Skip to main content
sharethis

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล


กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)


 


 


ก่อนที่รัฐบาลชุดของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จะต้องมาปวดขมับกับการซ่อมแซม ปะผุ หรืออาจจะถึงขั้นรื้อ สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในขณะนี้ การกล่าวอ้างว่า "สนามบินสุวรรณภูมิ" จะเป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติได้เคยถึงตั้งคำถาม ถูกตั้งข้อสังเกต และถึงขั้นแฉโพยกันมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ว่ามีการทุจริตในทุกขั้นตอน มีความบกพร่องในการออกแบบและการก่อสร้าง และความกร่างที่จะเร่งให้เปิดทันเวลา


 


รวมถึงการทุจริตของนักวิชาชีพหลายต่อหลายคณะ และหลายคนที่รับรองว่า สนามบินสุวรรณภูมิไร้ปัญหา แม้จะเห็นรอยแตกร้าวของรันเวย์ สื่อมวลชนบางส่วนที่ไม่กล้าพูดความจริง หรือถึงขั้นโกหกหลอกลวงประชาชน ถึงขั้นหลอกตัวเอง เพื่อกลบความอัปลักษณ์ของสนามบินสุวรรณภูมิ


 


อย่างไรก็ตาม คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในขณะนั้นก็เกรงว่า ภาพพจน์ประเทศไทยจะเสียหายในสายตาต่างชาติ หลังจากที่เสียหายมาแล้วจากการที่ทหารยึดอำนาจ จึงตัดสินใจเปิดสนามบินสุวรรณภูมิตามเวลาที่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำหนด คือ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 เก้าวันหลังจากการรัฐประหาร โดยไม่คิดที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆที่ฝังตัวอยู่


 


ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่เพิ่งผ่านการหารือในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมาอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกันอย่างที่สุด


 


นายเกริกไกร จิระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พยายามย้ำหลายครั้งว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) จะดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติกลับมา มีข้อจำกัดในด้านเวลาที่ต้องเร่งลงนามไม่สามารถให้ สมาชิก สนช.พิจารณาได้อย่างรอบคอบ ด้วยที่ผ่านมาข้าราชการและนักวิชาการจากสถาบันวิจัยพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ก็ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า "ไม่มีความเสี่ยงใดๆ"


 


แม้ สมาชิก สนช.หลายท่านจะอภิปรายถึงความเสี่ยงต่างๆที่ปรากฏอยู่ในความตกลงฯ ทั้งจากที่รวบรวมจากข้อคิดเห็นของนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาชนภายนอก และจากประสบการณ์ตรงของ สมาชิก สนช. นั้นเอง เพื่อเสนอให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และแก้ไขประเด็นที่จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต แต่ทั้งรัฐมนตรีพาณิชย์ และคณะเจรจา ก็พยายามชี้แจงว่าไม่มีความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น หรือเป็นความเสี่ยงที่สามารถจัดการได้


 


การอภิปรายที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถูกตัดให้สั้น เพียงเพราะ สมาชิก สนช.บางคนที่รับเงินเดือนเดือนละ 130,000 บาท ต้องการทำหน้าที่เพียงหายใจรดสภาไปวันๆแล้วก็รีบๆกลับบ้าน ทำให้แม้แต่การหารือที่ได้รับการยกย่องว่า "เป็นความกล้าหาญทางประวัติศาสตร์การเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย" ก็ไม่สามารถทำได้อย่างจริงจัง และแทนที่จะรับฟังข้อคิดเห็นอย่างเต็มที่ รัฐบาลและทีมเจรจาก็ยึดกุมเวลาการอภิปรายไปมากกว่า 1 ใน 3 ของการอภิปราย 6 ชั่วโมงเศษ


 


และที่น่าเสียดายที่สุด คือ การที่ สมาชิก สนช.บางคนเห็นปัญหาว่า กำลังถูกรัฐบาลมัดมือชกให้เป็นตรายางสร้างความชอบธรรมให้กับการลงนามความตกลงฯ 900 หน้าที่ปากคนพูดว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ยังไม่เคยได้อ่านความตกลงฯ ฉบับจริง แต่กลับหน้าชื่นตาบานบอกว่า "ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างยิ่ฝ ผมยอมถูกมัดมือชก" เพราะเกรงว่านายกรัฐมนตรีจะ "มือเปล่า" ไปญี่ปุ่น ไม่มีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น ไป "จิ้มก้อง" นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ เพื่อแลกกับการยอมรับในรัฐบาลรัฐประหาร และเงินกู้จากญี่ปุ่นในโครงการเมกกะโปรเจค รถไฟฟ้า 5 สายของรัฐบาล


 


ดังนั้น เพื่อที่ในอนาคต ลูกหลานคนไทยจะไม่ลำบากในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาสืบสาวว่า ใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ และประชาชนรุ่นลูกรุ่นหลานจาก "สนามสุวรรณภูมิแห่งที่ 2" นี้


 


กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) จะจัดทำหนังสือเรื่องความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น เพื่อรวบรวมข้อวิเคราะห์เนื้อหาในแง่มุมต่างๆที่ภาคประชาสังคมต่างๆเห็นว่าเป็นปัญหาไว้


 


หากในอนาคต ไม่เป็นจริงตามคนกลุ่มนี้วิเคราะห์ไว้ก็จะมีหลักฐานไว้ตามด่าไล่หลังได้ว่า "ไอ้พวกขัดขวางความเจริญ" "ไอ้พวกไม่รักชาติ" ฯลฯ


 


แต่หากในอนาคต "สนามสุวรรณภูมิแห่งที่ 2" รันเวย์ร้าว แท็กซี่เวย์แตก ผ้าใบฉีกขาด อาคารผู้โดยสารถล่ม หนังสืออ้างอิงเล่มนี้ จะรวบรวมรายชื่อ นักการเมือง ข้าราชการ ทีมเจรจาร้อยกว่าชีวิต นักธุรกิจ รวมทั้ง สมาชิก สนช.ที่อภิปรายสนับสนุนให้ลงนามอย่างเร่งด่วน


 


เพื่อจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์เมื่อถึงวัน "สนามสุวรรณภูมิแห่งที่ 2" ถล่ม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net