รายงาน : ความผิดพลาด O-NET และ A-NET ปี 2 ใคร?!!ควรเป็นผู้รับผิดชอบ

สิรินภา อิ่มศิริ

 

เป็นเรื่องน่าตกใจกับตัวเลขเด็กนักเรียนที่เข้าทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติทั้งขั้นพื้นฐาน (O-NET) และขั้นสูง (A-NET) ประจำปีการศึกษา 2549 ที่ทำการสอบไปเมื่อวันที่ 24-25 ก.พ. และ 3-4 มี.ค. 2550 ตามลำดับ ผลสรุปเบื้องต้น สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)  O-NET พบเด็กขาดสอบทุกวิชา (5 กลุ่มสาระการเรียนรู้) โดยเฉลี่ย 21,000 คน คิดเป็น 6.42% จากจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด 335,384 คน และมีกระดาษคำตอบกว่า 8,029 แผ่น คิดเป็น 0.51% จากจำนวนกระดาษคำตอบทั้งหมด 1,568,673 ที่เครื่องตรวจไม่รับตรวจ (Reject) ด้วยเหตุผลที่ผู้สอบไม่ทำตามกติกา เช่น ใช้หมึกปากฝนรหัสและคำตอบแทนที่จะเป็นดินสอบ 2B บางรายระบายเลขที่นั่งสอบไม่ครบ 7 หลัก ไม่ได้ระบายรหัสวิชาสอบ หรือระบายรหัสวิชาผิด บางกรณีก็ลบกระดาษคำตอบไม่สะอาด  และอีก 5 ราย จะไม่มีคะแนนในวิชานั้น เพราะเปิดโทรศัพท์มือถือระหว่างทำการสอบ เป็นต้น

 

ด้าน  A-NET สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สรุปผลอย่างคร่าว ๆ พบว่า มีผู้ไม่พกบัตรประจำตัวผู้สอบหรือบัตรสำคัญที่ใช้แสดงตนในการเข้าสอบในสนามสอบจาก 8 ใน 18 สนามกว่า 2,000 คน และคาดว่าเมื่อตรวจสอบครบ 18 สนาม จะพบยอดผู้ไม่พกบัตรดังกล่าวจำนวนกว่า 4,000 คน ส่วนกระดาษคำตอบจากทั้งหมดที่ทำการลงทะเบียนทุกรายวิชา 770,000 แผ่น แต่จากการตรวจข้อสอบพบเด็กขาดสอบจนเหลือกระดาษคำตอบเพียง 700,000 แผ่น และยังมีกรณีผิดพลาดเช่นเดียวกับ O-NET คือ ผู้สอบจำนวนหนึ่งฝนรหัสประจำตัวผู้สอบผิด ฝนรหัสวิชาผิด ฯลฯ

 

ด้วยข้อมูลตัวเลขทั้งหมดจึงเกิดคำถามว่า เพราะอะไร?!!จึงเกิดกรณีผิดพลาดได้มากมายขนาดนี้ซ้ำอีก  ทั้งๆ ที่ทุกฝ่ายก็มีบทเรียนจากการสอบ O-NET และ  A-NET ครั้งแรก ในปีการศึกษา 2548 ที่จัดสอบและประกาศผลไปเมื่อเดือน พ.ค. 2549 ซึ่งมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากระบบจัดสอบ ตรวจคะแนน และประกาศผลที่ไม่มีความพร้อม ผู้สอบไม่ว่าจะเป็นนักเรียนหรือกลุ่มเด็กซิ่ลที่ยังสับสนกับระบบการคัดเลือกเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแบบใหม่ ทำให้ต้องเลื่อนประกาศผลสอบทั้ง O-NET และ A-NET ออกไปหลายครั้งหลายครา เพราะข้อมูลบางส่วนสูญหาย บางส่วนไม่ตรงกับเจ้าของกระดาษคำตอบ ฯลฯ เด็กและผู้ปกครองจำนวนหลายร้อยคน ต้องเดินทัพมาประท้วงและติดตามการประกาศผลอย่างใกล้ชิด ทั้งที่ สทศ. และ สกอ. จนทำให้นายประทีป จันทร์คง อดีต ผอ.สทศ. ต้องลาบวชเพื่อชดเชยความผิด และนายภาวิช ทองโรจน์ อดีต เลขาธิการ สกอ. ต้องปวดหัวและเป็นหนังหน้าไฟช่วยแก้ปัญหาแทนหน่วยงานต่าง ๆ ไปนานหลายสัปดาห์แบบไม่ต้องหลับนอนทีเดียว

 

มาวันนี้ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สกอ. และ สทศ. ต่างก็รับปากว่าจะจัดทำระบบการจัดสอบ O-NET และ A-NET ให้รอบครอบมากที่สุด เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนคืนมา ซึ่งผลปรากฏในเบื้องต้น พบว่าหน่วยงานทั้ง 2 ทำได้ตามที่ปากว่าไว้จริง  กระบวนการจัดสอบ ตรวจข้อสอบ

พบความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย  แต่ก็ต้องรอดู ณ เวลาประกาศผลทดสอบในวันที่ 31 มี.ค. และ 10 เม.ย. ว่าจะมีการร้องเรียนเกิดขึ้นหรือไม่ และตรวจสอบแล้วผลปรากฏว่าผิดจริงหรือไม่ประการใด ซึ่งจะเป็นเครื่องหมายการันตีว่า 2 หน่วยงานมีมาตรฐานอย่างแท้จริง

 

กลับกัน ในส่วนของผู้สอบที่เป็นนักเรียนและกลุ่มเด็กซิ่ลที่พบว่า บทเรียนในปีที่แล้วไม่ได้เป็นตัวอย่างให้มีความระมัดระวังในการเตรียมตัวสอบ O-NET และ A-NET ในปีนี้ได้มากเท่าที่ควรจะเป็น จำนวนตัวเลขที่กล่าวไว้ในข้างต้น  ทำให้ต้องย้อนดูว่า "มาตรการความเข้มงวดของระบบการศึกษาไทย" ได้มาตรฐานเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้เยาวชนไทยเป็นเด็กที่มีศักยภาพทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

 

เมื่อสอบถามไปยัง สกอ. และ สทศ. ก็ทราบด้วยว่า นักเรียนคนใดที่ลืมบัตรประจำตัวผู้สอบก็ให้ถ่ายรูปและเซ็นลายเซ็นไว้เป็นหลักฐาน แล้วปล่อยให้เข้าสอบได้ ส่วนกรณีฝนเลขประจำตัวผู้สอบ หรือรหัสวิชาผิด ทางหน่วยงานจะทำการแก้ไขให้ ซึ่งเสียเวลาเพราะต้องตรวจสอบด้วยคนไม่สามารถใช้เครื่องได้  ทั้งที่ถ้าเป็นระบบ "เอนทรานซ์" การทำผิดกติกาใดกติกาหนึ่งจะไม่สามารถเข้าสอบหรือไม่มีคะแนนสอบในรายวิชานั้น ๆ และระบบจะไม่เปิดให้มีกระบวนการประท้วง ฟ้องร้องดูกระดาษคำตอบ  ฯลฯ โดยเด็ดขาด

 

จากคำชี้แจงของนางศศิธร อหิงสโก ผอ.กลุ่มรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา สกอ.  กล่าวว่า ด้วยระบบการศึกษาของไทยจะเป็นไปแบบเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ก็เสมือนครูต้องดูแลลูกศิษย์ ถ้าผิดพลาดนิดหน่อยก็อะลุ่มอล่วยกันได้ และในระบบเอนทรานซ์ เราก็มีการแก้ไขในจุดที่เด็กฝนเลขประจำตัวสอบ หรือเลขรหัสวิชาผิดให้อยู่แล้ว จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในระยะยาวยังไม่ได้คิดเกณฑ์รองรับไว้ว่าจะมีวิธีจัดการในเรื่องนี้อย่างไร

 

เสียงอีกด้านจาก รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เล่าว่า หากจะให้เพิ่มความเข้มงวดในเกณฑ์การจัดสอบ O-NET และ A- NET แบบทันทีใด คิดว่าคงทำไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่า สทศ.และ สกอ. มีแผล ปีที่แล้วระบบการจัดสอบล้มเหลวจนเกิดเรื่องวุ่นวาย  ฉะนั้น

ต้องรอดูสถานการณ์ในปีนี้ว่านิ่งพอหรือไม่ ระบบเข้าที่ได้มาตรฐานเป็นที่น่าเชื่อถือต่อสังคมจนสามารถพิสูจน์ได้ มีคำอธิบายในทุกเรื่องอย่างเป็นธรรมโดยผู้สอบไม่สามารถเอามาอ้างได้ เมื่อนั้นการกำหนดเกณฑ์เพื่อสร้างศักยภาพการเตรียมตัวสอบให้กับเยาวชนจะทำได้ทันที

 

แต่อีกบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสอบ O-NET และ A-NET ไม่น้อย ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สทศ. กลับเสนอทางออกว่า ในการจัดสอบปีหน้า สทศ.จะออกกฎเข้มงวดในการสอบ ซึ่งถ้าผู้เข้าสอบคนใดไม่ทำตามเกณฑ์ที่แจ้งไว้ โดยจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ก็จะไม่ให้เข้าสอบ ไม่ตรวจกระดาษคำตอบให้

หรือตรวจแต่ไม่แจ้งผลคะแนน  เพราะไม่อยากทำให้เป็นมาตรฐานแห่งความหย่อนยาน และทำให้เยาวชนไทยไร้ความผิดชอบเช่นนี้เรื่อยไป อีกทั้ง ในการจัดสอบ A-NET ในปีหน้า สทศ.จะเป็นผู้รับผิดชอบจัดสอบสอบร่วมกับ O-NET ซึ่ง สทศ.จะออกเกณฑ์การสอบอย่างครอบคลุม และนำมาใช้กับการทดสอบระดับชาติทั้ง 2 และจะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนมีความรับผิดชอบและตั้งใจทำข้อสอบ O-NET มากขึ้น โดยอาจนำคะแนนดังกล่าวไปใช้ในการจบช่วงชั้นทั้ง 4 (ป.1-3, ป.4-6, ม.1-3, ม.4-6) ซึ่งจะนำคะแนนไปใส่ไว้ในใบทรานสคริปต์ด้วย

 

ด้วยข้อเสนอสุดท้ายของ ผอ.สทศ. ก็ได้แต่หวังว่า มาตรการหรือหลักเกณฑ์ที่จะออกมาใช้ในปีหน้านั้น

จะช่วยสร้างความรับผิดชอบให้กับเยาชนไทยที่ต้องเข้าทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติทั้ง 2 ระบบให้มีมากขึ้น เพราะระบบหนึ่งจะเป็นการวัดความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาตลอดระยะเวลา 12 ปี เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงระบบการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพสู้กับประเทศที่พัฒนาแล้วได้

 

และอีกระบบหนึ่งจะเป็นการวัดอนาคตของตัวผู้สอบเองว่าจะเข้าไปศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาที่ใฝ่ฝันไว้ได้หรือไม่ ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้น ทั้งผลที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง หรือเกิดขึ้นในภาพรวมของประเทศ มาจากตัวผู้เข้าสอบเป็นสำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท