Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 15 มี.ค. 50 ตามที่ประชาไทได้เคยนำเสนอรายงาน ฤาชีวิตคนแค่ผักปลา ... การเสียชีวิตของลูกเรือประมงนอกน่านน้ำทะเลไทย ซึ่งเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมนอกน่านน้ำทะเลไทย การเสียชีวิตของลูกเรือประมงประภาสนาวีที่มีทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ


 


ลูกเรือประภาสนาวีลำที่ 1-6 จำนวน 61 คน ประกอบด้วยแรงงานไทย 17 คน แรงงานข้ามชาติ จำนวน 44 คน เข้ายื่นคำฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง สมุทรสาคร เรียกเงินค่าจ้างและค่าเสียหายจากนายจ้างตามกฎหมายแรงงานและความรับผิดทางละเมิดหลายประเด็น อาทิเช่น ค่าจ้างค้างจ่าย เงินเพิ่มจากการจงใจไม่ชำระค่าจ้าง, เงินโบนัสหรือเงินเปอร์เซ็นต์จากการขายปลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า, ค่าชดเชยจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าสินไหมจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อเกิดความเสียหายทั้งร่างกาย จิตใจ และอนามัย และค่าเสียหายอื่นๆ รวมเป็นเงินที่ลูกเรือทั้งหมดเรียกร้องเอากับนายจ้างจำนวนทั้งสิ้น  15,894,610 ล้านบาท โดยศาลแรงงานกลาง (สมุทรสาคร) มีนัดแรก วันที่ 26 มีนาคม 2550  เวลา 09.00 น.


 


 


การยื่นฟ้องของกลุ่มลูกเรือประภาสนาวีครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่มีแรงงานไทยและแรงงานพม่า ออกเรือหาปลาที่ประเทศอินโดนีเซีย กับเรือประมงนอกน่านน้ำประภาสนาวีลำที่ 1-6 กว่า 110 ชีวิต นับแต่เดือนกรกฎาคม 2546 เป็นต้นมา จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2549


             


โดยกลุ่มเรือประมงประภาสนาวีลำที่ 1-6 ประสบกับปัญหาการต่อใบอนุญาตหาปลาไม่ได้ จึงกลับมายังประเทศไทย โดยใช้ระยะเวลานับแต่วันที่เรือจอดทิ้งสมอที่เกาะวานัม ประเทศอินโดนีเชีย นับเป็นระยะเวลาถึงเกือบสามเดือน


 


ในช่วงเวลานั้น กลุ่มลูกเรือขาดสารอาหาร ทำให้เจ็บป่วย มีอาการตัวบวม อาเจียน เสียการทรงตัว ตาแดง จนมีลูกเรือเสียชีวิตที่ประเทศอินโดนีเซียนำศพไปฝังบนเกาะวานัม ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 2 ศพ    และระหว่างการเดินทางกลับประเทศไทยมีลูกเรือประภาสนาวีลำที่ 1-6 เสียชีวิตอีก 37 คน เมื่อกลับถึงจังหวัดสมุทรสาคร นายจ้างไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้างหรือค่าชดเชยแก่ลูกเรือทั้งหมดแต่อย่างใด


 


นายจารุวัฒน์ เกยูรวรรณ เจ้าหน้าที่รณรงค์และเผยแพร่ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า กรพ. ให้ความเห็นว่า "โศกนาฎกรรมนี้มันไม่ควรเกิดขึ้นมา เมื่อเกิดขึ้นแล้ว การตายของคนจำนวนมาก เป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง การตายครั้งนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องธุรกิจแสวงหากำไรโดยตรง ชีวิตคนที่เป็นแรงงาน คือต้นทุนที่สูงเกินไป ถ้าเขาไม่สามารถทำงานได้ ถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมทางออกคือการปลดคนงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเรือประมงที่อยู่กลางทะเลคือการปล่อยให้อดตาย ไม่มีระบบดูแลที่ดีเพราะคนเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ไม่มีงานให้ทำนายจ้างก็ไม่มีกำไรและยังอาจจะขาดทุนด้วย นี่คือความคิดหลัก"


 


"เหตุการณ์นี้ยังมีเรื่องที่ให้เราร่วมกันคิดต่อว่า เราจะทำอย่างไรต่ออุตสาหกรรมประเภทนี้ อุตสาหกรรมที่มีข่าวการประกอบอาชญากรรม  อยู่เรื่อยๆ และผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอๆ ก็คือลูกจ้าง  รัฐบาลจะมีนโยบายอะไรออกมาบ้าง เพื่อจะปกป้องคนงานประมงทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติ เราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้ เพราะชีวิตคนมีค่ามากกว่าผักปลา" นายจารุวัฒน์ เกยูรวรรณ กล่าวทิ้งท้าย


 


องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในกรณีนี้อย่างเต็มที่ได้แก่ เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) และสภาทนายความ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net