ผู้นำศาสนาเพิ่งนัดถก คลี่ปมม็อบสตรีมุสลิม


ประชาไท—17มี.ค.2550 นายอับดุลรอซัก อาลี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะร่วมกันหารือถึงกรณีการชุมนุมประท้วงของผู้หญิงและเด็กชาวมุสลิมหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องบางครั้งมีลักษณะที่อาจส่อให้เกิดความรุนแรงได้

 

นายอับดุลรอซัก กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากสำหรับมุสลิม โดยจะดูว่าพวกเขาเรียกร้องอะไรบ้าง พฤติกรรมที่เกิดขึ้นมีความเหมาะสมหรือไม่ และอาจต้องหาข้อตกลงร่วมกัน เช่น กรณีที่มีการนำตัวคนในหมู่บ้านไปสอบสวน อาจจะต่อรองกับเจ้าหน้าที่ว่า ถ้ายังไม่ปล่อยตัวภายใน 1 วัน จึงค่อยมาชุมนุมกัน หรือวิธีการใดก็ได้ที่เป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ

 

"เราไม่รู้ว่าม็อบที่เกิดขึ้นหลายแห่ง ดีหรือไม่ดีทั้งหมดหรือไม่ แต่เราก็ต้องมาพิจารณาความเหมาะสมว่า ในฐานะที่เป็นมุสลิม มีพฤติกรรมใดบ้างที่ไม่เหมาะไม่ควร โดยเฉพาะในกรณีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งการชุมนุมสามารถทำได้แค่ไหนบ้าง" นายอับดุลรอซัก กล่าว

 

นายอับดุลรอซัก เปิดเผยว่า นอกจากนี้มีหลายครั้งที่ผู้นำศาสนาหรือแม้แต่กรรมการอิสลามประจำจังหวัดถูกเจ้าหน้าที่รัฐขอให้เป็นตัวกลางในการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งกรณีเช่นนี้ผู้นำศาสนาสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร แต่ถ้าให้ไปอยู่ตรงกลางเลยก็คงไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีช่องทางที่ทำให้พอใจกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นจึงต้องมีการหารือกัน

 

นายอับดุลรอซัก เปิดเผยว่า กรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมา เรื่องนี้ได้มีการหารือกันแล้วในที่ประชุมคณะกรรมาธิการชุดนี้แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าควรต้องทำอะไรบ้าง ที่สำคัญคือไม่อยากให้การชุมนุมที่มีเด็กเข้าร่วมด้วยเกิดขึ้นอีก

 

นายอับดุลรอซัก กล่าว ส่วนกรณีคนร้ายก่อเหตุถล่มรถตู้โดยสารสายเบตง - หาดใหญ่ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 จนมีคนเสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บอีก 2 คน ที่บ้านอูเบง ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ตามมาด้วยเหตุขว้างระเบิดใส่ประชาชนที่หน้ามัสยิดและกราดยิงและขว้างระเบิดใส่ร้านน้ำชา ในพื้นที่อำเภอยะหา จนทำให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมากนั้น ตอนนี้ยังไม่สามารถแสดงทัศนะอะไรได้ เพราะยังไม่ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ

 

ขณะเดียวกัน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีการนำเด็กและผู้หญิงมาชุมนุมเรียกร้องนั้น หน่วยงานในท้องที่จะเป็นผู้แก้ไข เพราะเรื่องนี้ได้มีการหารือร่วมกันกับผู้ว่าราชการจังหวัด และแม่ทัพภาคที่ 4 แล้ว โดยรู้สึกเป็นห่วงกับความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะความแตกแยกทางความเชื่อ ขณะที่ได้วิงวอนให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ไขปัญหา และชี้แจงผลของความแตกแยกว่าจะส่งผลอย่างไร

 

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การประกาศเคอร์ฟิวเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคใต้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ขณะที่เชื่อมั่นว่าการประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานเชิงรุกของรัฐบาล โดยใน 2 วันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท