Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวประชาธรรมประมวลโครงการเม็กกะโปรเจ็คต์เด่นๆ ที่ทำในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา และมีแผนที่จะทำต่อไปมานำเสนอไว้ที่นี้ เพื่อว่าจะได้เห็นบทเรียนต่อไปข้างหน้าว่าเราควรจะมีท่าทีอย่างไรกับโครงการเม็กกะโปรเจ็คต์เหล่านี้

ไม่ว่าจะกี่รัฐบาล  นโยบายที่เราจะได้เห็นคือการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการขนาดใหญ่  เม็กกะโปรเจ็คต์ทั้งหลาย  เพราะโครงการเม็กกะโปรเจ็คต์นั้นเป็นที่มาของงบประมาณหลายพันล้านบาท  ในช่วงของรัฐบาลทักษิณได้ทิ้งมรดกโครงการเม็กกะโปรเจ็คต์ไว้เป็นจำนวนมาก  และส่งผลกระทบถึงในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการแหกตาระดับชาติ เช่น โครงการพืชสวนโลก  ที่พอนักท่องเที่ยวไปถึงแล้วก็ไม่ได้ อลังการ์อย่างที่โฆษณาไว้ เป็นต้น  และยังมีการผลักดันพื้นที่ท่องเที่ยวพิเศษในเขตป่า (อพท.)   จนมาถึงรัฐบาลในยุค คปค.  สิ่งที่ภาคประชาชนจับตามองคือ  โครงการเม็กกะโปรเจ็คต์ จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร  จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างที่คุยไว้  นั่นหมายถึงการทำอะไรแต่พอเพียงไม่ใช่มหกรรมปั่นเม็ดเงินเหมือนเช่นรัฐบาลที่ผ่านมา

 

สำนักข่าวประชาธรรมประมวลโครงการเม็กกะโปรเจ็คต์เด่นๆ  ที่ทำในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา  และมีแผนที่จะทำต่อไปมานำเสนอไว้ที่นี้  เพื่อว่าจะได้เห็นบทเรียนต่อไปข้างหน้าว่าเราควรจะมีท่าทีอย่างไรกับโครงการเม็กกะโปรเจ็คต์เหล่านี้

 

พืชสวนโลก มหกรรมการโกงระดับชาติ

 

แม้จะสร้างตื่นตาตื่นใจกับประชาชนชาวไทยต่องานมหกรรมพืชสวนโลก ที่มีการโหมโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ  อย่างยิ่งใหญ่ อลังการและต่อเนื่องแค่ไหน แต่ก็ดูเหมือนว่างานพืชสวนโลกครั้งนี้ไม่สามารถลบภาพการทุจริตอันฉาวโฉ่ในกระบวนการดำเนินการลงไปได้ ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาที่เกิดตามมาจากการจัดงานอีกนานัประการก็ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาสาธารณะด้วยเช่นกัน

 

งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2549 - 31 ม.ค. 2550 รวม 92 วัน ในเนื้อที่ 470 ไร่ ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีประเทศที่เข้าร่วมการจัดสวนเฉลิมพระเกียรติฯทั้งสิ้น 34 ประเทศจาก 5 ทวีปทั่วโลก ขณะที่ใช้งบประมาณดำเนินการไปทั้งสิ้นกว่า 3,000 ล้านบาท         

 

แต่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่งานใหญ่ระดับโลก ที่จะเป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาประเทศกลับต้องเกิดรอยด่างพร้อยเนื่องจากการทุจริตอย่างมโหฬารของผู้รับผิดชอบจัดงาน โดยเฉพาะการล็อกสเปกงานให้กับกลุ่มเอกชนผู้ใกล้ชิดอย่างน่าเกลียด ทั้งยังเปิดช่องให้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยมิชอบอีกหลายรายการตามมา

 

การทุจริตดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อกรมวิชาการเกษตร เปิดประมูลงานขั้นแรกที่ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างและออกแบบให้แก่เอกชนกลุ่มเดียวกันทั้งหมด กล่าวคือกิจการร่วมค้าระหว่าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) กับ บริษัท นงนุช แลนด์สเคป แอนด์ การ์เด้น ดีไซน์ จำกัด ที่ได้สัญญาจ้างสิ่งก่อสร้างพร้อมสาธารณูปโภคและภูมิสถาปัตย์มูลค่า 1,494 ล้านบาทแบบม้วนเดียวจบจากกรมวิชาการเกษตร และที่สำคัญคือ สามารถเสนอราคาประมูล 1,259,850,000 บาท ที่ต่ำกว่าราคากลางเพียง 100 บาทเท่านั้น

 

ร้ายไปกว่านั้น บริษัทออกแบบที่ชื่อ บริษัท ฟีลกรีน ดีไซน์ ผู้ดำเนินการออกแบบผังแม่บท และก่อสร้างงานมหกรรมพืชสวนโลก ยังเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2547  ก่อนหน้าที่การทำสัญญาจ้างให้ออกแบบงาน เพียง 22 วันเท่านั้น!

 

ปัญหาในโครงการมหกรรมพืชสวนโลกยังไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะกระบวนการดำเนินงานยังไม่ชอบมาพากล ไม่โปร่งใส ซ้ำยังขัดกฎหมายอีกด้วย อาทิ การไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ตามพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะที่พื้นที่โครงการบางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ซึ่งตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ระบุว่าห้ามขุดโค่นต้นไม้ รวมทั้งดัดแปลงภูมิประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นปัจจุบันคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กำลังเข้าไปตรวจสอบ

 

นอกจากนี้ สารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังการเริ่มงานก็ปะทุออกมาอีกนับไม่ถ้วน ประเดิมด้วยการประท้วงของเหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่เช่าบูธขายสินค้าหน้างานในราคาสูงลิบแต่กลับขายสินค้าไม่ได้เพราะระบบการจราจรของงานไม่อนุญาตให้รถจอดบริเวณดังกล่าว ตามมาด้วยปัญหาของระบบการจัดการในงานทั้งส้วมเต็ม การจัดการขยะ อาหารแพงกว่าราคาปกติหลายเท่าตัว พืชพันธ์ไม้บางส่วนทนสภาพอากาศร้อนไม่ไหวและเหี่ยวแห้งตาย เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนทำให้งานพืชสวนโลกตกต่ำลงไม่สมกับงานมหกรรมระดับโลก

 

ที่สำคัญอีกประการ งานดังกล่าวไม่เปิดโอกาสให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ เนื้องานก็ไม่ได้ตอบสนองภาคการเกษตร ไม่มีการส่งเสริมภาคการเกษตรแต่ เกษตรกรจึงไม่ได้คุณประโยชน์ใดๆจากงานนี้ สิ่งที่เกษตรกรทำได้อย่างมากในงานนี้จึงเป็นแค่เพียงการเช่าพื้นที่หน้างานออกร้านขายพันธุ์ไม้ต่างๆเท่านั้นเอง ซึ่งเรื่องนี้ ศ.ระพี สาคริก อดีตอธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์ ราษฎรอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญเรื่องกล้วยไม้ระดับโลก กล่าวไว้ว่าวัตถุประสงค์ของงานพืชสวนโลกเท่าที่เคยมีมาในประเทศต่างๆนั้น โดยทั่วไปประเทศที่เป็นเจ้าภาพจะจัดงานเพื่อส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรของประเทศนั้นๆเป็นพื้นฐาน แต่ของประเทศไทยไม่ใช่

 

อย่างไรก็ตาม งานมหกรรมพืชสวนโลกนี้ ประเด็นที่สังคมต้องช่วยกันจับตาดูต่อไปตลอดปี 2550 นั้นคือกระบวนการบริหารจัดการหลังเสร็จสิ้นงานในวันที่ 31 ม.ค.2550 เพราะงานนี้ไม่มีการวางแผนการบริหารงานหลังจากนั้น เรื่องนี้กระทรวงเกษตรฯก็ยอมรับว่าปัจจุบันยังหาข้อสรุปเรื่องการโอนงานพืชสวนโลกให้กับหน่วยงานที่จะเข้ามารับดูแลต่อไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายในการจ้างเจ้าหน้าที่ขั้นประหยัดสุดตกประมาณเดือนละ 2 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าบำรุงรักษา ค่าปุ๋ย ค่ายา

 

ขณะที่หลายภาคส่วนเริ่มวิเคราะห์กันว่าเป็นไปได้สูงที่ในอนาคตกระทรวงเกษตรฯจะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการแทน หากเป็นเช่นนั้นจริงแน่นอนว่าในอนาคตทั้งโรงแรม รีสอร์ท สปา ร้านอาหารจะต้องถูกเนรมิตขึ้นในเนื้อที่ 470 ไร่เป็นเช่นไร

 

อพท. กับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ?

 

ภายหลังจากสำนักนายกรัฐมนตรีออกคำสั่ง ที่ 389/2545 การตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชนชน) .. 2546 เพื่อเป็นองค์กรในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศเกิด ซึ่งมีหน้าที่บูรณาการการบริหารการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ เกิดความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติกับการพัฒนาการท่องเที่ยวสร้างความพึงพอใจแก่ผู้มาเยือนและเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศไทย

 

ทั้งนี้ มีการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวแห่งแรก คือ หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2547 นอกจากนี้ยังได้ประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวแหลมถั่วงอก และพื้นที่เชื่อมโยงจังหวัดกาญจนบุรี โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 อีกทั้ง ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวในความรับผิดชอบของ อพท. ปี 2548 ได้วางกรอบเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยมีพื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จ.เชียงใหม่ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 มี.. 2548 และพื้นที่พื้นที่พิเศษหมู่เกาะเสม็ดและพื้นที่เชื่อมโยง จ.ระยอง

 

โดยก่อนหน้านี้ ได้มีประกาศคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 390/2545 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.. 2545 สำหรับพื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการในการศึกษาวางแผนและดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งสวนสัตว์กลางคืนจังหวัดเชียงใหม่และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (สสค.) โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการจัดตั้งสวนสัตว์กลางคืน โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จังหวัดเชียงใหม่ และต่อมา อดีตนายกรัฐมนตรี พตท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 224/2547 ลงวันที่ 9 กันยายน พ..2547 เรื่องจัดตั้งสำนักงานบริหารโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกรรมการ สสค. ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และเปิดตัวโครงการฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2549

 

สำหรับกรณีโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 650 ไร่ และอีกประมาณ 5,000 ไร่ เป็นพื้นที่รองรับการขยายโครงในอนาคต ตั้งอยู่บนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ภายหลังการเปิดโครงการ ก็มีกระแสทักท้วงจากภาคประชาชนหลายประการว่า โครงการอภิมหาโปรเจ็คเพื่อการท่องเที่ยวดังกล่าว มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร กับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ และจะคุ้มทุนและคุ้มค่าหรือไม่กับสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูญเสียไป นอกจากนี้ยังมีกรณีหมกเม็ดอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ การเผยข้อมูลเท็จเกี่ยวกับบันทึกข้อตกลง (MOU) การแลกเปลี่ยนสัตว์ป่าที่มีชีวิตกับประเทศเคนย่า กล่าวคือประเทศไทยต้องการเอาสัตว์จากเคนย่า 25 ชนิด 175 ตัว ซึ่งในจำนวนนั้นมีสัตว์ป่าที่หายากตามอนุสนธิสัญญาไซเตส บัญชี 1 และ 2 เช่น สิงโต แมวป่าอัฟริกันซุกซ่อนอยู่ ในขณะที่บันทึก MOU ที่นำมาเปิดเผยในประเทศไทยนั้นไม่ปรากฏรายชื่อสัตว์ป่าบัญชี 1 แต่อย่างใด

 

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการทุจริต การเวนคืน และยึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน การแย่งน้ำชาวบ้านเข้าไปใช้ภายในโครงการ การดำเนินการที่ผิดกฎหมายทั้งกฎหมายอุทยานฯ กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการดำเนินการที่ใช้ระบบฟาร์สแทรกที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ภาคประชาชนใน จ.เชียงใหม่ ได้เดินทางเข้ายื่นฟ้องศาลปกครองประจำจังหวัด เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2549 ต่อกรณีโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ทำผิดกฎหมายอุทยานแห่งชาติ พ..2504 โดยมีลำดับการฟ้อง คือ

 

1.ฟ้องนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลองค์บริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) 2.ฟ้องคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้งคณะ 3.ฟ้องคณะกรรมการบริหารโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี 4.ฟ้องนายปลอดประสพ สุรัสวดี ในฐานะประธานกรรมการองค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) อีกทั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดยนายสุรสีห์ โกศลนาวิน และคณะ ได้จัดประชุมรับฟังข้อมูลเพื่อเตรียมตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโครงการพัฒนาเมืองเชียงใหม่จากภาคีคนฮักเชียงใหม่ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่ได้รับการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบคือ โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

 

สำหรับพื้นที่การท่องเที่ยวตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวในความรับผิดชอบของ อพท. ในปี 2549 คือ พื้นที่พิเศษหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ และพื้นที่พิเศษหมู่เกาะตะรุเตาและพื้นที่เชื่อมโยง จ.สตูล ในรอบปีที่ผ่านมา ทางจังหวัดได้เตรียมแผนยุทธศาสตร์รองรับด้านการท่องเที่ยวหลายประการ ทั้งนี้ จ.กระบี่ ได้วางกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลเชิงอนุรักษ์และสุขภาพ แหล่งเกษตรอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของคุณภาพชีวิตและการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยมีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

 

ด้านจังหวัดสตูล ได้เดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหมู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะสามารถเพิ่มรายได้กว่า 2 พันล้านบาท โดยในเบื้องต้นทาง อบจ.สตูลเตรียมจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนในการพัฒนาเกาะตะรุเตากว่า 50 ล้านบาท

ในปี 2550 ทาง อพท. ยังใส่เกียร์เดินหน้าประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ พื้นที่พิเศษหาดเจ้าไหม และหมู่เกาะทะเลตรัง จ.ตรัง และพื้นที่พิเศษภูหลวง ภูเรือ จ.เลย โดยสถานที่ดังกล่าวล้วนเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นพื้นที่อนุรักษ์ตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ 2504 ถือเป็นสถานที่ซึ่งมีสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจ และมิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฏหมายของบุคคลใด ที่มิใช่ทบวงการเมือง ทั้งนี้การกำหนดดังกล่าว ก็เพื่อให้คงอยู่ในสภาพเดิม  เพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์ แก่การศึกษา และความรื่นรมย์ของประชาชนสืบไป

ในขณะที่โครงการของ อพท. กลับล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายให้ได้มาซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวทิ้งสิ้น คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามรูปแบบของ อพท. เช่นนี้ สิ่งแวดล้อมจะอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร เพราะการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวบนมาตรการป้องกันผลกระทบที่ขาดความชัดเจน ด้วยการเอาพื้นที่อุทยานมาขายเป็นต้นทุนเพื่อการท่องเที่ยว ในอนาคตข้างหน้าอาจไม่เหลือไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เชยชมอีกต่อไป นอกจากนี้ ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ใครกันแน่ที่จะได้รับ ถ้าหากไม่ใช่กลุ่มทุนใหญ่ ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ หรือในบริเวณใกล้เคียงอาจได้รับประโยชน์เพียงหยิบมือเดียว หรือซ้ำร้ายอาจเพียงได้แต่กระพริบตาดูหายนะที่จะเกิดขึ้น จากการขาดส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา        

คงต้องจับตาตรวจสอบอย่างใกล้ชิดว่า โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวพิเศษเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้จริงแท้หรือไม่ หากพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ผ่านมา เช่น เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง เกาะเสม็ด หมู่เกาะพีพี เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ยังไม่เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นหายนะอย่างชัดเจนที่เกิดจากการเข้าไปเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทางธรรมชาติเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง ต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชุมชนในท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน

 

เขื่อนสาละวิน

 

เขื่อนสาละวินมีชื่อเต็มว่า "โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสาละวินชยแดน"  ทั้งนี้โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลพม่า ไทย และจีน  งบประมารลงทุนประมาณ 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ  หรือราว 2 แสนล้านบาท  โดยเขื่อนบางส่วนจะอยู่ในประเทศไทย คือเขื่อนสาละวินตอนบน (เว่ยจี)  และเขื่อนสาละวินตอนล่าง (ดากวิน/ท่าตาฝั่ง)  เฉพาะแค่เขื่อนเว่ยจี  จะใหญ่กว่าเขื่อนภูมิพลถึง  5  เท่า  โดยวัตถุประสงค์ของการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่ภูมิภาคนี้  ทั้งนี้จะมีการดำเนินการสร้างเขื่อนแห่งแรกโดยใช้งบประมาณ 1  พันล้านดอลลาร์

 

เขื่อนสาละวินจะสร้างกั้นแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีต้นน้ำจากเทือกเขาหิมาลัยไหลผ่านที่ราบสูงในเขตพม่า  โดยพื้นที่กว่า 3  แสนตารางกิโลเมตรกำลังตกเป็นเป้าหมายในการสร้างเขื่อน  รวมถึงพื้นที่ที่น้ำท่วมถึงด้วย  ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไทยทั้งประเทศมีพื้นที่ 5 แสนตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น่ากลัวอย่างยิ่ง

 

ที่ผ่านมามีเครือข่ายประชาชนที่รวมตัวกันในชื่อว่า "กลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง"  คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวโดยระบุถึงผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมปัจจุบันรัฐบาลทหารพม่าเริ่มมีการโยกย้ายชนกลุ่มน้อยเพื่อที่จะสร้างเขื่อนสาละวิน  ซึ่งมีแนวโน้มจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก  จะเกิดปัญหาแรงงานอพยพสู่ประเทศไทยเป็นลูกโซ่ตามมา

 

นอกจากนี้ก็จะมีผลต่อการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ตามแถบชายแดนที่ยังเป็นป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์  และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก

   

สำรวจแนวรบพลังงานยุค "ปิยสวัสดิ์"

 

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลชุดนี้แตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อน ทั้งกลไกตลาด และการส่งเสริมการแข่งขัน ซึ่งจะปล่อยให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากการเข้าไปแทรกแซงราคาน้ำมันของรัฐบาลชุดที่แล้ว ทำให้เกิดผลเสียต่อกลไกด้านราคาและการแข่งขัน ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ส่วนใหญ่เป็นของคนไทยต้องปิดกิจการไปมาก พร้อมทั้งนี้รัฐบาลชุดนี้ จะมีการผลักดันการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาดูแล และวางรากฐานของการพัฒนากิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติในระยะยาว ไม่ว่าจะมีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ตาม

 

นอกจากนี้จะเร่งผลักดันนโยบายที่มีผลอย่างแท้จริงในการประหยัดพลังงานในระยะยาว เช่น การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า การกำหนดประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารใหม่ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ การจัดทำฉลากประสิทธิภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ รวมถึงการดึงหน่วยงานที่ทำงานด้านการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าหรือดีเอสเอ็มมาตั้งเป็นองค์กรมหาชนด้วย

 

ขณะที่การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน จะเน้นแหล่งพลังงานที่เหมาะสมกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในประเทศ เช่น น้ำเสีย ขยะ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาลชุดนี้

 

ในด้านนโยบายการจัดหาพลังงานจะเป็นอย่างไร จะมีเรื่องของการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งจะเป็นกฎหมายฉบับแรกที่มีการเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติ เพื่อให้การดำเนินงานในเรื่องขุดเจาะสำรวจและการให้สัมปทานกับผู้ประกอบการที่เข้ามายื่นขอสำหรับขุดเจาะปิโตรเลียม มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน ส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ คงยังต้องหาก๊าซฯจากแหล่งต่างๆ ต่อไป เพราะข้อจำกัดในการนำพลังงานทางเลือกอื่นๆ มาใช้ โดยเฉพาะถ่านหินที่ยังติดปัญหาการหาสถานที่ก่อสร้างและการยอมรับจากประชาชน ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีที่ทำให้ถ่านหินสะอาดก็ตาม ซึ่งขณะนี้เรานำเข้าก๊าซฯจากต่างประเทศ 25 % ของการใช้ ต่อไปอนาคตจะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการต่อท่อก๊าซฯมาจากอินโดนีเซีย และการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากอิหร่าน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของทางเลือกหลากหลาย

 

การเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าไอพีพี จะประกาศในช่วงเดือนมีนาคม 2550 เหมือนเดิม สิ่งที่ต้องการนั้น กำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้นนี้ จะต้องมีต้นทุนต่ำสุดภายใต้เงื่อนไขการยอมรับของประชาชน และเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม เราไม่ต้องการค่าไฟฟ้าแพง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตของไอพีพีหรือของกฟผ.สิ่งที่จะนำมาพิจารณาประเด็นแรก คือเรื่องของราคา ซึ่งการประมูลไอพีพีครั้งก่อนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีการจัดหาสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่หลายแห่ง การประมูลรอบนี้น่าจะใช้ประโยชน์จากโรงไฟฟ้าเหล่านั้นได้จากพื้นที่ของ กฟผ.และไอพีพีที่สามารถขยายเพิ่มได้ ซึ่งจะทำให้ได้ค่าไฟฟ้าที่ต่ำสุด เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

 

ด้านนโยบายอาร์พีเอส ยังคงกำหนดให้โรงไฟฟ้าใหม่จะต้องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5 % ของกำลังการผลิตต่อไป แต่โรงไฟฟ้าใหม่ไม่จำเป็นต้องไปจัดหา โดยจะเปิดกว้างให้เอกชนที่มีความสนใจลงทุนแทน ผ่านระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าขนาดเล็กมากหรือวีเอสพีพีที่มีการขยายรับซื้อเพิ่มเป็น 10 เมกะวัตต์ รวมถึงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่นด้วย ซึ่งระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากวีเอสพีพีนั้นคาดว่าจะประกาศออกมาได้ในเร็วๆ นี้ โดยจะเพิ่มเงินสนับสนุนค่าไฟฟ้า ที่สูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิสให้

 

ส่วนพลังงานทดแทนในรูปของน้ำมันจะเป็นอย่างไรนั้น ด้วยการประกาศยกเลิกใช้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ยังกำหนดระยะเวลาที่ไม่แน่นอน เพราะเวลานี้กำลังการผลิตเอธานอลไม่เพียงพอ และรถยนต์บ้างส่วนไม่สามารถใช้ได้ ประกอบกับอำนาจต่อรองราคาของผู้ผลิตมีสูง ทำให้เอธานอลมีราคาแพงที่ลิตรละ 25 บาท เมื่อเทียบกับราคาตลาดโลกอยู่ที่ 20 บาทต่อลิตร ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรอโรงงานผลิตเอธานอลเกิดขึ้นจำนวนมากก่อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคา

 

ส่วนไบโอดีเซลนั้น เป้าหมายเดิมวางไว้ว่าจะผลิตให้ได้ 8.5 ล้านลิตรต่อวันในปี 2555 นั้น คงต้องมีการปรับแผนใหม่ เป็นการตั้งเป้าหมายไว้ลอยๆ เพราะประเทศมีพื้นที่ปลูกปาล์มจำกัด จึงมองว่าไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจนในการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล ซึ่งจะต้องมาดูกันใหม่ว่าจะส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลได้อย่างไร สำหรับการส่งเสริมการใช้ก๊าซเอ็นจีวี ก็จะเดินหน้าต่อไปอาจจะเข้าไปดูโครงสร้างราคาใหม่

 

สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประเมินว่า ในรอบปี 2549 ที่ผ่านมา ไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบรวม 823 พันบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปี 2548 0.5% แต่มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นถึง 16.3 % เนื่องจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทรงตัวในระดับสูง ทำให้ไทยมีการนำเข้าคิดเป็นมูลค่ารวม 749,785 ล้านบาทหรือคิดเป็นมูลค่าที่ไทยต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 104,852 ล้านบาท

 

ส่วนแนวโน้มความต้องการพลังงานในปี 2550 จากการประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทย (GDP) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุปี 2550 จะขยายตัว 4.0-5% นั้น เชื่อว่าแนวโน้มความต้องการพลังงานในปี 2550 ความต้องการพลังงานเชิงพาณิชย์ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 จากปี 2549 โดยอยู่ที่ระดับ 1,636,000 บาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน

 

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวสำคัญๆที่ ผ่านมาในรอบปี มีดังนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กระทรวงพลังงานจะเสนอขออนุมัติหลักการแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง และ พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงแก้ไขกฎกระทรวงของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

 

พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาตินั้น จะแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการ กพช. โดยจะเพิ่มตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ และ รมว.ทรัพยากรฯ เป็นกรรมการ เนื่องจากช่วงหลังมีประเด็นสิ่งแวดล้อมและชุมชนเป็นองค์ประกอบมากขึ้น ขณะที่ พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นจะแก้ไขนิยามของน้ำมันเชื้อเพลิงให้ครอบคลุมถึงก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจี และเอทานอล

 

สำหรับการพบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นจะแก้ไขประเด็นหลัก เพื่อสร้างความเท่าเทียมการปฏิบัติของผู้ค้าตามมาตรา 7 และจัดระบบการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันในปั๊ม โดยเน้นตรวจสอบจุดเสี่ยงมากขึ้น เช่น ปั๊มอิสระ และปั๊มชายแดน รวมทั้งกำหนดอำนาจรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตผู้ค้าตามมาตรา 7 หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข และไม่ทำการค้าภายใน 2 ปีนับแต่วันได้รับใบอนุญาต หรือหยุดติดต่อกันเกินกว่า 3 ปี

 

ส่วนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะรวบรวมกฎกระทรวงทั้ง 8 ฉบับเหลือ 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ.กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขขอสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีสำรวจ ผลิต และอนุรักษ์ปิโตรเลียม พ.ศ.

 

อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าจับตามองมากที่สุดในรอบปีนี้และปีต่อไป คือการเสนอแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(พีดีพี) 15 ปีข้างหน้า(2549-2564) ซึ่งกฟผ.เสนอให้ใช้โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 40% ก๊าซธรรมชาติ 40% ต่างประเทศ 20% สร้างเสียงทักท้วงเรื่องความไม่โปร่งใสชงเองงาบผลประโยชน์เองขึ้นรอบทิศ ถึงขั้นเจ้ากระทรวงพลังงานแบ่งรับแบ่งสู้เสนอให้เปิดกระบวนการหยั่งเสียงของประชาชนก่อน เพราะกลัวกระแส"คนไม่เอาถ่านหิน"ต้านหนัก

 

เรื่องดังกล่าว กรีนพีซและกลุ่มพลังไท ได้จัดทำ รายงาน เรื่อง การกระจายศูนย์การผลิตไฟฟ้าสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืน เสนอแผนพีดีพีคู่ขนานกับกฟผ. และตอกย้ำว่าแผนพีดีพีของกฟผ.ขาดประสิทธิภาพและเน้นการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งที่ไทยมีศักยภาพในการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานงานในอนาคต ด้วยการใช้แผนพลังงานแบบบูรณาการและกระจายศูนย์ ซึ่งประกอบด้วยประสิทธิภาพด้านพลังงาน พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และระบบการผลิตร่วมไฟฟ้า - ความร้อนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องมีโครงการผลิตไฟฟ้าถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติแบบรวมศูนย์ และลดการนำเข้าไฟฟ้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

นอกจากนี้ อุปสรรคที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจาก 1.ระบบกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าที่บิดเบือน ส่งเสริมการขยายกำลังการผลิตและการพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีราคาผันผวนมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทนจากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 2. มติครม.ขัดขวางการแข่งขัย จัดให้กฟผ. ร้อยละ 50 ของการผลิตไฟฟ้าใหม่เป็นอำนาจของกฟผ. 3. การตัดสินใจผ่ายเดียวของกฟผ.ในปี 2541 ที่ยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงผลิตร่วมไฟฟ้า-ความร้อนแบบกระจายศูนย์รายใหม่เข้าระบบ  4. ผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากการมีอำนาจควบคุมเหนือระบบส่งไฟฟ้าของกฟผ. 5. แนวโน้มการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเกินความต้องการที่ผ่านมาของคณะอนุกรรมการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดการลงทุนในโรงไฟฟ้าแบบเดิมมากเกินไป 6. กระบวนการในการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ไม่โปร่งใส ละเลยการพิจารณาทางเลือกที่คุ้มทุนด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ และไม่เปิดให้มีการตรวจสอบของผู้มีส่วนได้เสียจากภายนอก

 

โดยรายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะว่า

1.ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการวางแผนด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้เป็นกระบวนการวางแผนทรัพยากรแบบบูรณาการ มีการกำกับดูแลโดยคณะกรรมการและมีการพิจารณาทางเลือกทั้งหมด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้หน่วยงานด้านพลังงานต้องเลือกทางเลือกที่ก่อให้เกิดภาระด้านเศรษฐกิจต่ำสุดต่อสังคม ตรงกันข้ามกับ กฟผ.ที่มักเลือกทางที่ก่อให้เกิดต้นทุนกับตนเองน้อยที่สุด พร้อมทั้งนี้ ควรมีการประเมินอย่างรอบด้านถึงต้นทุนผลกระทบภายนอกของเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีการผลิตพลังงานประเภทต่างๆ

 

2.เพิ่มเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนจากร้อยละ 8 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 10 ภายใน ปี 2553 และนำระบบประกันราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมการกระจายตัวของพลังงาน นอกจากนั้น ควรมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยให้การอนุรักษ์พลังงานเป็นวาระด้านพลังงานที่สำคัญที่สุด และกำจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาการผลิตร่วมไฟฟ้า-ความร้อนใหม่ที่เหมาะสมออกไป

 

3. ก่อตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการดูแลกิจการไฟฟ้าที่มีความสามารถเป็นธรรมและเป็นอิสระ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่หลักในการกำกับดูแลให้การตัดสินใจในภาคพลังงานเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ และมีอำนาจทางกฎหมายอย่างเพียงพอที่จะบังคับให้มีการปฏิบัติตามการตัดสินใจนั้น

 

พืชพาณิชย์กับความอยู่รอดเกษตรกรรายย่อย

 

การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวในประเทศไทยมีมานานนับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ระยะที่ 2 พ.ศ.2507-2509 โดยการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ มีการ ส่งเสริมพืชที่สำคัญและมีตลาดก่อน เช่น ข้าวโพด พืชน้ำมัน มะพร้าวและฝ้าย เร่งรัดการปลูกยางแทนให้ได้ผลรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยหาวิธีสงเคราะห์ชาวสวนยางให้มีรายได้ทดแทนในระยะของการปลูกแทน และช่วยเหลือชาวสวนยางขนาดเล็กเป็นพิเศษ ค้นคว้าทดลองพันธุ์ดีและพืชแซมยางที่ปลูกได้ดี ในภาคใต้ตามสถานีการยางต่างๆ

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปาล์มน้ำมัน และยางพารา กำลังเป็นพืชที่น่าจับตามองที่รัฐบาลทำการส่งเสริมเกษตรกรในประเทศปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากปริมาณความต้องการการใช้ยางของโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา โดยมีอัตราเฉลี่ย 4.1 ต่อปี โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมและความเจริญทางเศรษฐกิจ เช่น จีน และอินเดีย โดยประเทศจีนมีปริมาณความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 จากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ ซึ่งต้องใช้ยางแปรรูปเป็นล้อรถยนต์ และการสร้างคอสะพานของถนนที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อเชื่อมต่อระหว่างมณฑล

 

โดยรัฐบาลมีนโยบายการส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกยางพารามากขึ้นในภาคอีสาน และภาคเหนือ ตามโครงการปลูกยางเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกยางใหม่ ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2547 - 2549 เป้าหมาย 1 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ภาคเหนือ 300,000 ไร่ 7 จังหวัด ได้แก่ จ. เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ และลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 700,000 ไร่ 13 จังหวัด ได้แก่ จ. กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ มุกดาหาร เลย นครพนม สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษ โดยมีหลักเกณฑ์ว่าเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย และมีที่ดินเป็นของตนเองหรือเป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้หรือที่ดินที่เช่าจากรัฐ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องปลูกยางเป็นกลุ่มไม่น้อยกว่า 5,000 ไร่ต่อพื้นที่ 30 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่ปลูกยางพารา 13.5 ล้านไร่ ผลผลิต 2.9 ล้านตัน

 

ในขณะเดียวกัน ข่าวฉาวเรื่องกล้ายางจำนวน 45 ล้านต้น ซึ่งบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้รับผิดชอบจัดหากล้าพันธุ์ยางไม่สามารถส่งมอบกล้ายางให้เกษตรกรได้ครบตามกำหนดตามที่ระบุในสัญญาคือภายในวันที่ 31.. 2549  เป็นข้อบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากที่เข้าร่วมโครงการต่างเดือดร้อน เพราะลงทุนเตรียมพื้นที่ ขุดหลุมรอพันธ์กล้ายางเอาไว้แล้ว

 

เหตุการณ์นี้ ไม่รู้ว่าจะเป็นโชคดีหรือโชคร้ายสำหรับเกษตรกรรายย่อยอย่างไรแน่ เพราะถึง แม้ว่ายางพาราจะเป็นความหวังใหม่ของเกษตรกรทั่วประเทศว่าจะสามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนในระยะยาว แต่ราคายางพารานั้นขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการของตลาดโลกเป็นหลัก โดยที่เกษตรกรรายย่อยไม่มีอำนาจกำหนดราคากลางเองได้เลย

 

ดังจะเห็นได้จากสถานการณ์ราคายาง (น้ำยางสด) เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 มีราคาสูงสุดถึงกิโลกรัมละ 99.8 บาท แต่หลังจากเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ราคายางปรับตัวลดลงเรื่อยมาเหลือเพียงกิโลกรัมละประมาณ 50-80 บาท/กิโลกรัม จากข้อมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ (22 ธ.ค. 2549) พบว่า ยางแผ่นดิบ ราคา 59.70 บาท/กิโลกรัม แผ่นยางรมควัน ราคา 67.85 /กิโลกรัม และน้ำยางสด ราคา 58.00 บาท/กิโลกรัม และในอนาคตยังต้องเผชิญกับภาวะความไม่แน่นอนด้านราคายาง เมื่อประเทศจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคยางรายใหญ่ในปัจจุบันสามารถเก็บผลผลิตน้ำยางพาราภายในประเทศเองได้ รวมทั้งผลผลิตที่มีนายทุนจีนเข้าไปลงทุนปลูกยางพาราในประเทศลาวด้วย

 

โดยข้อมูลการวิจัยขององค์กร TERRA พบว่า จีนเริ่มปลูกยางพาราตั้งแต่ปี พ.. 2440  ในมณฑลกวางตุ้งและเริ่มพัฒนาอย่างจริงจังในปี พ.. 2494 โดยขยายพื้นที่ปลูกยางพาราไปยังมณฑลไหหลำ รวมถึงมณฑลยูนนาน และกวางสี จากนั้นขยายไปสู่มณฑลฟูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ โดยแหล่งปลูกยางที่สำคัญ คือ เกาะไหหลำ และ เขตสิบสองปันนาในมณฑลยูนนานทั้งนี้เพื่อรองรับความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ

 

ในขณะที่ปาล์มน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมในเกษตรกรปลูกเป็นพืชทดแทนพลังงานไบโอดีเซล เริ่มมีเกษตรกรหันมาสนใจเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ซึ่งกระทรวงพลังงานได้กำหนดเป้าหมายในการใช้ไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันดีเซลในปี พ.ศ. 2555 วันละ 8.5 ล้านลิตร หรือ 3,100 ล้านลิตร/ปี โดยส่งเสริมให้ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มตามแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ปี พ.ศ. 2549-2552 เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกใหม่ 4 ล้านไร่

 

โดยในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่นาข้าวในภาคใต้ลดลงกว่า 6 แสนไร่ เพื่อเปลี่ยนเป็นสวนปาล์มน้ำมัน และสวนยางพารา ทั้งนี้ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ในปี 2542/43 พื้นที่ปลูกข้าวภาคใต้ลดลงจาก 2,773,013 ไร่ เหลือ2,158,233 ไร่ในปี 2546/47 โดยลดลงถึง 614,780 ไร่ เฉลี่ยปีละประมาณ 153,695 ไร่/ปี คิดเป็นร้อยละ 22 (หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, 12 มิถุนายน 2549) นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เกิดการบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพารา เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเสด็จในกรมหลวงชุมพร อ.ท่าแซะ จ. ชุมพร ถูกแผ้วถางกว่า 5,000 ไร่ เพื่อเตรียมปลูกกล้าปาล์มน้ำมัน และยางพารา

 

แนวโน้มในอนาคตสำหรับพืชเชิงเดี่ยวเศรษฐกิจทั้ง 2 ชนิดนี้ยังไม่มีใครออกมาทำนายได้ ว่า จะทำให้เกษตรกรผู้ลงทุนด้วยความหวังว่าจะให้ผลกำไร สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่างยั่งยืนนั้นจะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน ในเมื่อสถานการณ์ราคาผลผลิตขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศเป็นหลัก และเกษตรกรเองก็ไม่มีอำนาจในการกำหนดราคากลางเอง ความหวังด้านรายได้จึงมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เกษตรกรโดยเฉพาะรายย่อยจะต้องแบกรับและยากที่จะควบคุมได้

 

คงต้องจับตาดูต่อไปว่า คุ้มค่าหรือไม่กับการลงทุนปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนตลาดโลก แต่ต้องสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไป เกษตรกรจะสามารถลืมตาอ้าปาก และสามารถพึ่งพาตนเองได้ได้มากน้อยเพียงใด หรืออาจเป็นเพียงแรงงานทาสในที่ดินของตนเองเพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับตลาดโลกเท่านั้น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net