รายงานวิชาการ : รักต่างศาสนา : คู่แท้สมานฉันท์

มีข้อบ่งชี้มากมายที่บ่งบอกว่า สังคมมุสลิมในประเทศไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากเหตุปัจจัยต่างๆ สิ่งหนึ่งซึ่งมองเห็นได้ชัด คือ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับคนที่นับถือศาสนาที่แตกต่างกัน ถึงขั้นแต่งงานกันก็มีมากขึ้นอย่างน่าสนใจ

 

มองในแง่หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลดีในการสร้างความใกล้ชิดและความเข้าใจซึ่งกันและกัน ระหว่างคนต่างศาสนา อันจะนำมาซึ่งความสมานฉันท์ในสังคมที่มีความหลากหลาย แม้บางครั้ง เขาและเธอ ต้องเผชิญกับความท้าทายบางอย่าง

 

แต่ในอีกแง่หนึ่ง การสร้างการเรียนรู้ทางศาสนาอิสลามให้กับมุสลิมใหม่เหล่านั้น ตกอยู่กับผู้รู้และผู้นำศาสนาในชุมชนอย่างมิอาจปฏิเสธได้ เพื่อให้พวกเขาสามารถดำรงตนอยู่ในหลักการของศาสนาอิสลามได้อย่างถูกต้อง อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมมุสลิมที่มีคุณภาพ ตามข้อบัญญัติอิสลามได้

 

แต่ดูเหมือนว่า ความรักกับคนต่างศาสนาสำหรับมุสลิมนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมิใช่น้อย โดยเฉพาะข้อกังวลในความรู้เรื่องหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติเป็นสำคัญของผู้ปกครองและชุมชนมุสลิม

 

ในรายงานการศึกษาเรื่อง "พื้นที่ทางสังคมระหว่างคนมุสลิมและคนต่างศาสนาในภาคใต้ : การวิเคราะห์ความสัมพันธ์และการแต่งงานระหว่างคนต่างศาสนา" ของนางสาวอัมพร หมาดเด็น อาจารย์ประจำหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้อธิบายภาพปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

 

นางสาวอัมพร ได้นำเสนอรายงานฉบับนี้ในเวทีสัมมนาวิชาการนานาชาติ : สรรพเสียงแห่งอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับนักวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รุ่นใหม่ ที่โรงแรมแกรนด์ปาร์ค จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 24 - 25 กุมภาพันธ์ 2550

 

เนื่องจากรายงานชิ้นนี้ ถูกแปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ดังนั้นเพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น "ประชาไท" จึงได้ปรับข้อความบางส่วน โดยได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของรายงานฉบับนี้แล้ว ดังจะนำเสนอต่อไปนี้

 

....................................................

           

 

พื้นที่ทางสังคมระหว่างคนมุสลิมและคนต่างศาสนาในภาคใต้ :

การวิเคราะห์ความสัมพันธ์และการแต่งงาน ระหว่างคนต่างศาสนา

 

 

โดย อัมพร หมาดเด็น

หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา, สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช

 

 

รายงานฉบับนี้ ทำการศึกษาเกี่ยวกับคุณค่าและการปรับแนวคิดของคนมุสลิมและคนต่างศาสนา ที่แสดงออกในพฤติกรรมและทัศนคติ ต่อการมีความสัมพันธ์และการแต่งงานระหว่างคนต่างศาสนา

ข้อมูลที่ได้มาจากการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการสังเกตในเชิงลึก ระหว่างเดือนสิงหาคม 2549 ถึง มกราคม 2550 ในจังหวัดภูเก็ตและนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดทางภาคใต้ตอนกลางของประเทศไทย

 

คนมุสลิมและคนต่างศาสนาในภูมิภาคนี้ ไม่ได้เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ และกฎหมายครอบครัวมุสลิมไม่ได้มีอิทธิพลกับคนกลุ่มนี้มากเท่ากับมุสลิมกลุ่มใหญ่ในสี่จังหวัดภาคใต้สุดติดชายแดนของประเทศ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล

 

ในเนื้อหารายงานได้อภิปรายถึงบริบทที่แตกต่างของการแต่งงานระหว่างคนต่างศาสนา ที่เกิดขึ้นในสองพื้นที่นี้ มีเหตุผลอยู่ว่า การสร้างความสัมพันธ์และการปฏิบัติตามข้อผูกพันระหว่างคู่รักต่างศาสนานั้น ถูกกำหนดโดยคุณค่าและประเพณีท้องถิ่น เช่นเดียวกับโดยศาสนาและโดยธรรมเนียมแวดล้อม

พื้นที่ทางสังคม ถูกทำให้เป็นการถกหาข้อสรุป ที่เต็มไปด้วยความคิดในเรื่องประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติและการแปลความหมายของศาสนาอิสลาม เกี่ยวกับความสัมพันธ์ การแต่งงานและชีวิตครอบครัวของคนมุสลิมและคนต่างศาสนา

สภาวะของความทันสมัยที่มีอิทธิพลต่อภาคใต้ของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีอิสระและได้รับการช่วยเหลือดูแลมากขึ้น ต่อการปฏิบัติตามหลักของการแต่งงานระหว่างคนต่างศาสนา

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนให้เหตุผลด้วยว่า การควบคุมการปฏิบัติตามธรรมเนียมของคู่แต่งงาน มีปฏิกิริยาต่อกันอย่างต่อเนื่อง กับขอบเขตวัฒนธรรมทางศาสนา

 

บทนำ

แนวคิดของการแต่งงานข้ามศาสนาระหว่างคนมุสลิมในประเทศไทย ได้รับการอภิปรายโดยผู้นำศาสนาท้องถิ่นหลายท่านว่าเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงในชุมชน

ด้วยการเพิ่มขึ้นของคู่รักต่างศาสนาท่ามกลางสถานการณ์ "การฟื้นฟูอิสลาม" (Islamic Revival) ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ตลอดระยะเวลาช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งการให้ข้อคิดเห็นเกิดขึ้นในมิติใหม่ การยึดมั่นในขนบธรรมเนียมและความเชื่อของอิสลามของชาวมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เพิ่มสูงขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น มีการศึกษาอิสลามในเรื่องระบบประเพณีอิสลามและการผสมผสานระหว่างความเป็นศาสนาอิสลามและเรื่องทางโลก หรือหญิงมุสลิมใส่ผ้าคลุมศีรษะเป็นสิ่งปกติ

 

กระบวนการและลำดับขั้นตอนของการแต่งงานของชาวมุสลิมในประเทศไทย ค่อนข้างแตกต่างจากมุสลิมในมาเลเซียและอินโดนีเซียในแง่ของธรรมเนียมปฏิบัติ

 

ผู้ที่เป็นชาวพุทธส่วนใหญ่ในภาคใต้ เมื่อแต่งงานกับชาวมุสลิมแล้วก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม มีจำนวนน้อยมากที่มุสลิมจะเปลี่ยนไปนับถือพุทธ แต่นั่นก็ไม่ได้ถือเป็นการเปลี่ยนโดยสิ้นเชิงเพราะกระบวนการของวัฒนธรรมที่ยาวนานจะทำให้คนเหล่านั้นสูญเสียเอกลักษณ์ของความเป็นมุสลิมไปในที่สุด

 

ในขณะที่การแต่งงานของคนมุสลิมในแถบสี่จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูลนั้น ถูกควบคุมโดยกฎหมายครอบครัวและมรดกของอิสลาม ส่วนการแต่งงานของมุสลิมในจังหวัดอื่นๆ ถูกกำหนดโดยกฎหมายแพ่ง ในปี ค.. 1946 ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยกฎมายอิสลามในปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล พ.. 2489 กฎหมายอิสลามเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายครอบครัวและมรดก ถูกให้ความสำคัญโดยรัฐ เพื่อเหตุผลทางประวัติศาสตร์และการเมือง

 

ประชากรที่มีบทบาทในพื้นที่นี้คือมุสลิมมาเลย์ ผู้ซึ่งต้องต่อสู้เพื่อความเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา ที่เป็นผลมาจากการล่วงล้ำของรัฐไทยและนโยบายชาตินิยมทางวัฒนธรรมที่ตามมา โดยเฉพาะในช่วงยุคของพลตรีหลวงพิบูลสงคราม (.. 1938 - 1944 และ 1948 - 1957) และ จอมพลสฤษ ธนะรัชต์ (..1958 - 1963)

 

จำนวนประชากรมุสลิมในประเทศไทยประมาณ 3 ล้านคนจากประชากรไทยทั้งหมด 62 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นมุสลิมจึงถือเป็นชนกลุ่มน้อย อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมในแถบสี่จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูลก็ถือเป็นกลุ่มใหญ่

 

สตูลค่อนข้างแตกต่างจากอีกสามจังหวัดในเรื่องของการแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดเรื่องเอกลักษณ์ทางเชื้อชาติมาเลย์และยังมีประวัติศาสตร์ที่แยกไปจากปัตตานี

 

ในขณะที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสเคยเป็นส่วนหนึ่งซึ่งอยู่ในปกครองของสุลต่านมาเลย์รัฐปัตตานี สตูลเคยเป็นดินแดนที่เคยอยู่ในการปกครองของสุลต่านเคดาห์ (Kedah) อย่างไรก็ตามเมื่อกล่าวถึงเอกลักษณ์ทางศาสนาแล้ว สตูลก็เป็นถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอีกสามจังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

 

การแต่งงานระหว่างคนมุสลิมและคนต่างศาสนาในพื้นที่สี่จังหวัดเหล่านี้ เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่าง เมื่อเปรียบเทียบกับการแต่งงานข้ามศาสนาของคนมุสลิมในจังหวัดอื่นๆ

 

จากรายงานของฉวีวรรณ ประฉวบเหมาะ ในต้นปี 1980 มีการแต่งงานข้ามศาสนาในปัตตานีฝั่งตะวันออกของประเทศไทยจำนวนน้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าเป็นพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอยู่เป็นส่วนใหญ่ ภาษา ระบบความเชื่อ ชาติพันธ์และวัฒนธรรมมีความแตกต่างกันระหว่างคนมุสลิมและคนพุทธไม่ใช่วิธีการที่จะนำคนสองกลุ่ม มาทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน

 

อย่างไรก็ตามกฎหมายครอบครัวและมรดกของอิสลามก็มีผลกับคู่รักต่างศาสนาในทุกๆ จังหวัด คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 48 ร่วมกับคณะกรรมการประจำมัสยิด ทั้ง 3,295 แห่ง มีอำนาจหน้าที่อย่างเป็นทางการในบทบาทเรื่องการมีอำนาจปกครองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการสำรวจความคิดเห็น

 

จากระบบที่ได้รับการสนับสุนนโดยรัฐเช่นนี้จึงสามารถทราบความคิดและโลกทัศน์ของอิสลามที่ได้รับการอธิบายโดยการตีความของนักวิชาการมุสลิมเกี่ยวกับการแต่งงาน ครอบครัวและการหย่าร้างในวัฒนธรรมที่ถูกต้องและประเพณีที่ควรปฏิบัติ

 

รายงานยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดเกี่ยวกับจำนวนของผู้เปลี่ยนศาสนาโดยการแต่งงาน นักวิชาการแห่งองค์กรมุสลิมหลายท่าน ไม่สามารถระบุได้ถึงสัดส่วนของผู้ชายและผู้หญิงในประเทศไทยที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม

 

เนื่องจากการเปลี่ยนศาสนา สามารถกระทำได้ทุกเวลาต่อหน้าผู้อาวุโสชาวมุสลิม อย่างน้อยสองท่านเป็นสักขีพยานโดยการกล่าว Kalima shahadah(คำปฏิญาณตนเพื่อเข้ารับอิสลาม - ประชาไท) ซึ่งเป็นการกล่าวให้สัญญาและแสดงความตั้งใจที่จะเข้าเป็นมุสลิม

 

โดยประเพณีดั้งเดิมแล้ว การเข้ามานับถือศาสนาอิสลามโดยการกล่าว Kalima shahadah เป็นเช่นเดียวกับการแต่งงาน ที่ต้องกระทำต่อหน้าผู้นำชุมชนที่มัสยิดหรือที่บ้านของฝ่ายหญิง

 

จำนวนผู้เปลี่ยนมานับถืออิสลามในแต่ละหมู่บ้านมุสลิมของปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีเพียง 2 - 3 ครั้งเท่านั้น ในขณะที่ตัวเลขของการเปลี่ยนศาสนามาเป็นอิสลามในจังหวัดอื่นๆ ของภาคใต้ตอนบน รวมทั้งกรุงเทพมีถึง 20-30 ครั้ง ตามจำนวนผู้เปลี่ยนศาสนาในแต่ละปีที่ได้เรียนหลักสูตรอิสลามศึกษาระยะสั้นเพื่อ Muallaf (ผู้ที่เปลี่ยนมาเข้านับถือศาสนาอิสลาม) ของมูลนิธิสันติชน กรุงเทพ ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ประมาณ 100 จนกระทั่งเมื่อห้าปีที่แล้ว

 

ผู้ที่เปลี่ยนมานับถืออิสลามส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่แต่งงานกับคู่รักชาวมุสลิม ซึ่งก็รวมถึงบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยและกลุ่มชนชั้นกลางด้วย

 

การแต่งงานระหว่างคนมุสลิมและคนต่างศาสนายังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งได้นำไปสู่หน้าที่และธรรมเนียมในการเรียกร้องการทำให้การศึกษาเกี่ยวกับอิสลามในชุมชนมุสลิมนั้น เกิดเป็นผลสำเร็จขึ้นมา จึงกลายเป็นภาระหน้าที่ของผู้ที่นับถือศาสนาอื่นที่จะแต่งงานกับผู้นับถืออิสลามต้องเปลี่ยนมาศึกษาความรู้พื้นฐานของศาสนาอิสลามก่อนที่จะแต่งงาน

 

การแต่งงานในอิสลาม

กรอบความคิดของการแต่งงานในศาสนาอิสลาม ถูกพิจารณาด้วยเรื่องศาสนาที่ผู้นับถือสามารถปฏิบัติตามหลักศาสนาได้ ในหลักเบื้องต้น "ผู้นับถือ" (Believers) ที่กำลังจะแต่งงานจึงมีความลำบากใจ ในเรื่องการแต่งงานข้ามศาสนา เพื่อที่จะให้พ่อแม่ของคู่แต่งงานหรือชุมชนให้การยอมรับ

 

อย่างไรก็ตาม ในบางภาวะก็สามารถอนุญาตให้คนมุสลิมแต่งงานกับคนต่างศาสนาได้ ข้อยกเว้นนี้ใช้สำหรับชายมุสลิมที่จะแต่งงานกับหญิงชาวยิวและชาวคริสต์ ซึ่งถูกกล่าวถึงว่า เป็น "Ahlul Kitab" หรือ "People of the Book" ซึ่งมาจากความเข้าใจที่ว่าชาวยิวและชาวคริสต์มีทัศนคติด้านศาสนาที่คล้ายกัน เช่น ความเชื่อในพระเจ้า ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระเจ้า เชื่อในพระคัมภีร์ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม การแต่งงานระหว่างหญิงมุสลิมกับชายต่างศาสนาก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากกว่า ซึ่งมันสามารถนำไปสู่การขาดการยอมรับและเกิดช่องว่างทางสังคมในการอยู่อาศัยร่วมกับชุมชนมุสลิม หลายคนที่ได้รับการเรียกร้องจากผู้นำศาสนาให้กลับมานับถืออิสลามเหมือนเดิม

 

ในขณะเดียวกัน ในยุคของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่หยุดยั้งและโดยเฉพาะกลุ่มคนเป็นคนเมืองได้เลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนมากกว่า ดังนั้น ความกดดันในการปรับเปลี่ยนจึงอาจลดลง แต่พ่อแม่ของพวกเขาที่อยู่ในชุมชนมุสลิมก็ยังคงต้องการให้พวกเขากลับมานับถือศาสนาเดิมอยู่ดี

 

นักวิชาการชาวมุสลิมย้ำว่า หญิงชาวมุสลิมไม่ได้รับการอนุญาตให้แต่งงานกับผู้ใดที่ไม่ใช่ชายมุสลิม ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้หญิงให้แต่งงานกับชาวยิวหรือชาวคริสต์ได้

 

แง่คิดนี้ได้รับการอธิบายจากนักวิชาการมุสลิมและผู้มีความรู้ด้านกฎหมาย หากเป็นไปตามการยอมรับกันโดยทั่วไปว่า หัวหน้าของครอบครัวคือผู้ชายหรือสามี ผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำในครอบครัว

 

ดังนั้น ผู้หญิงมุสลิมจึงไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามผู้นำที่ครอบครัวที่แตกต่างจากเธอในเรื่องของความศรัทธาและคุณค่าได้

 

คัชยา อาลี (Kecia Ali) ได้ให้เหตุผลในการอธิบายแง่คิดนี้ว่ามีการปกครองเป็นสองลำดับขั้นคือมุสลิมมีอิทธิพลต่อคนศาสนาอื่นและสามีมีอิทธิพลต่อภรรยา

 

เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเน้นย้ำว่า ความคิดเห็นทั่วไปในการแต่งงานข้ามศาสนานั้น ในความเป็นจริงแล้ว สามารถกระทำได้ในชุมชนชาวมุสลิม

 

ในรายงานฉบับนี้ ข้าพเจ้าต้องการศึกษาถึงบทบาทและการมีปฏิสัมพันธ์ของการแต่งงานข้ามศาสนาในบริบทของสังคมมุสลิม มากกว่าที่จะพิเคราะห์เรื่อง ว่าด้วยการศาสนาอิสลามและความคิดทางกฎหมาย ประเพณีของอิสลาม ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาจากชายนักกฎหมายมุสลิมและได้รับการสนับสนุนในโรงเรียนกฎหมายอิสลามทุกแห่ง รวมถึงการจัดระบบองค์ประกอบของกฎหมายครอบครัวและมรดกของอิสลาม

 

ข้าพเจ้า จะไม่อภิปรายถึงประเด็นของความเท่าเทียมทางเพศ ตลอดจนกฎระเบียบที่แตกต่างของการแต่งงานระหว่างคนสองศาสนาและความเป็นไปได้ ในการเลือกที่จะทำความเข้าใจในรายงานฉบับนี้

 

รายงานฉบับนี้เน้นความต้องการในการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตการแต่งงานข้ามศาสนาและผลกระทบโครงสร้างด้านสังคม - การเมืองของลักษณะเชื้อชาติและศาสนา มุ่งศึกษาบทบาทและความสัมพันธ์ต่อกัน ในการแต่งงานระหว่างคนต่างศาสนาจากบริบทของสังคมมุสลิม

 

โดยศึกษาจากการสังเกตและร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตของคู่รักต่างศาสนาและญาติๆ จากหมู่บ้านของข้าพเจ้าที่อ่าวมะขาม จังหวัดภูเก็ต และที่ทำงานปัจจุบัน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนกลางของภาคใต้ในประเทศไทย การใช้หลักศาสนาอิสลามในพื้นที่ที่เป็นอิสระจากกฎหมายครอบครัวและมรดกของอิสลาม อย่างไรก็ตาม หลากแนวคิดด้านประเพณีและหลักศาสนาอิสลามก็กล่าวถึงไว้เช่นกัน

 

"คนแขก" พวกเขาเป็นใคร

 "แขก" ในรายงานฉบับนี้บ่งบอกถึงวัฒนธรรม เชื้อชาติและศาสนา คำว่า "เข้า" หมายถึง การก้าวไปหรือมาร่วมด้วยกัน เมื่อนำสองคำนี้มารวมกันเป็น "เข้าแขก" จึงเป็นความหมายว่า บุคคลใดที่ได้เปลี่ยนจากศาสนาเดิมไปนับถือศาสนาอิสลาม

 

ตามหลักของอิสลาม การเป็นมุสลิม เริ่มต้นตั้งแต่เกิด และเด็กที่เกิดเป็นลูกของคู่แต่งงานที่เป็นมุสลิม อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการบีบบังคับในเรื่องของความศรัทธา และอีกวิธีที่จะเป็นมุสลิมก็คือ การ "เข้าแขก" แนวความคิดและสถานการณ์โดยทั่วไปเกี่ยวกับการแต่งงานกับคนที่ไม่ได้นับถืออิสลามในเมืองไทย คือความสัมพันธ์ของคนพุทธและคนมุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่การแต่งงานข้ามศาสนาของคนมุสลิมจะมีขึ้นกับคนพุทธ

 

โดยแท้จริงแล้ว การแต่งงานระหว่างคนสองศาสนาในภาคใต้นั้นปรากฏให้เห็นมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความกังวลในชุมชนมุสลิม เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม เช่น การถือศีลอด

 

"พวกคุณสังเกตบ้างหรือเปล่าว่า การแต่งงานระหว่าง "คนแขก" และ "คนไทย" มีเพิ่มขึ้น อิหม่ามของเรากังวลถึงเรื่องอาหารที่เราซื้อจากคนขายที่เป็น "คนไทยเป็นแขก" (คนไทยพุทธที่เปลี่ยนมานับถืออิสลาม) เราไม่แน่ใจในวิธีการที่เขาใช้ในการล้างเครื่องมือเครื่องใช้ ปลา เนื้อ หรือผัก" (ชาริฟาร์ ชาวบ้านอ่าวมะขามวัย 33 ปี กล่าว)

 

จากการสังเกตเพศ การแต่งงานระหว่างคนสองศาสนาในชุมชนมุสลิมพบว่า ผู้หญิงพุทธจะมีความเป็นไปได้มากกว่าในการเปลี่ยนมานับถืออิสลามโดยการแต่งงานตามพิธีกรรมของศาสนาอิสลาม หรือ Nikah

 

ในเชิงเปรียบเทียบ พ่อแม่ชาวมุสลิมและญาติ ๆ รู้สึกรับหญิงชาวพุทธเข้ามาเป็นมุสลิมได้ง่ายกว่าผู้ชาย ชาวบ้านหลายคนผูกความเชื่อและการยอมรับไว้กับความเห็นของหัวหน้าครอบครัว ซึ่งโดยทั่วไปเป็นผู้ชาย และกับระบบความเชื่อ ผู้หญิงจะได้รับการปกป้องมากกว่าในครอบครัว ในขณะที่ผู้ชายมีอิสระมากกว่าที่จะออกไปสร้างสัมพันธ์กับคนต่างศาสนา

 

ผู้หญิงชาวพุทธจะถูกขอร้องให้อยู่ในชุมชนมุสลิมและครอบครัวจะสอนเกี่ยวกับกฎระเบียบของศาสนาและการปฏิบัติตนหลังจาก Nikah ในขณะที่ชายต่างศาสนาถูกขอให้เข้าเป็นมุสลิมก่อนและหลังการเปลี่ยนศาสนา และ Nikah รวมทั้งการปฏิบัติพิธีกรรมเพื่อเข้าศาสนาอิสลาม คือพิธีสุหนัต

 

ข้าพเจ้าเคยได้ยินกลุ่มผู้นำมุสลิมหลายกลุ่มปรารภว่าเป็นการยากที่ผู้ชายศาสนาอื่นที่เปลี่ยนมานับถืออิสลามนั้น จะมาเข้าร่วมการศึกษาศาสนาที่มัสยิดได้ "แล้วคนเหล่านี้จะเป็นผู้นำครอบครัวได้อย่างไร"

 

การเพิ่มขึ้นของการแต่งงานระหว่างคนสองศาสนาบ่งชี้ว่า ชาวพุทธและมุสลิมในประเทศไทยมีปฏิสัมพันธ์ด้านสังคม - เศรษฐกิจมากกว่าในอดีต ซึ่งจะเป็นผลให้การเพิ่มของชาวพุทธและมุสลิมที่อยู่ร่วมกันมากขึ้นอย่างมั่นคง

 

มีชาวพุทธมากมายที่อยู่ด้วยกันกับคู่รักชาวมุสลิมก่อนแต่งงาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาไม่ตระหนักถึงแบบแผนทางเพศของอิสลามหรือกลัวต่อบาปในการผิดประเวณี แต่วิธีการที่ได้มาจากความคิดของมุสลิมบางคนและภาวะขนบธรรมเนียม คือเข้มงวดและไม่ผ่อนปรน

 

ในกรณีของ "อิมราน" (Imran) บิดาของเขาผู้ซึ่งเป็นอดีตอิหม่ามที่อ่าวมะขาม รับไม่ได้กับการที่บุตรชายผู้ซึ่งเรียนจบจากโรงเรียนอิสลาม ไปมีความสัมพันธ์กับหญิงต่างศาสนาที่ทำงานที่เดียวกัน

 

หลังจากที่อิมรานไม่ประสบความสำเร็จในการขอให้พ่อแม่จัด Nikah ให้ พวกเขาตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปเกือบสองปี อย่างไรก็ตาม เขายังคงติดต่อกับญาติบางคนที่เคารพการติดสินใจของเขา

 

หญิงต่างศาสนาที่อิมรานต้องการ Nikah ด้วยนั้นเป็น คนจีน-ไทย ซึ่งถูกกล่าวถึงโดยมุสลิมว่า sa-jeen

 

ความเข้าใจใน sa-jeen ของคนมุสลิมนั้น คิดว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่สะอาด กินอาหารที่ขัดต่อกฎหมายอิสลาม (โดยเฉพาะเนื้อหมู) และมีมาตรฐานสุขลักษณะแตกต่างกันกับคน "แขก"

 

ข้าพเจ้าเคยได้ยินเรื่องขำขันยอดนิยมเกี่ยวกับคนจีน - ไทยจากชุมชนมุสลิมหลายๆ ที่ว่า "sa-jeen khi mai lang" หมายถึง คนที่ไม่ทำความสะอาดตัวเองหลังถ่ายอุจจาระ

 

ภาพของ sa-jeen ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นเวลานานนั้น ทำให้คน "แขก" รู้สึกไม่ค่อยสนิทใจที่จะเข้ามาร่วมสร้างความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิด โดยเฉพาะถึงขั้นแต่งงาน

 

สิ่งนี้ไมได้บ่งบอกเฉพาะเรื่องทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังบ่งถึงด้านที่เกี่ยวกับจิตใจอีกด้วย พิธีกรรมที่ได้กำหนดขึ้นโดยชุมชนมุสลิม เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการชำระล้างบาปทางใจนั้น สำคัญมากกว่าการชำระล้างทางกาย

 

แม้ว่านักวิชาการชาวมุสลิมจะยืนยันว่า ประเด็นหลังก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความศรัทธาของพวกเขา ดังนั้น sa-jeen และ/หรือคนไทย จะต้องเชื่อและปฏิบัติอย่างคน"แขก"หากพวกเขาจะแต่งงานกับมุสลิม และการแต่งงานนี้ จะบอกเป็นนัยว่า ไม่ใช่แค่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักเท่านั้น แต่ต้องมีความสัมพันธ์กับชุมชนมุสลิมอีกด้วย

 

เกี่ยวกับกระบวนการการเปลี่ยนศาสนามาเป็นอิสลามหรือเข้าแขกนั้น ในภาคใต้ของประเทศไทย เช่นเดียวกับในจังหวัดอื่นๆ อิหม่ามผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละชุมชนและกรรมการสภามัสยิดดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้

 

ชาวมุสลิมจะพิจารณาถึงความศรัทธาในศาสนาเป็นประเด็นแรก คนทั่วไปรู้ว่าการแต่งงานและชีวิตครอบครัว จะเป็นสิ่งที่ไม่ต้องกังวลอย่างมากและจะเข้ากันได้ดี หากคู่แต่งงานมีความคิดร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องของระบบความเชื่อผู้อาวุโส ชาวมุสลิมได้แนะนำแก่อิสลามเสมอและกระตุ้นให้คนไทยและ sa-jeen เปลี่ยนมานับถืออิสลามเสียก่อนที่จะ Nikah

กระบวนการนี้จะไม่เป็นผลหากคู่ของเขาที่เป็นมุสลิมไม่ร่วมทำตามธรรมเนียมท้องถิ่นมุสลิม

 

คู่รักต่างศาสนาหลายคู่ใช้เวลาในก้าวแรกนี้ค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของผู้อาวุโสด้วย บางกรณี หลังจากที่คนศาสนาอื่นได้รับการสอนให้รู้ถึงความเป็นอิสลามเบื้องต้นและกล่าว kalmia shahadah แล้ว หลังจากการกล่าวคำขอเพื่อแสดงเจตนาแห่งความศรัทธาไม่นาน มุสลิมเชื่อว่า การเปลี่ยนศาสนาไม่เป็นเพียงแค่การได้สถานะเป็นมุสลิมเท่านั้น แต่เขาหรือเธอยังเป็นผู้บริสุทธิ์จากการทำบาปในครั้งอดีตที่ได้รับการอภัยจากพระเจ้าอีกด้วย

 

ในกรณีนี้ การเปลี่ยนศาสนาของผู้ชาย (แต่ไม่ใช้กับผู้หญิง) ผู้อาวุโสของศาสนาจะขอให้เขาเข้ารับพิธีกรรมสุหนัตด้วย เพื่อเข้าเป็นมุสลิมอย่างสมบูรณ์

 

ความทุกข์ใจจากการแต่งงานข้ามศาสนา?

เมื่อแต่งงานกับคู่รักต่างศาสนาแล้ว ฝ่ายมุสลิมจะรู้ว่า เขาหรือเธอที่เป็นคู่แต่งงานได้ยอมรับกับการเป็นผู้ไม่ศรัทธาในอิสลามหรือไม่

 

ขณะที่ความคาดหวังของชุมชนมุสลิมนั้น คือ ผู้ชาย/ผู้หญิงต้องเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามและประพฤติตัวดังเช่นมุสลิมทั่วไป เช่นในกรณีของ "ฟาติน" (Fatin) หญิงมุสลิมในอำเภอท่าศาลา ผู้ซึ่งแต่งงานกับชายชาวพุทธ ซึ่งทำงานเป็นข้าราชการท้องถิ่นที่ไม่เปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามตามกฎหมายจารีตเรื่องการแต่งงาน

 

ฟาติน เติบโตขึ้นในชุมชนชาวมุสลิมและจำต้องแต่งงานกับสามี เพราะ "อุบัติเหตุ" เธอเรียกมันว่า "การแต่งงานเพราะอุบัติเหตุ" แทนการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานหรือการกระทำผิดจารีต

 

การปล่อยให้บางอย่างเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุแห่งการเป็นหญิงนั้น เธอต้องยอมไปเป็นภรรยาของเขา หลังจากที่ได้ก้าวพลาดมาแล้ว เธอพยายามทำให้สามีเชื่อ ศรัทธา และเปลี่ยนมานับถือศาสนาเดียวกับเธอ แต่ก็ไม่ประสบผล

 

ปัจจุบัน ฟาติน ยอมรับว่า หลังจากเกือบยี่สิบปีของชีวิตแต่งงาน มีลูกสาวสองคน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านของสามี เธอไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมเนียมอิสลาม แต่ยังคงแสดงตัวว่าเป็นมุสลิมอยู่

 

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกทุกข์ใจที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในชีวิตของฟาติน เป็นผลมาจากการกระทำที่เธอทำกับพ่อแม่ เธอไม่ได้ต้องการการแต่งงานกับคนต่างศาสนา อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้เข้าพิธี nikah รู้สึกเป็นบาปต่อพ่อแม่ของเธอ

 

กรณีนี้ แสดงให้เห็นถึงอีกรูปแบบหนึ่งของการอยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน ซึ่งแตกต่างจากกรณีของอิมราน ในเรื่องความแตกต่างของการกระทำให้ประสบผล การแต่งงานของฟาตินเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายจารีต ในขณะที่อิมรานใช้กฎหมายการแต่งงานของอิสลาม nikah

 

ทั้งสองกรณี หมายถึงการเอาชนะอุปสรรคเพื่อการแต่งงานกับคนต่างศาสนา หลังจากที่ไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันโดยที่ไม่ได้แต่งงาน พวกเขาก็เผชิญกับสิ่งที่ได้กระทำไปแล้ว การแต่งงานโดยส่วนใหญ่พ่อแม่จะเป็นผู้ยินยอมและรับรู้ พวกเขาเป็นคู่กันแล้ว จึงไม่มีทางที่จะห้ามปรามได้

 

ในเรื่องชีวิตแต่งงานของฟาติน ความแตกต่างของศาสนาในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ไม่ได้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพ่อแม่ เช่นเดียวกับชาวมุสลิมและชาวพุทธทั่วไป โดยเฉพาะหลังจากที่เธอมีลูกคนแรก นั่นเป็นเพราะว่าปู่ย่า - ตายายและญาติ ๆ ของทั้งสองฝ่ายยังต้องไปมาหาสู่กัน เช่นเดียวกันกับคู่แต่งงานต่างศาสนาอื่นๆ มีบางโอกาสที่ความแตกต่างของศาสนาจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน

 

ในทศวรรษนี้ มีมุสลิมในภาคของประเทศไทยจำนวนมาก ที่แต่งงานกับคนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตก (Westerners) ผู้ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่า นับถือศาสนาคริสต์ หลังจาก nikah ที่ถือเป็นการแต่งงานกันอย่างเป็นทางการ ตามข้อปัจจัยด้านโครงสร้างและการควบคุมให้เป็นไปตามธรรมเนียมก็เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในหมู่มุสลิมในจังหวัดภูเก็ต ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ดังนั้นวิธีการที่จะเป็น "แขก" ในบริบทของสังคมไทยนั้น เห็นว่าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของเชื้อชาติ เศรษฐกิจ คุณค่าทางวัฒนธรรม สัญชาติและการควบคุมของรัฐ

 

คนที่มีเชื้อสายมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทยมีความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่แตกต่างออกไป ทั้งที่เห็นได้ชัดเจนและไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญในการกำหนดให้ผู้คนจัดการกับชีวิตที่สามารถเปลี่ยนแปลงง่ายได้อย่างไร

 

ลักษณะของเชื้อชาติหรือกลุ่มชนเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลมากกับการกำหนดเอกลักษณ์ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถมองข้ามปัจจัยแห่งรัฐและศาสนา รวมทั้งกลุ่มคนผู้นับถือศาสนาไปได้ว่า จะไปมีผลต่อการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของคู่แต่งงานต่างศาสนาอย่างไร

 

บทสรุป

การแต่งงานระหว่างคนสองศาสนา ไม่ได้ทำให้เปลี่ยนเฉพาะชีวิตส่วนตัวของผู้คนแค่เพียงชื่อ หรือการกระทำเท่านั้น แต่ชุมชนไม่สามารถปฏิเสธความต้องการในการปรับตัว และความซื่อสัตย์ต่อรูปแบบครอบครัวใหม่แห่งยุคร่วมสมัย

 

มีข้อสนับสนุนเพิ่มขึ้นว่า คุณค่าทางเชื้อชาติและการแสดงตน เป็นสิ่งที่รักษากันมาหลายรุ่น แต่การเปลี่ยนแปลงในครอบครัวจากการแต่งงานกับคนต่างศาสนา มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตครอบครัว

 

โดยเกิดความท้าทายขึ้นมาจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณี จึงมีการป้องกันและการตอบสนองที่แปลกแยกออกไป จากการคุกคามโดยความต้องการสร้างความเป็นระเบียบและการทำความเข้าใจในธรรมเนียมที่เป็นทางการ

 

มีงานวิจัยและเอกสารเกี่ยวกับเรื่องการแต่งงานระหว่างคนสองศาสนาในภาคใต้ของประเทศไทยน้อยมาก และยังมีน้อยคนที่จะสนใจในเรื่องระหว่างศาสนาหลายศาสนาหรือศาสนสัมพันธ์ (Inter-religious)  การดำรงอยู่ร่วมกันของเชื้อชาติและวัฒนธรรม

 

แต่ก็มีงานเขียนหลายเรื่องในภาคใต้ของประเทศไทยที่นำเสนอว่า มุสลิมเป็นกลุ่มคนที่มีคุณสมบัติเหมือนกันทั้งหมด ทั้งที่มุสลิมเองก็มีหลายระดับ และมีชุมชนมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างบูรณาการกับสังคมของชาวไทยพุทธ

 

ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงนำไปสู่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม ความคิดเห็นและอัตวิสัยที่แตกต่างกัน จะนำมาซึ่งความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งเราไม่สามารถมองข้ามประวัติศาสตร์และภาวการณ์ร่วมสมัย ของการแต่งงานระหว่างคนสองเชื้อชาติและการอาศัยอยู่ร่วมกันของคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาในมุสลิม - พุทธได้

 

การดำรงอยู่ร่วมกัน แม้จะผ่านความยุ่งยากของการแต่งงานระหว่างคนต่างศาสนา เพราะถูกสนับสนุนให้คงไว้ซึ่งการแบ่งแยกเอกลักษณ์ของศาสนาในการแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น แม้ในสังคมบรรพบุรุษเดียวกันหรือมีวัฒนธรรมเดียวกัน แต่ความแตกต่างของศาสนาไม่อาจกีดขวางการธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท