สัมภาษณ์ "ประจักษ์ ก้องกีรติ" : "สังคมไทยแบบไหนที่เราต้องการ" คำถามก่อนปฏิรูปการเมือง

 







หมายเหตุ "ประชาไท" : บทสัมภาษณ์ "ประจักษ์ ก้องกีรติ" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชิ้นนี้ "ประชาไท" นำมาจากเวบไซต์ สถาบันข่าวอิศราฯ โดย "ประชาไท" นำมาแบ่งเป็นสองตอน ตอนแรกว่าด้วย "สังคมไทยแบบไหนที่เราต้องการ" และตอนที่สอง ว่าด้วยประชาสังคม เพื่อต้องการเน้นย้ำ และด้วยความแน่นและยาวของเนื้อหาจนยากตัดทอน จึงขออนุญาตไม่ตัด แต่ทำไฮไลต์ช่วยอ่าน สำหรับท่านที่มีเวลาไม่มากพอ หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อที่จะเย้ายวนชวนให้ท่านได้ให้เวลาลองอ่านเต็มๆ

หรือดาว์นโหลดฉบับPDF : สัมภาษณ์ประจักษ์ ก้องกีรติ ตอนที่ 1 "สังคมไทยแบบไหนที่เราต้องการ คำถามก่อนปฏิรูปการเมือง" (ความยาว 11 หน้า) ที่นี่

 


เบญจมาศ บุญฤทธิ์

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

 

รัฐประหาร 19 กันยา ในยุคที่เสรีนิยมใหม่ย่างกรายไปทั่วทุกแห่งหน ทำให้บางคนมีคำถามต่อวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น (ซ้ำแล้วซ้ำเล่า) ในบ้านเราว่า ฤาประเทศไทยไร้แล้วซึ่งหนทางในก้าวเดินต่อไป? กระทั่งวันนี้ แม้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมืองจะกำลังดำเนินไป แต่เราล้วนรับรู้ได้ถึงม่านหมอกที่ยังคงบดบังเส้นทางสายอนาคต...เรากำลังเดินไปสู่สังคมการเมืองแบบไหน? นี่คือคำถามที่อยู่ในใจใครหลายคน

 

หากคำถามจาก "ประจักษ์ ก้องกีรติ" นั้นต่างออกไป นักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิชาการเมืองเปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัยวิซคอนซิล สหรัฐอเมริกา ผู้นี้ ได้พินิจประวัติศาสตร์และพิเคราะห์ถึงสิ่งที่เห็นและเป็นไปในสังคมไทยปัจจุบัน เขาตั้งถามว่า "สังคมการเมืองแบบไหนที่เราต้องการจะอยู่ร่วมกัน?"

 

พร้อมกับการตั้งคำถามสู่อนาคตไกล ประจักษ์ วิพากษ์การเมืองไทยในอดีตอันใกล้ว่า ความอ่อนแอของสังคมและประชาชนเป็นเหตุนำพาประเทศมาสู่วิกฤต หาใช่คนชื่อ "ทักษิณ" เพียงคนเดียวไม่ ซ้ำร้าย นักวิชาการไทยก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้สังคม เขาไม่เชื่อในหนทางปฏิรูปที่กำลังดำเนินอยู่ในวันนี้ ไม่เชื่อในสิ่งที่เรียกว่า "การสมานฉันท์" ที่กลายเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองไทย อย่างไรก็ดี เขายังมีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้เพื่อเติบโตไปด้วยกัน

 

ทัศนะวิพากษ์ต่อสังคมการเมืองไทยและภาคประชาสังคมในหลายๆ ประเด็นของนักวิชาการรุ่นใหม่ผู้นี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำเรากลับไปสู่อดีตเพื่อค้นหาบทเรียนจากสังคมการเมืองไทยร่วมกัน ก่อนที่ห้วงเวลาแห่งการปฏิรูปอันแท้จริงจะมาถึง...

 

O O O

 

วิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในตอนนี้ มันบอกว่าองค์ความรู้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการนำประเทศชาติข้ามพ้นไปจากสภาพที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในยุคนี้แล้วหรือเปล่า

ผมคิดว่าเราพอมีองค์ความรู้อยู่ จะพูดว่าไม่มีเลยคงไม่ได้ แต่จากปรากฏการณ์ทางการเมืองช่วงขับไล่รัฐบาลทักษิณจนมาถึงการเมืองหลังรัฐประหาร มันมากกว่าแค่ปัญหาขององค์ความรู้ แต่เป็นปัญหาของวิธีคิดหรือมากกว่านั้นคือ ปัญหาเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง  

 

ถ้าจะตอบคำถามที่ถามมา ผมขอตอบเฉพาะในส่วนขององค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ ซึ่งพอจะรู้อยู่บ้าง เท่าที่ติดตามดูจากการถกเถียงทางความคิดในช่วงตั้งแต่มีการขับไล่รัฐบาลทักษิณเป็นต้นมา หรืออาจจะย้อนไปก่อนหน้านั้น คือตั้งแต่รัฐบาลทักษิณขึ้นมามีอำนาจ ผมพอพูดได้ว่าวงวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ได้เผชิญกับการท้าทายครั้งใหญ่ และปัจจุบันอยู่ในจุดที่วิกฤตพอสมควร ทั้งในแง่องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับปรัชญาการเมือง สถาบันทางการเมือง พฤติกรรมทางการเมือง และวัฒนธรรมทางการเมือง

 

นับตั้งแต่เกิดวิกฤต ผมคิดว่ามีการถกเถียงทางปรัชญาทางการเมืองค่อนข้างมาก นับได้ว่าคึกคักที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทย ชื่อของอริสโตเติ้ล จอห์น ลอค รุสโซ แมคเคียวาลี ฯลฯ ปรากฏตัวในที่สาธารณะอยู่บ่อยครั้ง แต่ผมคิดว่าที่น่าเสียใจคือ มีการนำเอางานของนักปรัชญาการเมืองเหล่านี้มาใช้ในลักษณะที่ไม่เคร่งครัดรัดกุมและเที่ยงตรงเท่าไรนัก โดยเฉพาะการนำมันไปใช้ให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารอย่างไม่ระมัดระวัง ซึ่งผมคิดว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

 

เช่นการอธิบายว่ามีสิ่งที่เรียกว่าสิทธิในการทำรัฐประหารโดยอ้างอิงแนวคิดเรื่องการละเมิดสัญญาประชาคม ผมคิดว่าตรงนี้นักวิชาการต้องระวังพอสมควรนะครับ การยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธของกองทัพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐนั้น มีความแตกต่างอย่างสำคัญในทางคุณภาพจากการลุกฮือโค่นล้มรัฐบาลทรราชด้วยพลังประชาชน (ดังที่เคยเกิดขึ้นตอน 14 ตุลาฯ ในไทย หรือการเดินขบวนขับไล่ประธานาธิบดีมาร์กอสในฟิลิปปินส์) การรัฐประหารของผู้นำบางส่วนในกองทัพ (ภายใต้การสนับสนุนของพลังจารีตนิยมทางการเมือง) ไม่ควรถูกยกระดับให้มีค่าเท่ากับการแสดงเจตจำนงรวมหมู่ของประชาชนในทางการเมือง

 

ในครั้งนี้มีประชาชนตั้งมากมายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้เปล่งเสียงออกมา (ส่วนหนึ่งเพราะมันเปล่งไม่ได้) จะเอาเขาไปไว้ตรงไหนครับ หรือว่าพวกเขาไม่ใช่ประชาชนเสียแล้ว คนเหล่านี้ รวมทั้งตัวผมเอง ไม่เคยมอบอาณัติให้กองทัพไปยึดอำนาจเลยนะครับ แล้วจะมาอ้างว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็นการแสดงออกซึ่งเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนได้อย่างไร การไปเทียบให้สองสิ่งนี้กลายเป็นสิ่งเดียวกันโดยไม่จำแนกแยกแยะและตั้งคำถาม เท่ากับสร้างบรรทัดฐานที่อันตรายเอาไว้สำหรับอนาคตว่า การรัฐประหารของกองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นทำได้และชอบธรรมในฐานะที่เป็นตัวแทนเจตจำนงของประชาชน

 

การที่นักวิชาการบางคนอ้างตัวเลขโพลว่ามีประชาชน 80 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการรัฐประหารมาสนับสนุนความคิดเห็นของตนโดยไม่ตั้งคำถามกับความเที่ยงตรงและบริบทของการทำโพลนี่ก็เป็นปัญหาใหญ่ทางวิชาการ ทำให้ผมคิดว่าปัญหาครั้งนี้มันมากกว่าเรื่ององค์ความรู้ แต่เป็นเรื่องของการตะแบง การบิดและตีความความรู้ตามใจชอบเพื่อมารองรับวาระทางการหรืออุมดมการณ์ทางการเมืองของตน

 

ถามว่านักวิชาการปัญญาชนเหล่านั้นไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับงานปรัชญาการเมืองหรือครับ ไม่ใช่แน่นอน แต่ละท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งนั้น ทำไมท่านจะไม่รู้ว่าจอห์น ลอคเองได้กล่าวเตือนเรื่องการนำเอาข้ออ้างว่ารัฐบาลละเมิดสัญญาประชาคมมาเป็นข้ออ้างทางการเมืองเพื่อโค่นล้มรัฐบาลอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะมันทำให้ความคิดเรื่องเจตจำนงของประชาชนเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ มิหนำซ้ำยังอาจถูกพวกนักฉวยโอกาสหรือชนชั้นนำกลุ่มตรงกันข้ามสวมรอยเพื่อเอาไปใช้โค่นล้มศัตรูทางการเมืองของตนได้เสมอ ปัญหามันเลยไม่ใช่แค่เรื่ององค์ความรู้ แต่เป็นเรื่องการเมืองของความรู้ ที่ความรู้บางชุดถูกผู้ "เชี่ยวชาญ" ผลิตขึ้นในยามวิกฤตเพื่อรับใช้อำนาจ

 

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าในส่วนขององค์ความรู้เกี่ยวกับสถาบันการเมือง พฤติกรรมและวัฒนธรรมทางการเมืองเป็นส่วนที่อาจกล่าวได้ว่ายังมีไม่พอ ซึ่งทำให้การออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมายังมีปัญหาบกพร่องอยู่มาก เราไม่อาจคาดหวังให้องค์ความรู้เหล่านี้มีอยู่ในนักวิชาการคนใดเพียงลำพัง เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีใครคนเดียวจะรู้ไปทั้งหมด โจทก์คือเราต้องหาทางสร้างองค์ความรู้เหล่านี้ในระดับสถาบันเพื่อผลิตให้มันเป็นสมบัติสาธารณะที่จะไปขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองต่อไป

 

เอาง่ายๆ ผมคิดว่า ในเมืองไทย ยังมีคนศึกษาวิจัยเรื่องสถาบันทางการเมืองกันน้อย งานของอาจารย์รังสรรค์ (ธนะพรพันธุ์) เรื่องเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในไม่กี่ชิ้น ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิชาการในเรื่องนี้ในโลกตะวันตกได้พัฒนาไปอย่างมาก เวลาพูดถึงสถาบันการเมืองนั้นกินความกว้างมากนะครับ ไล่ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ สถาบันกษัตริย์ องคมนตรี กองทัพ รัฐสภา พรรคการเมือง ระบบราชการ การเลือกตั้ง ระบบหัวคะแนนและการซื้อเสียงเองก็เป็นสถาบันการเมืองแบบหนึ่งด้วย คำถามใหญ่คือสถาบันการเมืองทำงานอย่างไร ทำไมในบางที่จึงประสบความสำเร็จ บางที่ล้มเหลว จะออกแบบและปรับปรุงสถาบันการเมืองอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ ต้องมีการวิจัยและตั้งคำถามกันอย่างจริงจังมากกว่านี้

 

ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2540 มีความผิดพลาดที่สำคัญคือ สับสนระหว่างสิ่งที่เรียกว่าเสถียรภาพของระบอบการเมืองกับเสถียรภาพของตัวผู้นำการเมือง สองสิ่งนี้เป็นคนละเรื่องกันนะครับ การสร้างเสถียรภาพที่เกินพอดีให้กับสิ่งหลังอาจนำไปสู่การไม่มีสิ่งแรก กล่าวคือ เสถียรภาพของผู้นำถูกสร้างให้มีมากจนยากแก่การตรวจสอบ (ที่ชัดเจนคือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ถูกกำหนดให้ทำได้ยากกว่าการอภิปรายรัฐมนตรีคนอื่นๆ ซึ่งไม่ถูกต้องในแง่ระบอบรัฐสภา กลายเป็นการไปสร้างให้นายกฯ อยู่ในสภาวะที่เป็นผู้นำเดี่ยวแบบระบอบประธานาธิบดี ทั้งนี้ยังมีมาตราอื่นๆ อีกหลายมาตราที่ไปสร้างให้นายกฯ มีอำนาจมากจนเกินพอดี) จนนำไปสู่ทางตันในระบบการเมือง และความไร้เสถียรภาพของระบอบการเมืองในที่สุด เพราะผู้คนวิ่งหาทางออกอย่างอื่นที่นอกกติกา สิ่งที่เราต้องสร้าง ไม่ใช่ความมั่นคงของผู้นำรัฐบาล แต่คือเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยที่จะมีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างมีประสิทธิภาพที่สามารถถอดถอนผู้นำที่ฉ้อฉลออกจากตำแหน่งได้ด้วยกลไกในระบบ

 

เรื่องพฤติกรรมและวัฒนธรรมทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเรายังมีองค์ความรู้ไม่เพียงพอ ผมคิดว่าคนไทยทั้งในเมืองและชนบทเปลี่ยนไปมากแล้วนะครับในรอบ 10-20 ปีมานี้ แต่องค์ความรู้ที่จะทำให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ยังมีไม่เพียงพอ ถามว่าปัจจุบันเราเข้าใจพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยมากน้อยแค่ไหน ผมว่าเราเข้าใจน้อยมากนะครับ ที่พูดๆ วิจารณ์กันอยู่ตลอดเวลานี่พูดจากสามัญสำนึกและองค์ความรู้เก่าๆ ทั้งนั้น ตรงนี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นอันตราย เป็นวิกฤตของวงวิชาการโดยเฉพาะทางด้านรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน คือลงมือศึกษาวิจัยจริงจังกันน้อย แต่ให้ความเห็นกันมาก ปัญหาจึงไม่ใช่ว่านักวิชาการไทยเป็นปัญญาชนหอคอยงาช้างไม่ลงมือปฏิบัติ สำหรับผม เรายังปีนหอคอยขึ้นไปไม่สูงพอที่จะผลิตองค์ความรู้ที่มีความหนักแน่นทางวิชาการให้กับสาธารณะ

 

ถามว่าที่เราวิพากษ์พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนชนบทในเรื่องการซื้อขายเสียงและขาดความรู้ความเข้าใจทางการเมืองนั้น มีใครลงไปศึกษาวิจัยความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของชาวบ้านจริงมากน้อยแค่ไหน ว่าพวกเขามีความคิดทางการเมืองเป็นเช่นไร คิดและเข้าใจการเมืองอย่างไร ต่อรองกับนักการเมืองที่ไปหาเสียงกับพวกเขาอย่างไร ความสัมพันธ์กับหัวคะแนนและพรรคการเมืองเป็นอย่างไร  ปัจจัยอะไรที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของพวกเขา ทำไมคนชนบทบางส่วนสนับสนุนคุณทักษิณและนโยบายของพรรคไทยรักไทย ในขณะที่บางส่วนไม่เอา ตัวเลข 16 ล้านเสียงที่ยังเลือกพรรคไทยรักไทยในระบบบัญชีรายชื่อในห้วงจังหวะที่คุณทักษิณถูกประท้วงขับไล่อย่างหนักนั้นน่าสนใจมากนะครับ จะอธิบายอย่างไร อย่ามัวแต่พูดว่าคนชนบทเสพย์ติดประชานิยมของคุณทักษิณ ผมว่ามันไม่พอ ในส่วนภาคใต้ยิ่งน่าสนใจใหญ่ นี่รวมถึงพฤติกรรมของชนชั้นกลางทั้งในกรุงเทพฯ และตามจังหวัดต่างๆ ด้วยนะครับที่น่าจะศึกษากัน ผมอยากรู้เหมือนกันว่าใครคือกลุ่มคนที่ไปร่วมม็อบคุณสนธิ และกลุ่มคนที่ไม่ไปร่วม ไม่ไปเพราะอะไร และคิดอย่างไรกับการชุมนุมที่เกิดขึ้น

 

ปราศจากการวิจัยเชิงประจักษ์เหล่านี้ เราก็ได้แต่ผลิตซ้ำคำอธิบายเดิมๆ ที่ผลิตขึ้นตั้งแต่เมื่อ 20-30 ที่แล้วว่าคนชนบทโง่และไม่เข้าใจประชาธิปไตย ในขณะที่คนชั้นกลางมีค่านิยมเรื่องประชาธิปไตยมากกว่าและไปเลือกตั้งโดยไม่มีอิทธิพลใดๆ มาครอบงำ คำอธิบายแบบนี้ผมได้ยินตั้งแต่ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัยเลยนะครับ จริงหรือเปล่า ผมยังไม่ต้องการเถียงในตอนนี้ เพราะคิดว่าต้องมีการศึกษาวิจัยกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากการตั้งคำถามกับคำอธิบายแบบเดิมๆ ที่ดำรงอยู่ว่าจริงหรือไม่

 

เรื่องวัฒนธรรมการเมืองยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้เริ่มมีการพูดถึงกันมากว่าจะปฏิรูปการเมืองอย่างไรโดยไม่ให้ล้มเหลว มีการพูดกันว่าต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านวัฒนธรรมการเมืองหรือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ผมเห็นด้วยอย่างไม่มีปัญหาเลยนะครับว่าความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมนั้นสำคัญอย่างยิ่ง แต่เราก็แทบไม่มีงานศึกษาในประเด็นนี้อยู่เลย  เวลาคนพูดก็ยังต้องอ้างงานของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเขียนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ถามว่าตอนนี้วัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยนั้นเปลี่ยนรูปแปลงร่างไปแล้วมากน้อยแค่ไหน ยังเป็นแบบที่อาจารย์นิธิว่าไม่หรือไม่ ควรจะมีคนทำอย่างยิ่ง

 

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายก็ต้องกลับมาที่คำถามใหญ่ที่ต้องตอบก่อน ก็คือว่า เราอยากจะอยู่กันในสังคมการเมืองแบบไหน ถ้าคิดไปในอนาคตข้างหน้ายาวๆ ก็คือว่า หน้าตาของสังคมการเมืองแบบไหนที่เราอยากสร้างให้ลูกหลานเรามีชีวิตอยู่ต่อไป ผมคิดว่าเราต้องพยายามคิดจากโจทย์ใหญ่ตรงนี้ก่อนและมองการณ์ไกลไปถึงอนาคตด้วย แล้วเราค่อยมาคุยกันว่าเราเราขาดองค์ความรู้แบบไหน

 

เช่นสมมติว่าคนจำนวนมากบอกว่าเราไม่แคร์ประชาธิปไตย เราไม่ได้ต้องการมีประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเสมอภาคกัน แต่เราต้องการประชาธิปไตยแบบไทยๆ แบบที่ให้คนดีมีจริยธรรมมีการศึกษาสูงๆ ได้ปกครองบ้านเมือง โดยที่คนเหล่านี้ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ และอนุญาตให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองได้เป็นระยะๆ ในยามที่รัฐบาลมีปัญหา ถ้าสังคมไทยจริงใจกับตัวเองว่าต้องการสร้างสังคมการเมืองแบบนี้ ผมว่าก็ไม่ต้องพูดเรื่ององค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปการเมืองอะไรให้เสียเวลา เพราะองค์ความรู้เรื่องประชาธิปไตยแบบไทยนั้นถูกผลิตขึ้นมาโดยปัญญาชนและนักคิดในกองทัพตั้งแต่สมัยรัฐบาลสฤษดิ์แล้ว ที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารพูดๆ กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้มีอะไรก้าวหน้าหรือลึกซึ้งไปกว่าบทกระจายเสียงวิทยุเรื่องประชาธิปไตยแบบไทยของรัฐบาลสฤษดิ์-ถนอมเมื่อ 50 ปีที่แล้วเลย

 

กลับมาสู่จุดตั้งต้น ถ้าถามถึงเรื่ององค์ความรู้ เราต้องตอบโจทย์ใหญ่ก่อนว่า สังคมการเมืองแบบไหนที่เราอยากจะอยู่ร่วมกัน

 

 

หมายความว่าตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา มันไม่ชัดเจนว่าสังคมการเมืองแบบไหนที่เราต้องการ?

นั่นคือปัญหาใหญ่ ทำไมเราตั้งหลักกันไม่ได้เสียที ถ้าเราไม่ตั้งหลักอย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็ล้มลุกคลุกคลานกันอยู่ตลอดเวลา เราต้องมีหลักการบางอย่าง มีกฎเกณฑ์กติกาที่ยอมรับร่วมกัน แล้วเราต่อสู้กันในกติกานั้น ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ควรจะมาแลกเปลี่ยนและคุยกันอย่างจริงจัง เพราะถ้าเราไม่มีภาพใหญ่ เราก็ไปเถียงกันจุดเล็กจุดน้อย ในเชิงเทคนิคหรือกลไกเฉพาะส่วน

 

สำหรับผม สังคมการเมืองที่ผมต้องการจะอยู่ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยอำนาจอาวุธไม่ควรเป็นวิธีการที่ยอมรับได้ ไม่ควรเป็นวิธีการที่มีความชอบธรรม การเลือกตั้งควรเป็นวิถีทางในการขึ้นสู่อำนาจ สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น รวมกลุ่ม และตรวจสอบผู้มีอำนาจต้องได้รับความเคารพ และประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกันในฐานะพลเมือง ผมเริ่มจากจุดตรงนี้

 

ที่ผมพูดว่าควรจะมานั่งแลกเปลี่ยนถกเถียงกันนี่ผมพูดถึงในแวดวงปัญญาชน นักกิจกรรม สื่อมวลชนและคนที่ห่วงใยปัญหาบ้านเมืองนะครับ เพราะแน่นอนว่าในบ้านนี้เมืองนี้มีกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่เขาชัดเจนของเขาว่าเขาต้องการสร้างสังคมการเมืองแบบอภิชน และไม่คิดว่าคนทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกัน ซึ่งผมไม่เอาด้วยกับสังคมการเมืองแบบนี้ 

 

 

ถ้าเชื่อว่าประชาธิปไตยชาติไม่แข็งแรงเพราะประชาธิปไตยในระดับฐานรากไม่เข้มแข็ง โจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปประเทศตอนนี้ คืออะไร

ผมคิดว่าเราต้องปฏิรูปประชาธิปไตยบวกกับการสร้างเสรีนิยมทางการเมืองในระดับชาติและชุมชนนิยมในระดับท้องถิ่น ทั้งสามสิ่งนี้ไม่เหมือนกัน หัวใจของประชาธิปไตยคือการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนให้กว้างขวางและมากที่สุด ให้พลเมืองแต่ละคนมีอำนาจในการปกครองตนเอง มีสิทธิมีเสียงในการกำหนดวิถีชีวิตของตัวเองมากที่สุด โจทย์คือเราจะทำอย่างไรให้ทั้งชุมชนและปัจเจกชนมีสิทธิอัตวินิจฉัยในการกำหนดเส้นทางชีวิตตัวเองหรือวิถีชีวิตของชุมชนตัวเอง

 

ในส่วนนี้ ขั้นต้นเลยเราต้องพยายามขยายสิทธิการเลือกตั้งและสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งให้ครอบคลุมคนมากที่สุด ข้อจำกัดต่างๆ ควรจะมีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะมากได้ ฉะนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่กำหนดให้เฉพาะผู้จบปริญญาตรีเท่านั้นจึงสมัคร ส.ส. ได้ จึงควรยกเลิก ในขณะเดียวกันการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ระดับท้องถิ่นและสิทธิในการจัดการทรัพยากรก็เป็นส่วนสำคัญ สองเรื่องนี้จริงๆ ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วแต่ยังต้องผลักดันต่อไปให้มีการปฏิบัติจริง

 

ในส่วนเสรีนิยม หัวใจคือการกำกับควบคุมอำนาจของผู้มีอำนาจรัฐ เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน อำนาจรัฐที่มากล้นและไม่ถูกตรวจสอบล้วนอันตรายทั้งสิ้นไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งหรือจากปากกระบอกปืน ผมว่าอุดมการณ์เสรีนิยมทางการเมืองค่อนข้างอ่อนแอมากในสังคมไทย คุณทักษิณจึงเถลิงอำนาจได้อย่างเต็มที่จนประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องสังเวยชีวิตให้กับนโยบายแบบอำนาจนิยม 

 

ถ้าไปดูรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เราจะพบว่ามีทั้งส่วนที่เป็นอำนาจนิยมกับเสรีนิยมอยู่ด้วยกัน คือสร้างผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาดมีเสถียรภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลขึ้นมากำกับไว้ด้วย แต่เหตุที่อุดมการณ์เสรีนิยมอ่อนแอ ไม่ลงหลักปักฐานในสังคมไทย รัฐธรรมนูญ 2540 จึงเสียสมดุล ทำงานเฉพาะส่วนที่เป็นอำนาจนิยม ซึ่งอย่าไปโทษเฉพาะคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทย เพราะสังคมไทยที่นิยมชมชอบวัฒนธรรมอำนาจนิยมนั่นแหละที่อุ้มคุณทักษิณและเชียร์ให้คุณทักษิณใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่สำคัญเราไม่ค่อยมีปัญญาชนเสรีนิยมจริงๆ สักเท่าไร มีแต่อำนาจนิยมหรืออนุรักษ์นิยมในเสื้อคลุมเสรีนิยมเท่านั้น ไม่เช่นนั้นการให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารครั้งนี้คงไม่มีมากขนาดนี้

 

ผมว่าถึงเวลาที่เราต้องพยายามปลูกฝังวัฒนธรรมเสรีนิยมขึ้นมาในสังคมไทยให้ลงหลักปักฐานเพื่อเป็นปราการในการทัดทานการใช้อำนาจรัฐอย่างบิดเบือน

 

ในส่วนชุมชนนิยมในระดับท้องถิ่น ผมหมายถึงการผลักดันให้ชุมชนมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเพื่อดูแลปกครองตนเอง มากกว่าที่จะพึ่งพิงรัฐและรอคอยบริการจากรัฐ ฉะนั้น ยิ่งถ้าเราเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ และการพูดถึงประชาธิปไตยในระดับพื้นฐาน ในระดับชุมชน เรายิ่งต้องปฏิเสธการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของทหารและการรัฐประหารตั้งแต่ต้น เพราะหัวใจของการรัฐประหารและการยึดอำนาจครั้งนี้ก็คือ การจัดระเบียบทางการเมืองใหม่เพื่อสร้างการเมืองแบบอภิชนขึ้น สิ่งที่เราจะได้คือคณาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบผู้ปกครองน้อยลง 

 

ตอนนี้อำนาจมันยิ่งรวมศูนย์มากๆ ขัดกับประชาธิปไตยโดยพื้นฐาน ขนาดสิทธิเสรีภาพในระดับปัจเจกบุคคล เรายังไม่มีด้วยซ้ำ ถามว่าเราคิดเห็น เขียน พูด โดยเสรีได้ไหมตอนนี้ มันก็ไม่ได้ เราก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองในระดับหนึ่ง หรือการออกไปเคลื่อนไหวทางการเมือง คุณทำได้เต็มที่ไหม อย่างน้อยในสมัยรัฐบาลทักษิณ คุณระดมคนเป็นหมื่นเป็นแสน ไปไฮปาร์ค ไปขับไล่รัฐบาลได้ มันเป็นสิทธิเสรีภาพที่ระบอบประชาธิปไตยมีให้เรา แต่ว่าตอนนี้ เรามีไหม แค่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เราก็ไม่มีเต็มที่

 

ถ้าเรายังสนับสนุนรัฐประหารและให้ความชอบธรรมกับการเข้ามาปกครองประเทศของคณะทหาร แสดงว่าสังคมไทยยังห่างไกลอีกมากจากสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยชุมชน หรือประชาธิปไตยในระดับพื้นฐาน

 

 

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าชนชั้นนำไทยนำเข้าองค์ความรู้ประชาธิปไตยจากตะวันตกโดยที่ไม่ได้เข้าใจประชาธิปไตยแบบรากฐานที่ชุมชนไทยมีอยู่เดิม

ผมไม่แน่ใจนักว่าประชาธิปไตยแบบรากฐานที่ชุมชนไทยมีอยู่เดิมนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าพูดถึงการตัดสินใจรวมหมู่โดยชุมชนในระดับหมู่บ้าน เช่น ชุมชนเหมืองฝายในภาคเหนือ ผมไม่แน่ใจว่ามันสามารถประยุกต์มาใช้ในระดับชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก เพราะสังคมไทยซับซ้อนเกินกว่าการจัดการในระดับหมู่บ้านไปเยอะแล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการเมืองไทยยังอยู่ในลักษณะหรือในขั้นตอนของการเมืองของชนชั้นนำอยู่ ห่างไกลทั้งจากประชาธิปไตยตะวันตกหรือประชาธิปไตยแบบชุมชน ท้ายที่สุดก็กลับมาที่การแย่งชิงอำนาจ การต่อรองผลประโยชน์กันของบรรดาชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ดูเหมือนว่าเราเคยเกือบจะก้าวข้ามพ้นไปแล้วหลังพฤษภาทมิฬ มีความพยายามพัฒนาประชาธิปไตย กลุ่มต่างๆ เอ็นจีโอ บรรดาชาวบ้านเอง ก็เริ่มมีการจัดตั้งกลุ่มของตัวเอง แต่รัฐบาลทักษิณก็มาทำลายความเข้มแข็งตรงนั้นลงไปส่วนหนึ่ง เขาทำลายการจัดตั้งรวมกลุ่มของชาวบ้านลงไปหมด พัฒนาแต่ความเข้มแข็งของผู้นำทางการเมืองแล้วต่อสายโดยตรงกับหัวคะแนนและผู้เลือกตั้ง ก็คือสลายประชาชนให้เหลือกลายเป็นแค่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น แล้วทำลายกลุ่มสมาคมชมรมองค์กรต่างๆ ของชาวบ้านลงไป ซึ่งในที่สุดคุณทักษิณเองก็ถูกพิษภัยของชนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่งเขี่ยออกไปจากอำนาจ แล้วการเมืองไทยก็กลับมาอยู่ในวังวนการแย่งชิงอำนาจต่อรองของชนชั้นนำอีก

 

แน่นอน เพื่อที่จะมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน มีเสถียรภาพได้ และมีความหมายต่อประชาชน เราต้องพยายามออกไปให้พ้นจากการเมืองของชนชั้นนำ

 

 

สิ่งที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม หรือ วัฒนธรรมแบบไทยๆ เป็นปัญหาในการพัฒนาสังคมการเมืองไทยไหม

ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาครับ โดยเฉพาะไอ้วัฒนธรรมแบบ "อะไรก็ได้" แล้วผมก็เริ่มรู้สึกหงุดหงิดกับมันมากขึ้นทุกที บ่อยครั้งที่คนพูดว่า "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ผมเริ่มรู้สึกว่าความหมายจริงๆ ของมันก็คือ "อะไรก็ได้" คือจริงๆ แล้วมันไม่มีหลักการอะไรเลยเวลาคนพูดว่า "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" "แบบของเราเอง"

 

พูดในแง่หนึ่งมันถูก เวลานักวิชาการไทยบางคนอธิบายว่า มีสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทย เพราะประชาธิปไตยทุกที่มันมีลักษณะเฉพาะของมัน ไม่มีที่ไหนเหมือนกันในโลกหรอก แม้แต่ประชาธิปไตยในตะวันตกเองก็ตาม มันก็ถูกกำหนดโดยเงื่อนไขทางวัฒนธรรม ทางสังคม ในสังคมนั้นๆ นี่เป็นความรู้พื้นฐานของคนที่ศึกษาทางการเมืองเปรียบเทียบเลยด้วยซ้ำ ฉะนั้นมันไม่มีที่ไหนเหมือนกัน อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลียก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นนอกจากประชาธิปไตยแบบไทย เราก็มีประชาธิปไตยแบบอังกฤษ ประชาธิปไตยแบบกัมพูชา ประชาธิปไตยแบบเซเนกัล ประชาธิปไตยแบบอาร์เจนตินา ฯลฯ เลยไปกว่านั้นระบอบเผด็จการในที่ต่างๆ ก็มีหน้าตาไม่เหมือนกัน เรามีเผด็จการแบบไทยๆ พม่าเขาก็มีเผด็จการแบบพม่าๆ

 

เพราะฉะนั้นจะพูดว่าเรามีประชาธิปไตยแบบไทยก็ได้ ถูก แต่ก็ต้องพูดว่า ถ้าเช่นนั้นทุกประเทศในโลกนี้ก็มีประชาธิปไตยแบบเขาเช่นกัน ฉะนั้นการพูดว่าเรามีประชาธิปไตยแบบไทยอาจจะไม่ได้มีประโยชน์อะไรเท่าไหร่ เหมือนกับว่าเราพิเศษ เรามีเอกลักษณ์ของเราอยู่ที่เดียว แต่จริงๆ ไม่ใช่ ถ้าไปศึกษาจะพบว่า สถาบันทางการเมืองทั้งหลาย พรรคการเมือง การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ การตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งหลาย ในระบอบประชาธิปไตย เมื่อมันไปโผล่ในสังคมหนึ่งๆ มันก็มีหน้าตาแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ ที่เรายังพอเรียกระบอบการปกครองในหลายประเทศภายใต้ฉลากหลวมๆ ร่วมกันว่าประชาธิปไตย ก็หมายความว่ามันต้องมีหลักการพื้นฐานบางอย่างที่ยึดร่วมกันไว้ แล้วที่เหลือ เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมมีส่วนในการกำหนดอีกที แต่คุณต้องมีหลักการบางอย่าง เช่น อย่างน้อยคุณต้องปล่อยให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกตั้ง ในการจัดตั้งรวมกลุ่ม มีพรรคการเมืองแข่งขันขึ้นสู่อำนาจด้วยกรอบกติกาที่ยอมรับร่วมกัน สิทธิเสรีภาพที่จะประกันให้กับประชาชนและสื่อมวลชน เหล่านี่คือหลักพื้นฐาน เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยไม่ใช่คืออะไรก็ได้ มันมีหลักการบางอย่าง แต่ที่เหลือในส่วนปลีกย่อย เรามากำหนดกันได้ โอเค ในส่วนของวัฒนธรรมมันก็แตกต่างกันไปในแต่ละที่ แต่เราไม่ควรอ้างวัฒนธรรมเพื่อมาสนับสนุนความบิดเบี้ยวในทางหลักการที่ไม่ถูกต้อง

 

ที่สำคัญก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมก็ไม่ได้หยุดนิ่ง มันเปลี่ยนแปลงได้ มันอาจจะเปลี่ยนแปลงช้าหน่อย แต่มันเปลี่ยนได้ เพราะวัฒนธรรมถูกสร้างโดยมนุษย์ มันคือระบบคุณค่าความหมายที่สังคมหนึ่งๆ ยึดถือ จนนานวันเข้าก็กลายเป็นกรอบกติกาทางสังคมที่เราอยู่ร่วมกัน ในสังคมหนึ่ง ในยุคหนึ่งๆ เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เงื่อนไขเปลี่ยนไป วัฒนธรรมก็เคลื่อนไป เปลี่ยนไป แม้จะช้า และผมคิดว่าถ้าเราอยากจะให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เราต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมโดยมีภาพของสังคมอุดมคติประกอบด้วยนะครับ ไม่เช่นนั้นเราจะติดกับวัฒนธรรมและปล่อยให้ทุกอย่างหยุดอยู่กับที่ อยู่กับวัฒนธรรมอุปถัมภ์ อยู่กับวัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบไทยๆ อย่างนี้สืบไป วัฒนธรรมหลายอย่าง ถ้าเราเห็นว่าไม่ดี เป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกันแบบสันติ ต่อการพัฒนาชีวิตของประชาชน เราก็ควรพยายามปรับเปลี่ยนแก้ไขมัน มากกว่าที่จะเอะอะอะไรก็ไปอ้างวัฒนธรรม เหมือนมันหยุดยิ่งอยู่อย่างนั้น หรืออะไรที่เป็นวัฒนธรรมไทยหมายความว่าดีหมดแล้ว อะไรที่ทำในนามวัฒนธรรมไทยทุกอย่างดีหมด ไม่ต้องมีการแก้ไข นี่คือปัญหา ยิ่งหลังรัฐประหาร ผมยิ่งเห็นการอ้างวัฒนธรรมแบบพร่ำเพรื่อมากขึ้น 

 

 

คิดว่าสิ่งที่สังคมไทยต้องทำในตอนนี้ คืออะไร

ถ้าแรงที่สุด ผมเรียกร้องให้ คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ยุติบทบาททางการเมือง มีการเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากประชาชน ให้พรรคการเมืองกลับมามีกิจกรรมทางการเมืองได้ แล้วค่อยมาว่ากันเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่อีกที คนที่จัดทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ควรเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และในช่วงแข่งขันหาเสียงเลือกตั้ง ให้แต่ละพรรคการเมืองชูนโยบายไปเลยว่ามีนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง กระทั่งมีรัฐธรรมนูญจำลอง อะไรที่แต่ละพรรคคิดว่าเป็นวาระเร่งด่วน ผมคิดว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญที่ออกมาใหม่และการปฏิรูปการเมืองมีฐานความชอบธรรมสูงกว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ในตอนนี้ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและมีลักษณะหมกเม็ดเต็มไปหมด

 

 

ถ้าให้ออกแบบได้ อาจารย์มีโมเดลที่จะนำพาประเทศไปสู่สังคมการเมืองในฝันไหม

เป็นคำถามที่ยากมาก (หัวเราะ) เราคงออกแบบไม่ได้ คงไปกำหนดว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเรามองประชาธิปไตยเป็นเหมือนโครงการหนึ่ง มันไม่ได้สำเร็จในชั่วระยะเวลาข้ามคืน หรือในระยะเวลาอันสั้น มันมีขั้นตอนของมัน ซึ่งเราคงต้องมีความอดทน และค่อยๆ สั่งสมพัฒนาไป กว่าที่จะเปลี่ยนผ่านจากการเมืองของชนชั้นนำไปสู่การเมืองแบบมีส่วนร่วมหรือการเมืองแบบทางตรงที่ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจในการปกครองตนเองมากขึ้น

 

ในประเทศตะวันตกเอง กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยและทำให้ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานก็ไม่ได้ยุติเสร็จสิ้นไปแล้วแต่อย่างใด จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่มีจุดสิ้นสุดก็ได้ เพราะการขยายอำนาจการปกครองตนเองของประชาชนนั้นเป็นกระบวนการต่อสู้ไม่รู้จบ เช่น ในอเมริกา ก็มีการต่อสู้เพื่อขยายอำนาจจากนายทุนผิวขาวมาสู่คนชั้นล่างผิวขาวด้วยกัน มาสู่คนดำและผู้หญิง จนมาถึงปัจจุบันกลุ่มอื่นๆ ทางสังคมซึ่งเคยถูกกีดกันไปอยู่ชายขอบก็ต่อสู้เรียกร้องสิทธิของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกย์เลสเบี้ยน คนไร้บ้าน กลุ่มแรงงานอพยพ ผู้ลี้ภัยทั้งหลาย ประเด็นในการเรียกร้องก็หลากหลายแตกแขนงออกไป ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในทางการเมือง แต่คลุมถึงสิทธิในทางเศรษฐกิจ ในทางสังคม และในทางวัฒนธรรม

 

ผมคิดว่า อย่างน้อย เพื่อที่จะพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยทางตรงอย่างนั้น เราต้องการสถาบันทางการเมืองหลักๆ ให้มันทำงานก่อน การเลือกตั้ง พรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ การตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน คือการทำงานในระดับสถาบันทางการเมืองต้องถูกขับเคลื่อนก่อน ถัดจากนั้น เมื่อคุณมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้ประชาชนแล้ว การรวมกลุ่มต่อรองของประชาชนธรรมดาทั้งหลายจึงจะงอกเงยขึ้นมาได้ ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งต้องการตัวระบอบการเมืองที่มีเสถียรภาพด้วยก่อน ถ้ายังตั้งหลักกันไม่ได้อยู่อย่างนี้ เราจะไปคาดหวังให้มีประชาสังคมที่เติบโต เข้มแข็ง ก็ลำบาก เพราะแม้แต่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานก็ไม่ได้รับการประกันจากระบบ 

 

จากนั้นแล้ว มันเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ สั่งสมและผ่านกระบวนการเรียนรู้ แล้วก็สร้างอำนาจการต่อรอง ซึ่งในแง่นี้ ก็คือต้องมีการสร้างพันธมิตรกันระหว่างชาวบ้าน กลุ่มประชาชนระดับรากหญ้าทั้งหลาย หรือคนที่เสียเปรียบด้อยโอกาสทางการเมือง กับบรรดาปัญญาชน คนชั้นกลาง และเอ็นจีโอ ที่มีองค์ความรู้และมีทักษะทางการเมือง ทำอย่างไรที่จะเชื่อมโยงสองส่วนนี้เข้าด้วยกันเพื่อเสริมซึ่งกันและกัน และถึงจุดหนึ่งเราอาจจะต้องคิดจริงจังถึงเรื่องพรรคการเมืองทางเลือกทั้งหลายให้เข้าไปต่อสู้ในเชิงนโยบายในระบอบด้วย นอกจากการเมืองเชิงกดดัน การเมืองเชิงประท้วง ในรูปแบบขบวนการทางสังคมหรือในรูปแบบม็อบ

 

 

ถ้าอดีตบ่งชี้ถึงอนาคตได้ ในฐานะที่อาจารย์ศึกษาประวัติศาสตร์ มองเห็นอนาคตของประเทศไทยอย่างไร

เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญมากช่วงหนึ่ง ซึ่งหลายเรื่องยังพูดไม่ได้เต็มที่ คำถามสำคัญคือ สังคมไทยพร้อมที่จะพูดถึงมันหรือเปล่า มีวุฒิภาวะพอที่จะพูดไหม สำหรับผม เราต้องมาตอบกัน ถกเถียงกันอย่างจริงจังในประเด็นที่ผมตั้งต้นไว้ตั้งแต่ต้นว่า เราจะอยู่ร่วมกันยังไง

 

สำหรับผม บทเรียนจากรัฐบาลทักษิณคือ ประชาธิปไตยมันฆ่าคนได้ มันโหดร้ายได้ ประชาธิปไตยแบบทักษิณมีปัญหา ผมวิพากษ์วิจารณ์และไม่ยอมรับรัฐประหาร ในขณะเดียวกัน ผมก็คัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณด้วย ซึ่งนักวิชาการที่คัดค้านการรัฐประหารครั้งนี้ส่วนใหญ่เขาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณมาตั้งแต่ต้น

 

ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ผมรับไม่ได้กับรัฐบาลทักษิณ ไม่ใช่เรื่องนักการเมืองคอรัปชั่น ผมคิดว่านี่คือเรื่องธรรมดาสำหรับสังคมประชาธิปไตยทั้งหลาย และถ้าจะพูดเรื่องคอรัปชั่น นี่เป็นบทเรียนที่สังคมไทยได้เรียนรู้มานานแล้ว แน่นอน เราต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขกันต่อไปในการตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมือง แต่ที่สำคัญกว่าและเป็นบทเรียนที่เราต้องมาคุยกันอย่างจริงจัง คือ ประชาธิปไตยมันก็ฆ่าคนได้ มันโหดร้ายได้ ไม่แพ้รัฐบาลเผด็จการทหาร นี่เป็นจุดที่ทำให้คนจำนวนมาก นักวิชาการจำนวนมากมีท่าทีอิหลักอิเหลื่อลังเลกับการรัฐประหาร

 

ผมยังมองโลกในแง่ดีว่า เขาไม่ได้สนับสนุนรัฐประหารอย่างเต็มที่ หรือเชื่อในส่วนลึกว่าการรัฐประหารจะทำให้สังคมไทยดีขึ้น แต่ผมคิดว่าปัญหาคือรัฐบาลทักษิณเป็นโจทย์ใหญ่ เราจะจัดการกับรัฐบาลทักษิณอย่างไร รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง แต่ครั้นเมื่อมีอำนาจแล้วใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล และก่อให้เกิดผลเสียหายทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และละเมิดชีวิตของพลเมือง ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง

 

เราจะอยู่กับรัฐบาลแบบนี้อย่างไร? นี่เป็นเรื่องใหญ่ สังคมไทยอาจจะไม่เคยต้องอยู่กับรัฐบาลประชาธิปไตยที่ใช้อำนาจแบบคุณทักษิณมาก่อน ครั้นพอเกิดความไม่พอใจขึ้น คุณก็กระโดดไปหาทางเลือกอื่น ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นทางเลือกที่ยิ่งพาสังคมการเมืองไทยไปสู่ทางที่ตีบตันมากขึ้น และพาไปสู่วัฏจักรแห่งความรุนแรง เราจะเห็นว่าความไม่สงบต่างๆ มีอยู่ตลอดเวลา เพราะรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้อยู่ในกรอบกติกาที่คนให้ความชอบธรรม เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นก็ต้องใช้กำลังกันอีก เพราะตอนนี้คุณไม่เปิดทางเลือกให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ในกรอบกติกาอย่างสันติ ตอนนี้ถ้าคนเกิดไม่พอใจขึ้นมา อึดอัดคับข้องใจกับรัฐบาลรัฐประหาร ก็ไม่รู้จะเปลี่ยนอย่างไร อยู่ดีๆ คุณจะไปบอกให้รัฐบาลลงจากอำนาจหรือ หรือจะไปม็อบอย่างที่เคยทำสมัยขับไล่คุณทักษิณหรือ ถ้าคุณทำแบบนั้นก็รังแต่จะเกิดการปะทะกัน เพราะตัวรัฐบาลทหารโดยพื้นฐานเขาไม่มีวิธีจัดการความขัดแย้งแบบอื่น และไม่มีวิธีการลงจากอำนาจโดยสันติอยู่แล้ว

 

ถ้าจะมองอย่างพยายามเข้าอกเข้าใจปัญญาชนนักวิชาการที่สนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้ก็คือว่า คนเหล่านี้เกลียดรัฐบาลทักษิณอย่างรุนแรงมาก นี่เป็นอย่างเดียวที่ผมใช้อธิบายตัวเองในการพยายามทำความเข้าใจกระแสสนับสนุนรัฐประหาร ซึ่งกระแสความเกลียดชังนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการปลุกปั่น อีกส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้อำนาจของคุณทักษิณเอง คือมันมีฐานความเป็นจริงรองรับอยู่ที่ทำให้เราเกลียดชังรัฐบาลทักษิณแบบนั้นได้

 

ทำอย่างไรที่เราจะสามารถจัดการรัฐบาลทักษิณได้ภายใต้กรอบกติกาที่คนยอมรับร่วมกัน และเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติโดยที่ไม่ต้องใช้กำลังอำนาจอาวุธ?

 

คำถามใหญ่กว่านั้นก็คือว่า สังคมการเมืองไทยต้องตอบตัวเองว่า อยากจะแต่งงานกับประชาธิปไตยหรือเปล่า? อยากจะอยู่กินกับประชาธิปไตยหรือเปล่า ทั้งในเชิงรูปแบบ ในเชิงสถาบันการเมืองที่มีกรอบกติกาบางอย่างที่ยอมรับร่วมกัน แล้วพร้อมที่จะค่อยๆ พัฒนาประชาธิปไตยให้เข้มแข็งไป โดยปฏิเสธหนทางการเปลี่ยนแปลงในการใช้อำนาจว่าไม่ชอบธรรม และสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มแข็งขึ้นมา รวมทั้งภาคประชาสังคมที่แข็งแรง

 

ผมมองว่าสังคมการเมืองไทยไม่ยอมและไม่พร้อมที่จะยึดมั่นอยู่ในหนทางต่อสู้เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกัน ซึ่งมันต้องต่อสู้กันยาวและมีราคาที่ต้องจ่าย แต่ว่าถ้าคุณกระโดดไปกระโดดมาแบบนี้ มันสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีในอนาคตต่อไป เราต้องมองถึงสังคมในอนาคตด้วย ตอนนี้เหมือนคนมองแค่สั้นๆ แค่ว่า อะไรก็ได้ ขอให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ก็เอา เอาคุณทักษิณออกไปด้วยวิธีอะไรก็ได้ ผลกระทบระยะยาวคือ มันไปสร้างบรรทัดฐานที่เป็นอันตรายต่อการอยู่ร่วมกันในอนาคต

 

 

มองเห็นความวุ่นวายในอนาคต?

จริงๆ แล้วผมยังมองไม่ออกเลยว่ามันจะจบยังไง ผมสงสัยด้วยซ้ำว่า คมช. รู้หรือเปล่าว่ากำลังพาสังคมไทยไปทางไหน และจะจบยังไง จะลงจากอำนาจยังไง มีคำตอบไว้หรือเปล่า

 

ถ้าจะพูดไป ผมคิดว่าการที่กองทัพยังสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จในปี พ.ศ. นี้ ก็เป็นปรากฎการณ์ที่น่าศึกษาค้นคว้าเหมือนกัน หลังจากที่หลายปีให้หลังนี้กองทัพไม่ได้เป็นตัวละครที่มีความสำคัญในการชี้เป็นชี้ตายต่อการเมืองไทยมากนัก ดัชนีที่สำคัญคือ หลังพฤษภา 35 เป็นต้นมา ข่าวการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ ไม่ได้เป็นข่าวพาดหัวสำคัญอย่างที่เคยเป็นในอดีต เราแทบจำกันไม่ได้หรอกนะครับว่าใครเป็นผู้บัญชาการทหารบก ทหารอากาศ ทหารเรือ เวลาสอนการเมืองไทย ผมยังพูดกับนักศึกษาว่าถ้าคุณไม่รู้ว่าใครเป็น ผบ.ทบ. ก็ไม่ได้เสียหายร้ายแรงอะไร แต่ใครเป็นใครในแต่ละพรรคการเมืองนั้นสำคัญ ใครเป็นหัวหน้ามุ้งไหนนั้นสำคัญ เพราะคนเหล่านี้คือตัวละครที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการเมืองไทย

 

แต่พอเกิดปรากฎการณ์รัฐประหาร 19 กันยา ผมคิดว่ามันทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามกันใหม่ ว่าทำไม 15 ปีผ่านไป กองทัพยังสามารถยึดอำนาจสำเร็จได้อีก ผมยังไม่มีคำอธิบายที่ดี แต่ผมคิดว่าลักษณะพิเศษของรัฐไทยประการสำคัญคือ จนถึงทุกวันนี้กลุ่มชนชั้นนำที่ขึ้นมายึดกุมอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง ไม่สามารถยึดกุมกลไกราชการไว้ในมือได้ทั้งหมด แต่มีอำนาจพิเศษบางอย่างที่อยู่พ้นการเมืองของการเลือกตั้งสามารถเงื้อมมือเข้าแทรกแซงกลไกรัฐบางส่วนได้อย่างสม่ำเสมอ และสามารถบริหารอำนาจให้กลไกรัฐบางส่วนมาขึ้นตรงทางการเมืองต่ออำนาจนี้ได้ เราอาจจะไม่ตระหนักถึงการใช้อำนาจพิเศษนี้ในสถานการณ์การเมืองปกติเท่ากับในจังหวะวิกฤต รัฐประหารครั้งนี้ก็สำเร็จลงได้ผ่านการใช้ "กำลังภายใน" ขั้นสูงของอำนาจพิเศษนี้ และเราจะพบว่าด้วยเหตุที่กองทัพได้อ่อนแรงลงไปมากแล้วในรอบหลายปีที่ผ่านมา การใช้กำลังภายในคราวนี้จึงต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ โชคดีตรงที่มีประชาสังคมที่สวามิภักดิ์มาช่วยค้ำยันทางอุดมการณ์เอาไว้อีกแรงหนึ่งด้วย

 

การทุ่มหมดหน้าตักของอำนาจพิเศษในคราวนี้ อาจทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่านข้างหน้านี้ และเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการเมืองไทย

 

 

4 เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า เขาเตรียมการทำรัฐประหาร แต่ไม่ได้เตรียมว่าจะพาประเทศไปทางไหน

ผมก็เห็นแบบนั้น ซึ่งมันก็น่าเศร้านะ ผมเลยคิดว่า นี่เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย พูดในแง่พัฒนาการทางการเมือง การเรียนรู้ทางการเมืองของคนไทย หรือการเติบโตของสังคมไทยโดยรวม ถ้าเราย้อนเวลากลับไปได้ และเราสู้กับคุณทักษิณไปเรื่อยๆ กดดัน รณรงค์ สู้ผ่านการเลือกตั้งไป ผมเชื่อว่าคุณทักษิณก็จะไม่สามารถกลับมามีอำนาจได้แบบที่เขาเคยมี เขาจะไม่สามารถใช้อำนาจฉ้อฉลได้แบบเดิมอีก 

 

ถ้าเรามีความอดทนที่จะสู้กันไปอย่างนี้ เราอาจเอาคุณทักษิณออกได้ช้า แต่มันจะค่อยๆ กดดันให้พรรคการเมืองอื่นๆ ต้องปรับตัวในการคิดนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในการที่จะเอาชนะใจประชาชนได้ กระทั่งกดดันให้ภาคประชาสังคมต้องตั้งพรรคการเมืองทางเลือกขึ้นมาแข่งขันเสนอนโยบายกันด้วยซ้ำ มันก็สู้กันไป แล้วในกระบวนการนี้สังคมก็ได้เรียนรู้ ได้เติบโตในกระบวนการโต้เถียงกัน แข่งกันในเชิงนโยบาย ด้วยหลักด้วยเหตุด้วยผล คุณไม่พอใจคุณทักษิณคุณก็วิจารณ์นโยบายเขาไป ส่วนในแง่การกระทำความผิดของเขาที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งนับว่าเป็นอาชญากรรม เราก็ดำเนินคดีกับเขาไป ฟ้องร้องไป พยายามเอาผิดเขาในทางนั้น ถ้าเราอยากจะอยู่ด้วยกันแบบประชาธิปไตย แล้วเคารพประชาชนจริงๆ เราก็ต้องมีความอดทนพอสมควร ถ้าจะมีประชาธิปไตย เราใจร้อนไม่ได้

 

 

ถ้าให้ลงไปเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมไทยตอนนี้ จะทำอะไรบ้าง

ตอบแบบฟันธงก็คือ ยุติการให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารก่อน บอยคอต ยุติการให้ความร่วมมือในเรื่องต่างๆ แล้วหันมารณรงค์ให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ และจัดให้มีการเลือกตั้ง หลังจากนั้น ไปสู้ผลักดันในเชิงนโยบาย ผลักดันให้พรรคการเมือง ตั้งโจทย์ปฏิรูปการเมือง ทำยังไงที่จะป้องกันไม่ให้เกิดประชาธิปไตยที่ฆ่าคนได้โดยไม่ถูกตรวจสอบและไม่มีความผิดแบบรัฐบาลทักษิณอีก

 

เพราะฉะนั้น ถ้าถามผมเรื่องรัฐธรรมนูญที่กำลังถูกร่างอยู่ในตอนนี้ว่าควรจะมีหน้าตายังไง ผมตอบไม่ได้ เพราะกระบวนการทั้งหมดมันไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น หลักเกณฑ์ขั้นตอนต่างๆ ก็หมกเม็ดเต็มไปหมด การมีส่วนร่วมของประชาชนก็ไม่มี แย่ทั้งกระบวนการและที่มา

 

 

ดูเหมือนจะมีกลุ่มคนที่ปฏิเสธการรัฐประหารและมีจุดยืนให้มีการเลือกตั้งแบบอาจารย์น้อยเหลือเกิน

การเปลี่ยนแปลงหลายครั้งมันก็เริ่มจากคนกลุ่มน้อย แล้วมันค่อยพัฒนาไป สร้างกระแสผลักกันไป จนกว่าจะถึงจุดที่คนเห็นด้วยและเข้าร่วม มันใช้เวลา และจริงๆ ถ้าเรากลับไปดู ตอนที่ รสช. ทำรัฐประหาร ทีแรกคนก็เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ คล้ายๆ กับตอนนี้ แล้วตอนนั้นก็มีแต่พวกองค์กรนักศึกษาที่ออกมาคัดค้านเป็นกลุ่มเล็กๆ แรกๆ ก็ถูกมองเป็นหมาหัวเน่า ไม่มีใครสนับสนุนหรอก อภิปรายก็ไม่มีคนสนใจ แต่แล้วคุณก็พบว่า การมีกลุ่มคนเล็กๆ เหล่านี้อยู่ ถึงจุดหนึ่งเมื่อเกิดวิกฤต สังคมไทยต้องมาขอบคุณกลุ่มคนเล็กๆ เหล่านี้นะ

 

สังคมต้องมีคนเหล่านี้อยู่ แล้วเมื่อยามที่สังคมไทยไปถึงวิกฤต อย่างน้อยคุณยังมีทางออกที่จะกลับมา เพราะฉะนั้น ถ้ามองจากตอนนี้อาจดูเหมือนไม่มีความหวัง แล้วยากที่จะทำอะไรได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ ผมยังมีศรัทธาในมนุษย์ว่า คนจะเห็นความไม่มีประสิทธิภาพและลักษณะอำนาจนิยมของรัฐบาลรัฐประหารมากขึ้น และสัญญาต่างๆ ที่ให้ไว้ ในที่สุดเขาจะทำไม่ได้ เมื่อถึงจุดนั้น กลุ่มคนเล็กๆ นี้อาจจะมีความหมายขึ้นมาในทางการเมือง

