Skip to main content
sharethis

ประชาไท -14 มี.ค. 2550 เมื่อวันที่ 13 มี.ค. การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน ได้พิจารณากรอบ 3 ว่าด้วยองค์กรอิสระและศาล


 


น.ต.ประสงค์ กล่าวก่อนเข้าวาระแรกว่า ในช่วงสัปดาห์นี้มีพรรคการเมืองออกมาวิจารณ์มาก ต้องขอขอบคุณกรรมาธิการทุกคนที่ทำให้พรรคการเมืองที่เคยแตกแยกกันหันหน้าเข้าหากันได้ โดยเฉพาะนายศรีราชา เจริญพานิช ทั้งนี้ ขอย้ำว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีความคืบหน้าไปมากตามลำดับสามารถได้กรอบของรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 กรอบ รวมทั้งได้โครงสร้างออกมาทั้ง 15 หมวด


 


"ขอให้อย่าหวั่นไหวต่อเสียงวิจารณ์จากภายนอก ทุกคนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ ข้อสำคัญข่าวบางข่าวออกมาในลักษณะที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง หรือรู้แต่เจตนาให้เกิดข้อขัดแย้งกัน เช่น บางข่าวก็บอกว่าผมกับประธานนรนิติ เศรษฐบุตร กินเกาเหลากัน ซึ่งไม่เป็นความจริง แม้จะมีความเห็นแตกต่างกันบ้างก็เป็นธรรมชาติของประชาธิปไตย แต่ไม่ได้ขัดแย้งกันหรือไม่กินเส้นกัน เวลาผมไปเข้าห้องน้ำ แล้วท่านนรนิติกับผมยืนคนละโถกัน จะถือว่ากินเกาเหลารึเปล่า" ประธานกมธ. กล่าว


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญ" นั้น ที่ประชุมเห็นว่าควรจะมีองค์ประกอบจำนวน 9 คนประกอบด้วย ผู้พิพากษาในศาลฎีกา 3 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริง 2 คน ทั้งนี้ให้พิจารณารวมถึงตุลาการในศาลทหารสูงุสุดด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ ซึ่งจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริง 2 คน


 


อนึ่ง ในรูปแบบเดิมคณะอนุกรรมาธิการยกร่างในกรอบ 3 เห็นว่า องค์ประกอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ควรประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา 3 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน ศาลทหาร 1คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 1 คน โดยนายคมสัน โพธิ์คง กมธ.ยกร่างฯ ได้อภิปรายเสนอให้สัดส่วนของศาลทหาร 1 คน เข้าไปเป็นองค์ประกอบในผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์แทน และให้เหตุผลว่า ศาลทหารนั้นมีความแตกต่างจากศาลอื่นพอสมควร เนื่องจากหลักการดำเนินการยึดหลักความเป็นเอกภาพเพื่อรักษาความมั่นคงและให้เกิดดุลยภาพในการบังคับบัญชา อีกทั้งขณะที่ศาลอื่นเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร แต่ศาลทหารนั้นอยู่ใต้การจัดการของกระทรวงกลาโหม นอกจากนี้แล้ว ที่ผ่านมาการพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชนของศาลทหารอาจน้อยกว่าศาลยุติธรรมด้วย


 


นอกจากนี้ ในสัดส่วนของผู้เชี่ยวชาญนั้น กมธ.หลายคนได้อภิปรายกันว่า ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนิติศาสตร์นั้นยังไม่กว้างขวางพอจึงเสนอให้เพิ่มสัดส่วนของผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์เพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้นด้วย


 


ส่วนอำนาจหน้าที่นั้นกมธ.เห็นควรให้คงอำนาจหน้าที่ในการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ได้แก่ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายก่อนใช้บังคับ (มาตรา 262 และมาตรา 177) การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างข้อบังคับการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ (มาตรา 263) การควบคุมตรวจสอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย (มาตรา 180) การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายภายหลังใช้บังคับผ่านทางศาลมาตรา 264 และผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตามมาตรา 198 (หรือผ่านทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) และให้คงอำนาจการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 266) ไว้ดังเดิม


 


ขณะที่อำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ (มาตรา 295) เห็นควรให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เสนอเรื่องดังกล่าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นกรณีห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เป็นเวลา 5 ปี และต้องรับโทษอาญาด้วย


 


กรณีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของ ส.ว. ส.ส. และการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี (มาตรา 96 และ มาตรา 216 ) ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นควรให้มีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง


 


สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คนประกอบด้วย 1.ประธานศาลฎีกา 2.ประธานศาลปกครองสูงสุด 3. ประธานสภาผู้แทนราษฎร 4. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนประธานศาลรัฐธรรมนูญตามที่คณะอนุกรรมาธิการเสนอมานั้น คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่เห็นด้วย โดยให้ฝ่ายเลขานุการรับไปพิจารณาอีกครั้ง


 


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประพันธ์ นัยโกวิธ กมธ.กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญสรรหาตุลาการคนอื่นๆ เนื่องจากผู้ที่ถูกสรรหามา อาจต้องคอยเกรงใจประธานศาลรัฐธรรมนูญที่เลือกตนเองมา และตกอยู่ใต้อิทธิพลทางอ้อม


 


นางสดศรี สัตยธรรม ได้อภิปรายว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรสำคัญ ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นศาลสูงสุดรองจากศาลยุติธรรม จึงเสนอว่า หากไม่ใช่ประธานศาลรัฐธรรมนูญก็ให้ประธานองคมนตรีได้หรือไม่ เนื่องจากถือเป็นองค์กรสูงสุดของประเทศ อย่างไรก็ตาม นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการฯ ได้แสดงความเห็นว่า ประธานองคมนตรีนั้นอยู่เหนือการเมืองคงลงมาเล่นการเมืองลำบาก


 


นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ศาลฎีกาพิจารณาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย หรือคดีที่สำคัญซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นสมควรพิจารณาให้ศาลมีอำนาจในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว โดยใช้ระบบไต่สวนแทนระบบกล่าวหา และ เพิ่มกรณีการจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ต้องหาในคดีอาญาพร้อมกันนี้ให้จำเลยด้วย


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายครั้งนี้ส่วนใหญ่จำกัดวงอยู่ในเฉพาะผู้พิพากษา อัยการ เท่านั้น และการอภิปรายดุเดือดขึ้นมาเมื่อมาถึงประเด็นที่อนุกมธ.เสนอคือ ให้ผู้พิพากษาที่ย้ายไปทำหน้าที่กรรมการในองค์กรอิสระสามารถกลับเข้าไปรับตำแหน่งเดิมเมื่อครบวาระ ปรากฏว่านางสดศรี แย้งว่า การที่จะออกไปรับตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องมีความตั้งใจ ถ้าหวังจะกลับไปที่เก่าก็ไม่ควรจะไป


 


ในที่สุด น.ต.ประสงค์ ได้สรุปว่า ฟังทั้งสองด้านแล้วรู้สึกว่าการรับราชการถ้าหากว่ามีเงื่อนไขบางอย่างแล้วไม่ยุติธรรมต่อส่วนอื่นก็ต้องพิจารณาดูให้ดี ถ้าส่วนอื่นที่เขาได้รับไม่เหมือนกันออกมาเรียกร้องจะทำอย่างไร


 


"ผมจำได้ศาลรัฐธรรมนูญนั้นกฎเกณฑ์ดี แต่คนในนั้นสร้างความฉ้อฉล ระบบราชการอย่างนี้มันไม่ค่อยมีความเป็นธรรมเท่าเทียมกันในการรับราชการ ผมอยากสรุปว่าให้ถือในหลักการที่ประพฤติแล้วเกิดความยุติธรรมความเท่าเทียมของราชการ" น.ต.ประสงค์ กล่าว


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายเข้มข้นขึ้นในหัวข้อ "องค์ประกอบของคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ หรือ ก.ต." ที่คณะอนุกมธ.กรอบ 3 ได้เสนอว่า มีตัวแทนศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน ศาลชั้นต้น 2 คนโดยเลือกในส่วนของชั้นศาลต้น บวกกับผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการสรรหาของ วุฒิสภา 2 คน และ ประธานศาลฎีกาโดยตำแหน่ง รวมทั้งหมด 15 คน


 


ปรากฎว่านางสดศรี โต้ว่า ไม่ทราบว่าก่อนที่อนุฯจะได้ข้อสรุปนั้นได้สอบถามคนในศาลยุติธรรมมาก่อนหรือไม่ เพราะล่าสุดทราบว่ามีการล่าลายเซ็นไม่เห็นชอบกับสิ่งอนุฯเสนอ ทั้งนี้ ศาลยุติธรรมตั้งมาเป็นร้อยปีแล้ว


 


"ก่อนที่ท่านจะมาเปลี่ยนโครงสร้าง ก็ควรถามเจ้าของบ้านว่าเห็นชอบหรือไม่ เคยไปถามหรือไม่ว่ามีประชามติอย่างไร ไม่ใช่ ส.ส.ร.ใช่อำนาจเผด็จการไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่มีมาเป็นร้อยปี อาจจะขัดต่อความรู้สึกคนในศาลยุติธรรม เช่นการเลือกประธานศาลฎีกา ที่เคยเป็นไปตามอาวุโส ถ้าจะทำหรือเปลี่ยนแปลง น่าจะสอบถามเขาก่อน" นางสดศรี กล่าว


 


นายวิชา ยืนยันว่า ก่อนที่เขาจะออกมาจากศาลได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฎิรูปศาล ได้สอบถามคณะส่วนใหญ่เห็นควรให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะโครงสร้างของปี 40 สร้างความอลหม่านอย่างยิ่งในการดูแลผู้พิพากษาทาทั้งประเทศ เห็นควรกลับไปใช้โครงสร้างกต.เดิม เลือกจากผู้พิพากษาศาลฎีกา


 


"โครงสร้างปี 40 ทำให้เกิดระบบเด็กปกครองผู้ใหญ่ ผู้หลักผู้ใหญ่มีหนังสือ จดหมายมาถึงผมจำนวนมากต้องแก้ไม่แก้ไม่ได้ แม้แต่องคมนตรีที่เคยเป็นผู้พิพากษา หรือนายสวัสดิ์ โชติพานิช ส.ส.ร.บอกว่าถ้าไม่แก้วงการศาลแย่แน่ ขอเรียนให้สบายใจว่าเราได้สอบถามแน่นอนและหลังจากนี้ต้องสอบถามทุกองค์กรอยู่แล้ว ระหว่างนี้ก็มีการฟังความเห็นประชาชน"นายวิชา กล่าว


 


นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ กล่าวว่า เขามาจากศาลยุติธรรมเข้าใจดีว่าองค์ประกอบกต.ตามรัฐธรรมนูญ นั้นมีปัญหามาก ที่ให้แบ่งการควบคุมเป็น 3 ชั้น ขณะที่ศาลชั้นต้นมีจำนวนมากที่สุด ถ้าใครคุมเสียงศาลชั้นต้นได้ก็คุมศาลได้ทั้งหมด ทำให้ในศาลมีการหาเสียงกันเหมือนนักการเมือง


 


นายวุฒิสาร ตันไชย กล่าวว่า กรอบรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมดโยงใยไปที่ศาลยุติธรรม เป็นการเอาเรื่องการเมืองที่อยู่นอกศาลเข้าไปในศาล ทำให้ศาลมีโอกาสหวั่นไหวสูงมาก ถ้ารัฐธรรมนูญออกแบบอย่างนี้ต้องสร้างกลไกพิทักษ์ความเป็นอิสระ และมีมาตรการป้องกันการแทรกแซงจากภายนอกที่เข้มข้น เพราะถ้าศาลถูกแทรกแซงแล้วหมดไปอีกก็เท่ากับระบบของสังคมหมดไปเลย


 


นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด กล่าวว่า การที่ศาลขาดความเป็นอิสระ มาจากเรื่องการของบประมาณ ตรงนี้ศาลถูกบีบมากแต่เราพูดอะไรไม่ได้ ที่ผ่านมาการของบหลายครั้งฝ่ายการเมืองมักพูดว่า ศาลขอแต่งบประมาณเคยให้อะไรกลับคืนมาบ้าง เขาก็ตอบว่าถ้าให้อะไรคืนไปจะเรียกว่าศาลยุติธรรมได้อย่างไร


นายวิชาจึงเห็นด้วยที่จะให้เขียน หลักประกันความมั่นคงของฝ่ายตุลาการเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ


 


นายวิชา กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ขณะนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะต้องเผชิญหน้ากับการตรวจสอบนักการเมืองมากขึ้น ทราบว่าทั้ง ป.ป.ช.และ คตส.เตรียมส่งเรื่องแล้ว ซึ่งคดีเหล่านี้คือภารกิจ กำราบปราบปรามนักการเมืองประพฤติมิชอบ ต้องกินเวลานาน อีกทั้งคดีที่รอการดำเนินการ เลือกตั้งที่เรากำลังพิจารณา รวมทั้งคดีร่ำรวยผิดปกติ ซุกหุ้น รับรองว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 84 คนมีงานล้นมือแน่นอน


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนปิดการประชุม น.ต.ประสงค์ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ในวันพรุ่งนี้ (14 มี.ค.) ทางกองทัพได้เชิญเขาไปบรรยายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในมุมมองของกองทัพ โดยจะนำสิ่งที่กมธ.หารือกันไปบรรยายให้พวกเขาฟัง ซึ่งเขาอาจจะมีการตั้งคำถามถึงพวกเรา (กมธ.) ถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะได้รับฟังข้อคิดเห็นของฝ่ายทหาร


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net