Skip to main content
sharethis

พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ


เครือข่ายพุทธบริษัท กลุ่มเสขิยธรม


 


ภาพศพเรียงรายบนผิวจราจร หลังการเข่นฆ่าบนเส้นทาง "เบตง-หาดใหญ่" ในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆ ครั้งล่าสุด ก่อความสะเทือนใจให้ผู้พบเห็นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้


 


ความตายที่เกิดขึ้นกับ ๙ ชีวิต คงยากที่ใครจะร่วมแสดงความยินดี หากเขา(หรือเธอ)ผู้นั้น ยังมีสติสัมปชัญญะ และไม่มีแนวโน้มในทางจิตเภท หรือพิกลพิการทางสมอง ชนิดใกล้วิกลจริตเต็มที


 


นี่เป็นเหตุให้คนธรรมดาสามัญ ซึ่งไม่มีส่วนร่วม หรือไม่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการก่อการร้ายออกจะงุนงงสงสัย ว่าถ้าเป็นอย่างตรรกะที่ว่ามาข้างต้น แล้วกลุ่มคนที่ถูกใครๆ เรียกว่า "ผู้ก่อการร้าย" จะทำ (ฆ่าคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่) ไปทำไม?


 


เพราะการกระทำใดๆ อันเป็นที่มาของการสาบแช่ง ย่อมเป็นสาเหตุให้เสียมวลชน ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "ชัยชนะ" หากสิ่งที่คนกลุ่มนั้นก่อขึ้น จะถูกเรียกได้ว่า เป็น "สงครามประชาชน"


 


เว้นเสียแต่ว่า "กลุ่มผู้ปฏิบัติการ" จะเป็น "ผู้ชั่วร้ายโดยกำเนิด" ชนิดเลวทรามต่ำช้า หรือเป็น "ผู้ก่อการร้ายอย่างไม่ลืมหูลืมตา"


 


กล่าวคือ เป็นผู้ร้ายมาก ถึง ผู้ร้ายมากที่สุด อย่างชนิดที่ไม่สนใจว่าใครจะคิดอย่างไร กับสิ่งที่ตัวเองทำ อันเป็นเรื่องแปลกประหลาดของการ "ก่อการร้าย" เพื่อ "ปลดปล่อย" สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่คนธรรมดาสามัญจินตนาการไปถึงไม่ได้ ด้วยเป็นการฆ่าอย่างไม่มีที่มาที่ไป ชนิด ฆ่าใครก็ได้ ฆ่าที่ไหนก็ได้ ขอให้ได้ฆ่าเป็นพอ เป็นต้น


 


ถามว่าเหตุการณ์ใน ๓ จังหวัดภาคใต้ใน ๖-๗ ปีมานี้ จะเป็นเรื่องไร้สาระขนาดนั้นเลยละหรือ ไม่มีที่มาที่ไปเอาเลยทีเดียวหรือ?


 


คำตอบก็คงไม่ใช่อย่างแน่นอน และถ้าใครมีมันสมองอยู่บ้าง ก็เชื่อว่าคงไม่กล้าสรุปลงไปเช่นนั้น


 


ด้วยเหตุนี้ จึงยังมีหลายต่อหลายคน ที่พยายามตีความและอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้อยู่ ด้วยเหตุและผลนานาประดามี


 


บ้างก็ว่าการฆ่าอันทารุณโหดร้าย และนับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น เป็นเพราะชาวบ้านและพลเมืองในพื้นที่ ถูกกระทำย่ำยียิ่งๆ ขึ้นไปทุกวัน จนมีแรงต้านมากขึ้นและมากขึ้น


 


บ้างก็ว่า การฆ่าและการทำลายล้างลักษณะที่พบเห็น เป็นการยกระดับปฏิบัติการ สู่ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการก่อการร้ายสมัยใหม่ สังเกตได้จากการไม่ประสงค์ต่อทรัพย์ และเลือกที่จะฆ่าอย่างไม่เจาะจง เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว


 


คือ "เลือก" ที่จะ "ฆ่าไม่เลือก" ให้ทุกฝ่ายหวาดผวายิ่งขึ้นทุกๆ ที


 


บ้างก็ว่า นี่เป็นการสร้างสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่ออาศัยกระแสและสถานการณ์แสวงหาผลประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นจำนวนงบประมาณ และช่องทางแสวงหา "หัวคิว" หรือ "ส่วยสาอากร" ตลอดจนการกระทำผิดกฎหมายโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ แล้วอิงอาศัยภัยสงครามกลบเกลื่อนหม้อข้าวหม้อแกงของตนเอง


 


...และข้อสรุปอื่นๆ อีกมากมาย ผันแปรไปตามคุณภาพสมองและสภาพจิตของผู้สรุป ดังที่ได้กล่าวแล้ว...


 


อย่างไรก็ตาม สมมติฐานที่ว่ามานี้ น่าจะมิได้เหลือบ่ากว่าแรงของท่านนายกรัฐมนตรี หรือ คณะทำงานด้านการข่าวและงานความมั่นคง ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในทุกระดับ ที่จะเข้าใจและรับรู้ เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขให้ได้ในที่สุด


 


จะมากจะน้อย ก็เชื่อได้ว่าจะต้องมีการพูดคุยในประเด็นข้างต้นนี้ มาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว


 


ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า...


 


ที่เหตุการณ์ไม่สงบ ไม่ยุติ เพราะคนร้ายมีแรงจูงใจที่เกินกว่านี้ หรือเกินกว่าจะยอมสยบให้มันผู้ใดได้อีกต่อไปแล้ว หรือไม่เช่นนั้น ก็เพราะความรุนแรงดังกล่าว มีการ ชักจูง-โยงใย อยู่เบื้องหลัง อย่างที่คนเบื้องหน้าธรรมดาสามัญ คิดไม่ถึง และคาดไม่ได้ เอาเลยที่เดียว



ซึ่งก็เป็นแง่มุมที่ชวนให้สงสัยอยู่...


 


แต่จะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะถกเถียงกันสักเพียงไหน จะวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร ความสัตย์ที่ต้องยอมรับก็คือ "ไฟใต้ยังไม่ดับ" และยังพร้อมที่จะ "ลุกฮือกระพือโหม" กันอย่างไม่บันยะบันยัง อย่างไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายทาง อีกด้านหนึ่งของอุโมงค์เสียที


 


ในฐานะผู้สังเกตการณ์ (หรือกระทั่งบางคนผู้ตั้งตนไว้ว่าชำนาญการ) จึงยากที่จะหาใครกล้าพยากรณ์ไฟใต้ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ว่าจะ "จบ" ลงที่จุดใดแน่


 


นอกเสียจากการกล่าวถึงแบบตีกรรเชียงหลบ หรือสับเท้าหลอก แล้วเตะให้ฟุตบอลพ้นเท้าไปเสีย แบบขัดไม่ได้ อันเป็นสูตรสำเร็จของคนบางจำพวก


 


นี่จึงเป็นเรื่อง "ไฟใต้" ที่ลุกโชนอยู่ในพื้นที่หนึ่ง แต่สามารถไหม้ลามไปทั้งประเทศ หรือหลายประเทศ อย่างที่อาณาเขตตามแผนที่สำคัญน้อยกว่า "ไฟใต้ในความรู้สึก" หรือ "ไฟใต้" ชนิดที่เผาไหม้อย่างเป็น "นามธรรม"


 


และหากที่กล่าวมาแล้วเป็นปัญหาที่ต้องแก้ หรืออย่างน้อยก็ต้องหาคำตอบสุดท้าย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านี้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ก็จะต้องมองออกมาจากจุดที่ตนเองยืนอยู่ ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านร้านช่องในพื้นที่ ข้าราชการ นักการเมือง นักสิทธิมนุษยชน หรือนักเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ ที่อยู่ที่นั่น หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรต่อมิอะไรที่นั่น ซึ่งนั่นหมายถึงการกลับมาที่ "จุดเซฟ" แล้วทบทวนภาพรวมกันให้ถ่องแท้ร่วมกัน ไม่ว่าจะต้องทำกี่รอบ หรือกี่ครั้งก็ตาม


 


นอกจากนั้น ถ้าจะกล่าวว่า ทุกวันนี้ "คนทั่วไป" ได้รับรู้รับทราบเรื่องราวและสภาพการณ์ของ ๓-๔ จังหวัดภาคใต้ จาก "สื่อมวลชน" เป็นด้านหลัก(หรือใครเคยได้รับแจ้งจากหน่วยงานของรัฐเป็นการส่วนตัวบ้างว่า ทุกวันนี้เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้สุดเป็นอย่างไรบ้างแล้ว?) ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกัน ว่ากับสิ่งที่สื่อนำเสนอออกมาทุกวันนี้ น่าจะถึงเวลาแล้ว ที่จะสังคายนากันเสียบ้าง ว่า "สื่อมวลชน" กำลังมีบทบาทอย่างไรต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เหล่านั้น


 


และสิ่งที่สื่อมวลชนทั้งหลายต้องคิดใคร่ครวญ ตลอดจนจะต้องหาคำตอบ ด้วยการหยิบยกเอาข้อเท็จจริงต่างๆ ขึ้นมาพิจารณา อย่างรอบด้านและไม่ลูบหน้าปะจมูก ก็คือ หาก "ไฟใต้" ยังหาข้อยุติไม่ได้ และหลายฝ่ายดูจะอับจนหนทางไปเสียสิ้น ก็แล้วทำไมสื่อไมร่วมแสดงความรับผิดชอบให้มากไปกว่าที่เป็นอยู่


 


ด้วยศักยภาพของสื่อมวลชนเอง และการเป็น "สื่อกลาง" ของโอกาสและบรรยากาศทางปัญญาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายแสดงทัศนะ หรือการนำสารจาก "ทุกฝ่าย" มาเสนออย่างรอบด้านและเสมอภาค ช่วยให้ผู้คนชายขอบ หรือตัวละครต่างๆ ได้ "ส่งสาร" ของตนออกมา เำพื่อผู้บริโภคข่าวสารจะสามารถตัดสินใจว่าจะ "มีส่วนร่วม" ได้ตามอัตภาพของตน


 


หรือไม่เช่นนั้น ก็เป็นตัวกลาง ชักชวนให้ทุกฝ่ายร่วมกันระดมสมอง ประลองความคิดเห็น หรือช่วยกันสืบค้นใคร่ครวญ "ให้ถึงแก่น" ให้ "สุดความสามารถ" ในฐานที่ตนมิได้มีผลประโยชน์โดยตรง แทนที่จะมุ่งสาดน้ำมัน หรือสุมเชื้อไฟให้ลุกโชน ด้วยการนำเสนอภาพข่าวหรือข้อมูลกระตุ้นความรู้สึกของการแบ่งแยกและแตกต่าง


 


แน่ล่ะ ว่าการฆ่ากันรายวัน การฆ่าเจ้าหน้าที่ การระเบิดทำลายทรัพย์สินสิ่งของ หรือการเคลื่อนไหวของกลุ่มชน หรือกลุ่มคนต่างๆ (อย่างที่ไม่น่าไว้วางใจ) เป็นรายวัน เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น ตื่นตะลึง หรือน่าสะพึงกลัว ซึ่งถือว่าเป็นข่าว เป็นเรื่องผิดปกติ และน่าสนใจ เพราะสามารถยั่วยุให้สังคม "ตื่นเต้น-ตื่นตัว" ที่จะรับรู้


 


แต่หากจะถามว่า แล้วมีอะไรอื่นๆ อีกบ้าง


 


นอกจากสิ่งที่ปรากฏ ในการรายงานข่าว ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และเมื่อใด...


 


ก็ดูราวกับว่า ถ้าอะไรที่ยิ่งไปกว่านี้ จะเป็นเรื่องที่พ้นสายตาและไกลกว่าห้วงคิดคำนึงของหลายๆ ส่วนในสื่อไทยไปเสียแล้ว


 


หรือหากไม่เป็นเช่นนั้น ก็จะเอ่ยอ้างสวิงกลับไปอีกด้าน ว่าใครที่วิเคราะห็วิจารณ์ไปไกลกว่าปรากฏการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้น ที่เห็นด้วยตาสัมผัสด้วยมือ เป็นพวก "ไม่เป็นกลาง" และ "มิใช่สื่อแท้" ไปเสียอีก


 


แต่ครั้นถามต่อ ว่าบทวิเคราะห์(ไม่นับการเล่าข่าว หรือการเอาแง่มุมวิชาการมาจับบางประเด็นเล็กๆ น้อยๆ) เหล่านั้น(ถ้ามี) จะนำไปสู่การหาทางออก หรือนำไปสู่การแก้ปัญหาบ้างหรือไม่ ก็จะได้ข้อสรุปในที่สุด ว่า พื้นที่สื่อสารมวลชนประเทศไทย "ขาด" หรือ "ไร้" ผลของการศึกษาและวิเคราะห์ทำนองนี้ไปเแทบจะหมดสิ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณี ๓-๔ จังหวัดชายแดนใต้


 


นี่ยังไม่รวมถึงปรากฏการณ์ละเลงสีใส่ไข่ ชักจูงความรู้สึกร่วม หรือกระตุ้นเร้าปลุกกระแส เพื่อสร้างความเกลียดชัง ซึ่งไม่มากก็น้อย ที่กลายเป็นการสร้างฝักฝ่าย สร้างความแตกแยก ด้วยความแตกต่างระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ ผู้ฆ่า พวกผู้ฆ่า กับ ผู้ตาย และพวกผู้ตาย โดยปฏิเสธที่จะกล่าวถึง "ที่มาที่ไป" หรือแนวโน้ม แรงจูงใจ หรือบริบท ของปรากฏการณ์นั้นๆ ไปเสีย


 


หากนิยามแบบบ้านๆ ของ "สื่อมวลชน" หรือ "สื่อสารมวลชน" จะหมายถึงหรือหมายความ ว่าเป็น "ผู้-" หรือเป็น "การ-" นำความจริงไปเสนอต่อสาธารณชน ในฐานะผู้ "ส่งสาร" ตามความเข้าใจของคนทั่วไป การนำภาพหรือข่าวปรากฏการณ์แบบดิบๆ ไปเผยแพรแล้วกระตุ้นความเกลียดชังให้สุดโต่ง ่ เป็นความครบถ้วนของความเป็นสื่อมวลชน แค่ไหนเพียงไร ก็น่าที่จะมีการหาข้อสรุปกันให้ได้ถึงแก่นเสียสักที


 


เช่นเดียวกับกับ การวิพากษ์วิจารณ์ ว่าบทวิเคราะห์ หรือบทความเชิงลึก เป็นแต่เพียงการนำเสนอที่เลือกข้าง หรือขาดความเป็นกลาง อย่างที่บางคนหรือบางสำนักคิดกล่าว ก็น่าที่จะมีการนำมากล่าวถึงอยู่ไม่น้อย


 


ไหนๆ เราก็แก้ไขปัญหา ๓-๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ หรือแก้ไปไม่ถึงไหน เพราะไม่รู้ที่มา หรือไม่เข้าใจที่ไป กันอยู่แล้ว ลองมาวิพากษ์คนเสนอข่าวดูบ้างปะไร ว่าที่ทำๆ ไปน่ะช่วยให้ดีขึ้น หรือจะยิ่งแย่ลงไปทุกที


 


เว้นแต่ว่าทุกวันนี้ สื่อมวลชนมีหน้าที่ "รับมา-จ่ายไป" เยี่ยง "ไปรษณีย์" โดยไม่ต้องมีพันธกิจ หรือความรับผิดชอบใดๆ อีกต่อไปแล้ว...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net