Skip to main content
sharethis


ภาพจากนิตยสาร 'สารคดี'




ว่าด้วย "ประชาสังคม"


 







หมายเหตุ "ประชาไท" : บทสัมภาษณ์ "ประจักษ์ ก้องกีรติ" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชิ้นนี้ "ประชาไท" นำมาจากเวบไซต์ สถาบันข่าวอิศราฯ โดย "ประชาไท" นำมาแบ่งเป็นสองตอน ตอนแรกว่าด้วย "สังคมไทยแบบไหนที่เราต้องการ" และตอนที่สอง ว่าด้วยประชาสังคมเพื่อต้องการเน้นย้ำ และด้วยความแน่นและยาวของเนื้อหาจนยากตัดทอน จึงขออนุญาตไม่ตัด แต่ทำไฮไลต์ช่วยอ่าน สำหรับท่านที่มีเวลาไม่มากพอ หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อที่จะเย้ายวนชวนให้ท่านได้ให้เวลาลองอ่านเต็มๆ


หรือดาว์นโหลดฉบับPDF : สัมภาษณ์ประจักษ์ ก้องกีรติ ตอนที่ 2 "ภาคประชาสังคมนี่แหละฐานอำนาจฮิตเลอร์และนาซี" (ความยาว 3 หน้า) ที่นี่


 


เบญจมาศ บุญฤทธิ์


สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเมืองภาคประชาชนอ่อนแอหรือเปล่า?


ผมขอใช้คำว่า "ประชาสังคม" มากกว่า มันครอบคลุมกว่า อีกทั้งเราใช้คำว่าภาคประชาชนพร่ำเพรื่อมากจนมันสูญเสียความหมายของมันไปเสียแล้ว


 


วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเมืองภาคประชาชนอ่อนแอหรือเปล่า? อธิบายอย่างนั้นก็ได้ ถ้าเรามองจากปรากฏการณ์การขับไล่ทักษิณ บางคนอาจจะมองว่าภาคประชาสังคมเข้มแข็ง เพราะมีคนมาชุมนุมมากเป็นเรื่อนหมื่นเรือนแสน ถึงกับคาดหวังว่ามวลชนกลุ่มนี้จะกลายเป็นฐานของการปฏิรูปการเมืองและพัฒนาประชาธิปไตยให้เข้มแข็งต่อไป แต่เมื่อดูจากข้อเท็จจริงหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นทำให้ผมไม่ได้มองโลกในแง่ดีนัก ความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาสังคมกับประชาธิปไตยไม่ได้เป็นความสัมพันธ์เชิงบวกเสมอไปหรอก ประชาสังคมที่เข้มแข็งไม่ได้ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งเสมอไป ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งในหลายกรณีก็กัดเซาะหรือกระทั่งทำลายประชาธิปไตยได้ ถ้าสนับสนุนวาระทางการเมืองแบบอำนาจนิยมหรือชนชั้นนำนิยม มุ่งสร้างการมืองแบบมิตร-ศัตรู และมุ่งใช้วิธีการที่เน้นการปะทะเผชิญหน้าและมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงหรือไม่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงเป็นทางออก


 


มีงานวิชาการจำนวนในระยะหลังที่ชี้ให้เห็นประเด็นนี้อย่างชัดเจน ประเทศเยอรมันสมัยนาซีมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งมากนะครับ และภาคประชาสังคมนี่แหละที่เป็นฐานอำนาจทางการเมืองให้กับฮิตเลอร์และนาซีในการทำลายศัตรูทางการเมือง ทำลายระบบรัฐสภาและประชาธิปไตยลงไป และทำให้ฮิตเลอร์สามารถเถลิงอำนาจได้ ผู้ปฏิบัติงานของพรรคนาซีถูกดึงมาจากสมาคม องค์กรอาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆ ในภาคประชาสังคมนั่นแหละ เพราะคนกลุ่มนี้มีทุนทางการเมือง เครือข่ายและทักษะทางการเมืองสูง นาซีประสบความสำเร็จในการผนวกกลืนภาคประชาสังคมให้กลายมาเป็นฐานทางการเมืองของตน ซึ่งนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดระบอบเผด็จการที่เหี้ยมโหดของฮิตเลอร์ขึ้นมาได้ ปราศจากแนวร่วมจากภาคประชาสังคม ฮิตเลอร์และพวกไม่มีทางเผด็จอำนาจและก่ออาชญากรรมในระดับที่เกิดขึ้นได้


 


ฉะนั้นเวลาพิจารณาภาคประชาสังคม เราไม่สามารถดูที่ปริมาณอย่างเดียว เราต้องดูที่คุณภาพของภาคประชาสังคมด้วย ประเด็นที่สำคัญคือว่า เราเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยหลักคิดชี้นำทางการเมืองแบบไหน อะไรคือเหตุผลที่ใช้ในการรณรงค์ต่อสู้ทางการเมือง เมื่อเอากรอบนี้มามองการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลทักษิณออกไป มันมีสัญญาณหลายอย่างของความอ่อนแอกระทั่งน่าวิตกให้เห็น


 


กล่าวคือ ลักษณะการรณรงค์เป็นเชิงปลุกปั่นมาก เป็นการปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อ ให้ข้อมูลที่มุ่งไปในการปลุกเร้าอารมณ์เกลียดชังทางการเมือง โจมตีในเรื่องบุคลิกภาพส่วนตัว หรือวาดภาพจนฝ่ายตรงกันข้ามเป็นยักษ์เป็นมาร มุ่งที่จะเอาชนะทางการเมืองมากกว่าชูเหตุผลที่ถูกต้องเพื่อโน้มน้าวมวลชนให้เห็นด้วย


 


ยกตัวอย่างง่ายๆ ในการเคลื่อนไหวครั้งนั้น จริงๆ แล้วมีหลายประเด็นสำคัญที่รัฐบาลทักษิณทำผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งแทบไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการโจมตีสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาคใต้ หรือการฆ่าตัดตอน ฯลฯ การสร้างวาทกรรมปีศาจการเมืองให้กับฝ่ายตรงกันข้ามมันทำให้เราเองหยุดใช้เหตุผลไปด้วย เพราะเมื่อฝ่ายตรงข้ามเป็นยักษ์เป็นมาร หรือ "หนักแผ่นดิน" เสียแล้ว ก็ต้องห้ำหั่นกันให้แพ้ชนะกันไปข้างหนึ่ง


 


วิธีการรณรงค์ทางการเมืองแบบนี้ไม่ต่างอะไรจากวิธีที่ฝ่ายขวาเคยใช้ หรือรัฐเผด็จการในสังคมต่างๆ ใช้ปลุกระดมประชาชน การใส่ร้ายป้ายสีก็คือสิ่งที่นาซีใช้อย่างเชี่ยวชาญ เพราะฉะนั้นการที่ไปบอกว่าคุณทักษิณเป็นฮิตเลอร์ อย่าลืมว่าวิธีการที่ขบวนการประชาชนใช้ในม็อบขับไล่ทักษิณก็เป็นวิธีการแบบเดียวกับที่ฮิตเลอร์ใช้ในการปลุกระดมคนเยอรมันนั่นแหละ คือสร้างภาพให้คนยิวเป็นปีศาจที่ต้องถูกกำจัดไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม เพราะสังคมเยอรมันไม่มีทางเจริญก้าวหน้าไปได้ ตราบใดที่คนยิวยังอยู่ ท้ายสุดแล้วมันไม่ใช่ความเข้มแข็งของภาคประชน เพราะคุณไม่สามารถโน้มน้าวให้คนเห็นด้วยกับเหตุผลที่ถูกต้องได้ มวลชนที่ถูกปลุกปั่นขึ้นมาด้วยการรณรงค์ทางการเมืองแบบโน้มน้าวอารมณ์เช่นนี้ท้ายที่สุดแล้วเป็นฐานทางการเมืองของระบอบฟาสซิสต์มากกว่าระบอบประชาธิปไตย


 


มีคนถามผู้นำการชุมนุมว่า ทำไมไม่มีการหยิบยกประเด็นสิทธิมนุษยชนมาใช้ในการรณรงค์ คำตอบก็คือ มันขายไม่ได้ แล้วอาจจะเสียแนวร่วมบางส่วนไป เพราะผู้ชุมนุมบางส่วนเห็นด้วยกับนโยบายปราบปรามยาเสพติด และเห็นด้วยกับนโยบายแบบตาต่อตาฟันต่อฟันของคุณทักษิณในกรณีภาคใต้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยหรือสิ่งที่เรียกว่าภาคประชาสังคมค่อนข้างเปราะบาง ถูกปลุกเร้าได้ง่ายๆ โดยนักฉวยโอกาสทางการเมืองที่มีโวหารดี พูดเก่ง กล่าวร้ายคนอื่นโดยใช้ข้อมูลกึ่งเท็จกึ่งจริง ตรงนี้เป็นปรากฏ การณ์ที่น่ากลัว


 


นอกจากนั้น การที่แกนนำพันธมิตรในปีกเอ็นจีโอออกมาเปิดเผยว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับการชูมาตรา 7 แต่ก็ต้อง "ฝืนใจ" ยอมเพราะกลัวถูกกล่าวหาว่าทิ้งมวลชนและองค์กรจะเสียเครดิตทางการเมืองในการเคลื่อนไหวในอนาคต ผมคิดว่านี่เป็นอาการที่สะท้อนถึงความอ่อนแอของสิ่งที่เรียกว่าภาคประชาชนอย่างชัดเจน คือการที่ไม่สามารถชี้นำประเด็นเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยตนเองและผลักดันวาระทางการเมืองที่ตนเองต้องการได้ กลับต้องยอมอ่อนข้อให้กับนักปลุกระดมอย่างคุณสนธิและจำลองชี้นำประเด็นการเคลื่อนไหวซึ่งมีลักษณะแอนตี้ประชาธิปไตยอย่างรุนแรง


 


คำอธิบายว่ากลัวเสียมวลชนเท่ากับยอมรับว่า หนึ่ง ภาคประชาชนไม่มีมวลชนของตนเองในการขับไล่ทักษิณ สอง รู้ว่ามวลชนที่ชุมนุมอยู่นั้นส่วนใหญ่เอาด้วยกับการชูมาตรา 7 และการเรียกร้องนายกพระราชทานของคุณสนธิ และสาม ยอมจำนวนว่าตนเองไม่มีความสามารถในการโน้มน้าวคุณสนธิและคุณจำลองและมวลชนให้หันมาชูประเด็นการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยได้ ฉะนั้นการเคลี่อนไหวครั้งนี้จึงไม่ได้เข้าข่ายที่จะเป็นการให้การศึกษาหรือยกระดับผู้มาชุมนุมให้ยึดมั่นกับคุณค่าประชาธิปไตยมากขึ้นแต่อย่างใด


 


น่าเสียดายว่าในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อขับรัฐบาลทักษิณออกจากตำแหน่ง ประชาธิปไตยแบบอนารยะ (uncivil democracy) ของคุณทักษิณ ถูกตอบโต้ด้วยขบวนการทางสังคมจากภาคประชาสังคมที่ไม่ได้อารยะกว่ากันเท่าไรเลย (uncivil movement)


 


 


มองความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมหลังรัฐประหารอย่างไร


ถ้าเราเริ่มจากจุดที่ว่าคณะรัฐประหาร รัฐบาล และรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มาจากการทำรัฐประหาร มันไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองรองรับเลยตั้งแต่ต้น ฉะนั้นการไปร่วมสังฆกรรมทำอะไรกับเขา มันก็คือการไปต่ออายุให้กับรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมทางการเมือง ที่น่าเสียดายก็คือ ดูเหมือนหลายคนพยายามอ้างหลักความเป็นจริงทางการเมืองเพื่อให้ความชอบธรรมกับตนเองในการเข้าไปทำงานให้กับระบอบรัฐประหาร "สภาพความเป็นจริงมันเป็นแบบนี้ มันเกิดขึ้นแล้ว เขายึดอำนาจไปแล้ว ตอนนี้อำนาจมันอยู่ในมือเขา เราก็ไปชวยทำให้เขาดีขึ้นไม่ดีกว่าหรือแทนที่จะอยู่เฉยๆ หรือต่อต้าน" ผมคิดว่าวิธีคิดแบบนี้เข้าข่ายการยอมจำนนทางการเมืองและทำให้ภาคประชาสังคมเองอยู่ในสภาระไร้อำนาจ ต้องไปขอส่วนแบ่งอำนาจมาจากคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจรัฐ 


 


อันที่จริง ปรากฎการณ์ที่ผมคิดว่าน่าสนใจอย่างยิ่งและควรค่าแก่การศึกษาและวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไปคือ การที่ประชาสังคมไทยทำหน้าที่เป็นกลไกให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารของกองทัพอย่างแข็งขันในระดับที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นส่วนนักวิชาการ เอ็นจีโอ และสื่อมวลชน โดยเฉพาะในส่วนของปัญญาชนที่มีชื่อเสียงเป็นที่นับหน้าถือตาทั้งหลาย จนทำให้กลไกความรุนแรงของรัฐที่เป็นกองกำลังทหารตำรวจไม่ต้องแสดงความป่าเถื่อนออกมา


 


ที่ไม่เกิดความรุนแรงในการรัฐประหารและหลังรัฐประหาร ผมอยากจะอธิบายว่าไม่เกี่ยวอะไรกับบุคลิกภาพหรือนิสัยใจคอของทหารไทย แต่เกี่ยวพันกับดุลอำนาจทางการเมืองและอุดมการณ์ทางการเมืองของภาคประชาสังคม พูดให้ชัดๆ ก็คือว่าไม่ใช่ทหารไทยหน่อมแน้มหรือมีจิตใจอ่อนโยนเมตตาปราณีกว่าทหารในสังคมอื่นนะครับ รัฐประหารไทยจึงไม่รุนแรง แต่เป็นเพราะว่าไม่มีเหตุผลให้เขาต้องรุนแรงต่างหาก เนื่องจากภาคประชาสังคมเกือบทั้งหมดได้สยบยอมและทำตัวเป็นกลไกเชิงอุดมการณ์ที่ให้ความชอบธรรมกับระบอบรัฐประหารตั้งแต่นาทีที่มีการยึดอำนาจสำเร็จ เมื่อไม่มีพลังต้านรัฐประหารที่เข้มแข็งจากภาคประชาสังคม ก็ไม่มีเหตุอันใดให้ต้องกราดกระสุนยิงใส่ประชาชน ลองถ้ามีพลังต้านรัฐประหารที่เข้มแข็งและออกมาเคลื่อนไหวในวันยึดอำนาจ ทหารไทยก็ไม่หน่อมแน้มหรอกนะครับ


 


อย่างไรก็ดี การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนหายไป และทำให้พื้นที่ทางการเมืองหดแคบลง ภาคประชาสังคมควรยื่นหยัดในการต่อสู้กดดันเพื่อรื้อฟื้นสิทธิเสรีภาพและพื้นที่ทางการเมืองกลับคืนมา มากกว่าเข้าไปเป็นเพียงตัวประกอบในการสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบรัฐประหารที่กำลังจัดระเบียบอำนาจเพื่อสถาปนาการเมืองแบบอภิชน


 


หากจะมีบทเรียนอะไรที่ภาคประชาสังคมได้เรียนรู้จากผู้กุมอำนาจรัฐไทยทั้งหลายก็คือ ไม่ได้มีใครจริงใจหรือปรารถนาที่จะให้ภาคประชาสังคมมีอำนาจมากนะครับ ผู้กุมอำนาจรัฐยุคใดสมัยใดล้วนต้องการทำให้ภาคประชาสังคมง่อยเปลี้ยเสียขาทั้งสิ้น หรืออย่างมากก็ต้องการผนวกกลืนภาคประชาสังคมให้เข้ามาเป็นกองเชียร์ของรัฐมากกว่าที่จะเป็นหุ้นส่วนอำนาจ การเข้าไปทำงานร่วมกับระบอบยิ่งจะทำให้อำนาจในการกำกับตรวบสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐซึ่งเป็นบทบาทหลักของภาคประชาสังคมอ่อนแอลงไปด้วย


 


จากแนวโน้มที่เป็นอยู่ ผมว่าเราไม่ควรไปฝากความหวังไว้กับระบอบรัฐประหารว่าจะนำมาซึ่งการปฏิรูประบอบเศรษฐกิจและการเมืองอย่างถึงรากถึงโคน กรณีเรื่องเอฟทีเอน่าจะเป็นบทเรียนที่ชัดเจนที่สุดแล้ว


 


...............................


เอกสารประกอบ

ฉบับPDF : ประจักษ์ ตอน 2 ภาคประชาสังคมนี่แหละฐานอำนาจฮิตเลอร์และนาซี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net