Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 17 มี.ค. 2550 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 มี.ค.) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มาประชุมระดมความเห็น ผนึกกำลังประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ โดยกล่าวว่า นอกจากในส่วนของภาครัฐที่เร่งแก้ไขปัญหานี้ โดยได้ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ระดมกระทรวงที่เกี่ยวข้องการอำนวยการระดับชาติ ส่วนในระดับจังหวัด ก็ได้ให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการในทุกจังหวัด ระดมสรรพกำลังแก้ไข แม้สถานการณ์จะคลี่คลายไป แต่ก็ไม่อาจไว้วางใจ ยังคงต้องปฏิบัติการดับไฟในพื้นราบและใช้เครื่องบินสร้างฝนหลวงให้ชะล้างหมอกควัน ซึ่งเชื่อว่าอีก 2-3 วันน่าจะดีขึ้นมา


ในขณะที่นายพฤ โอ่โดเชา ตัวแทนชาวบ้านแม่ลานคำ ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวประชาธรรม ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีกระแสสาเหตุของปัญหามาลงที่ชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการทำการเกษตร แต่ระบบการเกษตรบนพื้นที่สูงนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือเกษตรแบบดั้งเดิมกับระบบเกษตรเชิงเดี่ยว ระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ชาวบ้านใช้คือระบบไร่หมุนเวียนที่มีการทิ้งช่วงพื้นที่ 7 ปีแล้วค่อยหมุนเวียนมาทำใหม่ โดยในช่วง 7 ปีที่ปล่อยทิ้งไว้นั้นไฟป่าจะไม่เกิดเพราะมีการควบคุม เช่น ทำแนวกันไฟต่างๆป้องกันไว้แล้ว ส่วนพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่จะใช้ทำการเกษตรนั้นชาวบ้านจะมีการเผาทำลายวัชพืชจริง แต่จะเผาในช่วงเดือน เม.ย.เพราะเดือนถัดไปคือเดือน พ.ค.ฝนจะตก ชาวบ้านจะไม่เผาช่วงเดือน ก.พ.หรือ มี.ค.เพราะกว่าฝนจะตกวัชพืชต่างๆก็จะงอกขึ้นมาอีก ซึ่งตนยืนยันว่าตอนนี้ไร่หมุนเวียนยังไม่ถูกเผา ดังนั้นอย่ามาอ้างว่าชาวบ้านคือสาเหตุของควันไฟเหล่านี้


 


"เรื่องนี้อย่าให้ชาวบ้านเป็นแพะรับบาป อย่าเหมารวมว่าชาวบ้านโดยเฉพาะชาวเขาเป็นต้นเหตุ ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆด้วย เช่น โรงงานอุตสาหกรรม สารเคมีต่างๆ รวมทั้งท่อไอเสียรถยนต์ อย่างในเชียงใหม่ลองเอาท่อไอเสียรถยนต์ทุกชนิดทุกคันมารวมกันก็จะกลายเป็นท่อขนาดใหญ่ แล้วลองคิดดูว่ามันปล่อยควันออกมามากขนาดไหน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องเอามาพูด อธิบายให้สังคมรับรู้ด้วย" นายพฤ กล่าว


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีสัมมนาครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาหมอกควัน ซึ่งสรุปข้อเสนอได้ว่า รัฐบาลต้องสนับสนุนชุมชนในการจัดการไฟป่าโดยการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการในการจัดการไฟป่าขึ้นเพื่อให้การดำเนินการของชาวบ้านที่มีอยู่แล้วมีศักยภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องมองปัญหาให้ละเอียดรอบคอบ หากพบผู้กระทำผิดก็ต้องมีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาด และต้องมีการจัดเวรยาม ทั้งทหาร ตำรวจ คอยเป็นหูเป็นตา ประสานงานความร่วมมือร่วมกับชาวบ้านในการจัดการไฟป่า


 


นอกจากนี้ ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาคประชาชนและรัฐเพื่อวางมาตรการแก้ปัญหาต่อเนื่องหลังหมอกควันคลี่คลาย และต้องวางระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และต้องการจัดทำยุทธศาสตร์แก้ปัญหาทั้งระบบโดยใช้พื้นที่และชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลักและให้หน่วยงานรัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นผู้สนับสนุน อีกทั้งต้องมีการควบคุมการขยายตัวในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวทุกชนิดเพราะจะทำให้พื้นที่ป่าเสียสมดุล ต้องทำความเข้าใจ สร้างสำนึกแก่นักท่องเที่ยวให้มีการท่องเที่ยวโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และต้องมีการศึกษาวิจัยการจัดการไฟป่าโดยชุมชนเพื่อให้สังคมรับรู้ว่าชุมชนเองนั้นก็มีระบบการจัดการไฟป่า มีภูมิปัญญาการจัดการไฟป่าที่มีประสิทธิภาพเพื่อลบภาพความเชื่อที่ว่าชุมชนท้องถิ่นโดยเฉพาะชาวเขาคือต้นเหตุของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม                                                                                                      


 


ทั้งนี้ ล่าสุดมีรายงานว่า พล.ท.พลางกูร กล้าหาญ เจ้ากรมกิจการทหาร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี สั่งการไปยัง รมว.กลาโหม ให้กองทัพอากาศนำเครื่องบิน ซี 130 บรรทุกน้ำจำนวน 9 ตัน และเครื่องบิน บีที 67 3 ลำ บรรทุกน้ำเครื่องละ 3 ตัน ไปโปรยเพื่อสร้างความชุ่มชื่นในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะเริ่มปฏิบัติการเวลา 08.00 น. วันที่ 17 มี.ค.นี้


 


 


ข้อมูลประกอบ


--สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net