"คนคาบไปป์" หวั่นนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารใน รธน. อาจเป็นประเด็นใหญ่ของคนขี่หลังเสือ

ประชาไท - 23 มี.ค. 50 น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  กล่าวถึงกรณีที่แนวคิดกำหนดการนิรโทษกรรมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)ไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น 2 วันในการประชุมกรรมาธิการที่มีการพูดถึงบทเฉพาะกาล ซึ่งบทเฉพาะกาลมีหลายเรื่อง จึงได้เสนอความเห็นว่า อยากให้พิจารณารัฐธรรมนูญ 2549 ว่าแปลกกว่าฉบับอื่น เพราะมีการเขียนนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ทำการรัฐประหาร ทั้งนี้ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น การนิรโทษกรรมจะออกเป็นพระราชบัญญัติ 

 

แต่ในครั้งนี้จึงเกรงว่าเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ยกร่างเสร็จแล้วประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ 2549 ก็จะต้องยกเลิกไป จึงตั้งข้อสังเกตว่ากรรมาธิการจะมีความเห็นอย่างไร เพราะมีบทนิรโทษกรรมรวมอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2549 ด้วย ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อคมช.หรือไม่  ซึ่งนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ตั้งข้อสังเกตว่าโดยปกติเมื่อนิรโทษกรรมไปแล้วก็เท่ากับว่าลบล้างความผิดไปหมด แต่ก็ไม่แน่ใจจะมีศรีธนญชัย หรือพวกหัวหมอหยิบยกเพื่อมาเป็นปัญหาหรือไม่  ดังนั้นจึงมีการหารือว่าในบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2550 ควรจะมีการเขียนไว้ด้วยว่าการกระทำใด ๆในช่วงที่มีการทำรัฐประหารให้ถือว่ามีการนิรโทษกรรมตามที่รัฐธรรมนูญ 2549 บัญญัติไว้ด้วย ทั้งนี้ เมื่อเขียนเป็นบทเฉพาะกาลไว้แล้วจะออกเป็นพระราชบัญญัติอย่างไรก็แล้วแต่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่การกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องมาจากปี 2549

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างนี้จะสามารถให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติออก พ.ร.บ.เพื่อไม่ต้องนำไปเป็นบทเฉพาะกาลได้หรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า หากทำเช่นนั้นก็ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะยากกว่า เพราะฉะนั้นจึงต้องทำบทเฉพาะกาลไว้ก่อนดีกว่า เมื่อถามว่าหากกำหนดบทเฉพาะกาลนิรโทษกรรมไว้อาจจะมองว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวกรรมาธิการก็มีการหยิบยกขึ้นมาพูด จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเขียนเพื่อบอกว่ายกโทษให้กับการรัฐประหาร เพราะการนิรโทษกรรมจะรวมไปถึงองค์กรที่คมช.แต่งตั้งขึ้น  แต่จะไม่รวมการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะเป็นคนละส่วนกัน ดังนั้นหากรัฐบาลชุดปัจจุบันบกพร่องก็สามารถตรวจสอบได้

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีทางออกอื่นหรือไม่เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกต่อต้าน น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า หากประชาชนเข้าใจจุดมุ่งหมาย ทำไมไม่ต่อต้านรัฐธรรมนูญ 2549 จึงเห็นว่าเป็นเรื่องของคนที่อยากจะหาเรื่องอย่างไรก็ได้ แต่ยืนยันว่าตนเองและกรรมาธิการฯมีเจตนาดีที่จะให้เกิดความรอบคอบไม่ให้เกิดเงื่อนไขให้พวกหัวหมออาจจะก่อปัญหาได้อีก อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้เขียนรายละเอียด และเห็นว่าเป็นเรื่องของฝ่ายประชาสัมพันธ์และฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 จะต้องมีการสอบถามประชามติ

 

น.ต.ประสงค์ กล่าวด้วยว่า การกำหนดแนวคิดนิรโทษกรรมเป็นเพราะได้รับการแต่งตั้งจากคมช. แต่เป็นการมองเจตนาดีว่าการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย.ไม่ต่างจากที่ประชาชนทั่วไปที่มองว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องทั้งในกทม.และต่างจังหวัดให้ลาออก จนทหารต้องออกมาดำเนินการตามคำร้องขอของประชาชน อย่างไรการทำงานที่ผ่านมา 5-6 เดือนคงไม่ต้องพูดถึงว่าประชาชนรู้สึกอย่างไร แต่เห็นว่าไม่ใช่ความผิดของคมช.เพราะคมช.ได้โอนอำนาจให้ฝ่ายบริหาร

 

"ผมเรียนตรง ๆว่าผมเป็นห่วงผู้ที่หวังดีอย่างคณะคมช.ที่เข้ามาช่วยเหลือจัดการกับระบอบทักษิณให้ยุติลงไปได้ จึงไม่อยากให้มีปัญหาอะไรให้ไปกระทบหรือเป็นเงื่อนไข เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็ยังไม่รู้ว่าใครจะได้รับเลือกตั้ง จึงควรป้องกันไว้ก่อน น่าจะเหมาะสมที่สุด มิฉะนั้นคนที่ยิงตะกวดอาจจะถูกตะกวดฟ้องร้อง "น.ต.ประสงค์ กล่าว

           

น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญใหม่แม้จะมีบทเฉพาะกาลแต่คงไม่นำไปสู่การสืบทอดอำนาจ เพราะประชาชนจะรู้เนื้อหาทั้งหมดแล้วจะเข้าใจว่าสืบทอดอำนาจหรือไม่ ในฐานะที่เป็นประธานกรรมาธิการฯพูดได้เลยว่าจะไม่มีช่องทางให้ทหารเข้าไปสืบทอดอำนาจในรัฐธรรมนูญใหม่แน่นอน และเชื่อว่ากรรมาธิการทั้ง 35 คนก็คิดเช่นเดียวกัน ยืนยันว่าแนวคิดนิรโทษกรรมให้กับคปค.ไม่ได้มีการหารือ หรือรับใบสั่งมาจากคมช.แต่เห็นว่าคงไม่สามารถเขียนให้ชัดได้เช่นกันว่ามีการป้องกันการสืบทอดอำนาจในรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดเขียนไว้

 

"การขึ้นหลังเสือแล้วจะลงหลังเสือให้ปลอดภัยต้องทำให้ประชาชนพออกพอใจ ผมเรียนตรง ๆว่าเท่าที่รู้จักมักคุ้นคนเหล่านี้เขาอยากหมดหน้าที่ใน 1 ปีและกลับบ้านอย่างสบาย ดังนั้นการที่เขาจะเข้ามาสืบทอดอำนาจหรืออะไรต่าง ๆผมเชื่อมั่นว่าเขาไม่คิดที่จะเอาตัวเข้ามาผูกพันอีก เท่านี้เขาก็ลำบากใจอยู่มากแล้ว ผมเคยพูดกับเขา ผมจึงกล้าบอกอย่างนี้"น.ต.ประสงค์ กล่าว

 

"ประสงค์" วิจารณ์แถลง 6เดือนรัฐประหาร รัฐบาล-คมช.ทำงานช้า

นต.ประสงค์ ยังกล่าวถึงการแถลงผลงาน 6 เดือนของรัฐบาลว่า ได้ติดตามข่าวสารและพูดคุยกับหลายกลุ่ม รู้สึกว่าฝ่ายบริหารค่อนข้างทำงานล่าช้า บางสิ่งบางอย่างไม่ชัดเจน ไม่มีรูปธรรมที่จับต้อง ขณะที่ความใจร้อนของบ้านเมืองที่ทุกคนอยากให้ดีขึ้น ยิ่งหวังสูงเท่าไหร่ความผิดหวังก็ยิ่งเข้ามาแทนที่ จึงเป็นสัญญาณที่ฝ่ายบริหารควรจะเข้าใจและรีบปรับปรุงขบวนท่าการทำงานใหม่ เพราะหลายสิ่งหลายอย่างฝ่ายบริหารสามารถช่วยสะสางได้ เช่น ปัญหาทุจริตในกระทรวงต่าง ๆที่มีอยู่ ก็ควรกระตือรือร้น ทั้งนี้เรื่องการทำงานของรัฐบาลได้พูดไว้ตั้งแต่การแถลงนโยบายแล้วว่านโยบายสวยงาม แต่ควรเร่งผลงานให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วย เพราะมีระยะเวลาทำงานแค่ 1 ปีจึงควรจัดลำดับสำคัญก่อนหลัง

 

"ผมพูดเมื่อวันนั้นผมจำได้ เพราะผมอยากให้ทุกคนที่เข้ามาทำงานกลับไปด้วยความสบายใจ มีประชาชนมาส่ง ไม่ใช่มาขับไล่ แล้ววันนี้ผ่านมา 6 เดือน ผมมองข้างหน้าออกเหลืออีก 6 เดือนจะครบปี ต้องรีบขยับเขยื้อนทำงานให้ทันอกทันใจตามความต้องการของประชาชน"น.ต.ประสงค์ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามมองว่า 6 เดือนข้างหน้าจะมีประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาล น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ไม่อยากตอบ เพราะจะกลายเป็นการชี้นำ ขอให้ดูกันไปเอง

 

น.ต.ประสงค์ ยังเห็นด้วยกับสนช.ที่จะเข้าชื่อเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล แต่เห็นว่าในบรรยากาศการเมืองในปัจจุบัน รัฐบาลควรขอเปิดสภานิติบัญญัติเพื่อให้มีการอภิปรายด้วยตัวเอง จะได้รับการยกย่องมากกว่าถูกสนช.รวบรวมรายชื่อ เพราะหากรัฐบาลใช้โอกาสทำความเข้าใจกับประชาชนก็จะช่วยระงับอารมณ์ความรู้สึกลดลงไปได้

 

"หมอเหวง"ยื่นหนังสือ ค้านนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารในบทเฉพาะกาล

ที่รัฐสภา เวลา 13.30.นายแพทย์เหวง  โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย พร้อมด้วยศ...สันต์  หัตถีรัตน์ ประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยและตัวแทนคณะกรรมกรปฎิรูป เข้ายื่นหนังสือต่อ นายเดโช  สวนานนท์ รองประธารสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และผู้แทนประธานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อแสดงเจตจำนงคัดค้านกรณีที่จะมีการบัญญัติ "การนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร19 กันยายน 2549" ไว้ในบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยน..เหวง กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจึงไม่ควรนำมาเป็นเครื่องมือรับใช้บุคคลที่เป็นผู้ฉีกรธน.ฉบับเดิมทิ้ง ซึ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือของรธน.ลดน้อยลง

 

..เหวง เห็นว่า น..ประสงค์  สุ่นศิริ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายมีชัย ฤชุพันธ์ประธานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ควรมีความกังวลว่า หากรธน.ไม่ได้ให้ความคุ้มครองกับคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้วอาจจะทำให้เกิดการพิจารณาโทษของคณะดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากตามหลักกฎหมายทั่วไป สุจริตชนไม่ต้องกังวลว่ากฎหมายจะไปทำร้าย หรือตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม ทั้งนี้หากเป็นไปตามเหตุผลที่คณะรัฐประหารให้ไว้กับประชาชนในการก่อรัฐประหาร ว่าประเทศชาติอยู่ในวิกฤติอาจมีการนองเลือดเกิดขึ้นนั้น ก็ไม่ต้องมีความกังวลว่าคณะรัฐประหารจะได้รับการลงโทษใดๆขณะเดียวกันจะได้รับการเชิดชูจากสังคม

 

" คุณประสงค์พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่ารธน.ฉบับนี้จะดีกว่า ฉบับ2540 และจะเป็นรธน.ประชาธิปไตย ผมขอท้าเลยว่าให้คุณประสงค์ไปอ่านรธน.2517 มีมาตราที่ระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามคณะรัฐประหารออกกฎหมายนิรโทษกรรมตนเองไม่ว่าในรูปแบบใดทั้งสิ้น ผมขอท้าให้คุณประสงค์ร่างรธน.ให้ก้าวหน้ากว่านี้ได้ไหม ผมอยากถามความจริงใจท่านว่าท่านมีความจริงใจในการรร่างรธน.ฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นกว่าเก่าหรือไม่ ถ้า รธน. ฉบับใหม่ไม่มีการบัญญัติมาตรานี้ก็เท่ากับว่าถอยหลังกว่าปี 2517แล้ว กลายเป็นว่าคุณประสงค์โฆษณาว่าจะร่างให้เป็นประชาธิปไตย แต่ว่าความเป็นจริงแสดงให้เห็นธาตุแท้ออกมาแล้ว "..เหวงกล่าว

 

ด้านนายเดโช กล่าวว่า สภาร่างรธน.จะรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย แต่การพิจารณาว่าจะบรรจุขั้น สุดท้ายอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งในวันที่ 19 เมษายนถึงจะออกเป็นร่างแรก ถึงจะรู้ว่ามีการบรรจุอะไรลงไปบ้าง อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในรธน.แต่อย่างใด และข้อเสนอนี้จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นดี ซึ่งตนรับปากว่าจะนำข้อเสนอดังกล่าวส่งไปถึงกมธ.ยกร่างฯและจะรับฟังความเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจไม่มีอคติใดๆทั้งสิ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท