบอกว่าแรกที่เห็นพื้นที่รองรับทุกคนต่างพอใจ ป่าเขียวขจี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ทั้งการคมนาคมจากถนนใหญ่ก็แค่ 8 กิโลเมตรเท่านั้น

 

จากสภาพพื้นที่รองรับที่เห็น หลายคนเริ่มหมดห่วงเรื่องความแร้นแค้นในวิถีชีวิตเฉกเช่นที่เกิดกับชาวบ้านวังใหม่

 

เมื่อตัวแทนชาวบ้านทั้งหมดกลับเข้าสู่หมู่บ้าน ข่าวคราวพื้นที่รองรับการอพยพที่มีความอุดมสมบูรณ์ น้ำท่าเพียงพอต่อการใช้ทั้งปีแพร่สะพัดไปทั่วทั้ง 4 หมู่บ้านอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านที่เคยลังเลในชะตากรรมหลังอพยพก็เริ่มผ่อนคลายความวิตกกังวลไปบ้าง

 

และแล้ว...วันเวลาแห่งการเดินทางออกจากหมู่บ้านก็เดินทางมาถึง

 

เดือนกันยายน 2546 การอพยพชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านทั้ง 85 ครอบครัว 361 คนไปอยู่ยังป่าห้วยวาดภายใต้การดำเนินการของอำเภอแจ้ห่มก็เริ่มต้นขึ้น

 

รถบรรทุกของทางราชการ อาทิ จากมณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี สำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 รวมทั้งจากส่วนราชการอื่นๆกระจายขนสัมภาระของชาวบ้านทั้งบ้านบ้านแม่เม่า บ้านแม่ต๋าง บ้านห้วยครั่ง และบ้านห้วยริน ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นถูกลำเลียงขึ้นรถบรรทุกจนเกือบหมด คงเหลือเพียงไม้จากบ้านเก่ากับผลผลิตทางการเกษตรที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวซึ่งทางราชการบอกว่าจะค่อยๆทะยอยลำเลียงขนมาให้ภายหลัง

 

เมื่อรถบรรทุกทั้งหมดเคลื่อนออกจากหมู่บ้าน หลายคนเริ่มวาดหวังในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ขึ้นในอากาศโดยมีฉากหลังคือความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แห่งใหม่ จะก่าบอกว่าตอนนั้นเขาเองก็วาดหวังว่าเมื่อมาอยู่ที่ห้วยวาดแล้วจะลงมือปลูกข้าวและข้าวโพดก่อนเพราะหากรอช้าข้าวที่นำมาจากบ้านเก่าอาจไม่พอกินตลอดระยะเวลาในปีนั้น

 

ทว่าทุกคนหารู้ไม่ว่าความหวังเล็กๆที่วาดเอาไว้นั้นกำลังกลายเป็นความหวังลมๆแล้งๆในอีกไม่ช้านี้

 

ดุจดั่งวัชพืชหลังเขา

กับข้าวในครัวเสร็จถูกยกออกมาวางบนขันโตกที่ชานบ้าน จะก่าชวนเราร่วมวง เราไม่ปฏิเสธ

 

กับข้าว 2 อย่างผัดผัก กับผักต้มและมีน้ำพริก 1 ถ้วย

 

มองเข้าไปในบ้านเห็นกระสอบข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งวางซ้อนกันอยู่ จะก่าบอกว่าข้าวเปลือกเหล่านี้ได้มาจากการบริจาค เพราะดินที่นี่ปลูกข้าวไม่ได้และนี่ก็ยังไม่รู้ว่าหากข้าวเปลือกเหล่านี้หมดลงเขาจะทำอย่างไร

 

หลังกินข้าวเสร็จคมสันต์ขอตัวไปทักทายชาวบ้านห้วยวาดคนอื่นๆ ขณะที่จะก่าเล่าให้ข้าพเจ้าฟังต่อว่า เมื่อรถบรรทุกสัมภาระเริ่มเข้าสู่เขตป่าห้วยวาดชาวบ้านทุกคนเริ่มเห็นเค้าลางแห่งความหายนะ

 

ภาพที่ปรากฏตั้งแต่ปากทางเข้าจนถึงจุดพื้นที่รองรับ ภาพที่ปรากฎคือความแห้งแล้ง ป่าทั้งผืนโปร่งโล่งมีสีน้ำตาล ลำห้วยข้างทางที่น้ำเคยไหลกลับแห้งขอด เสียงวิตกกังวลจากชาวบ้านที่นั่งกะบะท้ายรถบรรทุกเริ่มดังอื้ออึง

 

เมื่อมาถึงที่หมายสัมภาระทั้งหมดถูกขนลงจากรถกองไว้เป็นจุดๆแยกตามหมู่บ้านเดิม ขณะที่ชาวบ้านก็เริ่มสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงภาพพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามที่มีการบอกกล่าวก่อนหน้านี้แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนใดๆ ขณะที่คนที่เป็นตัวแทนชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านที่เคยมาดูพื้นที่รองรับก่อนหน้านี้ก็ถึงกับตะลึงว่าเกิดอะไรขึ้น

 

"อ้าว แล้วไหนบอกน้ำท่าอุดมสมบูรณ์" ข้าพเจ้าถามพลางจุดบุหรี่ จะก่าขอหนึ่งมวนขณะพาข้าพเจ้าเดินดูสภาพพื้นที่รอบๆหมู่บ้าน

 

จะก่าถอนหายใจยาวแล้วบอกว่า ช่วงที่ราชการพาตัวแทนชาวบ้านมาดูพื้นที่รองรับนั้นเป็นช่วงหน้าฝน ป่าจึงเขียวขจี น้ำไหลเต็มลำห้วย แต่พื้นที่แห่งนี้เป็นป่าเต็งรัง ดินเป็นดินลูกรังปนหินทั้งแปลง ในช่วงหน้าฝนของที่นี่ซึ่งฝนตกในช่วงระยะเวลาสั้นๆดินจึงอุ้มน้ำได้เต็มที่ แต่ในช่วงหน้าแล้งที่ยาวนานสภาพดินคายน้ำออกหมด ดังนั้นสภาพที่เกิดขึ้นจึงเป็นอย่างที่เห็น เขาชี้ให้ข้าพเจ้าดูสภาพพื้นที่อันแห้งแล้งบริเวณหมู่บ้านจนพืชที่ปลูกไม่สามารถแตกหน่อผลิใบได้ ขณะที่ลำห้วยสายเล็กๆที่ทอดผ่านหมู่บ้านก็แห้งขอดกลายเป็นลำห้วยร้าง ไม่มีน้ำแม้เพียงหยด

 

แน่ล่ะ ! ความฝันที่เขาวาดหวังไว้ว่าเมื่ออพยพมาถึงจะเร่งลงมือปลูกข้าวและข้าวโพดเพื่อให้พอกินจนกว่าฤดูกาลเพาะปลูกหน้าจะมาถึงจึงกลายเป็นความฝันอันว่างเปล่า

 

เขาเล่าต่อว่า เมื่ออพยพมาถึงพื้นที่รองรับจำนวน 500 ไร่ก็ถูกทางการจัดสรรให้ชาวบ้านทำกินครอบครัวละ 5 ไร่ แต่ผ่านมากว่า 3 ปีปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นผืนป่าเต็งรังอันแห้งแล้งเช่นเดิม

 

ขณะที่การก่อสร้างบ้านเรือนนั้น ปรากฏว่าทางอำเภอแจ้ห่มก็ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านโดยแต่ละครอบครัวจะให้สังกะสี 6 แผ่น ตะปู 6 กิโลกรัม มีด ค้อน จอบ เลื่อย เสียม และตะเกียงอย่างละ 1 อัน รวมทั้งน้ำมันก๊าด 2 ขวด นอกจากนี้ยังให้ค่าอาหารชาวบ้านทุกๆคน คนละ 20 บาทต่อวันภายในช่วงเวลา 20 วันเท่านั้น

 

แม่น้ำวังท้ายหมู่บ้าน

 

ด้านแหล่งน้ำ จะก่าบอกว่าพื้นที่บ้านห้วยวาดนั้นนอกจากลำห้วยอันแห้งขอดที่ทอดผ่านหมู่บ้านแล้วไม่มีแหล่งน้ำอื่นๆ อีกเลย แม้ว่าด้านท้ายหมู่บ้านจะเป็นแม่น้ำวัง แต่จากระยะทางที่ไกลกว่า 1 กิโลเมตรซ้ำยังต้องเดินขึ้นเนินสูงอีกลูกทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญแก่ชาวบ้านในการใช้ประโยชน์

 

อย่างไรก็ตาม กรณีแหล่งน้ำทางอำเภอร่วมกับองค์กรเอกชนบางแห่งทำการเจาะบ่อบาดาลจำนวน 3 บ่อขึ้นมาทำให้ชาวบ้านทั้งหมดค่อยบรรเทาความเดือดร้อนลงไปได้บ้าง ทว่าปัจจุบันชาวบ้านห้วยวาดทั้งหมู่บ้านจำนวนเกือบ 400 คนสามารถใช้น้ำจากบ่อบาดาลเพียงบ่อเดียวเท่านั้น เพราะ 2 บ่อที่เหลือมีสภาพชำรุดไม่สามารถใช้การได้

 

จะก่าบอกว่าตอนนี้ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้เป็นปัญหาใหญ่ของชาวบ้าน และยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ขณะที่ทางอำเภอก็แจ้งมาว่ายังไม่มีงบประมาณมาจัดการแก้ไข และแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขานำแท็งค์บรรจุน้ำขนาด 2,000 ลิตรมาวางกระจายเกือบทั่วหมู่บ้าน แต่ก็มีแค่แท็งค์เปล่าๆเท่านั้น ข้างในไม่มีน้ำ

 

"อำเภอน่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ เพราะนี่มันจะ 3 ปีแล้วแต่ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ผมเองก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว คุณเอาเราลงมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบสิ จะอ้างโน่นอ้างนี่ไม่ได้" จะก่าระบายออกมาขณะพาข้าพเจ้าเดินขึ้นเนินท้ายหมู่บ้านเพื่อไปดูแม่น้ำวัง คงเป็นความอัดอั้นที่ถูกเก็บมานาน คล้ายกับว่าอำเภอปฏิบัติต่อเขาและเพื่อนร่วมหมู่บ้านเยี่ยงเดียวกับเศษวัชพืชที่ถูกถอนทิ้งขว้างเพราะหาความสำคัญใดๆมิได้

 

ระหว่างทางเราเดินสวนกับเด็กๆกลุ่มใหญ่ที่กลับจากเล่นน้ำคลายร้อน เดินขึ้นถึงจุดสูงสุดของเนินเห็นคมสันต์และชาวบ้านห้วยวาด 2-3 คนยืนอยู่ก่อนแล้ว บนเนินแห่งนี้สามารถมองเห็นหมู่บ้านได้เกือบหมด ขณะที่อีกฟากหนึ่งก็พอจะมองเห็นแม่น้ำวังอยู่ลิบๆเบื้องล่าง

 

เดินดูพื้นที่และคุยกันสักพัก เราจึงมุ่งหน้าไปที่โรงเรียน ระหว่างทางเดินผ่านบ้านหลายหลัง บ้างมีคนอยู่บ้างก็ไม่

 

โรงเรียนบ้านห้วยวาดตั้งอยู่ริมหมู่บ้านด้านทิศตะวันออก เป็นอาคารก่อด้วยซีเมนต์ชั้นเดียวทาสีขาวอย่างดี มีนักเรียนประมาณ 20 คนครู 2 คน แต่น่าเสียดาย ช่วงนี้โรงเรียนปิดเทอมจึงไม่มีใครอยู่

 

ก่อนถึงตัวอาคารมีบ้านพักครูอยู่ 1 หลัง ตรงชายคาหน้าบ้านมีม้านั่งฝุ่นจับเขรอะ ใครคนหนึ่งชวนเราเข้าไปหลบแดดที่นั่น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net