Skip to main content
sharethis


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า วานนี้ (6 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และคณะจำนวน 7 คน พร้อมจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เรื่องปัญหาและทางออกกรณีสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยมีข้อเสนอ คือ

 


1.รัฐบาลต้องกำหนดรูปแบบของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีให้ชัดเจน ว่าสถานภาพหลังจากสปน.ยกเลิกสัมปทานจะอยู่ต่อไปในรูปแบบใด เพราะความไม่ชัดเจนของรัฐ จะทำให้การทำงานของคณะผู้บริหารชุดใหม่ เกิดปัญหาจนไม่สามารถปฏิรูปสถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้ และซ้ำรอยกรณีสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และกรณี อสมท


 



2.ทางคณะกรรมการ ขอเสนอให้รัฐบาลตรากฎหมาย "พระราชกำหนดจัดตั้งบรรษัทมหาชนแห่งชาติไอทีวี" โดยตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่ง ที่ประกอบด้วยหลายฝ่าย และมีตัวแทนภาคประชาชนองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนขึ้นมาบริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวีแบบถาวร โดยเน้นทีวีสาธารณะ เน้นรายการข่าวสารสาระ คล้ายกับสถานีโทรทัศน์บีบีซีของประเทศอังกฤษ เพื่อยึดมั่นเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ทีวีเสรี หากนายกรัฐมนตรีจะปล่อยให้มีการออกอากาศต่อควรจะประกาศเจตนารมณ์ให้ชัดเจน ที่จะปรับให้เป็นทีวีเสรีเพื่อสาธารณะ


 



 3.คณะกรรมการเห็นว่า กรณีผู้ผลิตรายการซึ่งเช่าเวลากับไอทีวี ออกมาเรียกร้องความเห็นใจนั้น ทางคณะกรรมการรู้สึกเข้าใจ แต่ถือเป็นความรับผิดชอบของเทมาเส็กกับเครือชินคอร์ป ที่ต้องดูแลแก้ไขปัญหา พร้อมเรียกร้องให้รัฐมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายการ เรียกค่าเสียหายต่อเทมาเส็ก หรือกลุ่มผู้บริหารกลุ่มชินคอร์ปต่อไป


 



กก.สิทธิฯ จี้ไม่ควรฮุบกลับไปเป็นของรัฐ ทำทีวีสาธารณะ


ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็จัดแถลงข่าวด่วนโดยมีขอเสนอแนะต่อรัฐบาลดังนี้


1. ขอให้รัฐบาลทบทวนแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยความพยายามที่จะนำคลื่นความถี่  ในการส่งวิทยุโทรทัศน์ ที่บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไปให้ อสมท. บริหารและใช้ประโยชน์ เพราะเท่ากับเป็นการสถาปนาสื่อสารวิทยุโทรทัศน์ของรัฐขึ้นมาอีกโดยไม่จำเป็น


 


2.  รัฐบาลต้องให้หลักประกันต่อประชาชนในอันที่จะให้ มีสถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ เพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง และ ควรกระทำทุกวิถีทางในทางนโยบายที่จะป้องกันมิให้สื่อวิทยุ    โทรทัศน์ ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกลุ่มทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ 


                       


3. รัฐบาลควรใช้โอกาสที่ดีในการแก้ไขปัญหาพิพาท กับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) นี้แสดงความกล้าหาญ ที่จะริเริ่มให้มีรูปแบบการจัดการแบบใหม่ที่ ไม่ใช่ทั้งรูปแบบ บริษัทจำกัด หรือเป็นของหรืออยู่ภายใต้กำกับของรัฐ หากแต่อยู่ในรูปแบบองค์กรอิสระที่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณตาม    สัดส่วนภาษีที่เก็บได้จากฐานภาษีที่กำหนด  โดยมีหลักประกันความเป็นอิสระในการนำเสนอ และสัดส่วนรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง


 


นักวิชาการชี้กรมประชาฯบริหารขัดเจตนารมณ์


ดร.พิรงรอง รามาสูตร รณะนันท์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การที่ครม. มีมติให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ยุติการออกอากาศ และมอบให้กรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้บริหารคลื่นและกิจการแทนในระหว่างที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังจากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผิดสัญญาสัมปทานนั้น ถือว่า เป็นการกระทำที่ผิดเจตนารมณ์การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรี เนื่องจากต้องการให้เป็นสื่อสาธารณะเป็นของประชาชน แต่การที่รัฐบาล มีมติมอบการบริหารงานเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เท่ากับว่ารัฐกลับเข้ามายึดคืนสถานีโทรทัศน์เข้าเป็นของรัฐอีกครั้ง แม้ว่าจะไม่ผิดกฎหมายก็ตาม


 



ที่ผ่านมา กรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 มีเจตนารมณ์เพื่อเป็นสื่อบริการสาธารณะแต่ว่า การที่รัฐเข้ามาบริหารกลับกลายเป็นเครื่องมือของรัฐ ซึ่งไอทีวี ก็อาจจะตกอยู่ในสภาพเดียวกันในอนาคต


 



สมาคมนักข่าวฯค้านรัฐคุมไอทีวีระยะยาว


ด้านสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ กรณีสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยึดคืนคลื่นสัมปทานไอทีวี และให้หยุดออกอากาศชั่วคราววันนี้ (7 มี.ค.) แสดงความเสียใจ และเห็นใจพนักงานไอทีวี เพราะได้ส่งผลกระทบอย่างมาก ทั้งต่อประชาชนที่ขาดโอกาสในการรับรู้ข่าวสาร และผลกระทบต่อพนักงานและผู้ผลิตรายการ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า การระงับออกอากาศจะยาวนานเพียงใด


 



สมาคม มีข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การสร้างความชัดเจน ดังนี้ 1.สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับการให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ อยู่ภายใต้กำกับของรัฐบาลเป็นระยะเวลายาวนาน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศนโยบายให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด ว่าจะกำหนดทิศทางของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ให้เป็นรูปแบบใด เช่น เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะที่มีความอิสระจากภาครัฐ หรือเป็นสถานีโทรทัศน์เอกชนโดยเริ่มต้นการประมูลสัมปทานใหม่ ให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งไอทีวีในครั้งแรก และควรแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลการบริหารงานของสถานีโทรทัศน์ โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่ครอบคลุม หลากหลาย ซึ่งสังคมเชื่อถือและยอมรับได้ โดยรวมตัวแทนจากภาคประชาชนด้วย


 



2.ควรให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปัญหาของไอทีวี ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 80 ของกฎหมายจัดสรรคลื่นความถี่ ว่าจะสามารถนำคลื่นความถี่นี้ไปจัดสรรให้สัมปทานกับรายใหม่ได้หรือไม่ในระหว่างยังไม่มี กสช. 3.ขอให้รัฐบาลและคณะกรรมการกฤษฎีกา เร่งพิจารณาข้อกฎหมาย และการตีความประเด็นทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการออกอากาศให้ชัดเจนเร็วที่สุด 4.สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพนักงานของไอทีวีและผู้ผลิตรายการของไอทีวี รัฐบาลต้องกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมตามกฎหมาย


 



"สมเกียรติ" ชี้ยิ่งปิดนานยิ่งเสียหาย


ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ทางออกเรื่องนี้มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่เสียดายที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการในช่วงเปลี่ยนผ่านได้ ทั้งที่ทราบเรื่องมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว และยังไม่ต้องพูดถึงค่าปรับแสนล้าน แค่รายจ่ายก็มากกว่ารายรับ ซึ่งเรื่องนี้ทราบมานานแล้วว่า ไอทีวีต้องมีการเปลี่ยนแปลง และที่เป็นไปได้จากการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อปีที่แล้ว คือการคืนหุ้นให้ สปน.


 



โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการตีความข้อกฎหมาย ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า แต่ค่อนข้างแปลกใจ ทั้งที่หลายเรื่องน่าจะดำเนินการได้ก่อนตั้งแต่ 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ เช่น ในมาตรา 80 หากรัฐบาลยื่นตีความตั้งแต่ตอนนั้น ก็คงไม่ต้องห่วงว่าขัดกับข้อกฎหมายหรือไม่


 



อีกประเด็นคือ การจะให้ไอทีวีไปอยู่กับ อสมท โดยรัฐจะนำบริษัทที่จดทะเบียนในหลักทรัพย์ไปทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ตามอำเภอใจไม่ถูกต้องนัก การที่รัฐบาลจะทำอะไรกับบริษัทในตลาดจะต้องประชุมผู้ถือหุ้น ไม่ใช่คิดอยากทำอะไรก็ทำ


 



"แต่ปัจจุบันติดไฟแดง หลังจากผ่านไฟแดงแล้วอะไรจะเกิดขึ้น และหากปิดไอทีวีเท่ากับรัฐบาลเสียเงินฟรี ยิ่งปิดนานเท่าไรก็ยิ่งเสียหายทางการเงิน รวมถึงทรัพย์สินที่เสื่อมสภาพได้ พนักงานก็เสื่อมสภาพ โดยเฉพาะขวัญกำลังใจ แต่สิ่งที่จะเสียถาวร คือ พนักงานที่เกรดดี ความสามารถสูงจะถูกดึงตัวไป คุณภาพไอทีวีที่เปิดมาใหม่จะไม่เหมือนเดิม" ดร.สมเกียรติ กล่าว


 



รอศาลปกครองพิจารณาคุ้มครองชั่วคราวออกอากาศ


ด้านความคืบหน้านั้น ในช่วงบ่ายของวันที่ 6 มี.ค. ตัวแทนพนักงานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี. นำโดยนายจตุรงค์  สุขเอียด  ได้เดินทางมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ยุติการออกอากาศคลื่น UHF  ของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เนื่องจากเดิมบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน)  ได้รับสัมปทานจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยหากเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าวต้องตกเป็นคลื่นความถี่ของรัฐทันที เนื่องจากขาดความพร้อมด้านทรัพย์สินและบุคลากรที่สามารถดำเนินการออกอากาศให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งการอ้างมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวขัดต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง  ม.9 (1) (2) และ (3)  เพราะมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวสร้างขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม 


 


อีกทั้งการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีวันนี้ และมีมติให้ยุติการออกอากาศไอทีวีในวันพรุ่งนี้ (7 มี.ค.)  ทันที เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไม่มีการเตรียมการขณะที่เห็นว่า ยังต้องรอข้อกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกาหลายประเด็น  จึงไม่น่าสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ไอทีวี จึงขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวีออกอากาศได้ตามปกติจนกว่าจะมีข้อสรุปด้านกฎหมายที่ชัดเจน   เพื่อปกป้องผลประโยชน์และทรัพยากรของประเทศชาติ  โดยให้ศาลปกครองกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว  รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน มติคณะรัฐมนตรีที่ให้ยุติการออกอากาศทางคลื่น UHF  ของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีด้วย


 


ขณะที่สมาพันธ์ประชาธิปไตย มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย และองค์กรอื่นๆ จะได้เข้ายื่นขอความคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราวต่อศาลปกตรองสูงสุดเช่นกันในช่วงสายวันที่ 7 มี.ค โดยนพ.เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย ระบุความกังวลว่า มีความเป็นไปได้ว่าไอทีวีอาจจะถูกปิดนานกว่านั้นและนำไปสู่การครอบงำแทรกแซงสถานีโทรทัศน์ไอทีวีโดยรัฐบาลอย่างถาวรต่อไปเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของการต่อสู้เดือนพฤษภา2535ที่ต้องการให้มีสื่อเสรีของประชาชน


                                                                                   


ชี้ พนง.ไอทีวี ต้องได้เงินชดเชยตาม กม. - บอร์ดเตรียม 200ล้านสำรองจ่ายแล้ว


ด้านเว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า นายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือพนักงานไอทีวีจำนวน 1,070 คน ภายหลังมติ ครม.มีมติยึดคลื่นสัมปทาน และยุติการออกอากาศชั่วคราวส่งผลให้มีการบอกเลิกจ้างพนักงานว่า ได้สั่งการให้นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เกาะติดสถานการณ์อย่างไม่คลาดสายตาย โดยให้เจรจากับทั้งสองฝ่ายเพื่อมีการชดเชยลูกจ้างตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ทราบว่า กสร.ได้เรียกผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัท ไอทีวี มาทำความเข้าใจเรื่องนี้แล้ว ทั้งนี้ ทางฝ่ายไอทีวีก็ยืนยันว่าได้เตรียมเงินไว้ประมาณ 200 ล้านบาทจ่ายให้กับพนักงานและ กสร.กำชับว่าให้นายจ้างดำเนินการจ่ายค่าชดเชยให้เสร็จวันที่ 9 มี.ค.


 



นายอภัย กล่าวอีกว่า พนักงานไอทีวีจะต้องได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย ตามมาตรา 118 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานในกรณีพนักงานที่ทำงานมาแล้ว 1 ปีแต่ไม่ถึง 3 ปีจะได้รับเงินค่าชดเชยจำนวน 3 เดือนของค่าจ้างเดือนสุดท้าย ทำงาน 3 ปีแต่ไม่เกิน 6 ปี จะได้รับเงินชดเชยจำนวน 6 เดือน ทำงานมาแล้ว 6 ปีแต่ไม่เกิน 10 ปีจะได้รับค่าชดเชย 8 เดือน ทำงานเกินกว่า 10 ปีจะได้รับ 10 เดือน เป็นต้น นอกจากนี้จะได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นจำนวน 1 งวดการจ้างกับอีก 23 วัน และค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนสิทธิ


 



" เรามีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องลูกจ้าง นายจ้าง สภาพการจ้าง แต่ครั้งนี้คิดว่าไม่มี ปัญหา เพราะนายจ้างเองก็รับปากแล้ว แต่ถ้าหากว่านายจ้างไม่จ่ายหรือเบี้ยวนั้นลูกจ้าง สามารถมาร้องเรียนได้ที่กระทรวงแรงงานตลอดเวลา โดยผมได้ตั้งคณะกรรมการจาก กสร.รับผิดชอบโดยเฉพาะ สารมารถเอาผิดกับนายจ้างได้ตามกฎหมายหากยังฝ่าฝืน ซึ่งจะมีโทษ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"นายอภัย กล่าว


 



นายอภัย กล่าวว่า หากว่าพนักงานเหล่านี้ยังไม่ได้ไปทำงานที่ไหน ตกงานก็ สามารถมาใช้สิทธิกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคมอีกคนละ 50%ของค่าจ้างเป็น ระยะเวลา 6 เดือน ส่วนกรมการจัดหางานก็ได้จัดตำแหน่งงาน 1,400 อัตรารองรับ


 



นายผดุงศักดิ์ อธิบดี กสร. กล่าวว่า ทั้งนี้ยังมีบริษัทจำนวน 102 บริษัท ซึ่งส่วน ใหญ่เป็นบริษัทที่ผลิตรายการ เช่าช่วงเวลากับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ได้รับผลกระทบจาก กรณีดังกล่าว และหากลูกจ้างบริษัทใดที่ถูกบริษัทเลิกจ้างก็ขอให้มาแจ้งกับ กสร.ดำเนินการ ซึ่งกสร.จะดำเนินการคุ้มครองให้กรณีเดียวกันกับบริษัทไอทีวี


 


ตลาดรอข้อมูล"ไอทีวี"ชี้ขาดเพิกถอน


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น รายงานว่า นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์จะยังไม่ปลดเครื่องหมาย SP หุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน)หรือ ITV จนกว่าจะมีความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะดำเนินการอย่างไรกับไอทีวี ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ไอทีวี หยุดออกอากาศชั่วคราว นอกจากนี้ต้องรอดูว่าถ้าหากภาครัฐยึดสัมปทานคืน ไอทีวี จะหาธุรกิจใดมาแทนที่ธุรกิจหลัก


 


ทั้งนี้หากมีการฟ้องล้มละลายและศาลมีคำสั่งให้บริษัทไอทีวีเป็นบริษัทล้มละลายจะทำให้ไอทีวีขาดคุณสมบัติในการเป็นบริษัทจดทะเบียนและต้องถูกเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทันที


 


นายศักรินทร์ ร่วมรังษี ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สายงานกำกับตลาด กล่าวว่า ในวันที่ 7มี.ค. ไอทีวี คงทำหนังสือชี้แจงถึงสถานการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมายังตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการ ซึ่งหลังจากได้รับหนังสือชี้แจงแล้วตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณาต่อไปว่า ไอทีวีเข้าข่ายต้องเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือไม่ โดยดูจาก 2 ปัจจัยคือ มีการหยุดประกอบกิจการหรือไม่ และ ดูว่าสินทรัพย์ที่ใช้ดำเนินงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่


 


ทั้งนี้หากสถานะของ ไอทีวี เข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งตามที่กล่าวมานั้น ตลาดหลักทรัพย์จะทำหนังสือชี้แจงกลับไปยัง ไอทีวี เพื่อให้ ไอทีวี พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรให้พ้นเหตุแห่งการต้องถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์จะให้เวลาในการพิจารณา 30 วัน


         


CNN ตีข่าวไอทีวี ชี้รัฐสั่งจอดำทำนักลงทุนไม่มั่นใจ


ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า  เว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น รายงานอ้างตามสำนักข่าวเอพี ว่า รัฐบาลตัดสินใจยึดคืนสัมปทานสถานีโทรทัศน์เสรีแห่งเดียวของไทย และจะหยุดการออกอากาศหลังไอทีวีไม่สามารถชำระค่าสัมปทานและค่าปรับเป็นเงินแสนล้านบาทได้


 


ในเนื้อหามีการรายงานถึงความเป็นมาของข้อพิพาทระหว่างไอทีวี กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) อย่างละเอียด รวมทั้งสัญญาของนายกรัฐมนตรีว่าพนักงานจะไม่ตกงาน รวมทั้งรายงานว่าการตัดสินใจของรัฐบาลในวันนี้เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ทำให้นักลงทุนกังวลในทิศทางการบริหารประเทศ ซึ่งเกิดจากการยึดอำนาจ


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net