Skip to main content
sharethis

วันที่ 20 มีนาคม 2550 คณะทำงานฟื้นฟูแผ่นดิน อันประกอบด้วยเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านเกษตรได้ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ "ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการเมืองและสังคม: ว่าด้วยชุมชน เกษตรกรรมและเศรษฐกิจพอเพียง"


 


เป็นข้อเสนอของภาคเกษตรกรรมที่มีความเข้มข้น เป็นระบบกว่าฉบับใดที่เคยมีมา หากแต่มันจะไปอยู่ในรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ จะไปอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใด ที่สำคัญ ท่ามกลางสถานการณ์ที่การเมืองระส่ำระสาย ส.ส.ร.กำลังถกเถียงกับเรื่องที่ถอยหลังไปไกล กระทั่งหลายกลุ่มเตรียมปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว .... ข้อเสนอของ "ชาวนา" จะสูญเปล่าหรือไม่?


 


"เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์" สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หัวเรือใหญ่แห่งวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในการระดมความคิดเห็นในเครือข่ายเกษตรหลายองค์กร เพื่อจัดทำข้อเสนอเหล่านี้เช่นกัน จะลองตอบคำถามน่ากระอักกระอ่วนดังกล่าว ......


 


 


 






 


 


สรุปข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง 


ว่าด้วยชุมชน เกษตรกรรม และเศรษฐกิจพอเพียง


 


โดยคณะทำงานฟื้นฟูแผ่นดิน


20 มีนาคม 2550


 


 


ข้อเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


1.หมวดว่าด้วยสิทธิของเกษตรกรในการเข้าถึงฐานทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมชุมชน ต้องได้รับการรับประกันและคุ้มครอง สิทธิในการได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการทำเกษตรยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และการรวมตัวของเกษตรกร/ชุมชนท้องถิ่น ต้องได้รับการรับรองและให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย


 


2.หมวดว่าด้วยองค์กรอิสระ จัดให้มีองค์กรอิสระเพื่อพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีคณะกรรมการบริหารที่มาจากเกษตรกร ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน


 


3.หมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐต้องสนับสนุนและส่งเสริม การพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง การปฏิรูปที่ดิน การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกร การจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตรกรรม การวมตัวของเกษตรกร นโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน การตรวจสอบรัฐโดยภาคประชาชน หลักประกันเกษตรกร และกองทุนฟื้นฟู/สวัสดิการเกษตรกร


 


4.หมวดว่าด้วยการตรวจสอบโดยภาคประชาชน ชุมชน และองค์กรประชาชนที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อพิทักษ์ทรัพยากรหรือติดตามข้อตกลงทางการค้าและนโยบายใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะสามารถฟ้องร้องรัฐ หรือผู้กระทำผิดโดยตรง โดยรัฐต้องจัดให้มีกองทุนสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว


 


 


ข้อเสนอต่อการจัดตั้งองค์กรอิสระและกองทุนสนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน


เพราะกลไกของรัฐในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการพัฒนาและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ขาดการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและไม่สามารถพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่สอดคล้องกับชุมชนได้อย่างแท้จริง จึงควรจัดตั้งองค์กรอิสระภายใต้ชื่อว่า "สถาบันพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยยึดหลักการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง ยั่งยืน เท่าเทียม และเป็นธรรม การใช้กระบวนการจัดการความรู้ที่มีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการศึกษาวิจัยและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ และดำเนินการรณรงค์เผยแพร่ให้สาธารณะชนเข้ามาปกป้องและสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ตลอดจนเป็นองค์ประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง


 


ทั้งนี้ ให้มี "คณะกรรมการสถาบัน" เป็นกลไกการบริหารองค์กรอิสระ โดยมีที่มาจากการคัดเลือกจากองค์กรที่ดำเนินการด้านเกษตรกรรมยั่งยืน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 10 ปี และต้องจัดให้มีสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งชาติทุก 2  ปี เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของสถาบัน และจัดทำข้อเสอนทางนโยบายต่อรัฐบาล


 


 


ข้อเสนอต่อการปฏิรูปการศึกษาด้านเกษตรกรรมยั่งยืน


การพัฒนาการศึกษาต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนปรัชญาการศึกษาโดยต้องให้ความสำคัญกับการเคารพศักดิ์ศรี และคุณค่าของเกษตรกร กล่าวคือ การศึกษาต้องทำให้คนในทุกภาคส่วนของสังคมมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพและมีความมั่นใจ นอกจากนี้ระบบการศึกษาต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนในมีศีลธรรมและจริยธรรม เน้นการพัฒนาจิตวิญญาณให้เป็นผู้ที่มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีจิตสำนึกสาธารณะ สามารถทำงานเพื่อผู้อื่นมากขึ้น


 


การศึกษาในระบบต้องพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน และผลักดันนโยบายการศึกษาภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพึ่งตนเองไม่ใช่เพื่อการรับใช้ตลาดแรงงาน


 


การศึกษานอกระบบ ต้องพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรมยั่งยืนผ่านเกษตรกรและเครือข่ายเกษตรกร พัฒนากลไกและศักยภาพระดับท้องถิ่นในการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนให้มีเครือข่ายองค์กรหรือหน่วยงานที่จัดการศึกษาทางเลือก


 


ทั้งนี้ ควรจัดเวทีสมัชชาการศึกษาด้านการเกษตรกรรมยั่งยืนทุกปี สร้างเครือข่ายจัดการความรู้เกษตรกรรมยั่งยืน ผลักดันงานวิจัย องค์ความรู้เกษตรกรรมยั่งยืน นำเสนอต่อสาธารณะ และการจัดสรรงบประมาณจัดตั้งกองทุน รองรับงานวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรกรรมยั่งยืน


 


 


 


 


สัมภาษณ์ "เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์"


 


เกษตรกรเขียนรัฐธรรมนูญ ... สูญเปล่าหรือไม่ ?


 


 


 


มีความคาดหวังแค่ไหนว่าข้อเสนอภาคเกษตรกรรมไทยจะไปอยู่ในรัฐธรรมนูญจริง


ค่อนข้างจะเป็นห่วง เพราะสังคมไทยขณะนี้ให้ความสำคัญกับตัวโครงสร้าง ที่มาของนายกฯ ที่มาของ ส.ส. ส.ว. องค์กรอิสระ เรื่องชุมชน เกษตรกรรม ไม่ได้รับความสนใจ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาตรา 84 เขียนเอาไว้พอสมควร แต่มันเลื่อนลอยมากๆ และแทบไม่ได้ทำอะไรเลย โดยเฉพาะการปฏิรูปที่ดิน


 


ผมคิดว่าหลักประกันอย่างน้อยที่สุด ขอให้มีข้อความเดิมในนั้น ไม่ว่าเรื่องกระจายการถือครองที่ดิน ราคาพืชผล แต่มันต้องใส่รวมไว้ในหมวดหนึ่งหมวดใดว่า รัฐบาลต้องมีแผนปฏิบัติการและต้องปฏิบัติภายในกี่ปีก็ว่าไป ให้มันชัดเจนว่าจะต้องให้เรื่องนี้มีผลในทางปฏิบัติ


 


รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจต่อภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาของประเทศด้วยการให้น้ำหนักในรัฐธรรมนูญให้มากขึ้น


 


รัฐธรรมนูญเขียนแล้วก็ฉีกได้


จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญเขียนแล้วฉีกได้ กฎหมายลูกเขียนแล้วส่วนใหญ่จะไม่โดนฉีก แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด สะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของประเทศชาติว่าจะให้มันไปในทิศทางไหน ถ้ารัฐธรรมนูญได้เขียนเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนว่าต้องการส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกร องค์กรของเกษตรกร วิถีชีวิตของเกษตรกรแล้ว กฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยตามนั้นก็ต้องปรับปรุงแก้ไข ขณะที่เกษตรกรเองก็มีเหตุที่จะโยงไปสู่การผลักดันให้แก้ไขปรับปรุงทุกอย่าง


 


เราก็มีความหวัง เพราะการผลักดันทุกอย่างเกษตรกรได้ลงแรงไปมาก แต่ความหวังนี้ ไม่ได้ฝากไว้กับรัฐบาล 100% เราฝากไว้กับภาคการเมือง 30-40% ส่วนที่เหลืออยู่ที่ตัวเกษตรกรและชุมชนเองว่าต้องสร้างพลังให้เข้มแข็ง จนกระทั่งเขาต้องหันมาสนับสนุนพวกเรา


 


ร่างรัฐธรรมนูญตอนนี้มีปัญหาหลายๆ เรื่องที่ไม่เป็นที่ยอมรับ รวมถึงที่มาของผู้ปกครองตอนนี้เช่นกันที่มีปัญหาความชอบธรรม จนหลายกลุ่มตั้งเป้าในการล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ข้อเสนอของเกษตรกรนี้จะสูญเปล่าไหม


สิ่งที่เป็นข้อเสนอเป็นสิ่งที่จะส่งผลต่อชีวิตเขาโดยตรง บางอย่างที่ไม่เข้าไปในรัฐธรรมนูญ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ต่ำลงมา อย่างนโยบายของรัฐบาล เช่น เรื่องการศึกษา องค์กรอิสระ หลายอย่างทำได้เลย โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญก็ได้ ข้อเสนอนี้จึงไม่สูญเปล่า


 


ประการที่สอง ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้เสนอให้อยู่ในรัฐธรรมนูญอย่างเดียว การสร้างข้อเสนอเป็นกระบวนการให้การศึกษาคนในสังคม ถือเป็นโอกาสที่ทำให้คนเข้าใจปัญหาของเกษตรกรว่าทำไมถึงตกต่ำ ทั้งๆ ที่ภาคธุรกิจการเกษตรรวยเอาๆ และเกษตรกรรายย่อยก็จมลงๆ แล้วยังใช้โอกาสนี้หาเพื่อน เชื่อมโยงกับภาคอื่นๆ ไปด้วย


 


ขณะนี้เราก็สร้างสถาบันการเรียนรู้เรื่องเกษตรกรรมของเราแล้ว เราต้องเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ในระดับโครงสร้างเราอาจทำได้ไม่มาก เราก็จะทำในภาคปฏิบัติการ สู้ในทุกระดับ บางพื้นที่เราก็บี้นโยบาย อบต.ให้ออกมาในเรื่องการลด ละ เลิกใช้สารเคมีการเกษตร


 


การปฏิรูปในช่วงรัฐบาลชั่วคราว ดูมีความหวังกว่าการรอรัฐบาลจากการเลือกตั้ง


ประชาชนขณะนี้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ความฝันของภาคประชาชนเป็นจริง เพราะมันถูกกระทำมานาน เป็นหนี้เป็นสิน ถูกกีดกันเรื่องทรัพยากร ข้อมูลข่าวสาร ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ มาโดยตลอด ลองไปดูประเด็นร้องเรียนที่กรรมการสิทธิฯ เป็นพันๆ เรื่องเต็มไปหมด ฉะนั้น ถ้าอยู่เฉยๆ มันก็จะถูกกดทับไปมากกว่านี้ ทั้งก่อนและหลังรัฐธรรมนูญต้องพยายามผลัก ต้องทำทุกวิถีทางที่จะพ้นจากความไม่เป็นธรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม กระบวนการของเกษตรกรเป็นกระบวนการสันติวิธี


 


ตอนนี้มีเค้าลางว่าร่างรัฐธรรมนูญจะมีปัญหาเรื่องโครงสร้างทางการเมือง ภาคเกษตรคิดยังไง


เหตุผลที่เป็นอย่างนั้น เพราะโจทย์หลักตอนนี้ของรัฐธรรมนูญคือเรื่องการคอร์รัปชั่น แต่ความจริงมันแก้ปัญหานั้นอีกแบบก็ได้ การทำให้กลไกภาคประชาชนสามารถตรวจสอบได้ก็แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การผูกขาดต่างๆ ได้เหมือนกัน ถ้าประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีอำนาจจริง แม้ไม่แก้รัฐธรรมนูญอะไรเลยเรื่องโครงสร้างข้างบน นักการเมืองก็ไม่สามารถโกงได้


 


ระหว่างรัฐบาลนายทุน กับรัฐบาลเผด็จการทหาร เกษตรกรอยู่กับรัฐบาลแบบไหนยากลำบากกว่ากัน


มันยากหนักทั้งคู่ การปิดปาก ปิดหู ปิดตา แม้ปิดทีละอย่างไม่เหมือนกัน แต่ถามว่าอันไหนมันแย่กว่ากัน มันแย่ทั้งหมด ไม่ว่าอำนาจอาวุธ หรือเงิน ล้วนแล้วแต่ทำให้ประชาชนทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์เพราะเป็นหนี้ ทุกข์เพราะเครียด ไม่สามารถระบายออก ไม่สามารถพัฒนาได้


 


ขณะนี้ไม่มีแนวนโยบายเรื่องที่ดิน ซึ่งเป็นพื้นฐานการทำมาหากินของเกษตรกรเลย เรื่องกลไกทางเศรษฐกิจขณะนี้หนักมาก ถ้าคุยกับพ่อค้าแม่ค้าวันนี้จะรู้ แล้วมันก็ไล่กันเป็นลูกโซ่ ปลูกอะไรมาขายไม่ออก


 


ตอนนี้ภาคเกษตรชูปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจทุนนิยม เสรีนิยมใหม่มันเป็นเนื้อเป็นหนังของสังคมไปแล้ว แล้วคำตอบของเกษตรกรคืออะไร หากสภาพความจริงเป็นเช่นนี้


เสรีนิยมใหม่ เราต้องแยกให้ออกว่าอะไรที่เป็นเสรี อะไรที่ผูกขาด เราต้องปรับให้มันเสรีจริงๆ Free and Fair จริงๆ เราไม่ได้ปฏิเสธแนวทางนี้ ระบบเศรษฐกิจพอเพียงมันก็เป็นระบบเสรี รวมไปถึงมีอิสระในการคิด การกระทำด้วยแต่ไม่เบียดบังคนอื่น เป็นเสรีที่เอื้ออาทร ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน แต่ระบบเสรีที่ผูกขาด ตัดตอนแบบนี้ใช้ไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนเป็นเสรีที่ประชาชนทุกประเทศเป็นเพื่อนบ้านกัน ไม่ใช่มุ่งมาดูดทรัพยากรของคนอื่นแบบปัจจุบันนี้

เอกสารประกอบ

"ร่างพ.ร.บ.สถาบันพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน พ.ศ. ..."

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net