Skip to main content
sharethis

สำหรับความคืบหน้ากรณีที่นักศึกษาโปรแกรมวิชาเอกชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ชั้นปีที่ 1 รุ่นที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2549 สถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย (มรช.) ออกมาร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่า ถูกผู้บริหารสถาบันหลอกให้มาเรียนโดยอ้างว่าจะมอบทุนการศึกษาให้ แต่เมื่อเข้าเรียนแล้วกลับต้องไปกู้ยืมเงินที่ต่างๆ จนเป็นหนี้สินจำนวนมากนั้น


 


ต่อมา อธิการบดี มรช. ออกประกาศมหาวิทยาลัยฯ ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 ให้ยุบเลิกสถาบันดังกล่าว และให้โอนภารกิจ ตลอดจนบุคลากรในสังกัดของวิทยาลัยนานาชาติภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำให้สมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้รู้ภูมิปัญญาชนเผ่า 13 ชนเผ่า และองค์กรชนเผ่าต่างๆ ออกแถลงการณ์คัดค้านการยุบสถาบันนั้น ด้วยสถาบันแห่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีการลงนามความร่วมมือจากเครือข่ายชาติพันธุ์ในภาคเหนือ องค์กรเอกชน และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของพี่น้องชาติพันธุ์ในประเทศไทยและลุ่มแม่น้ำโขง


 



ผศ.มาณพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดี มรช.


 


อธิการบดี มรช. ยืนยัน กมธ. ตามเดิม มีแอบอ้าง นศ.ร้องเรียน - ได้ทุนถ้วนหน้า


ล่าสุดวานนี้ (8 มี.ค.) ที่อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก สตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ แห่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ขอให้อธิการบดี ตัวแทนสภามหาวิทยาลัย อาจารย์ และนักศึกษารวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง โดย ผศ.ดร.มาณพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดี ยืนยันกับกรรมาธิการเหมือนที่เคยแถลงข่าวว่า  กลุ่มบุคคลที่ออกมาร้องเรียนภายนอกมหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นการแอบอ้างชื่อนักศึกษา ด้วยไม่มีการส่งหนังร้องเรียนและลงลายมือชื่ออย่างเป็นทางการ


 


"ทางมหาวิทยาลัยได้จัดทุนการศึกษารวมถึงมีค่ายังชีพให้นักศึกษาที่ถูกอ้างชื่อทั้ง 18 คนนั้นได้รับครบทุกคน ซึ่งมีทั้งทุนที่ได้เปล่าโดยไม่ต้องใช้คืนซึ่งมาจากกองทุนพัฒนานักศึกษา หรือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และทุนที่กู้ยืมกองทุนเงินกู้ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) และยืนยันว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยไม่เคยมีนโยบายให้ใครไปบอกให้หรือแจกทุนกับนักศึกษาก่อนเข้ามาเรียนแต่อย่างใด"


อธิการบดี อธิบายว่า ระบบการรับนักศึกษาของที่นี่จะให้อิสระแก่คณะหรือวิทยาลัยทั้งหลายเป็นผู้รับนักศึกษาโดยตรง ซึ่งจุดนี้อาจจะเป็นช่องโหว่ให้เกิดเหตุผิดพลาดขึ้นได้ ดังนั้น ขอกลับไปตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นจริงหรือไม่  และถ้าเป็นจริงก็จะเสนอให้สภามหาวิทยาลัยรับทราบ และพิจารณารับผิดชอบความเสียหาย หาทางชดเชยแก่นักศึกษาในโอกาสต่อไป รวมทั้งลงโทษกับผู้ที่กระทำการหลอกลวงในครั้งนี้ ส่วนข้อกล่าวหามีการล่วงละเมิดทางเพศนักศึกษาด้วยนั้น ถือเป็นเรื่องร้ายแรงต่อสถานศึกษา ทางมหาวิทยาลัยได้ให้บุคคลที่ถูกร้องเรียนออกจากการปฏิบัติหน้าที่เดิมชั่วคราวให้ไปทำอย่างอื่นก่อน จนกว่าจะมีการสอบข้อเท็จจริง


 


ระหว่างนี้ น..ทิชา ณ นคร หนึ่งในกรรมมาธิการได้ถามอธิการบดีว่า "ระหว่างการสอบข้อเท็จจริงจะกระทบต่อสถานภาพของนักศึกษาและอาจารย์ที่ร้องเรียนหรือไม่อย่างไร?"  ผศ.ดร.มาณพรับปากว่า จะไม่มีผลกระทบ "นอกเสียจากกลุ่มผู้ร้องเรียนจะไปใช้สิทธิ์ที่ล่วงสิทธิ์ของคนอื่น หรือมีผู้ใดมาร้องเรียนกลับว่ากลุ่มนี้ได้ทำให้เขาผู้นั้นเดือดร้อนหรือเสียหาย ทางมหาวิทยาลัยก็จะดำเนินการให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายเหมือนกัน"


 


 


กมธ.ซักนโยบายการให้ทุน อธิการบดียัน นศ.ได้ทุน "ให้กู้" ของ กรอ.


ผู้สื่อรายงานว่า กรรมมาธิการหลายคนพยายามซักถามอธิการบดีเกี่ยวกับนโยบายการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาชาติพันธุ์ที่มีอยู่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะนักศึกษาใหม่ในสถาบันดังกล่าวว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานกรรมาธิการได้ถามอย่างตรงไปตรงมาว่า เรื่องทุนการศึกษามีความสำคัญอยู่ 3 ช่วง ช่วงแรกคือ ภาคเรียนที่ 1 /2549 ตั้งแต่รับนักศึกษา ทางสถาบันมีนโยบายการให้ทุนอย่างไร และมีการจัดสรรทุนให้กับนักศึกษาหรือไม่ ซึ่งจะเป็นจุดดำเนินเรื่องที่สำคัญว่าทำไมนักศึกษาต้องไปหาทุนกันเอง สอง ภาคการศึกษาต่อมา นักศึกษายังได้เรียนต่อ และมีทุนการศึกษาอยู่อีกหรือไม่ ทำไมถึงต้องไปกู้ยืมเงินจากกรอ. และสุดท้าย ในปีนี้เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายยุบกองทุน กรอ. นักศึกษาจะทำอย่างไร


 


ทั้งนี้ อธิการบดี ชี้แจงว่า ในภาคเรียนที่ 1 กรอ.มีงบประมาณทั้งหมด 51 ล้านบาท นักศึกษาชาติพันธุ์ทั้ง 18 คนก็ได้รับทุนในส่วนนี้ด้วย โดยได้รับคนละ 9,700 บาทต่อเทอม ในการนี้อาจจะมีผิดพลาดตรงที่เม็ดเงินในส่วนนี้มาล่าช้า จึงทำให้นักศึกษาคิดว่า ตนคงไม่ได้รับทุน และเทอมต่อมาก็มิได้มายืนยันว่าประสงค์จะได้รับทุนต่อ ทำให้เกิดการผิดพลาดในการได้รับการจัดสรรทุนจากทางมหาวิทยาลัย โดยน.ส.กัญจนา ศิลปะอาชา หนึ่งในกรรมาธิการนี้ ได้ตั้งข้อสงสัยถึงระบบการจัดการภายในและการสื่อสารของมรภ.เชียงราย ที่ไม่สามารถทำให้นักศึกษาทราบถึงสิทธิของตนเองได้


 


 


นศ.โต้ ไม่ได้รับทุนครบ แม้แต่ทุน "ให้กู้" ก็ไม่ได้


ข้อสงสัยนี้ทำให้นายวัลลภ หันไปถามตัวแทนกลุ่มนักศึกษาที่ร้องเรียนและนั่งฟังการชี้แจงของอธิการบดีตั้งแต่ต้น ว่ารู้หรือไม่ว่าตนเองได้รับทุนจากทางมหาวิทยาลัยแล้ว ปรากฏว่านายสุรพจน์ มงคลเจริญสกุล ลุกขึ้นแย้งในที่ประชุมทันที "ไม่เป็นความจริง นักศึกษาไม่ได้รับทุนครบทั้ง 18 คน ผมเป็นคนหนึ่งที่มีรายชื่อปรากฏว่าได้รับทุน (นักศึกษาได้ชูเอกสารเกี่ยวกับการให้ทุนที่ทางอธิการบดีและตัวแทนมหาวิทยาลัยนำมาประกอบการชี้แจงครั้งนี้) แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้รับ แม้จะมีการเปิดบัญชีธนาคารให้ก็จริง แต่ไม่เคยมีตัวเงินเข้าบัญชีทั้ง 2 เทอมเลย นอกจากนี้ยังมีเพื่อนนักศึกษาอีก 4 คนที่ประสบกรณีเดียวกัน ซึ่งได้แก่ น.ส.อรวรรณ ไพรคีรีพฤกษา น.ส.นิภา แซ่ลิ้ม  น.ส.ศิริพร รัตนคีรีกุล และนายสรวิชญ์ เปรมวชิระนนท์"


 


นายสุรพจน์ กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่า "เพื่อนของผม น.ส.นิภา เข้ามาเรียนเพราะคิดว่าที่นี่จะมีทุนการศึกษาให้ เมื่อมาเรียนแล้ว กลับไม่มีทุนอะไรให้ และเกิดความกดดันมาก ต้องพยายามหาเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียน ในที่สุดก็ต้องออกเรียนไปกลางคัน" 


 


 


กมธ.ซัก - เหตุ "ทุนพระราชทาน" ไม่ถึงมือ นศ.-อธิการบดีโบ้ยได้ข้อมูลจาก จนท.กรอ.


นอกจากนี้ กรรมาธิการคนหนึ่งกล่าวอย่างเคร่งเครียดหลังจากอ่านเอกสารที่ได้รับจากอธิการบดี พบว่า น.ส.อรวรรณ ไพรคีรีพฤกษา เป็นนักศึกษาคนเดียวที่ได้รับทุนพระราชทาน แต่เงินในส่วนนี้กลับหายไป ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ประธานกรรมาธิการจึงย้ำให้อธิการบดีไปตรวจเช็คเรื่องนี้ให้เรียบร้อย ถึงช่วงนี้ทั้งอธิการบดีและตัวแทนที่มาด้วยพยายามชี้แจงว่า ข้อมูลเรื่องทุนการศึกษานี้มาจากเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนานักศึกษาและฝ่ายไอทีของ กรอ. ยกเว้น น.ส.อรวรรณ กับนายรอด อาจารย์ ที่ไม่ได้รับทุน


 


ทั้งนี้ นายกฤษณพงษ์ กีรติกร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ที่นั่งฟังโดยตลอด กล่าวว่า เมื่อได้ทราบเรื่องนี้จากสื่อมวลชน ในฐานะที่เป็นประธานมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้ขอให้เจ้าหน้าที่พานักศึกษาทั้ง 18 คนไปพักที่ พชภ. อันเป็นการช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยเบื้องต้นก่อน และได้ทำบันทึกถึงอธิการบดีให้ชี้แจง 3 ข้อ คือ เรื่องการรับทุนของนักศึกษาเป็นอย่างไร พฤติกรรมของอาจารย์ที่ถูกร้องเรียนมีมูลอย่างไร และการยุบรวมสถาบันชาติพันธุ์เข้ากับวิทยาลัยนานาชาติลุ่มน้ำโขง ซึ่งก็กำลังรอคำชี้แจง ทราบว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบข้อเท็จจริงในระบบ แต่นอกระบบทางสกอ. ก็จะหาข้อมูลคู่ขนานไปด้วย


 


 


อธิการบดียันเปลี่ยนสถานะสถาบันชาติพันธุ์เรื่องภายใน


ทั้งนี้ ผศ.ดร.มาณพ พยายามชี้แจงประเด็นการยุบสถาบันชาติพันธุ์ฯ ว่า โดยความจริงสถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษาไม่มีสถานะให้มีการเรียนการสอนได้ นอกจากจะต้องเป็นคณะหรือวิทยาลัย และเรามีการวางแผนล่วงหน้าเป็นยุทธศาสตร์ 5 ปีของมหาวิทยาลัยอยู่แล้วในการยกระดับการศึกษาของพี่น้องชาติพันธุ์ให้เป็นวิทยาลัยนานาชาติ ไม่ได้หวังแต่พี่น้องชาติพันธุ์ในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงทั้งลุ่มแม่น้ำโขงนี้ ซึ่งสถาบันชาติพันธุ์ฯ เป็นหน่วยงานภายในของ มรภ.เชียงราย และเป็นอำนาจของอธิการบดีในการดำเนินการได้


 


ทั้งนี้ นายวีรวัฒน์ ตันติปิชาติ หนึ่งในกรรมาธิการได้ถามแย้งขึ้นว่า เมื่อมหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแผนการบริหารวิชาการเช่นนี้ มีการแจ้งหรือประกาศให้นักศึกษาภายใต้สถาบันทราบหรือไม่ อย่างไร? ส่วนเรื่องทุนค่าครองชีพนั้น มหาวิทยาลัยบอกว่าได้แต่นักศึกษาไม่ได้รับจะมีความหมายอะไร ทั้งนี้อธิการบดี ตอบว่า "ทั้งหมดนี้อยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร จึงไม่ได้แจ้งแก่นักศึกษา เพราะเป็นเรื่องภายใน อีกทั้งเป็นนักศึกษารุ่นแรกด้วยก็สามารถย้ายหรือโอนไปอยู่กับวิทยาลัยนานาชาติได้โดยไม่เป็นปัญหา ซึ่งระดับผู้บริหารและคนในก็ทราบเรื่องนี้ เพราะอยู่ในแผน 5 ปีของมรภ.เชียงราย"


 


โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.มาฆะ  ขิตตะสังคะ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนานาชาติภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่นั่งอยู่ข้างอธิการบดีก็พยักหน้าคล้อยตามอธิการบดี


 


 


อาจารย์ช่วย นศ. วอน อย่าเหมารวม "ทุนให้กู้" เป็น "ทุนการศึกษา"


อาจารย์รัชนี นิลจันทร์ หนึ่งในอาจารย์ที่ช่วยนักศึกษาร้องเรียนเรื่องนี้ กล่าวว่า อยากให้มีการนิยามเรื่อง "ทุน" ให้ชัดเจน ว่าทุนการศึกษาคือจำนวนเงินที่ให้แก่นักศึกษาอย่างมีเงื่อนไขและเงินจากกรอ. คือเงินที่ต้องกู้ยืมมาเพื่อยังชีพและต้องใช้คืนภายหลังซึ่งมีดอกเบี้ย มิฉะนั้นการพูดเหมารวมว่านักศึกษาได้ทุนทั้งหมดจะให้เกิดการเข้าใจผิดกัน ซึ่งขณะนี้นักศึกษาหลายคนต้องกู้ยืมเงินจากกรอ ต้องเป็นหนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ และทำไมวันนี้ถึงไม่มีการกล่าวถึงผู้อำนวยการสถาบันชาติพันธุ์เลย


 


 


สมัชชาชนเผ่าวอนยุบสถาบันชาติพันธุ์ฯ ขอให้นึกถึงสิ่งที่ชนเผ่าลงแรง


ด้านตัวแทนกลุ่มชนเผ่าผู้รู้ นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานกองเลขาธิการสมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย ซึ่งมาในนามกลุ่มชนเผ่าผู้รู้ 13 เครือข่าย และเครือข่ายสตรีชนเผ่า เห็นด้วยกับอาจารย์รัชนี และมองว่าการกระทำของมหาวิทยาลัย ที่จะรวมหรือยุบสถาบันชาติพันธุ์นั้น ไม่เคยนึกถึงในสิ่งที่พี่น้องชนเผ่าได้ลงทุนลงแรงร่วมกันสร้างมา คิดว่ามีอำนาจ นึกจะยุบก็ยุบ ไม่คิดถึงความร่วมมือในอดีตกันเลย และโดยหลักการการยุบหน่วยงานในมรภ. อำนาจการยุบนั้นต้องผ่านสภามหาวิทยาลัย ไม่ทราบว่าได้ผ่านกระบวนการเหล่านั้นหรือไม่อย่างไร


 


"ทั้งยังได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศด้วย การออกมาของกลุ่มนักศึกษานี้ต้องถือว่าออกมาปกป้องมรภ.เชียงราย ที่ทำให้รู้ว่ามีบุคคลทำให้สถาบันเสื่อมเสียชื่อเสียง"


 


 


ปธ.กมธ.สรุปมติให้ สกอ.สอบ อดีต ผอ.ชาติพันธุ์อีกทางหนึ่ง


สุดท้าย ประธานกรรมาธิการฯ ได้มีมติในประเด็นเกี่ยวกับผู้อำนวยการให้ทางอธิการบดีจัดตั้งกรรมการขึ้นมาสอบ และให้ทางเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) สอบสวนอีกทางหนึ่งควบคู่ไปด้วย ด้านประเด็นเรื่องอนาคตของนักศึกษาและความมั่นใจของอาจารย์นั้น ไม่ว่าจะยุบหรือย้ายสถาบันชาติพันธุ์อย่างไรก็ตาม สิทธิการเป็นนักศึกษา เรื่องทุนก็ต้องได้รับการดูแล ส่วนความเป็นสถาบัน ทางมหาวิทยาลัยกับเครือข่ายชนเผ่าควรทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าการจัดตั้งสถาบันชาติพันธุ์เป็นไปตาม พรบ.หรือไม่ ซึ่งน่าจะได้ทางออกที่ดีได้


 


อาจารย์รัชนี นิลจันทร์ ได้กล่าวภายหลังการชี้แจงคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก สตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ แห่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า มาครั้งนี้ไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะอยากให้เอกสารที่ส่งมอบต่อคณะกรรมาธิการฯ และเลขาธิการ สกอ. เป็นหลักฐานและพิสูจน์ข้อเท็จจริงของเรื่องทั้งหมด ผู้สื่อข่าวรายงาน เอกสารที่อาจารย์และตัวแทนนักศึกษานำมาด้วยนั้น อาทิ ข้อมูลพื้นฐานขอนักศึกษา 15 คน ตัวหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชา ชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (2548) ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา ฯลฯ


 


 


นักศึกษาแจงนึกว่าเรียนฟรีไม่คิดมาก่อนว่าจะต้องกู้เรียน


นายสุรพจน์ มงคลเจริญสกุล กล่าวว่า ทุนที่จะให้กับนักศึกษาชาติพันธุ์และสันติศึกษา ไม่ใช่ทุนกู้ยืมจาก กรอ. ตามที่อธิการบดีกล่าว แต่ ทุนกู้ยืม กรอ.นั้น เกิดจากการที่ตนและเพื่อนนักศึกษา 5 คนยื่นขอ หลังจากที่ไม่ได้รับทุน 200,000 บาทตามที่ อดีต ผอ.สถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษาเคยสัญญาว่าจะให้  และพวกตนมีความจำเป็นต้องจ่ายค่าเทอมในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2549


 


"แต่ในเทอม 1 ตนเองก็ขอทุนกู้ยืมไม่ทันเพราะขาดเอกสารอย่างหนังสือรับรองของผู้อำนวยการโรงเรียนเก่า และรูปถ่ายที่บ้าน ทั้งนี้เป็นเพราะคิดว่าจะได้ทุน 200,000 บาท ไม่คิดว่าจะต้องกู้เงินเรียนมาก่อน" นายสุรพจน์เปิดเผยถึงสาเหตุที่ไม่ได้รับทุน กรอ.


 


 


ดิ้นรนขอทุน อบจ. หลังแน่ใจโดนเบี้ยวทุนสองแสนแน่ เผยยังได้แค่งวดเดียว


ส่วนทุนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย (ทุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษาที่ด้อยโอกาสและยากจน) นั้นเป็นทุนแบบจ่ายขาด คือจ่ายเพียงครั้งเดียว 10,000 บาท โดยพวกตนไม่ได้ตั้งใจจะขอทุนนี้ แต่เมื่อแน่ใจว่าจะไม่ได้ทุนที่ ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ฯ เคยบอกว่าจะให้แน่ๆ ดังนั้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2549 อาจารย์บางท่านในสถาบันชาติพันธุ์ฯ จึงให้ความช่วยเหลือพวกตนให้ไปคุยกับ อ.วิทยา วรรณศิริ รองอธิการบดี มรช.ด้านกิจการนักศึกษา ซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือด้านแหล่งทุนการศึกษาให้นักศึกษาใน มรช.


 


โดยอาจารย์วิทยารับปากจะให้ความช่วยเหลือ โดยให้พวกตนจำนวน 9 คน ลองไปสมัครขอทุน อบจ. ดู ทั้งนี้ปรากฏว่ามีนักศึกษาชาติพันธุ์ฯ ได้รับทุนทั้งหมด 7 คน อย่างไรก็ตามนายสุรพจน์เปิดเผยว่า ตอนนี้เพิ่งได้รับทุน อบจ. งวดแรก 5,000 บาท จากที่จะได้รับทั้งหมดคือ 10,000 บาท ทำให้ตอนนี้พวกตนรอความช่วยเหลือจากทุนงวดที่เหลืออยู่


 


 


นศ.ผิดหวัง ไม่อยากเรียนแล้วเป็นหนี้-เผยเคยรับจ้างในห้างพอทราบข่าวทุนจึงมาเรียน ป.ตรี


เราผิดหวัง เพราะเราไม่อยากกู้เงินเรียน เราไม่อยากเป็นหนี้ เพราะจริงๆ แล้วก่อนที่จะมาเรียนที่สถาบันชาติพันธุ์ฯ อย่างผมเพิ่งจบการศึกษาระดับ ปวช. สาขาช่างยนต์ฯ จากวิทยาลัยการอาชีพจอมทอง จ.เชียงใหม่ และอยากทำงานหาเงิน ตนจึงไปทำงานรับจ้างที่ห้างโลตัส สาขาเจริญเมือง ใน จ.เชียงใหม่ พอทราบข่าว ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ฯ มีทุนให้ ตนเลยมาสมัครเรียน นายสุรพจน์กล่าวในที่สุด


 


เลขา สกอ. ให้สัมภาษณ์เพิ่มว่า ขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบเรื่องนี้หลังจากที่ทางอธิการบดีได้ชี้แจงเรื่องนักศึกษามาแล้ว ในส่วนที่ สกอ. รับผิดชอบเรื่องทุน กรอ. นั้นถึงแม้จะมีการยกเลิกไปแต่ก็จะมีทุนอย่างอื่นมาให้นักศึกษาอย่างแน่นอน สำหรับการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของอาจารย์นั้น ทางมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการตั้งกรรมการสอบแล้วแจ้งผลให้ สกอ. ทราบด้วย ทั้งนี้ สกอ.ก็จะสอบข้อมูลส่วนอื่นๆ ในทางลึกเพื่อ นำมาประกอบกันในการพิจารณา ส่วนเรื่องการยุบรวมหรือจัดตั้งสถาบัน สกอ.จะหาข้อมูลคู่ขนานไปด้วยอีกเช่นกัน แต่ ณ ตอนนี้ก็ต้องปล่อยให้ระบบเดินไปตามขั้นตอนก่อน


 


อ่านข่าวย้อนหลัง


นศ.มรภ.เชียงรายโวยถูก ผอ.ศูนย์ชาติพันธุ์หลอกให้เรียนฟรี แต่กลับต้องกู้เงินจนเป็นหนี้ทั้งชั้น 2 ก.พ. 2550


นศ.ชนเผ่า มรภ.เชียงราย สุดทนยื่นหนังสือร้อง กสม. สอบ-แฉพฤติกรรมของ ผอ.สถาบันชาติพันธุ์หลอกมาเรียน 3 ก.พ. 2550


ศิษย์เก่านศ.เชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ประณาม ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ ราชภัฎเชียงราย 4 ก.พ. 2550


มรภ.เชียงรายแจงรอสอบข้อเท็จจริงกรณี นศ.ร้องเรียน ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ฯลวงมาเรียน 6 ก.พ. 2550 ที่มา : สำนักข่าวประชาธรรม


คนงานเก่าอ้าง ผอ.ชาติพันธุ์ ลวงออกงานมาเรียนต่อแล้วลอยแพ  7 ก.พ. 2550


เครือข่ายชาติพันธุ์ออกโรงจี้อธิการบดี มรภ.ชร.รับผิดชอบกรณี นศ.ร้องเรียนพฤติกรรม ผอ.ชาติพันธุ์ฯ 7 ก.พ. 2550


เครือข่ายเยาวชนฯ ออกแถลงการณ์ขอความเป็นธรรมให้น้องชนเผ่า มรภ.เชียงราย 11 ก.พ. 2550


ศิษย์เก่า มรภ.เชียงรายออกโรงจี้อธิการบดีเร่งสอบกรณี นศ.ร้องเรียนพฤติกรรม ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ 12 ก.พ. 2550


กรณี มรภ.เชียงรายกับ น.ศ.ชนเผ่าลาม สนนท. ออกโรงเรียกร้องความเป็นธรรม 13 ก.พ. 2550


นศ.ชนเผ่าสุดทนบุกสำนักงานอธิการบดี มรภ.เชียงรายยื่นหนังสือตามความคืบหน้า 17 ก.พ. 2550


นศ. มรภ.เชียงรายเร่งอธิการบดีสอบสวนกรณี นศ.ร้องเรียน ผอ.ชาติพันธุ์ฯ 19 ก.พ. 2550


นศ.มรภ.เชียงราย เขียนจดหมายแฉพฤติกรรม ผอ.ชาติพันธุ์ฯ หลอกมาเรียนก่อนปล่อยให้เคว้ง 22 ก.พ. 2550


นศ.มรภ.เชียงราย เขียนจดหมายแฉ หลอกมาเรียนก่อนปล่อยเคว้ง (2) 25 ก.พ. 2550


นศ.ชาติพันธุ์ปราศรัยทั่วมหาวิทยาลัย ฝ่ายบริหารเปิดฉากคุกคาม 25 ก.พ. 2550


นศ.สถาบันชาติพันธุ์ฯ เชียงราย หอบหลักฐานแจ้ง ตร.เอาผิด ผอ. 27 ก.พ. 2550 ที่มา:สำนักข่าวประชาธรรม


นศ.ชาติพันธุ์เข้ากรุงเทพฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนครูหยุย-กสม.-รมช.ศธ. 1 มี.ค. 2550


ราชภัฏ ชร.ชิงยุบสถาบันชาติพันธุ์ ก่อน "ครูหยุย" เข้าสอบข้อเท็จจริง 3 มี.ค. 2550


เปิดประกาศมรภ.เชียงรายยุบเลิกสถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา 3 มี.ค. 2550


อธิการบดี ม.ราชภัฏเชียงรายแถลงโต้เด็กชาติพันธุ์ปี 1 ถูกหลอกมาเรียน ยันได้ทุนถ้วนหน้า 8 มีนาคม 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net