นิธิ เอียวศรีวงศ์: ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดน ความจริง-มายาคติ (1)

สัมมนา เปิดประเด็นหนังสือ

ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดน : ความจริงและมายาคติ

วันจันทร์ ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

ณ ห้องประชุมใหญ่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ. ปัตตานี

จัดโดย    โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา  และ วิทยาลัยอิสลามศึกษา

               มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โครงการ 

               เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะทำงานวาระทางสังคม 

               สถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                        

 





** ถอดเทปและเผยแพร่โดย  แผนงานร่วมศึกษา เสริมสร้างสุขภาวะ กรณี 3 จังหวัดภาคใต้

                                       คณะทำงานวาระทางสังคม  สถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

นิ ธิ    เ อี ย ว ศ รี ว ง ศ์

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

 

 

ผมมีประเด็นที่จะพูดอยู่ 7 ประเด็น พยายามที่จะพูดเท่าที่จะทำได้ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง

 

ประเด็นที่1 เรื่อง การแบ่งแยกดินแดน ขออนุญาตอธิบายถึงคำโบราณที่ใช้ในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา เขาไม่ได้ใช้คำว่า "แบ่งแยกดินแดน" แต่เขาใช้คำว่า "แข็งเมือง" คำนี้เป็นคำที่ใช้กันก่อนที่จะเกิด "รัฐประชาชาติ" ขึ้นมา และก็เป็นปกติมากๆ ไม่ได้เกิดเพียงแค่รัฐปัตตานีเพียงรัฐเดียวเท่านั้น มีการแข็งเมืองเกิดขึ้นทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน มักจะเกิดการแข็งเมืองเป็นครั้งคราวทั้งสิ้น

 

ความเข้าใจว่า การแข็งเมืองคือ การแบ่งแยกดินแดนหรือการกบฏนั้นเป็นความเข้าใจผิด เป็นการเข้าใจไปเองของนักประวัติศาสตร์สมัยหลังๆ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่เป็นศูนย์กลางหรือรัฐใหญ่กับดินแดนรัฐอื่นๆ ที่เรียกว่า ประเทศราช แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า "ประเทศราช"  ในภาษาไทยไม่ได้แปลว่า "Colony" ในภาษาอังกฤษ มันคนละความหมาย ประเทศราชเป็นการแสดงสถานะความสัมพันธ์ชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีในเมืองฝรั่ง มีเฉพาะในแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐศูนย์กลางกับรัฐที่เป็นประเทศราช ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบแปลกๆ กล่าวคือ มีรัฐศูนย์กลาง หรือมีรัฐที่เป็นดุลอำนาจค่อนข้างมากอยู่ตรงกลาง แล้วก็มีประเทศราชล้อมรอบ ประเทศราชไม่ได้แปลว่า ขึ้นอยู่กับรัฐศูนย์กลางแต่เพียงอย่างเดียว ถ้ารัฐอีกรัฐนั้นมีอำนาจมากพอ ๆ กัน มันมักจะขึ้นกับรัฐทั้ง 2 ฝั่ง อย่างในประวัติศาสตร์ เขียนว่า

 

"จริงๆ แล้ว เมื่อตอนที่ปัตตานีเป็นประเทศราชของสยาม ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นประเทศราชของมะละกาด้วยก็ได้"

 

นี่นับว่าเป็นเรื่องปกติ หากเรามีเพื่อนบ้านที่เป็นนักเลงใหญ่ทั้งคู่ วิธีที่จะเอาตัวรอดหรือรักษาอิสรภาพของอำนาจก็คือ เอานักเลงใหญ่นั้นมาคานอำนาจกันเอง ประเทศไทยก็ทำอย่างนี้ในสมัยที่เรากลายเป็นประเทศเล็กๆ ไปแล้ว เราก็พึ่งพิงจีนบ้าง สหรัฐอเมริกาบ้างเพื่อที่จะถ่วงอำนาจกัน เพราะฉะนั้น เมืองประเภทนี้ภาษาไทยเรียกว่า "เมืองสองฝั่งฟ้า" เราจะพบได้ในอีสาน ลาว รวมทั้งในเชียงใหม่ด้วย

 

อย่างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองเชียงใหม่ยังแอบส่งทูตไปหาพระเจ้าแผ่นดินพม่า และพระเจ้าแผ่นดินพม่ายังพระราชทานสร้อยทับทิมมาให้ 1 เส้น แต่พอทางกรุงเทพฯ รู้เรื่องเข้า ทางเมืองเชียงใหม่ก็ตกใจรีบนำเอาสร้อยเส้นนั้นมาถวายให้กับทางกรุงเทพฯ เพื่อแสดงว่าตนเองไม่ได้คิดเอาใจออกห่าง แต่ทำไปเพื่อรักษาดุลยภาพของอำนาจเท่านั้น  

 

ดังนั้น เรื่องของความสัมพันธ์แบบประเทศราชนี้มันมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่ ผู้น้อย ปฏิเสธไม่ได้ แต่ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นแบบที่ฝรั่งใช้กัน เป็นความสัมพันธ์แบบที่อาจจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ปัตตานีกับอยุธยา ต่างก็พึ่งพากันและกันทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว ปัตตานีต้องพึ่งพาบางอย่างจากอยุธยา และทางอยุธยาก็ต้องพึ่งพาบางอย่างจากปัตตานี ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นพันธมิตรในการสงครามด้วย เช่น ขอกำลังไปช่วยรบกับพม่า เป็นต้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ไม่ใช่รัฐเอกราชแบบที่เราใช้ในปัจจุบัน

 

ปัจจุบันเราใช้วิธีคิดแบบฝรั่ง ซึ่งมันมีทั้งรัฐเอกราช และรัฐที่ไม่เอกราช สมัยก่อนเขามาไม่ได้คิดแบบนี้ เขาเรียกกันว่า เป็นรัฐที่เป็นผู้ใหญ่และรัฐที่เป็นผู้น้อย  มีความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลกันและกัน เมื่อไรที่รัฐนั้นบอกว่าไม่อยากผูกความสัมพันธ์กันแล้ว อย่างนี้โบราณเรียกว่า แข็งเมือง ไม่ใช่เป็นเรื่องของ "การแบ่งแยกดินแดน" คำว่า แบ่งแยกดินแดน เราใช้ได้เฉพาะรัฐสมัยใหม่ที่มันเกิดเป็นรัฐชาติแล้วเท่านั้น

 

ประเด็นที่ 2  เมื่อมันเกิดรัฐสมัยใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา และต่อมาพัฒนากลายเป็นรัฐประชาชาติไทย (Nation-State) เราต้องเข้าใจด้วยว่า ในช่วงนั้นประเทศที่เป็นมาเลเซียปัจจุบันคือดินแดนรัฐมลายูทั้งหลายในสมัยนั้น ช่วงตอนที่มันใกล้จะเกิดเป็นรัฐมลายู มันเป็นช่วงที่เกิดช่องว่างทางอำนาจในดินแดนรัฐมลายู โดยในคริสศตวรรษที่ 18 อำนาจของรัฐยะโฮร์ (Johor) เริ่มลดน้อยลง รัฐอะเจะห์ (Acheh) ไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงในคาบสมุทรมลายูได้อย่างเคย  มะละกา กลายเป็นศูนย์กลางการค้าเล็กๆ อันหนึ่งของบริษัท บีโอซี ซึ่งพวกฮอลันดาก็ไม่ได้สนใจคาบสมุทรนี้เท่าไร พวกเขาทุ่มเทอยู่กับการที่จะขยายอำนาจตนเองในเกาะชวาและเกาะสุมาตรามากกว่าที่จะมายุ่งตรงนี้ เพราะฉะนั้นจึงเกิดช่องว่างทางอำนาจ

 

ช่วงนั้นประมาณสมัยรัชกาลที่ 3 ทางกรุงเทพฯ จึงขยายอิทธิพลโดยดึงเอารัฐมลายูเข้ามาเป็นประเทศราช  กว้างไกลมากเลยไปจนถึงรัฐปะหัง (Pahang) ด้วยซ้ำ ปะหังเองก็เคยสัมพันธ์การค้ากับทางกรุงเทพฯ แต่ทั้งหมดนี้ มันเกิดขึ้นจากช่วงที่มีช่องว่างทางอำนาจ ก่อนที่จะเกิดรัฐสมัยใหม่ในประเทศไทย อังกฤษก็โผล่เข้ามากลายเป็นมหาอำนาจที่เข้ามาคานการขยายตัวทางอำนาจของสยาม

 

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับรัฐสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ เกิดความพยายามจะบูรณาการ ผมเรียกว่า Territorial Integration คือ เกิดการบูรณาการทางดินแดน ไม่ใช่การบูรณาการของชาติ การเกิดรัฐสมัยใหม่ขึ้นก็จริง แต่ยังไม่เกิดชาติแท้ๆ ขึ้น การบูรณาการทางดินแดนคือ เอาดินแดนที่เคยเป็นประเทศราชทั้งหลายไปอยู่กับตัวเอง โดยล้มล้างอำนาจเดิมที่มีอยู่ เช่น สุลต่านต่างๆ หรืออย่างเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็ทำให้กลายเป็นเพียงเจ้าที่มีวัง มีคุ้มอยู่สักแห่งเท่านั้น แล้วก็มีข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ไปคอยกำกับดูแล ทำให้อำนาจทางท้องถิ่นลดลง แต่อย่าลืมว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐไทยเล็กนิดเดียว คำว่า "เล็ก" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงดินแดน แต่หมายความว่าไม่มีเงินที่จะตั้งระบบราชการที่จะแพร่เข้ามาถึงข้างล่างได้มากนัก ไม่มีเงินที่จะสร้างทางคมนาคมที่จะเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองได้อย่างดีนัก ไม่มีเงินที่จะสร้างโรงเรียนพอที่จะกล่อมให้เด็กที่เกิดในชนบทได้เติบโตมากลายเป็นกลุ่มคนในรัฐสมัยใหม่อย่างเต็มภาคภูมิได้

 

หากถามว่า แล้วมันไม่เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายหรือ มันไม่เกิด เพราะมีการผลักดันให้ผู้นำท้องถิ่นในระดับเล็กมาก คือระดับหมู่บ้าน ตำบล เป็นผู้นำแทน ดูแลแทนคนระดับใหญ่ จริงอยู่ที่มีการส่งข้าหลวงมาประจำที่ปัตตานี แต่ข้าหลวงก็ไม่มีอำนาจอะไรในทางปฏิบัติ แม้จะมีอำนาจทางกฎหมาย เพราะรัฐนั้นเล็กนิดเดียว คำว่า "เล็ก" มีความหมายถึงความอ่อนแอนั่นเอง

 

หากถามว่า ภายใต้การเกิดรัฐสมัยใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เมืองอย่างเช่น ปัตตานี อยู่ภายใต้การปกครองดูแลของใคร คำตอบคือ อยู่ภายใต้การปกครองของคนชั้นนำท้องถิ่นระดับเล็ก ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นนำธรรมดา กับผู้รู้ทางศาสนา ทั้ง 2 กลุ่มนี้มีอิทธิพลค่อนข้างมาก

 

สำหรับ "หะยีสุหลง" ผมคิดว่าท่านสืบทอดประเพณีของโต๊ะครูหรืออูลามะอ์ที่มีมาตั้งแต่โบราณในปัตตานี เราจะพบว่า มีอูลามะอ์บางคน หรือโต๊ะครูบางคนที่มีอิทธิพลเหนือระดับท้องถิ่นเล็กๆ เป็นที่รู้จักทั่วไปหมด  ยกตัวอย่าง ท่านโต๊ะปันจัน หรือ โต๊ะยาว ที่ใครๆ ในปัตตานีก็รู้จัก ถือว่าเป็นโต๊ะครูที่ดีคนหนึ่ง หะยีสุหลงก็สืบทอดประเพณีนี้ซึ่งรักษาสืบทอดกันมาตั้งแต่ตะวันออกกลาง แล้วก็สถาปนาตนเองเป็นที่เคารพนับถือกันทั่ว ไม่ใช่เฉพาะท้องถิ่นเล็กๆ ไม่ใช่เฉพาะปัตตานี ไม่ใช่เฉพาะ 4 จังหวัดแต่นับถือกันทั่วไปหมด นานๆ ก็จะมีคนมีอิทธิพลเข้ามา แต่ก็ไม่ได้เข้ามาแทนที่สุลต่าน มันไม่เหมือนกัน

 

ดังนั้น รัฐไทยเล็กๆ ที่มีความอ่อนแออย่างมากดำรงอยู่ได้อย่างไร ดำรงด้วยทหารหรือก็ไม่ใช่ กองทัพไทยไม่สามารถไปสู้กับชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสได้ มันดำรงอยู่ได้หลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือ การรับรองสถานะของมหาอำนาจตะวันตก โดยการรับรองเขตแดน อย่างอังกฤษรับรองว่าเขตนี้เป็นเส้นแบ่งพรมแดนนี้เป็นของไทย เป็นต้น สรุปก็คือ "รัฐสยาม" เกิดขึ้นจากการรับรองของมหาอำนาจตะวันตก อันนี้คือ Territorial Integration ที่เกิดขึ้นในระยะแรกที่จะปลุกขึ้นมาเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เรียกว่า "สยาม"

 

ลำดับต่อมาก็เกิดการบูรณาการชนชาติขึ้นมา คือ National Integration ค่อยๆ เกิดขึ้น แต่ความเป็นประชาชาติของไทยที่สืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาจารย์ธเนศเขียนไว้ในหนังสืออย่างชัดเจนว่า ความเป็นชาติของไทยนั้นไม่สมบูรณ์ เพราะมันเป็นความเป็นชาติที่ถูกใส่ลงมาจากข้างบนแต่ฝ่ายเดียว ไม่ได้เกิดจากสำนึกของประชาชนข้างล่างว่าเรามีผลประโยชน์ร่วมกัน เรามีความทรงจำบางอย่างร่วมกัน เรามีอะไรบางอย่างร่วมกันที่จะมารวมตัวกันเป็นชาติ อันเป็นลักษณะธรรมดาของการเกิดชาติในทางยุโรป และที่อื่น ๆ แต่ของเราไม่ใช่แบบนี้ เป็นการดันจากข้างบนลงมา

 

ฉะนั้น การเป็นชาติของเราจึงเป็นการเป็นชาติที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีพื้นที่สำหรับความแตกต่างหลากหลาย ถ้าเราดันมาจากข้างบนฝ่ายเดียว โดยไม่ได้เกิดมาจากข้างล่าง มันก็ไม่สามารถเปิดพื้นที่ของความแตกต่าง และความหลากหลายของประเทศไทย เราเรียนหนังสือมา ไม่สังเกตหรือว่า เราจะเป็นชนชาติไทย น้ำเนื้อเดียวกันหมดทั้งประเทศก็ไม่น่าใช่ เพราะความเป็นจริง เราก็เจอชนชาติหลากหลาย ทั้ง จีน แขก มอญ ฯลฯ เยอะแยะไปหมด ซึ่งเราจะมาจินตนาการอย่างไม่จริงว่าประเทศไทยเราเป็นน้ำเนื้อเดียวกันหมด 

 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่มันบูรณาการนั้น มันบูรณาการในสิ่งที่มันไม่สัมผัสกับชีวิตความจริง เช่น บูรณาการทางกฎหมาย ซึ่งก็จะไปต่อเนื่องกับที่อาจารย์ธเนศเขียนไว้ถึงเรื่อง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินการแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 บรรพ 6 แล้วคิดไปถึงว่า ในเมื่อเราเป็นชนชาติไทยเดียวกันหมดก็ต้องใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน แล้วท่านก็ประกาศเป็นรัฐธรรมนูญออกมา ซึ่งจริง ๆ หากเราลองย้อนกลับไปดูว่า ความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวนี้ มีมานมนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมีในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มันมีมาตั้งแต่สมัย Territorial Integration บูรณาการทางดินแดน มีความพยายามบังคับลงมาจากข้างบนให้เราเป็นน้ำเนื้ออันเดียวกันมานานแล้ว  โดยไม่ให้มีพื้นที่ความแตกต่างหลากหลาย ในขณะเดียวกัน ก็ใช้ระบบราชการหรือระบบบริหารเป็นกลุ่มสำคัญอีกอันหนึ่งในการบูรณาการชาติของเรา โดยส่งคนมาจากส่วนกลาง จับย้ายไปย้ายมา โดยถือว่า ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ระบบราชการเดียวกัน

 

ฉะนั้น ข้อเสนอข้อที่ 4 ของท่านหะยีสุหลงที่เสนอว่า ทำไมเราต้องอยู่ภายใต้ระบบราชการเดียวกัน ทำไมเราไม่สร้างระบบราชการชนิดที่เหมาะสมสำหรับท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ใหม่ ทางกรุงเทพฯได้ฟังก็ตกใจ ไม่เคยมีใครได้ยินข้อเสนอเช่นนี้มาก่อนเลย  และเราก็ปฏิบัติเช่นนี้มาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยเริ่มต้นการบูรณาการทางดินแดน  จึงคิดไปไกลถึงขั้นว่า ท่านหะยีสุหลงจะคิดแยกดินแดนหรืออย่างไร ทั้งที่ข้อเสนอนี้ไม่ได้แปลกอะไรเลย มีการยอมรับใช้กันทั่วไป อย่างในแถบ Mid - West ของอเมริกาเอง อิทธิพลของ Populism แบบอเมริกาแผ่ขยายในหมู่ข้าราชการ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 - 20 บางรัฐไม่ได้ใช้ระบบราชการเดียวกัน แต่มันกลับเป็นของประหลาดสำหรับประเทศไทย  เพราะว่า National Integration (บูรณาการชนชาติ) มันไม่สมบูรณ์

 

แม้ในระบบการศึกษา หลักสูตรก็ยังมาบังคับจากส่วนกลาง หลักสูตรมาจากกระทรวงศึกษาธิการเหมือนกันหมดทั้งประเทศ อย่างเด็กเชียงใหม่เกิดอยู่บนดินแดนของพระเจ้าติโลกราชที่ท่านสร้างมาช้านาน แต่เด็กเชียงใหม่ไม่มีใครรู้จักท่านเลย กลับรู้จักแต่พระเจ้าบรมไตรโลกนาถ ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นศัตรูกับพระเจ้าติโลกราชและรบแพ้พระเจ้าติโลกราชด้วย  นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะเห็นว่าการศึกษาไม่ได้เปิดพื้นที่ของความแตกต่างหลากหลายในการเรียนรู้

 

อีกอันคือระบบภาษี เก็บเหมือนกันหมดทั่วประเทศ แล้วก็สร้างปัญหากับชาวบ้าน บางแห่งชาวบ้านถึงกับไม่ยอมเสียภาษี เพราะว่าเราไม่มีพื้นที่ให้กับความแตกต่าง นอกจากนั้นก็มีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มาถึงช่วงนี้ การแข็งเมืองจึงกลายเป็นการแข็งขืนหรือการแข็งข้อ หากเรามองแค่เป็นการแข็งขืน แข็งข้อ มันก็ควรเป็นเรื่องที่เราเจรจาจัดการกันได้ แต่ผู้นำของรัฐไม่สามารถจะมองไปเป็นอื่นได้ อันเนื่องจากประสบการณ์ในชีวิตของเขา และประสบการณ์ที่เขาถูกสอนมา ไม่ได้มีพื้นที่สำหรับความแตกต่างหลากหลาย จึงกลับมองไปเป็นเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งก็คือ การไม่ยอมรับในอธิปไตยของชาติซึ่งเป็นคนละเรื่องกันเลย หากพูดเช่นนี้ รัชกาลที่ 1 ท่านบอกว่า ท่านไม่เคยรู้เรื่อง เพราะในสมัยก่อน เขาไม่ได้คิดเรื่องอธิปไตยแบบเรา พอรู้ว่ามีการแข็งเมือง ก็รบกันไป แต่ไม่ได้มีเรื่องของการไม่รักอธิปไตยของชาติ หรือแยกดินแดน เขาไม่รู้จัก  

 

