รายงาน : ตามไปดู อบรม "นักข่าว-นักเขียน" กับการเปิด "พื้นที่ใหม่" ของสื่อเยาวชน

อยากจะเปิดพื้นที่ในการสื่อสารระหว่างเด็กและเยาวชน กับสังคม เสนอข่าว เสนอมุมมองของเด็กและเยาวชน เพราะว่าในปัจจุบัน สื่อที่ผู้ผลิตเป็นเยาวชนอยู่กับสถานการณ์จริงยังมีน้อย

โดย ฐาปนา พึ่งละออ

 

 

           

ท่ามกลางกระแสสื่อที่ท่วมท้นสังคมอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าสื่อกระแสหลักหรือสื่อทางเลือก ส่วนใหญ่

แล้ว มักจะถูกสร้างจากผู้ทำงานโดยวิชาชีพ เช่น นักข่าว นักเขียนสารคดี กวี ซึ่งมีมุมมองต่อความเป็นไปในสังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผู้ซึ่งอยู่ในกระแส มองเห็น และอาจเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นแจ่มชัดกว่าผู้ทำงานโดยวิชาชีพ

 

เพียงแต่ว่า พื้นที่การแสดงความเห็นในรูปแบบต่างๆ ของเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลักหรือสื่อทางเลือก ยังมีปริมาณน้อย ทั้งยังไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสังคมมากนัก "มูลนิธิศักยภาพเยาวชน" หรือ "ไทยัพ" จึงได้จัดทำ "โครงการศูนย์ข่าวเยาวชนไทยัพ" ขึ้น โดยรับสมัครนักศึกษาปี 1-ปี 2 ที่สนใจในงานข่าวงานเขียน มาร่วมกันทำงานใน "ศูนย์ข่าวเยาวชนไทยัพ"

           

ชัยเนตร ชนกคุณ ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า จุดมุ่งหมายของโครงการนี้ก็คือ อยากจะเปิดพื้นที่ในการสื่อสารระหว่างเด็กและเยาวชน กับสังคม เสนอข่าว เสนอมุมมองของเด็กและเยาวชน เพราะว่าในปัจจุบันสื่อที่ผู้ผลิตเป็นเยาวชนอยู่กับสถานการณ์จริงยังมีน้อย จึงอยากผลักดันศูนย์นี้ให้เกิดขึ้น ให้มีครบทั้ง ข่าว บทความ สารคดี เรื่องสั้น บทกวี วรรณกรรม เพื่อถ่ายทอดกลับไปสู่สังคม

 

"...ส่วนหนึ่งคือน้องๆ เขาก็เป็นกันมาแล้ว เพราะว่าตอนที่รับสมัครเราคัดเลือกจากน้องๆ ที่มีความสนใจในเรื่องการอ่านการเขียน สนใจงานวรรณกรรม แล้วก็น้องๆ ส่วนหนึ่งอยากจะพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นนักเขียน เราก็เลยเปิดตรงนี้ขึ้นมา จุดประสงค์ในการจัดกิจกรรมก็คือให้น้องๆ ได้เพิ่มทักษะ เพิ่มมุมมองมากขึ้น ในงานเขียนประเภทที่ตัวเองสนใจ คือแต่ละคนก็มีพื้นฐานไม่เท่ากัน

 

การปรับพื้นตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เรื่องความสามารถด้านการเขียน คาดว่าน้องๆ หลายคนต้องใช้เวลา บางคนมีผลงานอยู่แล้ว ก็ก้าวกระโดดไปไกลกว่าเพื่อน แต่บางคนเพิ่งจะเริ่มต้นอ่านจริงจังไม่ถึง 2 ปี เริ่มต้นจับปากกาเขียนยังไม่ถึง 10 หน้าเป็นต้น ตรงนี้เราก็มีเวลาให้เขาพัฒนาไป"

 

 

 

 

 

"ส่วนเรื่องเวบไซต์ น้องๆ เขาก็อยากจะได้เป็นเวบไซต์ข่าวเหมือนของประชาธรรม หรือประชาไท เปิดเข้าไปแล้วมีหลายๆ อย่าง มีหน้าข่าว หน้าบทความ หน้าสารคดี หน้าบทกวี หน้าวิจารณ์ อะไรพวกนี้ น้องๆ เขาก็อยากจะมีพื้นที่ตรงนี้ ศูนย์ข่าวก็แน่นอนว่าจะต้องมีหน้าข่าว มีบทความ บทกวี เรื่องสั้น แต่จำนวนก็อาจจะลดทอนลงไปตามความรับผิดชอบของน้องๆ แต่ละคน..."

           

ชัยเนตร กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวแล้วมีความคาดหวังในระดับหนึ่งคืออยากให้น้องๆ กลุ่มนี้เป็นตัวบุกเบิกศูนย์ข่าวเยาวชน ซึ่งจะประสบความสำเร็จหรือได้รับความนิยมหรือไม่ก็ตาม แต่อยากให้มีการเริ่มต้น ซึ่งอาจช่วยต่อยอดสำหรับน้องๆ รุ่นต่อไปได้

           

ในช่วงวันที่ 19-21 มกราคมที่ผ่านมา น้องๆ 20 กว่าคนจึงได้ไปร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการกันที่ "ฟาร์ม 63" ริมแม่น้ำปิง อำเภอเชียงดาว

           

รถมาถึงฟาร์ม 63 กันตอนเย็นของวันศุกร์ที่ 19 หลังจากเก็บสัมภาระและทานอาหารเย็นกันเรียบร้อยแล้ว ก็มาล้อมวงนั่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ "แรงบันดาลใจ" จากการอ่านกัน หลายคนชอบอ่านงานของนักเขียนไทย หลายคนชอบงานแปล บางคนก็ชอบงานหนักๆ เช่นของ ดอสโตเยฟสกี้,อันตัน เชคอฟ เรียกว่ามีความสนใจที่แตกต่างหลากหลายเลยทีเดียว

           

ช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 20 ทุกคนก็มาล้อมวงกันฟังวิธีการและประสบการณ์การทำงาน "ข่าว" จาก "พี่ดวง" หรือ ธีรมล บัวงาม แห่งสำนักข่าวประชาธรรม พี่มลเล่าว่า ในแง่ของวารสารศาสตร์ เราต้องรายงานข่าวอย่างเป็นกลาง แต่ในความเป็นกลางก็มีคำถามอีกว่าจะวัดได้อย่างไร แต่โดยส่วนตัวแล้ว เชื่อว่าข่าวมันเป็นกลางไม่ได้ แต่ข่าวควรจะเป็นธรรมมากกว่า

 

 

 

 

 

"...คำที่สำคัญกว่าคือเป็นธรรมมั้ย คำว่าเป็นกลางเป็นเป้าหมายที่เราควรจะไปถึง แต่จะเป็นยังไงก็อยู่ที่การวัดของเราแต่ละคน คือทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมที่บริโภคข่าวสาร แล้วข่าวสารต่างๆ ก็ผ่านเราไปแค่แวบเดียว ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งผมเคยดูข่าว มีข่าวข้าราชการจังหวัดหนึ่งร่วมสาบานตนไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แล้วต่อมาก็มีข่าวชาวเขาทางภาคเหนือร่วมสาบานตนเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด คือมันผ่านแค่แวบเดียวเอง แต่มันต่างกันที่คำว่า ไม่ กับคำว่า เลิก คำว่าเลิกก็แปลว่า เขาเคยยุ่งเกี่ยวใช่หรือไม่ แต่ข่าวมันก็มักจะถูกผลิตเพื่อตอกย้ำทัศนคติเหล่านี้อยู่แล้ว ว่าชาวเขาต้องตัดไม้ทำลายป่า ต้องค้ายาเสพติด ซึ่งเราในฐานะคนทำงานข่าวทำงานเขียน ก็ต้องละเอียดอ่อนกับเรื่องเหล่านี้..."

 

พี่ดวง กล่าวว่า โดยหลักการทำงานแล้วคือ ทำอย่างไรจะสร้างความเข้าใจให้กับสังคมได้สำหรับคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีพื้นที่ในสังคม คนที่ถูกเอาเปรียบ คนที่ด้อยโอกาส คนที่สังคมมองไม่เห็น หน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่คือสร้างความเข้าใจตรงนี้ให้เกิดขึ้น

 

การอบรมช่วงเช้านี้ น้องๆ ให้ความสนใจกันมาก ตั้งใจฟัง ตั้งใจจด และตั้งคำถามอยู่ตลอด แสดงให้เห็นว่า สนใจงานด้านสื่อมวลชนกันจริงๆ

 

ช่วงบ่าย เป็นช่วงของการแนะแนวการเขียนสารคดี โดย นักเขียนสารคดีรางวัลลูกโลกสีเขียว "พี่นนท์" สุวิชานนท์ รัตนภิมล หรือในนามปากกา "หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง" "ชนกลุ่มน้อย" และ ฯลฯ ซึ่งหอบเอกสารกับหนังสือมากมายมาแจกน้องๆ ด้วย

 

 

สุวิชานนท์ รัตนภิมล บอกเล่าถึงงานสารคดี

 

พี่นนท์ เล่าย้อนถึงประสบการณ์การอ่านการเขียนตั้งแต่สมัยเรียนว่า เคยตั้งกลุ่มกับเพื่อนๆ อ่านหนังสือเล่มเดียวกันแล้วสัปดาห์หนึ่งก็มานั่งคุยแลกเปลี่ยนกัน รวมทั้งเคยได้ควักเงินทำวารสารชื่อ "จุด" ร่วมกับเพื่อนโดยการสนับสนุนของอาจารย์ เมื่อเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงขลาฯ แล้ว ก็มาเรียนต่อปริญญาโทสาขาปรัชญาที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

แต่แล้ววันหนึ่งก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า อยากจะทำอะไร ทำให้ตัดสินใจเลิกเรียนแล้วกลับไปกรีดยางที่บ้าน

 

"...ผมก็เข้าไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่าได้งานทำแล้ว ก็เก็บของทุกอย่าง นั่งรถไฟกลับบ้าน แม่ตกใจมากถามว่าจะลาออกจริงๆ เหรอมีปัญหาอะไร ผมก็บอกว่าขอพักไว้ก่อน แต่ในใจเรารู้ว่า ต้องกลับบ้าน จับดินสออยู่บ้านดีๆ ก็กลับมาจับมีดกรีดยาง ด้วยความฝันว่าจะกลับมาเขียนหนังสือ แต่ถามว่าตอนนั้นตัวเองแข็งแรงพอที่จะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันหรือยัง ก็ยังไม่มี แต่รู้ว่าข้างในเราอยากทำอะไร ก็แตกหักกับตัวเองรุนแรงมาก ทางบ้านก็กระทบ ผมอธิบายทุกวัน...ทุกวันผมจะปั่นจักรยานสามกิโลเมตรไปที่สวน จะมีเพิงพักของผมอยู่ เอาหนังสือไปอ่าน ไปเขียนหนังสือ เสร็จแล้วก็จะขุดดินปลูกต้นไม้ คนก็มาชะเง้อดูว่ามาทำอะไร ชาวบ้านเริ่มสงสัยว่าเพี้ยนหรือเปล่า..."

 

พี่นนท์เล่าต่อว่า ช่วงที่กลับไปอยู่บ้านหนึ่งปี ได้ออกตระเวนพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ ได้รู้ข้อมูลมาก

มายที่น่าทึ่งเช่น เรื่องความเป็นอยู่ของคนกับป่าสมัยก่อน,เรื่องของคนที่แข็งแรงมากขนาดแบกไม้หมอนรถไฟมาขาย หรือเรื่องของยางพาราต้นแรกที่เข้ามาในหมู่บ้าน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เสมือนการฝึกฝนสู่การทำงานเขียนสารคดีในเวลาต่อมา

 

เมื่อพูดถึงวิธีการทำงานนั้น พี่นนท์บอกว่า การเขียนสารคดีก็คือการพาตัวเองเข้าไปสู่ความยากลำบากเพื่อให้ได้ข้อมูลมา ต้องสืบเสาะหา "กุญแจ" ที่จะนำเราไปสู่ข้อมูลให้ได้ ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นกุญแจดอกที่ 3 หรือ 4 กว่าที่เราจะได้ข้อมูลที่เราต้องการ เมื่อได้มาแล้วก็ต้องจัดการกับข้อมูลเหล่านั้น แยกแยะ วิเคราะห์ และเรียบเรียงออกมาในรูปของสารคดี ด้วยเนื้อหาสาระตามที่เราได้วางรูปแบบไว้

 

ช่วงท้าย พี่นนท์ให้การบ้านให้ทุกคนไปเขียนสารคดีมาคนละหนึ่งเรื่องจากหัวข้อ "ฟาร์ม 63" ทำให้น้องๆ ต้องรีบกระจายกำลังไปหาข้อมูลกันใหญ่ บางคนไปคุยกับแม่ครัว บางคนไปดูเขาจับปลาในแม่น้ำปิง บางคนก็ออกไปสำรวจพันธุ์ไม้ที่อยู่ในบริเวณ

 

หลังจากอบรมกันหนักทั้งเช้าทั้งบ่าย และจัดการอาหารเย็นกันเรียบร้อยแล้ว น้องๆ ก็ได้มีเวลาพักผ่อนนั่งคิดนั่งเขียนงานกันก่อนจะเข้าสู่การอบรมช่วงค่ำ คือ "การเขียนเรื่องสั้น" โดยวิทยากรนักเขียนคู่ชีวิตคือ "พี่โต้ง"มหรรณพ โฉมเฉลา และ "พี่ฝน" รวิวาร โฉมเฉลา ซึ่งทั้งสองท่านก็ออกตัวว่าพูดไม่เก่ง และถ้าจะให้แนะนำเป็นขั้นตอนคงจะยาก นอกจากเขียนมาและให้ช่วยดู ให้คำแนะนำแก้ไข ช่วงนี้จึงให้น้องๆ ได้ถามข้อสงสัยในการทำงานเขียน หรือ การใช้ชีวิตในฐานะนักเขียน ซึ่งดูจากบรรยากาศแล้ว น้องๆ ค่อนข้างจะ "ทึ่ง" กับวิธีคิด วิธีดำเนินชีวิตของนักเขียนคู่นี้พอสมควร โดยเฉพาะตอนที่พี่โต้งบอกว่า "...ความคิดแบบพี่เขาเรียกว่า อนาคิสต์ คือเห็นว่ารัฐมันเป็นสิ่งชั่วร้าย ประชาชนควรจะดูแลตัวเองมากกว่า..." เรียกเสียงฮือฮาจากน้องๆ ได้ไม่เบา

 

 

 

รวิวาร และ มหรรณพ โฉมเฉลา

 

เช้าตรู่ของวันที่สอง อากาศเย็นต่ำกว่าสิบองศาเล็กน้อย สายหมอกลอยมาตามแม่น้ำปิง แต่น้องๆ หลายคนก็ตื่นแต่เช้ามานั่งสั่นหน้าเตาไฟพลางเขียนหนังสือไปด้วย

 

หลังเสร็จอาหารเช้า เป็นช่วงสุดท้ายของการอบรมคือ "การเขียนบทกวี" โดย "ภู เชียงดาว" หรือ "พี่ภู"  นักข่าว นักเขียน กวี แห่งประชาไท นั่นเอง

 

พี่ภูเล่าถึงความสนใจในเรื่องการอ่านการเขียนว่า เกิดจากช่วงที่ไปเป็นครูดอย ได้เห็นชีวิตวิถีชีวิติของชาวบ้าน อยู่กับธรรมชาติที่มีความเงียบสงบ บวกกับช่วงนั้นได้อ่านหนังสือดีๆ เช่น หนังสือของ เฮอร์มาน เฮสเส, แมกซิม กอร์กี้, อันตัน เชคอบ, คาลิล ยิบราน, ปรัชญาเต๋า-เซน ถ้าเป็นนักเขียนไทยก็เสนีย์ เสาวพงศ์,จิตร ภูมิศักดิ์, เสกสรร ประเสริฐกุล, พจนา จันทรสันติ เป็นต้น

 

"...ช่วงปี 2537 ผมขึ้นไปเป็นครูดอยที่เวียงแหง พอลงมาในเวียงก็ขนซื้อหนังสือขึ้นไปอ่าน ข้างบนเงียบสงบ ไม่มีไฟฟ้า อยู่กับเด็กๆ เราก็ได้อ่านงานพวกนี้ ได้เห็นภาพชีวิต ภาพเด็กๆ รวมถึงภาพปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ก็เลยเขียนบทกวีออกมา บางทีก็เป็นบทบันทึก วันหนึ่งก็มี วีระศักดิ์ จันทร์ส่องแสง(นักเขียนประจำนิตยสารสารคดี) ขึ้นไปเที่ยว ตอนนั้นเขาเป็นนักศึกษารามฯ ก็ขึ้นไปเที่ยวกับแฟน ก็ได้เจอกัน ได้พูดคุยกัน คือวีระศักดิ์เขามีงานลงตีพิมพ์ก่อนหน้านั้นแล้ว เราก็เอางานให้ดู เขาก็บอกนี่เป็นบทกวีนะพี่ เขาก็จดที่อยู่นิตยสารต่างๆ ให้ เราก็ลองส่งไป วันหนึ่งวีก็ส่งจดหมายมา ตัดบทกวีของเราที่ได้ลงมาให้ ก็ดีใจนะ ตื่นเต้น ตั้งแต่นั้นมาก็เขียนมาเรื่อยๆ แต่ก็พยายามตามอ่านงานในแวดวงวรรณกรรมมาเรื่อยๆ"

 

"แต่ตอนนั้นก็รู้จักชื่อผ่านงานเขียนเท่านั้น ไม่ได้เจอตัวจริงเลย เช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์,พิบูลศักดิ์ ละครพล, แสงดาว ศรัทธามั่น, ถนอม ไชยวงศ์แก้ว, มาลา คำจันทร์, หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง เป็นต้น เราก็ชอบงานของเขา ซึ่งพวกเรามีโอกาสดีมากที่ได้มารู้จักนักเขียน มีการอบรมงานเขียน เพราะผมเองเริ่มต้นด้วยการไม่รู้อะไรเลย แต่ที่แน่ๆ ผมรู้ว่า การได้อ่านหนังสือดีๆ ทำให้ชีวิตและความคิดของเราเปลี่ยน..."

 

 

 

ภู เชียงดาว พูดถึงการเขียนบทกวี

 

เมื่อพูดถึงเรื่องบทกวี พี่ภู กล่าวว่า เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ เคยกล่าวไว้ว่า กวีต้องมีจิตสำนึก 3 ระดับคือ หนึ่ง จิตสำนึกเพื่อตัวเองหรือเพื่อตอบสนองตัวเอง สอง จิตสำนึกเพื่ออุดมคติ เพื่อมนุษยชาติ เพื่อมนุษยธรรม ที่เหนือไปจากตัวเอง พ้นไปจากตัวเอง และ สาม จิตสำนึกทางการเมือง หมายถึงจิตสำนึกที่มีต่อสังคม และเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

 

"เพราะจริงๆ แล้ว ไม่ว่าเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน และเราก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเหล่านี้ หลีกหนีไม่ได้ ต้องให้ความสนใจและมีสำนึกในสิ่งเหล่านี้ด้วย และนำมาพัฒนาถ่ายทอดออกมาให้เป็นงานศิลปะ เป็นงานเขียน เป็นบทกวี ซึ่งเราอาจจะเริ่มจากที่เรื่องใกล้ตัว ที่กระทบความรู้สึกเราก่อน"

 

 

 

 

 

 

ในช่วงท้าย พี่ภู ให้ทุกคนเขียนบทกวีมาคนละหนึ่งบท เสร็จแล้วนำมาอ่านให้เพื่อนๆ ฟัง ซึ่งพี่ภู ให้ความเห็นว่า บทกวีของหลายๆ คนนั้น "สอบผ่าน" ได้เลย

 

ช่วงบ่าย หลังอาหารกลางวัน ทุกคนมาประชุมกันเรื่องการทำเวบไซต์ศูนย์ข่าว และการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ คาดว่าอีกไม่นาน คงจะได้หน้าตากัน โดยจะเป็น ลิงค์จากเวบไซต์ของไทยัพ (www.tyap.org)

 

วิทยากรบางท่านแอบคุยกันด้วยความหวังว่า ในบรรดาน้องๆ ที่เข้าอบรมครั้งนี้ อาจจะมีสักคนหรือหลายๆ คน หรือทุกคน ที่ก้าวไปบนเส้นทางแห่งการเขียนได้อย่างแข็งแรง

 

บางที นี่อาจเป็นก้าวแรกของ "นักข่าว-นักเขียน" คุณภาพในอนาคต

 

 

 

 

 

           

           

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท