Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


"การทำให้ใครสักคนสูญหายไปนั้น เป็นความโหดร้ายไร้น้ำใจอย่างที่สุดรูปแบบหนึ่งของมนุษยชาติ แม้ว่าคนผู้นั้นจะเลวร้ายเพียงใด เขาก็ควรมีโอกาสที่จะได้กล่าวลาคนที่เขารัก รวมทั้งสังคมที่เขาได้ใช้ชีวิต แต่ยิ่งไปกว่านั้น หากการอุ้มหายเกิดกับผู้ที่มีคุณูปการ มีคุณค่า ความโหดร้ายรุนแรงก็หนักหนายิ่งขึ้น"


 


-บางส่วนของคำนำในหนังสือ "ไปต่อเองนะ" เส้นทางชีวิต สมชาย นีละไพจิตร-


 


 



 


 


ทุกวันนี้ จำนวนคนที่ถูกทำให้หายไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย


 


ถ้าอ้างอิงตามคำบอกเล่าของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็ติดอันดับประเทศที่มีคนสูญหายในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก


 


กลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายของการทำให้สูญหาย ได้แก่ นักหนังสือพิมพ์ นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงทนายความ และประชาชนที่ไม่ยอมโอนอ่อนตามอิทธิพลมืดของใคร...


 


หากเมื่อใดที่ "ทนาย" ถูกทำให้หายไป กระบวนการยุติธรรมในประเทศนั้นๆ คงถึงขั้นวิกฤติเสียแล้ว


 


ไม่ใช่เพราะชีวิตของทนายมีค่ามากกว่าชีวิตประชาชนทั่วไป แต่ถ้าหากผู้มีความรู้ทางกฏหมายยังถูกทำให้หายไปได้ง่ายๆ


 


นับประสาอะไรกับชาวบ้านทั่วไปที่ยังไม่ค่อยจะเข้าใจถึงสิทธิของตัวเองด้วยซ้ำ?


 


ภาวะแห่งความไม่แน่ใจที่ว่ามาแล้ว เหมือนเมฆหมอกมืดครึ้มที่ยังคงปกคลุมอยู่บนท้องฟ้าซึ่งกินอาณาเขตอยู่ในประเทศไทยทุกวันนี้ด้วย เช่นเดียวกับคำตอบของการอุ้มหายในคดี "ทนายสมชาย นีละไพจิตร" ก็ยังล่องลอยอยู่ในสายลม


 


จับต้องไม่ได้ และมองไม่เห็นที่มาที่ไป...


 


หนังสือชื่อชวนให้สงสัยอย่าง "ไปต่อเองนะ" ที่เพิ่งพิมพ์เสร็จออกมาหมาดๆ ในเดือนมกราคม โดยนักเขียนหน้าใหม่นามว่า "อังคาร จันทร์เมือง" จึงตามไปแกะรอย "เส้นทางชีวิต" ของทนายสมชาย เพื่อหาคำตอบสำหรับคำถามว่า "เพราะเหตุใด" ทนายสมชายจึงกลายเป็นเป้าหมายของการถูก "อุ้ม"


 


รวมทั้งการสะท้อนให้เห็นว่า มีอีกกี่ชีวิตบ้างที่ได้รับผลกระทบจากการหายตัวไปของทนายสมชาย...


 


000


 


บทนำในหนังสือพาเราย้อนกลับไปในอดีต เมื่อครั้งที่สมชาย นีละไพจิตร ถูก "อุ้ม" เป็นครั้งแรก เมื่อ 55 ปีก่อน ที่บ้านของเขาเอง


 


การอุ้มครั้งนั้นมาพร้อมกับการรับขวัญเด็กชายสมชายที่เกิดเป็นลูกชายและหลานชายคนแรกในครอบครัว "นีละไพจิตร"


 


ส่วนเรื่องราวในหลายบทหลังจากนั้น ก็คือการดำเนินชีวิตตั้งแต่เด็กจนเติบโตมาเป็น "ทนายสมชาย" ผู้ถูก "อุ้ม" หายไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา


 


ชีวิตในวัยเด็กของทนายสมชายไม่ได้แตกต่างจากใครอีกหลายคนในประเทศไทย เพราะเขาเกิดมาในครอบครัวชาวนาธรรมดาๆ ครอบครัวหนึ่ง


 


อาศัยว่าเป็นเด็กรักเรียนและขยันขันแข็ง ลูกชายชาวนาจึงร่ำเรียนจนจบปริญญาด้านกฏหมาย และสอบเป็นทนายได้ในช่วงวัยหนึ่งของชีวิต


 


เรื่องราวเหล่านี้ดูจะเป็นความปกติธรรมดาที่หาอ่านได้จากหนังสือชีวประวัติบุคคล แต่จากการบอกเล่าเช่นนี้เองที่ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่หล่อหลอมให้เด็กชายสมชายกลายเป็น "ทนายสมชาย" ที่หลายคนให้ความรักและเคารพนับถือเกิดขึ้นจากสิ่งใดบ้าง


 


เพราะสิ่งที่ทนายสมชายพยายามทำอยู่ตลอดเวลาในฐานะตัวแทนด้านกฏหมายของประชาชน คือการทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง


 


ตอนหนึ่งของหนังสือบอกกับเราผ่านการสังเกตการณ์ของผู้เขียนว่า


 


"สำหรับสมชายแล้ว ประเด็นที่ว่าผู้ต้องหาผิดจริงหรือเปล่ายังไม่สำคัญเท่ากับว่า ผู้ต้องหาได้รับสิทธิตามที่กฏหมายกำหนดไว้ทุกอย่างหรือไม่"


 


ทนายสมชายจึงจัดอบรมให้ความรู้ทางด้านกฏหมายให้กับชาวบ้านอยู่เป็นประจำ "เพราะกฏหมายกำหนดไว้ว่า ประชาชนทุกคนต้องรู้กฏหมาย จะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่ได้"


 


ผู้ที่ทนายสมชายว่าความให้ มีตั้งแต่ชาวบ้านธรรมดา ไปจนถึงผู้ต้องหาคดีสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น คดีความมั่นคงฯ หรือคดียาเสพติด


 


แต่หลายคดีเหล่านั้น ผู้ต้องหาที่ทนายสมชายว่าความให้ มักจะรอดพ้นไปจากการถูกดำเนินคดี


 


ในกรณีของ "หมอแว" หรือ นายแพทย์แวมะหะดี แวดาโอ๊ะ ผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ สงสัยพัวพันองค์กรอิสลามเจมาร์อิสลามิยาร์ (JI) รวมกับ "มัยสุรุ หะยี อับดุลเลาะห์" ผู้เป็นเจ้าของโรงเรียนอิสลามบูรณะ และ มูยาเฮด อับดุลเลาะห์ ลูกชายเจ้าของมัยสุรุ หะยี อับดุลเลาะห์


 


ทนายสมชายรับว่าความให้ เพราะหมอแว เป็นผู้ที่ทำประโยชน์มากมายให้กับชุมชน ถึงขนาดที่ชาวบ้านเชื่อมั่นและเลือกให้เป็น ส.ว.ของจังหวัดนราธิวาส ประกอบกับหมอแวบอกแก่ทนายสมชายว่าในระหว่างการสอบสวน ได้เกิดการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาหลายประการ


 


เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบคดีนี้ไม่ให้สิทธิผู้ต้องหาที่จะหาทนาย, พนักงานสอบสวนบังคับให้เซ็นชื่อสารภาพ แถมยังมีการเอาตัวไปเข้าเซฟเฮาส์เพื่อซ้อมอย่างทารุณ


 


หมอแวบอกสมชายว่า "เขาโดนจับใส่ถุงแล้วซ้อม กระทืบ"


 


ทนายสมชายรับว่าความคดีนี้ และเป็นคดีที่เขาเริ่มต้นเอาไว้อย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อถึงคราวที่เขาหายตัวไป ในปี 2547 ทนายความที่มารับช่วงต่อก็ทำงานได้อย่างไม่มีข้อสะดุด


 


คดีนี้มีพยานยืนยันถึงความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่สืบสวนกว่า 100 คน


 


ในที่สุดศาลชั้นต้นก็พิจารณายกฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน เมื่อปี 2548


 


000


 


จนกระทั่งมาถึงบทที่ว่าด้วย "การหายไปของทนายสมชาย" นอกจากลูกความที่บอกว่า "ต่อไปนี้คงไม่มีใครว่าให้ฟรีอีกแล้ว" สมาชิกครอบครัวของสมชายที่เหลืออยู่ข้างหลังก็ได้รับผลกระทบทางใจอย่างใหญ่หลวงเช่นเดียวกัน


 


อังคณา นีละไพจิตร ผู้เป็นภรรยาของทนายสมชาย รวมถึงลูกๆ อีก 5 คน ต้องอยู่ท่ามกลางสุญญากาศที่ไร้คำตอบว่าสามีและพ่อของพวกเขาหายไปไหน และกระบวนการสอบสวนคนมีสีที่เป็นผู้ต้องสงสัยทำไมถึงได้ดำเนินไปอย่างเชื่องช้านัก


 


นอกจากนี้อังคณายังต้องเจอกับการถูกคุกคามในรูปแบบของชายคนหนึ่งซึ่งพกปืนมาเตือนถึงที่บ้านด้วยน้ำเสียงสุภาพ (แต่ดูคุกคาม) ว่า "คุณอังคณาควรจะระวังตัวไว้ให้ดีๆ นะ"


 


เช่นเดียวกับการพิจารณาคดีที่กินเวลายืดเยื้อยาวนาน และเงื่อนงำในกระบวนการพิสูจน์หลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ


 


ภาวะที่เกิดขึ้นย่อมกดดันและบีบคั้นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ภรรยาและครอบครัวของทนายสมชายเลือกก็คือการ "สู้ต่อไป" จนกว่าความจริงจะปรากฏ


 


วันนี้ความสนใจต่อคดีของทนายสมชายจึงเปลี่ยนไปอยู่ที่ตัวของอังคณา นีละไพจิตรแทน


 


ภาพของ "ภรรยาผู้สูญเสียสามี" ที่ดูเข้มแข็งและสามารถตอบโต้กับกระบวนการ (อ)ยุติธรรมต่างๆ ได้อย่างเท่าทัน ทำให้มีคนมองว่าการต่อสู้ของผู้นำครอบครัวนีละไพจิตรที่เหลืออยู่กลายเป็นเรื่องการเมือง และเป็นเรื่องที่มีเบื้องหลังโยงใยเป็นขบวนการ


 


แต่เมื่อลองไตร่ตรองดูให้ดี ก็จะเข้าใจว่า การเป็นภรรยาและลูกๆ ของทนายความที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนสำคัญคนหนึ่งของไทย ทั้งยังเป็นคนที่เข้มงวดอย่างยิ่งเช่นทนายสมชาย ก็ไม่น่าจะแปลกอะไรหากความรู้ทางด้านกฏหมายและการไม่ยอมแพ้ต่อความอยุติธรรมใดๆ จะส่งผ่านถึงกันระหว่างคนในครอบครัว...


 


และถ้าหากใครได้อ่านถึงบทหนึ่งของหนังสือซึ่งบอกเล่าความเป็นมาของประโยค "(เธอ) ไปต่อเองนะ" ก็คงจะเข้าใจได้ว่าทนายสมชายได้เตรียมการให้ภรรยาและลูกๆ พึ่งพาตัวเองมาโดยตลอด


 


วันไหนที่ออกจากบ้านไปพร้อมหน้าพร้อมตา ทนายสมชายอาจจะหันมาบอกกับอังคณาว่า "เธอพาลูกๆ ไปต่อเองนะ" เพราะเขาจะต้องไปให้คำปรึกษาและช่วยเหลือลูกความที่กำลังเดือดร้อน


 


ไม่ใช่ว่าครอบครัวไม่สำคัญสำหรับทนายสมชาย แต่เขามักจะบอกกับทุกคนเสมอว่าหน้าที่ในการช่วยเหลือคนเดือดร้อนนั้นจำเป็นและต้องทำอย่างเร่งด่วน


 


และไม่ว่าจะอย่างไร ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวก็มีความเข้าใจเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวอยู่แล้ว


 


000


 


ข้อสันนิษฐานหนึ่งในหนังสือเล่มนี้กล่าวว่าทนายสมชายหายตัวไปภายในไม่กี่วัน หลังจากที่เขาทำสำนวนฟ้องร้องเจ้าหน้าที่สอบสวนซึ่งทารุณผู้ต้องหา 5 คนในคดีปล้นปืนครั้งแรกว่ากระทำการทุบตี ฉี่ใส่ปาก ใช้ไฟฟ้าช็อต รวมถึงบังคับใจให้ผู้ต้องหาสารภาพว่าตัวเองกระทำความผิดจริง


 


ยิ่งพลิกหน้าหนังสืออ่านเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงยิ่งดูเหมือนทนายสมชายมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนนำไปสู่การ "อุ้มหาย" ในเวลาต่อมา


 


แต่ตอนหนึ่งของหนังสือ ให้คำอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า


 


"สมชายไม่ได้มีความขัดแย้งกับตำรวจ แต่ตำรวจบางพวกมักทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับกฏหมาย สมชายเพียงแค่ทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่กฏหมายกำหนดเท่านั้น"


 


ด้วยเหตุนี้ แม้ทนายสมชายจะถูกคนบางกลุ่มแปะป้ายให้ว่าเป็น "ทนายโจร" ส่งผลให้ภาพของการอุ้มทนายคนหนึ่งหายไป กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และไม่น่าติดใจเอาความ


 


หากบางส่วนของคำนำหนังสือ ซึ่งเขียนโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ดูจะเป็นคำตอบได้ดีว่าเพราะเหตุใดการหายตัวไปของทนายสมชายจึงสมควรได้รับการใส่ใจมากกว่าที่เป็นอยู่


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net