Skip to main content
sharethis

พ้นไปจากการแถลง "แผนอิรักปรับใหม่" ของบุช สิ่งที่เรียกเสียงฮือฮาต่อมาก็คือ "แผนอิหร่าน" และนับตั้งแต่อเมริกาผลักดันมติยูเอ็นเพื่อคว่ำบาตรอิหร่าน อากาศที่เตหะรานยันวอชิงตันก็เพิ่มองศาขึ้นเรื่อยๆ อุทัยวรรณ เจริญวัย ยังคงเกาะติดจับตาสมรภูมินี้ และเฝ้าดูการขยายตัวของมัน

 

Middle East Uncensored

อุทัยวรรณ เจริญวัย

 

 

 

 

 

  

 

 

 

 

 

 

 

"ความสำเร็จในอิรัก หมายถึง การปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนอิรัก และการสร้างเสถียรภาพขึ้นในภูมิภาค ท่ามกลางอุปสรรคความท้าทายในเรื่องลัทธิอิสลามสุดขั้ว และสิ่งนี้จะเริ่มต้นได้ จำเป็นจะต้องมีการแก้ไขปัญหาเรื่องอิหร่านและซีเรีย

 

"ผู้นำทั้งสองประเทศได้ปล่อยให้ผู้ก่อการร้ายและผู้ก่อความไม่สงบใช้ดินแดนของมันในการเคลื่อนไหวเข้าออกอิรัก อิหร่านได้ให้การสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์ในการโจมตีทหารอเมริกา เราจำเป็นจะต้องหยุดยั้งขัดขวางการโจมตีนี้ เราจำเป็นจะต้องขัดขวางความช่วยเหลือที่ไหลเข้ามาจากอิหร่านและซีเรีย เราจะค้นหาและทำลายเครือข่ายที่ฝึกอบรมและจัดส่งอาวุธร้ายแรงมาให้ศัตรูของเราในอิรัก

 

"ไม่เพียงเท่านั้น เรายังได้ดำเนินการด้านอื่นไปด้วย เพื่อที่จะส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยในอิรักและปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกาในตะวันออกกลาง เร็วๆ นี้ ผมได้มีคำสั่งให้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินไปสมทบที่ภูมิภาคนั้นอีกหนึ่งชุด เราจขยายความร่วมมือด้านข่าวกรองและเคลื่อนย้ายติดตั้ง ระบบป้องกันทางอากาศแพทเทรียต (Patriot Air Defense System) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับมิตรสหายของเรา เราจะทำงานร่วมกับรัฐบาลตุรกีและอิรักเพื่อช่วยพวกเขาแก้ปัญหาตามแนวชายแดน เราจะทำงานร่วมกับหลายฝ่ายเพื่อไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองและมีอิทธิพลครอบงำในภูมิภาคนี้"

 

ประธานาธิบดี จอร์จ บุช,

10 มกราคม 2007

 

0 0 0

 

 

พ้นไปจากการแถลง "แผนอิรักปรับใหม่" เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา (ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมาย - เพิ่มทหาร) สิ่งที่เรียกเสียงฮือฮา...ไม่น่าจะน้อยไปกว่าเรื่องดังกล่าว...ก็คือ "แผนอิหร่าน"

 

ไม่เพียงสำนวนโวหารอันก้าวร้าว (และ "ข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐาน") ต่ออิหร่านที่มีมาจากทำเนียบขาวอย่างต่อเนื่อง ความเคลื่อนไหวตลอดช่วงที่ผ่านมาของอเมริกาก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

เฉพาะช่วงสั้นๆ นับตั้งแต่อเมริกาผลักดันมติยูเอ็น 1737 เพื่อคว่ำบาตรอิหร่านเป็นต้นมา หลังจากนั้น ก็มีเหตุการณ์ที่มี "นัยสำคัญ" ตามมาเป็นระลอก

 

-          คำสั่งบุชให้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินอีกชุดไปเสริมกำลังนอกชายฝั่งอิหร่าน

-          การเคลื่อนย้ายติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธแพทเทรียตให้กับประเทศ "ซี้อเมริกา" ในอ่าวเปอร์เชีย

-          การเคลื่อนย้าย F-16 ไปประจำที่ฐานทัพอินซีร์ลิก (Incirlik) ในตุรกี (F-16  เป็นหนึ่งในเครื่องบินที่สามารถใช้ทิ้งระเบิดมินินุก B61-11 ได้)

-          การเพิ่มจำนวนของเรือดำน้ำนิวเคลียร์ในอ่าวเปอร์เชีย

-          การแต่งตั้ง พลเรือเอก ริชาร์ด แฟลลอน (Adm. Richard Fallon) เป็นหัวหน้ากองบัญชาการกลาง

-          นักบินอิสราเอลกำลังฝึกซ้อมปฏิบัติการต่างๆ ตามแผนลับบอมบ์อิหร่าน

-          การจับกุมชาวอิหร่านและนักการทูตอิหร่านที่อยู่ในอิรักไปแล้ว 2 ระลอก (ที่แบกแดดกับอีร์บิล)

 

ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณ wider war - สงครามที่กำลังจะขยายวงออกไป - ส่งผลให้อากาศที่เตหะรานยันวอชิงตันเพิ่มองศาขึ้นเรื่อยๆ นักวิเคราะห์ทั่วโลกกำลังจับจ้องกันชนิดตาไม่กะพริบ และเหตุการณ์ต่างๆ น่าจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ครบกำหนดเส้นตาย 60 วันของมติยูเอ็น

 

จนถึงวินาทีนี้ ประธานาธิบดีบุชมีอำนาจอยู่ในมือครบถ้วน-พร้อมจะประกาศสงครามกับใครก็ได้ ตราบใดที่สภาคองเกรสยังไม่มีมติอะไรออกมายับยั้ง

 

อย่างไรก็ตาม ในโลกของเกมการเมืองที่มีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมายและเอาแน่อะไรไม่ได้ สัญญาณที่กล่าวมาไม่จำเป็นจะต้องตามมาด้วยสงครามแต่อย่างใด สัญญาณก็คือสัญญาณ สัญญาณเป็นแค่สิ่งที่เราจะต้อง "จับตา" เอาไว้ และนี่คือบทวิเคราะห์จากนักวิคราะห์ชื่อดัง 2 คน ที่จะมาขยายความเรื่องสัญญาณดังกล่าว และทำให้เรามองเห็นเรื่องราวเบื้องหลังความเคลื่อนไหวได้ลึกซึ้งขึ้น

 

คนแรก พอล เครก รอเบิร์ตส์ (Paul Craig Roberts) แม้เขาจะเคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงการคลัง (Assistant Secretary of the Treasury) ยุคประธานาธิบดีเรแกนมาก่อน และยังเคยเป็นบรรณาธิการร่วมของสื่อขวาตกขอบอย่าง Wall Street Journal  และ National Review มาแล้วก็ตาม ท่ามกลางแบ็คกราวนด์ดังกล่าว ทุกวันนี้ รอเบิร์ตส์ กลับเป็นนักวิเคราะห์-วิจารณ์การเมืองระดับคุณภาพที่ได้รับความนิยมอย่างมากคนหนึ่งในเว็บซ้ายแตกทั่วไป (ไม่ทราบอะไรมาดลใจ) ประเด็นที่เขาเล่นมีตั้งแต่เศรษฐกิจยันเรื่องความมั่นคง (การวิเคราะห์ของเขาให้น้ำหนักกับกลุ่มล็อบบี้อิสราเอลค่อนข้างมาก กรณีนี้ถือเป็นเรื่องปกติในหมู่ปัญญาชนซ้าย ไม่ใช่มาจากอคติทางเชื้อชาติหรืออยู่บนความเลื่อนลอยแต่ประการใด มีหลักฐานและงานวิชาการสำคัญๆ หลายชิ้นที่รองรับสนับสนุนความคิดในสายนี้ ลองอ่านดูค่ะ)

 

คนที่สองไมเคิล ที แคลร์ (Michael T. Klare)เป็นนักวิเคราะห์การเมืองขายดีอีกคนหนึ่งในหมู่ปัญญาชน นอกจากจะเป็นโพรเฟสเซอร์สอนหนังสืออยู่ 5 สถาบัน - สอนประจำอยู่ที่ Hampshire College (Peace and World Security Studies) แล้ว เขายังเป็นนักเขียนประเด็นความมั่นคงให้กับ The Nation นิตยสารดังของพวกซ้าย-โพรเกรสซีฟ และเป็นเจ้าของหนังสือ  Blood and Oil: The Dangers and Consequences of America's Growing Petroleum Dependency

 

บทความทั้ง 2 ชิ้นแปลมาจาก Are Bush's Wars Winding Down or Heating Up? Paul Craig Roberts, Antiwar.com, January 8, 2007 และ Ominous Sign of a Wider War, Michael T. Klare, The Nation, January 8, 2007 (ชิ้นแรกมีการขัดเกลาเล็กๆ และวงเล็บอธิบายตามปกติ) o

 

 

…………………………………………………………………….

 

สงครามของบุช : เดินหน้า...สู่ความบ้าคลั่ง

พอล เครก รอเบิร์ตส์

8 มกราคม 2007

 

 

คนอเมริกันจำนวนมากเชื่อว่าหมดเวลาแล้วสำหรับการผจญภัยที่ผิดพลาดของบุช เสียงสนับสนุนให้อเมริกายึดครองอิรักต้องวูบหายไป ทั้งในกลุ่มประชาชนผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง สภาคองเกรส นายทหารและทหารในกองทัพ แต่ถึงกระนั้น รายงานข่าวในช่วงไม่กี่วันมานี้ กลับชี้ว่า ความเชื่อดังกล่าวน่าจะเป็นการคำนวนที่ผิดพลาดซะยิ่งกว่า

 

7 มกราคม ไทมส์ ลอนดอน รายงานว่า มันรู้มาจาก "แหล่งข่าวในกองทัพอิสราเอลหลายคน" ว่า "อิสราเอลได้ซุ่มวางแผนลับเพื่อโจมตีโรงงานเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมของอิหร่านด้วย อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical Nuclear Weapon)"

 

รัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอลออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าว

 

ไทมส์รายงานว่า "เจ้าหน้าที่อิสราเอลและอเมริกันได้พบปะกันหลายครั้งเพื่อร่วมวางแผนปฏิบัติการทางทหารด้วยกัน นักวิเคราะห์ด้านการทหารกล่าวว่า การปล่อยข่าวเกี่ยวกับแผนนี้ออกมา อาจจะมีเจตนาเพิ่มความกดดันต่ออิหร่านให้หยุดโครงการเสริมสมรรถนะนิวเคลียร์ หรือชักนำอเมริกาไปสู่ขั้นลงมือปฏิบัติการ หรือไม่ก็...เพื่อหว่านล้อมและลดแรงต้านของสาธารณะก่อนการโจมตีจริง"

 

ในบทความอีกชิ้น พลเอกโอเด็ด ทิรา (General Oded Tira) นายทหารของของอิสราเอล ได้เขียนไว้-คำต่อคำ(รวมวงเล็บ)-ดังนี้ "ประธานาธิบดีบุชขาดพลังสนับสนุนทางการเมืองสำหรับการโจมตีอิหร่าน แต่การโจมตีของอเมริกันในอิหร่านเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการมีอยู่ของอิสราเอล เราจึงต้องช่วยเขาแผ้วถางหนทางสำหรับเรื่องดังกล่าว โดยการล็อบบี้พรรคเดโมแครต (ที่ทำตัวไม่เข้าท่าอยู่เวลานี้) และล็อบบี้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในอเมริกา เราจำเป็นจะต้องทำสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่จะเปลี่ยนประเด็นอิหร่านให้กลายเป็นประเด็นที่ทั้งสองพรรคมีจุดยืนร่วมกัน และไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับความล้มเหลวในอิรัก"

 

พลเอกทิรา ยังได้มอบหมายงานให้กับ กลุ่มล็อบบี้อิสราเอล (Israel Lobby) ไว้ด้วย : (1) "เข้าหา ฮิลลารี คลินตัน หรือผู้เข้าชิงประธานาธิบดีที่มีศักยภาพของเดโมแครต เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นให้การสนับสนุนปฏิบัติการเร่งด่วนของบุชต่ออิหร่าน" (2) ใช้อิทธิพลกดดันต่อประเทศกลุ่มยุโรป เพื่อที่ว่า "บุชจะได้ไม่ถูกโดดเดี่ยวจากเวทีการเมืองระหว่างประเทศอีก" และ (3) "ร่วมมือในทางลับกับซาอุดิอาระเบีย เพื่อที่ว่ามันจะได้ช่วยเกลี้ยกล่อมอเมริกาให้โจมตีอิหร่าน"

 

ในส่วนของอิสราเอล พลเอกทิรา กล่าวไว้ว่า สิ่งที่ต้องทำได้แก่ "เตรียมพร้อมสำหรับการโจมตีที่เป็นอิสระ โดยมีการประสานงานกับอเมริกาในส่วนของเที่ยวบินเหนือน่านฟ้าอิรัก และเราควรจะประสานกับ อาร์เซอร์ไบจัน เพื่อใช้ฐานทัพอากาศของประเทศนั้น รวมทั้ง...เราควรจะขอความสนับสนุนจาก อาเซอรี (Azeri) ชนกลุ่มน้อยในอิหร่านด้วยเช่นกัน"

 

นักวิจารณ์การเมืองฝั่งอังกฤษให้ความเห็นว่า "ดูเหมือนสื่ออังกฤษกำลังจะโน้มน้าวเราให้เห็นคล้อยตามการโจมตีอิหร่าน" รอเบิร์ต ฟ็อกซ์ (Robert Fox) เขียนไว้ใน The First Post (แม็กกาซีนออนไลน์) ว่า "ทันใดนั้น เรื่องที่ว่า...มีการเตรียมกระแสสาธารณะในอังกฤษให้พร้อมสำหรับการโจมตีอิหร่าน...ก็ส่งกลิ่นแพร่กระจายฟุ้งไปทั่ว"

 

7 มกราคม Jerusalem Post รายงานว่า ผู้นำเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ของเดโมแครต สเตนี ฮอยเยอร์ (Steny Hoyer) ได้กล่าวกับหนังสือพิมพ์อิสราเอลว่า "การมีอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน...เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้" และ "การใช้กำลังต่อเตหะรานยังคงเป็นทางเลือกอยู่" โพสต์ยังตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า "ฮอยเยอร์ถูกจัดว่ามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับประชาคมชาวยิว ผู้สนับสนุนชาวอิสราเอลจำนวนมาก ต่างก็ยินดีกับการก้าวขึ้นมามีบทบาทของเขาในสภาล่าง"

 

ฮอยเยอร์ คือชัยชนะครั้งแรกของกลุ่มลอบบี้อิสราเอลที่มีต่อ แนนซี เโลซี (Nancy Pelosi)  ประธานสภาผู้แทนฯ ของเดโมแครต แต่เดิมนั้น ผู้ที่เพโลซีให้การสนับสนุนสำหรับตำแหน่งดังกล่าว ได้แก่ จอห์น เมอธา (John Murtha) เดโมแครตคนสำคัญคนแรก (บิ๊กสายทหาร) ที่เรียกร้องการถอนทหารอเมริกันออกจากอิรัก

 

20 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์อิสราเอล ฮาเร็ตซ์ รายงานว่า ประธานาธิบดีบุชกล่าวว่า เขาสามารถเข้าใจและยอมรับได้ ถ้าอิสราเอลจะเลือกหนทางโจมตีอิหร่าน

 

บุชได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เขาคือแต้มที่อิสราเอลมีไว้ในมืออยู่แล้ว เมื่อเขาเข้าขัดขวางความพยายามของนานาชาติที่จะหยุดยั้งอิสราเอลจากการบอมบ์พลเรือนเลบานอนคราวนั้น

 

นักวิจารณ์จำนวนมากเชื่อว่า อิทธิพลของนีโอคอนถูกทำลายไปแล้ว เพราะความล้มเหลวของพวกเขาใน "cakewalk war" (หมายถึง "สงครามอิรัก" - ล้อสำนวนพวกนีโอคอนที่เคยประมาทเอาไว้ว่า สงครามอิรักก็แค่เดินเข้าไปยึดเอามาง่ายๆ) นี่คือข้อสรุปที่ผิดพลาด เพราะนีโอคอนเป็นพันธมิตรอันเก่าแก่ยาวนานของ พรรคลิคุด (Likud Party) พรรคการเมืองปีกขวาของอิสราเอล และยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มล็อบบี้อิสราเอลในอเมริกาด้วย ดังนั้น ถึงแม้ว่ากลุ่มล็อบบี้อิสราเอล จะเป็นตัวแทนของคนกลุ่มน้อยในอเมริกา ซึ่งได้แก่ ยิวสัญชาติอเมริกัน (หรืออเมริกันเชื้อสายยิว) ก็ตาม แต่โดยเนื้อแท้แล้ว พวกเขาจัดว่าเป็นเจ้าของกิจการพรรคการเมืองทั้งสองพรรคและมีสื่ออเมริกันส่วนใหญ่อยู่ในมือ ตราบที่นีโอคอนยังเป็นส่วนสำคัญของกลุ่มล็อบบี้ที่มีอำนาจมหาศาลนี้ พวกเขาย่อมคงไว้ซึ่งอิทธิพลสูงสุดอยู่ดี

 

กลุ่มล็อบบี้ทำงานเพื่อให้นีโอคอนเสียงดังมากขึ้น เพื่อที่จะเข้าถึงความสามารถอันน่าทึ่งของพวกเขา ให้ลองพยายามค้นหา...คอลัมนิสต์ในสื่อสิ่งพิมพ์หลักๆ และนักออกความเห็นตามทีวี...ที่ไม่ใช่นักแก้ตัวให้อิสราเอล ไม่ชื่นชอบการโจมตีอิหร่าน และส่งเสริมการถอนทหารในอิรัก แล้วดูซิว่าที่ผ่านมา...มันประสบความสำเร็จขนาดไหน เร็วๆ นี้ นักโฆษณาชวนเชื่อผู้บ้าคลั่งสำหรับสงครามต่อต้านมุสลิม บิล คริสตอล (Bill Kristol/William Kristol - นีโอคอนระดับแกนนำสยองขวัญสุดยอดคนหนึ่ง) เพิ่งจะถูกเชิญไปเปิดคอลัมน์ในนิตยสาร Time - - ทำไมไทม์ถึงคิดว่าคนอ่านของมันถึงอยากจะอ่านงานเขียนของพวก war propagandist? เป็นไปได้มั้ยว่า เหตุผลเบื้องหลังก็คือ กลุ่มล็อบบี้อิสราเอลตกลงจะให้สัญญาโฆษณาแบบเอื้ออาทรกับไทม์ เพื่อแลกกับพื้นที่คอลัมน์ของคริสตอล?

 

นีโอคอน เรียกร้องให้ทำ "สงครามโลกครั้งที่สี่" กับอิสลาม (สงครามโลกครั้งที่สามของพวกเขา คือสงครามเย็น) ในนิตยสาร Commentary นอร์แมน พอโดเร็ตซ์ (Norman Podhoretz - บก. นิตยสารและนีโอคอนระดับอุบาทว์สุดยอดอีกคน) ได้เรียกร้องให้ทำในสิ่งที่เรียกว่า cultural genocide หรือ การทำลายล้างวัฒนธรรมของพวกที่นับถืออิสลามให้สูญพันธุ์ไปจากโลก และขณะนี้ สงครามที่ว่านี้ก็ได้เปิดตัวไปแล้วสี่แนวรบ : อิรัก อัฟกานิสถาน โซมาเลีย และอิหร่าน

 

ประธานาธิบดีบุชได้ใช้ตัวแทนของมันคือเอธิโอเปียโค่นล้มมุสลิมโซมาเลีย ซึ่งผู้นำมุสลิมกลุ่มนี้ได้อำนาจมาจากการโค่นล้มแก๊งผู้นำมาเฟียป่าเถื่อนผู้ขับไล่อเมริกาออกไปจากโซมาเลียอีกที ฝ่ายข่าวกรองและทัพเรือของอเมริกาได้เข้าไปมีบทบาทอย่างมากร่วมกับกองทัพของเอธิโอเปีย ในความพยายามที่จะไล่ล่า จับกุม และสังหารชาวมุสลิมโซมาเลีย รอเบิร์ต เคอร์ (Robert Kerr) โฆษกสถานทูอเมริกาในไนโรบี กล่าวว่าอเมริกามีสิทธิที่จะตามล่า-กวาดล้างพวกอิสลามมิสต์ในโซมาเลีย ในฐานะส่วนหนึ่งของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

 

เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีมาแล้ว ที่อเมริกาได้เข้าไปปลุกปั่น ยุยง และให้ทุนกลุ่มก่อการร้ายในอิหร่าน ซีมัวร์ เฮิร์ช และอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอต่างก็เคยออกมาเปิดโปงให้เห็นเบื้องหลังที่ว่า คณะผู้บริหารบุชให้ความช่วยเหลือสนับสนุนชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ ในอิหร่าน ซึ่งอยู่ในลิสต์องค์กรก่อการร้ายของกระทรวงต่างประเทศ เมษายนปีที่แล้ว ส.ส.อเมริกา เดนนิส คูซินิช (Dennis Kucinich - เดโมแครตแอนตี้วอร์ที่มีบทบาทโดดเด่น) ได้เขียนจดหมายสอบถามประธานาธิบดีบุชเรื่องที่อเมริกาแทรกแซงกิจการภายในอิหร่าน แต่เขาไม่ได้รับคำตอบ

 

แผนของนีโอคอน/อิสราเอล - ซึ่งมีบุชเป็นส่วนหนึ่งหรือถูกชักใยให้เป็นส่วนหนึ่ง - มีอยู่ว่า ให้กระทำสิ่งที่ยั่วยุอิหร่านจนนำไปสู่วิกฤติ...ชนิดที่สภาคองเกรสจำเป็นจะต้องหันมาสนับสนุนอิสราเอลในที่สุด ทั้งรัฐบาลอิสราเอลและนีโอคอนในอเมริกาต่างก็ตกเป็นทาสความเชื่อที่บ้าคลั่งพอ กัน การประเมินว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยอมให้เหตุผลนำทาง หรือเข้าใจลึกซึ้งถึงหายนะที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลังการโจมตีอิหร่าน ถือเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด

 

เรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกานั่งเป็นเป้านิ่งรอมิสเซิลรัสเซีย (ของอิหร่าน) อยู่นอกชายฝั่งอิหร่าน นีโอคอนคงจะยินดีมากสำหรับเหตุการณ์ "เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ครั้งใหม่"

 

สื่ออเมริกาเป็นสิ่งที่พึ่งพาไว้ใจไม่ได้อย่างสิ้นเชิง มันไม่สามารถแสดงอะไรที่เป็นการต่อต้านอิสราเอลได้เลย ด้วยเหตุนี้ อารมณ์นี้ มันย่อมจะหยิบธงชาติ (ตามประสานักรักชาติ) มาห่อคลุมตัวเองไว้ เหมือนอย่างที่มันเคยทำตอนอเมริกาบุกอิรัก สาธารณะชนชาวอเมริกันต่างก็ถูกหลอก (อีกครั้ง) ให้เชื่อว่า อิหร่านกำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์ครอบครองอยู่ไม่กี่วันนี้ และคิดจะใช้มันเพื่อลบอิสราเอลออกจากแผนที่ - - ข้อเท็จจริงที่ว่า อเมริกันชนเป็นไอ้โง่ที่พร้อมเสมอสำหรับโฆษณาชวนเชื่อ ดูจะทำให้การคัดค้านจริงจังใดๆ ต่อแผนการ  WWIV ของนีโอคอนเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ จนถึงวันนี้ชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงเชื่อว่า ซัดดัม ฮุสเซน คือผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ 9/11 ล่าสุด ในรายงานข่าวเกี่ยวกับการแขวนคอซัดดัม แจเนต เวสเซลฮอฟท์ (Janet Wesselhoft) ชาวเมืองแอตแลนตารายหนึ่ง ยังคงมั่นใจว่า ซัดดัม "คือผู้ที่เริ่มต้นการก่อการร้ายในประเทศนี้ และเขาจำเป็นจะต้องถูกหยุดยั้ง"

 

แม้แต่ไทมส์ ลอนดอน ก็ยังดิ้นไม่หลุดจากธีมโฆษณาชวนเชื่อของอิสราเอล ในรายงานที่ว่าด้วยแผนโจมตีอิหร่านด้วยนิวเคลียร์ของมัน ไทมส์ยังอุตส่าห์พูดว่า ประธานาธิบดีของอิหร่าน มาห์มูด อาห์มาดิเนจัด ได้ประกาศว่า "อิสราเอลจะต้องถูกลบทิ้งจากแผนที่" ทั้งๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่ยอมรับจำนวนหนึ่ง จะได้เคยหยิบยกกรณีนี้มาแสดงให้เห็นแล้วว่า มันเป็นประโยคที่ปรุงแต่งขึ้นมาใหม่ ตัดบริบทเดิมทิ้งไปทั้งดุ้น อาห์มาดิเนจัดไม่ได้พูดอะไรแบบนั้น

 

ในโลกที่ปกครองด้วยโฆษณาชวนเชื่อ ความเลอะเทอะกลายเป็นสัจจะ ความเท็จกลายเป็นความจริง อำนาจของกลุ่มล็อบบี้อิสราเอลยิ่งใหญ่เสียจนกระทั่ง...ในกรณีของประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ - ซึ่งอาจจะเป็นมนุษย์ที่เคยเข้ามายึดห้องทำงานรูปไข่ที่มีคุณสมบัติเข้าท่ามากที่สุด แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เป็นประธานาธิบดีที่ทำเพื่อสันติภาพในตะวันออกกลางมากที่สุด - พวกนักล็อบบี้อิสราเอลได้สรางภาพคาร์เตอร์ให้กลายเป็นพวกเหยียดยิว (anti-semite) และเป็นศัตรูของอิสราเอลไปแล้ว สื่ออเมริกัน ทั้งฟากคอนเซอร์เวทีฟและฟากลิเบอรัล ได้ช่วยกันสุดความสามารถที่จะเปลี่ยนคาร์เตอร์ให้เป็น...บุคคลไม่พึงประสงค์-สังคมรังเกียจ...เพียงเพราะเขาพูดความจริงไม่กี่อย่างเกี่ยวกับเรื่องที่อิสราเอลทำเลวร้ายกับชาวปาเลสไตน์ ในหนังสือของเขาที่ชื่อ Palestine: Peace Not Apartheid

 

ถ้าเพียงแต่สัจจะความจริงจะเป็นสิ่งที่รับรู้ทั่วกัน มิเช่นนั้น ก็คงไม่มีอะไรไปหยุดยั้งพวกเหลี่ยมจัด นีโอคอน/อิสราเอล จากการขยายวงสงครามในตะวันออกกลางได้

 

อย่างที่ผมเคยรายงานไปแล้วว่า นีโอคอนเชื่อว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่านจะเป็นการบีบบังคับให้ชาวมุสลิมต้องยอมรับว่า พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลืออีกแล้วนอกจากต้องยอมรับเจตจำนงของอิสราเอล/อเมริกา และแม้การใช้อาวุธนิวเคลียร์จะถูกอ้างเหตุผลว่า มันเป็นหนทางที่จำเป็นในการทำลายโรงงานนิวเคลียร์ใต้ดินของอิหร่านก็ตาม แต่เป้าหมายที่แท้จริงก็คือ การก่อการร้ายต่ออิสลามและทำให้มันต้องหมอบราบยอมจำนน

 

จนกว่าอเมริกาจะมีความกล้าพอที่จะถามหาและได้มาซึ่งนโยบายตะวันออกกลางที่เป็นของตัวเอง หาไม่แล้ว เราก็คงจะต้องเก็บเกี่ยวผลลัพธ์อันเลวร้ายที่กลุ่มล็อบบี้อิสราเอลมาเพาะหว่านทิ้งไว้...ต่อไปเรื่อยๆ o

 

 

…………………………………………………………………….

 

ลางร้าย wider war

ไมเคิล ที แคลร์

8 มกราคม 2007

 

 

5 มกราคม รัฐมนตรีกลาโหม รอเบิร์ต เกตส์ ประกาศว่า เขากำลังจะย้าย พลเรือเอก ริชาร์ด แฟลลอน (Adm. Richard Fallon) ผู้บัญชาการกองบัญชาการแปซิฟิก (Pacom - Pacific Command) มาแทนที่ พลเอกจอห์น อาบิซาอิด (Gen. John Abizaid) ผู้บัญชาการกองบัญชาการกลาง (Centcom - Central Command) - หน่วยงานที่ดูแลกองทัพอเมริกาในอิรัก อัฟกานิสถาน และตะวันออกกลางทั้งหมด  แฟลลอนคือหนึ่งในนายทหารระดับสูงหลายนายที่ได้รับการโยกย้ายแต่งตั้งเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อมาดูแลยุทธศาสตร์ใหม่ในอิรัก ซึ่งมีประธานาธิบดีบุชเป็นผู้กำหนดแนวทาง

 

การเลือกแฟลลอนมาแทนที่อาบิซาอิดเป็นสิ่งที่ไม่ปกติอย่างมากในหลายๆ แง่มุม อันดับแรก นี่เป็นการย้ายไปกินตำแหน่งในระดับเดียวกัน ไม่ใช่การโปรโมท ในฐานะหัวหน้ากองบัญชาการแปซิฟิก แฟลลอนมีอำนาจบัญชาการกองกำลังที่ใหญ่กว่าที่เขาจะเข้ามาดูแลที่กองบัญชาการกลางเสียอีก ยิ่งกว่านั้น ยังมีบางส่วนที่เขาจะมีอำนาจควบคุมโดยตรงได้น้อยกว่าปกติ เพราะปฏิบัติการสู้รบของทุกหน่วยในอิรักจะอยู่ภายใต้การดูแลของ พลเอก เดฟ เพเทรอัส (Gen. Dave Petraeus) ซึ่งเพิ่งได้รับการประกาศเร็วๆ นี้ ว่าจะมาแทนที่ พลเอกจอร์จ เคซีย์ (Gen. George Casey) ผู้บัญชาการกองกำลังของอเมริกาและพันธมิตรทั้งหมดในอิรัก

 

อันดับสอง แฟลลอน เป็นคนของกองทัพเรือที่มีประสบการณ์การสู้รบโดยเรือบรรทุกเครื่องบินมาโดยตลอด ขณะที่งานส่วนใหญ่ในแต่ละวันของกองบัญชาการกลางจะเป็นเรื่องภาคพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านหรือกับพวกมาเฟียสงครามในอิรัก และอัฟกานิสถาน

 

แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งของคำอธิบายในการโยกย้ายครั้งนี้ก็คือ ทำเนียบขาวต้องการกำจัดผู้บัญชาการที่ไม่พอใจและไม่เห็นด้วยกับมันอย่างอาบิซาอิดและเคซีย์ออกไปให้พ้นทาง ทั้งสองต่างก็คัดค้านการเพิ่มทหารอเมริกาในอิรัก และยังสนับสนุนให้มีการถ่ายโอนความรับผิดชอบไปให้กองกำลังของอิรัก เพื่อที่จะค่อยๆ ถอนทหารอเมริกันออกมาอีกด้วย อาบิซาอิดให้สัมภาษณ์นิวยอร์ค ไทมส์ ไม่นานมานี้ว่า "สถานการณ์ในแบกแดดต้องการทหารอิรักมากขึ้น" -ไม่ใช่ต้องการทหารอเมริกา - และเฉพาะข้อนี้ข้อเดียว อาบิซาอิดก็อยู่ไม่ได้...จำเป็นต้องเก็บประเป๋ากลับบ้านไป

 

แต่มันยังมีบางอย่างที่มากกว่านั้น อาบิซาอิด อเมริกันผู้ซึ่งสืบเชื้อสายเลบานิสและยังเคยไปประจำการในเลบานอนร่วมกับกองกำลังของยูเอ็นมาแล้วในอดีต เริ่มมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้วิกฤติในอิรักด้วยทางออกระดับภูมิภาค ซึ่งนั่นหมายถึง การที่จะต้องเจรจาร่วมมือกับอิหร่านและซีเรียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนี่ก็ตรงกับคำแนะนำของกลุ่มศึกษาปัญหาอิรักหรือไอเอสจี (Iraq Study Group)

 

"คุณจำเป็นจะต้องดึงปัญหานั้นออกมาสู่เวทีระหว่างประเทศ คุณต้องรับมือกับมันด้วยวิถีทางการทูต ด้วยยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค" เขากล่าวกับไทมส์ "คุณไม่สามารถจะเอากล้องจุลทัศน์ไปส่องเฉพาะจุดที่เป็นปัญหาใจกลางเมืองแบกแดด......แล้วบอกว่า จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราจับทหารยัดใส่เข้าไปในจุดนั้นมากพอ เราจะสามารถแก้ไขประเด็นที่ใหญ่กว่า ในภูมิภาคที่อยู่ภายใต้ลัทธิความรุนแรงสุดขั้วได้"

 

ถ้าการเกี่ยวข้องร่วมมือกับอิหร่านและซีเรียอยู่ในอะเจนดาแม้แต่เพียงนิดเดียว อาบิซาอิดคือคนที่ใช่เลย...สำหรับงานที่กองบัญชาการกลาง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทหารและยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาคพอดี แต่ถ้าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในอะเจนดา ถ้าสิ่งที่คุณคิดคือการใช้กำลังกับอิหร่าน และ/หรือ ซีเรีย แล้วล่ะก็ งานนี้ พลเรือเอกแฟลลอนเท่านั้นคือคนที่คุณต้องการ คนที่ใช่เลยแน่นอน...สำหรับตำแหน่งดังกล่าว

 

ทำไม?

 

เพราะการปฏิบัติการทางน้ำร่วมกับทางอากาศคือสิ่งที่เขาถนัดเป็นพิเศษ แฟลลอนเริ่มอาชีพการสู้รบของเขาด้วยการเป็นนักบินเครื่องบินรบของกองทัพเรือในสงครามเวียดนาม และหลังจากนั้นต่อมา เขาก็ประจำการอยู่กับเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นเวลาถึง 24 ปี เขาบัญชาการการสู้รบในส่วนของเรือบรรทุกเครื่องบิน ระหว่างสงครามอ่าวปี 1991 และเป็นผู้นำของกองกำลังทางเรือเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการของเนโต ระหว่างความขัดแย้งในบอสเนียตลอด 4 ปีต่อมา จนกระทั่งไม่นานมานี้ แฟลลอนได้เป็นรองหัวหน้าฝ่ายยุทธการของกองทัพเรือ ก่อนที่จะมาเป็นหัวหน้ากองบัญชาการแปซิฟิกในปี 2005 และทั้งหมดนี้หมายความว่า เขาคือตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับการควบคุมดูแลการโจมตีอิหร่านทั้งทางเรือ ทางอากาศ และด้วยจรวดขีปนาวุธ ในกรณีที่มีสัญญาณไฟเขียวจากบุชเกิดขึ้น - ด้วยเหตุนี้เอง การย้ายแฟลลอนจาก pacom มา centcom จึงสะท้อนว่า อะเจนดาดังกล่าวน่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ในใจบุชอย่างมาก

 

การแทนที่อาบิซาอิดด้วยแฟลลอน และความเคลื่อนไหวหลายอย่างที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมประกาศออกมา น่าจะทำให้ใครก็ตามที่กำลังวิตกเกี่ยวกับสงครามที่กำลังร้อนแรงขึ้นในอิรักต้องหยุดพักความคิดไว้ชั่วครู่ ตรงกันข้ามกับคำแนะนำของคณะกรรมการไอเอสจี บุชดูเหมือนจะกำลังวางแผนสำหรับสงครามที่ขยายวงกว้างขึ้น - ด้วยความเสี่ยงต่อหายนะที่เพิ่มมากขึ้น - ไม่ใช่การค่อยๆ ถอนตัวอย่างสง่างามออกจากภูมิภาค  o

 

 

…………………………………………………..

อ่านประกอบ

1 - Revealed: Israel Plans Nuclear Strike on Iran, Uzi Mahnaimi and Sarah Baxter, Sunday Times (UK), January 7, 2007

2 - What to do with Iran? Oded Tira, Ynetnews, Deacember 30, 2006

3 - How to Win World War IV, Norman Podhoretz, Commentary Magazine, February 2002

4 - World War IV: How It Started, What It Means, and Why We Have to Win, Norman Podhoretz, Commentary Magazine, September 2004

 

 

หมายเหตุนีโอคอน

ในบทความของรอเบิร์ตส์ มีการพาดพิงมันสมองนีโอคอนระดับ "อภิมหาบ้าคลั่ง" อยู่ 2 ราย ได้แก่ วิลเลียม คริสตอล และ นอร์แมน พอโดเร็ตซ์ ทั้งคู่เป็นอเมริกัน-ยิว (ไซออนิสต์โรคจิตของแท้) พอโดเร็ตส์ เป็นบรรณาธิการนิตยาสาร Commentary ขณะที่คริสตอล นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการ  Weekly Standard  แล้ว ยังเป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญผู้ก่อตั้งกลุ่ม PNAC (Project for the New American Century) - think tank นีโอคอน เจ้าของพิมพ์เขียวที่มุ่งสถาปนาความยิ่งใหญ่-ก้าวร้าว-ครองโลกทั้งใบของอเมริกันเอ็มไพร์ไปพร้อมๆ กับการทำลายล้างตะวันออกกลางนั่นเอง  - - หลังสงครามกับโลกมุสลิมผ่านมาหลายปี และยังคงร้อนระอุอยู่ทุกวันนี้ (ร้อนขึ้นเรื่อยๆ)

 

นีโอคอนยังสบายดีมั้ย? มีตำแหน่งอะไร อยู่ที่ไหนบ้าง? อันนี้เป็นการบ้านที่ติดค้างไว้นานแล้ว ก่อนคอลัมน์นี้จะปิดตัวลง เราจะมีการร่ายยาวสรุปภาพรวมของนีโอคอนในยุคหลังๆ (ยุคพี่บุช) ตามมาแน่นอน

 

(ปล. แถมท้าย เนื่องจากเป็นประเด็นร็อนและมีรายละเอียดเยอะ สัญญาณ wider war ที่พุ่งตรงไปยังอิหร่าน จึงยังไม่จบง่ายๆ แค่นี้ เราจะมีตอนที่อัพเดทกว่าตามมาอีกหนึ่งตอน - สั้นๆ แต่ได้ใจความจากอดีตคนในกองทัพ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net