Skip to main content
sharethis

ผลกระทบของเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นต่อเกษตรกร


กรณีการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่


เท่ากับมาตรฐานที่ประเทศอุตสาหกรรมต้องการ


 


 


1. ภายใต้กฎหมายไทยการประกาศรายชื่อพันธุ์พืชใหม่ทำโดยคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย


กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ของไทย เนื่องจากกฎหมายของไทยบัญญัติขึ้นภายใต้หลักการ Sui Generis ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์กรการค้าโลกมาตรา 27.3(b) ทั้งนี้โดยนอกเหนือจากให้การคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นแล้ว คำประกาศพันธุ์พืชใหม่จะต้องประกาศอย่างระมัดระวังโดยต้องคำนึงถึงเงื่อนไขหลายประการ เช่น ต้องเป็นชนิดพืชที่มีสายพันธุ์พื้นเมืองดีเด่น เป็นพันธุ์พืชที่กระทรวงเกษตรฯมีขีดความสามารถในการวิจัยแข่งขันได้  ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองเกษตรกรไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น ในขณะที่มาตรฐานคุ้มครองพันธุ์พืชตาม UPOV1991 นั้นบังคับให้ประเทศภาคีต้องให้การคุ้มครองพืชทุกชนิดไม่มีข้อยกเว้น


 


2. เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นกำหนดให้การประกาศการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานระหว่างประเทศหรือ UPOV 1991


            ในข้อ 135(1) (2) กล่าวว่าให้ภาคีแต่ละฝ่ายให้สิทธิในการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่บนมาตรฐานระหว่างประเทศ และต้องให้การคุ้มครองพืชหรือสายพันธุ์พืชให้มากสายพันธุ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ และโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะปฎิบัติได้  ตามรายละเอียดข้างล่างนี้


"1. คู่ภาคีตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ในลักษณะที่อยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อความมุ่งประสงค์นี้ ภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องให้ความมั่นใจว่าสิทธิที่เกี่ยวกับพันธุ์พืชใหม่ได้รับการให้ความคุ้มครองอย่างเพียงพอ


2. ภาคีแต่ละฝ่าย โดยคำนึงถึงข้อกังวลของภาคีอีกฝ่าย จะต้องพยายามคุ้มครองพันธุ์พืชหรือสายพันธุ์พืชให้มากพันธุ์หรือสายพันธุ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะได้ ในลักษณะที่กำหนดไว้ในวรรค 1 ข้างต้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถปฏิบัติได้ "


ข้อบทนี้คือการผลักดันให้ประเทศไทยใช้มาตรฐานการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามมาตรฐานของสหภาพคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่(UPOV) หรือให้ใกล้เคียงกับมาตรฐานของ UPOV1991 ให้มากที่สุดและให้เร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้นั่นเอง


            ความตกลงในข้อ 135 จึงเป็นความตกลงที่มากไปกว่าพันธกรณีที่ประเทศไทยมีในองค์กรการค้าโลกซึ่งแย้งต่อผลการศึกษาเรื่อง "ข้อสังเกตต่อร่างความตกลง JTEPA" ของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ที่สรุปว่า "บทบัญญัติด้านทรัพย์สินทางปัญญาใน JTEPA ไม่ได้มีเนื้อหาที่อ่อนไหวมากนัก" และ "พันธกรณีตามความตกลงระหว่างประเทศที่กำหนดอยู่ใน JTEPA เป็นพันธกรณีที่ไทยมีอยู่แล้วตามความตกลง TRIPS เนื่องจาก JTEPA ไม่มีข้อกำหนดให้ประเทศภาคีต้องเข้าเป็นภาคีสมาชิกของความตกลงระหว่างประเทศอื่นที่ยังไม่ได้เป็นภาคีสมาชิก"(หน้า 115)


 


3. ข้ออ้างของคณะเจรจาที่ไม่ถูกต้อง


            1) คณะเจรจาอ้างว่าข้อบทเป็นไปตามข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์กรการค้าโลก(TRIPs)


2) คณะผู้เจรจาอ้างว่าการประกาศการให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่นั้นอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย โดยอ้างตัวบทข้อ135(3) ซึ่งเขียนเอาไว้ว่า


 "โดยไม่คำนึงถึงข้อ 124 และข้อ 125 ภาคีแต่ละฝ่ายอาจจำกัดขอบเขตของพันธุ์พืชหรือสายพันธุ์พืชซึ่งภาคีนั้นได้ให้สิทธิที่กล่าวถึงในวรรค 1 ข้างต้นแก่คนชาติของภาคีอีกฝ่าย เท่ากับพันธุ์หรือสายพันธุ์พืชที่ภาคีอีกฝ่ายให้สิทธิแก่คนชาติของฝ่ายแรกโดยเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของตน"


3) อ้างว่าได้เจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นแล้วว่ามีความเข้าใจตรงกันว่าไทยจะปฎิบัติภายใต้กฎหมายไทย


 


4. ข้อโต้แย้ง


            1)  แม้ญี่ปุ่นจะมิได้เรียกร้องให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของ UPOV1991 เหมือนกับที่สหรัฐเรียกร้องต่อไทยระหว่างการเจรจาเอฟทีเอ แต่การเขียนข้อบทที่ได้วิเคราะห์ข้างต้นในข้อ 135(1)(2) ก็มีความหมายใกล้เคียงกับการเข้าเป็นสมาชิก UPOV1991 นั่นเอง


            2) คณะผู้เจรจาฝ่ายไทยอาจอ้างว่าการคุ้มครองพันธุ์พืชตามมาตรฐานระหว่างประเทศหมายถึง การปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีตาม TRIPs 27.3(b) ก็ได้ คำอธิบายนี้ไม่ถูกต้องเนื่องจาก "ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ในลักษณะที่อยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานระหว่างประเทศ" นั้นหมายถึงได้เฉพาะ UPOV1991 ได้เท่านั้นเพราะกล่าวถึง "พันธุ์พืชใหม่"ไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ในขณะที่ข้อตกลงตาม  TRIPs 27.3(b) กล่าวถึงการให้สิทธิบัตรที่กล่าวถึง พืช สัตว์ และจุลชีพ โดยทั่วไปเท่านั้น (ในทางวิชาการชนิดพืช หรือพืช กับ"สายพันธุ์พืช"มีความหมายแตกต่างกันอย่างชัดเจน)


            3) ข้อบทข้อ 135(3) ไม่ได้ให้สิทธิประเทศไทยในการประกาศรายชื่อพืชใหม่ที่จะได้รับการคุ้มครองได้ตามอำเภอใจ เพราะการประกาศรายชื่อนั้นต้องเป็นไปตามวรรค(1) และ(2) เท่านั้น  ส่วนวรรค (3) ซึ่งคณะเจรจาอ้างว่าเราสามารถประกาศชนิดของพืชได้ภายใต้กฎหมายไทยนั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะความหมายในข้อบทนี้หมายถึง การที่แต่ละฝ่ายจะให้การคุ้มครองสายพันธุ์พืชและชนิดพืชเท่ากับชนิดและสายพันธุ์ที่อีกฝ่ายหนึ่งให้เท่านั้น แต่มิได้หมายความว่าเราสามารถประกาศชนิดพันธุ์พืชที่ได้ตามหลักเกณฑ์ภายใต้กฎหมายไทย หากแต่ต้องเป็นไปตาม"มาตรฐานระหว่างประเทศ"เท่านั้น


            4) ข้อความใน 135(1)ที่ระบุว่า "สิทธิที่เกี่ยวกับพันธุ์พืชใหม่ได้รับการให้ความคุ้มครองอย่างเพียงพอ" หมายถึงการที่ประเทศไทยต้องให้สิทธิแก่ต่างชาติเท่ากับมาตรฐานUPOV1991 ซึ่งหมายถึงจำกัดสิทธิเกษตรกรในการแลกเปลี่ยนพันธุ์ การเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อในฤดูถัดไป(save seed) และให้สิทธิผูกขาดในเรื่องเมล็ดพันธุ์ใกล้เคียงกับกฎหมายสิทธิบัตรพันธุ์พืชนั่นเอง


5) ความเข้าใจของคณะเจรจาที่ว่า "ประเทศไทยจะให้การคุ้มครองพันธุ์พืชภายใต้กฎหมายภายใน" ไม่อาจนำมารับประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากข้อบทใน(1) และ (2) ไม่ได้รับการแก้ไข


 


5. เปรี่ยบเทียบกับเอฟทีเอที่ที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศฟิลิปปินส์


            เอฟทีเอที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศฟิลิปปินส์นั้นเขียนไว้อย่างชัดเจนในข้อ 127 ว่าการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่นั้นต้องเป็นไปตามกฎหมายภายในของตน[1]


 


6. ผลกระทบ


            1) เกษตรกรจะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ราคาแพงเพราะการผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยบริษัทต่างชาติ


            2) วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ระหว่างกัน และการเก็บรักษาพันธุ์ไว้ปลูกต่อในฤดุถัดไปจะได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อการลดลงของความหลากหลายทางพันธุกรรมในระยะยาว


            3) แทรกแซงและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการกำหนดนโยบายที่จะคุ้มครองเกษตรกรภายใต้การบริหารกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542


            4) สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆจะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับญี่ปุ่นตามหลักปฎิบัติต่อ "คนชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored-Nation Treatment)"  ที่ระบุไว้ในมาตราที่ 4 และ 5 ของข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์กรการค้าโลก


 


7. ข้อเสนอ


ควรตัดข้อ 135 ออกเสียทั้งมาตรา เช่นเดียวกับ JPEPA ซึ่งไม่ปรากฏข้อความนี้แต่อย่างใด เพราะการคงมาตรานี้เอาไว้จะสร้างความเสียหายและผลกระทบต่อเกษตรกรไทย และความหลากหลายทางพันธุกรรมในอนาคต






[1] Article 127 New Varieties of Plants


Each Party recognizes the importance of providing a system of protection of new varieties of plants and shall, within its capabilities, endeavor to increase the number of plant genera and species that can be protected under its laws and regulations. In this regard, each Party shall consider the concerns of the other Party.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net