ภาพลวงตาแห่ง "เสรีสื่อ" - พันธนาการที่ยังคงอยู่

2 นักข่าวจาก The Nation สรุปความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อมวลชนไทยในปีที่ผ่านมา และเผยให้เห็นภาพสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันที่ เสรีภาพสื่อง เป็นเพียงความคลุมเครือ หาทางออกไม่ได้

 

สุพัตรา ภูมิประภาส

ประวิตร โรจนพฤกษ์

 

(แปลจากบทความชื่อเดิม: The Shackles Still Remain จากหนังสือพิมพ์ The Nation)

 

ปี พ.ศ.2549 เป็นปีแห่งความขัดแย้งและปีแห่งความพยายามของแวดวงสื่อสารมวลชนไทย ที่ต้องรับมือทั้งการคุกคามจากภายนอก รวมถึงการตั้งคำถามมากมายที่เกิดขึ้นภายในองค์กรสื่อเอง

 

สู้เพื่อเสรีภาพสื่อ

การแทรกแซงทางการเมืองอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อสื่อไทย เห็นได้จากการจัดอันดับประเทศที่มีเสรีภาพสื่อโดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน หรือ Reporters without Borders ในปี 2549 เสรีภาพของสื่อไทยตกลงมาอยู่ที่อันดับ 122 จาก 168 ประเทศ ในขณะที่ปี พ.ศ.2548 ประเทศไทยเคยอยู่ที่อันดับ 107 แต่สิ่งที่เจ็บแสบกว่านั้นก็คือเสรีภาพของสื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต ได้หยุดชะงักไปหลังจากเกิดรัฐประหารขึ้นในวันที่ 19 กันยายน

 

ในช่วงต้นปี 2549 องค์กรสื่อต่างๆ รวมตัวกันต่อต้านการแทรกแซงสื่อทุกประเภท เมื่อวันที่ 11 เมษายน สื่อสิ่งพิมพ์รายวันทั้งหมดได้ตีพิมพ์แถลงการณ์เรื่อง "เสรีภาพสื่อต้องเป็นจริง" พร้อมกันทุกฉบับ

 

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ดังกล่าวมีใจความว่า "สื่อมวลชนทั้งหลาย พร้อมที่จะรวมพลังกันต่อสู้ เพื่อสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน บนหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนและความถูกต้อง โดยยินดีน้อมรับการตรวจสอบจากสังคม และกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้องเป็นธรรมทุกด้าน แต่เราจะไม่ยอมรับการตรวจสอบโดยการใช้กำลังและด้วยวิธีการนอกกฎหมาย"

 

ถึงแม้จะมีการรวมตัวของสื่อเกิดขึ้น แต่สถานะของสื่อไทยในเรื่องเสรีภาพกลับเลวร้ายลงเมื่อถึงเวลาสิ้นปี โดยที่องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้ระบุว่า การจัดอันดับเสรีภาพสื่อไทยในปีที่ผ่านมา วัดจากช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 - 1 กันยายน 2549 เท่านั้น แต่ไม่ได้นับรวมถึงสถานการณ์สื่อภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร

 

อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกขับไล่จากตำแหน่ง "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของตนแทรกแซงสื่อ ซึ่งทักษิณโดนข้อหาเจตนาคุกคามสื่อในหลายๆ กรณี รวมถึงการขู่ว่าจะถอนโฆษณาทั้งของรัฐและเอกชนจากองค์กรสื่อ ทั้งยังกดดันผู้ถือหุ้นใหญ่ให้ประมูลซื้อขายหุ้นในองค์กรสื่อด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การคุกคามสื่อส่วนหนึ่งมาจากฝ่ายต่อต้านอดีตนายกฯ ทักษิณเช่นกัน คือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงฝ่ายที่สนับสนุนทักษิณ โดยวันที่ 4 และ 11 กุมภาพันธ์ 2549 กลุ่มต่อต้านทักษิณได้รวมตัวกันประณามผู้สื่อข่าวไอทีวีที่โดนกล่าวหาว่าเสนอข่าวอย่างมีอคติเข้าข้างทักษิณ

 

ในวันที่ 30 มีนาคม กลุ่มผู้ให้การสนับสนุนทักษิณซึ่งเรียกตัวเองว่า "คาราวานคนจน" เข้าปิดล้อมอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทเนชั่นมัลติมีเดีย ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น เพื่อบีบให้หนังสือพิมพ์ในเครือเดียวกันอย่าง "คมชัดลึก" ปิดทำการชั่วคราว เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่พอใจที่คมชัดลึกรายงานข่าวที่มีการพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของไทย

 

ไม่มีคำว่าเสรีภาพสำหรับ "สื่อเทียม"  

ในเดือนกันยายน 2549 สิ่งพิมพ์ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนรัฐบาลทักษิณ และเสนอข่าวคัดง้างกับสื่อกระแสหลัก ถูกเรียกว่า "สื่อเทียม"

 

ในวันที่ 4 กันยายน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์โจมตีสื่อบางสื่อว่าเป็นเพียงกระบอกเสียงของผู้มีอำนาจในขณะนั้น

 

องค์กรสื่อทั้ง 3 แห่งระบุว่า หนังสือพิมพ์ออนไลน์ thereporter.com เป็น "สื่อเทียม" ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้กับกลุ่มนักการเมืองที่สนับสนุนทักษิณ และเตือนประชาชนไม่ให้เชื่อในข่าวที่รายงานโดย "สื่อเทียม" พร้อมยังกล่าวอีกด้วยว่าการเสนอข่าวที่ไร้ความรับผิดชอบและเต็มไปด้วยความยั่วยุจากสื่อเทียม จะยิ่งทำให้การปะทะของกลุ่มผู้ขัดแย้งในสังคมไทยทวีความรุนแรงขึ้น

 

ขณะเดียวกัน เวบไซต์หนังสือพิมพ์ดังกล่าวก็อ้างว่าองค์กรสื่อทั้ง 3 แห่งสนับสนุนกลุ่มต่อต้านทักษิณ และมักจะเสนอข่าวเกี่ยวกับรัฐบาลทักษิณอย่างน่าสงสัย ซึ่งในระหว่างที่ "สื่อแท้" กับ "สื่อเทียม" กำลังห้ำหั่นกันอยู่ กลุ่มผู้รณรงค์เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็แสดงจุดยืนสนับสนุนองค์กรสื่อทั้ง 3 แห่ง โดยระบุว่า ถึงแม้เสรีภาพจะเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีอย่างเท่าเทียมกัน แต่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้ที่มีนักการเมืองหนุนหลังอย่างเช่น "สื่อเทียม" ก็ถือเป็นความน่ากังขาอยู่ดี

 

ด้วยเหตุนี้ บรรณาธิการเวบไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์และนักศึกษาบางส่วนในแวดวงสื่อสารมวลชนจึงพากันสงสัยว่า ความเที่ยงตรงของเสรีภาพสื่อจะเป็นจริงได้อย่างไร หากการเสนอข่าวทั้งหมดถูกควบคุมโดยองค์กรสื่อกระแสหลักเพียงอย่างเดียว

 

ภายหลังรัฐประหาร - เสรีภาพสื่อในความคลุมเครือ

ถึงแม้สื่อสิ่งพิมพ์หลายแห่งจะยอมรับว่าการทำรัฐประหารคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และผู้นำคณะรัฐประหารคือวีรบุรุษจำเป็น แต่สื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อโทรทัศน์ก็ไม่ได้มีเสรีภาพเพิ่มขึ้นมาแต่อย่างใด เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเฉพาะกาล นายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์

 

ทหารถูกส่งมาประจำการตามสถานีโทรทัศน์ เช่นในวันที่ 30 ธันวาคม 2549 มีการส่งกองกำลังทหารไปควบคุมที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเคยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่ 3 เดือนหลังจากการรัฐประหาร ดูเหมือนว่าองค์กรสื่อต่างๆ จะไม่ตระหนักถึงการที่กองกำลังทหารบุกเข้าควบคุมสถาบันสื่อ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้

 

เวบไซต์หลายแห่งที่วิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหาร เช่น เวบไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และเวบไซต์ของเครือข่าย 19 กันยา ถูกบล๊อกหลายต่อหลายครั้ง และเนื้อหาหลายส่วนของบทความถูกลบทิ้ง การบล๊อกครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นกับเวบไซต์เครือข่าย 19 กันยา คือวันที่ 28 ธันวาคม ที่ผ่านมา คณะผู้จัดทำเวบไซต์กล่าวว่าพวกตนพยายามต่อสู้เพื่อการแสดงความคิดเห็นโดยเสรี และได้มีการล่ารายชื่อผู้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวด้วย แต่สถานการณ์ในโลกไซเบอร์กลับเลวร้ายลงกว่าเดิม จนกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดต้องมาค้นคว้าข้อมูลเพื่อทำวิจัยเรื่อง "การแสดงความคิดเห็นโดยเสรีและอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย" ในเดือนมกราคม 2550

 

อย่างไรก็ตาม สื่อสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ยืนยันว่าการเสนอข่าวในยุครัฐบาลทหารมีเสรีภาพมากกว่าการเสนอข่าวในยุคของทักษิณ สื่อหลายแห่งแสดงความยินดีต่อการจากไปอย่างกะทันหันของทักษิณ และค่อนไปในทางนิยมยินดีต่อคณะรัฐประหารกับรัฐบาลชุดใหม่ เป็นเหตุให้สื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังอยู่ในช่วงฮันนีมูนกับรัฐบาล จึงยังไม่มีคำวิจารณ์ใดๆ ระแคะระคายออกมา

 

จรรยาบรรณสื่อ: คำถามถึงความเป็นมืออาชีพ โดยนักข่าวรุ่นใหม่

ปี 2549 เป็นอีกหนึ่งปีที่แวดวงสื่อต้องเผชิญหน้ากับทางแยกแห่งความเป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตทางการเมือง เมื่อคณะรัฐประหารแต่งตั้งให้ผู้นำจาก 3 องค์กรสื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลุ่มนักข่าวนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ รวม 51 คน ได้เข้าชื่อกันออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้นักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโสสละสิทธิ์การเข้าไปมีบทบาททางการเมือง

 

กลุ่มนักข่าวนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่เตือนความจำนักข่าวรุ่นใหญ่ให้ตั้งมั่นในบทบาท "หมาเฝ้าบ้าน" ที่เฝ้าจับตาและตรวจสอบรัฐบาล รวมถึงจรรยาบรรณของสื่อที่ไม่อนุญาตให้นักข่าวนักหนังสือพิมพ์เข้าไปข้องเกี่ยวกับกลุ่มผู้มีอำนาจ

 

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจาก 3 องค์กรสื่อได้แก้ต่างว่าองค์กรสื่อควรจะมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันสิทธิและเสรีภาพของสื่อ

 

000

 

ถึงตอนนี้ทักษิณจะถูกขับไล่ออกไปแล้ว...แต่เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยยังเป็นแค่ภาพลวงตา ในเมื่อเสรีภาพสื่อที่ว่า ขัดแย้งกับการดำรงอยู่ของผู้กดขี่กลุ่มใหม่ในสังคมไทยอยู่ดี

 

000

 

สรุปสถานการณ์สื่อถูกข่มขู่คุกคามภายหลังการรัฐประหาร

 

19 ก.ย.  กองทัพส่งทหารเข้าไปประจำที่สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง

20 ก.ย.  ผู้นำคณะรัฐประหารสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีควบคุม บล็อก หรือทำลายเนื้อหาที่ปรากฏในสื่อเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาต่อต้านการรัฐประหาร

21 ก.ย. ผู้นำคณะรัฐประหารเรียกผู้บริหารสื่อไปที่กองบัญชาการทหารบกเพื่อขอความร่วมมือ คณะรัฐประหารยังได้สั่งให้วิทยุชุมชนกว่า 300 แห่งในเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอนระงับการออกอากาศ โดยระบุว่าวิทยุชุมชนเหล่านั้นสนับสนุนทักษิณ ชินวัตร

22 ก.ย. กระทรวงไอซีทีปิดเว็บต่อต้านรัฐประหาร www.19sep.org

24 ก.ย. กองทัพภาคที่ 3 สั่งให้สถานีวิทยุชุมชน 17 แห่งในภาคเหนือระงับการออกอากาศ

25 ก.ย. ผู้นำคณะรัฐประหารสั่งให้สื่อทุกแขนงนำเสนอข่าวเฉพาะที่เป็นข้อมูลและข่าวสารที่มาจากคณะรัฐบาลทหารเท่านั้น

26 ก.ย. คณะผู้บริหาร อสมท.ถูกกดดันให้ลาออกจากรณีที่เปิโอกาสให้ทักษิณชี้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่มีการรัฐประหารผ่านสถานีโมเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งอยู่ภายใต้การดูและของ อสมท.

29 ก.ย.กระทรวงไอซีทีปิดเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org ซึ่งก่อตั้งโดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงทาง เชียงใหม่ ซึ่งวิพากษ์การรัฐประหารและนำเสนอเนื้อหาเชิงวิชาการอื่นๆ ด้วย

1 พ.ย. คณะรัฐบาลทหารได้ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวต่อสถานีโทรทัศน์ไอทีวีให้ระงับการแพร่ภาพและถ่ายทอดคำสัมภาษณ์ของนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ที่ฆ่าตัวตายเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร และสถานีโทรทัศน์ไอทีวีปฏิบัติตามคำสั่ง

15 พ.ย. กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACTHAI-freedom against censorship Thailand) ยื่นข้อเรียกร้อง ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้แสดงบทบาทเพื่อลดการเซ็นเซอร์สื่อในอินเตอร์เน็ต

28 ธ.ค. www.19sep.org ถูกบล็อก 6 ครั้ง

30 ธ.ค. 3 เดือนหลังการรัฐประหาร กองกำลังทหารยังคงประจำการอยู่ที่สถานีไอทีวี

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท