Skip to main content
sharethis


เผยมลพิษปกคลุมเมืองเชียงใหม่ขั้นวิกฤต เหตุควันไฟป่า-การเผาในที่โล่ง หวั่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ปชช.รุนแรง สำนัก สวล.จังหวัดวอน ปชช.หยุดเผา ลั่นหากแก้ไม่ได้อาจงัดกฎอัยการศึกด้าน สวล.คุม


ประชาไท

- 9 มี.ค. 50 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดเวทีประชุมทีมปฏิบัติการระงับเหตุปัญหาฝุ่นละออง มลพิษอากาศระดับพื้นที่ ณ กรีนเลค รีสอร์ท จ.เชียงใหม่ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการณ์ฝุ่นควันปกคลุมพื้นที่ จ. เชียงใหม่ ในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะฝุนละอองขนาดเล็กกวา 10 ไมครอน (PM10) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากสถานีตรวจวัดมลพิษอากาศของกรมควบคุมมลพิษพบปริมาณเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไมเกิน120 ไมโครกรัมตอลูกบาศกเมตร) โดยมีสาเหตุมาจากการสะสมของมลพิษ ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2549 -ม.ค. 2550

ทั้งนี้ จากการรายงานของสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2550 พบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กใน จ.เชียงใหม่ กล่าวคือ สถานการณ์ระหว่างวันที่ 31 ม.ค. - 8 ก.พ. 2550 พบว่า สถานีโรงเรียนยุพราช ตรวจพบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดเท่ากับ 162 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 4 ก.พ. 2550 และสถานีศูนย์ราชการรวม พบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดเท่ากับ 137 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 5 ก.พ. 2550


นอกจากนี้ สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2550 เป็นต้นมา พบว่า สถานีโรงเรียนยุพราช ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด เท่ากับ 191 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 2 มี.ค. 2550 และสถานีศูนย์ราชการรวม ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดเท่ากับ 240 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 5 มี.ค. 2550


อีกทั้งข้อมูลจำนวน Hotspot จากภาพถ่ายดาวเทียม ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่ก่อมลพิษทางอากาศเพิ่มเติมคือ ภาพถ่ายดาวเทียมตรวจพบจุดความร้อน (Hotspot) แสดงตำแหน่งการเกิดไฟจำนวนมากในพื้นที่ประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ในวันที่ 25, 28 ก.พ. วันที่ 1, 4 และ 5 มี.ค. 2550 ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองในบรรยากาศพื้นที่ภาคเหนือเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวมวลอากาศเย็นเริ่มปกคลุมพื้นที่ภาคเหนืออีกครั้ง สภาพอากาศนิ่ง ฝุ่นละอองสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นาน ไม่สามารถแพร่กระจายออกไปได้และไม่ตกสู่พื้น จึงก่อให้เกิดสภาพฟ้าหลัว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน


นายเจนจบ สุขสด จากกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สภาพมลพิษทางอากาศในช่วงที่ผ่านมาเกิดสาเหตุหลักเกิดจากผลกระทบเรื่องไฟป่า และปริมาณการเผาในที่โล่งที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ปริมาณรถยนต์ใน จ.เชียงใหม่ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก ดังนั้นจึงอยากจะขอความร่วมมือกับประชาชนทุกคนงดการเผาโดยเฉพาะในช่วงนี้


"ค่ามาตรฐานของเป็นฝุ่นละอองที่อยู่ในอากาศ ซึ่งประกอบด้วยสารต่างๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซค์ ซัลเฟอร์ไดออกไซค์ ไนโตรเจนออกไซค์ โอโซน และฝุ่น เกินกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ หากมากกว่า 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในจุดอันตราย ซึ่งในปี 2547 พบฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในเมืองเชียงใหม่ ประมาณ18% หรือ 40 กว่าวันต่อปี ตอนนี้เราพยายามจะควบคุมคุณภาพอากาศเมืองเชียงใหม่ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างน้อย 95%" นายเจนจบ กล่าว


นายภุชงค์ อินสมพันธ์ ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ข้อมูลมลพิษทางอากาศของปี 2547 เปรียบเทียบ พบว่า คุณภาพอากาศเมืองเชียงใหม่ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งอยู่ในจุดวิกฤตสูงมากกว่าในทุกๆ ปี กล่าวคือ มีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เท่ากับ 290 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยพบว่ามีสาเหตุของมลพิษทางอากาศจากไฟป่าประมาณ 50,000 กว่าไร่ รวมทั้งจากการเผา และควันรถด้วย แต่ข้อมูลความวิกฤตของปี 2550 ยังไม่สามารถนำมาเปรียบกับปี อื่นๆ ได้อย่างชัดเจน เพราะการสสะสมข้อมูลในปีนี้ยังไม่สิ้นสุด


นายอภิวัตน์ คุณารักษ์ ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ต้องให้ท้องถิ่นร่วมมือกันงดการเผาในที่โล่งทุกชนิด ถ้าไม่หยุด หรือยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การเผาได้ ก็คงต้องใช้มาตรการบังคับตามกฎหมาย ทั้งนี้ ในปี 2550 พบค่าเฉลี่ยสูงสุด 196.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยกว่าปี 2547 แต่กลับมีช่วงระยะเวลาความวิกฤตของคุณภาพอากาศต่อเนื่องประมาณ 5-6 วัน


"หากความวิกฤตของอากาศยืดยาวออกไปอีก เพราะไม่สามารถควบคุมการเผาได้ อาจจะประกาศภาวะฉุกเฉินตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งเปรียบเปรียบเสมือนกฎอัยการศึกด้านสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการสามารถจับกุมได้ทันที แต่ขออย่าให้ประชาชนตกใจ เพราะเราไม่อยากให้เกิดวิกฤตจนถึงขั้นใช้มาตรการสุดท้าย" นายอภิวัตน์ กล่าว


นายอภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ต้องการให้ทาง จ.เชียงใหม่ บรรจุเรื่องคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นวาระสำคัญของจังหวัด ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดปี ไม่ใช่ทำเฉพาะช่วงที่เกิดเหตุการณ์มลพิษทางอากาศรุนแรงเท่านั้น ทั้งนี้ จ.เชียงใหม่ มีหน่วยงาน อบต. ประมาณ 184 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพทางภูมิศาสตร์ และภูมิสังคม แตกต่างกันไป แต่เป็นที่น่าดีใจว่า อบต.ของเราได้เป็นตัวอย่างให้กับชาวบ้านในการรณรงค์ไม่ให้มีการเผา มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2550 จนประสบความสำเร็จ ชาวบ้านมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น และเชื่อว่าหน่วยงานอื่นๆ ดำเนินการอย่างจริงจัง จะสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจตรงนี้ออกไปได้เป็นวงกว้างต่อไป


นายสมชิด กันธะยา นายก อบต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การดูแลควบคุมไฟป่า และการเผาขยะ ได้จัดทำโซนนิ่งการดูแลในพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ โดย อบต.จัดงบประมาณในการดูแลไม่ให้เกิดปัญหาไฟป่า และการเผาขยะ เผาเศษใบไม้ รวมทั้งเราได้ตั้งข้อบัญญัติของตำบลขึ้นมา มีกฎระเบียบชัดเจน


"ทางจังหวัดต้องสนับสนุนหน่วยงานท้องถิ่นที่ดำเนินงานตรงนี้ และควรออกเป็นวาระที่เป็นมาตรฐานเดียวกันครอบคลุมทั่ว จ.เชียงใหม่ พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานท้องถิ่น เพราะหากมีเพียงบางแห่งที่ทำ แต่ที่เหลืออีกร้อยกว่าแห่งไม่ทำ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร" นาย สมชิด กล่าว


อนึ่ง ข้อมูลการศึกษาทั่วโลกพบความสัมพันธ์ระหว่างระดับฝุ่นในอากาศ กับ สุขภาพ oPM10 ที่สูงขึ้นจากระดับมาตรฐาน 30 ug/m3 ดังนี้ 1. ทำให้การตาย ด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่ม 7-20% 2. การป่วย ด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่ม 5.5% 3. การตายและป่วยด้วยโรคหัวใจเพิ่ม 2-5% 4. การตายและป่วยด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดเพิ่ม 5.3 % 5. ทำให้ผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่ม 17.6% 6. โรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่ม 7.6% ôPM10 และ 7. ทำให้สมรรถภาพปอดในเด็กนักเรียนลดลง


ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net