การประกาศเขตควบคุมมลพิษที่มาบตาพุด : ความจำเป็นและแรงต้าน

ศุภกิจ นันทะวรการ
มูลนิธินโยบายสุขภาวะ

           

ปัญหาวิกฤตมลพิษและผลกระทบต่างๆ ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ในพื้นที่อุตสาหกรรมหลายแห่งในอำเภอเมืองและอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง มาเป็นระยะเวลายาวนานและมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น จนนำมาสู่ข้อเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีคุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษให้หมดไป

           

บทความนี้ จึงนำเสนอรายละเอียดของการประกาศเขตควบคุมมลพิษ และประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประกาศเขตควบคุมมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งการวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ที่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเขตควบคุมมลพิษ

 

ขอบเขตและอำนาจจากการประกาศเขตควบคุมมลพิษ

การประกาศเขตควบคุมมลพิษ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยในมาตรา 59 ระบุว่า "ในกรณีที่ปรากฏว่า ท้องที่ใดมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษได้"

           

เมื่อประกาศพื้นที่ใดเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว การดำเนินการเพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษ ตามกฎหมายดังกล่าว สามารถแบ่งได้เป็น 4 ส่วนที่สำคัญ ดังนี้ (ดูรายละเอียดได้ในภาคผนวกที่ 1)

 

ส่วนที่หนึ่ง การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นในท้องที่ ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่ เทศบาลเมืองมาบตาพุด โดยได้รับการแนะนำและช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ ซึ่งได้แก่ เจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ หรือเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมในหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและรวมไว้ในแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมของจังหวัด (มาตรา 60)

 

ขั้นตอนของการจัดทำแผนปฏิบัติการ จะประกอบด้วย การสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ (มาตรา 60 (1)) และจัดทำเป็นบัญชีรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวน ประเภท และขนาดของแหล่งกำเนิดมลพิษเหล่านี้ (มาตรา 60 (2))

 

หลังจากนั้น จึงทำการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินสถานภาพมลพิษ ขอบเขตความรุนแรงของปัญหา และผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นและเหมาะสม ในการลดและขจัดมลพิษ (มาตรา 60 (3))

 

ทั้งนี้ มีการกำหนดให้ก่อสร้างหรือดำเนินการระบบบำบัดน้ำเสียรวม หรือระบบกำจัดของเสียรวมของทางราชการ ที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหามลพิษด้วย (มาตรา 61)

 

ส่วนที่สอง ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ในเขตควบคุมมลพิษให้สูงกว่ามาตรฐานซึ่งบังคับใช้อยู่โดยทั่วไปได้ ตัวอย่างเช่น มาตรฐานการระบายมลสารทางอากาศหรือมาตรฐานน้ำทิ้งของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น (มาตรา 58)

 

ส่วนที่สาม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ คุณภาพน้ำ อากาศ เสียง และเรื่องอื่นๆ สำหรับเขตควบคุมมลพิษให้สูงกว่ามาตรฐานที่บังคับใช้อยู่โดยทั่วไปได้ (มาตรา 32 และ 33)

 

ส่วนที่สี่ หากปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตควบคุมมลพิษ มีความรุนแรงเข้าขั้นวิกฤตซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขทันที และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่มีอำนาจหรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สามารถขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ในการใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ ดังนี้ (มาตรา 44 และ 45)

1)  กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

2)  ห้ามการกระทำหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบ

3)  กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ให้ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

4)  กำหนดวิธีการจัดการ รวมทั้งขอบเขต หน้าที่ และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

5)  กำหนดมาตรการอื่นๆ ที่เห็นสมควรและเหมาะสมกับสภาพของพื้นที่

 

ความจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหามลพิษที่มาบตาพุด

หากมีการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ขอบเขตอำนาจหน้าที่และการดำเนินงานของส่วนราชการทั้ง 4 ส่วนดังกล่าว สามารถมีบทบาทที่สำคัญในการแก้ไขปัญหามลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้ โดยแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ จะช่วยให้มีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา และกำหนดมาตรการในการแก้ไขและป้องกันปัญหาผลกระทบจากมลพิษต่างๆ ที่มีลักษณะผสมผสาน รอบด้าน และเป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสารอินทรีย์ระเหยซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานแต่อย่างใด รวมทั้งการปนเปื้อนโลหะหนักในบ่อน้ำของชุมชนต่างๆ และปัญหาโรคมะเร็ง เนื้องอก และโรคทางเดินหายใจที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

 

การดำเนินการระบบบำบัดน้ำเสียรวมของทางราชการ  จะช่วยแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ โดยเฉพาะน้ำทะเลชายฝั่ง ซึ่งคุณภาพน้ำมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง โดยในปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีระบบบำบัดน้ำเสียเอง จึงมีโรงงานที่ส่งน้ำเสียเข้าระบบบำบัดน้ำเสียกลางของทางการนิคมฯ เพียง 6 โรงงาน จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 60 โรงงาน

 

ในส่วนของระบบกำจัดของเสียรวมของทางราชการ ก็จะช่วยลดปัญหาขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายได้ ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่ฝังกลบไม่เพียงพอกับปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น โดยในปี 2548 มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 127 ตัน/วัน แต่สามารถรองรับมูลฝอยได้ประมาณ 70 ตัน/วันเท่านั้น ส่วนสถานที่รับกำจัดกากของเสียอันตรายก็มีอยู่ไม่เพียงพอ

 

นอกจากนี้ หากมีการวางระบบจัดการของเสียอันตรายให้รอบด้านและครอบคลุม ก็จะแก้ปัญหาในปัจจุบันที่ยังไม่มีระบบการบันทึกข้อมูลปริมาณการใช้สารอันตรายและการเกิดของเสียอันตราย จึงต้องใช้ข้อมูลประมาณการโดยไม่มีข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ประกอบกับระบบการขนส่งของเสียอันตรายที่ยังไม่รัดกุมและเข้มงวดเพียงพอ จึงเกิดปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วในหลายกรณี ดังเช่น กรณีที่ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี, กรณีที่บริเวณกลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา, หรือกรณีที่ ต.บ้านใหม่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เป็นต้น

 

ที่สำคัญ อำนาจในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของแหล่งกำเนิดมลพิษโดยผู้ว่าราชการจังหวัดให้สูงกว่ามาตรฐานที่บังคับใช้อยู่โดยทั่วไป จะเป็นมาตรการที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหามลพิษและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

 

ทั้งนี้หากมีปัญหาหรืออุปสรรคในการแก้ไขปัญหามลพิษ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็สามารถผลักดันการดำเนินการได้ในหลายประเด็นที่สำคัญ ทั้งการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน, ห้ามการกระทำหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจเป็นอันตราย, กำหนดประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA, รวมทั้งกำหนดวิธีจัดการ ขอบเขต หน้าที่ และความรับผิดชอบของหน่วยราชการต่างๆ ได้

 

เขตควบคุมมลพิษในปัจจุบัน

ตั้งแต่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มีผลบังคับใช้ มีการประกาศให้พื้นที่ต่างๆ เป็นเขตควบคุมมลพิษแล้วทั้งหมด 8 ครั้ง รวม 12 จังหวัด โดยมีรายละเอียดดังนี้

1)      เขตเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษในปี 2535

2)      จังหวัดภูเก็ต ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษในปี 2535

3)      เขตหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษในปี 2535

4)      อำเภอหาดใหญ่และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษในปี 2535

5)      จังหวัดสมุทรปราการ ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษในปี 2537

6)      จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร และนครปฐม ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษในปี 2538

7)      อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมือง อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษในปี 2539

8)      ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษในปี 2547

 

สำหรับผลที่เกิดขึ้นจากการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2547 และ พ.ศ. 2548 ของกรมควบคุมมลพิษแสดงให้เห็นว่า  เมื่อมีการประกาศให้ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี เป็นเขตควบคุมมลพิษในปี 2547  ก็มีการดำเนินการเพื่อควบคุมฝุ่นละอองอย่างเข้มงวด เนื่องจากเป็นปัญหาวิกฤตของพื้นที่มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2539 โดยมีการตรวจสอบฝุ่นละอองและระดับเสียงจากโรงโม่หินอย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังการลักลอบทำเหมือง การตรวจสอบรถบรรทุก การตรวจสอบสุขภาพของประชาชนและคนงาน รวมทั้งการประชุมติดตามความก้าวหน้าและรายงานให้กับคณะรัฐมนตรีทราบทุกเดือน ส่งผลให้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุดลดลงจาก 415.7 มคก./ลบ.ม. ในปี 2547 เหลือ 300.8 มคก./ลบ.ม. ในปี 2548

 

แรงต้านจากภาคอุตสาหกรรม

แนวคิดของการประกาศพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ ได้รับการคัดค้านจากภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน โดยผู้ประกอบการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเห็นว่า โรงงานส่วนใหญ่มีการปฏิบัติและจิตสำนึกที่ดีอยู่แล้ว การประกาศเขตควบคุมมลพิษจะกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน เศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศต่อต่างชาติ โดยเฉพาะการกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความเข้มงวดในการควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะส่งผลต่อต้นทุนของการลงทุนให้สูงขึ้น โดยมีข่าวเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการย้ายฐานการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไปสู่ประเทศอื่นที่มีความเข้มงวดในการควบคุมมลพิษน้อยกว่า

 

ในด้านอำนาจและระบบการจัดการในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หากมีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ก็ย่อมทำให้หน่วยงานอื่นๆ ทั้งเทศบาล ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เข้ามามีอำนาจและบทบาทมากขึ้นในการวิเคราะห์ปัญหาและกำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันผลกระทบต่างๆ การกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ทั้งมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากโรงงานต่างๆ ทั้งนี้หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อาจมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมอีกเช่น การกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือการห้ามการกระทำหรือกิจการที่อาจเป็นอันตรายได้ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังมีความเป็นห่วงถึงผลกระทบต่อแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่สามโดยกระทรวงพลังงาน การขยายโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าของภาคเอกชน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดระยองอีกด้วย

 

การวิเคราะห์ประเด็นคัดค้านของภาคอุตสาหกรรม

ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหามลพิษที่ก่อผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนในปัจจุบันนี้ ทั้งปัญหาสารอินทรีย์ระเหยซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง การปนเปื้อนโลหะหนักในน้ำบ่อตื้นของชุมชนต่างๆ แนวโน้มความเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ เนื้องอก และมะเร็ง รวมทั้งผลกระทบอื่นๆ ต่อทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชน และสังคม ย่อมชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระบบการจัดการปัญหามลพิษเท่าที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันของพื้นที่มาบตาพุด ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขและป้องกันปัญหามลพิษต่างๆ ได้

 

การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการแก้ไขและควบคุมปัญหามลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยไม่ต้องรอผลการศึกษาวิเคราะห์อื่นๆ เพิ่มเติมอีก ในทางกลับกัน การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะทำให้การดำเนินการต่างๆ มีการผสมผสานอย่างเป็นระบบและรอบด้าน ทั้งการศึกษาข้อมูลเชิงลึก การกำหนดมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสม การกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อม และการกำหนดวิธีการจัดการ ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน และการติดตามตรวจสอบผลของการแก้ไขปัญหาที่จริงจังและต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหามลพิษโดยภาพรวมทั้งหมดของพื้นที่ มิใช่การดำเนินการแบบแยกส่วน ไม่มีกรอบเวลาที่ทันกับสถานการณ์ปัญหา และไม่มีการติดตามตรวจสอบที่เพียงพอ

 

ทั้งนี้ การประกาศเขตควบคุมมลพิษ มิใช่การห้ามขยายโรงงานใดๆ ในพื้นที่ แต่การขยายอุตสาหกรรมใดๆ ในอนาคต จะต้องผ่านการพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างถี่ถ้วน เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังที่แล้วมา ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่สำคัญของพื้นที่มาบตาพุด ในการปรับเปลี่ยนไปสู่เส้นทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสะอาดและพอเพียง มิใช่การเปิดให้อุตสาหกรรมประเภทใดก็ได้ สามารถเข้ามาพัฒนาและดำเนินการในพื้นที่ได้

 

สำหรับความกังวลผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น จากการวิเคราะห์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัด (Gross Provincial Products; GPP) ในจังหวัดที่ได้มีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษไปแล้วพบว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดเหล่านั้นแต่อย่างใด (ดูรายละเอียดได้ในภาคผนวกที่ 2)

 

ตัวอย่างเช่น กรณีจังหวัดสมุทรปราการที่ประกาศให้ทั้งจังหวัดเป็นเขตควบคุมมลพิษในปี 2537 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัด 5 ปีก่อนมีการประกาศ (ปี 2532-2536) มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 10.6 ในขณะที่ปี 2537 ที่ประกาศ ก็มีอัตราการเติบโตร้อยละ 10.9 และหลังจากประกาศแล้วมีค่าเฉลี่ยการเติบโตทางเศรษฐกิจ 5 ปี (ปี 2538-2542) เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 15.2

 

สำหรับกรณีจังหวัดสระบุรี ที่ประกาศให้ตำบลหน้าพระลานเป็นเขตควบคุมมลพิษในปี 2547 พบว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัด 5 ปีก่อนการประกาศ (ปี 2542-2546) มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 6.2 แต่หลังจากประกาศแล้วมีอัตราการเติบโตในปี 2547 และ 2548 เท่ากับร้อยละ 13.6 และ9.6 ตามลำดับ

 

ดังนั้นความกังวลดังกล่าว จึงน่าจะเป็นความกลัวเกินกว่าเหตุ เพราะเมื่อพิจารณาจากการวิเคราะห์แล้วจะเห็นได้ว่า ความพยายามในการปรับเปลี่ยนไปสู่เส้นทางอุตสาหกรรมที่สะอาดมากขึ้น ไม่ได้ส่งผลกระทบให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดน้อยลง ในทางตรงกันข้ามในกรณีของจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดสระบุรี กลับมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นด้วย

 

ยิ่งไปกว่านั้น หากการพิจารณาและการใช้วิจารณญาณเกี่ยวกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มิได้พิจารณาเฉพาะการเจริญเติบโตของตัวเลขเงินเป็นหลัก แต่ได้นำเอาหลักความพอประมาณ และความมีเหตุมีผล โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีความรู้และคุณธรรม มาใช้เป็นหลักคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่า การแก้ไขและควบคุมปัญหามลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่เส้นทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสะอาด โดยมิได้มุ่งแต่การขยายอุตสาหกรรมซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษเพิ่มขึ้นอีกนั้น เป็นหนทางแห่งความพอประมาณ ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง และไม่เป็นการเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนและชุมชนจนเกินควร ซึ่งเป็นการพัฒนาและการเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่แท้จริง

 

 

-----------------------

 

 

 

ภาคผนวกที่ 1

มาตราต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเขตควบคุมมลพิษ

ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

----------------------------------------------------------------------------------

มาตรา 32 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเรื่องต่อไปนี้

(1) มาตรฐานคุณภาพน้ำในแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง ทะเลสาป อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำสาธารณะอื่น ๆ ที่อยู่ภายในผืนแผ่นดิน โดยจำแนก ตามลักษณะการใช้ประโยชน์บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำในแต่ละพื้นที่

(2) มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งรวมทั้งบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำ

(3) มาตรฐานคุณภาพน้ำบาดาล

(4) มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป

(5) มาตรฐานระดับเสียงและความสั่นสะเทือนโดยทั่วไป

(6) มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเรื่องอื่นๆ

การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่งจะต้องอาศัย หลักวิชาการ กฎเกณฑ์และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน และจะต้อง คำนึงถึงความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้วย

มาตรา 33 ในกรณีที่เห็นสมควร ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้สูงกว่ามาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่กำหนดตามมาตรา 32 เป็นพิเศษ สำหรับในเขตอนุรักษ์ หรือเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 43 หรือเขตพื้นที่ตามมาตรา 45 หรือเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 59

มาตรา 44 ในการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 43 ให้กำหนดมาตรการคุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ไว้ในกฎกระทรวงด้วย

(1) กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติหรือ มิให้กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติหรือคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม

(2) ห้ามการกระทำหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดผลกระทบในทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของพื้นที่นั้นจากลักษณะตามธรรมชาติหรือเกิดผลกระทบต่อคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม

(3) กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้างหรือดำเนินการในพื้นที่นั้น ให้มีหน้าที่ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

(4) กำหนดวิธีจัดการโดยเฉพาะสำหรับพื้นที่นั้นรวมทั้งการกำหนด ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการร่วมมือและประสานงานให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติหรือระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติหรือคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมในพื้นที่นั้น

(5) กำหนดมาตรการคุ้มครองอื่นๆ ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่นั้น

มาตรา 45 ในพื้นที่ใดที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวม เขตผังเมืองเฉพาะ เขตควบคุมอาคาร เขตนิคมอุตสาหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือเขตควบคุมมลพิษตามพระราชบัญญัตินี้ไว้แล้ว แต่ปรากฏว่ามีสภาพปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมรุนแรงเข้าขั้นวิกฤตซึ่งจำเป็น จะต้องได้รับการแก้ไขโดยทันทีและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่มีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่สามารถที่จะทำการแก้ไขปัญหาได้ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ขออนุมัติเข้าดำเนินการเพื่อใช้มาตรการคุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตาม มาตรา 44 ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้นได้

เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตพื้นที่ รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครอง และกำหนดระยะเวลาที่จะใช้มาตรการคุ้มครองดังกล่าวในพื้นที่นั้น

การขยายระยะเวลาตามประกาศในวรรคสองให้กระทำได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี โดยทำเป็นประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 58 ในกรณีที่เห็นสมควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดสูงกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่กำหนดตามมาตรา 55 หรือมาตรฐานซึ่งกำหนดตามกฎหมายอื่นและมีผลใช้บังคับตามมาตรา 56 เป็นพิเศษสำหรับในเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 59

มาตรา 59 ในกรณีที่ปรากฏว่าท้องที่ใดมีปัญหามลพิษซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษได้

มาตรา 60 เพื่อประโยชน์ในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการ คุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัดตามมาตรา 37 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นในท้องที่ที่ได้ประกาศกำหนดให้เป็นเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 59 จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษนั้น เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อรวมไว้ในแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด

การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ทำการสำรวจ และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีอยู่ในเขตควบคุมมลพิษนั้น

(2) จัดทำบัญชีรายละเอียดแสดงจำนวน ประเภท และขนาดของแหล่งกำเนิดมลพิษที่ได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลตาม (1)

(3) ทำการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินสถานภาพมลพิษ รวมทั้งขอบเขตความรุนแรงของสภาพปัญหาและผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและจำเป็นสำหรับการลดและขจัดมลพิษในเขต ควบคุมมลพิษนั้น

ในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษแนะนำและช่วยเหลือตามความจำเป็น

มาตรา 61 แผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ ตามมาตรา 60 จะต้องเสนอประมาณการและคำขอจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกองทุนสำหรับก่อสร้างหรือดำเนินการเพื่อให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวมของทางราชการที่จำเป็น สำหรับการลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษนั้นด้วย

มาตรา 62 ในกรณีที่จำเป็นจะต้องจัดหาที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ตั้งระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวมสำหรับเขตควบคุมมลพิษใด แต่ไม่สามารถจัดหาที่ดินของรัฐได้ ให้ดำเนินการจัดหาที่ดินของเอกชนเพื่อพิจารณาคัดเลือกเป็นที่ตั้ง ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายให้เสนอประมาณการและคำขอจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกองทุนในแผนปฏิบัติการระดับจังหวัด

ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้ ให้กำหนดที่ดินที่เหมาะสมเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีให้ดำเนินการเวนคืนต่อไปตามกฎหมายว่าด้วย การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

มาตรา 63 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินการของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 60 ในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ดำเนินการภายในเวลาอันสมควร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจดำเนินการแทนเมื่อได้แจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทราบแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท