Skip to main content
sharethis


ศาตราจารย์คาร์ลอส คอร์เรีย


 


 


ประชาไท - 10 ก.พ.50 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดจดหมายของนักกฎหมายระดับโลกตอบคำถามถึงช่องโหว่ในเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น พิสูจน์ข้อกังวลว่ามันอาจเปิดช่องให้ญี่ปุ่นสามารถจดสิทธิบัตรเป็นเจ้าของจุลชีพในประเทศไทยได้


 


ศาตราจารย์คาร์ลอส คอร์เรีย นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลอาร์เจนตินาและเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มประเทศ G77 ในการเจรจาความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาในองค์กรการค้าโลก(TRIPs) ในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ(CBD) และสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (ITPGR-FA ) ได้ส่งจดหมายอิเลคโทรนิกส์ยืนยันว่า มาตรา 130(3)ในเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นนั้น เปิดทางให้มีการจดสิทธิบัตรจุลชีพตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ญี่ปุ่นเข้ามาครอบครองทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทยในอนาคต ในจดหมายลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 มีข้อความซึ่งแปลได้ดังนี้

"ก่อนอื่นผมต้องขออภัยที่ตอบจดหมายล่าช้า ทั้งนี้เนื่องจากผมติดธุระมีกำหนดการที่แน่นมากที่ปักกิ่ง
สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามความในมาตรา 130(3) ข้อตกลงความร่วมมือญี่ปุ่น-ไทย อาจถูกตีความไปไกลถึงการอนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรในจุลชีพที่พบได้ในธรรมชาติ หากตรงตามเงื่อนไขในองค์ประกอบการจดสิทธิบัตร (มีความใหม่ มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้นและสามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรม) กล่าวกันให้ชัดๆ คือ ร่างข้อตกลงนี้มีความพยายามเร่งให้ตีความในทำนองที่ว่าจุลชีพชนิดหนึ่งๆ นั้นอาจถือได้ว่าเป็น "สิ่งประดิษฐ์" นั่นเอง ทั้งสิ้นทั้งปวงนี้มันคือหลักการทริปส์ผนวกนั่นเอง หลังจากที่ข้อตกลงทริปส์ไม่ได้นิยามไว้ว่า "สิ่งประดิษฐ์จะมีความหมายกินความไปถึงไหน ในขณะที่ข้อตกลงทริปส์ผูกพันต่อภาคีสมาชิกในการจดสิทธิบัตรจุลชีพ ซึ่งข้อตกลงทริปส์ได้เปิดช่องว่างให้ภาคีสมาชิกดูความเป็นไปได้ที่จะวางจข้อจำกัดในการอนุญาตให้จดสิทธิบัตรในจุลชีพที่พัฒนาปรับปรุงขึ้นมา ซึ่งไม่ได้เกิดและพบในสภาพธรรมชาติ"  (แปลโดย อ.เจริญ คัมภีรภาพ-รองอธิการบดี ม.ศิลปากร)




ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายสิทธิบัตร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2542 ไม่อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตโดยบัญญัติไว้ว่า "จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืชไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ" แต่ข้อบทในความตกลงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นกลับเขียนข้อความซึ่งเปิดโอกาสให้มีการจดสิทธิบัตรจุลชีพตามธรรมชาติ
ดังปรากฏอยู่ในข้อบทตามมาตรา 130(3) ว่า



"ภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องให้ความมั่นใจว่าคำขอรับสิทธิบัตรใดๆจะไม่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวว่า สาระที่ขอถือสิทธิในคำขอนั้นเกี่ยวข้องกับจุลชีพที่เกิดตามธรรมชาติ"

อย่างไรก็ตาม คณะเจรจาระบุว่าข้อบทดังกล่าวไม่ได้มากไปกว่าพันธกรณีที่ประเทศมีภายใต้องค์กรการค้าโลก แต่การตีความของศาสตราจารย์คาร์ลอส คอร์เรีย ซึ่งเพิ่งเดินทางมาประเทศไทยเพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ์เมื่อเร็วๆ นี้เห็นไปในทางตรงกันข้าม ซึ่งเอฟทีเอ ว็อทช์ยืนยันว่าสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของนักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา นักวิชาการสาขาต่างๆ รวมทั้งการตีความของสำนักงานกฎหมายขั้นนำในประเทศไทยด้วย

กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลต้องแก้ไขและปิดช่องโหว่นี้ด้วยการตัดข้อความใน 130(3)ออกทั้งหมดเช่นเดียวกับที่ปรากฏใน JPEPA หรือตัดข้อความ "naturally occurring" ออกไปเพื่อให้ข้อบทนี้เหมือนกับเอฟทีเอที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศมาเลเซีย หรือมิฉะนั้นก็ตัดออกทั้งหมวดเลยเช่นเดียวกับเอฟทีเอที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศฟิลิปปินส์


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net