Skip to main content
sharethis


สัมภาษณ์โดย จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์


 


 


 


 


 


เมื่อวันที่ 9 ม.ค. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการวิจัยในมนุษย์ พ.ศ.... ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลายคนบอกว่า ไม่มีการพูดถึงชุมชนในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เลย แล้วชุมชนสำคัญอย่างไร นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้สัมภาษณ์ "ประชาไท" เพื่ออธิบายความสำคัญถึงการมีอยู่ของ "ชุมชน" ในงานวิจัย


 


000


ร่างพรบ. นี้มีที่มาอย่างไร


เป็นเรื่องของกรมการแพทย์ที่พยายามจะรีวิวกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาใหม่ โดยได้เคยถูกเสนอมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเสนาะ เทียนทองเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข ก่อนรัฐบาลทักษิณ จากนั้น เมื่อยุบสภาไป กฎหมายนี้มันตกไปและไม่มีการฟื้นมาอีก ขณะที่พวกเราที่ตามเรื่องนี้อยู่ก็พยายามบอกว่ามันก็สำคัญที่ต้องมีกฎหมายเรื่องการวิจัยในมนุษย์ แต่ก็ไม่มีพอ พอจะมีก็ไม่ค่อยดี นักวิจัยและชุมชนก็ไม่ค่อยมีความสุข


 


เพราะอะไร


ร่างกฎหมายฉบับนี้ พอออกมาคนก็ตั้งคำถามว่ามันจะคุ้มครองใคร คุ้มครองนักวิจัย หมอที่ทำการวิจัย คล้ายกับแพทยสภาที่ดูแลแต่แพทย์รึเปล่า หรือว่ามุ่งที่จะคุ้มครองผู้ที่รับการวิจัย เพราะฉะนั้นกฎหมายนี้จึงดูก้ำกึ่งไม่ชัดว่าจะคุ้มครองใคร โจทย์คือคนที่คิดกฎหมายฉบับนี้ใช้วิธีไปลอกของฝรั่งมา บอกว่าคิดบนฐานที่จะคุ้มครองผู้รับการวิจัย ควบคุมการวิจัยให้มีมาตรฐานของการวิจัยที่ดี ให้เคารพ มีจริยธรรม


 


ปรัชญาหรือหลักการแบบนี้พอโอเค แต่ความเห็นคือ กฎหมายนี้ไม่น่าไปมุ่งกำกับตรวจสอบลงโทษมากนัก เพราะถ้ามีวิธีคิดแบบนั้นจะทำให้เกิดความหวาดระแวงกัน เวลาจะทำอะไรนักวิจัยก็จะระแวง ส่วนผู้รับการวิจัยจะรู้สึกอิหลักอิเหลื่อว่าจะมาดีไหม ถ้าไม่ดีแล้วใครจะดูแลเขา กฎหมายจะดูแลได้จริงไหม


 


เพราะฉะนั้น ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้มีกฎหมายที่เป็นเชิงบวก ที่ส่งเสริมให้นักวิจัยมีแรงจูงใจทำงานวิจัย ส่งเสริมให้เขาสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชน กำหนดบทบาทหน้าที่ในเชิงบวก ว่าต้องให้การศึกษา เตรียมชุมชนมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะถ้านักวิจัยมีบทบาทหรือถูกกำหนดบทบาทหน้าที่ว่าต้องสร้างการมีส่วนร่วม ให้การศึกษาที่มากพอก่อนการวิจัย ความผิดพลาด ความไม่เข้าใจ การคัดค้านต่อต้านอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้


 


ในอีกมุมหนึ่ง ถ้ากำหนดสิทธิของชุมชนให้ชัดเจนว่า ชุมชนจะมีสิทธิอะไรบ้าง ต้องมีหน้าที่ในการมีส่วนร่วมในการวิจัยอย่างไรบ้าง จะเป็นการเตือนชุมชนและบอกกับชุมชนว่าต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ กับสิทธิแบบนี้ เปิดให้ผู้นำชุมชนเข้ามาปกป้องสิทธิบุคคลของคนในชุมชนได้


 


กฎหมายต้องก่อให้เกิดการถ่วงดุลและส่งเสริมทั้งสองฝั่ง ให้เกิดความเข้าใจและร่วมมือกัน


แต่ในร่างนี้ ที่ออกมาบนฐานว่า คุ้มครองผู้รับการวิจัยและกำกับตรวจสอบนักวิจัย มีบทลงโทษ มีข้อกำหนดก็รู้สึกว่ามันยังไม่ใช่


 


ชุมชนมีบทบาทอย่างไร


ในร่างฉบับนี้ไม่พูดถึงหรือให้ความสำคัญใดๆ กับชุมชนเลย ไม่ระบุเลยว่าชุมชนจะมีส่วนร่วมไหม หรือชุมชนคืออะไรในงานวิจัย ในขณะที่ไกด์ไลน์การวิจัยขององค์การอนามัยโลกก็ดี การประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการวิจัยศึกษาวิจัยทั้งหลายแหล่ก็ดี มีการพูดเรื่องบทบาทของชุมชน การเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างความเข้าใจ กำกับตรวจสอบนักวิจัยในชุมชน


 


ตัวอย่างเช่น ตอนนี้มีองค์กรหนึ่งที่เรียกว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาจากชุมชนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มีการทดลองวัคซีนหรือทดลองยา ส่วนใหญ่จะบอกว่าต้องมีคนจากชุมชนขึ้นมาเป็นกรรมการเพื่อที่จะให้ความเห็นกับงานวิจัยชิ้นนั้น


 


อย่างของกาชาดที่ทำงานวิจัยหลายๆ ชิ้นก็มีการตั้งคณะนี้ งานวิจัยวัคซีนเอดส์ที่ระยองก็มีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เพราะเทรนด์ตอนนี้คือ งานวิจัยชิ้นไหนที่จะทำกับคนจะตั้งคณะกรรมการนี้ขึ้นมา ก่อนหน้านี้เวลานักวิจัยลงมาในชุมชน แล้วหาอาสาสมัคร ก็จะคุยเป็นคนๆ ไป แล้วคนๆ นั้นจะตัดสินใจเป็นหรือไม่เป็นด้วยข้อมูลจากเพียงนักวิจัยคนนั้น ถ้านักวิจัยดี ให้ข้อมูลรอบด้าน คนๆ นั้นก็ได้ข้อมูลรอบด้าน ถ้านักวิจัยมุ่งจะหาคนให้ได้ ก็หว่านล้อม กวาดต้อน ใช้เงินล่อเขามา ชุมชนจะทำอะไรก็ไม่ได้เพราะไม่รู้เรื่อง แต่ถ้ามีกรรมการที่ปรึกษาจากชุมชน นักวิจัยก็ต้องเข้ามาให้ข้อมูล กับผู้นำชุมชน สร้างความเข้าใจด้วยกัน ถ้าผู้นำชุมชนเห็นประโยชน์ของการศึกษาวิจัยอันนี้ เขาก็จะช่วยทำความเข้าใจกับพี่น้องในชุมชนได้


 


หรือนักวิจัยพูดไว้กับชุมชนดีมากเลย แต่ทำไปทำมามันไม่ใช่อย่างนี้ ถ้าชุมชนรับรู้มาตั้งแต่ต้น ทำแล้วไม่เหมือนที่บอกชุมชนจะตรวจสอบได้ว่าอย่างนี้มันไม่ใช่นะถ้าไม่มีตรงนี้ อาสาสมัครก็ต้องไปดิ้นเอาคนเดียว ถ้าเจอปัญหา ตอนนี้จึงคิดว่า ทิศทางของการวิจัยในมนุษย์ควรจะเป็นแบบนี้ ให้ผู้นำชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับรู้ ให้ความเห็นติดตามตรวจสอบงานวิจัยมากขึ้น


 


ที่มาของกรรมการที่ปรึกษาจากชุมชนได้มาอย่างไร


ทุกวันนี้มาจากการที่มีคนไปทำงานในชุมชน เช่น เอ็นจีโอลงไปให้ข้อมูลไปคุยบอกกับผู้นำชุมชนว่า งานวิจัยเป็นแบบนี้ๆ พอเขาเข้าใจก็ให้เขาเลือกตัวแทนมาเป็นคณะกรรมการเพื่อตามงานกันอย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่จะเลือกจากผู้นำชุมชนหลายๆ ชุมชนที่เข้าใจเรื่องนี้มารวมกัน แต่ในร่างพรบ.ฉบับนี้ไม่มีกระบวนการแบบที่อธิบายไป เพราะเขาไม่มีประสบการณ์ นึกไม่ออกว่าตอนนี้ชุมชนเข้ามามีบทบาทแบบนี้แล้ว แต่ไปลอกเอามาจากอังกฤษอเมริกามา แล้วในกฎหมายนั้นมันไม่มี มันก็เลยไม่มี


 