ประเด็นที่ 3 เรื่องพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ทางการเมืองของไทยนับตั้งแต่เรารวมดินแดนในสมัยรัชกาลที่ 5 สืบมาจนกระทั่งถึงการรวมชาติในสมัยหลัง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา เป็นพื้นที่ที่แคบมาก หากเรานิยามการเมืองว่า เราจะมาแบ่งการใช้ทรัพย์สมบัติของประเทศ หรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างไร ใครเป็นคนใช้ ใช้เท่าไร ใช้เมื่อไร ใช้อย่างไร เป็นการต่อรองการใช้ทรัพยากรหรือสมบัติของชาติ หากคิดในความหมายนี้ พื้นที่ในการต่อรองทางการเมืองไทยนับว่าแคบมาก พื้นที่ทางการเมืองที่เป็นทางการมีเพียงแค่ในสภาผู้แทนราษฎร  และสภาผู้แทนราษฎรเคยพูดอะไรบ้าง ( หลัง พ.ศ.2490 ) ที่เกี่ยวข้องทางศาสนาบ้างไหม เคยพูดเรื่องการใช้ทรัพยากรบ้างไหม เคยพูดเรื่องอัตลักษณ์บ้างไหม เคยพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมบ้างไหม หรือพูดเรื่องการกระจายอำนาจบ้างไหม  แทบจะไม่มีเลย แต่กลับไปพูดถึงเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตของเราเลย ในขณะที่ชีวิตของเรามันเกี่ยวข้องกับการจัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างแนบแน่น

 

ในช่วงระยะ 20 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูรานนท์ จนถึงยุค คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ฯ หรือ คปค. 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ท่านเคยสังเกตไหมว่า  มันมีการเคลื่อนไหวของประชาชนในประเทศไทยอย่างสูงมาก อย่างประชาชนแถวปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี มีการเคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างเขื่อนโดยนั่งประท้วงปิดกั้นแม่น้ำเพื่อระงับไม่ให้มีการระเบิดแม่น้ำสร้างเขื่อน จนถึงกับต้องนำกำลังตำรวจไปกระชากออกมาให้ห่างจากแม่น้ำ อย่างการต่อสู้ของชาวบ้าน บ้านกรูด บ่อนอก ที่ต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้า ประเด็นเหล่านี้กลับไม่เคยเอาไปพูดกันในสภาสักนิดเดียว ท่ามกลางระบอบการปกครองที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย  ประชาชนที่ปัตตานีเคยต่อสู้ประท้วงการสร้างเขื่อนที่แม่น้ำปัตตานี แต่กลับไม่มีการพูดสักนิดเดียวในสภา มันไม่มีที่ไหนในโลก  เนื่องจากพื้นที่แคบ ๆ ทางการเมืองในสภาของเราไม่เคยพูดถึงเรื่องความเสียหายของประชาชนเลย สิ่งที่กระทบชีวิตของเรา การกระจายอำนาจของเราก็ดี การใช้ทรัพยากรของเราก็ดี ศาสนาของเราก็ดี อัตลักษณ์ของเราก็ดี ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมทางสังคม ไม่มีใครเอ่ยถึงในสภาเลย  ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนถูกอุ้มหายไปประมาณ 100 กว่าคนเท่าที่สำรวจได้ แต่กลับไม่มีผู้แทนราษฎรทั้งจากปัตตานี ยะลา นราธิวาสแม้แต่คนเดียวที่ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีมหาดไทยในสภาว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

สภาคือพื้นที่ทางการเมืองที่ประชาชนจะเข้าไปเล่น แต่ในเมื่อพื้นที่ทางการเมืองของเรามันแคบขนาดนี้  การต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราจริงๆ จึงไม่อาจจะผ่านพื้นที่ทางการเมืองที่เป็นทางการได้ ไม่ใช่เฉพาะที่ปัตตานีเท่านั้น มันเป็นทั้งประเทศไทยเลย เมื่อไรที่เราชุมนุมประท้วงโครงการของรัฐ ชุมนุมประท้วงนายทุนที่สร้างสิ่งต่าง ๆ ที่ทำลายสาธารณสมบัติ เวลาเราไปเชิญ ส.ส.มา เขาก็ไม่มากัน ฉะนั้น เราจะเคลื่อนไหวได้อย่างไรในสภา เราก็ต้องเคลื่อนไหวนอกพื้นที่ทางการเมือง การเคลื่อนไหวของประชาชนในภาคพื้นที่อื่น ๆ ก็เป็นเพียงราษฎรหัวแข็งเท่านั้น แต่เมื่อไรที่มันเป็นการเคลื่อนไหวของ 3 จังหวัดภาคใต้ กลับกลายเป็นเรื่องแบ่งแยกดินแดน ซึ่งอาจจะเป็นอย่างที่อาจารย์ธเนศกล่าวไว้ว่า ชาติไทยนั้นเป็นการพัฒนาการสร้างชาติแบบไม่สมบูรณ์  มันไม่มีพื้นที่ให้ความแตกต่างหลากหลาย เพราะฉะนั้น ทั้ง 2 เรื่องนี้มันผูกพันกัน  คือมี พื้นที่ทางการเมืองที่แคบ และมี ชาติที่ไม่สมบูรณ์  จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ค่อนข้างยากมาก

