Skip to main content
sharethis


ประชาไทภาคเหนือ รายงาน


 


 


 


... เมื่อวันที่ 6 - 7 กุมพาพันธุ์  2550 ที่จังหวัดเชียงใหม่  ณ เวทีสัมมนาวิชาการ "คนรุ่นใหม่กับการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 4" โดยในหัวข้อ "แนวคิดการครองความคิดจิตใจ (Hegemony) ของ Antonio Gramsci" ซึ่งวิทยากรที่บรรยายคือ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นิสิตปริญญาเอกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายโดยสังเขป พร้อมด้วยยกตัวอย่างรูปธรรมเกี่ยวกับแนวคิดการครองความคิดจิตใจ (Hegemony) ของ Antonio Gramsci ในสังคมไทย โดยรายละเอียดการบรรยาย มีดังนี้ ...


 


 


วิพากษ์แนวคิดเศรษฐกิจกำหนด (anti-economic determinism)


 


หากพิจารณางานเขียนของ Gramsci ในเรื่อง "Revolution Against Capital" ที่กรัมชี่ชี้ว่าการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่นำโดยพรรคบอลเชวิคนั้นเป็นการปฏิวัติที่ขัดแย้งกับงานของมาร์กซ์ที่เสนอว่า การปฏิวัติจะเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ทุนนิยมก้าวหน้าที่สุด แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับการปฏิวัติรัสเซียก็คือ รัสเซียยังเป็นทุนนิยมที่ล้าหลังอยู่ ประกอบไปด้วยชาวนาดั้งเดิมจำนวนมาก ดังนั้นการปฏิวัติที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถอธิบายตามกฎเกณฑ์หรือด้วยแนวทางที่ให้เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดได้ทั้งหมด (economic determinism) แต่การปฏิวัติที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของ "ปฏิบัติการทางการเมือง" ที่ขับดันให้เกิดการปฏิวัติขึ้น


 


หากเราพิจารณาดังนี้จุดเริ่มต้นของ Gramsci ก็คือ การโต้ตอบกับคำอธิบายของพวกเศรษฐกิจกำหนดที่เชื่อว่า เมื่อสังคมพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง การปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงสังคมจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งแนวทางเศรษฐกิจกำหนดนี้เองก็มีอิทธิพลมากในหมู่นักคิดมาร์กซิสต์จำนวนหนึ่งในช่วงเวลานั้น ดังนั้นการปฏิวัติที่นำโดยพรรคบอลเชวิคในปี 1917 จึงเป็นผลของปฏิบัติการทางการเมืองที่สภาพทางอัตวิสัยเป็นตัวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่สภาพทางวัตถุวิสัยจะกำหนดแบบที่พวกเศรษฐกิจกำหนดมอง


 


 


วิธีการมองโลกของคนทั่วไป (common sense)


 


สำหรับกรัมชี่แล้ว มนุษย์ทุกคนมีทัศนคติหรือวิธีการมองโลกที่แตกต่างกันไป และบางทีก็ขัดแย้งกันเองอย่างมากด้วย คนบางคนเป็นเพียงฝ่ายตั้งรับที่รับเอาวิธีคิดมาจากภายนอกอย่างไม่ตั้งคำถามมากนัก แต่สำหรับบางคนวิธีการมองโลกของเขาถูกสร้างขึ้นมาอย่างวิพากษ์วิจารณ์ วิธีการมองโลกทั่วๆไปนี้เองคือสิ่งที่กรัมชี่เรียกว่า "common sense"


           


องค์ประกอบต่างๆ (elements) ที่มาประกอบผสมรวมกันนี้เองของวิธีการมองโลกโดยทั่วไปของสังคมจะมีส่วนให้คนในสังคมยอมรับกับการถูกเอารัดเอาเปรียบและมองว่าความยากจนของตนเองเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ รวมไปถึงบางครั้งก็เป็นเชื้อสำคัญให้กับคนๆนั้นตั้งคำถามกับชีวิตความเป็นอยู่และความไม่เป็นธรรมในสังคมมากขึ้นก็ได้


           


กรัมชี่โต้แย้งวิธีการมอง common sense ที่ถูกครอบงำจากระบบทุนนิยมจากมุมมองที่มองว่ามันเป็นเพียงจิตสำนึกที่ผิดพลาด (false consciousness) แบบที่ George Lukacs เสนอ กรัมชี่เสนอว่า ภายใต้วิธีการมองโลกชุดหนึ่งๆมันมีองค์ประกอบที่ขัดแย้งกันเองจำนวนมากบรรจุอยู่ เช่น คนบางคนอาจเรียกร้องประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และเสรีภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ยกย่องบูชาสถาบันพระมหากษัตริย์ไปด้วย เป็นต้น


 


ดังนั้นก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจว่า ในหัวของคนๆเดียวมิได้มีความคงเส้นคงวา ความกลมกลืนทั้งหมดเป็นองค์รวม แต่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง สับสน และไม่ลงรอยกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ขัดแย้งกันเองขององค์ประกอบต่างๆ และการที่องค์ประกอบหนึ่งๆขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของพวกเขาเอง เช่น การที่สังคมไทยมักจะบอกว่า เราจนเพราะขี้เกียจ แต่สภาพความเป็นจริงที่เราพบเห็นก็คือ คนจำนวนน้อยที่ร่ำรวยกลับทำงานน้อยกว่าพวกเราที่ทำงานหนักเป็นต้น ดังนั้นดูเหมือนว่า ความขี้เกียจหรือขยันก็ไม่ใช่ปัจจัยของความร่ำรวยหรือยากจนแต่อย่างใด เป็นต้น


           


ในส่วนนี้กรัมชี่จึงให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า การครองความคิดจิตใจ (hegemony) ว่าจะเป็นตัวช่วยในการประกอบสร้าง (articulation) วิธีการมองโลกขึ้นมา ซึ่งเราจะกล่าวถึงต่อไป โดยกรัมชี่เสนอว่า แนวคิดมาร์กซิสต์ไม่ควรจะทำตัวเป็น ปรัชญาที่เป็นนามธรรมเลื่อนลอย (abstract philosophy) แต่ต้องเป็นแนวคิดที่จะเข้าไปทำงานกับ common sense ซึ่งดำรงอยู่ในหัวของคนทั่วไปในสังคม และแนวคิดมาร์กซิสต์ (หรือภาคประชาชนโดยทั่วไป) จะต้องมีส่วนในการประกอบสร้างความคิดของคนธรรมดาๆ ให้ตั้งคำถามหรือเชื่อมโยงประเด็นต่างๆที่ดูขัดแย้งกันเองทั้งในโลกจริงและในหัวของพวกเขาเองเพื่อทำให้เขาเข้าใจสถานการณ์รอบตัวที่เกิดขึ้นพร้อมกับเปลี่ยนแปลงสังคมรอบตัวเขาอย่างเป็นระบบด้วย นี่เองก็เป็นการผสานสิ่งที่ดูเหมือนขัดแย้งกันเข้ามาหากัน คือการผสานระหว่าง ทฤษฎีหรือการมองโลก กับการปฏิบัติ เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นคุณธรรมประการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคมดังที่พวกมาร์กซิสต์เรียกการผสานตัวดังกล่าวนี้ว่า praxis 


 


 


การครองความคิดจิตใจ (hegemony) และวาทกรรมของแนวชุมชน


 


การครองความคิดจิตใจ (hegemony) หมายถึง การประกอบสร้างองค์ประกอบย่อยต่างๆเข้ามาเพื่อทำหน้าที่ยึดโยงเชื่อมต่อความแตกต่างหลากหลายที่อาจขัดแย้งกันเองเข้ามาอยู่ด้วยกัน โดยมีการนำขององค์ประกอบย่อยอันหนึ่งหรือจำนวนหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นตัวยึดโยงองค์ประกอบต่างๆ เข้ามาหากัน


 


เช่น ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ได้มีการผลิตแนวคิด หรือวิธีการมองโลกจำนวนมากขึ้นมาจากหลายกลุ่มหลายชนชั้นที่ขัดแย้งกัน ในภาคประชาชนก็มีวาทกรรมเศรษฐกิจชุมชน วัฒนธรรมชุมชน พึ่งตนเอง โดยไม่ได้หวังพึ่งอำนาจจากรัฐหรือเบื้องบนขึ้นมาเป็นข้อเสนอทางเลือกที่ท้าทายต่อเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (เสรีนิยม) ที่กำลังอับจนอยู่ในขณะนั้น ฝ่ายนักวิชาการ (โดยเฉพาะสำนักวิถีทรรศน์ และเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ) จำนวนหนึ่งก็พูดถึง ชุมชนชาตินิยม ที่ชุมชนเป็นตัวแทนของชาติในการปกป้องรักษาเอกราช เพราะขณะนั้นไอเอ็มเอฟเข้ามากำกับเศรษฐกิจไทย แนวชุมชนชาตินิยมดังกล่าวเสนอว่า เราต้องสร้าง "ชาติ" ที่ร่วมกันระหว่างนายทุนชาติกับประชาชนรากหญ้า เพื่อต่อต้านกับต่างชาติ ส่วนสถาบันกษัตริย์และพวกกษัตริย์นิยมก็ผลิตวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมา และรัฐบาลก็รับมาใช้ โดยเสนอว่า เศรษฐกิจพอเพียงมาจากในหลวง และเศรษฐกิจพอเพียงสร้างได้โดยรัฐบาล ถึงขนาดบรรจุไว้ในแผนพัฒนาฯ เป็นต้น


           


จากตัวอย่างนี้เราจะเห็นความพยายามช่วงชิงการสร้าง "วิธี" การมองโลกและเข้าใจโลก อย่างน้อยก็เข้าใจสังคมไทยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของคนกลุ่มต่างๆขึ้นมา โดยวิธีการมองโลกเหล่านี้มีลักษณะหลากหลาย ขัดแย้งกันเอง แต่ในที่สุดแล้วมันจะมี "ข้อต่อ" หรือวาทกรรมบางอันที่สามารถเชื่อมต่อและช่วงชิงการนำเป็น Master-signifier เหนือวาทกรรมอื่นๆและยึดโยงวาทกรรมอื่นๆให้เข้ามาประกอบกันได้ คือ วาทกรรมชุมชนนิยม ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่า มันมีการอธิบายชุมชนที่หลากหลายขัดแย้งกันทั้งจากเจ้า นักวิชาการ รัฐ และจากขบวนการภาคประชาชน วาทกรรมชุมชนนี้เองจะเป็นตัวยึดโยงเชื่อมต่อวาทกรรมอื่นๆ ที่หลากหลายเช่น พอเพียง ชาตินิยม เกลียดไอเอ็มเอฟ รักในหลวง เกษตรทางเลือก ประชาธิปไตย เป็นต้น เข้ามาด้วยกัน แม้ว่าองค์ประกอบต่างๆเหล่านี้จะขัดกันเองแต่ก็ดำรงอยู่ร่วมกันได้ภายใต้การประกอบสร้างดังกล่าวที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากการต่อสู้ช่วงชิงของกลุ่มและชนชั้นต่างๆภายใต้จุดบรรจบทางประวัติศาสตร์หนึ่งๆ (historical conjuncture)


           


ประเด็นที่สำคัญก็คือ วาทกรรมชุมชนก็มิได้อยู่เป็นกลางๆ ที่ปราศจากความหมายใหม่ วาทกรรมชุมชนที่เกิดขึ้นจะผนวกเอาองค์ประกอบอื่นๆ เข้ามาและจะประกอบสร้างความหมายใหม่ โดยจัดลำดับขั้นให้กับองค์ประกอบต่างๆให้เข้ามาอยู่ด้วยกัน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ากระแสที่ "นำ" ในสังคมก็คือ วาทกรรมชุมชนพอเพียงแบบชาตินิยมที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้พระราชทาน ที่ไม่นำพาไปสู่การตั้งคำถามกับระบบทุนนิยมและชนชั้นนายทุนที่เป็นผู้กดขี่และทำร้ายพวกเราภาคประชาชนอย่างแท้จริงนั่นเอง


 


โดยวาทกรรมดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือในการยึดโยง สร้างข้อต่อกับกลุ่ม และชนชั้นต่างๆให้เข้ามาอยู่ร่วมกัน และทำให้คนเหล่านี้เชื่อว่า พวกเขามีผลประโยชน์ร่วมกันคือ ความเป็นชาติและการต่อต้านต่างชาติ และเพื่อสร้างชุมชนไทยที่พอเพียงโดยมีในหลวงเป็นผู้พระราชทานความคิดนี้มาให้กับพสกนิกร  ทั้งๆ ที่คนที่มาประกอบกันดังกล่าวนั้นมาจากหลายชนชั้นที่ขัดแย้งต่อสู้เอารัดเอาเปรียบหรือเป็นศัตรูกันมาก่อน เช่น กลุ่มทุน รัฐ และขบวนการประชาชน ซึ่งเราจะเห็นผลสัมฤทธิ์ของมันก็คือ การขึ้นมาสู่อำนาของระบบทักษิณที่สามารถสร้าง โครงการในการครองความคิดจิตใจ (hegemonic project) ของคนในสังคมในช่วงเวลาสั้นๆขึ้นมาโดยมีทักษิณและกลุ่มทุนครองสถานะนำได้ ผ่านการเชิดชู ชาตินิยม ความดีงามและมีศักยภาพของชุมชน ผ่านนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ผลักดันแนวทางเสรีนิยมซึ่งส่งผลร้ายแก่ประชาชนขึ้นมาพร้อมๆกันได้ โดยคนไม่ค่อยตั้งคำถามกับส่วนผสมที่พิกลพิการดังกล่าว เป็นต้น


           


การครองความคิดจิตใจจึงไม่ใช่การแทนที่สิ่งเก่าด้วยสิ่งใหม่ แต่เป็นการรื้อองค์ประกอบเดิมออกแล้วประกอบสร้างใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงลำดับขั้นขององค์ประกอบต่างๆ พร้อมๆกับเพิ่ม/ลดหรือให้ความหมายใหม่แก่องค์ประกอบต่างๆด้วยพร้อมๆกัน การครองความคิดจิตใจจึงไม่ใช่การสร้างแนวร่วม (alliance) ระหว่างกลุ่มหรือชนชั้นต่างๆ แต่เป็นการสร้าง "กลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์" (historic bloc) ที่ยึดโยง/หลอมรวม (fusion) กันด้วยความยินยอมพร้อมใจ (consensus) ของคนต่างกลุ่มต่างชนชั้นกันว่าอะไรเป็นผลประโยชน์โดยรวมหรือเป็นคุณธรรมความดีสากลของคนทุกคนในสังคม ผ่านการประกอบสร้างของการนำที่เกิดขึ้นในช่วงประวัติศาสตร์หนึ่งๆเพื่อให้ชนชั้นหนึ่งๆ หรือกลุ่มย่อยของชนชั้นหนึ่งๆสามารถครองการนำในมิติต่างๆได้มากกว่า นี่เองคือสิ่งที่กรัมชี่ เรียกว่า การครองความคิดจิตใจ หรือการนำทางความคิดที่ประกอบด้วยมิติทางศีลธรรมและมิติทางปัญญา ทำให้คนในสังคมมีวิธีการมองโลกคล้ายคลึงร่วมกัน นำไปสู่การยอมรับอะไรบางอย่างร่วมกันได้ ทั้งๆที่มันอาจไม่ใช่ผลประโยชน์โดยตรงของพวกเขาก็ตาม แต่มันถูกให้ความหมายหรือถูกทำให้เชื่อว่าเป็นประโยชน์ของพวกเขาผ่านการครองความคิดจิตใจที่เกิดขึ้น


           


อย่างไรก็ตาม กรัมชี่ไม่ได้พูดว่า เฉพาะชนชั้นปกครองเท่านั้นที่จะสามารถครองความคิดจิตใจสังคมได้ แต่ชนชั้นล่างหรือคนธรรมดา หรือพูดง่ายๆก็คือ ขบวนการทางสังคมก็สามารถสร้างจุดเชื่อมต่อ และปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อครองความคิดจิตใจได้เช่นกัน ซึ่งกรัมชี่เรียกปฏิบัติการทางการเมืองดังกล่าวว่า "การทำสงครามจุดยืน" (war of position) และนี่เป็นสิ่งที่ขบวนการภาคประชาชนจำเป็นต้องเข้าใจ และต้องคิดว่าจะหาจุดเชื่อมต่อเพื่อช่วงชิงการนำผ่านการยึดโยงขบวนการที่หลากหลายเข้ามาต่อสู้ร่วมกันได้อย่างไร


 


โดยกรัมชี่เสนอว่า วิธีการมองโลกทั่วไปแบบนี้ของคนธรรมดาๆ มันไม่ใช่ว่าเขาเข้าใจผิดหรือไม่รู้เรื่องหรือโดนหลอกจากระบบทุนนิยม แต่มันเกิดจากกระบวนการประกอบสร้างและปฏิบัติการทางการเมืองที่ถูกช่วงชิงการนำโดยความคิดหรืออุดมการณ์ของชนชั้นผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่มีอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ของประวัติศาสตร์ ส่งผลให้เรามีวิธีการมองโลกแบบยอมจำนน เช่น นักเคลื่อนไหวต้องเข้าใจว่าคนธรรมดาที่เราไปทำงานด้วยเค้าอาจชื่นชมวัฒนธรรมหรือวิธีการมองโลกแบบศาสนาที่โทษตนเองว่า เป็นเพราะกรรมที่ทำให้พวกเขาลำบากยากจน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงมันอาจไม่ใช่เพราะกรรม แต่เป็นเพราะสังคมทุนนิยมที่มีคนจำนวนน้อยในสังคมคอยเอารัดเอาเปรียบกดขี่คนส่วนใหญ่ ความจนมันถึงเกิดขึ้น


 


ในกรณีเช่นนี้กรัมชี่เสนอว่า เราไม่ควรมองว่า คนธรรมดาๆมีจิตสำนึกที่ผิดพลาดไม่เข้าใจความจริงหรือโง่ แต่ต้องเข้าใจว่า การที่คนมีวิธีการมองโลกแบบนั้นมันถูกสร้างมาจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์อย่างไร และก็มิใช่ว่าเขาเองจะมีความคิดเฉพาะด้านที่ยอมจำนนทั้งหมด หากประกอบไปด้วยความคิดที่หลากหลายอันประกอบเข้าด้วยกันขององค์ประกอบต่างๆที่จะให้เราสามารถหาช่องทางอะไรที่จะไปเชื่อมโยง พัฒนาความคิดส่วนนั้นของคนที่เราทำงานด้วย เพื่อท้าทายให้คนที่เราทำงานด้วยเกิดความแตกหักและตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆในหัวของพวกเขาผ่านการกระทำทางการเมืองของพวกเราที่มีร่วมกับเขาได้อย่างไรบ้าง ซึ่งในส่วนนี้เองที่แนวคิดการครองความคิดจิตใจจะมีส่วนสำคัญท่ามกลางการต่อสู้และการจัดตั้งทางการเมืองที่พวกเราทำงานอยู่


           


เมื่อกรัมชี่พูดถึงการครองความคิดจิตใจ หรือที่เรียกว่า hegemony นั้น กรัมชี่พูดถึงมันอย่างน้อยใน 2 ระดับ คือ ทั้งในระดับของวิธีการวิเคราะห์สังคม (method) และในระดับของปฏิบัติการทางการเมือง (political practice) ดังที่นำเสนอไปแล้วข้างต้น


 


 


พรรคการเมืองของชนชั้นในฐานะที่เป็นเจ้าสมัยใหม่ (political party as modern prince)


 



กรัมชี่ได้พูดถึงความสำคัญและลักษณะของพรรคการเมืองของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ไว้ในงานชิ้นสำคัญที่ชื่อว่า "The Modern Prince" โดยในงานชิ้นนี้กรัมชี่ได้อ้างงานของ แมคิอาเวลลี ที่พูดถึงเรื่อง  "การนำ" ของเจ้าผู้ปกครอง โดยกรัมชี่นำมาพัฒนาใช้กับการสร้างการนำของพรรคการเมืองของผู้ถูกกดขี่ สำหรับกรัมชี่คำว่า "การนำ" นั้นมีความสำคัญมากกว่าคำว่า "ผู้นำ" การนำนั้นไม่อิงกับปัจเจกบุคคล แต่การนำเป็นการพูดถึงการช่วงชิงการนำในการสร้างเจตจำนงร่วม (collective will) เป็น "ความปรารถนาทางการเมืองที่เป็นรูปธรรม" (concrete passion)


 


โดยกรัมชี่เสนอว่า การเมืองที่จำกัดตัวอยู่แค่ กลุ่มย่อยๆเฉพาะเรื่องเฉพาะประเด็น เช่น การเมืองแบบสหภาพแรงงานที่จมอยู่กับการต่อสู้ปัญหาของตนเอง ไม่ใช่การเมืองของการนำในความหมายนี้ แต่การเมืองแบบพรรคการเมืองหรือการเมืองแบบองค์กรที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงต่อติดขบวนการหรือประเด็นที่หลากหลายเข้ามาด้วยกันต่างหากที่เรียกว่า "การนำ" ที่อิงอยู่กับการสร้างจิตสำนึกที่ต้องการเปลี่ยนแปลงร่วมกันอย่างแท้จริง


           


ดังนั้นสำหรับกรัมชี่ modern prince จึงหมายถึงพรรคการเมืองของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ โดยพรรคการเมืองนี้มีหน้าที่สำคัญก็คือ การยึดโยงและสร้าง เจตจำนงและจิตสำนึกร่วมของผู้ถูกกดขี่ทั้งหมด โดยพรรคจะต้องทำหน้าที่ต่อสู้ร่วมกันกับขบวนการทางสังคมต่างๆ และพัฒนาเชื่อมโยงยกระดับต่อยอดประเด็นการต่อสู้ของกลุ่มต่างๆขบวนการต่างๆไปในทิศทางที่จะเกิดประโยชน์กับชนชั้นผู้ถูกกดขี่มากที่สุด นั่นหมายความว่า พรรคจะต้องไม่แยกตนเองอยู่เหนือหรือเป็นพี่เลี้ยงของขบวนการ แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ และทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างอุดมการณ์นำระหว่างการต่อสู้ขึ้นมา


           


สำหรับนักมาร์กซิสต์นั้น พรรคถือเป็นองค์กรทางการเมืองที่เข้มแข็งที่สุดที่จะยึดโยงและจัดตั้ง สร้างการนำของขบวนการภาคประชาชนขึ้นมา ดังนั้นหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของพรรคก็คือ การสร้างปัญญาชนของชนชั้นผู้ถูกกดขี่เพื่อเข้าไปทำงานกับผู้ที่ถูกกดขี่และขบวนการทางสังคมในประเด็นต่างๆเพื่อต่อยอด สร้างภาพรวม และยึดโยงกับขบวนการอื่นๆในพื้นที่ประชาสังคม (civil society) โดยคำว่า "ปัญญาชน" ของกรัมชี่นั้นหมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่ผลิตความรู้และวิธีการมองโลก ดังนั้นคนธรรมดาๆก็สามารถเป็นปัญญาชนได้ ปัญญาชนจึงไม่ใช่แค่ ปรีดี พนมยงค์ หรือ จิตร ภูมิศักดิ์ แต่ผู้นำแรงงาน หรือแกนนำของขบวนการชาวบ้าน หรือคนที่ทำงานในขบวนการนักศึกษาก็ต้องทำหน้าที่เป็นปัญญาชนของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ด้วย ซึ่งถ้าหากภาคประชาชนไม่มีปัญญาชนของตนเองในการต่อสู้แล้ว เราก็ต้องพึ่งพิงกับคำอธิบายและวิถีการมองโลกของชนชั้นอื่นๆที่เป็นศัตรูของเรา เช่น การที่ภาคประชาชนบางส่วนไปสยบยอมกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง หรือ เห็นว่าการพึ่งอำนาจรัฐประหารแล้วจะสามารถล้มทักษิณได้ ก็เกิดจากการที่เราไม่มีปัญญาชนของเราในการผลิตความรู้และวิธีการมองโลกของเราเองได้ เป็นต้น.


 

 







เกี่ยวกับความคิดของ Antonio Gramsci โดยสังเขป


 


 


 


Antonio Gramsci (ค.ศ. 1891 - 1937) นักคิดนักเขียนสายมาร์กซิสต์ชาวอิตาเลี่ยน ในระยะแรกเป็นนักหนังสือพิมพ์ ต่อมามีบทบาทในพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี เคยถูก Benito Mussolini สั่งจำคุกเป็นเวลา 10 ปี


 


Gramsci มุ่งมั่นที่จะใช้ทฤษฎีทางสังคมในการดำเนินงานทางการเมือง เขาต่อต้านแนวคิดที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างถูกกำหนดด้วยคติตัวกำหนดทางเศรษฐกิจ (economist determinism) เขาพยายามจะตีความงานของ Karl Marx ในแนวใหม่ ประเด็นสำคัญคือเขาถือว่าอุดมการณ์และอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นอิสระจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เขาถือว่ามนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์แวดล้อมของตนเองได้ด้วยการดิ้นรนต่อสู้


 


เขาเชื่อว่า ชนชั้นนายทุนมีอำนาจเหนือผู้อื่นได้ ไม่ใช่ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องอาศัยพลังทางการเมืองด้วย ยิ่งกว่านั้นยังต้องอาศัยเครื่องมือทางอุดมการณ์ซึ่งฝ่ายที่ถูกครอบงำเห็นชอบด้วย เครื่องมือทางอุดมการณ์ในสังคมทุนนิยมได้แก่ สถาบันต่างๆ ของประชาสังคม (civil society) แม้แต่องค์กรทางศาสนา ครอบครัว หรือแม้แต่สหภาพแรงงานก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ของทุนนิยมด้วย


 


รัฐเองก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจทางการเมืองบีบบังคับชนชั้นอื่น แต่สเถียรภาพของสังคมทุนนิยมขึ้นอยู่กับอำนาจครอบงำทางอุดมการณ์ (ideological domination) ของชนชั้นแรงงาน อย่างไรก็ตาม Gramsci กล่าวว่าการครอบงำไม่สามารถทำได้โดยบริบูรณ์ ทั้งนี้เพราะชนชั้นกรรมาชีพมีจิตสำนึก 2 ส่วน คือ จิตสำนึกส่วนหนึ่งที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นนายทุน และอีกส่วนหนึ่งคือจิตสำนึกที่ถูกกำหนดโดยความรู้แบบสามัญสำนึกในชีวิตประจำวันของตนเอง.


 


 


บทความเชิงวิชาการที่น่าสนใจของ "เก่งกิจ กิติเรียงลาภ" จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (http://www.midnightuniv.org)


 


ประชานิยมไทยรักไทย : วิกฤตทุนนิยม รัฐ และการต่อสู้ทางชนชั้น (ตอนที่ ๑)


ประชานิยมไทยรักไทย : วิกฤตทุนนิยม รัฐ และการต่อสู้ทางชนชั้น (ตอนที่ ๒)


Giorgio Agamben: ว่าด้วยชีวิตเปลือยเปล่าและองค์อธิปัตย์ ๑


Giorgio Agamben: ว่าด้วยชีวิตเปลือยเปล่าและองค์อธิปัตย์ ๒


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net