บทความจาก The Economist: UNDP ในกระแสเห่อเศรษฐกิจพอเพียง และเหล้าเก่าในขวดใหม่ของทักษิโณมิกส์


แปลจาก : The Economist (print edition) วันที่ 11 มกราคม 2550

ชื่อบทความเดิม: Rebranding Thaksinomics And wrecking the economy, with the UN's ill-judged backing

 

 

ด้วยความไม่สนใจต่อสัญญาณเตือนที่ว่า บริษัทต่างชาติอาจจะถอนการลงทุนออกจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 มกราคม รัฐบาลไทยที่หนุนหลังโดยกองทัพ ได้มีประกาศมาตรการเข้มงวดกับต่างชาติในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ตลาดหุ้นประสบปัญหามากขึ้นจากมาตรการจำกัดเงินทุนไหลเข้าที่ผิดทิศผิดทาง การระเบิดในกรุงเทพ ข่าวลือความขัดแย้งในกองทัพ แม้รัฐบาลได้พยายามแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น แต่กลับส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลถดถอยลงไปอีก

 

เมื่อรัฐบาลได้รับทฤษฎี "เศรษฐกิจพอเพียง" มาใช้ ก็ยิ่งเพิ่มความสงสัยว่า ประเทศไทยมีแผนที่จะถอยออกมาจากแนวทางเศรษฐกิจเสรีในบางส่วนหรือไม่

 

ไม่ นายกรัฐมนตรี สุรยุทธ จุลานนท์ ยืนยัน "เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้มีนัยถึงการปฏิเสธโลกาภิวัตน์ใดๆ ทั้งสิ้น"

 

ถ้าเช่นนั้นหมายถึงอะไร? นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ในบทนำของรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ปี 2550 เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน ของ UNDP ได้ตอบคำถามในเรื่องนี้โดยอธิบายว่า ทฤษฎี "พอเพียง" มีเป้าหมายเพื่อการสร้างความยั่งยืน ความพอดี การพัฒนาที่มีฐานที่กว้างขึ้น และลดความเสี่ยง ลดความเหลื่อมล้ำ และลดปัญหาอื่นๆ

 

ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างจริงจังในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในปี 2540 จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขาดความระมัดระวัง

 

แต่ในปัจจุบันสภาพทางการเงินของประเทศไทยอยู่ในฐานะที่เข้มแข็งขึ้นมาก จนถึงระดับที่สามารถสร้างโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตลอดจนการศึกษาให้แก่คนยากจนในชนบทได้ คล้ายกับที่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนำเสนอในการแก้ปัญหาความยากจน

 

ผลงานของรัฐบาลทักษิณในระยะเวลา 5 ปี อาทิ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งคนจนแทบจะไม่ต้องจ่ายเงิน ถือเป็นนโยบายแก้ปัญหาความความยากจน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลมีงบประมาณเกินดุลในช่วงเวลาหลายปี (ในขณะที่รัฐบาลนี้ประกาศงบประมาณขาดดุล) หนี้สาธารณะลดลง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีโครงการอีกจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยให้คนชนบทสร้างรายได้

 

อย่างไรก็ตาม รายงานของ UNDP ฉบับนี้จงใจที่จะไม่พูดถึงรัฐบาลทักษิณ หรือนโยบายของรัฐบาลที่แล้ว รายงานของ UNDP ก็ไม่อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างนโยบายพอเพียงนี้กับนโยบายของรัฐบาลทักษิณ มีเพียงคำชมต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีของรัฐบาลนี้ว่า "เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของแนวทางเศรษฐกิจไทยในรอบสองทศวรรษ" และคำชื่นชมต่อโครงการพระราชดำริต่างๆ

 

ทฤษฎีพอเพียงพูดถึง "การสร้างภูมิคุ้มกัน" ต่อผลกระทบภายนอกที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า รัฐบาลทหารจะเป็นผู้สร้างผลกระทบนี้ขึ้นมาเอง ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง การแก้ปัญหาความยากจนไม่มีความก้าวหน้า นอกเหนือจากที่ผู้นำทหารหาทางที่จะเอาผิดกับทักษิณแล้ว รัฐบาลก็พยายามจะทำให้ทักษิณหายไปจากความคิดของผู้คน ในสัปดาห์นี้ คณะทหารได้บอกกับสื่อให้หยุดเสนอข่าวทักษิณ

 

นักธุรกิจที่เปลี่ยนเป็นนักการเมืองดังเช่นทักษิณ ได้นำตัวเองติดเข้ากับนโยบายประชานิยมจนกลายเป็น "แบรนด์" นโยบายหลายอย่างถูกแกะฉลากออก เช่น 30 บาทรักษาทุกโรคในปัจจุบัน จึงไม่มีชื่อที่อาจจะทำให้คนนึกถึงทักษิณอยู่อีกต่อไป ในภาพรวม รัฐบาลต้องการแทนที่ "แบรนด์" นโยบายทักษิณ ด้วยนโยบายใหม่ที่เข้มแข็งกว่า ซึ่งก็คือเศรษฐกิจพอเพียง

 

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า รัฐบาลใหม่ต้องการความยอมรับ จนต้องนำนโยบายของรัฐบาลก่อนมาเคลือบฉาบ แต่คำถามคือ เหตุใด UNDP จึงคิดว่า ตนเองควรช่วยในเรื่องนี้ ด้วยการบอกว่าเศรษฐิกจพอเพียงเป็นทางเลือกในการขจัดความยากจนของประเทศกำลังพัฒนา

 

คำตอบคือ UNDP เป็นองค์กรที่ทำอะไรก็ได้ ในโลกยุคใหม่ เช่นเดียวกับที่ UNDP ก็เคยชื่นชมกับดัชนีมวลรวมความสุขของประเทศภูฐานมาแล้ว

 

ในการเผยแพร่รายงานของ UNDP ฉบับนี้ นอกจาก UNDP ขาดความชัดเจนในแง่มุมต่างๆ แล้ว UNDP ยังให้ความชอบธรรมกับระบอบการปกครองที่ได้มาจากการยึดอำนาจ Hakan Bjrkman รองหัวหน้า UNDP ประจำประเทศไทยกล่าวว่า "รายงานฉบับนี้ต้องการสร้างข้อถกเถียงให้เกิดขึ้น" แต่การถกเถียงในเรื่องนี้เป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมไทย เพราะทฤษฎีพอเพียงเป็นปรัชญาที่ดำริโดยพระมหากษัตริย์ การวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไป อาจถูกมองว่าเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีโทษจำคุก

 

เอกสารประกอบ

เอกสารประชาสัมพันธ์ของ UNDP: ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คำตอบของประเทศไทยกับโลกาภิวัฒน์

Rebranding Thaksinomics And wrecking the economy, with the UN's ill-judged backing

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท