บังกลาเทศได้ประธานาธิบดีคนใหม่ ยุติเหตุขัดแย้ง-จลาจลร่วมเดือน

แปลและเรียบเรียงโดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ

 

ชาวบังกลาเทศอ่านหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวการประกาศภาวะฉุกเฉินในบังกลาเทศ หน้าโปสเตอร์ผู้นำพรรคฝ่ายค้านบังกลาเทศนางชีก ฮาสินา วาเจ็ด ที่กรุงธากา โดยล่าสุดมีการแต่งตั้งประธานาธิบดีคนใหม่และยกเลิกภาวะฉุกเฉินแล้ว (ที่มาของภาพ AFP/Jewel Samad)

 

ผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาลชุดใหม่ของบังกลาเทศเริ่มต้นการยุติเหตุกระทบกระทั่งกันระหว่าง 2 พรรคการเมืองหลัก โดยมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอย่างไม่มีกำหนดและยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ

 

ได้ประธานาธิบดีใหม่ทำพิธีสาบานตน

นายฟากรุดดิน อาเหม็ด (Fakhruddin Ahmed) นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศผู้มีจุดยืนทางการเมืองเป็นกลาง ได้เข้าประกอบพิธีสาบานตนที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงธากาของบังกลาเทศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยนายฟารุดดินขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทนที่นายเอียจุดดิน อาเหม็ด (Iajuddin Ahmed) ซึ่งลาออกจากการเป็นประธานาธิบดีในรัฐบาลรักษาการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

 

โดยก่อนหน้านี้พันธมิตรฝ่ายค้าน 14 พรรคในนามสันนิบาติอาวามิ (Awami League) ประกาศบอยคอตการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 มกราคมนี้ และนัดหยุดงานชุมนุมทั่วประเทศ ทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย

 

ทำให้นายเอียจุดดิน อาเหม็ด อดีตประธานาธิบดี ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและเคอร์ฟิวยามวิกาลเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แต่หลังออกประกาศได้เพียงหนึ่งชั่วโมง เขาก็ประกาศลาออกจากการเป็นประธานาธิบดีและตั้งให้นายฟากรุดดิน อาเหม็ดดำรงตำแหน่งแทน

 

"ข้าพเจ้า, ฟากรุดดิน อาเหม็ด สาบานว่าจะอาสารับใช้ด้วยความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานในการให้คำแนะนำแก่รัฐบาลรักษาการภายใต้ข้อกฎหมาย" เขาปฏิญาณ ท่ามกลางสักขีพยานอย่างผู้นำทางการเมือง, นักการทูต และผู้แทนจากกองทัพ

 

อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งบังกลาเทศ และอดีตอธิบดีกรมการเงินสำหรับกิจการขนาดเล็กผู้นี้ บัดนี้มีภารกิจท้าทายในการเรียกความเชื่อมั่นจากบรรดาพรรคการเมืองและเจรจาพวกเขาเหล่านั้นในการร่วมกันกำหนดวันเลือกตั้งใหม่

 

พร้อมกันนี้สมาชิกสภาที่ปรึกษา (คณะรัฐมนตรี) จำนวน 5 คนจากทั้งหมด 10 คนได้ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันเดียวกันนี้ด้วยที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงธากา โดยสมาชิก 5 คนนี้เป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์, นักธุรกิจชนชั้นนำ 2 ราย, อดีตประธานคณะกรรมการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ และอดีตเจ้าหน้าที่องค์กรตรวจสอบการทุจริตในรัฐบาล

 

ซึ่งคาดว่าจะมีการแต่งตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษาจนครบ 10 ราย ภายใน 2-3 วันนี้

 

ประธานาธิบดี "คนกลาง" แต่พรรครัฐบาลเก่ายังไม่สมานฉันท์

สำหรับนายอาเหม็ดนั้นจัดว่าเป็น "คนกลาง/มือประสาน" โดยหนังสือพิมพ์เดลี สตาร์กล่าวเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ว่าการแต่งตั้งเขาเป็นประธานาธิบดีจะเรียกความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลกลับคืนมา "ตอนนี้ขึ้นอยู่กับเขาแล้วที่จะเผชิญความท้าทายการทำงานที่เต็มไปด้วยเงื่อนไข" เนื้อหาในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวระบุ

 

แม้ว่าสันนิบาติอาวามิ (Awami League) จะได้เข้าร่วมในพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามมีสัญญาณที่น่าเป็นห่วงอยู่ เนื่องจากในพิธีสาบานตัวของนายฟากรุดดินดังกล่าว อดีตนายกรัฐมนตรีคือนางคาเลดา เซีย (Khaleda Zia) จากพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (the Bangladesh Nationalist Party - BNP) และผู้นำระดับสูงของ BNP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเก่า ไม่ได้มาร่วมในพิธีสาบานตนของนายอาเหม็ดแต่อย่างใด

 

นักวิเคราะห์ระบุว่าการไม่ปรากฏตัวของนางคาเลดา เซียแสดงให้เห็นว่ากองทัพกดดันไปยังพรรค BNP ให้ยอมรับข้อเสนอของสันนิบาติอาวามิ อันได้แก่การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป และตั้งผู้นำรัฐบาลรักษาการคนใหม่เพื่อตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งใหม่

 

นักกิจกรรมบังกลาเทศและผู้สนับสนุนจากพันธมิตรพรรคฝ่ายค้าน 14 พรรคการเมืองตะโกนต่อต้านประธานาธิบดีระหว่างการชุมนุมที่กรุงธากาเรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ AFP/Farjana K Godhuly)

 

ที่มาวิกฤตการเมือง - ฝ่ายค้านหวั่น กกต.ไม่เป็นกลาง/โกงรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

สำหรับอดีตประธานาธิบดีเอียจุดดิน อาเหม็ดแต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ปี 2549 ที่ผ่านมาท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศระหว่างพรรคการเมืองหลัก 2 พรรค ที่ช่วงชิงกันเป็นรัฐบาล

 

โดยวิกฤตกาลทางการเมืองที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศในอาทิตย์นี้ เป็นผลมาจากการประท้วงอย่างรุนแรงตามท้องถนน การนัดหยุดงานทั่วประเทศและการปิดล้อมเมืองหลวงมาหลายเดือนก่อน โดยนางชีก ฮาสินา วาเจ็ด (Sheikh Hasina Wajed) ซึ่งเป็นผู้นำพันธมิตรฝ่ายค้านหลักของสันนิบาติอาวามิและพันธมิตรพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 19 พรรค

 

พันธมิตรพรรคการเมืองต่างๆ กล่าวหาว่าพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (BNP) ว่าแต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไปเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง และยังกล่าวว่ามีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งปลอมกว่า 14 ล้านรายชื่อ ซึ่งหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นพรรคการเมืองอื่นย่อมไม่มีทางชนะ

 

สันนิบาติอาวามิประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา และเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการของประธานาธิบดีอีอาจุดดิน อาเหม็ดจากพรรค BNP จัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 90 วัน

 

โดยพันธมิตรฝ่ายค้านจึงคว่ำบาตรการเลือกตั้งและขู่ด้วยการชุมนุมยืดเยื้อและปิดล้อมที่ที่ทำการสหประชาชาติ, สหภาพยุโรป และสถานทูตของอดีตประเทศอาณานิคมอย่างสหราชอาณาจักรเพื่อร้องทุกข์เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในบังกลาเทศ

 

บังกลาเทศ เป็นรัฐฆราวาส แต่ประชากร 144 ล้านคนเป็นมุสลิม มีประวัติศาสตร์ของประเทศที่เต็มไปด้วยการรัฐประหารและการต่อต้านการรัฐประหาร โดยระบอบประชาธิปไตยในบังกลาเทศเพิ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2533 ภายหลังจากการลาออกของผู้นำเผด็จการทหารอย่างนายโฮซาซิน มูฮัมหมัด เออชาด (Hossain Muhammad Ershad)

 

ที่มาของข่าว แปลและเรียบเรียงจาก

New Bangladesh cabinet members sworn in by Helen Rowe, AFP, Jan 13, 2007

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท