ฟังเสียงประชาชน เพื่อประชาชน หรือเพื่อใคร?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 






มุมคิดจากนักเรียนน้อย เป็นผลงานภาคปฏิบัติในชั้นเรียนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ส่งมาให้ประชาไทพิจารณานำเผยแพร่ เยาวชนที่สนใจสามารถส่งผลงานมาได้ที่ netcord@prachati.com

 

 


เสาวณีย์ คำพิมูล

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

มีหลายเหตุการณ์ในประเทศไทยที่แสดงให้เห็นว่า ความชอบธรรมในสังคมไม่ได้มาจาก "กฎหมาย" แต่เป็น "เสียงของประชาชน" ต่างหากที่มีอำนาจอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น คดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544 ซึ่งในขณะนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ "ถูกกดดัน" จากภาคประชาชนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ จนมีคำวินิจฉัยให้อดีตนายกฯทักษิณรอดพ้นจากข้อกล่าวหา หรือกรณีการประกาศสงครามยาเสพติด ที่ถึงแม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องวิธีการดำเนินงาน ที่ส่งผลให้มีผู้ถูกฆ่าตัดตอนถึง 2 พันกว่าคน แต่จากการสำรวจของสวนดุสิตโพลล์พบว่า ประชาชนร้อยละ 75.09 รู้สึกพอใจมากกับการดำเนินงานของรัฐบาล เป็นผลให้เกิดการประกาศสงครามยาเสพติดตามมาอีกเป็นรอบที่สอง

 

จากตัวอย่างทั้ง 2 กรณีจะเห็นว่า ประชาชนเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการกำหนดทิศทางทางการเมือง ซึ่งหากมองโดยผิวเผิน ดูเหมือนจะเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งตรงตามหลักประชาธิปไตย ที่เป็นการปกครอง "ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน" แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปแล้ว บางครั้งประชาชนอาจเป็นผู้ที่ถูก "ล่อลวง" ให้มีความเห็นหรือความต้องการที่ไม่ใช่เพื่อประชาชนเอง แต่เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มนักการเมือง ฉะนั้น เป้าหมายสุดท้ายของนักการเมืองในปัจจุบันนี้อาจไม่ใช่เพื่อพัฒนาประเทศชาติ หรือเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน หากแต่เป็นการแย่งชิงมวลชนให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายของตนเอง โดยอ้างและใช้คำว่า "เพื่อประชาชน" เป็นเครื่องมือ

 

ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ก่อการร้ายในภาคใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นสงครามแย่งชิงแผ่นดินกันแล้ว ยังเป็นสงครามแย่งชิงมวลชนกันอีกด้วย ซึ่งฝ่าย "ผู้ก่อการร้าย" ก็พยายามแสดงให้สาธารณชนเห็นว่า ประชาชนในพื้นที่อยู่ข้างตนเอง ผ่านทาง "ม็อบเด็กและผู้หญิง" ซึ่งนอกจากจะช่วยกดดันให้ทหารปล่อยผู้ต้องสงสัยได้แล้ว ยังสื่อความหมายโดยนัยว่าประชาชนในพื้นที่ไม่พอใจการทำงานของทหาร และอยู่ข้างกลุ่มผู้ก่อการร้าย ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็พยายามที่จะสื่อให้ประชาชนเห็นความโหดเหี้ยมของ "กลุ่มผู้ก่อการร้าย" เพื่อให้ประชาชนคล้อยตาม และเห็นชอบกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐดำเนินไป ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลใช้เป็นตัวแทนความโหดเหี้ยมของผู้ก่อการร้ายก็คือ "ครูจูหลิง "

 

ฉะนั้น ภายใต้คำสรรเสริญที่ให้แก่ครูจูหลิง ความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ของครูจูหลิงคือ "สัญลักษณ์" ที่มีหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเอนเอียงและเข้ามาเป็นพวกเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายรัฐบาล เหมือนกับที่ "เสื้อสีเหลือง" ซึ่งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้ที่ต่อต้าน "ระบอบทักษิณ" ที่นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งอ้างว่าทำเพื่อแผ่นดินไทย เหมือนกับที่ "16 ล้านเสียง" ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยที่ พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่าเป็นความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป หรือเหมือนกับที่ "การคอรัปชั่น"  (เหตุผลข้อ 2 ใน 4 ข้อของการก่อรัฐประหารของคปค.) ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความชอบธรรมในการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท