Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 13 ก.พ. 2550 วานนี้ (12 ก.พ.) เวลา 15.00น. ที่อาคารรัฐสภา 3 ห้องประชุมชั้น 7 มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบที่ 2 ว่าด้วยสถาบันการเมืองในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธานคณะอนุฯ โดยมีการพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นส.ส. ตลอดจนสิทธิของส.ส. ในการเสนอร่างกฎหมาย ทั้งนี้ นายจรัญชี้แจงในที่ประชุมว่า หลักการที่คณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นชอบยังไม่ใช่ข้อสรุปตายตัว ต้องนำไปเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้ง

 


 


 



ห้ามมีส่วนได้ส่วนเสียกับหุ้น


กรณีมาตรา 110 (2) ที่ระบุว่า ส.ส. ต้องไม่รับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญา ที่ประชุมเห็นชอบให้รวมถึงคู่สมรส ญาติ และการใช้ผู้อื่นดำเนินการแทนในลักษณะนอมินีด้วย



นายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม อนุกรรมาธิการฯ อภิปรายโดยยกตัวอย่างกรณีหุ้นชินคอร์ป ซึ่งส่วนตัวมองว่า เข้ามาตรา 209 ที่ระบุห้ามรัฐมนตรีกระทำการบริหารเกี่ยวข้องหรือเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท แต่เมื่อ ส.ว. กลุ่มหนึ่งยื่นฟ้องไป กลับถูกตีตกไป


 


นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อนุกรรมาธิการฯ แสดงความเห็นว่า เขียนไว้แคบเกินไป โดยดูแค่ความเป็นหุ้นส่วนเป็นหลัก อย่างกรณีเทมาเสค ทักษิณประกาศว่าไม่ได้ขาย แต่ลูกเป็นคนขาย ดังนั้น ต้องเขียนให้กว้างโดยไม่ห้ามเฉพาะการถือหุ้น แต่รวมถึงห้ามมีส่วนได้ส่วนเสียด้วย อย่างไรก็ตาม อาจต้องระบุให้ครอบคลุมถึงหุ้นที่มีอยู่เดิมกับที่รับมาใหม่ด้วย


 


         



ห้าม ส.ส.เป็น กก.ผู้ทรงคุณวุฒิ-กก.สภามหาลัย


นอกจากนี้ อนุกรรมาธิการฯ เห็นชอบในหลักการห้ามไม่ให้ ส.ส.เป็นกรรมการในหน่วยงานราชการ ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ และห้ามเป็นกรรมการสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ โดยให้เหตุผลว่า เมื่อไม่ให้ใช้การเมืองมาสร้างอิทธิพล ทำให้คุณภาพการศึกษาแย่ลง


 


โดยนายเกริกเกียรติ กล่าวว่า ถ้าไม่ป้องกันไว้ต่อไปการเมืองจะเข้าไปในสภามหาวิทยาลัย ใช้อำนาจการเมืองวิ่งเต้น ประเพณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่เชิญนักการเมืองมาเป็นกรรมการ รวมถึงไม่ให้ดุษฎีบัณฑิตนักการเมือง แต่ช่วงหลังๆ ก็เปลี่ยนไป มหาวิทยาลัยต่างจังหวัดเองก็ต้องการดึงงบประมาณจึงต้องดึงนักการเมืองเข้าไปด้วย


 


 



ส.ส. ห้ามยุ่งเกี่ยวสื่อ


ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการไม่ให้นักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ โดยนายพิสิฐ อภิปรายว่า ที่ผ่านมา มีนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อโดยเฉพาะสื่อทีวี และใช้สื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นธรรม


 


 



ห้ามบริจาคให้พรรคเกินรายละ 2 ล้านต่อปี


กรณีการรับเงินบริจาคของพรรคการเมือง ที่ประชุมเห็นชอบว่าควรห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเกินรายละ 2,000,000 บาท และต้องเปิดเผยต่อสาธารณะกรณีมีผู้บริจาคเกิน 2,000 บาทขึ้นไป


 


นายประพันธ์ นัยโกวิท อนุกรรมาธิการฯ ได้เสนอแนวทางว่า ให้จัดทำประกาศรายชื่อผู้บริจาค ให้นิติบุคคลบริจาคให้พรรคการเมืองไม่เกิน 2,000,000 บาทต่อปี โดยให้เงินได้เฉพาะพรรคที่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้ง


 


นอกจากนี้ เสนอให้เพิ่มโทษกับผู้ที่ทุจริตเลือกตั้ง โดยนอกจากโทษส่วนตัวแล้ว ต้องยุบพรรคการเมืองนั้นด้วย หากพรรคหรือหัวหน้าพรรคมีส่วนรู้เห็นกับการทำผิด เนื่องจากมองว่า การทุจริตเลือกตั้งเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ มีผลกระทบต่อระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย


 


ด้านนายจรัญ แสดงความเห็นด้วยโดยกล่าวว่า เรื่องทุจริตเป็นเรื่องใหญ่พอๆ กับปฏิวัติ เพราะเป็นเหตุให้ปฏิวัติได้ จึงควรระบุมาตรการป้องกันการซื้อเสียง โดยให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) บรรจุการซื้อเสียงเป็นมูลฐานความผิด และให้ธนาคารที่มีข้อมูลการเบิกเงินสดจำนวนมากๆ ช่วงการเลือกตั้ง ให้รีบแจ้งต่อ ปปง.และสามารถยึดทรัพย์คืนแผ่นดินได้




        


 



เสนอ "ห้ามทำสัมปทานกับรัฐก่อนสมัคร ส.ส. 2 ปี"


นายเกริกเกียรติ ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาสองเรื่อง คือ ให้ผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ส. ยื่นบัญชีทรัพย์สินตั้งแต่วันที่สมัคร และต้องไม่ทำสัมปทานกับรัฐก่อนสมัครสองปี โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้ธุรกิจก่อสร้างเข้าไปอยู่ในพรรคการเมืองกันหมด


 


ด้านนายธนาวัฒน์ สังข์ทอง แสดงความเห็นว่า เรื่องยื่นบัญชีต้องคิดให้ดี เนื่องจากเราเพียงแค่จะตรวจสอบคนเข้าสู่กระบวนการรับเลือกตั้ง ยังไม่ได้เป็น ส.ส. ส่วนกรณีต้องไม่ทำสัมปทานกับรัฐก่อนสมัคร ส.ส. 2 ปี ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่า ต้องไม่กระทบต่อสิทธิพื้นฐานในการประกอบอาชีพของผู้สมัคร เช่น ก่อสร้าง ที่ต้องดำเนินธุรกิจกับส่วนของราชการ จึงเสนอว่า ให้ได้รับเลือกตั้งก่อนแล้วจึงไม่ควรเกี่ยวข้องกับสัมปทาน


 


ส่วนนายยศศักดิ์ กล่าวว่า ต้องคำนึงถึงพื้นฐานความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพ และพิจารณาว่าการย้อนหลังจำเป็นแค่ไหน เพราะจะมีปัญหา เนื่องจากไม่มีอะไรมาประกันว่า คนที่ไม่ได้ทำธุรกิจจะเป็นคนดีจริง โดยเสนอให้ออกจากธุรกิจทันทีเมื่อสมัครเป็น ส.ส. แทน


 


 



ก.ก.ต.ต้องตรวจสอบความเป็นไปได้นโยบายพรรค


ประเด็นการจัดระบบการควบคุมการเลือกตั้งให้ยุติธรรม นายประพันธ์ เสนอในที่ประชุมกมธ. ว่า รัฐต้องส่งเสริมและให้การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยและส่งเสริมให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น ให้หน่วยงานจัดยานพาหนะให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จ่ายค่าพาหนะ หรือระดมรถสวัสดิการมาช่วย


 


นายเกริกเกียรติ กล่าวว่า ก.ก.ต.ต้องตรวจสอบว่า นโยบายที่แต่ละพรรคใช้หาเสียงนั้น จะทำได้จริงอย่างไร ใช้เงินจากไหน โดยยกตัวอย่างในประเทศเดนมาร์กว่ามีพรรคการเมืองที่จะให้สวัสดิการมากมายกับประชาชน เมื่อมีคนถามว่าจะเอาเงินจากไหน ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ก็ไม่ได้คะแนน พรรคนั้นตอบว่า ทำได้โดยไม่เก็บภาษีเพิ่ม โดยจะยุบกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ให้เหลือแต่ตำรวจ แล้วเอางบมาจัดสรร ปรากฎว่า พรรคนี้ก็ได้คะแนนเยอะ แต่ก็ไม่เยอะจนขนาดจะเป็นรัฐบาล


 


 



ส.ส.เสนอ กม.ได้ไม่ต้องรอพรรคเห็นด้วย


นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ กล่าวว่า ประเด็นความเป็นอิสระจากการครอบงำทางการเมืองที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมหมายรวมถึงกรณีการเสนอกฎหมายเข้าสภาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกพรรค ว่าจะแก้ไขไหม ยังสงสัยว่าถ้า ส.ส.อยากเสนอแต่พรรคไม่เห็นด้วย จะเสนอได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีกรณีการลงมติในเรื่องต่างๆ ไม่ต้องฟังมติพรรค แต่เรื่องกฎหมายถ้าพรรคให้โหวตต้องเอาด้วย และการอภิปรายของพรรค พรรคอาจมีมติไม่ให้พูดก็ได้


 


นายพิสิฐ แสดงความเห็นว่า หากเสนอกฎหมายในพรรคแล้ว ยังไม่มีใครเอาด้วย ก็ไม่น่าจะผ่าน นอกจากนี้ ถามว่า ถ้ากฎหมายตกไป ก็ต้องลาออกแสดงความรับผิดชอบด้วย ทั้งนี้ยังเกรงว่า ส.ส.จะเสนอกฎหมายซ้ำๆกัน อาจเป็นฉบับเดียวกันแล้วลอกกันมา เพราะอยากได้ผลงาน ทำให้มีกฎหมายยังไม่ได้พิจารณาเต็มไปหมด ทั้งที่จริงแล้ว มีแต่ที่ซ้ำๆ กัน


 


"อยากเน้นว่า ส.ส. ควรสามารถแปรญัตติได้ เพราะทางปฏิบัติถ้าแค่เรื่องเสนอกฎหมายจะกลายเป็นเรื่องหาเสียงมากกว่า"


 


นายจรัญ กล่าวว่า ความรับผิดชอบของพรรค กรณีที่ส.ส.เสนอไปแล้ว ไม่ผ่านความเห็นชอบ เขามองว่า เจ้าของต้องรับผิดชอบเอง ส่วนที่ว่า ถ้าไม่ได้รับความเห็นชอบแม้แต่จากในพรรคจะชนะได้อย่างไร เขาเห็นว่า บางครั้งมีความคิดดีๆ เยอะ แต่ผ่านพรรคไม่ได้เพราะพรรคคุมโดยกลุ่มผลประโยชน์ที่ตรงข้ามกับกฎหมาย ทำให้ส.ส. อึดอัด แล้วไปแสดงออกทางอื่น ทำให้เกิดความปั่นป่วน


 


"การเสนอกฎหมายเป็นแค่สิทธิที่จะเสนอ ส.ส. ในฐานะผู้แทนประชาชนต้องมีสิทธิเสนอร่างกฎหมายได้ สภาหรือจะพรรคเอาไม่เอา ให้เขา (ส.ส.) รับผิดชอบไปเอง แต่อย่าป่วนอย่าตั้งราคาค่าตัว"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net