 

 

คนในแวดวงวิชาการที่อเมริกาคิดยังไงกับการรัฐประหาร 19 กันยายน

ต้องเข้าใจก่อนว่า ในแง่ความสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศ ประเทศไทยไม่ได้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ขนาดที่จะทำให้ทุกคนสนใจ ถ้าเป็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียก็จะถูกจับตามากกว่าในฐานะที่เป็นประเทศมุสลิมขนาดใหญ่ แต่ว่าประเทศไทยไม่ได้มีฐานะขนาดนั้น กระทั่งอาจารย์จำนวนมากก็ไม่รู้จักประเทศไทยหรอก ก็คือประเทศไทยมีฐานะเป็นประเทศโลกที่สามประเทศหนึ่ง เขาก็คงสนใจในแง่ที่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในประเทศนี้ เหมือนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆ เขาก็รู้อยู่ห่างๆ ส่วนคนที่จะสนใจติดตามจริงจัง คือคนที่ศึกษาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ก็คือ นักวิชาการที่ทำเรื่องไทยศึกษา หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

 

ในบรรดานักวิชาการฝรั่งด้วยกัน ผมคิดว่ามีสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร กับกลุ่มที่เห็นว่าไม่มีทางอื่นแล้ว รัฐประหารเป็นทางออก แต่นั่นเป็นแค่ระยะแรกๆ นะครับ พอมาถึง ณ จุดนี้ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารและคิดว่ารัฐประหารไม่แก้ปัญหาอะไรและทำให้การเมืองไปถึงทางตันมีมากขึ้นแล้ว ก็คือกลับลำกันไปแล้วหลายราย

 

ส่วนในแวดวงนักศึกษาไทยที่อเมริกา เท่าที่ผมพูดคุยด้วย บอกได้ว่าคนที่คัดค้านรัฐประหารมีมากกว่าที่เราคิด เพียงแต่ว่าเขายังเป็นพลังเงียบอยู่ แล้วก็ไม่ได้มีช่องทางที่จะส่งเสียงออกมาได้

 

ผมคิดว่าการไม่ยอมรับรัฐประหารควรเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำของประเทศต่างๆ ในโลกนี้ที่อยู่แบบประชาธิปไตย

 

 

อยากให้วิพากษ์วาทกรรม "สมานฉันท์"

จริงๆ แล้ว สมานฉันท์ หรือ Reconciliation มันเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในระดับนานาชาติ มีกลุ่มองค์กรสากลที่พยายามผลักดันแนวคิดเรื่องนี้เกิดขึ้นเยอะแยะไปหมด โดยเริ่มมาจากความพยายามที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศอย่างรุนแรงระหว่างคนในชาติด้วยกันเอง เกิดเป็นสงครามกลางเมืองหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างคนในชาติ เช่น ในแอฟริกาใต้ ในอูกันดาในรวันดา ฯลฯ การที่ฝ่ายรัฐประหารนำเอาวาทกรรมนี้มาใช้กับสังคมไทยหลังการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลทักษิณนั้นผมว่าไม่ค่อยจะสอดคล้องเท่าไร ระดับความแตกแยกและความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นมันห่างไกลจากกรณีเหล่านั้นมาก แต่ถ้าใช้กับสถานการณ์ในภาคใต้อย่างเดียวผมว่าสอดคล้องกว่าและมีประโยชน์มากกว่า 

 

ถ้าจะให้วิพากษ์วาทกรรมสมานฉันท์ที่ฝ่ายรัฐประหารนำมาใช้นั้น ผมคิดว่าวาทกรรมสมานฉันท์ถูกนำมาใช้เป็นคาถาทางการเมืองที่เอาเข้าจริงแล้วมีเนื้อหาที่ค่อนข้างกลวงเปล่า คือใช้ในความหมายที่แทบจะไร้ความหมายและพูดกันจนพร่ำเพรื่อ เท่าที่ฟังดูสมานฉันท์แบบคมช. มันคือการบอกให้คนไทยปิดปากมากกว่า คือเป็นสมานฉันท์ในแบบไทยๆ ที่ว่า "อย่าพูดอะไรนะ ถ้าคุณเห็นต่างคุณก็อย่าพูด เงียบๆ แล้วก็อยู่กันไปแบบนี้ จะได้ไม่มีปัญหาทะเลาะขัดแย้งกัน ให้สามัคคีแล้วอยู่ๆ กันไป ไม่ต้องมีความเห็นต่าง"

 

จริงๆ แล้ว สมานฉันท์จะมีความหมายต่อผู้คนและสังคมที่มีความขัดแย้งแตกต่างกันอย่างรุนแรงก็ต่อเมื่อมีความจริงและความยุติธรรมดำเนินควบคู่ไปด้วย การขอโทษไม่เพียงพอ มันเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งของการสมานฉันท์เท่านั้น การสมานฉันท์ไม่ได้ทำงานโดยตัวมันเองลอยๆ และไม่ใช่ในลักษณะที่ว่า "ก็อยู่กันไปแบบนี้ อย่าเห็นต่างกันนะ ลืมๆ กันไป" การสมานฉันท์จริงๆ ทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีการพูดคุยถกเถียงกันอย่างเข้มข้นระหว่างคนที่มีความคิดเห็นและผลประโยชน์แตกต่างกัน นักวิชาการหลายคนจึงบอกว่าแท้จริงแล้วสมานฉันท์กับประชาธิปไตยเชิงสังสรรค์สนทนา (deliberative democracy) ก็คือเรื่องเดียวกัน

 

เอาเข้าจริง แนวคิดสมานฉันท์ถูกเสนอเข้ามาในฐานะที่จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนที่เคยทะเลาะกันแทบเป็นแทบตายสามารถยอมกลับมาอยู่ร่วมกันในสังคมการเมืองเดิมแล้วทะเลาะถกเถียงกันอย่างสันติได้อีกครั้ง ไม่ใช่ให้กลับมาเงียบแล้วอยู่กันไปอย่างนี้ คุณก็ไม่พูดกับผม ผมก็ไม่พูดกับคุณ แล้วเราก็ไม่ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันเลย คุณก็ยังโกรธเกลียดผมอยู่ ผมก็ยังโกรธเกลียดคุณอยู่ แต่มีอำนาจบางอย่างมาบอกให้เราเงียบๆ เอาไว้ แล้วเรียกสิ่งนี้ว่าสมานฉันท์ มันกลับจะยิ่งเป็นระเบิดเวลาที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้ในอนาคต

 

ฉะนั้น คลื่นใต้น้ำเป็นสิ่งที่รัฐบาลและ คมช. นี้สร้างขึ้นเอง เพราะคุณไม่เปิดโอกาสให้คนเคลื่อนไหวบนน้ำได้ การเคลื่อนไหวมันก็ต้องลงใต้น้ำเป็นธรรมชาติ ในสังคมที่มีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ เขาไม่ต้องกลัวคลื่นใต้น้ำหรอก เพราะทุกคนขึ้นมาสู้กันข้างบน เห็นหน้าเห็นตากันหมดว่าใครเป็นใคร ก็สู้กันไป ในสังคมที่ยิ่งปิดกั้นสิทธิเสรีภาพมากเท่าไหร่ คลื่นใต้น้ำจะยิ่งมีเยอะ แล้วสมานฉันท์แบบนี้ก็ยิ่งทำให้คลื่นใต้น้ำมีมากขึ้น เพราะคนกลัวที่จะออกมาทำอะไรบนดิน

 

ที่สำคัญ ถ้าไปดูประเทศทั้งหลายในโลกนี้ กระบวนการสมานฉันท์จะทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพ มันต้องมีประชาธิปไตยก่อน กระบวนการสมานฉันท์เกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งนำไปสู่การเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คนได้แสดงออกทางการเมืองอย่างเสรี การประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสมานฉันท์ ไม่เช่นนั้นคนจะกล้าพูดความจริงได้อย่างไร ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้นั้นตรงกันข้ามเลย คือเรียกร้องในสมานฉันท์ แต่ปิดพื้นที่ทางการเมืองไม่ให้แสดงออกได้ อย่างนี้มันคือกระบวนการปิดกั้นความเห็นต่างไม่ใช่การสมานฉันท์

 

นอกจากนั้นการสมานฉันท์ก็ต้องให้หลักประกันในเรื่องความยุติธรรมตามกฎหมายด้วย ไม่เช่นนั้นคนจะขาดความไว้เนื้อเชื่อใจในรัฐและไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ถ้าเขาคิดว่าเขาไม่สามารถได้รับความยุติธรรมจากการเป็นสมาชิกอยู่ในสังคมการเมืองนี้ เขาก็ย่อมไม่อยากจะอยู่ เพราะฉะนั้นความจริงกับความยุติธรรมต้องบังเกิดด้วย เช่นเดียวกับในจังหวัดชายแดนใต้ สมานฉันท์ไม่มีประโยชน์และไม่มีความหมายอะไรสำหรับคนในจังหวัดชายแดนใต้ถ้าไม่มีความจริงกับความยุติธรรม ถ้าไม่มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและไม่มีการเปิดเผยความจริงหรือการยอมรับความจริงจากรัฐ

 

ต่อสถานการณ์การเมืองโดยทั่วไป ถ้าต้องการสมานฉันท์จริง เราต้องพยายามเปิดรับความคิดเห็นและยอมให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างเข้มข้น คนที่เคยโกรธเกลียดกันยอมมาอยู่ร่วมกันได้ในสังคมการเมืองมันต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กลับคืนมา ขณะนี้ความไว้เนื้อเชื่อใจมันถูกทำลายไป สายสัมพันธ์ต่างๆ พังลงไป เพื่อนทะเลาะกับเพื่อน วงการต่างๆ ก็แตกแยกกัน แล้วเราจะสมานฉันท์ได้อย่างไรโดยไม่มีการพูดจา ไม่มีการหันหน้ามาถกเถียงกันอย่างสันติ

 

สมานฉันท์ในอีกความหมายหนึ่งจึงถูกเรียกว่า "ประชาธิปไตยที่มีการสนทนาถกเถียงกันอย่างเข้มข้น" การสมานฉันท์ไม่ใช่เรื่องของการปิดปากหรือการประนีประนอม แต่เป็นเรื่องของการที่เราพร้อมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของคนอื่นอย่างตั้งใจฟัง พร้อมที่จะเรียนรู้จากเขา แม้จะไม่เห็นด้วยก็ต้องมีความอดทนที่จะไม่เอะอะ ไม่ลุกขึ้นไปตีหัวเขาเสียก่อน

 

สิ่งที่ คมช. และรัฐบาลทำมาหลายอย่างขัดกับแนวทางสมานฉันท์โดยสิ้นเชิง เช่น การปิดพื้นที่ทางการเมือง ปิดพื้นที่ข้อมูลข่าวสาร ผมคิดว่า คมช. ทำผิดอย่างยิ่งที่ไปห้ามนักการเมืองเคลื่อนไหว เขามีสิทธิของเขาในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามช่องทางปกติอย่างสุจริต ถ้าไม่ได้ไปก่อความวุ่นวาย ทำไมพรรคการเมืองจัดกิจกรรมไม่ได้ ถ้าคุณอ้างตัวเองว่าเป็นรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย คุณไปห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมหมายความว่าอย่างไร คุณไปห้ามประชาชนแสดงออกางการเมือง นี่หมายความว่าอย่างไร อย่างนี้มันไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว กระทั่งคุณทักษิณ แม้คุณจะเกลียดเขาแค่ไหน อย่างน้อยเขาก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง คุณไม่มีสิทธิไปปิดปากเขา 

 

ตอนนี้กลายเป็นว่าเราผลักคุณทักษิณออกไป แล้วโยนความผิดบาปชั่วช้าสามานย์ที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในเวลา 5-6 ปี ที่ผ่านมาให้กับคุณทักษิณทั้งหมด ความชั่ว ความเลว วิกฤตที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทย ตกอยู่กับคุณทักษิณคนเดียว ราวกับว่าถ้าไม่มีคนที่ชื่อทักษิณสักคนหนึ่งแล้วสังคมไทยคงไม่วิบัติอย่างที่มันเป็น ผมคิดว่าแบบนี้มันทำให้สังคมไทยขาดการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง ตอนนี้เหมือนเราปัดความรับผิดชอบ ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไรเลย สังคมก็ไม่ต้องรับผิดชอบ พรรคการเมืองอื่นก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ความเลวทั้งหมดอยู่ที่ตัวคุณทักษิณเท่านั้น

 

ถ้าคิดอย่างนี้จริงๆ แล้วสังคมไทยไม่ต้องการการสมานฉันท์หรอกครับ มีแต่ต้องกวาดล้างคุณทักษิณและคนที่เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณให้สิ้นซาก เพราะการสมานฉันท์หมายถึงการยอมรับตั้งแต่ต้นว่าในความแตกแยกขัดแย้งจนนำไปสู่วิกฤตนั้นแต่ละฝ่ายในสังคมเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาไม่มากก็น้อย ไม่มีใครบริสุทธิ์ผุดผ่องหรือชั่วช้าสามานย์จนหาความดีไม่ได้ คู่ขัดแย้งจึงต้องกลับมาคุยกันถกเถียงร่วมกันเพื่อแสวงหาความจริงและความยุติธรรมที่จะทำให้สังคมพ้นไปจากวงจรของวิกฤต

 

หากเราหันกลับไปไตร่ตรองปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในรอบ 5-6 ปี ที่ผ่านมาอย่างจริงจัง เราก็จะพบว่า ลำพังคุณทักษิณไม่สามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้หรอกครับ ทำไมนโยบายฆ่าตัดตอนถึงเกิดขึ้นได้ หรือนโยบายภาคใต้ที่ผิดทิศทางขนาดนั้น มันเกิดขึ้นได้เพราะคนจำนวนมากในสังคมไทยสนับสนุน โพลออกมาตลอดเวลาว่าประชาชนเห็นด้วยกับการจัดการปัญหาด้วยความเด็ดขาดรุนแรงทั้งเรื่องยาเสพติดและเรื่องภาคใต้ รวมทั้งสื่อมวลชนเองส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คัดค้านหรือวิพากษ์วิจารณ์เลย แถมอุ้มชูสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลทักษิณด้วยซ้ำ

 

ถ้าคุณบอกว่าคุณทักษิณมือเปื้อนเลือด สังคมไทยเองก็มือเปื้อนเลือดด้วย คนจำนวนมากในสังคมไทยที่เคยสนับสนุนคุณทักษิณโดยทางตรงหรือทางอ้อมผ่านนโยบายเหล่านี้ ก็มือเปื้อนเลือดด้วยและทำให้นโยบายเหล่านั้นมันดำเนินสืบเนื่องไปได้

 

การคอรัปชั่นต่างๆ เกิดขึ้นได้ก็เพราะองค์กรตรวจสอบต่างๆ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ในระหว่างที่คุณทักษิณยังเรืองอำนาจอยู่ใช่หรือไม่ ข้าราชการจำนวนหนึ่งก็ไม่ทำหน้าที่ของตน ระบบตรวจสอบก็ไม่ทำงาน  ยอมสยบต่อผู้มีอำนาจ แล้วตอนนี้ก็หันมาสยบยอมต่อ คมช. แทน คุณเองจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ต้องรับผิดชอบต่อการที่คุณทักษิณเถลิงอำนาจได้อย่างนั้นด้วย

 

ถ้าพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย ผมคิดว่าเราพูดได้ว่าทั้งรัฐบาลทักษิณและคมช. งอกมาจากเนื้อดินเดียวกัน คือเนื้อดินอำนาจนิยมของสังคมไทย แน่นอนว่านักการเมืองไม่ว่าใครก็ตามก็ฝันอยากมีอำนาจล้นฟ้าแบบคุณทักษิณทั้งนั้น แต่เขาทำได้ไหมถ้าระบบตรวจสอบเข้มแข็ง แล้วองค์กร ข้าราชการต่างๆ ทำงาน ประชาสังคมทำงาน สื่อทำงานของตนอย่างแข็งขัน เขาก็ไม่มีทางทำได้ คนจำนวนมากในสังคมไทยหรือชนชั้นนำในสังคมไทยจำนวนหนึ่งรู้เห็นเป็นใจให้คุณทักษิณ อุ้มชูคุณทักษิณตั้งแต่ต้น แล้วปล่อยให้คุณทักษิณใช้อำนาจขนาดนั้นได้ ฉะนั้น การที่จะไปโทษคุณทักษิณ สังคมไทยต้องวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองด้วย เรากล้าไหมที่จะเปิดแผลตัวเอง

 

หากยังจำกันได้ สังคมไทยอุ้มคุณทักษิณมาตั้งแต่ต้น ตั้งแค่คดีซุกหุ้น กลับไปดูว่าใครอุ้มคุณทักษิณมาบ้างในช่วงนั้น ซึ่งนั่นเป็นการทำให้ระบบตรวจสอบไม่ทำงาน คุณทักษิณหลุดรอดมาได้ ก็ยิ่งเหลิงอำนาจ ขนาดหลักฐานชัดแจ้งทุกอย่างมัดตัวขนาดนั้นเขายังหลุดรอดออกมาได้ ที่เหลือเขาก็สบายแล้ว เพราะมีปัญญาชนอาวุโส สื่อมวลชน ชนชั้นนำออกมาสนับสนุนขนาดนั้น

 

ความเลวร้ายของรัฐบาลทักษิณหรืออาชญากรรมรัฐที่คุณทักษิณก่อขึ้นเป็นไปไม่ได้ถ้าสังคมไทยเข้มแข็ง และสังคมไทยไม่ปิดหูปิดตา ไม่สยบยอมต่อผู้มีอำนาจ

 

เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงจุดนี้ ผมว่ามันน่าเศร้าที่กลายเป็นว่า นโยบายและการกระทำอันเลวร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นนี้แทบไม่มีใครที่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย แค่กำจัดคนออกไปคนหนึ่งสังคมไทยก็กลายเป็นสังคมของคนดี เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้ที่ทำรัฐประหารก็ถูกยกย่องให้เป็นคนดีมีจริยธรรม แต่อย่าลืมว่าคนดีที่ไม่ถูกกำกับตรวจสอบนี่แสนจะอันตรายนะครับ ในนามของความดี มนุษยชาติได้ทำสิ่งเลวร้ายไว้ให้เห็นแล้วมากมายในประวัติศาสตร์

 

นี่คือสิ่งที่ผมอยากฝากเอาไว้ บทเรียนที่เราได้จากวิกฤตทางการเมืองครั้งนี้ ความเลวร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะลำพังเรามีนายกฯ ที่ชื่อทักษิณหรอก แต่เพราะสังคมไทยอ่อนแออย่างมากต่างหากที่ทำให้เรามีรัฐบาลประชาธิปไตยที่ฆ่าคนอย่างรัฐบาลทักษิณได้ แล้วก็ทำให้เรามี คมช. ปกครองประเทศอยู่ ณ ตอนนี้



 

เอกสารประกอบ

ฉบับPDF : ประจักษ์ ตอน 1 สังคมไทยแบบไหนที่เราต้องการ คำถามก่อนปฏิรูปการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท