Skip to main content
sharethis

ถึงแม้ "โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย" ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จะแล้วเสร็จไปนานแล้ว


 


ทว่า เสียงคัดค้านจาก "เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่องมาตลอด" ยังคงดังไม่หยุดหย่อน


 


ประเด็นที่ทางเครือข่ายฯ นำมาเคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้ คือ กรณีที่ดินวะกัฟ อันเป็นที่ดิน ที่มีผู้บริจาคให้ใช้เป็นทางสาธารณะ ที่ถูก "รัฐบาล พ.ต.ทักษิณ ชินวัตร" ออกพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์ นำไปยกให้ "บริษัท ทรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด" ใช้ก่อสร้างโรงแยกก๊าซ


 


ทำไมที่ดินวะกัฟ ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรในอดีต จึงสำคัญจนมุสลิมกลุ่มนี้ ต้องออกมาเคลื่อนไหวชนิดต่อเนื่องยาวนาน ตลอดหลายปีมานี้


 


คำตอบอยู่ที่ทายาทผู้วะกัฟที่ดิน นายงอย มะเด นางรอกีเยาะ มะเด พร้อมกับพยาน นายรอหีม สะอุ โต๊ะอิหม่ามบ้านตลิ่งชัน ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ และนายสุไลมาน หมัดยูโส๊ะ แกนนำเครือข่ายฯ


 


..................................................................................


 


 








     

งอย มะเด 

 

ความเป็นมาของที่ดินวะกัฟตรงนั้นเป็นอย่างไร


งอย มะเด - พ่อบอกว่าโต๊ะชาย หมายถึงปู่ของผม ชื่อโต๊ะนิมะ เขาวะกัฟไว้แล้ว ใครจะปิดกั้นเส้นทางนั้นไม่ได้


 


ผมไม่ได้พบกับปู่ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตัวจริง แต่พ่อผมนายนิโหม่ง เป็นลูกของโต๊ะนิมะ เจ้าของที่ดินที่วากัฟ วันที่พ่อผมเล่าให้ฟังก็มีโต๊ะอิหม่ามหีม (รอหีม สะอุ) หรือที่เราเรียกว่าวะหีมนั่งฟังอยู่ด้วย


 









      


รอหีม สะอุ

  

รอหีม สะอุ - ตอนเริ่มทำทางก็มีคนมาถามผม ผมอธิบายว่าพ่อของนายงอยมีที่ดินอยู่ตรงนั้น ตอนที่แกยังสบายดี แกไม่อยากให้ปิดทางตรงที่ดินของแก เพราะเจ้าของวะกัฟไว้แล้ว


 


งอย - พ่อผมเสียไป 2 ปีแล้ว ตรงนี้เป็นเส้นทางเฉพาะ ในที่ดินของโต๊ะนิมะที่เขาวะกัฟแล้ว คนอื่นมาก้าวก่ายไม่ได้


 


รอหีม - เมื่อก่อนเจ้าของเขายกเป็นคันนา คนอื่นเขาคิดว่าเป็นทางสาธารณะ ทางสาธารณะสายนี้เชื่อมต่อมาจากบ้านสะกอม แล้วเลยไปถึงบ้านนาทับ ที่ดินที่เจ้าของเดิมวะกัฟไว้มีหลายเจ้า แต่ที่ดินที่สามารถยืนยันชัดคือของโต๊ะนิมะ ส่วนที่ตรงอื่นที่เป็นที่สาธารณะเดิม ก็เป็นที่วะกัฟเหมือนกัน


 








       

รอกียะ มะเด


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


รอกีเยาะ มะเด - ที่วะกัฟของจูงอย (นายงอย มะเด) เป็นที่ดินของแกเอง หมายถึงนำที่ดินของ


แกเองมาวะกัฟ


 


งอย - เป็นที่ดินที่ถัดลงมาจากของโต๊ะนิมะ 2 แปลง ผมวะกัฟให้ไปกว้างประมาณสองศอก ตอนจะทำโฉนดประมาณปี 2538 ตอนนั้นผมจะปักหลักที่คันนา เจ้าหน้าที่ไม่ให้ปักบอกว่าจะทำทางสาธารณะ ต้องขยับลงไปทิศใต้เข้ามาในที่ดินผม ผมก็วะกัฟให้ เพื่อให้ทางมันกว้างขึ้นอีก ผมวะกัฟเองเลย


 


ไม่ได้วะกัฟทั้งสาย


รอหีม—เมื่อก่อนเป็นทางวะกัฟทั้งหมด ต่อมาลูกหลานเจ้าของที่ดินไม่รู้ บอกว่าไม่ได้วะกัฟ ถ้าวะกัฟตามหลักศาสนามันขายไม่ได้ แต่ก็มีคนที่ขายเพราะไม่รู้เรื่อง ตอนที่มีการวะกัฟกัน ก็คือ ตอนที่มีการทำทาง เขาบอกว่าถ้าทำทางสาธารณะอย่างน้อยต้องกว้าง 4 เมตร แต่ทางเดิมมันแคบเจ้าของที่ดินก็เลยวะกัฟให้ ประมาณสองศอกหรือเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ที่จริง ก็คือ ที่ดินวะกัฟ แต่ทางราชการเขาเรียกสาธารณะ เพื่อจะได้ระบุในโฉนดได้


 


รวมพื้นที่วะกัฟทั้ง 4 เส้นทางกี่ไร่


สุไลมาน หมัดยูโส๊ะ - ทางราชการเข้าไปรังวัดได้ 6 ไร่ แต่เราไปรังวัดเองได้ประมาณ 10 กว่าไร่


 


งอย - เขาว่าถ้าไม่เกิน 6 ไร่ ก็ไม่ต้องเอาเข้าพิจารณาในสภา


 


รอหีม - คำว่าที่ดินสาธารณะ ทางการเป็นคนตั้ง แต่เดิม คือ ที่ดินของเราแท้ๆ ทำกินอยู่นานแล้ว หลังจากเราวะกัฟนั่นแหละ เขาจึงทำเป็นทางสาธารณะ


 


คำว่าที่ดินวะกัฟในความเข้าใจของตัวเองเป็นอย่างไร


 


งอย - คำว่าวะกัฟ ถ้าเราวะกัฟแล้ว ก็จะไม่เอากลับคืนมาแล้ว จะขายก็ขายไม่ได้ เรามอบให้อัลเลาะห์แล้ว อยู่ที่อัลเลาะห์แล้ว เราเอาบุญอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่วะกัฟแล้วเอากลับคืน มันไม่ได้ คนอื่นก็เอาไปไม่ได้


 


รอหีม - ตามหลักการศาสนาแล้ว ถ้าเราวะกัฟเพื่อทำสิ่งที่ใหญ่ๆ แล้ว จะกลับมาทำของเล็กๆ ไม่ได้ เช่น ถ้าหากเราวะกัฟทำบาลาเซาะห์ (สถานที่ละหมาดขนาดเล็ก) หลังจากนั้น เรารื้อเพื่อสร้างมัสยิดอย่างนั้นได้ แต่ถ้ารื้อมัสยิดเพื่อไปทำบาลาเซาะห์ไม่ได้


 


สมมุติมีคนวะกัฟที่ดินสร้างมัสยิด แล้วเราขายที่ดินนั้น เพื่อเอาเงินมาสร้างมัสยิดใหม่ได้หรือไม่


 


รอหีม - ไม่ได้ วะกัฟไปแล้วจะขายไม่ได้ เพราะไม่ใช่ของที่อยู่ในครอบครองของเราแล้ว ยกเว้นวะกัฟมีเละ เช่น ขณะที่เราวะกัฟที่ดินแปลงหนึ่ง เพื่อทำที่สอนหนังสือเด็ก เราก็พูดต่อไปเลยว่า ถ้าฉันได้ลูกเมื่อไหร่ ฉันเอาคืน อย่างนั้นได้ เมื่อได้ลูกขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องเอากลับคืนมา


 


หรืออย่างกรณีวะกัฟที่ดินสร้างโรงเรียน ขณะวะกัฟเราพูดว่า ถ้าโรงเรียนนี้พังเมื่อไหร่จะเอาคืน ถ้าจะวะกัฟอย่างนี้เราต้องพูดทันที จะไปพูดทีหลังไม่ได้ นั่นคือ วะกัฟที่มีข้อแม้


 


งอย - อีกวะกัฟหนึ่ง คือ วะกัฟญารียะห์ คือ วะกัฟถาวร เช่น วะกัฟทำถนน ซึ่งเป็นการวะกัฟถาวร ใครจะเอาคืนไม่ได้ เปลี่ยนเจ้าของก็ไม่ได้ เหมือนกับเราอุทิศถาวรนั่นเอง


 


ในทางศาสนาต้องทำอย่างไร ถึงจะใช้เป็นหลักฐานได้


 


รอหีม - สมัยก่อนไม่มีลายลักษณ์อักษร ถ้าหากจะเอาความชัดเจนก็ต้องมีผู้ชาย 2 คน ยืนยันเป็นพยาน การแต่งงานก็เหมือนกันต้องมีพยานสองคน ถ้าหากเป็นผู้หญิงต้อง 4 คน และพยานนั้นก็ต้องดูนิสัยด้วยว่า เป็นคนชอบโกหก (ปาซิก) หรือไม่ ถ้าเป็นคนปาซิกจะเอาเป็นพยานไม่ได้ คนที่ไม่ละหมาดครบ 5 เวลาก็ไม่ได้


 


พยานต้องเป็นผู้รู้ในสิ่งที่เจ้าของที่ดินบอกให้ฟัง ถ้าเป็นประเภท "คาดว่า เขาน่าจะพูดแบบนี้" อย่างนั้นไม่ได้ เรียกว่า คอบาร์ มูตาวาตีรฺ หมายความว่า ผมเป็นโต๊ะอิหม่าม แล้วบอกกับนายงอย คนรุ่นหลังฟังจากนายงอยอีกครั้งหนึ่ง คนที่ฟังมาอีกทอด ต้องไม่ใช่คนปาซิก สมมุติว่า ที่ดินแปลงนี้เจ้าของเขาวะกัฟไว้แล้ว แล้วก็มีการบอกต่อๆ กันมา นั่นคือ คอบาร์มูตาวาตีรฺ หรือ คำบอกที่ไม่ขาดสายนั่นเอง


 


ตอนที่เราจะขึ้นไปหาจุฬาราชมนตรี เพื่อถามว่าเหตุใดจึงมีคำวินิจฉัยว่าไม่มีหลักฐานเป็นที่ดินวะกัฟ ทั้งที่มีคนยืนยันชัดเจน เราได้ไปปรึกษานักวิชาการที่ปัตตานีคนหนึ่ง เราเล่าเรื่องให้เขาฟังทั้งหมด เขาบอกการเปลี่ยนแปลงที่ดินวะกัฟทำไม่ได้ คำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรีจึงใช้ไม่ได้ ทั้ง 4 มัซฮับ (สำนักคิดหลักๆ ในศาสนาอิสลาม) คนไทยส่วนใหญ่ ถือมัซฮับชาฟีอีย์ ก็ไม่ยอมรับเรื่องนี้ ยกเว้นของวาฮาบี


 


วาฮาบีบอกว่า มีสองอย่างที่เปลี่ยนแปลง ได้ คือ มัสยิดริมน้ำ เช่น ทะเล มีความเสี่ยงที่จะถูกคลื่นแรง อีกอย่างหนึ่ง คือ ม้า สมมุติเราซื้อม้ามาตัวหนึ่งแล้ววะกัฟให้ทำศึก ผ่านไป 5 ปี ม้าตัวนั้นก็แก่ลงไปทำศึกต่อไม่ได้ เราก็ขายม้าตัวนั้นไป เพื่อซื้อม้าตัวอื่น คนที่บอกว่าเรื่องนี้ทำได้ อยู่ในกลุ่มวาฮาบี คือ อิบนุลตัยมิยะห์


 


แล้วเขาก็มาเทียบกับกับการซื้อขายที่ดินวะกัฟ เพื่อสร้างมัสยิด เขายกตัวอย่างว่า เขาเห็นมัสยิดหลังหนึ่งเก่ามากแล้ว คิดว่าขายไปดีกว่า สร้างมัสยิดใหม่ได้ ขณะที่อีก 4 มัซฮับไม่ยอม


 


ตอนเราไปพบนักวิชาการคนนั้น เขาให้ตำรามาให้ด้วย ให้เราอ่านก็พบว่า มีอิบนุลตัยมิยะห์ คนเดียวเท่านั้นที่ตีความได้อย่างนั้น แล้วเราจะเชื่อถือได้หรือไม่ ในเมื่อมีคนเดียวเท่านั้น ที่บอกว่าทำอย่างนั้นได้


 


เราเอาตำราเล่มนั้น จะไปถามจุฬาราชมนตรีว่า ท่านยึดหลักของสำนักคิดนี้หรือที่บอกว่าทำได้ ที่ไปตัดสินอย่างนั้น อยากรู้ว่าใช้หลักการอะไร ใช้หลักการอย่างนี้หรือเปล่า ไม่ใช่ว่าจะไปถามว่าท่านมีความรู้หรือเปล่า เพราะอีก 4 มัซฮับ บอกว่าแลกเปลี่ยนที่ดินวะกัฟไม่ได้


 


จุฬาราชมนตรีว่าอย่างไรบ้าง


 


รอหีม - ไม่ได้พบกับจุฬาราชมนตรี เพราะเขาไม่ให้พบ ผมขึ้นไปสองหน หนแรกขึ้นไปชี้แจงกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังจากนั้น จึงไปขอพบจุฬาราชมนตรี หนที่สองที่ไปเขาก็ไม่ให้พบเหมือนกัน


 


สุไลมาน - เอาทายาทไปแล้วเขาก็ไม่ฟัง เรื่องนี้อยู่ที่จุฬาราชมนตรี


 


งอย - กฎหมายไทยเราก็ไม่ว่าอะไร แต่นี่เป็นกฎหมายอิสลามมันมาจากอัลเลาะห์ แต่กฎหมายไทย มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง ยุบสภาทีหนึ่งก็ร่างอันอื่นขึ้นมาอีก ส่วนของอัลเลาะห์มีมาแต่ดั้งเดิมแล้ว


 


จะเรียกร้องอย่างไรต่อ


 


รอหีม - เราเรียกร้องมาตั้งหลายปีแล้ว เขาไม่ตอบรับเลย การที่เราออกมาเรียกร้องให้แก้ไขเรื่องนี้ พระเจ้าไม่ลงโทษเราแล้ว เราทำจนหมดความสามารถของเราแล้ว


 


มีตอนหนึ่งที่เราคิดหนัก คือ ตอนที่นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ลงมาตรวจสอบ และจุฬาราชมนตรีส่งคนมาด้วย แล้วจุฬาราชมนตรีก็ตัดสินไปอย่างนั้น พอเราขึ้นไปจะขอพบ เขาก็ไม่ให้พบ ทายาทขึ้นไปก็ไม่ให้พบ ข้อมูลยังไม่ชัดเจน ก็ไปตัดสินแล้ว


 


ตามหลักจริงๆ แล้ว มีทั้งจุฬาราชมนตรี มีทั้งประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด แล้วก็มีกรรมการพิจารณาอีก 12 คน ตอนที่กรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาจะส่งเรื่องไป ต้องให้กรรมการทั้ง 12 คน กลั่นกรองเสียก่อน ก่อนจะถึงจุฬาราชมมนตรี ถ้าคนหวังพึ่งได้ ก่อนส่งไปเขาคงพิจารณากันหนักแล้ว


 


ตอนที่จุฬาราชมมนตรีส่งคนมาดูเรื่องที่ดินวะกัฟนั้น เขาส่งใครมา


 


รอหีม - ไม่ได้พบพวกเราซักหน่อย ก็ไม่รู้ว่าส่งใครมาแล้วก็ไม่รู้ว่าเขาไปพบกับใคร เขาบอกว่าเป็นเลขานุการจุฬาราชมนตรี ไม่ได้มาพบทายาทด้วย


 


งอย - ที่บอกว่าลงมานั้น มาพบใครบ้าง คนที่มาพบอายุเท่าไหร่ อยากรู้ว่าใคร ถ้าไปถามคนอายุน้อยๆ เราจะไปถามซ้ำอีกที


 


รอหีม - ทักษิณบอกว่าคนอยากได้เงิน ทำอย่างไรเขาก็อยากได้เงินอยู่แล้ว ให้ 300 บาท เขาก็เอา แต่ถ้าจะให้เรา ถึงจะได้เงินเท่าที่หาได้ตลอดชั่วอายุ เราก็ไม่เอา


 


จะไปถามสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาหรือไม่


 


รอกีเอยาะ - เราไปกันแล้ว เพื่อจะไปให้ข้อมูล นายงอยก็ไปด้วย วันนั้นมีคนบอกว่ากรรมการอิสลามไม่อยู่มีแต่ลูกน้อง


 


รอหีม - สำหรับนายอาศิส เราไปขอพบแล้ว 3 ครั้ง ตอนหลังเราพาเครื่องเสียงไปด้วย จะไปอธิบายเรื่องที่ดินวะกัฟ แม้แต่คนที่อยู่ใกล้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาที่ฟังด้วยหลายคน เขาก็ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรี เพราะเขาเห็นว่ายังมีคนยืนยันชัดเจน


 


ส่วนตอนที่จุฬาราชมนตรีส่งคนลงมา เราก็อยากจะรู้ว่ามีใครไปพบแล้วยืนยันว่าไม่ใช่ที่ดินวะกัฟ เราอยากรู้ว่าคนที่เขามาพบ อายุเท่าไหร่ เป็นใคร เป็นคนที่นี่หรือไม่ เป็นคนบ้านในไร่ ตำบลสะกอมหรือไม่


 


งอย - ในหมู่บ้านมีสองฝ่าย ถามว่าเขาไปถามใคร ถ้าไปถามฝ่ายสนับสนุน ถึงจะเป็นคนแก่ เขาก็บอกว่าไม่มี ตอนที่นายอาศิส มาที่นี่ เราไปคุยกันที่มัสยิด มีผู้ใหญ่บ้าน มีกำนันและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลอยู่ด้วย


 








        

สุไลมาน หมัดยูโส๊ะ


 


สุไลมาน - หลังจากนายอาศิสมาพบวะหีม จูงอยให้ปากคำกับอาศิสไว้แล้ว ทุกคนยืนยันว่าเป็นที่ดินวะกัฟ จากนั้นเราก็ไปขอเอกสารที่เขาสรุปไว้ แต่เขาไม่ให้ เขาบอกว่าส่งจุฬาราชมนตรีหมดแล้ว แต่พอไปหาที่จุฬาราชมนตรีก็ไม่มี ที่จริงมันต้องมีสำเนาเก็บไว้


 


รอหีม - คนที่เล่าเรื่องให้นายอาศิสฟังในช่วงที่มีปัญหามากๆ ก่อนที่จะสร้างโรงแยกก๊าซด้วยอีกคนหนึ่ง คือ โต๊ะยีตาหวัน เป็นโต๊ะอิหม่ามคนก่อน แกบอกว่า แกได้วานคนให้มาทำเส้นทางตรงนั้นให้เป็นทางวะกัฟ แล้วเอาไม้มาทำสะพานข้ามสายน้ำ ขอช่วยคนทั้งหมู่บ้านไปช่วยยกเสา คนนี้แหละเล่าให้อาศิสฟัง


 


พอนายอาศิสกลับไป จุฬาราชมนตรีก็ส่งคนมาอีกหรือ


 


สุไลมาน - ก็มีคนพูดกัน เราก็ไม่รู้ แต่ได้ยินข่าวว่าลงมาพบทายาทแล้ว


 


รอหีม - คำที่เขาวินิจฉัยออกมานั้น มันมีช่องโหว่ ที่บอกว่ามาแล้วไม่มีทายาท มันไม่ใช่ แล้วออกคำวินิจฉัยทันทีไม่ได้ ทำไมทำหลบๆ อย่างนั้น


 


สุไลมาน - สุดท้ายก็ออกมาว่าไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า เป็นที่ดินวากัฟ


 


รอหีม - ถ้าหากเป็นไปได้ เราอยากรู้ว่าใครที่บอกว่าไม่มีหลักฐานชัดเจน มาเอาหลักฐานจากใคร ใครเล่าให้ฟัง แล้วคนของจุฬาราชมนตรีที่ลงมา คือ ใคร


 


งอย - ถ้าไปสัมภาษณ์คนที่ให้ข้อมูลแล้ว แล้วทายาทที่มีอยู่อีกหลายคน เป็นหลานโต๊ะนิมะเจ้าของที่ดินวะกัฟเหมือนกับเรา ทำไมไม่มาพบ


 


รอกีเยอาะ - ถ้าชัดเจนที่สุด คือ จูงอย เพราะเขาเป็นทั้งทายาทและได้วะกัฟดินของตัวเองด้วย


 


สุไลมาน - ทายาทที่มีอยู่ชัดเจน ยังมีชีวิตอยู่ ก็มีจูงอย นางรอกีเยาะ นิเหง ด่าแม 3 - 4 คน


 


รอกีเยาะ - ทายาทที่มีเป็นคนแก่ๆ แล้วทั้งนั้น แต่เขารู้เรื่อง ถ้าไปถามเขาจะบอกได้ชัดเจน


 


รอหีม - ถ้าคนต้องการพิสูจน์จริงๆ เขาต้องระมัดระวัง เขาต้องมาถามว่าใครเป็นคนวะกัฟ แต่ทายาทรุ่นหลังบางคนไม่รู้เรื่องก็มี เพราะเขาไม่ได้ถาม เขาก็จะบอกว่า ไม่ได้ยินใครบอกว่าเป็นดินวะกัฟ


 


จริงๆ แล้วที่ดินวะกัฟอาจจะมากกว่านี้


 


รอหีม - ใช่


 


รอกีเยาะ - ก็มีคนถามเราว่ารู้ได้อย่างไร เพราะเราเป็นคนรุ่นหลัง บังเอิญแม่เราเขาไปทำนาตรงนั้น แล้วก็ปลูกต้นยาร่วง (มะม่วงหิมพานต์) เต็มไปหมด ปลูกไปๆ เราก็ถามว่าทำไมไม่ปลูกให้สุดที่ดินตรงนั้น แกบอกว่าปลูกไม่ได้ ที่ตรงนั้นเป็นทาง โต๊ะชายเขาเป็นคนอิม่าน (ศรัทธาในศาสนา) เขาวะกัฟให้พี่น้องได้เดิน


 


เราถามต่อว่า กว้างหรือไม่ แกบอกว่าควายเดินสวนไปมาได้ อย่าไปปิดกั้นทาง เราไม่รู้ เราจะไปปลูกต้นยาร่วงปิดทางให้เต็ม เราไม่รู้ ทั้งที่วัวเดินทางนั้น คนเดินทางนั้น เราก็เดินทางนั้นเหมือนกัน


 


เราถามต่อว่าใครล่ะโต๊ะนิมะ คนที่ไหน แม่บอกว่าเป็นโต๊ะชายมึง เขาหนีมาจากจะนะในช่วงสร้างทางรถไฟ เขามาบุกเบิกที่นี่ แล้วแม่เราชื่อนางนิแล เป็นลูกของนายนิหวัง แม่เป็นเจ้าของที่ดิน บังเอิญที่ดินวะกัฟอยู่ติดกับที่ดินของแม่


 


พอโครงการโรงแยกก๊าซฯ เข้ามา เขาอ้างว่าที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ทางบริษัท ทรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด มาทำรั้วล้อมไว้ ที่เขาอ้างอย่างนั้น เพราะเขาจะเอาที่ดินวะกัฟตรงนั้น แลกกับที่ดินแปลงอื่น บังเอิญพวกเรารู้ว่าที่ดินเขาวะกัฟแล้ว เอากลับไม่ได้ เปลี่ยนไม่ได้ เราไม่เอาเส้นทางอื่น เราจะเอาเส้นทางเดิมของเรา ถ้าเขาไม่สร้างโครงการนี้ขึ้นมา ก็อยู่เหมือนเดิม พี่น้องก็ทำมาหากินเหมือนเดิม ที่เราไม่ได้ใช้เพราะเขาปิด วันนี้เราจะใช้แต่เขาปิด เขาทำรั้วกั้นไว้


 


งอย - ผมเคยถามพ่อว่าทางนี้ปิดได้หรือไม่ พ่อบอกว่า ทางนี้ปิดไม่ได้เพราะว่าเขาวะกัฟแล้ว


 


รอหีม - ถ้าเราไม่ปิดทางเราไม่ผิด เขาเดินผ่านก็ไม่ผิด แต่ถ้าเราไม่ให้เขาเดินผ่านเราก็ผิด เพราะฉะนั้น อย่าไปปิดทางของเขา ต้องให้คนอื่นเดินผ่าน ทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์


 


งอย - ทางเดินไปที่นา จะทำถนนลาดยางเหมือนทางไปอำเภอจะนะคงเป็นไปไม่ได้ เวลาเขาไปธุระหรือไปทำมาหากินเขาก็ผ่านทางนั้น เช่น ไปปลูกแตงโม ปลูกยาสูบ ก็ไปทางนั้นตลอดปี แต่จะทำเหมือนทางไปที่ท่องเที่ยวก็คงเป็นไปไม่ได้ มันไม่เข้าใจตรงนี้ ถึงได้บอกว่าพวกเราไม่ได้ใช้ประโยชน์


 


รอกีเยาะ - คนบ้านสะกอมก็ใช้ทางสายนั้นเหมือนกัน เรายังจำได้ เขาไปหาต้นจูด เรายังเห็นภาพ เรายังจำได้ที่แม่เล่าให้ฟังว่าคนแก่เจ้าของที่ดินคนหนึ่ง พอเขาจะเปลี่ยนสภาพทางให้กว้างขึ้น เขาก็วะกัฟให้เพิ่ม พอมีการออกเอกสารสิทธิ์ เขาก็เขียนว่าทางสาธารณประโยชน์ ตามหลักกฎหมาย ไม่รู้จะใส่คำว่าวะกัฟตรงไหน แต่เดิมๆ ก็เป็นทางวะกัฟ คนแก่ๆ เขาวะกัฟให้ทั้งนั้น เขาไม่รู้หรอกว่า ที่ดินแบบนี้เป็นสาธารณประโยชน์ เขาไม่เข้าใจ คนสมัยก่อนเขาไม่ได้เรียนหนังสือ


 


ตอนหลังมีหลายคนมาถามว่าทำไมถึงรู้ ก็ตอบว่าพ่อแม่เล่าให้ฟัง เพราะเราขยันถามเรื่องเก่าๆ เมื่อรู้แล้วเราก็ต้องออกมายืนยัน เรารู้แล้วจะอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ เขาวะกัฟแล้วใครจะมาเอา เราก็ต้องไปบอกให้คนรู้ว่าที่ดินนี้เอาไปไม่ได้ เจ้าของเดิมเขาวะกัฟให้แล้ว ถ้าเรารู้แล้วเราไม่บอก เราไม่ห้ามเขา เราก็ผิดอีก ผิดกับหลักการศาสนา เราต้องไปตอบกับอัลเลาะห์ว่า ทำไม่เราถึงไม่บอก ศาสนาเราถ้ารู้ว่าผิดก็ต้องบอก เพราะคนอื่นไม่รู้ เป็นความรับผิดชอบของมุสลิมทุกคน


 


งอย - ถ้าเรารู้แล้วเราไม่บอก บาปจะตกที่เราเอง


 


รอหีม - ใครจะทำอะไร บนที่ดินแปลงนั้นไม่ได้ ต้องหลีกไปทำที่อื่น ที่วะกัฟตรงนั้นก็ตั้งไว้เฉยๆ ไม่ต้องไปทำอะไรเพราะเป็นของวะกัฟแล้ว


 


งอย - แต่ถ้าเข้ามาเดิน มาใช้ประโยชน์ตามที่เจ้าของที่ดินเดิมต้องการ เขาก็ได้บุญอีกด้วย


 


รอกีเยาะ - หรือว่าจะให้สร้างมัสยิดก็ได้ ถ้าเห็นว่าที่ดินนี้ว่างอยู่ คือ ทำของที่สูงที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม


 


งอย - ถ้าใช้ที่ตรงนั้นสอนหนังสือเด็ก ก็ได้บุญด้วยเหมือนกัน ทำในเรื่องทางศาสนา


 


รอหีม - มีโอกาสอีกหรือไม่ที่กรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือจุฬาราชมนตรีจะมาพูดคุยกับเราในเรื่องนี้ ก่อนที่จุฬาราชมนตรีจะตาย ตอนนี้เรามีพยานและมีเจ้าของชัดเจน หวังว่าจะได้พบกับจุฬาราชมนตรีซักครั้ง ขณะที่พยานพวกนี้ยังไม่ตาย ดูว่าเขาจะว่าอย่างไร เราอยากเอาคำพูดของเราที่มีพยานเรียบร้อยไปบอก และถามจุฬาราชมนตรีว่า เอาใครไปเป็นพยานเรื่องที่ดินผืนนี้ อยากรู้ว่าคนที่ให้การอย่างนี้กับจุฬาราชมนตรีคือใคร


 


รอกีเยาะ - เขาไปออกพระราชกฤษฎีการยกเลิกที่ดินสาธารณะในที่ดินวะกัฟ มันทำไม่ได้ เราก็ค้านจุฬาราชมนตรีไปแล้ว ถ้าจุฬาราชมนตรีแน่จริง ก็ให้เราพบซิ ทายาทก็ยังอยู่


 


รอหีม - เรามีหลักฐานทั้งที่เป็นภาพ ทั้งวีดิโอ ทั้งคน ชัดเจน พูดง่ายๆ ว่า ให้ได้พูดความจริงกันซักที จะให้เขาเชิญเราไปก็ได้


 


งอย - ถ้าเกิดจุฬาราชมนตรีบอกว่า ผมรู้แล้ว แล้วจะทำอะไรได้ ก็เขาเอาที่ดินไปทำโครงการเสร็จแล้ว


 


สุไลมาน - ก็ไม่เป็นไรขอให้ได้พบกันก่อน ให้ได้รู้ความจริงว่าเป็นที่ดินวะกัฟจริง เราได้บอกเขาไปแล้วก็ถือว่าเสร็จหน้าที่เรา เรื่องนี้เราไปหลายครั้งแล้ว ยังไม่ได้พบกับจุฬาราชมนตรีซักที


 


แล้วคิดอย่างไรกับการออกพระรากฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินสาธารณะตรงนั้น


 


งอย - เป็นการหาหนทางใช้ประโยชน์ คือ ถอนจากความเป็นสาธารณะ เพื่อให้คนเอาไปใช้ประโยชน์


 


สุไลมาน - แต่นี่เป็นดินวะกัฟ คุณจะยกให้เป็นของส่วนตัวใครไม่ได้ นั่นเป็นการเหยียบย่ำกฎของศาสนา (ฮูก่ม)


 


รอหีม - ถ้าจะออกพระราชกฤษฎีกาต้องให้รับรู้กันก่อน ถ้าอย่างนั้นเป็นการลบล้างศาสนา


 


คิดอย่างไรกับการออกพระราชกฤษฎีกา หลังจากบริษัท ทรานส์ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด เข้าไปใช้ประโยชน์อยู่ก่อนแล้ว


 


งอย - ถ้าคนนับถือศาสนาพุทธ ผมไม่รู้ แต่ถ้าคนอิสลามใครไปเซ็นตรงนั้น เขาไม่เผากันแล้ว เอาคนพวกนั้นใส่ไว้ในโอ่ง แล้วเผาโอ่งแทน


 


รอหีม - พูดง่ายๆ เช่นที่ดินป่าช้าของอิสลามภาคใต้เรา ใครจะเอาป่าช้าไปทำอย่างอื่น เขาจะไม่ให้ จะเอาไปได้อย่างไร ถ้าเป็นที่ดินกูโบร์ฝังศพเต็มแล้ว ก็เอาดินมาถมแล้วฝังศพใหม่อีกก็ได้ ถ้าออกพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ เขาไม่ยอมแน่ จะให้เอาศพไปทิ้งทะเลหรือ ของที่วะกัฟแล้วจะไปยกเลิกไม่ได้


 


รอกีเยาะ - เช่นเดียวกับกรณีบ้านครัว ในกรุงเทพฯ ที่จะมีการสร้างทางด่วนบนที่กูโบร์ ชาวบ้านเขาก็ไม่ยอม


 


รอหีม - เพราะอย่างนี้แหละ เราถึงต้องออกมาปกป้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net