Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


กาลครั้งหนึ่ง...เด็กชายผู้อาภัพคนหนึ่งเดินทางโดยรถไฟ และเด็กหญิงอีกคนหนึ่งก็หยิบยื่นไมตรีให้เป็นไก่ย่างหนึ่งไม้ หลังจากที่อาหารกลางวันที่มีเพียงไข่ต้มใบเดียวของเด็กชายกระเด็นหลุดมือ และโดนใครคนหนึ่งเหยียบจนบี้แบน...


 


นั่นคือฉากหนึ่งของความทรงจำที่นักดูหนังไทยหลายคน (น่าจะ) ยังจำกันได้...เพราะเป็นฉากหนึ่งที่แสนจะกินใจในหนังเรื่อง "ปุกปุย" ของผู้กำกับ "อุดม อุดมโรจน์" ที่ออกฉายราวๆ ปี 2533


 


เมื่อผลงานเรื่อง "มากับพระ" ของผู้กำกับคนเดิมออกฉายปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คนที่เคยประทับใจกับหนังเรื่องก่อนหน้าก็ตีตั๋วเข้าไปชมหนังเรื่องล่าสุดแต่โดยดี


 


ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือจงใจที่เรื่องราวในผลงานเรื่องใหม่ก็เริ่มต้นตรงที่ว่า... ชายหนุ่มผู้อาภัพคนหนึ่ง (เพิ่งตกงาน, ถูกแฟนทิ้ง และดูเหมือนจะไม่มีครอบครัวเหลืออยู่ที่ไหนเลย) เดินทางโดยรถไฟ และหญิงสาวอีกคนหนึ่งก็ร้องเอะอะโวยวายเพื่อทวงถามถึง "ไข่ (ดาว)" ที่หายไปจากจานข้าวของเธอ


 


แม้การเผชิญหน้าบนรถไฟของชายหนุ่มและหญิงสาวจะเกี่ยวพันกับไข่และเสียงล้อรถไฟบดขยี้รางเหล็ก แต่ดูเหมือนว่าชะตากรรมของทั้งสองคนจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ใจความของหนังเรื่องนี้ และที่สำคัญบนรถไฟขบวนนั้นยังมีสามเณรหมาดๆ ที่เดินทางมาจากเมืองกรุงพลอยร่วมขบวนมาด้วยอีกหนึ่งชีวิต


 


จุดหมายปลายทางของทั้งสามคนคือจังหวัดแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศไทย แต่เมื่อลงจากรถไฟ ทั้งสามชีวิตก็แยกย้ายไปตามทางของแต่ละคน


 


"พล" (วัชรบูล ลี้สุวรรณ) หรือชายหนุ่มผู้อาภัพ ร่อนเร่ไปในเมืองเพื่อหาที่พักซุกหัวนอน และครุ่นคิดคำนึงถึงหนทางที่จะตั้งต้นใหม่ให้ชีวิต


 


"แตงโม" (ไปรยา สวนดอกไม้ ลุนด์เบิร์ก) สาวสวยขี้โวยวาย แต่พ่ายรัก ก็กลับมารักษาแผลใจที่บ้านเกิด โดยที่ "กำนันยศ" ผู้เป็นพ่อ (พิศาล อัครเศรณี) พยายามจะจับคู่ลูกสาวคนนี้ให้เกี่ยวดองกับหนุ่ม อบต.รายหนึ่งที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน และพยายามทำเป็นมองไม่เห็นว่าแตงโมรำคาญอีกฝ่ายขนาดไหน


 


ส่วน "เณรเล็ก" (อภิชาญ เฉลิมชัยนุวงษ์) ก็ต้องเผชิญกับความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากเดิมสุดขั้ว ชีวิตที่เคยสะดวกสบายเมื่อตอนอยู่บ้านก็กลายเป็นความลำบากและไม่คุ้นเคย ท่ามกลางบรรยากาศของวัดเก่าๆ ที่อยู่ในป่าลึกบนดอย โชคยังดีที่มีเณรรุ่นราวคราวเดียวกันอย่าง "เณรโก๊ะ" (เจริญพร อ่อนละม้าย) คอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับวัดป่าทีละเรื่อง


 


ทางด้าน "หลวงพี่สิทธิ์" (อัมรินทร์ นิติพนธ์) เจ้าอาวาสคนปัจจุบันของวัดป่า ก็ต้องรับมือกับลูกวัดที่สร้างปัญหาไม่เว้นแต่ละวัน แถมยังต้องเดินทางจากวัดลงไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านที่อยู่ไกลถึงตีนดอยทุกเช้า เพื่อธำรงไว้ซึ่งพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า...


 


เรื่องราวของหนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่หนังตลกอย่างที่พยายามโฆษณาสร้างกระแส แต่เป็นหนังที่ตั้งคำถามถึงความมีอยู่ของ "ธรรมะ" และ "ธรรมชาติ" รวมถึงการใช้ชีวิตร่วมกับปัจจัยทั้งสองประการอย่างไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน


 


น้ำหนักของหนังเรื่อง "มากับพระ" จึงมุ่งเน้นไปที่พระอย่างหลวงพี่สิทธิ์ เณรเล็ก เณรโก๊ะ และมีความรักและมิตรภาพของหนุ่มพลและสาวแตงโมแทรกมาด้วยพอกล้อมแกล้ม


 


เมื่อหนังพูดถึงพระ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงศาสนา ความศรัทธา และความเชื่อ...


 


ความศรัทธาของหลวงพี่สิทธิ์ที่มีต่อพุทธศาสนา ทำให้หลวงพี่ตัดสินใจออกบวชตั้งแต่ยังหนุ่ม และตั้งใจว่าจะอุทิศตนเพื่อเผยแพร่พระธรรมคำสอนแก่ชาวบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่อุปสรรคของหลวงพี่ก็คือชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้ๆ ยังคงนับถือผีมากกว่าพระพุทธองค์ และผู้ร้ายที่หวังผลประโยชน์ใต้พื้นโบสถ์ก็เกือบทำให้วัดป่าของหลวงพี่ต้องมีอันเป็นไป


 


ความเชื่อของโยมพ่อที่โดนหมอดูทักว่าลูกชายจะมีมีเคราะห์หนัก จึงต้องบวชเพื่อสะเดาะเคราะห์ ทำให้เณรเล็กต้องระเห็จจากบ้านมาอยู่ไกลถึงวัดป่าบนดอย


 


ส่วนกำนันยศกลับเชื่อว่าชีวิตที่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับความมั่งมีและการไขว่คว้าหาทรัพย์สมบัติมาครอบครองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งผลสุดท้ายก็กลายเป็นความละโมบที่ทำให้ชีวิตไม่เป็นปกติสุข


 


ในขณะที่คนหนุ่มสาวอย่างพลและแตงโมไม่มีทั้งศรัทธาในการมีชีวิตอยู่ และศรัทธาในความรัก...


 


ความศรัทธาและความเชื่อ ชักนำตัวละครแต่ละคนไปสู่ชะตากรรมต่างๆ กัน ไม่เว้นแม้แต่อดีตทหารอย่าง "โทนี่" (สมชาย ศักดิกุล) ที่จู่ๆ ก็โผล่มาตอนกลางเรื่อง


 


แต่ถึงจะปล่อยให้ศรัทธาและความเชื่อชี้นำชะตากรรมของตัวละครไป สุดท้ายคำตอบที่ได้ก็หนีไม่พ้นสัจธรรมว่า "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงควรจะหมั่นทำความดีเอาไว้ เพื่อที่จะได้ไม่ไปสร้างเวรอะไรกับใคร... (สาธุ)


 


ไม่ใช่จะเห็นว่าศรัทธาหรือความเชื่อเป็นเรื่องน่าเบื่อ เพียงแต่ความเชื่อบางประการก็ใช้ไม่ได้ในทุกกรณี


 


แม้หลวงพี่สิทธิ์จะหาจุดลงตัวระหว่างธรรมะกับธรรมชาติได้ด้วยการทำพิธี "บวชป่า" เพื่อรักษาป่าไม้ให้กับชาวบ้าน และถือเป็นความสำเร็จบางประการเมื่อชาวเขาไม่ทราบสังกัดแน่ชัดอย่าง "เล่าซือ" ตัดสินใจออกบวชใต้ร่มเงาของพุทธศาสนา


 


แต่ก็ใช่ว่าคนประเภทเดียวกับกำนันยศจะมีลูกสาวที่เห็นความสำคัญของมนุษย์คนอื่นๆ อย่างแตงโมมาเป็นเครื่องชี้ทางสว่างเสมอไป และความผิดหวังไม่ได้อย่างใจเพียงประการเดียวก็ไม่น่าจะทำให้ที่มีใจหยาบกร้านถึงขั้นทุบโบสถ์และพร้อมจะสร้างเรื่องทำลายคนอื่นๆ อย่างโทนี่แพ้ภัยตัวเองอย่างง่ายดายขนาดนั้น


 


แก่นแกนของหนังไม่ใช่เรื่องตลกแน่ๆ แต่ผู้กำกับก็ไม่ได้ทำให้หนังเรื่องนี้ดูยากเย็นเสียจนปวดหัว ซึ่งที่จริงแล้วหนังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมาก เช่น ประเด็นการบวชเรียนเพื่อจะได้มีโอกาสเรียนหนังสือและเลี้ยงดูครอบครัวได้ในเวลาเดียวกันของชายไทย รวมถึงนโยบายรักษาป่าแบบป่าชุมชน แต่ด้วยความที่มีประเด็นเยอะเกินไป และการกระจายความสำคัญของตัวละครก็ยังไม่น่าพอใจนัก บวกกับการดำเนินเรื่องที่เรียบเรื่อย จนถึงขั้นจงใจในหลายๆ ฉาก ทำให้ความราบรื่นในการดูหนังตกหล่นไปอักโข และตัวละครบางตัวที่ถูกใส่เข้ามาตอนกลางเรื่องเพื่อนำไปสู่ไคลแมกซ์ก็เดาได้ง่ายดายเกินไป


 


บทสรุปที่เต็มไปด้วยความหวังดีและเชิดชูพุทธศาสนาแบบลุ่นๆ เช่นนี้เองที่ทำให้ "มากับพระ" กลายเป็นหนังหวานเย็นแบบรถไฟไทย เพราะแล่นๆ ไปด้วยท่วงทำนอง "ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง" แถมยังเป็นการเดินทางที่ค่อนข้างเชย ไม่มีอะไรให้ตื่นตา จะมีก็แต่ทิวทัศน์สองข้างทางที่พอชโลมใจให้รื่นรมย์ได้บ้าง


 


เมื่อรถไฟจอด ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าสถานีปลายทางที่คุ้นเคยกันดีว่ามีอะไรรออยู่


 


ก่อนจะลงจากรถไฟ อย่าลืมหันไปปลุกคนที่ยังหลับอยู่ก็แล้วกัน...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net