Skip to main content
sharethis


วิทยา กุลสมบูรณ์

โครงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


           


 


ประเทศไทยได้ปักธงสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามานับตั้งแต่ ปี พ.. 2544 โดยมีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2545 เป็นเสาหลักรองรับการดำเนินงาน เพื่อสร้างความครอบคลุมและความเท่าเทียมในการเข้าถึงคุณภาพของบริการสุขภาพสมตามสิทธิสุขภาพแห่งความเป็นพลเมืองไทย


 


การที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ไม่สามารถหลีกเลี่ยงระบบการจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพได้  ทรัพยากรสุขภาพที่มีอยู่มีความจำกัดจึงจำเป็นที่จะต้องถูกนำมาใช้ให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อรับมือกับทั้งจำนวนผู้มารับบริการและชนิดของความเจ็บป่วยซึ่งมีความหลากหลาย 


 


ปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บดังกล่าวได้มีพัฒนาการทั้งที่เป็นโรคติดต่อและไม่ติดต่อ ทั้งที่มาจากพฤติกรรม จากสิ่งแวดล้อม และที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจนอีกมากมายหลายชนิด เช่น โรคมะเร็ง รวมไปถึงโรคที่มีพัฒนาการในกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งโรคหลอดเลือด โรคหัวใจ และ โรคในระบบประสาท เป็นต้น


 


ยาและเทคโนโลยีการแพทย์ได้มีการพัฒนาก้าวหน้าไปพร้อมกันกับวิวัฒนาการของสังคมอย่างไม่หยุดยั้ง แต่กระนั้นก็ตาม ผู้นำการผลิตยาและเทคโนโลยีการแพทย์ ได้นำแนวคิดทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นปรัชญานำในการดำเนินการอย่างเข้มงวดจนในบางกรณีสุดโต่งจนละเลยความสำคัญในชีวิตของผู้คน  ทั้งนี้มักนำหลักเหตุผลเรื่องของทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ว่าใช้มูลค่าทุนสูงและต้องการการตอบแทนที่มากพอที่จะส่งผลต่อการพัฒนายาและเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ๆเพื่อรับมือกับวิธีการรักษาโรคที่มีการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย


 


ในหมู่คนรวย การเข้าถึงยาและเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ๆ เหล่านี้ ดูจะไม่มีปัญหาใดใดเนื่องด้วยกำลังทรัพย์กำลังซื้อของกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีมากพอที่จะดำเนินการจัดหาเพื่อตอบสนองความต้องการเมื่อเจ็บป่วยได้  ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า มีการใช้ยาและเทคโนโลยีการแพทย์เหล่านี้เกินความจำเป็นทั้งในบรรดาที่จ่ายเงินจากกระเป๋าของตนเอง ตลอดจนกลุ่มที่มีสิทธิพิเศษในการรักษาพยาบาลที่ระบบยังไม่สามารถจำกัดขอบเขตการเบิกจ่าย เช่น กลุ่มสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของค่าใช่จ่ายด้านยาและรักษาพยาบาลของคนในกลุ่มนี้สูงขึ้นอย่างน่าตกใจยิ่ง 


 


ไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว และมีอาหารที่สามารถเป็นยาได้ กลับต้องเสียเงินจ่ายค่ายาลดไขมันในเลือดตัวหนึ่งที่มีมูลค่าสูงสุดในบรรดายาแผนปัจจุบันทั้งหมดในประเทศไทยโดยสูงถึง 1,500 ล้านบาทต่อปี และ รองลงมา คือ ยาป้องกันและรักษาอาการหลอดเลือดตีบในหัวใจหรือในสมอง ที่มีมูลค่าประมาณ 700 ล้านบาทต่อปีซึ่งนับเป็นมูลค่าที่มหาศาลเช่นกัน  


 


ระบบหลักประกันสุขภาพ มีความต้องการยาต้านไวรัสรักษาโรคเอดส์ ปีละ 4,500 ล้านบาท โดยการขยายจำนวนของผู้ป่วยที่มีมากขึ้น เนื่องจากผู้ติดเชื้อได้เรียนรู้ว่ายาต้านไวรัสเอดส์ให้ผลดี และรัฐได้ดำเนินการเร่งรัดการเข้าถึงยาของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ


 


การเข้าถึงยาของคนรวย หรือ ผู้มีสิทธิตามระบบประกันที่ไม่จำกัดขอบเขตก็เนื่องมาจากกำลังทรัพย์ในการจ่ายค่ายาและเทคโนโลยีการแพทย์มีไม่จำกัด แต่สำหรับผู้คนทั่วไปและคนยากจนแล้ว โอกาสการเข้าถึงยาจะขึ้นกับงบประมาณรวมที่รัฐมีอยู่และได้นำมาจัดสรรให้กับระบบหลักประกันสุขภาพที่ต้องการครอบคลุมประชากรราว 45 ล้านคนด้วยเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท


 


หากต้องการให้ประชาชนผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพได้รับยาหรือเทคโนโลยีการแพทย์ที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษาความเจ็บป่วย หนทางที่ต้องดำเนินการคือ การแสวงหากลวิธีที่จะทำให้ยาหรือเทคโนโลยีการแพทย์ที่มีราคาแพงมากมีราคาถูกลงจนทำให้งบประมาณที่มีอยู่สามารถจัดหาได้  จากประสบการณ์ของประเทศพบว่าหากปล่อยให้ยาและเทคโนโลยีการแพทย์มีราคาสูงมากแล้ว ประชาชนโดยทั่วไปที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพจะขาดโอกาสในการเข้าถึงยาและเทคโนโลยีการแพทย์เหล่านี้ เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องใช้กับผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก


 


เหตุผลที่ยาหรือเทคโนโลยีการแพทย์มีราคาสูงมากจนไม่สามารถจัดหาให้ผู้รับบริการได้ทั้งที่ในบางกรณีเป็นยาที่จำเป็นก็เนื่องมาจากการผูกขาดของผู้ผลิต โดยนำแนวคิดด้านทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นฐานหลักในการดำเนินการเพื่อกำหนดกรอบการตอบแทนในลักษณะที่ต้องการกำไรสูงสุดตามปรัชญาแนวคิดของโลกทุนนิยม  จะสังเกตได้ว่าบริษัทยาหรือเทคโนโลยีการแพทย์ที่เป็นบรรษัทข้ามชาติทั้งหมดจะอยู่ในตลาดหุ้น และ การทำกำไรให้มากที่สุดของบริษัทจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ จะทำให้เกิดการต่อยอดทุน ต่อยอดกำไร ต่อยอดการผูกขาดไปอย่างต่อเนื่องไม่มีจุดสิ้นสุดตามวิถีโลกาภิวัตน์ทุนนิยม


           


กระนั้นก็ตาม ในเวทีการค้าโลก ได้มีความพยายามในการแสวงหาความสมดุลเพื่อความอยู่รอดของทุกประเทศในโลก ระหว่าง ประเทศรวย ประเทศรวยน้อยกว่า ประเทศที่จนกว่า  แสวงหาสมดุลระหว่างการค้ากับสุขภาพ  ในการประชุมเวทีการค้าโลก จึงได้มีการประกาศข้อตกลงบางประการที่สร้างเงื่อนไขที่ประเทศรวยน้อยกว่า หรือ ประเทศจนกว่าสามารถที่จะใช้มาตรการบางประการที่จะปกป้องพลเมืองแห่งรัฐของตน 


 


กล่าวสำหรับยาและเทคโนโลยีการแพทย์ ข้อตกลงการค้าที่โดฮา ประเทศการ์ตา เมื่อ ปี พ.ศ.2544 ได้บัญญัติไว้ในย่อหน้าที่หกว่า ให้ประเทศที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาสามารถใช้สิทธิผลิต หรือจัดหายาโดยรัฐได้ โดยจำกัดเฉพาะบริการแห่งรัฐเมื่อจำเป็น ทั้งนี้ ต้องจ่ายค่าตอบแทนตามที่รัฐได้กำหนดแก่ผู้ทรงสิทธิ 


 


สำหรับประเทศไทยไม่เพียงความชอบธรรมที่สามารถอ้างตามข้อตกลงการค้าโลกดังกล่าวเท่านั้น หากแต่ในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 51 ที่ระบุให้หน่วยงานของรัฐสามารถใช้สิทธิผลิตยา (Government Use) ภายใต้เหตุผลความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของประเทศ จึงถือได้ว่ากติกาทั้งระดับโลกและระดับประเทศได้สร้างสมดุลของการค้าและสุขภาพไว้เป็นอย่างดี 


 


อย่างไรก็ตามตั้งแต่ มีกฎหมายสิทธิบัตร ในปีพ.ศ.2522  เจตนารมณ์ดังกล่าวไม่เคยมีการแปรเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติ การที่ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขปัจจุบันได้นำการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร มาใช้กับยารวม 3 รายการ เป็นยาต้านไวรัสเอดส์ 2 รายการ คือ ยาอิฟาวิเรนซ์ และ ยาสูตรผสม ระหว่าง โลปินาเวียร์ และ ริโทนาเวียร์ รวมทั้งยารักษาการตีบของหลอดเลือดหัวใจคือยาโคลพิเดอร์เกล   จึงเป็นการมุ่งสู่เจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย


           


การดำเนินการดังกล่าวมิได้มุ่งไปสู่การประหยัดเงินของรัฐในกิจการรักษาพยาบาลเพื่อนำงบประมาณไปทำกิจการอื่น หากแต่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพหากยาหรือเทคโนโลยีการแพทย์มีราคาถูกลงแล้ว จะสามารถเพิ่มจำนวนผู้รับบริการได้มากขึ้น ทำให้การเข้าถึงยาของผู้ป่วยครอบคลุมกลุ่มประชากรที่ต้องการยาได้อย่างแท้จริง 


 


การดำเนินการใช้สิทธิผลิตยาของกระทรวงสาธารณสุขจึงเป็นหมุดธงที่ปักไว้เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของรัฐที่จะสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับเงินตรา หรือสุขภาพกับการค้า ที่จะส่งผลดีไม่เพียงกับชีวิตของพลเมืองไทยสำหรับโอกาสเข้าถึงยาจำเป็นเท่านั้น แต่จะเป็นต้นแบบในชุมชนโลกอีกแห่งหนึ่งที่ชูธงความจำเป็นของสุขภาพ ดังที่มีการดำเนินการใช้สิทธิผลิตยามาแล้ว ในนานาประเทศ ตั้งแต่ประเทศแอฟริกาใต้ บราซิล  อินโดนีเซีย มาเลเซีย จึงสมควรอย่างยิ่งที่คนไทยควรทำความเข้าใจและให้การสนับสนุนต่อเจตนาที่ดีดังกล่าว 


 


ทั้งนี้ สามารถกล่าวได้ว่า การใช้สิทธิผลิตยาของรัฐเป็นการดำเนินการที่มีเหตุผลพอประมาณ และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่กล่าวว่ามีเหตุผลเนื่องจากเป็นผลประโยชน์โดยรวมของคนไทยทุกคนในระบบประกันสุขภาพ มีความพอประมาณ จากการที่เลือกใช้สิทธิตามความจำเป็นเฉพาะกลุ่มยาที่รักษาโรคที่มีผลรุนแรงต่อชีวิต  ตลอดจนเป็นภูมิคุ้มกันของพลเมืองในสังคมไทยในการเข้าถึงยาที่จำเป็น  ถือได้ว่าเป็นการประยุกต์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นนโยบายของรัฐในปัจจุบันโดยมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net