Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 28 ก.พ. 2550 วานนี้ (27 ก.พ.) เวลา 14.00น. ที่ห้องประชุมอาคารรัฐสภา 3 มีการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน โดย น.ต.ประสงค์ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้รัฐธรรมนูญยังไม่เป็นรูปเป็นร่างก็มีการต่อต้านกันบอกว่าจะไม่รับ โดยมีทั้งที่เป็นเหตุผลและไม่เป็นเหตุผล


 


น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า หวังว่ากรรมาธิการจะหนักแน่นพอ ถ้าไม่เอาก็คงไปบังคับใครไม่ได้ แต่เรามีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดอนาคตของประเทศ ภายใต้กติกาสูงสุดอย่างไรบ้าง ผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ขอให้มีสมาธิต่อการยกร่าง เสียงต่างๆ สุดแต่จะวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ควรกังวลว่าจะรับไม่รับ ที่เรียนเพราะได้ข่าวว่าหลายพวกหลายกลุ่มพยายามหารือกันว่าไม่รับรัฐธรรมนูญ


 


"เพิ่งตั้งท้อง จะฆ่าตัดตอนกันเสียแล้ว คงต้องให้ท่านสุพจน์ (ไข่มุกด์) กับท่านวิชา (มหาคุณ) หารือกัน"


 


ส่วนกรณีมีผู้เสนอให้ต่ออายุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น เขากล่าวต่อที่ประชุมว่า ไม่ทราบเรื่อง ไม่เคยมีใครพูดเรื่องนี้ ยังไม่ทันไปถึงไหนจะต่ออายุกันแล้ว กรรมาธิการฯ มีกรอบเวลาทำงานที่ชัดเจน เราจะทำตามกรอบ และคิดว่าจะทำได้สำเร็จตามกรอบ ตั้งใจทำให้เสร็จทัน เรื่องต่อไม่ต่ออายุไม่ใช่เรื่องของกรรมาธิการฯ


 


นายชูชัย ศุภวงศ์ ประธานอนุกรรมาธิการกรอบที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมของประชาชน และการกระจายอำนาจได้รายงานต่อที่ประชุมว่า รัฐธรรมนูญที่ผ่านมายังไม่ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในทางปฎิบัติเนื่องจากมีการระบุว่าให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่ไม่มีการบัญญัติกฎหมายขึ้นมารองรับ ที่ประชุมกรอบที่ 1 จึงเสนอให้ต้องบันทึกในเจตนารมณ์ว่าศาลต้องคุ้มครองชั่วคราวแม้จะยังไม่มีกฎหมายบัญญัติ


 


ส่วนการลงโทษประหารชีวิตยังไม่ได้ข้อสรุป โดยมี 2 แนวทางคือ หนึ่ง เห็นว่า ควรยกเลิก เนื่องจากเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และศาลอาจตัดสินผิดพลาด และสอง ลงโทษประหารชีวิตเฉพาะคดีอุฉกรรจ์ และจะลงโทษบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และบุคคลวิกลจริตไม่ได้


 


ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องไม่เป็นเจ้าของสื่อ และห้ามเอกชนควบรวมสื่อ คุ้มครองพนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้สื่อข่าว จากการคุกคามของนายจ้าง สิทธิการศึกษาให้คงการศึกษา 12 ปี และให้ชุมชน ท้องถิ่น ประชาชนและภาคเอกชนมีส่วนร่วมกำหนดหลักสูตร


 


ทั้งนี้ สิทธิการรวมกลุ่มและแสดงความเห็นของข้าราชการโดยต้องไม่กระทบต่อการจัดบริการสาธารณะ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์นั้น จะพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง


หน้าที่ของชนชาวไทย


 


นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ขยายขอบเขตไปกว้างขวาง มีสภาพปฏิบัติได้มากกว่า จึงควรกำหนดหน้าที่ให้ชัดตามไปด้วย โดยมีสองแนวทาง คือ ระบุหน้าที่ไว้เลย เช่น หน้าที่ลงประชามติเพราะการเลือกตั้งก็เป็นหน้าที่ การเสียภาษี การดูแลสถาบันครอบครัว เหมือนที่ประเทศคอมมิวนิสต์เขียนไว้ แต่ทางตะวันตกเขียนไว้โดยย่อและระบุให้ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ เห็นว่า ประเทศไทยไม่สามารถเกณฑ์แรงงานได้เหมือนประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ จึงสรุปว่าให้กำหนดเฉพาะที่จำเป็น เช่น ประชามติ การเสียภาษีอากร เป็นหน้าที่


 


สำหรับภาษีมรดกนั้น เพราะที่ผ่านมาทรัพย์สมบัติไปรวมกระจุกอยู่ที่คนเพียงไม่กี่ตระกูล และทำให้สังคมขาดดุลยภาพอย่างยิ่ง จึงควรพิจารณาว่าจะกำหนดเป็นหน้าที่หรือไม่


 


การมีส่วนร่วมของประชาชน ควรคงหลักการของรัฐธรรมนูญ 40 ที่รับรองการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้อย่างกว้างขวาง อาทิ การมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น ประชามติ การเสนอกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จำกัดความว่า การลงประชามติ ไม่ใช่การให้คำปรึกษา แต่ให้ถือว่าประชาชนเสียงข้างมากให้ความเห็นชอบ ในการขอคำปรึกษา และเห็นว่า ควรขยายสิทธิเรื่องการออกเสียงประชามติให้ท้องถิ่นดำเนินการได้ด้วย


 


การมีส่วนร่วมทางการปกครอง ให้คงหลักการไว้ อาทิ สิทธิรับทราบข้อมูลข่าวสารของราชการ ประชาพิจารณ์ รัฐที่เป็นผู้จัดสรรทรัพยากรต้องรับรองคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมกำหนดการจัดสรรทรัพยากร


 


สิทธิชุมชนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ควรมีฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิ มีสิทธิกึ่งสมบูรณ์ การดำเนินโครงการกิจการที่จะกระทบสิทธิจะทำมิได้เว้นแต่เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ และเศรษฐกิจของประเทศ


 


มาตรา62 แทนที่จะเป็นสิทธิของบุคคลเฉพาะ ให้เป็นของบุคคล ชุมชน ชุมชนท้องถิ่นและท้องถิ่นดั้งเดิม สามารถฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐได้และมีโทษทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครอง


 


ผู้มีสิทธิยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคือทุกคนไม่เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนี้ เห็นว่า 50000 ชื่อนั้นมากเกินไป เพราะที่ผ่านมาเห็นชัดว่าทำไม่ได้เลย


 


รวมทั้งให้สิทธิประชาชนเข้าถึงศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อกันยื่นฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นคดีทุจริต


 


เรามักคิดว่าโทษที่รุนแรงเท่านั้นจึงขู่บุคคลให้ยุติความรุนแรงได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการคงโทษประหารชีวิตไว้หรือไม่นั้น มีการอภิปรายในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง โดยนายวิชา มหาคุณ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต มนุษย์ไม่มีสิทธิประหารมนุษย์ด้วยกันเอง ถ้าเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติเป็นอีกเรื่องเพราะเราเน้นการประหาร ความรุนแรงและโทษ จึงมักคิดว่าโทษที่รุนแรงเท่านั้นจึงขู่บุคคลให้ยุติความรุนแรงได้


 


"จากประสบการณ์ทำงานในศาล เห็นว่าโทษรุนแรงไม่เคยได้ก่อคุณธรรมความดีงามให้สังคมมนุษย์เลย มีแต่ก่อให้เกิดความรุนแรงกับจิตใจของผู้คน คนเคยชินกับจิตใจที่รุนแรง ทำให้เมื่อรัฐไม่ประหาร คนจึงทำเอง"


 


นายวิชากล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมชุมชน จะช่วยแก้ปัญหาได้และครอบคลุมกว่า โดยแก้ด้วยสันติวิธี ความราบรื่นไม่ใช่ความรุนแรง


 


ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กล่าวว่า โทษประหารชีวิตต้องคงไว้ โดยถามว่าผู้ที่จำหน่ายยาเสพติดทำร้ายผู้คนจะให้ออกจากคุกมาอีกหรือ รวมทั้งนักการเมืองที่ทำประเทศชาติล้มจมควรประหารชีวิตหรือไม่ คิดว่าไม่น่าให้อภัยได้ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าไม่น่าจะประหารด้วยวิธีรุนแรง อาจโดยการฉีดยา ซึ่งก็สาสมกับความผิดที่กระทำไป


 


ส่วนนายสุพจน์ ไข่มุกด์ แสดงความเห็นถึงโทษประหารชีวิตว่า มีมนุษย์บางจำพวกที่มียีนส์ต่างจากมนุษย์ทั่วไปคือมีความเลวติดอยู่ในกมลสันดาน แก้อย่างไรก็แก้ไม่หาย เช่น พวกมือปืนรับจ้างฆ่าคน ควรได้รับโทษประหารชีวิต


 


"ศาลฎีกาตัดสินประหารแล้วต้องมานอนรอในคุกกินภาษีอากรประชาชนอยู่อีก คนดีๆ มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองแต่ไม่ที่ซุกหัวนอน แต่คนเลวๆ กลับมีคุกเป็นที่ซุกหัวนอน" นายสุพจน์ กล่าวและว่า เปลืองงบประมาณ คนเหล่านี้ไม่เคยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ทั้งนี้ การประหารชีวิตไม่ขัดกับกฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิพลเมือง เพราะไม่ได้ห้ามการประหารชีวิต โดยกำหนดให้มีโทษประหารชีวิตได้ แต่สามารถอุทธรณ์ได้ จึงเห็นว่า น่าจะเก็บโทษประหารชีวิตไว้ก่อน


 


 


เสนอเก็บภาษีมรดกเพื่อสังคมเป็นธรรม


ส่วนในประเด็นภาษีมรดก นายวิชา เสนอว่า ควรต้องเก็บภาษีมรดก เนื่องจากเดิมทรัพย์สินจะกระจุกตัวอยู่ไม่กี่ตระกูล เมื่อตายลง ลูกหลานก็มารับมรดก และส่วนใหญ่ก็ผลาญทรัพย์สินจนหมด โดยรัฐไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย นอกจากนี้ การสะสมมรดกจำนวนมากยังเป็นปัจจัยให้เกิดการฆ่ากันในครอบครัว สร้างความพินาศให้กับครอบครัวมานักต่อนัก


 


นายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ภาษีมรดกนั้นเคยจัดเก็บได้ในช่วง พ.ศ. 2476-2485 แต่ปรากฏว่าชนชั้นสูงเดือดร้อน จึงยกเลิกไป ประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศมีการเก็บภาษีมรดก ยกเว้นประเทศไทยที่ไม่ยอมทำ ทั้งนี้ รายได้จากภาษีมรดกเทียบกับภาษีโดยรวมแล้วมีไม่มาก ไม่ได้เก็บเพื่อรายได้ แต่เป็นเรื่องของความเป็นธรรมและเสมอภาค เพื่อสงเคราะห์คนที่เดือดร้อน


 


ทุกครั้งที่มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เรื่องภาษีมรดกก็มีการนำมาพูดถึงทุกครั้งแต่ไม่เคยนำมาปฏิบัติได้อย่างแท้จริง เพราะประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ทางเศรษฐกิจสูงมาก สมัยนี้เศรษฐีมีสมบัติแสนล้านทำให้บ้านเมืองเสียหาย จึงต้องใช้ภาษีมรดกออกมากำราบ สมัยก่อนคนรวย 20% ของประเทศ มีทรัพย์สมบัติเป็น 43 % ของทรัพย์สินทั้งประเทศ แต่วันนี้เพิ่มขึ้นสูงถึง 58% ประชาชนในประเทศไทยส่วนใหญ่จึงจนลงเพราะการเก็บภาษีไม่เป็นธรรม


 


สำหรับการจัดเก็บมีหลายรูปแบบ โดยจะแบ่งเป็น 1.ภาษีเก็บจากกองมรดก ถ้าเศรษฐีตายมีสมบัติเท่าไหร่ ให้คำนวณจากมรดก 2.เก็บจากผู้รับมรดก ตามแต่จำนวนที่แต่ละคนได้ ได้มากก็เก็บมาก ได้น้อยเก็บน้อย 3.เก็บเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี คือการให้โดยเสน่หา


 


ทั้งนี้ ถ้าเศรษฐีคนนั้นเก็บทรัพย์สินเป็นแหวนเป็นสร้อยหรือเพชรก็อาจหนีภาษีได้ แต่ถ้าเก็บในรูปอสังหาริมทรัพย์ หุ้น หนีไม่ได้


 


โดยนายเกริกเกียรติ ได้เสนอให้เก็บภาษีกองมรดกสำหรับผู้ที่มีมรดก 1 พันล้านบาทขึ้นไปต้องเสียภาษีแบบก้าวหน้า ประชาชน 99.9% จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะทำให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น ทำให้การทำงานในระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ โดยได้ยกตัวอย่างกรณีของญี่ปุ่นที่เก็บภาษีถึง 35% เศรษฐีในญี่ปุ่นหากตายลง ถ้าทายาทไม่ทำงาน มรดกจะหมดใน 3 ชั่วอายุคน


 


 


แนะเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าด้วย


นายศรีราชา เจริญพานิช กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า เห็นด้วยกับนายเกริกเกียรติในกรณีภาษีมรดก นอกจากนี้ ยังเสนอให้เก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าในที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ต้องวางแผนดีๆ โดยถ่ายภาพทางอากาศสำรวจไว้ก่อน ไม่เช่นนั้น อาจมีคนที่ทำเป็นใช้ประโยชน์จากที่ดินบังหน้าเพื่อไม่จ่ายภาษีที่ดินได้


 


นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาการจัดสรรที่ดินทำกิน ที่เมื่อจัดสรรที่ดินแล้วก็นำไปขายต่อและรุกที่ดินใหม่ไม่รู้จบ เสนอให้มองเกี่ยวเนื่องกับนโยบายให้หลักประกันเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดผังเมืองให้ชัดเจน ว่าตรงไหนเป็นเขตป่าไม้ เป็นที่ดินของรัฐ ที่จะไม่มีการออกโฉนดให้ หรือโรงงานที่ไม่ใช่กึ่งเกษตรกรรมแล้ว ต้องอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น จึงดูแลรักษาสภาพแวดล้อมต่างๆ เอาไว้ได้


 


ด้านเกริกเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมในกรณีการศึกษาว่า แม้จะมีระบุในรัฐธรรมนูญให้เรียนฟรีสิบสองปี แต่ทำไม่ได้จริง เขาเสนอให้ขยายเรียนฟรีสิบสี่ปี คือครอบคลุมถึงอนุบาล และให้การจัดการศึกษาดังกล่าวเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ โดยรัฐบาลต้องจัดงบประมาณให้เพียงพอ


 


ส่วนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่ส.ว. ส.ส. สจ. สท. เสนอให้ประชาชนถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ประชาชนจำนวน 1 ใน 5 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ขอให้เปิดประชามติถอดถอนบุคคล และใช้เสียง 1 ใน 2 ของผู้ออกเสียงถอดถอนได้


 


ด้านนายประพันธ์ นัยโกวิธ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ต้องการให้รัฐธรรมนูญระบุว่าประชาชนจำนวน 2.5 หมื่นคนสามารถเข้าชื่อเพื่อออกเสียงประชามติแก้กฎหมาย และรัฐธรรมนูญได้เช่นเดียวกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์


 


ส่วนนายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ก่อนจะกำหนดให้ประชามติเป็นหน้าที่ ต้องดูก่อนว่า การให้บุคคลมีหน้าที่ใช้สิทธิเลือกตั้งส่งผลดีอะไรต่อประเทศ และจากการกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่กับเป็นสิทธิต่างกันตรงไหน นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้วยังสร้างภาระให้ต้องจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรด้วย ดังนั้นการลงประชามติก็เช่นเดียวกับการเลือกตั้งที่ควรจะกำหนดให้เป็นสิทธิมากกว่าเป็นหน้าที่


 


 


ชื่อหมวด "สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย" ทำ "คนไม่ไทย" ไม่มีสิทธิ


นายคมสัน โพธิ์คง กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า การรับรองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครอบคลุมไม่ถึงคนต่างด้าวในไทย โดยเมื่อหมวด 3 ยังระบุว่า เป็น "สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย" ทำให้คนต่างด้าวไม่อาจได้รับคุ้มครองโดยหมวด 3 ได้เพราะต้องเป็นชนชาวไทยเท่านั้น


 


นอกจากคนไร้ถิ่นแล้ว ยังมีประชากรคนไทยตกสำรวจอีกเป็นแสนคน จากการสำรวจที่ผ่านมา กฎหมาย สัญชาติไปเขียนว่าไม่มีเอกสารแสดงตนถือว่าไม่ใช่คนไทย พอกำหนดอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้นจึงไม่ได้รับสิทธิ ขยายไปถึงคนไทยที่ไม่มีเอกสารแสดงตนด้วย กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง


 

แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพอาจกลับมาเรื่องที่ว่า ผู้ทรงสิทธิเป็นใคร สิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง จะแก้ได้ว่าส่วนไหนที่คนไร้รัฐจะได้รับการคุ้มครอง กฎหมายสัญชาติเป็นปัญหาสำคัญ การให้ดุลพินิจบุคคลคนเดียววินิจฉัยคนจำนวนมากนั้นกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net