ค้าน ม. นอกระบบ เสนอขอเวลาทำประชาพิจารณ์ให้เพียงพอ

 

 

 

ประชาไท - 19 ม.ค. 50 ตัวแทนเครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษาซึ่งมีตัวแทนนิสิตนักศึกษาจาก 16 สถาบันเปิดแถลงประท้วงการแปรรูปการศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 18 ม.ค. และออกเป็นแถลงการณ์ความว่า จากที่ ศ.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีคำสั่งให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งกลับมาทำประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชามหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัยก่อนที่จะดำเนินการในกลไกสภาฯต่อ เครือข่ายฯเห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการอย่างยิ่ง

           

เครือข่ายฯจึงมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมแก่รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการทำประชาพิจารณ์ตามระบอบประชาธิปไตยที่เน้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเต็มที่ของประชาชน ดังต่อไปนี้

 

1.     มหาวิทยาลัยทุกแห่งจะต้องให้เวลามากเพียงพอในการรณรงค์และให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างชัดเจน หลากหลาย ทั่วถึง และต่อเนื่อง ไม่ใช่การรวบรัดตัดตอนโดยนำเอาข้อจำกัดเรื่องเวลามาเป็นข้อกีดกั้นไม่ให้ประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะประชาคมมหาวิทยาลัยในการเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงจากหลายฝ่าย ไม่ใช่การรวบรัดโดยกีดกันการมีส่วนร่วมเช่นที่เกิดขึ้น ดังตัวอย่างของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีกำหนดให้สิ้นสุดการรับฟังแค่วันที่ 31 มกราคมนี้

 

2.     เวทีและเอกสารที่จะจัดขึ้นเพื่อใช้ในการให้ข้อมูลนั้นต้องเป็นเวทีและเอกสารที่เปิดให้มีการนำเสนอข้อดีและข้อเสียจากหลายฝ่ายที่เห็นขัดแย้งกันอย่างเท่าเทียมกัน และเปิดให้ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างหลากหลายจากประชาคมมหาวิทยาลัยและประชาชนผู้สนใจอย่างกว้างขวางตามหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนสากล

 

3.     การทำประชาพิจารณ์จะต้องไม่ใช่แค่การให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือคนนอกเข้ามารับฟังข้อคิดเห็นเท่านั้น แต่สุดท้ายของการทำประชาพิจารณ์จะต้องเป็นกระบวนการลงมติโดยการนับคะแนนเสียงของประชาคมมหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไป และจะต้องถือเอาผลของการลงคะแนนเสียงที่เกิดขึ้นเป็นผลการตัดสินขั้นสุดท้ายของนโยบายนี้

 

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุว่า เครือข่ายฯได้เริ่มรณรงค์ให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ การทำประชาพิจารณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป และจะทำการสำรวจความคิดเห็นและระดับการรับรู้ข่าวสารข้อมูลของประชาชน โดยเฉพาะประชาคมมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ดังที่ได้ทำไปแล้วที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดยผลของการสำรวจออกมาโดยได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงกันกับของสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล คือ 94.21 เปอร์เซ็นต์ของประชาคมมหาวิทยาลัยมหิดลไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การสำรวจดังกล่าวจะทำต่อไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆต่อไป

                                                                                                             

ทั้งนี้ เพื่อแสดงออกว่า รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยเคารพ หลักการของความเท่าเทียม ความเสมอภาค สิทธิ และเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยสากลอย่างจริงใจ ก็ควรที่จะยกเลิกการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบโดยเร็ว และสร้างระบบสวัสดิการการศึกษาตามหลักรัฐสวัสดิการโดยทันที

 

นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือว่า ที่ประชุมได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้อง 8 คนเข้าชี้แจง แสดงความเห็นถึงประเด็นที่วิตกกังวล และข้อมูลต่างๆ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อคณะกรรมาธิการ ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะมีการสรุปความเห็นของกลุ่มต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือต่อไป

  

ทั้งนี้ การเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง หรือการตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นไปตามที่ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังมหาวิทยาต่างๆ เพื่อให้แต่ละแห่งรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทำให้มีความชัดเจนและความรอบคอบมากขึ้น

  

สำหรับแนวโน้มของการเสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาในกำกับของรัฐที่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น นายวิจิตร กล่าวว่า ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว 3 ฉบับ และอีก 5 ฉบับที่รอเสนอเข้าสู่ ครม.ขณะนี้จะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ และให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ไปทำให้เกิดความเข้าใจภายในมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจนก่อนซึ่ง การผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นเรื่องที่รอกันมานานกว่า10 ปี หากจะต้องรอต่อไปอีก 1-2 ปี ก็ไม่น่าจะมีปัญหา

   

ด้านนายภัทรดนัย จงเกื้อ นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) กล่าวว่าในส่วนของสจพ.นั้นอธิการบดีได้จัดเวทีเสนาไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่ได้เป็นเวทีที่เปิดกว้างเท่าที่ควร เพราะไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาได้เข้ามีส่วนร่วมด้วย อย่างเช่นครั้งที่ 2 ที่จัดไปนั้นมีนักศึกษาเข้าร่วมเพียงแค่ 20 คนเท่านั้น ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้มีการทำประชาพิจารณ์กันอย่างแท้จริง

 

อย่างไรก็ตามแนวทางในการเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯจะเริ่มให้ข้อมูลแก่นักศึกษาและประชาชนมากขึ้น และในวันที่ 24 ม.ค.นี้ ที่จะจัดการชุมนุมที่ม.มหิดล และในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จะเปิดเวทีชุมนุมใหญ่กันอีกครั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะมีการทำหนังสือเชิญฝ่ายผู้บริหารของจุฬาฯมาเข้าร่วมในการชี้แจงข้อดีข้อเสียของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วย

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท