Skip to main content
sharethis

บนสถานการณ์ที่ดำเนินไปอย่างร้อนแรงใน 3 จังหวัด ภาคใต้ ถึงวันนี้คงต้องหันกลับมาทบทวนแนวทางการจัดการปัญหากันใหม่ และคงต้องยอมรับความจริงที่ชัดเจนขึ้นกันเสียทีว่า "ขบวนการแบ่งแยกดินแดน" มีจริง อีกทั้งกระบวนการเหล่านี้ดูจะลงมือประสบผลในการแย่งชิงมวลชนมากขึ้นทุกทีๆ แม้วิธีการจะเต็มไปด้วยความโหดร้ายและสร้างความหวาดกลัวก็ตาม ทว่ารัฐบาลและสังคมไทยเองกลับยังดำเนินนโยบายที่ซ้ำซากและไม่ยอมลดเงื่อนไข ความรุนแรงลงไปเลย

"ประชา ไท" เห็นว่าแนวโน้มของสถานการณ์ที่กำลังดำเนินไปแบบนี้ไม่สู้จะมีผลดีนัก ไม่ว่าจะฝ่ายใด อีกทั้งทิศทางก็ดูเหมือนจะบานปลาย ไม่ว่าความกลัวที่ขยายตัว การเห็นชอบกับมาตรการการแก้ปัญหาแบบเด็ดขาดด้วยความรุนแรงของผู้คนในสังคม การติดอาวุธเพื่อการป้องกันตัวเองเพราะรัฐไม่สามารถคุ้มครองได้ และการมีการเมืองภายใต้ระบอบทหาร

ความ เป็นไปแบบนี้เอง ทำให้เริ่มมีเสียงเล็กๆ สอดแทรกมาแสดงอาการเป็นห่วงว่า ต่อไปคนที่เคยจิบกาแฟด้วยกันในตอนเช้า วันหนึ่งอาจจะระแวงกันจนหันมาจับอาวุธฆ่ากันเหมือนที่เคยเกิดขึ้นใน "โคโซโว" และอาจขยายความโกรธแค้นกันไปถึงขั้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัน

 

อย่าเพิ่งขำว่าวิตกไปกว่าเหตุ หากสังคมไทยยังเห็นว่า "รัฐประหาร" ไม่ใช่ความรุนแรง!

 

ด้วย ความหวังว่า สถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดี "ประชาไท" จึงจัดเวทีสนทนาปิด เพื่อเปิดทางให้เสียงที่อยู่ภายใต้ความหวาดกลัวจากสถานการณ์ได้พูด "ความจริง" ที่หายไปอย่างตรงไปตรงมาสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัด ภาคใต้ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของแต่ละคนที่มีทั้งสื่อมวลชนผู้ทำงานกับ พื้นที่ นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และผู้ใช้ชีวิตอยู่กับความเสี่ยงตลอดเวลาใน 3 จังหวัด ภาคใต้ เพื่อให้ประสบการณ์เหล่านั้นกลับมาช่วยทบทวนสิ่งที่เป็นไปนี้อีกครั้ง เพราะการทำความเข้าใจกับอดีตและสถานการณ์ปัจจุบันจะแสงส่องทางในความมืดที่ ทำให้พอมองเห็นทิศทางไปสู่ทางออก

 

0 0 0

 

สถานการณ์โดยรวม

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี สื่อมวลชนจากสำนักข่าว เดอะ เนชั่น มองว่า ในรอบ 3 ปีของความรุนแรง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้เกิดชุดปฏิบัติการแก้ปัญหา 2 ชุดคือภายใต้การบริหารของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ พล.อ.สุร ยุทธ์ จุลานนท์ แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่ได้ต่างอะไรกัน ทั้งนี้ชุดปฏิบัติการชุดหลังกลับเผชิญความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ขึ้นมากกว่า ซึ่งถ้ารุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบนี้เป็นเรื่องชวนสงสัย

สุภ ลักษณ์ กล่าวว่า แม้คำขอโทษจะได้รับเสียงปรบมือ แต่หลังจากนั้นก็ไม่นำไปสู่อะไรเลย ไม่นำไปสู่โครงสร้างสมานฉันท์ แม้ฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวังชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มาใหม่ ก็ไม่ได้ แก้ปัญหาไปถึงราก รังแต่เป็นการเพิ่มหน่วยงานมาอีกหน่วยให้เปลืองงบประมาณขึ้นเท่านั้น

ขณะ เดียวกันในการปฏิบัติแก้ปัญหาของรัฐล้วนอยู่ในมือของกองทัพที่ตอนนี้มีอิสระ มาก แต่กลับไม่มีการสมานฉันท์ที่เป็นเรื่องเป็นราว ตอนนี้จำนวนทหารในพื้นที่มีมากกว่า 30,000 นาย มากกว่าผู้ก่อการแน่นอน แต่ก็ยังบอกว่าไม่พอ ขณะเดียวกันในสายงานการรับผิดชอบ กลับมีลักษณะมั่ว ตอนนี้ยังไม่รู้ว่า ใครจะต้องตอบคำถามหรือเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ระหว่าง พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แม่ทัพภาคที่ 4 นายอารีย์ วงศ์อารยะ หรือนายพระนาย สุวรรณรัตน์

ส่วน ด้านกลุ่มผู้ปฏิบัติการณ์ก่อการร้าย ได้ใส่ความโหดร้ายในการก่อเหตุได้มากกว่าเก่า เวลานี้การฆ่าแล้วตัดคอกลายเป็นเรื่องพื้นๆ มีการจ่อยิงทีละคนที่คนธรรมดาคงไม่สามารถทำได้ คงต้องเป็นคนที่ผ่านการฝึกมาอย่างดีแล้ว

ด้าน สุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาประจำประเทศไทย ฮิวแมนไรท์วอช์ แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมา ไม่ว่าฝ่ายสิทธิมนุษยชนหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่ยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการแบ่งแยกดินแดน ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่อยากยอมรับว่า มีคนกลุ่มหนึ่งไม่อยากอยู่ภายใต้รัฐไทยจนถึงขั้นที่อยากจะแยกตัวออกไป ส่วนฝ่าย สิทธิมนุษยชนมองว่า เป็นเรื่องของสิทธิในการแสวงหาอัตลักษณ์ แต่สิ่งที่เจอเวลานี้ ต้องยอมรับว่าเป็นความขัดแย้งเต็มรูปแบบที่เกิดขึ้นจากความพยายามแบ่งแยกดิน แดนโดยใช้ความรุนแรง

ส่วน"สัญลักษณ์" ที่ดูเหมือนว่าผู้ก่อการกำลังพยายามสื่อคือ การแสดงให้เห็นว่า คนพุทธ และคนมุสลิมอยู่ร่วมแผ่นดินกันไม่ได้ โดยมีการกระทำรุนแรงโหดเหี้ยมกับคนพุทธที่อยู่ในพื้นที่ แม้คนนั้นจะเป็นคนที่ชาวบ้านมุสลิมทั่วไปรัก และรู้จักคุ้นเคยกันมานานก็ตาม แผนที่ภูมิศาสตร์ที่เก็บข้อมูลเบื้องต้นในรอบหนึ่งปีครึ่งชี้แนวโน้มว่า พื้นที่ปฏิบัติการลักษณะนี้มีแนวโน้มพุ่งไปที่พื้นที่คนพุทธและคนมุสลิมเคย อยู่ร่วมกันได้ด้วยดีมาก่อน ส่วนในอีกทางหนึ่งก็มีการเพิ่มแรงกดดันไปที่คนมุสลิมมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า การต่อสู้แบ่งแยกดินแดนนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคน

สำหรับ มุมมองที่ชาวบ้านมุสลิมที่มีต่อกลุ่มติดอาวุธ สุณัยระบุว่า ชาวบ้านใช้คำว่า "พวกเขา" แทนกลุ่มติดอาวุธ สะท้อนว่า ชาวบ้านมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ได้ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ เพียงแต่ในอดีต เวลาถูกเจ้าหน้าที่รัฐรังแก "พวกเขา" คือผู้คุ้มครองและเอาคืนให้ แต่ภายหลังมา "พวกเขา" กลายสภาพมาเป็น "ผู้ควบคุม" ตอนนี้ชาวบ้านมุสลิมก็เริ่มไม่สบายใจ เพราะมักมีการเทียวไปเทียวมาในหมู่บ้านเพื่อหาคนเข้าขบวนการ ซึ่งบางครั้งมีลักษณะของการบีบบังคับกันด้วย ซึ่งชาวบ้านมุสลิมไม่มีทางเลือก อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะรัฐไม่สามารถคุ้มครองได้ และยังไม่สามารถใช้อำนาจรัฐไปในทางที่ทำให้เห็นได้ว่า เป็นการใช้อำนาจที่เป็นธรรมเพื่อปกป้องคุ้มครองชาวบ้านมุสลิมเท่าเทียมกัน กับชาวบ้านพุทธ ดังนั้น ชาวบ้านมุสลิมจึงต้องยอมจำนนต่ออำนาจที่ใกล้ที่สุด และสามารถให้คุณให้โทษกับตัวเองได้ทันที คือ กลุ่มติดอาวุธ

ด้าน สถานการณ์ที่มีต่อคนพุทธในพื้นที่จะเห็นความหวาดระแวงต่อคนมุสลิมชัดเจนมาก ขึ้น เริ่มติดอาวุธตัวเองมากขึ้น และยินดีเข้าไปเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ครูก็ซื้อปืนมากขึ้น บางพื้นที่มีการกำหนดเคอร์ฟิวเอง เช่น ขอร้องไม่ให้คนมุสลิมขับมอเตอร์ไซค์มาในหมู่บ้านหลังเวลา 18.00 น. เพราะ เคยมีเหตุการณ์กราดยิงในบางหมู่บ้าน นอกจากนี้ชาวพุทธบางส่วนจะอพยพไปเมื่อมีการบุกมาฆ่าและเผาในหมู่บ้าน ซึ่งจากนั้นทหารจะเข้ามารักษาการในหมู่บ้านแทน ในทางกลับกัน คนมุสลิมที่เคยคบหาใกล้ชิดกับคนพุทธมาก่อนก็เริ่มไม่กล้าที่จะทำอย่างนั้น ต่อไป เพราะอาจพลอยเดือดร้อนไปจากการถูกกลุ่มติดอาวุธเล่นงานก็ได้

สำหรับผู้อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ที่วงสนทนา เสนอมุมมองว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลอาจไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะคิดว่า ถึงสงบไปก็ไม่ได้งบประมาณมากเท่าตอนนี้ นอกจากนี้ยังมองอีกว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มาจากการที่มีผู้ใช้ความรุนแรงมาฆ่าให้ดูก่อนโดยผ่านการจ้างวานจาก "มืออาชีพ" ในระยะเริ่มแรกของปัญหา การเริ่มฆ่านั้นมาชัดเจนขึ้นในการปล้นปืนวันที่ 4 มกราคม 2547 และตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าใครกระทำ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่คนในพื้นที่อย่างแน่นอน

ผู้แสดงความเห็นอีกท่านหนึ่งเป็นนักวิชาการจาก 3 จังหวัด ภาคใต้ เปิดประเด็นด้วยการตั้งคำถามว่า มีผู้ทำให้เกิดแตกแยกในระดับประชาชนที่ไม่ทราบว่าเป็นภาครัฐเองหรือไม่ มีเรื่องที่น่าสนใจทางวิชาการหากมองจากการแตกสายเครือญาติจากประวัติศาสตร์ ของพื้นที่

จากประวัติศาสตร์ 3 จังหวัด เดิมเป็นพื้นที่คนมลายูที่นับถือฮินดูมาก่อน ต่อมาจึงเปลี่ยนนับถือศาสนาพุทธ จากนั้นเมื่อรับศาสนาอิสลามเข้ามา จึงมีทั้งส่วนที่รับอิสลามและส่วนที่เป็นมลายูพุทธ ซึ่งปัจจุบันไม่รู้ว่ากลุ่มนี้หายไปไหน มีแต่การใช้คำว่าไทยพุทธไปทั้งหมด และปัจจุบันกำลังเป็นคู่ระแวงกับมลายูมุสลิมไปด้วย ทั้งที่มีความเป็นเครือญาติกันมาก่อนของเชื้อสายมลายูที่มีทั้งฝั่งพุทธหรือ มุสลิม

 

สภาพปัญหา

ใน ส่วนนี้ สุภลักษณ์ ระบุว่า สภาพปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของปัญหาภาคใต้ คือการไม่ตกผลึกทางความคิด ขณะนี้คนทั้งสังคมยังไม่พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาภาคใต้อย่างตรงไปตรงมา อารมณ์ของคนอยากให้กองทัพจัดการขั้นเด็ดขาด บางคนอาจอนุญาตให้ใช้วิธีฆ่าหรืออุ้มไปเลยก็ได้ ความจริงแล้วคิดว่า รัฐคงอยากทำเช่นกัน เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ประสาทางการข่าว คือมีข่าวกรองที่ด้อยคุณภาพ เช่น ทำได้เพียงไปดักฟังการสนทนาตามร้านน้ำชาเพื่อฟังภาษาที่ไม่ค่อยเข้าใจมา รายงาน การเปิดปฏิทินดูเอาว่า เป็นวันครบรอบวันชาติหรือวันสถาปนากระบวนการอะไรในพื้นที่บ้าง แล้วมาประกาศเตือน ซึ่งข่าวกรองแบบนี้ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอะไร

นอกจาก นี้ การจัดการกับปัญหาของรัฐก็ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง คือยังใช้วิธีการเดิมๆ มาจัดการกับปัญหาสถานการณ์ใหม่ในปัจจุบันที่ไม่เหมือนกันเลยกับในอดีต ภาครัฐยังมองปัญหาติดอยู่ที่กลุ่มเดิมๆ อย่างพูโล หรือบีอาร์เอ็น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันกับกลุ่มปัจจุบัน อีกทั้งกลุ่มก่อการรุ่นใหม่ก็ไม่ฟังกลุ่มเหล่านี้แล้ว เพียงแต่อาจมีแรงบันดาลใจมาจากกลุ่มเหล่านี้และกลุ่มในตะวันออกกลางเป็นแรง ผลักดันที่เหมาะสม

ส่วน สุณัย มองว่า ทั้งรัฐไทย และขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีส่วนรับผิดชอบต่อการที่ความรุนแรงขยายตัวมากขึ้น ทั้งคู่ การ "ขอโทษ" โดยบอกว่า รัฐบาลก่อนทำผิด คนรับผิดก็ควรต้องถูกลงโทษ แต่ในทางปฏิบัติกลับบอกว่า หากลงโทษจะทำให้ขวัญกำลังใจของคนทำงานเสีย มองแบบนี้มากกว่าจะมองไปที่หลักความยุติธรรมที่บอกว่าเป็นปัญหาหลัก รัฐควรต้องตอบโจทย์ตรงนี้

เมื่อตั้ง ศอ.บต. ขึ้นใหม่ก็กลับเอาไปซุกไว้ภายใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ทำให้ เป็นเรื่องยากที่จะเห็นการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง ชาวบ้านมุสลิมจึงเริ่มมองว่า หลังการเปลี่ยงแปงการปกครอง รัฐก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง

ทาง กลุ่มแยกดินแดนใช้ประโยชน์จากการที่รัฐไม่เปลี่ยนวิธีคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมเช่นนี้ไปปลุกกระแส จนทำให้เกิดความรู้สึกในพื้นที่ว่า รัฐเป็นผู้รังแกมากกว่าเป็นผู้คุ้มครอง และให้ความเป็นธรรมกับชาวมุสลิม เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนั้นยังเอาปัญหาความอยุติธรรมจากกระกระทำของรัฐ มาใช้อ้างเป็นเหตุผลในการก่อความรุนแรงเหี้ยมโหดมากขึ้นทุกๆ วัน โดยไม่ฟังเสียงเรียกร้องให้ยุติการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ หรือมีการตอบรับต่อข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีใดๆ

ส่วนผู้มาร่วมสนทนาจากพื้นที่ 3 จังหวัด กล่าวถึงปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ รัฐพยายามแช่แข็งคนใน 3 จังหวัด เอาไว้ไม่ให้พัฒนาโดยเฉพาะด้านการศึกษา เพราะคิดว่าหากคนมลายูศึกษาน้อยจะปกครองง่าย แต่ปัญหาที่ตามมาคือ รัฐต้องมาเสียเงินอัดฉีดงบประมาณเพื่อระดมคนทำงานมาจากที่อื่น ซึ่งถ้ามีบัณฑิตอยู่ในพื้นที่เองก็จะเลี่ยงปัญหาแบบนี้ได้ อีกทั้งเขาจะไม่กลัวตายเนื่องจากเป็นบ้านเกิดของเขา ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสทางสังคม

ผู้ร่วมสนทนาอีกท่านหนึ่ง ได้กล่าวถึง ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่ง 3 จังหวัด ภาคใต้มีทรัพยากรมาก แต่ชาวบ้านมีกระบวนการเรียนรู้และจัดการคนละแบบกับรัฐ และเกี่ยวข้องกับวิธีคิดของมุสลิมด้วย แต่การคิดแบบนี้กลับถูกมองว่า ยากจนและเป็นปัญหาและพยายามเข้ามาจัดการเอง ซึ่งก็เป็นการกดดันในอีกมิติหนึ่ง

 

กรณีปัญหาตัวอย่าง

จาก เวทีเสวนาครั้งนี้ หลายคนได้เล่าถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากฝ่ายรัฐเอง แต่แม้เกิดขึ้นเพียงกรณีเดียวก็สามารถกลายเป็นเงื่อนไขความรุนแรงที่ทำลาย แนวทางสมานฉันท์ได้ ขอเก็บกรณีตัวอย่างที่ผ่านมาแล้วบางกรณีมานำเสนอสู่การรับรู้ในวงสาธาณะ เพื่อผลักดันสู่การแก้ไขในเชิงปฏิบัติให้นำไปสู่ความสมานฉันท์ตามเจตารมณ์ ที่พยายามจะทำให้ปรากฏเป็นจริง

การทรมานผู้ต้องหา : เกิดกับผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีปล้นปืน 4 มกราคม 2547 รายหนึ่ง ซึ่งถูกควบคุมตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2549 โดยมีหลักฐานว่า ถูกตีด้วยขวดเบียร์ เอาบุหรี่จี้ และล่ามไว้กับหมา

การข่มขู่ทำร้ายร่างกาย : หลังกรณีปล้นปืน 4 มกราคม 2547 มี กรณีอดีตผู้ประสานงานระหว่างรัฐบาลกับขบวนการโจรก่อการร้ายในอดีต แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องในปัจจุบัน ถูกนำไปสอบถาม ทรมานร่างกาย ขู่บังคับสอบถามด้วยความเชื่อว่า "มึงต้องรู้" แม้ไม่เสียชีวิต แต่ปัจจุบันโยกย้ายออกจากพื้นที่แล้ว

 

ทางออก

หลัง การเสวนาหลายคนมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ค่อนข้างสิ้นหวัง เนื่องจากทางออกนั้นเกี่ยวข้องกับความจริงใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาลโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาไม่มี ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ตาม และพยายามมุ่งไปสู่สภาพการใช้ความรุนแรงโต้ตอบความรุนแรงเสียมากกว่า

ดัง นั้น สุภลักษณ์ มองว่า ทิศทางตอนจบ อาจจะเป็นในรูปแบบที่ต้องฆ่ากันไปจนเหนื่อย หากประมาณจากลักษณะระลอกความรุนแรงที่ดำรงอยู่ในภาคใต้นั้นอาจจะอยู่ในช่วง ยาวนาน 20 ปี เป็นระลอกหนึ่ง อาจต้องเสียชีวิตกันถึง 20,000 คน แล้วจึงสงบในลักษณะสะสมเพื่อเป็นความรุนแรงระลอกใหม่ 20 ปีต่อไป

ทั้งนี้ มีการจัดตั้ง ชุดอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (อรบ.) ที่คัดเฉพาะชาวไทยพุทธสะสมเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีกว่า 30 กองร้อย หรืออำเภอละ 1 กองร้อย ซึ่ง อรบ.แต่ละ คนจะคิดเสมอว่าวันข้างหน้าจะต้องได้รบแน่ ลักษณะนี้เป็นโหมดของสงครามที่ไม่ค่อยใช้สติปัญญา แต่อยู่ในมายาภาพที่นำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น เพราะคนที่มีอาวุธในมือก็จะมีแนวโน้มจะใช้อาวุธไม่ค่อยใช้สมอง วิธีคิดนี้เป็นแบบเดียวกับรัฐบาลก่อน

อย่างไรก็ตาม สุภลักษณ์มีข้อเสนอว่า ต้องกลับสิ่งที่กำลังเกิดในตอนนี้ให้หมด โดยถอนกำลังออกเป็นอันดับแรก แล้วปรับวิธีคิดให้คนใน 3 จังหวัดเองเป็นผู้แก้ รวมทั้งปรับโฉมโครงสร้างการปกครองใหม่โดยคิดให้ไปไกลถึงขั้นทำให้ 3 จังหวัด เป็นเขตปกครองพิเศษ ซึ่งในรัฐธรรมนูญใหม่ทำไมจะระบุไม่ได้ว่า ให้ไทยเป็นรัฐเดี่ยวที่มีการปกครองได้หลายแบบ ทั้งนี้ ข้อเสนอแบบนี้สังคมส่วนใหญ่ไม่ชอบ โดยเฉพาะสังคมที่ทหารเป็นใหญ่

สำหรับข้อเสนอนี้ในวงสนทนาประชาไท มีหลายคนเห็นด้วย รวมถึงการพูดเสริมในประเด็นการให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะใน 3 จังหวัดภาคใต้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนมุสลิม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นมุสลิม แต่เรื่องนี้กลับเป็นที่กังวลของคนส่วนใหญ่ แม้จะมีการพูดถึงในเวทีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็กลายเป็นประเด็นที่ตกไป อย่างรวดเร็ว ด้วยความเกรงว่าต่อไปผู้ว่าราชการจังหวัดใน 3 จังหวัดจะเป็นคนมุสลิมตลอดไป

ส่วน สุณัยมองว่าแทบจะไม่มีหวังที่จะแก้ปัญหา เพราะทางด้านหนึ่งของความขัดแย้ง คือ รัฐยังไม่มีความจริงใจ ทั้งๆ ที่รัฐมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการรักษาความยุติธรรม และปกป้องคุ้มครองประชาชนทุกหมู่เหล่าโดยเท่าเทียมกัน ถ้ารัฐเข้าใจเรื่องนี้ และเริ่มลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็คงจะมีโอกาสบรรเทาความร้ายแรงของปัญหาได้บ้าง แต่ทางฝั่งผู้ก่อการนั้น เมื่อจะทวงถามถึงความยุติธรรมก็กลับใช้ความรุนแรงแบบไม่เลือกหน้า ผู้ก่อการก็ไม่ยินดียินร้ายที่จะเคารพกติกาสงคราม และหลักการศาสนา ซึ่งห้ามไม่ให้ทำร้ายผู้บริสุทธิ์

ส่วน ข้อเสนออื่นๆ มีการพูดถึงการปัดฝุ่นข้อเสนอคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติมา ใช้ แม้ข้อเสนอนี้จะไม่ก้าวหนาถึงที่สุด แต่ก็นับว่าก้าวหน้าในการมองการแก้ปัญหากว่าแนวทางอื่นๆ ที่เคยใช้

ข้อเสนออีกประการคือควรให้สิทธิการเป็นข้าราชการแก่คนใน 3 จังหวัดให้ชัด รวมทั้งหนุนให้คนในพื้นที่มาแก้ปัญหาให้ได้

 

0 0 0

 

หมายเหตุ : รายงานนี้เป็นการถอดความบางส่วนจากวงเสวนาประชาไท วันที่ 23 มีนาคม 2550 ส่วนรายละเอียดทั้งหมดจะนำเสนออีกครั้งในเวลาอันใกล้นี้....โปรดติดตามต่อเนื่อง

 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net