 

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่องท่านหะยีสุหลง ท่านเคลื่อนไหวทางการเมือง จนทำให้ถูกพิพากษาจำคุก น่าประหลาดมากที่การเคลื่อนไหวของท่านหากมาทำในปัจจุบัน หรือกระทำในพื้นที่อีสาน ภาคเหนือ คงไม่เกิดแบบนี้ การกระทำของท่านเพียงแค่ยื่นข้อเสนอ 7 ประการ และ 1 ใน 7 ข้อเสนอนั้น มีอยู่ว่า ขอให้ดินแดน 4 จังหวัดภาคใต้นั้นอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของชาวมลายูมุสลิมท่านหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจดูแลกำกับการทำงานทั้งหมดของ 4 จังหวัดภาคใต้ และน่าที่จะเป็นท่านตวนกู มาห์ยิดดิน คือ บุตรชายของตวนกูอับดุล กอดีร์ สุลต่านองค์สุดท้ายแห่งปัตตานี

 

ฉะนั้นตอนที่ท่านเคลื่อนไหวทางการเมือง ท่านพิมพ์หนังสือฉันทานุมัติให้ราษฎรเซ็นต์เห็นชอบให้ท่านตวนกู มาห์ยิดดิน มาปกครอง ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อเสนอ 7 ข้อที่ท่านเสนอไป นับเป็นเรื่องปกติธรรมดา เขียนขึ้นเพื่อหวังว่า โต๊ะมาห์ยิดดินบอกท่านว่าจะไปพบนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นก็จะได้ไปพร้อมกับหนังสือฉันทานุมัติ แต่กลับกลายเป็นว่าท่านถูกพิพากษาจำคุก โดยกล่าวหาว่าท่านไปดูหมิ่นรัฐ  เพราะมีหนังสือนั้นมาและในหนังสือนั้นเขียนไว้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่นั่นกดขี่ข่มแหงราษฎรอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงจะขอปกครองโดยให้คนมลายูมาดูแล   แต่กลับถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นรัฐ   

 

ประเด็นที่ 4 เรื่องอัตลักษณ์ ผมคิดว่าความเป็นมลายู กับ ความเป็นมุสลิม นั้นแยกออกจากกันไม่ได้  อย่างน้อยในสำนึกของท่านก็แยกไม่ได้ มีงานวิจัยเช่นนี้ออกมาหลายปีแล้ว ยกตัวอย่างในประเทศมาเลเซีย มีชาวมลายูคนหนึ่งขอลาออกจากการเป็นมุสลิมเพื่อไปนับถือศาสนาคริสต์ คนเขางงกันทั้งประเทศ ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะกฎหมายมันไม่เปิดช่องให้ หากเราเป็นคนมลายูก็ต้องเป็นมุสลิม  ทั้ง 2 อย่างนั้นไม่อาจแยกออกจากกันได้ อัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมนั้นมีพื้นที่เยอะแยะไปหมด ผมสงสัยว่าประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามนอกเขต 4 จังหวัดภาคใต้นั้น น่าจะมีจำนวนมาก อย่างน้อยก็เท่ากับ 4 จังหวัดภาคใต้ อย่างที่จังหวัดกระบี่ น่าจะมีประชากรที่เป็นมุสลิมอยู่ประมาณ 48 เปอร์เซ็นต์ในตอนนี้

 

ความเป็นมุสลิมมีไหม อัตลักษณ์มุสลิมนี้อยู่ในชาติไทยได้ไหม ไม่น่ามีปัญหา เพราะชาติไทยอ้างว่า ตนเองเป็น Secular State  รัฐโลกียวิสัย อันนี้นับเป็นปัญหามาก รัฐโลกียวิสัยแบบของไทยเป็นรัฐโลกียวิสัยแบบปลอมๆ  หมายความว่า ในแง่หนึ่งคุณประกาศว่าเป็นรัฐโลกียวิสัย  แต่คุณเอางบประมาณจำนวนมากมาอุดหนุนพระพุทธศาสนาเต็มที่เลย ซึ่งถ้าเป็น Secular State จริงๆ แบบสุดโต่งเหมือนในฝรั่งเศสคือ เอาไม้กางเขนสวมออกนอกเสื้อเพื่อไปโรงเรียนไม่ได้ เพราะโรงเรียนไม่ใช่ที่ประกาศศาสนา ไม่ว่าจะเป็นคริสต์หรือมุสลิมก็ตาม

 

แต่ที่สำคัญก็คือว่า ไม่มีประเทศอิสลามที่ไหนในโลกที่สามารถอยู่ใน Secular State  รัฐโลกียวิสัย ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันมีความขัดแย้งในตัวเองระหว่างกฎที่มนุษย์ออกกับกฎที่พระเจ้าออก คุณจะให้กฎที่มนุษย์ออกอยู่เหนือกฎที่พระเจ้าออกไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเป็น Secular State เป็นปัญหาสำหรับคนอิสลาม รัฐไทยเมื่อไม่เปิดพื้นที่ให้กับความแตกต่างหลากหลาย  เราไม่มาถกปัญหานี้กันว่าจะทำอย่างไรให้รัฐไทยสามารถที่จะให้คนมุสลิมสาอยู่ในรัฐนี้ได้โดยรู้สึกว่าไม่ต้องฝ่าฝืนบัญญัติของพระเจ้า ส่วนความเป็นมลายูก็ไม่มีพื้นที่ในรัฐชาติไทย  เพราะฉะนั้น จึงยากมากที่คนที่เป็นทั้งมลายูและคนมุสลิมพร้อมกันอยู่ในตัว จะไปเรียกร้องอะไรจากรัฐไทยหรือชาติไทยโดยไม่กระทบโครงสร้างเลย นับว่ายากมาก

 

คำถามที่น่าสนใจสำหรับพวกเราก็คือ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มันจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ เพราะใน Liberal Democracy ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม มีหลายอย่างที่คนมุสลิมก็รับไม่ได้ เช่น เรามีการโหวตกฎหมายในสภา เราต้องยึดเสียงข้างมากในสภา  มันอาจจะขัดกับหลักศาสนาก็ได้ เป็นต้น

 

มันน่าสนใจตรงที่ ข้อเสนอ 7 ประการของหะยีสุหลง ข้อเสนอข้อที่ 1. ท่านบอกว่า คนที่เป็นมลายูมุสลิมที่จะเข้ามาปกครองดูแลการบริหารเมือง ประชาชนต้องเป็นคนเลือกมา ข้อเสนอแบบนี้ถ้าเป็นในปากีสถาน จะต้องบอกว่าสภาอูลามะอ์เป็นผู้เลือก แต่ตรงนี้ท่านกลับเสนอว่าประชาชนเป็นคนเลือก นับเป็นเรื่องใหญ่มากๆ สำหรับประเทศไทย เราลองคิดดูว่าคนที่จะมาทำอย่างนั้นได้ โดยรัฐบาลสยามหรือรัฐบาลทางกรุงเทพฯ ไม่กล้าส่งต้องมีฐานความชอบธรรมจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง นับว่าเป็นข้อเสนอที่ฉลาดมากของท่านที่จะไม่ถูกต่อต้านก็คือต้องให้ประชาชนเลือกโดยตรง ดังนั้นกรุงเทพฯจึงไม่กล้าส่ง ไม่เช่นนั้นทางกรุงเทพฯ ต้องส่งนายกเทศมนตรีมาไม่รู้ต่อกี่คนแล้วในประวัติศาสตร์ แต่การเข้ามาโดยการเลือกตั้ง ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าเมื่อไนก็ตามที่ผู้นำถูกเลือกมาจากประชาชนโดยตรง จะต้องกระทบต่อโครงสร้างของประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง

 

 

 

(อ่านต่อตอนที่ 2 ในวันพรุ่งนี้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท