Skip to main content
sharethis


สำนักข่าวประชาธรรม ได้เรียบเรียงปาฐกถาเรื่อง "คนท้องถิ่นกับการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม" โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในเวทีติดตามนโยบายสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ตอนเราจะมีส่วนร่วมในการดูแลเมืองเชียงใหม่อย่างไร? วันที่ 13 ก.พ.2550 ณ ห้องประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตวัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 


 


00000


 


...ผมคิดว่าเวลาคุณพูดว่าฮักเชียงใหม่ ต้องระวังให้ดีว่าเรารักอะไรกันแน่ รักเจดีย์องค์นั้น รักดอยสุเทพ รักกำแพงโบราณ รักคูเมือง แต่รักสิ่งเหล่านั้นไม่มีประโยชน์เลยถ้ามันไม่มีคนอยู่ในนั้น ดังนั้นผมคิดว่าฮักเจียงใหม่นี่ สิ่งแรกที่คุณจะต้องรักก่อนเลยคือรักคนเชียงใหม่...


 


 


ผมจะไม่เริ่มด้วยการบอกว่าการมีส่วนของคนท้องถิ่นกับการพัฒนาเมืองมีความสำคัญอย่างไร เพราะทุกท่านคงเห็นในแง่นี้ชัดเจนอยู่แล้ว มีเพียงประเด็นเดียวที่ผมอยากจะเตือนก็คือว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเราไม่มีส่วนร่วมในการกำกับความเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าหายนะสำหรับคนพื้นถิ่น คนท้องถิ่นค่อนข้างมาก ผมจะพูดถึงประเด็นนี้ แต่ผมอยากจะพูดถึงอุปสรรคของโครงสร้างใหญ่ที่ทำให้การมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่นกับการพัฒนาเมืองในปัจจุบันนี้มันเป็นไปยาก แล้วผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเวลาเราเคลื่อนไหว ดำเนินการอะไรเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง ผมคิดว่าเราจะมองแต่ตัวเมืองไม่ได้ เมืองมันอยู่ภายใต้โครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้น แล้วโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้นมันครอบงำเรา ไม่ให้ไปสิทธิมีเสียงในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงของเมือง ผมคิดว่าเรามีปัจจัยที่เราจะนึกถึงโครงสร้างใหญ่นี่ 2-3 อย่างด้วยกัน


 


ประการแรก เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศไทย เมืองคือแหล่งกำเนิดของเงินมากที่สุด ผมคิดว่าเกิน 75% ของ GDP เกิดขึ้นในเมือง ทีนี้ผมพูดถึงเงิน ไม่ได้พูดถึงทรัพยากร แน่นอนว่าทรัพยากรจะอยู่นอกเมืองแยะไปหมด แต่ว่าทรัพยากรเหล่านั้นถูกแปลงเป็นเงินในรูปต่างๆ ผ่านตัวเมืองมามากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น 70%-80% ของ GDP ของเรามันเกิดมาจากเมือง


 


ด้วยเหตุดังนั้น ผมคิดว่าผู้บริหารทุกระดับไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือเป็นข้าราชการประจำ หรืออะไรก็ตามแต่ หรือรวมทั้งแม้แต่รัฐประหารมาก็ตามแต่ จึงจะคิดด้านเดียว คือได้แต่คิดว่าเราจะผลิตให้มันมากกว่าเก่าขึ้นได้ยังไง เขาไม่ได้คิดถึงการตอบสนองวิถีชีวิตของคนในเมือง ฉะนั้น เมื่อผู้บริหารคิดว่าเมืองเป็นแหล่งผลิตเงิน อย่างเมืองเชียงใหม่จะนึกถึงอะไร แน่นอนต้องเป็นเมืองเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อนคนที่มีกำลังซื้อ เมืองไม่ได้มีไว้สำหรับคนที่ไม่ได้มีกำลังซื้อ ไม่ว่าคุณจะอ้างเศรษฐกิจพอเพียงแค่ไหนก็ตามแต่ ในความเป็นจริงแล้ว เมืองเขาจัดขึ้นสำหรับคนที่มีกำลังซื้อ ฉะนั้น จึงเป็นธรรมดาที่เมืองไม่ได้ตอบสนองวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในเมือง เพราะผู้บริหารเขาไม่ได้คิดถึงวิถีชีวิตทางนี้


 


อีกเรื่องที่ต้องคิดก็คือว่า โครงสร้างการบริหารส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันนี้ ส่วนกลางเป็นผู้คุมส่วนที่เราเรียกว่าการพัฒนาตลอดเวลา คือถ้าเราพูดถึงเมือง ทิศทางของเมืองควรจะก้าวต่อไปอย่างไร ไปในหนทางไหน คุณจะมีถนนหนทางอย่างไร คุณจะวางผังเมืองยังไง คุณจะจัดระเบียบของเมืองอย่างไร คนที่เป็นผู้วางผังจริงๆเป็นคนของส่วนกลาง เพราะโครงสร้างการบริหารประเทศของเรานั้น ยังกุมเรื่องนโยบายการพัฒนาไว้ที่ส่วนกลางแต่เพียงผู้เดียวอย่างเหนียวแน่นด้วย


 


เพราะฉะนั้น สัดส่วนการตัดสินใจของท้องถิ่นจึงมีน้อยมากหรือไม่มีเลย อย่างเรื่องผังเมือง ถามว่าเอาเข้าจริงใครเป็นคนวางผังเมือง คนท้องถิ่นมีส่วนในเรื่องการวางผังเมืองน้อยมาก เพราะฉะนั้นผมคิดว่าคน 2 พวกที่เข้ามากำหนดทิศทางการพัฒนาผังเมืองประกอบด้วยพวกนักการเมือง กับพวกนักธุรกิจที่มีเงินพอที่จะแปรเปลี่ยนเมืองตามความปรารถนาของตัวเองได้ และเราต้องไม่ลืมด้วยว่า จริงๆแล้วเมืองไม่ได้อยู่ในเขตเทศบาล เราต้องคิดถึงรอบนอกเมืองด้วย คนในเมืองไม่ได้ทำนาเองกินข้าวได้ เขาต้องกินข้าวอยู่ ที่มีข้าวกินได้เพราะมันมีเขตที่คนเขาทำนาแล้วเอาข้าวมาขาย เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงเมืองต้องมองให้กว้างไปถึงระบบทั้งระบบของการผลิตและอื่นๆที่ทำให้คนเมืองมันอยู่ได้


 


เพราะฉะนั้น คน 2 พวก คือนักธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากที่อื่น หรือข้าราชการหรือนักการเมือง คนเหล่านี้ไม่มีความรู้และไม่สนใจในวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นเลย อย่างกรณีเชียงใหม่ ผมอยากจะยกตัวอย่างให้เห็นว่า จริงๆ ในแอ่งเชียงใหม่นั้นไม่สามารถแยกเมืองเชียงใหม่กับลำพูนออกจากกันได้เลย ในประเพณีโบราณเชียงใหม่กับลำพูนมันเชื่อมโยงกันอยู่ตลอดเวลา คนที่แก่ๆหน่อยคงทราบอยู่ว่าประเพณีเก่าในเชียงใหม่จะไม่มีวัดไหนทำการตานก๋วยสลากก่อน ต้องรอให้วัดพระธาตุหริภุญชัยทำก่อน แล้ววัดอื่นๆในเชียงใหม่ค่อยทำ เพราะอะไร เพราะว่าประเพณีโบราณในเขตเชียงใหม่-ลำพูน พระธาตุที่เป็นประธานแห่งนี้ คือ พระธาตุหริภุญชัย ไม่ใช่พระธาตุดอยสุเทพ


 


สำหรับผม คำขวัญเรื่องพระธาตุดอยสุเทพเป็นศรีเป็นสง่า ดอกไม้บานอะไรทั้งหลายทั้งหมดนั้น มันเป็นแค่คำขวัญของกระทรวงมหาดไทยที่สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองเชียงใหม่เท่านั้น ไม่ใช่คำขวัญโบราณอะไรทั้งสิ้น แต่ทีนี้พอคุณจัดการกับเมืองเชียงใหม่และลำพูน คุณก็คิดแบบแยกเป็น 2 เมือง 2 จังหวัดที่มันไม่เกี่ยวกัน


 


ดังนั้น เส้นทางคมนาคมและอื่นๆข้ามตัวลำพูนไป ลำพูนเป็นติ่ง ถ้าใครอยากจะเข้าลำพูนคุณก็ไปถนนสายเชียงใหม่-กรุงเทพ คุณก็คิดถึงความสำคัญระหว่างเชียงกับกรุงเทพฯ ว่าทำไมมันสำคัญ  แต่ในทางวัฒนธรรมเชียงใหม่มันสัมพันธ์กับลำพูน แต่คุณไม่ได้จัดการคมนาคมสำหรับความสัมพันธ์อันนี้ ซึ่งตรงกันข้ามในสมัยโบราณถ้าใครเคยอ่านในนิราศหริภุญชัย ระหว่างเชียงใหม่กับลำพูนมันมีเส้นทางติดต่อที่เป็นถนนหลักอันหนึ่งของคนในสมัยโบราณ


 


นี่แค่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งว่าเมื่อคุณไม่เข้าใจวิถีชีวิตเดิม ขณะที่อำนาจของคุณมันมากเหลือเกิน พอมันมากคนในเมืองเองมันก็เปลี่ยน มันก็ไม่เข้าใจ มันก็ลืมไปแล้วว่าเชียงใหม่กับลำพูนมันเคยมีความสัมพันธ์กันยังไง ซึ่งจริงๆ มันเป็นระบบอยู่ในระบบทางวัฒนธรรมอันเดียวกันก็ว่าได้ แล้วก็พระธาตุดอยสุเทพกลายเป็นพระธาตุที่นักท่องเที่ยวชอบ เพราะใครๆขึ้นไปที่วัดพระธาตุเพราะมันสวยดี บรรยากาศมันก็เปลี่ยนทุกอย่างสบายหมด แล้วก็เลยทำให้คนในเมืองก็ลืมกันไปว่าไม่ใช่นะ พระธาตุที่มันเป็นหลักของแผ่นนี้ คือพระธาตุหริภุญชัย


 


เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวเพื่อมีส่วนร่วมในการกำกับการพัฒนาเมือง กับการเคลื่อนไหวเพื่อมีส่วนร่วมในการกำกับส่วนกลาง จริงๆแล้วมันเป็นเรื่องเดียวกันมันแยกออกจากกันไม่ได้ ทีนี้ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ทำอะไรได้บ้าง ในทัศนะผม ผมคิดว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่ค่อนขางจะพิเศษสักหน่อยที่ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับความเปลี่ยนแปลงในเมืองใหญ่ๆ เช่น โคราช อุบลราชธานี หาดใหญ่ แล้ว ถือว่าเชียงใหม่เป็นเมืองยกเว้นในแง่ที่ว่า มันมีความพยายามของประชาชนในเมืองเชียงใหม่ในการเข้าไปมีส่วนร่วมกำกับความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด มากที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ ถ้าเทียบกับกรุงเทพฯแล้วนี่ คนกรุงเทพฯไม่เคยสนใจเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นในเมือง ช่างหัวมันกูไม่เกี่ยว ทำมาหากินอย่างเดียว


 


ทีนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ทำอะไรได้บ้าง อันแรกสุดผมคิดว่าต้องคิดถึงการสร้างหรือจัดตั้งองค์กรทางสังคมที่มีฐานกว้างกว่านักวิชาการหรือคนแก่ๆที่บอกว่าตัวเองฮักเชียงใหม่และมีจำนวนน้อย ผมคิดว่าต้องคิดเรื่องนี้ ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวการจัดองค์กรทางสังคมที่จะทำให้ความรู้สึกรักเมืองเชียงใหม่ต้องเลิกคิดถึงอะไรที่เป็นผู้นำนิยม เลิกคิดว่าคนมีการศึกษาจำนวนน้อยจะเป็นปราการในการต่อสู้ความไม่สงบ ไม่จริง! มวลชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ


 


ประการที่สอง ผมคิดว่าต้องสร้างฐานความรู้ที่ดี ที่ผ่านมาผมคิดว่าในการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ของกลุ่มที่สนใจในเรื่องของการมีส่วนร่วมของการพัฒนาเมือง จริงๆก็มีการสนับสนุนอยู่บ้างเหมือนกัน จริงๆก็ไม่น้อย แต่ว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เพราะว่ากลุ่มคนเล็กๆที่เผอิญเข้าไปอยู่ในกลุ่มนั้นไม่มีอำนาจต่อรองเท่ากับคนกลุ่มใหญ่ ก็แน่นอนคนเล็กๆในประเทศไทยมันมีอำนาจต่อรองกับคนอื่นๆน้อย ฉะนั้นในที่สุดกลุ่มคนเล็กๆเหล่านั้นก็จะถอยห่างหนีหายออกไป ฉะนั้นผมคิดว่าจำเป็นที่จะต้องให้คนเล็กๆในเมืองมีอำนาจต่อรองที่ใกล้เคียงกับคนกลุ่มใหญ่ก่อนมันถึงจะสามารถรวมตัวกันในแง่สมานฉันท์ได้


 


นอกจากนี้ ผมคิดว่าเวลาคุณพูดว่าฮักเชียงใหม่ ต้องระวังให้ดีว่าเรารักอะไรกันแน่ รักเจดีย์องค์นั้น รักดอยสุเทพ รักกำแพงโบราณ รักคูเมือง แต่รักสิ่งเหล่านั้นไม่มีประโยชน์เลยถ้ามันไม่มีคนอยู่ในนั้น


 


ผมคิดว่าฮักเจียงใหม่นี่ สิ่งแรกที่คุณจะต้องรักก่อนเลยคือรักคนเชียงใหม่ คนเชียงใหม่ซึ่งมีสภาพที่แตกต่างกันมาก คนเชียงใหม่ซึ่งยากจนก็เยอะแยะไปหมด คนเชียงใหม่ซื่งเดือดร้อนกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองเยอะแยะไปหมด ถ้าขาดสิ่งนี้แล้วคำว่ารักเชียงใหม่มันก็เหมือนกับที่เขาสร้างฮอลลีวูด คุณอยากจะรักษาสถานที่ตรงนี้ไว้ถ่ายทำหนังสักเรื่องหนึ่งมากกว่า ดังนั้นหัวใจสำคัญคือต้องรักคนก่อน ก่อนที่จะมารักกำแพงเมืองหรือรักอะไรต่างๆ ไม่ใช่ว่าฮักเชียงใหม่แล้วบอกว่า คุณห้ามขายของริมทางเท้าเพราะเป็นทัศนะอุดจาด แล้วคุณจะให้คนจนๆจำนวนมากหากินยังไง ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราไม่อยากจะให้ขายของริมทางเท้าต้องตอบปัญหาเรื่องที่ทำกินของคนจนด้วย ทางเท้าคือทรัพยากรของเมือง แล้วคนจนๆซึ่งไม่มีปัญญาซื้อห้องแถวที่ติดกับถนนจะให้เขาหากินที่ไหน


 


ประเด็นต่อมาที่ผมอยากจะพูดถึงว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ผมว่าหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนอะไรต่างๆ ผมคิดว่ามันไม่ใช่อยู่ตรงที่รักษาไม่ให้ดอยสุเทพถูกปู้ยี่ปู้ยำเพียงอย่างเดียว หัวใจสำคัญคือว่า เราต้องทำให้เมืองกลับมาเป็นสมบัติร่วมกันของคนในเมืองให้ได้ก่อน ไม่ใช่เอาเมืองเชียงใหม่ไปบำเรอนักท่องเที่ยว หรือนักธุรกิจ ถึงแม้ว่าเราไม่ปฏิเสธนักท่องเที่ยว ไม่ปฏิเสธนักธุรกิจ แต่ต้องเข้าใจนะครับว่า เมืองเป็นของคนที่อยู่อาศัยก่อนอื่นทั้งหมด


 


การที่คุณเป็นนักท่องเที่ยวแล้วไปเที่ยวในเมืองจะเปรียบเทียบเหมือนคุณไปเที่ยวเกาะแก่งต่างๆไม่ได้ เพราะเกาะมันไม่มีคนอยู่ คุณจะทำอะไรบนเกาะก็เรื่องของคุณ แต่เมืองมันมีเจ้าของอยู่แล้วคุณต้องใช้คอมมูเนท คุณต้องปรับตัวให้เข้ากับเมือง ซึ่งเป็นรสอย่างหนึ่งของการท่องเที่ยว


 


ประเด็นสุดท้ายที่อยากพูดถึงก็คือว่า ต้องเคลื่อนไหวผลักดันเพิ่มอำนาจประชาชนและอำนาจท้องถิ่น ตราบเท่าที่เรามีระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ อบต.ไปถึง อบจ. เยอะแยะไปหมดแล้ว แต่ให้สังเกตนะครับว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากร หรือมีน้อยมาก คือจัดการทรัพยากรเองไม่ได้ อำนาจที่แท้จริงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคืออำนาจในการจัดการทรัพยากร คุณจะแบ่งงบประมาณส่วนกลางมาให้ 35% แต่คุณไม่ให้อำนาจในการที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรเลย ก็ไม่ทำให้เกิดอำนาจในท้องถิ่นขึ้นมาได้ คุณได้ 35% ก็ได้ทำหน้าที่เป็นคนเก็บขยะให้สะอาดขึ้นเท่านั้นเอง คืออำนาจเก็บขยะมันไม่พอในการที่บอกว่าเป็นการกระจายอำนาจตราบคุณจะสามารถทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถที่จะมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรได้


 


ถ้าบ้านคุณอยู่ติดกับภูเขา แล้วมีคนจะระเบิดภูเขา เขาไม่ได้ขอคุณ แต่เขาขอจังหวัด ขอกรมทรัพยากรธรณี และก็ขอให้นายก อบต.หรือกำนันแห่งนั้นเซ็นแก๊กหนึ่ง คุณก็รู้อยู่นายก อบต.กับกำนัน อันนี้ไม่ได้โทษเขานะ ถ้ามีเงินมาเสนอให้ล้านหนึ่งจะเอาไหม เอาก็เซ็น เพราะยังไงๆไม่ใครเถียงก็ระเบิดจนได้ ดังนั้นทำยังไงถึงจะทำให้องค์ส่วนท้องถิ่นมีอำนาจส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมดในการจะคานวินิจฉัยของกรมทรัพยากรธรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ   เพราะว่าการระเบิดภูเขาที่อยู่ใกล้บ้านนั้นเกิดความเดือดร้อนอย่างยิ่งแก่ชาวบ้าน แต่เขากลับไม่มีอำนาจในการตัดสินใจจะให้ระเบิดหรือไม่ให้ระเบิด


 


นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดอำนาจท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง คืออย่าไปมองแต่เพียงเรื่องเราอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง เมืองมันอยู่ภายใต้โครงสร้างขนาดใหญ่ ตราบเท่าที่คุณไม่ช่วยในการผลักดันในการที่จะให้คนในท้องถิ่นมีอำนาจจัดการทรัพยากร ยังไงๆคุณก็ร่วมลำบาก และผมเชื่อว่าถ้าคุณทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่า อบต. อบจ. อะไรก็แล้วแต่ มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรระดับหนึ่ง ผมเชื่อว่าชาวบ้านและชาวเมืองจะรู้สึกไม่ใช่เรื่องเล่นๆแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่จะมาซื้อเสียงขายเสียงกันต่อไปแล้ว เพราะว่ามันกระทบต่อชีวิตของเขา เขาก็จะมีวิธีใช้วิจารณญาณในการเลือกคนเข้าไปทำงานตรงนั้นมากกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้.


 


 


00000


ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net