ชุมชนจะเป็นเหมือนช่องทางที่สองฝั่งจะเข้าใจกันมากขึ้น กรรมการที่ปรึกษาจากชุมชนจะเป็นเหมือนตัวกลางย่อยข้อมูลจากนักวิจัย ซักถามว่าอะไรใช่ไม่ใช่ ถ้านักวิจัยสามารถอธิบายได้ดี ผู้นำเข้าใจ เขาก็ร่วมมือได้ อธิบายต่อ แนะนำนักวิจัยให้ลงในชุมชนได้


 


นอกจากนี้ ยังมีเรื่องไหนที่เป็นช่องโหว่


เรื่องกรรมการที่จะมากำกับตรวจสอบมาตรฐานงานวิจัยในประเทศคิดว่ามันกว้างมาก มีรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นประธาน ปลัดกระทรวงนู้นกระทรวงนี้ 7-8 คนมาเป็นกรรมการ เพราะฉะนั้น โครงสร้างแบบนี้ไม่สามารถกำกับตรวจสอบงานวิจัยได้เลย เลยเสนอกันว่า ถ้าตั้งใจให้กฎหมายนี้มีประโยชน์ ส่งเสริมทั้งนักวิจัย และดูแลอาสาสมัครที่ร่วมงานวิจัย กรรมการลอยๆ แบบนี้ใช้ไม่ได้


 


และแม้จะมีกรรมการลอยๆ สัดส่วนจากชุมชนหรือคนที่ได้รับผลกระทบที่ควรเข้ามาเป็นกรรมการกำหนดนโยบายก็ไม่มี หรือการกำหนดว่ากรรมการการวิจัยในมนุษย์ไม่ควรมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ควรเป็นนักวิจัย ก็ไม่ได้พูดถึง


 


นอกจากนี้ กฎหมายนี้จะเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากสถาบันวิจัย คณะกรรมการจริยธรรมเพื่อที่จะเอาเงินมาดูแลคนที่จะได้รับผลกระทบ วิธีคิดมันลอยมาก จริงๆ กฎหมายอาจต้องนึกถึงการสัญญาผูกพันของรัฐบาลในการสนับสนุนงานวิจัย เช่น ถ้ารัฐพร้อมสนับสนุนงานวิจัยจริงๆ กรรมการนี้ไม่ควรเล่นบทนั่งเก็บเงินใคร รัฐก็สนับสนุนงบประมาณมาเลย เช่น 0.1% ของภาษีเหล้าบุหรี่ ไปแบ่งจากสสส.มาบางส่วน หรือ 0.1%ของงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลเอามาส่งเสริมการวิจัยเรื่องสุขภาพ แล้วก็ไปสนับสนุนให้ชุมชนเข้าใจเรื่องนี้ ให้นักวิจัยหรือสนับสนุนนักวิจัยให้ทำวิจัยในมุมที่มีปัญหาขาดแคลน ให้เป็นโทนนี้เพิ่มขึ้น ไม่ให้ลอย


 


การเก็บค่าธรรมเนียมมาให้กับผู้เข้าร่วมที่ได้รับผลกระทบจากการวิจัยนั้นเอาเข้าจริงอาจจะไปเจอโจทย์ว่า คนไหนได้รับผลกระทบได้รับความเสียหายจากการวิจัย ต้องพิสูจน์กันอีก แล้วถ้าแพทย์ก็เป็นกรรมการถามว่าจะซ้ำรอยกับแพทยสภาไหม


 


อาจต้องมีคิดใหม่ในเรื่องนี้ ในงานวิจัยมีเขียนไว้อยู่แล้วในเรื่องภาระของนักวิจัย ว่าถ้ามีผลกระทบในระหว่างเป็นอาสาสมัครโครงการต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง ไม่จำเป็นต้องมีกองทุนแบบนี้ แต่กองทุนนี้อาจมีบทบาทดูแลอาสาสมัครในระยะยาว 5ปี 10ปี หลังจากหมดโครงการทดลอง ซึ่งหากเกิดผลกระทบระยะยาว นักวิจัยไปหมดแล้ว


 


แล้วร่างพรบ. นี้จะเป็นอย่างไรต่อไป


ระหว่างนี้ก็ยังดูๆ กันอยู่ เขาให้เสนอความเห็นต่อร่างฉบับนี้ไปได้อีก ในส่วนภาคชุมชนนัดกันว่าจะทำร่างคู่ขนานขึ้นไปเสนอว่า เราคิดว่าน่าจะเป็นแบบไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net