Skip to main content
sharethis



กระสุนปืนที่ชาวบ้านเก็บได้ในที่เกิดเหตุระเบิดปอเนาะ ที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย ปลอกกระเอ็ม79 จำนวน 2 ปลอก อาก้า 27 ปลอก เอ็ม16 จำนวน 50 ปลอก ลูกซอง 13 ปลอก และระเบิดขวดอีก 13 ขวด


 


เวลา 09.30 . วันที่ 19 มีนาคม 2550 นายปรีชา ดำเกิงเกียรติ นายอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา พร้อมกับสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ นายมะแซ มามะ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา นายอาสัน สะแลมัน กรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา กองกำลังชุดเฉพาะกิจกว่า 100 นาย และสื่อมวลชน ได้เดินทางเข้าไปยังบ้านควนหรัน หมู่ 2 ตำบลเปียน อำเภอสะบ้าย้อย เพื่อตรวจสถานที่เกิดเหตุคนร้ายยิงเด็กและชาวบ้านในโรงเรียนปอเนาะบำรุงศาสน์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 7 ราย พร้อมกับให้การช่วยเหลือครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต


 


จากนั้น ได้เจรจาขอให้เจ้าหน้าที่กองวิทยาการตำรวจ เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ โดยนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เดินทางมาติดตามสถานการณ์และร่วมประสานงานอย่างใกล้ชิด


 


ขณะที่พล...ไพฑูรย์ พัฒนโสภณ ผู้บังคับยการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา พ...ธัมมศักดิ์ วาสะสิริ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะบ้าย้อย เจ้าหน้าที่วิทยาการตำรวจจังหวัดสงขลา และกำลังตำรวจอีกส่วนหนึ่ง เตรียมพร้อมอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสะบ้าย้อย เตรียมเดินทางเข้าไปสมทบ


 


ระหว่างเจ้าหน้าที่เดินทางเข้าไปยังบ้านควนหรัน มีกลุ่มสตรีชาวมุสลิมและเด็กกว่า 200 คน คลุมฮิญาบปกปิดใบหน้ามิดชิด รวมตัวที่บริเวณปากทางเข้าโรงเรียนบำรุงศาสน์วิทยา ห่างจากโรงเรียนประมาณ 400 เมตร ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ รวมทั้งสื่อมวลชนเข้าไปดูสถานที่เกิดเหตุ เนื่องจากไม่พอใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ


 


รวมทั้งไม่พอใจการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนบางแขนง ที่ระบุว่าปอเนาะดังกล่าว เป็นสถานที่ซ่องสุมและผลิตอาวุธ รวมทั้งเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดของผู้ประสบเหตุเอง ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่า คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง นักเรียนทั้งหมดถูกซุ่มโจมตี กลุ่มผู้ชุมนุมได้โห่ร้อง และชูป้ายเขียนข้อความโจมตี - ขับไล่เจ้าหน้าที่รัฐ และสื่อมวลชนให้ออกไปจากพื้นที่


 


ขณะที่มีชาวบ้านเริ่มทยอยเดินทางมาสมทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนต้องถอนออกจากพื้นที่ เพื่อคลี่คลายเหตุการณ์ให้สงบลง


 


ขณะเดียวกัน ชาวบ้านยินยอมให้นายปรีชา นายมะแซ และนายอาสัน พร้อมด้วยนายวิชระ พันดุสะ ปลัดอาวุโสอำเภอสะบ้าย้อย นายหามะ ดอเลาะ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เขตอำเภอสะบ้าย้อย นายรีเป็ง มุนิมะ กำนันตำบลเปียน นายเจ๊ะบาเหม ทุยเลาะ กำนันตำบลทุ่งพอ นายกอยา อิยูโซ๊ะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเปียน เข้าไปยังโรงเรียนบำรุงศาสน์วิทยา


 


ทั้งหมดได้เจรจากับนายดลเล๊าะ หะยีเจ๊ะเลาะ เจ้าของโรงเรียนและญาติๆ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยรอบพื้นที่มีกำลังเจ้าหน้าที่คอยสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น


 


นายปรีชา เปิดเผยภายหลังเจรจากับชาวบ้านว่า เป็นการเจรจาเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และขอให้เจ้าหน้าที่วิทยาการเข้าไปตรวจสอบและเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ เพื่อให้เกิดความชัดเจน และพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ใช่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ จากการเจรจาทางเจ้าของโรงเรียนและครอบครัวผู้เสียชีวิต ยินดีให้ความร่วมมือ ไม่มีท่าทีโกรธแค้น


 


"สำหรับผลการเจรจา ชาวบ้านพร้อมที่จะรับการช่วยเหลือเยียวยา ส่วนประเด็นให้ตำรวจวิทยาการเข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ 12 คน ชาวบ้านให้เข้าได้แค่ 6 คน และต้องปลอดจากคนในเครื่องแบบอื่นๆ และต้องไม่มีการติดอาวุธ" นายปรีชากล่าว


 


แกนนำชาวบ้านรายหนึ่ง เปิดเผยถึงเหตุการณ์ขณะที่คณะของนายอำเภอสะบ้าย้อยเข้ามาพบกับกลุ่มชาวบ้านว่า คณะของนายอำเภอสะบ้าย้อยมากันกว่าร้อยคน มีกำลังตำรวจพร้อมอาวุธครบมือคอยคุ้มกัน ทำให้ชาวบ้านกลัวจะเกิดเหตุร้าย จึงไม่ยอมให้ตำรวจในเครื่อบแบบพร้อมอาวุธเข้าไป มีเจ้าหน้าที่รัฐเพียง 5 คนเท่านั้น ที่ชาวบ้านยอมให้เข้าไปเจรจา โดยได้เข้าไปคุยกับนายอับดุลเลาะห์ หะยีเจ๊ะเลาะ เจ้าของโรงเรียนปอเนาะบำรุงศาสน์ กับชาวบ้าน


 


แกนนำชาวบ้านรายนี้เปิดเผยอีกว่า นายอำเภอได้ต่อรองขอให้เปิดทางให้ตำรวจกองวิทยาการเข้าไปตรวจสอบและเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ ซึ่งกลุ่มชาวบ้านและโต๊ะครูตกลงให้เข้ามาได้เพียง 6 นาย แต่ห้ามคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์หลักฐาน โดยเฉพาะตำรวจในเครื่องแบบพร้อมอาวุธเข้าไป แต่ทางตำรวจวิทยาการต้องการให้นำกำลังเข้าไปคุ้มกัน


 


"อันที่จริงชาวบ้านที่นี่ไม่มีปัญหา เราให้ความร่วมมือดี เพียงแต่ไม่อยากให้กำลังในเครื่องแบบพร้อมอาวุธ และคนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป เพราะเกรงจะเกิดความวุ่นวายและเสียเวลา ถ้าจะมีเหตุร้าย ก็น่าจะเกิดนานแล้ว เพราะทั้งนายอำเภอ หรือแม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ที่เข้าทีหลัง ยังเข้าไปคุยกับชาวบ้าน ตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง บ่าย 2" แกนนำชาวบ้านกล่าว


 


แกนนำชาวบ้านคนเดียวกันระบุว่า กลุ่มชาวบ้านที่ชุมนุมกันอยู่ที่ปากทางเข้าโรงเรียน มีทั้งผู้หญิง เด็ก และผู้ชาย เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้หญิงมุสลิมปิดหน้า ส่วนชาวบ้านจำนวนมากมารวมตัวกัน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2550 เป็นการมาร่วมงานศพ ไม่ได้มาชุมนุม ขณะนี้ชาวบ้านหวาดกลัว ต้องการให้ตำรวจตระเวนชายแดนและทหารพรานที่เข้ามาตั้งฐานในหมู่บ้าน ย้ายออกจากพื้นที่


 


"ยิ่งชาวบ้านเก็บปลอกกระสุนปืน จากเหตุการณ์ยิงนักเรียนปอเนาะเสียชีวิตและบาดเจ็บได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งพบว่าทั้งหมดเป็นอาวุธสงคราม หากให้ตำรวจเข้ามาตรวจสอบ เกรงว่าตำรวจจะสรุปว่า เป็นอาวุธที่ปล้นมาจากค่ายกองพันทหารพัฒนา ที่จังหวัดนราธิวาส ชาวบ้านก็กลายเป็นคนชั่วไป" แกนนำชาวบ้านรายเดิมกล่าว


 


รายงานข่าวแจ้งว่า จากความไม่มั่นใจในตำรวจ กลุ่มชาวบ้านจึงเรียกร้องขอให้คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการผู้นำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มาเป็นผู้ชันสูตรและตรวจสถานที่เกิดเหตุ โดยพล..วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 รับจะประสานงานให้คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ เดินทางมาตรวจสถานที่เกิดเหตุ ในวันที่ 20 มีนาคน 2550


 


ขณะเดียวกันมีข่าวลือกระจายไปตามหมู่บ้านต่างๆ ว่า กองทัพภาคที่ 4 จะสั่งปิดและบุกเข้าตรวจค้นในปอเนาะอีกด้วย


 


เวลา 11.30 .วันเดียวกัน ได้มีกลุ่มชาวไทยพุทธใน อ.สะบ้าย้อย ซึ่งเป็นชาวบ้าน จาก 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.เขาแดง ต.คูหา และ ต.ทุ่งพอ พร้อมด้วยกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งนักการเมืองท้องถิ่นกว่า 500 คน ได้เดินทางมารวมตัวกันที่ว่าการ อ.สะบ้าย้อย เพื่อยื่นแถลงการณ์ในนามของราษฎรชาวไทยพุทธ เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือและแก้ปัญหา 3 ข้อ ประกอบด้วย


 


1.ให้รัฐบาลมีความเด็ดขาดกับผู้ไม่หวังดีอย่างจริงจัง 2.ให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยากับผู้ถูกกระทำให้เท่าเทียมกันและชัดเจน และ 3.ให้รัฐบาลหาแนวทางและวิธีการในการรักษาความสงบความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ โดยยื่นแถลงการณ์ผ่านอำเภอสะบ้าย้อย เพื่อส่งต่อไปยังนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการสงขลา และ พล..วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ต่อไป


 


สำหรับ เหตุที่ชาวไทยพุทธในพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย รวมตัวกันในครั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2550 เกิดเหตุคนร้ายลอยยิงชาวบ้านเสียชีวิตไป 3 คน บาดเจ็บ 3 คน


 


นายสมชาย ช่วยบำรุง สมาชิก อบต.คูหา กล่าวว่า ชาวไทยพุทธในพื้นที่ไม่สามารถทนกับสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นได้อีกแล้ว หากว่า ภาครัฐไม่สามารถดำเนินการแก้ปัญหาได้ ทางกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน นักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ และชาวบ้านจะร่วมกันหารือเพื่อหาทางออกและแก้ไขปัญหากันเอง ส่วนจะใช้วิธีใดนั้นต้องรอดู กันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้


 


"เพราะขณะนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความแตกแยกระหว่างชาวไทยพุทธ และมุสลิม และต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวงทั้ง 2 ฝ่าย แต่การรวมตัวในครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะออกมาสร้างเงื่อนไข หรือกดดันฝ่ายใด โดยเฉพาะกรณีชาวบ้านใน ต.เปียน ที่รวมตัวกันภายในหมู่บ้าน ทั้งนี้ เพื่อความบริสุทธิ์ใจในระหว่างการรวมตัวชาวบ้านได้นำอาวุธปืนที่ใช้ป้องกันตัวจำนวนหลายสิบกระบอกมาวางรวมกันไว้ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย" นายสมชาย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net