เครือข่ายแรงงานนอกระบบยื่นข้อเสนอต่อรมว. และสสร.

เครือข่ายแรงงานนอกระบบยื่นข้อเสนอต่อรมว. และสสร.

 

โดย วาสนา  ลำดี

โครงการบูรณาการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ

 

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.50 ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงาน และอาชีพ  ประมาณ 80 คน เข้าพบนายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นข้อเสนอ เรื่อง "การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ"

 

 

นายสมคิด ด้วงเงิน ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบกล่าวว่า แรงงานนอกระบบถือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการผลิต ด้วยหยาดเหงื่อของแรงงานทั้งในระบบ และแรงงานนอกระบบที่ได้สร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจบ้านเมือง ซึ่งในประเทศไทยนั้น มีแรงงานนอกระบบประกอบด้วยแรงงานภาคเกษตร ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้ใช้แรงงานในภาคบริการต่างๆ เช่นแรงงานคุ้ยขยะ หาบเร่แผงลอย แรงงานในสถานประกอบการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ จำนวนประมาณ 22.5 ล้านคน

 

แรงงานนอกระบบต้องเผชิญกับการถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานหลายประการ เช่น งานที่ทำขาดความมั่นคง ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม งานที่ทำมีความเสี่ยง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคม และบริการอื่นๆ ของรัฐ รวมทั้งไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน ไม่สามารถใช้สิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรอง ซึ่งไม่สอดคล้องต่อสถานการณ์แรงงานในปัจจุบันที่มีความหลากหลายในการจ้างงาน ฉะนั้นในช่วงสถานการณ์ปฏิรูปการเมืองเครือข่ายแรงงานนอกระบบมีข้อเสนอดังนี้

 

1.  ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน

 

ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้ยกร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.... เสร็จสิ้นแล้ว เตรียมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่รายละเอียดของยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ยังขาดหลักประกันสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่สำคัญอีกหลายประการ คือ ค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นธรรม สิทธิในการรวมตัวต่อรอง และการส่งเสริมพัฒนาตลอดจนบริการอื่นๆ ของรัฐ

 

 

1)  ให้กระทรวงแรงงานนำเอาร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมคุ้มครองครองและพัฒนาแรงงานในงานรับไปทำที่บ้าน พ.ศ. .... ซึ่งเป็นร่างที่มูลนิธิฯ จัดทำขึ้นมาบูรณาการ ปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. .... ฉบับกระทรวงแรงงานในสาระสำคัญดังนี้

 

1.1)  ขยายนิยามของ "ผู้รับงานไปทำที่บ้าน" ให้ครอบคลุมถึงสมาชิกในครอบครัวที่มีช่วยทำงาน สหกรณ์ กลุ่ม และนิติบุคคลอื่น

1.2)  ปรับปรุงคำนิยามของ "ผู้จ้างงาน" และ "ผู้ว่าจ้าง" ให้ชัดเจน เนื่องจากผู้ว่าจ้างบางส่วนไม่ใช่นายจ้าง หรือผู้รับเหมาที่มีฐานะ หรือมีวัตถุประสงค์ที่ไม่แสวงหากำไรจากการส่งมอบงานให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านในชุมชนท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ แต่เป็นเรื่องของการแบ่งปันช่วยเหลือกันให้มีงานทำ

1.3)  มีหลักการ และการบริหารการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรมในการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน โดยใช้หลักการว่า งานที่มีคุณค่าลักษณะเดียวกัน และปริมาณเท่ากัน ไม่ว่าทำงานที่โรงงาน หรือที่บ้านควรได้รับค่าตอบแทนที่เท่ากัน หรือใกล้เคียงกัน ซึ่งงานที่ทำที่บ้านอาจต้องได้รับค่าแรงมากกว่า เพราะอาจมีต้นทุนที่สูงกว่า เช่นค่าไฟฟ้า นำประปา รวมทั้งอุปกรณ์วัตถุดิบ เครื่องมือต่างๆที่ทำการผลิตด้วยตนเอง

1.4) แม้ว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการรับงานไปทำที่บ้าน จะมีอำนาจเสนอรัฐมนตรีในเรื่องนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้านได้ตามมาตรา 24 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับกระทรวงแรงงาน แต่ควรมีมาตราว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้านให้ชัดเจน เพื่อเป็นหลักประกันความต่อเนื่อง และความมีประสิทธิภาพ

1.5) องค์ประกอบของคณะกรรมการรับงานไปทำที่บ้าน ควรจะมีผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์กรพัฒนาเอกชนสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการร่วม เพื่อให้บทบาทของคณะกรรมการในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนา และคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านอย่างรอบด้าน

 

 

2)  ให้กระทรวงแรงงานจัดกระบวนการประชาพิจารณ์ เพื่อให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน และประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

 

 

 

           

 

2.  การคุ้มครองแรงงานเกษตรในระบบพันธะสัญญา

 

แรงงานเกษตรในระบบพันธะสัญญา เป็นแรงงานนอกระบบกลุ่มใหญ่ที่ขาดการคุ้มครองในฐานะที่เป็นแรงงาน บริษัทผู้ว่าจ้างได้ใช้ประโยชน์จากช่องว่างของ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกฎหมายแรงงานฉบับอื่นๆ มาจัดความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับเกษตรกรในรูปของการซื้อขาย แทนการจ้างแรงงาน หรือจ้างทำของ ทำให้แรงงานเกษตรในระบบพันธะสัญญาถูกละเมิด และเข้าไม่ถึงสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานใดๆ

 

1)  ให้กระทรวงแรงงานจัดทำการศึกษา เพื่อทำความเข้าใจต่อปัญหาการถูกละเมิดสิทธิแรงงานเกษตรในระบบพันธะสัญญา เพื่อหาความเป็นไปได้ในการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานเกษตรในระบบพันธะสัญญา

2)  ให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งคณะทำงานร่วมซึ่งมีองค์ประกอบของแรงงานเกษตร นักกฎหมายแรงงาน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ยกร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานเกษตรในระบบพันธะสัญญา

3)  การขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ

 

ข้อเรียกร้องเดิมที่เครือข่ายแรงงานนอกระบบเสนอต่อกองทุนประกันสังคม คือ

 

1.  มีหลักการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ ทุกคนเข้าสู่กองทุนจ่ายเงินสมทบตามฐานของรายได้ และได้รับการดูแลเมื่อประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิต

2.  รัฐและผู้ว่าจ้าง เจ้าของงานร่วมรับผิดชอบจ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุน

3.  อยู่บนหลักการความเสมอภาคเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติต่อแรงงาน นั้นคือ แรงงานนอกระบบจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองที่เท่าเทียมกับประกันสังคมของแรงงานในระบบ คือ 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร ตาย ชราภาพ และว่างงาน  รวมถึงกรณีของอุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงาน ซึ่งได้รับการคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน และการเก็บเงินสมทบจากแรงงานนอกระบบต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของรายได้

4.  กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มแรงงานเกษตรในระบบพันธะสัญญา กลุ่มแรงงานคุ้มขยะ และแรงงานนอกระบบกลุ่มอื่นๆ ที่กำลังเผชิญปัญหาความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการขาดหลักประกันทางสังคมค่อนข้างสูง จะต้องได้รับสิทธิในการเข้าสู่ระบบประกันสังคมเป็นกลุ่มแรกๆ

5.  สำนักงานประกันสังคมออกแบบการบริหารกองทุน ที่จะจัดตั้งขึ้นนี้ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบในฐานะที่เจ้าของที่แท้จริงของกองทุน

6.  สำนักงานประกันสังคม กระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต้องให้การสนับสนุนการจัดระบบสวัสดิการของชุมชนในฐานะที่เป็นหลักประกันทางสังคมอีกประการหนึ่งของแรงงานนอกระบบ และประชาชน

 

 

ในส่วนของแรงงานคุ้ยขยะ ได้เสนอนโยบายการคุ้มครอง เรื่อง "แนวทางการส่งเสริมสุขภาพแรงงานคุ้ยขยะ และแรงงานที่เกี่ยวข้อง" ดังนี้

 

1.  จัดทำบัตรประจำตัวแรงงานคุ้ยขยะ พร้อมสมุดบันทึกรายงานสุขภาพ รายละเอียด คือ

1)  ทำทะเบียนประวัติแรงงานคุ้ยขยะ 2)  ทำประวัติการตรวจสุขภาพ 3)  ทำบันทึกการอบรม กรณีสิทธิประโยชน์การใช้บัตร 1.  ใช้แทนแฟ้มประวัติการรักษาเบื้องต้น 2.  สิทธิการรักษาฟรีเบื้องต้น (ในพื้นที่ที่ทำประวัติ) เรื่อง การออกบัตร 1) ออกโดยกลุ่มเครือข่ายในระดับพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2) ออกโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล

 

2.  การส่งเสริม และพัฒนาสวัสดิการ คือ 1)  ส่งเสริมการรวมกลุ่มสวัสดิการออมทรัพย์อย่างเป็นระบบ เพื่อขยายฐานสู่การประกันการออมทรัพย์สำหรับแรงงานนอกระบบระดับประเทศ 2)  จัดทำระเบียบสวัสดิการมาตรฐานสำหรับแรงงานนอกระบบ 3)  ส่งเสริมอาชีพตามความต้องการของกลุ่ม และจัดให้มีศูนย์การศึกษานอกระบบในชุมชน 4)  จัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน 5)  กำหนดราคากลางของขยะ โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย แรงงานคุ้ยขยะ ผู้รับซื้อ และหน่วยงานภาครัฐ

 

3.  การส่งเสริมศักยภาพในการตระหนักด้านสิทธิ ได้แก่ 1)  จัดตั้งกลุ่ม เพื่อการติดตาม และเฝ้าระวัง  2)  จัดให้มีตัวแทนในการเข้าร่วมกำหนดกฎระเบียบ ข้อบังคับ และการส่งเสริมสิทธิต่างๆ 3)  จัดตั้งศูนย์ประสานงานแรงงานคุ้ยขยะระดับท้องถิ่น และศูนย์เรียนรู้ระดับจังหวัด 4)  ส่งเสริมการรวมกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ

 

4.  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคม และทรัพยากรมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

 

เครือข่ายพนักงานบริการ ได้เสนอเหตุผลที่พนักงานบริการต้องการได้รับประกันสังคม ดังนี้

1)  มีสิทธิในการทำงานมีมาตรฐานรายได้เหมือนอาชีพอื่น 

2)  มีหลักประกัน บริการทางสังคม รับประกันการเจ็บป่วยมีการชดเชย และมีหลักประกันเมื่อเกษียณอายุ  3)  มีมาตรฐานสุขอนามัย ในสถานที่ทำงาน

4)  มีข้อตกลงในการจ้างงาน กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครงาน สัญญาระหว่างนายจ้าง และลูกจ้าง

5)  ปัญหาระหว่างนายจ้าง และลูกจ้างก็สามารถตกลงที่ศาลแรงงาน 

6)  ธุรกิจสถานบริการเปิดเผยมากขึ้น พนักงานที่ทำอาชีพด้วยสมัครใจ และปลอดภัย

 

นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การเข้าพบของแรงงานนอกระบบครั้งนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นทำความรู้จัก การแก้ไขปัญหาแรงงานนอกระบบนั้น คงต้องเชิญหลายส่วนมาร่วมแก้ไข และต้องดูกฎหมายแรงงานที่มีอยู่ ซึ่งอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ ก็คงต้องให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติมาช่วยกันดู และแก้ไขให้เกิดความสอดคล้องในทางปฏิบัติ

 

ทั้งนี้ทางกระทรวงแรงงานขอเวลาในการเตรียมการ และเชิญมาพูดคุยกันอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2550 เพื่อให้ทุกฝ่ายมาร่วมรับฟังปัญหา และแก้ปัญหาร่วมกัน

 

แรงงานนอกระบบเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อ สสร.

 

 

ในวันเดียวกัน เครือข่ายแรงงานนอกระบบเข้าพบนายแพทย์ ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อเสนอสาระสำคัญสำหรับบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550  มีข้อเสนอดังนี้

 

หมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

สาระหรือข้อเสนอเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง "รัฐต้องส่งเสริมคุ้มครอง และให้ความสำคัญต่อสิทธิแรงงาน" ข้อเสนอ คือ

 

มาตรา ... ผู้ทำงานทุกคนต้องมีสิทธิเสมอกันในการได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม และเพียงพอจากรัฐในด้านสัญญาจ้าง ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมสวัสดิการ และประกันสังคม สุขภาพ และความปลอดภัย การรวมตัว และเจรจาต่อรอง สิทธิการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการประกอบการที่มีผลกระทบต่อผู้ทำงาน

 

ผู้ทำงานทุกคนต้องได้รับหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรม และไม่ถูกบังคับใช้แรงงาน หรือเกณฑ์แรงงาน

 

ให้มีองค์การอิสระที่บริหารงานในลักษณะพหุภาคี ทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนา และคุ้มครองความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบครบวงจร

 

ข้อเสนอเพิ่มเติมในบทบัญญัติในมาตรา 45 เรื่อง "สิทธิการรวมตัว และได้รับการคุ้มครองจากรัฐ" ข้อเสนอ คือ

 

มาตรา 45 บุคคลทุกคนไม่ว่าจะมีอาชีพใดย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ กลุ่มเกษตรกร องค์กรเอกชน หรือหมู่คณะอื่นๆ โดยปราศจากการแทรกแซง กลั่นแกล้ง และคุกคามทุกรูปแบบ

 

การจำกัดสิทธิเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำไม่ได้

 

หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

ข้อเสนอต่อบทบัญญัติในมาตรา 76 เรื่อง "การมีส่วนร่วมของประชาชน"    

 

มาตรา 76 รัฐต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้มีองค์กรภาคประชาชนในทุกระดับโดยมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันระหว่างหญิงชาย เพื่อมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจทุกระดับ

 

ข้อเสนอต่อบทบัญญัติในมาตรา 86 เรื่อง "การคุ้มครองแรงงานและการจัดระบบแรงงานสัมพันธ์"

 

มาตรา 86  รัฐต้องจัดให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำอย่างมั่นคง ส่งเสริม และพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ส่งเสริมให้องค์กรอิสระตามมาตรา... ทำหน้าที่คุ้มครองด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอ

 

รัฐต้องคุ้มครองให้ผู้ทำงานได้รับค่าตอบแทน และสภาพการจ้างอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรมในงานที่เป็นกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบเดียวกัน

 

รัฐต้องคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุ เด็ก และแรงงานหญิง โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ รวมถึงแรงงานผู้พิการ แรงงานติดเชื้อ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ ให้ได้รับการจ้างงานที่เป็นธรรม ส่งเสริมความเสมอภาค ขจัดการเลือกปฏิบัติใดๆ

 

รัฐต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และสิทธิการเจรจาต่อรองร่วม

 

รัฐต้องปรับปรุงระบบการประกันสังคมให้ครบคลุมผู้ทำงานทุกประเภท และประโยชน์ทดแทนทุกกรณี โดยเฉพาะประกันการว่างงาน ให้มีองค์การอิสระบริหารระบบประกันสังคม โดยให้มีผู้แทนผู้ทำงานสาขาอาชีพมีส่วนร่วมในการบริหาร

 

ข้อเสนอต่อบทบัญญัติในมาตรา 87 เรื่อง "รัฐต้องส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย" ข้อเสนอคือ  

มาตรา 87 รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจซึ่งสามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม โดยคำนึงถึงมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และรักษาสภาพแวดลอมที่ดีควบคู่กันไปด้วย กำกับดูแลมิให้มีการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรง และทางอ้อมโดยเอกชน

 

รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค หรือสาธารณูปการ หรือความมั่นคงแห่งรัฐ รัฐต้องไม่แปรกิจการเป็นของเอกชน และต้องส่งเสริมประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถให้บริการกับประชาชนได้อย่างทั่วถึง และมีราคาที่เป็นธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท