Skip to main content
sharethis

ทิพย์อักษร มันปาติ


สำนักข่าวประชาธรรม


 


ความเจริญเติบโตของเมืองเชียงใหม่  เมืองท่องเที่ยวที่หลายคนใฝ่ฝันหา  ไม่ต่างไปจากกรุงเทพฯ  และอีกหลายเมืองในโลกที่มุ่งเน้นแต่การพัฒนา  การสร้างอาคารสูงที่ขาดการวางผังจนละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อม  มลพิษ  ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตต่อคนที่อยู่อาศัย


 


กรณีการเติบโตของการก่อสร้างอาคารสูงจำนวนมากบริเวณซอยวัดอุโมงค์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พื้นที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนนคลองชลประทานในระยะเวลา 3-5 ปี มานี้เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนของการพัฒนาที่ไร้ทิศทาง  และขาดวิสัยทัศน์ยิ่ง   การก่อสร้างอาคารดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้อยู่อาศัยในชุมชนนี้หลายประการ ทั้งปัญหารถติดในซอยเป็นเวลานาน ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานรางระบายน้ำได้รับความเสียหายเนื่องจากรถบรรทุกวัสดุก่อสร้าง และรถบัสขนาดใหญ่ที่พานักท่องเที่ยวมาพักอาศัยที่โรงแรมเปิดใหม่ได้ไม่กี่ปี


 


นอกจากนี้ยังมีปัญหาฝุ่นควันจากการก่อสร้าง ควันจากรถยนต์และจักรยานยนต์ มลพิษทางเสียง แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ อาคารสูงหลายแห่งอนุญาตให้ก่อสร้างขึ้นอย่างไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน ซ้ำยังไม่คำนึงถึงพื้นที่แวดล้อมเดิมส่งผลให้การก่อสร้างไปปิดกั้นทางระบายน้ำจนน้ำท่วมบ้านชาวบ้าน ทั้งยังมีระยะถอยร่นไม่สอดคล้องกับความกว้างของถนน สร้างใกล้ขอบถนนบดบังบริเวณทางโค้ง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบติเหตุอย่างยิ่ง


 


อาคารสูงรุกเชิงดอย


 


ข้อมูลจากหนังสืออาคารสูง ผลกระทบต่อสุขภาพและอนาคตของเมืองเชียงใหม่ โดย ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ ระบุว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529-2536 เป็นยุคที่ 3 ของ อาคารสูงของเมืองเชียงใหม่ โดยเกิดลักษณะอาคารสูงประเภทอาคารที่พักอาศัยแบบคอนโดมิเนียมเนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มอิ่มตัว มีคอนโดมิเนียมแห่งแรกเกิดขึ้นบริเวณใจกลางเมืองเชียงใหม่ คือ อาคารดวงตะวัน (สูง 8 ชั้น) ตามด้วยโครงการ 103 คอนโดมิเนียม (สูง 5 ชั้น) และ ศรีธนาคอนโดมิเนียม (สูง 9 ชั้น) บริเวณเชิงดอยสุเทพ ลักษณะการใช้ประโยชน์เพื่อเป็นบ้านพักตากอากาศ เป็นบ้านหลังที่สองของคนกรุงเทพฯ และเป็น อสังหาริมทรัพย์สำหรับการเก็งกำไร การใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยจริงมีน้อย หลังจากนั้นได้เกิดโครงการคอนโดมิเนียมบริเวณเชิงดอยสุเทพตามมาอีกเป็นจำนวนมาก เฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2531-2533 มีสถิติการสร้างอาคารสูงทั้งสิ้น 12 โครงการ ขออนุญาตปลูกสร้างเตรียมการเพื่อก่อสร้างอีกประมาณ 47 โครงการ สถานที่ก่อสร้างอาคารสูงเหล่านี้อยู่ในบริเวณเชิงดอยสุเทพ ซึ่งสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่งดงามของดอยสุเทพเป็นจุดขายของโครงการ


 


อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของอาคารสูงบริเวณซอยวัดอุโมงค์ ต.สุเทพ ซึ่งเป็นพื้นที่เชิงดอยสุเทพ ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดิมหลายด้าน เช่น ปัญหาการจาจร การระบายน้ำ การเก็บกำจัดขยะ การขาดแคลนน้ำใช้ สุขภาพอนามัยที่เกิดจากอาคารสูงบังแดดบังลมของบ้านข้างเคียง รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากผู้อยู่อาศัยในอาคารสูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าอาศัยชั่วคราวประพฤติปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม ประกอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงการก่อสร้างด้วยเช่น ถนนชำรุด เศษวัสดุตกใส่บนถนน อุบัติเหตุจากการขนวัสดุและการก่อสร้าง จนกระทั่งกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนได้เสนอร่างข้อบังคับตำบลเรื่องการควบคุมความสูงของอาคาร โดยเฉพาะในหมู่ที่ 8, 10 และ 14 ไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยให้ข้อบังคับดังกล่าวมีอายุเพียงแค่ 5 ปี เท่านั้น โดย อบต. สุเทพ รับข้อเสนอไว้ แต่ภายหลังพบว่าไม่ได้มีการอนุมัติใช้ข้อบังคับดังกล่าว


 


ส่วนในปี พ.ศ. 2547 ตัวแทนสมาชิก อบต. สุเทพ ได้ยื่นเสนอร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลสุเทพ เรื่องควบคุมอาคารอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แต่สภาไม่เห็นชอบ ข้อเสนอดังกล่าวจึงไม่ถูกหยิบยกนำมาพิจารณาจนกระทั่งปัจจุบัน


 


อำนาจไม่กระจายสู่ท้องถิ่น ชาวบ้านคว้าน้ำเหลว


 


แม้ว่าตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ให้อำนาจองค์การบริหารส่วนตำบลอาจออกข้อบังคับตำบลเพื่อใช้บังคับในตำบลได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรืออำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล แต่กฎหมายก็ยังมีช่องว่าง กล่าวคือ การออกข้อบังคับตำบลดังกล่าว ในการนี้จะกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บและกำหนดโทษปรับผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดโทษปรับเกินห้าร้อยบาท


 


แต่นอกเหนือไปจากนั้น มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่หลายฝ่ายต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาท และอำนาจของหน่วยงานท้องถิ่นว่าได้ทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดการดูแลจัดการตนเอง โดยให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมจัดการปัญหาต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการและดูแลตนเองได้อย่างเข้มแข็งตามเป้าหมายการกระจายอำนาจและการปกครองสู่ท้องถิ่นแล้วหรือไม่


 


ทั้งนี้ ข้อมูลการเก็บภาษีของ อบต.สุเทพ เมื่อปี 2549 พบว่า ได้รับรางวัลเก็บภาษีอันดับที่ 2 ของประเทศ เป็นเงินงบประมาณจำนวน 6 ล้านบาท ดังนั้น คำถามจึงมีอยู่ว่า เงินรายได้จากการเก็บภาษีเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีที่ดิน และภาษีโรงเรือน โดยที่หน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้อนุมัติการอนุญาตสร้างอาคารสูงต่างๆ ทั้ง หอพักขนาดใหญ่ คอนโดมิเนียม โรงแรม ด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเกิดอาคารสูงขึ้นหลายแห่งเสมือนหนึ่งไม่มีการควบคุม


 


รศ.ดร.บุญลือ เผือกผ่อง ประธานสภา อบต.สุเทพ กล่าวว่า การออกกฎข้อบังคับของท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะผ่านขั้นตอนไปได้แค่ไหนนั้นเราต้องช่วยกัน ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายเดิมระบุว่า การสร้างอะไรก็ตาม หากมีพื้นที่ก่อสร้าง 240 ตร.. อนุญาตให้รถจอดอย่างน้อย 1 คัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ใช้กฎนี้มาตลอด แต่ถ้าเราจะออกกฎใหม่ เช่น ในพื้นที่ 20 ตร.. อนุญาตให้รถจอดได้อย่างน้อย 1 คัน ตนคิดว่าการเสนอข้อบังคับท้องถิ่นดังกล่าวเป็นที่แน่นอนว่าอาจจะไม่ผ่านในขั้นตอนการส่งเรื่องอนุมัติในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งก็ได้


 


"เราจะต้องช่วยกันผลักดันให้มีการแก้กฎหมาย ซึ่งเป็นวิธีแก้ไขที่ถูกต้อง โดยที่ อบต. จะยอมเสียหน้าทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่ากฎหมายเดิมเป็นอย่างไร แต่เพราะเราเห็นความสำคัญของประชาชน เมื่อประชาชนผลักดันเราก็ทำการแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ แต่ประชาชนก็ต้องตั้งใจจริงในการแก้กฎหมายด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ อบต. ดำเนินการอย่างเดียว เพราะต้องยอมรับว่าอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีข้อจำกัด" รศ.ดร.บุญลือ กล่าว


 


รศ.ดร.บุญลือ กล่าวต่อว่า หากประชาชนมีข้อเสนอ สมาชิกสภา อบต. ก็สามารถนำเสนอร่างข้อบัญญัติตำบลผ่านทางสภาได้ แต่กฎหมายใหญ่อยู่ที่จังหวัด และประเทศ แต่เมื่อประชาชนเดือดร้อน เราก็ทำได้แม้ว่าจะขัดกับกฎหมายใหญ่ก็ตาม เราจะเอาเสียงประชาชนแสดงให้เห็นว่ากฎหมายเดิมล้าสมัย จำเป็นต้องแก้ไข เช่น การลดระดับความสูงของอาคาร พื้นที่จอดรถที่รองรับในตัวอาคารอย่างพอเพียง เพื่อไม่ให้รถมาใช้ถนนเป็นที่จอด เป็นต้น ส่วนการออกข้อกำหนดเรื่องสีของอาคารนั้น อาจใช้การขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการไม่ให้ใช้สีที่ฉูดฉาด แต่ต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ มีความกลมกลืน คงยังไม่ถึงขั้นต้องออกเป็นกฎบัญญัติ


 


ส่วน นายการุณย์ คล้ายคลึง นายก อบต.สุเทพ กล่าวว่า อบต. ทำหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบด้านโครงสร้างของอาคารเท่านั้น ส่วนด้านความสูงอยู่ในการกำกับดูแลของการท่าอากาศยานพาณิชย์ และเขตความปลอดภัยการบินทหาร กองทัพอากาศ ซึ่งตามหลักแล้วความสูงของอาคารอยู่ในระดับไม่เกิน 23 เมตร หรือประมาณ 7-8 ชั้น ฉะนั้น หากการขอสร้างอาคารผ่านหน่วยงานทั้งสองส่วนดังกล่าว ทาง อบต. ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไประงับ


 


"น้ำท่วม" ทุกข์ของชาวบ้านจากอาคารสูง


 


การก่อสร้างอาคารสูงบริเวณซอยวัดอุโมงค์ เช่น อาคารหอพักขนาดใหญ่ อพาร์ตเมนต์ โรงแรม โดยไม่มีพื้นที่จอดรถอย่างเพียงพอ และจงใจสร้างขึ้นโดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆแบบแปลนการก่อสร้างอาคารนั้น ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนหลายด้าน ทั้งการจราจรติดขัด เกิดความแออัดของชุมชน ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง และอากาศ เนื่องจากฝุ่นควันจากรถยนต์ และการก่อสร้าง ท่อระบายน้ำหลายแห่งชำรุดเสียหาย เกิดการอุดตัน นอกจากนี้ อาคารสูงที่ถมแปลนการสร้างขึ้นสูงกว่าระดับที่ดินเดิม ยังส่งผลกระทบทำให้บ้านพักอาศัยของประชาชนกลายเป็นพื้นที่รับน้ำอีกด้วย


 


นางหทัย ธรรมเสตุ ผู้อยู่อาศัยในซอยวัดอุโมงค์ ซอย 11 บ้านหลิ่งห้า หมู่ที่ 8 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า บ้านที่อาศัยอยู่ของตนสร้างมา 16 ปี แล้ว โดนในสมัยก่อนมีสิ่งแวดล้อมดีมาก ไม่มีสิ่งปลูกสร้างสูงรอบๆ บ้านเช่นในปัจจุบัน เช่น ตึก 8 ชั้น ที่กำลังก่อสร้างใกล้กับบ้านของตนในขณะนี้ แต่ที่ผ่านมาทาง อบต. สุเทพ ก็ไม่มีการจัดทำแพลนนิ่งหรือโซนนิ่งเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอะไร ทำให้เกิดตึกสูงขึ้นมามากมาย


 


"การสร้างตึกสูง 8 ชั้น เป็นการทำเกินเหตุ และสุดขีดที่จะทน และแนวโน้มสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนี้ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าย่ำแย่ขนาดไหนแล้ว ความแออัดของที่อยู่อาศัย ขยะ อากาศเสีย ฝุ่นละออง และสารแขวนลอยในอากาศ เราจะทำอย่างไรถึงจะเป็นการป้องกัน มิเช่นนั้นก็จะมีคนมาสร้างเรื่อยๆ สร้างความเดือดร้อนให้กับคนที่อยู่อาศัยมาก่อนแล้วอย่างไม่สิ้นสุด" นางหทัย กล่าว


 


นางหทัย กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ส่งผลตามมาจากการสร้างอาคารสูงเป็นเรื่องพื้นฐาน คือ ระบบน้ำ ท่อน้ำอุดตัน การไหลระบายน้ำมีปัญหา น้ำไม่ไหล ทำให้เกิดน้ำท่วม เช่น ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปัญหาน้ำท่วมขัง แต่หน้าฝนในปีที่ผ่านมา ไม่สามารถระบายไหลไปตามท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านของตน ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงกว่าน้ำจะซึมแห้ง รวมทั้งสวนที่ตกแต่งหน้าบ้านก็ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและตกแต่งใหม่เป็นเงินกว่าแสนบาท นอกจากนี้ยังมีปัญหาฝุ่นแขวนลอยในอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงด้วย"


 


"ตึกสูงที่สร้างขึ้นในลักษณะหอพัก อพาร์ตเมนต์ และอื่นๆ ที่มีการถมที่ให้สูงขึ้น ทำให้บ้านที่ปลูกอยู่รอบๆ กลายเป็นแอ่งน้ำไปทันทีในช่วงหน้าฝน ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาของ อบต. เป็นการแก้ที่ปลายเหตุโดยการมาเจาะท่อระบายน้ำ และกินพื้นที่ถนนเข้ามาอีก ยิ่งทำให้ถนนแคบลง ซึ่งแม้ว่าท่อระบายน้ำจะช่วยระบายน้ำได้ดีขึ้น แต่ก็มีหลายจุดที่เกิดการอุดตัน จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้สักที นอกจากนี้ยังไม่มีการควบคุมการก่อสร้างอาคารสูง ซึ่งหากเป็นแบบนี้ต่อไป ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งแวดล้อมจะมีปัญหาแน่นอนเมื่อมีคนเข้ามาอยู่มากขึ้น ตอนนี้มีตึก 8 ชั้น กำลังก่อสร้างขึ้นใกล้บ้าน ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะปล่อยให้สร้างขึ้นได้แบบนี้" นางหทัย กล่าว


 


ผู้อยู่อาศัยในซอยวัดอุโมงค์ ซอย 11 บ้านหลิ่ง 5 หมู่ที่ 8 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รายหนึ่ง กล่าวว่า สิ่งตนสามารถสังเกตเห็นได้ภายหลังจากการเกิดตึกสูงขึ้นจำนวนมากในช่วง 2-3 ปี มานี้ คือ อากาศร้อนขึ้น เพราะไม่มีต้นไม้ นอกจากนี้ก็มีปัญหาเรื่องเสียงดัง ทำให้แถบนี้ไม่ค่อยน่าอยู่แล้วเพราะมีหอพักเยอะมาก ซึ่งปัจจุบันแถบนี้มีบ้านแค่ 3-4 หลัง ส่วนที่เหลือกลายเป็นตึกสูง และหอพักหมดเลย


 


"โดยพื้นเพเป็นคนกรุงเทพ แต่ย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ได้ 10 ปี แล้ว เพราะชอบอากาศที่นี่ และรถไม่ติด แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นเยอะมากทั้งอากาศก็แย่ลง และตึกสูงก็มีเยอะขึ้น ต่างจากแต่ก่อนที่เป็นบ้านเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ผลกระทบจากการสร้างตึกสูงอย่างไม่มีการควบคุม ทำให้เกิดน้ำท่วมที่หน้าบ้าน ซึ่งแต่ก่อนหน้านี้แม้ว่าจะมีน้ำลงมาจากดอยสุเทพแต่ก็สามารถระบายได้ทัน แต่พอเกิดตึกสูง 8 ชั้น ซึ่งสร้างขึ้นข้างๆ กับหอพักที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้น้ำไม่ไหล เพราะพื้นที่ที่สร้างตึกใหม่สร้างปิดทางระบายน้ำเดิม" ผู้อยู่อาศัยซอย 11 กล่าว 


 


แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวเสริมว่า กรณีตึกสูง 8 ชั้น ที่กำลังก่อสร้างนี้ เคยมีกรณีฟ้องร้องเกิดขึ้นเมื่อปี 2549 โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบร่วมลงชื่อนำไปยื่นที่ อบต.สุเทพ แต่ก็ไม่ทราบว่า อบต. จัดการอะไรบ้าง แต่เท่าที่เห็นคือ ทาง อบต. เข้ามาทำท่อระบายน้ำให้ แต่ก็ไม่รู้ว่าหน้าฝนที่จะมาถึงน้ำจะท่วมอีกหรือไม่ เพราะปีที่ผ่านมาเดือดร้อนเรื่องน้ำท่วม เกิดน้ำท่วมขัง มีกลิ่นเหม็น เวลาเดินก็ไม่สะดวก ต้องเดินลุยน้ำ นอกจากนี้เวลาน้ำฝนมา น้ำระบายออกช้า อาจจะเป็นเพราะว่าท่อที่ถูกสร้างทับ


 


"ย่านซอยวัดอุโมงค์ตอนนี้อาจจะยังไม่ถึงขั้นเป็นสลัม แต่ตึกสูงที่สร้างขึ้นมีมากเกินไป แทนที่จะเป็นโซนที่อยู่อาศัยมากว่า ควรมีการจำกัดให้น้อยกว่านี้หน่อย เพราะการสร้างตึกสูงที่ชิดบ้านเกินไปไม่ควรอนุญาตให้สร้างเลย บ้านคนถูกโอบล้อมไปหมด อยากให้ใช้กฎหมายควบคุมโดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่ใกล้บ้านที่อยู่อาศัยน่าจะควบคุมไม่ให้สร้างเกิน 3 ชั้น ก็พอแล้ว เพราะแถวนี้บ้านอยู่อาศัยก็ 2 ชั้นทั้งนั้น ถ้าหากสร้างตึกสูงขึ้นมาโอบล้อมบ้านที่อยู่มาก่อนก็แย่ และในละแวกไหนที่มีตึกสูงเยอะแล้วก็ไม่ควรให้สร้างขึ้นอีก" แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวทิ้งท้าย


 


ชุมชนน่าอยู่ถ้ารู้จักพออยู่


 


พื้นที่เชิงดอยสุเทพที่เคยสงบงามภายใต้ระบบนิเวศน์ของดอยสุเทพ-ปุย อาจมีแนวโน้มเป็นไปได้สูง ที่จะกลายเป็นสลัมในศตวรรษที่ 21 หากยังปล่อยให้มีการพัฒนาทางวัตถุอย่างไม่ตระหนักถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนเป็นหลัก โดยกำหนดนโยบายหรือแนวทางป้องกันที่ชัดเจนและนำมาปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง


 


ดังตัวอย่างที่เมืองเชียงใหม่ควรนำมาพิจารณาเป็นแบบอย่างเกี่ยวกับการควบคุมอาคารสูง คือ ประเทศในยุโรปซึ่งหลายประเทศมีความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม แต่ไม่นิยมสร้างอาคารสูง บ้านเมืองส่วนใหญ่ของยุโรปเต็มไปด้วยอาคาร 4-5 ชั้น อาคารสูงแบบตึกระฟ้าของอเมริกามีน้อยมาก ทั้งนี้เพราะยุโรปเห็นว่าการสร้างตึกระฟ้าเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ผลที่ได้รับไม่คุ้มค่า (ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์, 2546)


 


นายนิรุจน์ สุพรรณชาติ อดีตอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ผู้อาศัยในซอยวัดอุโมงค์ หมู่ที่ 8  กล่าวว่า ตนอยู่อาศัยในซอยวัดอุโมงค์มาตั้งแต่ปี 2512 แต่ก่อนนี้ซอยวัดอุโมงค์เงียบสงบ ไม่พลุกพล่านเช่นทุกวันนี้ สมัยนั้นถนนเป็นดินลูกรัง ภายหลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงถนนเป็นคอนกรีต และล่าสุดเทลาดยางจนถึงปัจจุบัน การปรับปรุงถนนโดยการเททับทำให้พื้นถนนสูงขึ้นจากระดับพื้นดินเดิมนั้น ทำให้บ้านที่สร้างริมถนนมานานอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินเดิม และมีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมด้วย เพราะอาคารสูงที่สร้างขึ้นใหม่ทำการปรับพื้นที่ดินใหม่ซึ่งสูงกว่าระดับถนนเสียอีก


 


"อบต. ทำรางระบายน้ำก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักเพราะแคบ และเกิดการอุดตัน หรือชำรุดบ่อย และการสร้างท่อระบายน้ำยังกินพื้นที่ถนนให้แคบมากกว่าเดิม ไม่มีรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์คันไหนกล้าหาญขับบนรางเพราะอาจเกิดเกิดอุบัติเหตุการณ์การทรุดตัวของตะแกรงรางน้ำได้"  


 


ในขณะที่ ดร. ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ หัวหน้าโครงการฮ่อมมือฮ่อมใจ๋หื้อเจียงใหม่-หละปูน อากาศดี และนักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในเดือนกุมภาพันธุ์ของปีนี้ อากาศเชียงใหม่อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเกือบทุกวัน ตอนนี้ เราต้องการบ้านเดี่ยว ไม่ต้องการโรงแรม คอนโด หอพักขนาดใหญ่ ต้องเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ในพื้นที่นี้ โดยการควบคุมต้องมีธรรมาภิบาล และคุณธรรม อย่ามาบอกว่าชาวบ้านต้องเสียสละ เพราะตอนนี้มีความเดือดร้อนไปหมด อาคารสูงมีปัญหาในระบบการถ่ายเท และระบายอากาศของเมืองด้วยแน่นอน เพราะได้ไปบดบังลมภูเขาที่พัดพาอากาศเสียออกจากแอ่งกระทะ เชียงใหม่-ลำพูน เกิดปัญหามลภาวะอากาศเป็นพิษที่ส่งผลกระทบกับคนเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ซอยวัดอุโมงค์เท่านั้น


 


เอกสารอ้างอิง


-          อาคารสูง ผลกระทบต่อสุขภาพและอนาคตของเมืองเชียงใหม่, มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, พฤษภาคม 2546


-          เมืองยั่งยืนในเชียงใหม่ แนวคิดและประสบการณ์ของเมืองในหุบเขา, สถาบันวิจัยวังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ธันวาคม 2548


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net