Skip to main content
sharethis

ประชาไทภาคเหนือ รายงาน


 


"จรัญ ภักดีธนากุล" รองปธ.กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปาฐกถาเวทีภาคประชาชนเหนือร่างรัฐธรรมนูญบอก "เรื่องเศร้า" ที่มีรัฐประหาร คงต้องร่างของใหม่ให้ดีที่สุด แต่ก็อาจใช้ได้ไม่นานเพราะไม่ได้มาจากประชาชน ปลอบใจปวงชนชาวไทยให้รับๆ ไปเถอะ ค่อยแก้ไขเมื่อได้อำนาจคืนแล้ว ขอร้องอย่าลงมติโนโหวตเดี๋ยวอำมาตยาธิปไตยจะอยู่นาน - ด้านองค์กรประชาชนเหนือเสนอแก้รัฐธรรมนูญครอบคลุมการมีส่วนร่วมทางการเมืองทุกด้าน มาครบทั้งสิทธิชุมชน สิทธิชนเผ่า การกระจายอำนาจ ปฏิรูปที่ดิน ชู "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน" แต่ยังแทงกั๊กไม่เสนอที่มาของนายกรัฐมนตรี-ส.ส.-ส.ว. เอาแบบเลือกตั้งหรือลากตั้ง


 


 


ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อดีตเลขาธิการประธานศาลฎีกา


 


วานนี้ (4 ก.พ.) ซึ่งเป็นวันที่สองของการสัมมนาเรื่อง "ปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนกับข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) ร่วมกับวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือนั้น


 


ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อดีตเลขาธิการประธานศาลฎีกา ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร"


 


 


รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ข้อจำกัดของการร่าง รธน.


ศ.พิเศษจรัญ กล่าวถึงข้อจำกัดของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 นี้ว่า "เป็นไปไม่ได้ที่จะได้ส่วนร่วมของประชาชนอย่างที่ทุกคนหรือคนส่วนใหญ่คาดหวัง เพราะช่วงเวลาจำกัดมาก ถามว่าทำไมไม่ขยายเวลาให้ยาวๆ เพื่อฟังประชาชน แต่ผมเห็นว่ามันไม่เป็นประโยชน์ที่เราจะอยู่ในสถานการณ์ปกครองแบบอำมาตยาธิปไตย"


 


 


จรัญพูดเอง แม้รัฐบาล "อำมาตยาธิปไตย" จะเป็นคนดี แต่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย


ศ.พิเศษจรัญกล่าวต่อไปว่า "ถึงแม้ท่านจะเป็นคนดี ... ผมอยู่ในระบบด้วย ไม่ได้ว่าคนอื่นนะ ... คือ ถึงแม้ท่านจะเป็นคนดี เราก็ไว้วางใจได้ แต่ยังไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ยังไม่ใช่อำนาจของประชาชน เพราะฉะนั้น ก็ขอให้สั้นที่สุด ส่งมอบคืนให้ประชาชนเร็วที่สุด ถ้าเราบอกว่าจะยืดเวลาออกไปเพื่อฟังเสียงการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด ผมว่าประโยชน์ไม่เท่ากัน เอาเร็วก่อนดีกว่า ในช่วงเวลาสั้นๆ ท่านเห็นอะไรสำคัญ ก็เอาตรงนั้นเข้าไป แล้วอาจจะผิดหวังว่ามันไม่ได้อย่างที่เราเห็น เราขอ ท่านก็อย่าถึงกับโหวตไม่เอารัฐธรรมนูญนี้ เพราะถ้าเราโหวตไม่เอา จะเป็นเงื่อนไขทำให้ถูกยืดเวลาของการคืนอำนาจออกไปอีก ไม่เป็นประโยชน์"


 


 


รธน.นี้ ไม่ใช่ในอุดมคติ ไม่ได้มาจากประชาชน นี่คือจุดอ่อน


"เหตุผลที่ว่าทำไมต้องทนกับรัฐธรรมนูญที่ร่างในช่วงสั้นๆ แล้วมันไม่ได้อย่างใจ เพราะถึงท่านจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ดีถูกใจอย่างไร รัฐธรรมนูญนี้ก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญในอุดมคติ เพราะมันไม่ได้มาจากฐานประชาชน นี่คือจุดอ่อนรัฐธรรมนูญที่เราร่างอยู่ มันมาจากอำนาจคณะรัฐประหาร แม้กระทั่งสภาร่างฯ ที่ผมอยู่นี้ เราก็ไม่ได้ภาคภูมิใจกับมันนัก เพราะมันไม่ได้มาจากประชาชน ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญที่เราร่างอยู่นั้นของปี 2540 ยังดีกว่า"


 


 


ชี้คงจะเป็นฉบับชั่วคราว ประชาชนคงต้องเริ่มกระบวนการใหม่


"ดังนั้นถึงเราจะพยายามร่างให้ดีที่สุดอย่างไร มันก็ไม่แข็งแรงพอที่ทานลมฝนมากนัก เพราะรากฐานมันไม่ดี ผมถึงอยากจะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนฉบับชั่วคราวที่ทำให้อำนาจกลับมาเป็นของประชาชนเสียก่อน แล้วหลังจากนั้นประชาชนได้รับอำนาจแล้วก็เริ่มกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นมา ที่มาจากฐานของประชาชนจริงๆ แล้วประชาชนจะรักและหวงแหนมัน ถ้าตรงไหนไม่ดีก็แก้ไขนะ แล้วมันจะทานการปฏิวัติล้มล้างได้ในโอกาสต่อไป" ศ.พิเศษจรัญกล่าว


 


 


บ่นปฏิวัติเป็นเรื่องน่าเสียดาย - แต่เอาเถอะมันผ่านไปแล้ว ชี้จะทำใหม่ให้ดีที่สุด


อดีตเลขาธิการศาลฎีกาผู้นี้ยังกล่าวต่อว่า "ความจริงเราหวังว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 จะต้านทานการปฏิวัติรัฐประหารได้ เพราะมันมีฐานจากประชาชน แล้วเราก็รักมัน คิดว่ามันเป็นของเรา เป็นครั้งแรกในประเทศเราที่ได้สัญลักษณ์ของอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แต่ว่าน่าเสียดายที่จะรักษาไว้ไม่ได้ เพราะไปทำเงื่อนไขเสียจนกระทั่งเปิดช่องทางให้เกิดการปฏิวัติล้มล้างขึ้น น่าเสียดายมาก เรื่องเศร้า แต่ว่ามันผ่านไปแล้ว เราไปหมกมุ่นอยู่กับอดีตที่แก้ไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ เราจะหันมาทำใหม่ ทำใหม่ให้ดีที่สุด จะผิดถูกอย่างไร ควรจะปรับปรุงอย่างไรท่านก็แนะนำก็แล้วกัน"


 


 


ศ.จรัญแย้มอาจมีการขยายสิทธิ/การมีส่วนร่วมของประชาชน


ศ.พิเศษจรัญ ยังกล่าวระหว่างการปาฐกถาด้วยว่า ในตัวรัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างจะทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนหรืออำนาจชุมชนเป็นจริงจังขึ้นกว่าปี 2540 โดยส่วนที่คิดว่าเป็นไปได้ชัดเจนคือลดจำนวนการยื่นเสนอกฎหมายด้วยการรวบรวม 50,000 รายชื่อลงให้เป็นตัวเลขกลางๆ คือ 25,000 คน และให้ประชาชนสามารถเสนออะไรที่มากกว่าพระราชบัญญัติได้ เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎหมายเล็กๆ ที่ขวางสิทธิประโยชน์ของประชาชนแล้วสร้างความไม่เป็นธรรม สร้างเงื่อนไขให้เกิดทุจริตฉ้อฉล และนอกจากเสนอกฎหมายทุกระบบแล้ว ประชาชนจำนวนดังกล่าวก็ขอให้ตรวจสอบสิ่งไม่ชอบมาพากลได้


 


"ไม่ว่าจะอย่างไร หากเสนอในครั้งนี้ไม่ได้ ก็สามารถเพิ่มเติมแก้ไขในครั้งต่อไป หมายความว่ารัฐธรรมนูญนี้จะมีหมวดแก้ไขเพิ่มเติมง่ายพอสมควร ไม่ใช่ว่าพูดว่าเอาไปแก้ไขได้แล้วแก้ไม่ได้" ศ.พิเศษจรัญ กล่าว


 


 


ภาคประชาชนเหนือแจง "ข้อเสนอภาคประชาชนชนเหนือต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่"


ในช่วงบ่ายของการสัมมนา "ปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนกับข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) ร่วมกับวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ หลังจากที่ได้มีการระดมความคิดเห็นตลอดทั้ง 2 วันจนได้ข้อสรุปแล้ว ก็ได้เผยมีการแพร่เอกสาร "ข้อเสนอภาคประชาชนชนเหนือต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่"


 


 


ยึดคอนเซ็ปต์ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจท้องถิ่น ประชาธิปไตยกินได้


โดยมีเจตนารมณ์เพื่อ 1.สร้างระบอบประชาธิปไตยที่ต้องลดอำนาจรัฐส่วนกลาง  เพิ่มอำนาจชุมชนท้องถิ่น 2.สร้างระบอบประชาธิปไตยที่กินได้  ด้วยการปฏิรูปการจัดการทรัพยากร การกระจายการถือครองที่ดิน ส่งเสริมระบบการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน สร้างระบบสวัสดิการที่เป็นธรรมและเท่าเทียม 3.สร้างระบอบประชาธิปไตยที่เคารพจารีตประเพณี  วิถีชีวิตดั้งเดิม  และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของทุกกลุ่มชน เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชนทุกเผ่าพันธุ์


 


4.สร้างระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เด็ก เยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั้งหลายสามารถกำหนดวิถีชีวิตตนเองในด้านการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม 5.สร้างระบอบประชาธิปไตยที่เคารพปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทบทวนเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี และ 6.สร้างระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมการจัดการอำนาจทุกระดับ ตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐทุกองค์กร


 


 


เสนอแก้ไข รธน.40 แหลมคมให้เก็บภาษีก้าวหน้าคนมีที่ดินมาก!


นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้มีการเพิ่มและแก้ไขสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่น่าสนใจเช่น มาตรา 35 1.ยุติการไล่รื้อ จับกุมชุมชน ฟ้องในทุกกรณีเพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินนั้นๆ มาตรา 52 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริหารทางสาธารณสุขของรัฐที่ได้มาตรฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มาตรา 84 1.รัฐต้องจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าสำหรับคนที่ครอบครองที่ดินมาก  และไม่ได้ใช้ประโยชน์ 2.ที่ดินว่างเปล่าในเขตเมืองต้องจัดสรรให้คนจน ผู้มีรายได้น้อย และเพิ่มเนื้อหาพิเศษคือ 1.ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมอาคารให้เอื้อต่อการแก้ไขที่อยู่อาศัยของคนจน 2.ต้องมีการออกกฎหมายแก้ไขปัญหาที่ดิน  โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน   เช่น กฎหมายการกระจายการถือครองที่ดิน


 


 


แก้ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ-ออกกฎหมายลูกประกันสิทธิ-เสรี


ในเอกสารข้อเสนอภาคประชาชนฯ ยังมีการเสนอให้แก้ไขถ้อยคำในรัฐธรรมนูญด้วย เช่น จากเดิม ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้  แก้เป็น  ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ อันประกอบด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม


 


จากเดิม ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใดย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน แก้เป็น บุคคลในราชอาณาจักรไม่ว่าไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใดย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน


 


นอกจากนี้แต่ละเครือข่ายเห็นว่าในรัฐธรรมนูญควรจะมีการผลักดันกฎหมายลูกที่สำคัญๆ  คือ 1.พ.ร.บ.สุขภาพตำบล  2.พ.ร.บ.สภาชุมชนท้องถิ่น 3. พ.ร.บ.ป่าชุมชน 4.พ.ร.บ.การกระจายการถือครองที่ดิน  พ.ร.บ.การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า 5.พ.ร.บ.สภาชนเผ่า และ 6.พ.ร.บ.ส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครองภูมิปัญญา วัฒนธรรมชนเผ่า


 


 


อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากข้อเสนอปฏิรูปการเมืองในเอกสารที่คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) ร่วมกับวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ เสนอแล้ว ในเอกสารก็ไม่ได้มีข้อเสนอในประเด็นสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ที่มาของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลควรมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำเป็นหรือไม่ ควรมีที่มาจากการเลือกตั้งหรือสรรหาหรือไม่ อย่างไร แต่ประการใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net