Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


โดย  ภฤศ ปฐมทัศน์


 


กล่าวกันว่า Bob Dylan เป็นเหมือนเสียงแห่งยุคสมัย ใครหลายคนรู้จักเขาในฐานะนักดนตรี/นักแต่งเพลงประท้วง (Protest Song) ชื่อดัง โดยมีเพลงที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง "Blowin" in the wind" หรือ "The Time they"re a Changin"" ชายผู้เป็นหัวหอกของวงการเพลง Folk-Rock อเมริกันผู้นี้เดินทางผ่านยุคสมัย 60"s มาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ยังไม่หยุดสร้างงานเพลง แม้เขาจะอายุได้ 65 แล้วก็ตาม


           


การเดินทางผ่านกาลเวลายาวนาน กับประสบการณ์ชีวิตมากมาย ทำให้อัลบั้ม Modern Times สตูดิโออัลบั้มที่ 32 ของเขานั้น เต็มไปด้วยวัตถุดิบเก่า ๆ และการพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ไปพร้อม ๆ กัน ดนตรีของอัลบั้มนี้ชวนให้นึกถึง Bob Dylan ในยุคแรก ๆ อยู่ไม่น้อย ทั้งยังยืมวัตถุดิบจากงาน Folk และ Blue เก่า ๆ อย่างของ Muddy Waters, Bing Crosby และ Woody Guthrie ขณะเดียวกันก็มีอะไรหลายอย่างหล่นหายไปรายทาง ซึ่งได้รับการทดแทนด้วยวัตถุดิบใหม่ ๆ น่าเสียดายก็แต่ว่า มันอาจไม่ต้องใจหนุ่มสาวยุคปัจจุบันทั่วไป ผู้อยู่ใน Post-modern Times นัก


           


จาก Love and Theft (2001) อัลบั้มที่แล้ว Dylan เหมือนได้กรุยทางไปจนสุดทางดนตรี Rock ในแบบของเขา เสียงร้องที่ดิบและแห้งหยาบ ก็นุ่มนวลขึ้นใน Modern Times ในส่วนของดนตรีที่แม้จะแน่นขึ้นเมื่อเทียบกับ Love and Theft แต่ก็ดูปรุงแต่งมากขึ้นกว่าเดิมในขณะเดียวกัน


           


การตั้งชื่อว่า Modern Times นั้น มีส่วนทำให้นึกถึงภาพยนตร์ชื่อเดียวกันของ Charlie Chaplin ได้ไม่ยากนัก ซึ่งจริง ๆ แล้วเนื้อหาของอัลบั้มนี้เป็นเหมือนเรื่องเล่าที่ต่อเนื่องมาจากอัลบั้ม Time out of Mind (1997) และ Love and Theft แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเอาเสียเลย เพราะอย่างน้อย สิ่งที่อัลบั้มนี้พูดถึงก็ราวกับนิทานชีวิตแห่งยุคสมัยของอุตสาหกรรมเครื่องจักร ที่บอกเล่าโดยกวีพเนจรถือกีต้าร์ ผู้ผ่านชีวิตช่วงยุคศตวรรษที่ 20 มาอย่างโชกโชน


           


อัลบั้มนี้ Bob Dylan ไม่ได้สวมอาภรณ์ของ Protest singer หรือนักร้องเพลงประท้วงเช่นในช่วง ปี 60"s อีกต่อไป ซึ่งถ้าให้บอกจริง ๆ เขาไม่แคร์ที่จะสวมมันมานานแล้ว มันเป็นแค่ภาพลักษณ์และความคาดหมายที่ผู้คนสถาปนาให้เขาเพียงเท่านั้น อย่าลืมว่าแต่ไรมา Bob Dylan เป็นศิลปินที่ไม่กลัวแม้จะถูกหาว่าเป็น "คนทรยศ" เพียงเพราะเปลี่ยนจากกีต้าร์โปร่งเป็นกีต้าร์ไฟฟ้าในคอนเสิร์ต เขาไม่อยากเป็นอะไรที่ผู้คนสถาปนาให้เป็นทั้งนั้น เว้นแค่นักกวีใส่คอร์ดผู้เล่าในอะไรที่อยากเล่า ผ่านการมองโลกในแบบของตัวเอง และด้วยท่าทีเฉพาะตัวเพียงเท่านั้น


           


ถึงแม้จะไม่ใช่เพลงประท้วง แต่ทั้ง 10 เพลงของลุงบ็อบ ก็ไม่ใช่แค่เพลงเนื้อหาตื้นเขินโดยทั่วไป ขณะที่ Theme ของเนื้อหาเพลงกล่าวถึง ชีวิต , ความรัก ,ความใคร่ ,การเดินทาง ฯลฯ ก็มีปรัชญาเรียบง่ายแฝงอยู่ในถ้อยคำ กรุ่นด้วยประสบการณ์ยาวนานและหลากหลาย ทั้งยังสอดแทรกมิติทางสังคมรองรับเป็นฉากหลัง ซึ่งแน่นอนว่า มันเป็นภาพสังคมยุค Modern ที่ผ่านมาเสียส่วนใหญ่


 


เปิด Track แรกด้วยดนตรีโชยกลิ่นบลูส์จังหวะปลุกใจอย่าง Thunder on the Mountain ที่มีเนื้อหาดิบและท้าทาย ทั้งยังแอบพูดถึงนักร้องเพลง R&B อย่าง Alicia Keys ไว้ให้ตีความเล่น ๆ


 


หลังจากภูเขาฟ้าผ่าถล่มทลาย ก็หันมาพูดถึง สายน้ำด้วยท่วงทำนองเพลงช้ารื่นหู ในแบบป็อบเรียบง่าย ของเพลง Spirit on the Water ที่แม้แต่เสียงร้องของ Dylan ก็นุ่มนวลลงอย่างเห็นได้ชัด เนื้อเพลงชวนให้หวนหาคิดถึงคนรัก หรือคนเคยรักได้ไม่ยาก


 


อัลบั้มนี้เข้าใจเอาเพลงช้าเร็วมาสลับกัน เพราะต่อจากเพลงช้า ก็มาเป็นเพลงจังหวะชวนโยก อย่าง Rollin" and Tumblin" ที่แอบหยิบเอาองค์ประกอบต่าง ๆ รวมถึงชื่อมาจากเพลง Blues เก่า ๆ "Roll and Tumble Blues" ซึ่งได้ถูกนำมาเล่นใหม่หลายครั้ง โดย Dylan ได้ยืม  Riff และทำนองมาจาก version ของ Muddy Waters นอกจากเพลงนี้แล้ว เพลงที่ได้รางวัล Grammy Awards ในฐานะ Best Solo Rock Vocal Performance อย่างเพลง Someday Baby ก็ได้ยืมรูปแบบมาจากเพลง "Trouble no More" ของ Muddy Waters เช่นกัน ถึงแม้ว่า Dylan จะยืมอะไรหลายอย่างเหลือเกินมาใช้กับเพลงในอัลบั้มนี้ แต่ เขาก็นำมาปรับใช้ในแบบที่เป็นของตัวเองได้อย่างดี


           


ตามด้วยเพลงช้าอีกเพลงที่ให้ความรู้สึกซาบซึ้งระคนเศร้า อย่าง When the Deal Goes Down เพลงนี้มีทำนองที่ชวนให้นึกถึง "When the Blue of the Night Meets the Gold of the Day" ของ Bing Crosby อยู่เหมือนกัน โดยในส่วนของจังหวะนั้น ก็ได้รับอิทธิพลจาก Swing เก่า ๆ ตัวเนื้อหาเหมือนบทกวี ที่พูดถึงความทุกข์ในชีวิตอย่างเข้าอกเข้าใจ เสียงร้องของ Dylan ในเพลงนี้ก็ทั้งอบอุ่น ขณะเดียวกันก็บาดลึกเข้าไปถึงข้างใน


 


Each invisible prayer is like a cloud in the air
Tomorrow keeps turning around
We live and we die, we know not why
But I'll be with you when the deal goes down


 


ส่วนเพลงที่ผมชอบมากที่สุดในอัลบั้มนี้ คือเพลง Ballad จังหวะกลาง ๆ อย่าง Workingman"s Blues #2 เนื้อหาของเพลงนี้พูดถึงปัญหาเดิม ๆ ที่ไม่เคยแก้สำเร็จเสียที ไม่ว่าจะในยุค Modern Times หรือ Post-Modern times นั่นคือปัญหาการถูกกดขี่ของชนชั้นแรงงาน


 


They say low wages are a reality
If we want to compete abroad


 


ไม่ว่าจะปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ หรือปัญหาความไม่เท่าเทียม (รวมถึงความเท่าแบบเทียม ๆ) อื่น ๆ เพราะคนบางกลุ่มยังคงตักตวงทุกสิ่งทุกอย่างไปจากคนด้วยกัน โดยไม่ได้เข้าในความเหนื่อยยากของกันเลย


 


Got a brand new suit and a brand new wife
I can live on rice and beans
Some people never worked a day in their life
Don't know what work even means


 


ถึงเนื้อหาเพลงนี้แม้จะเศร้า แต่ดนตรีและเสียงร้องก็ขับเน้นอารมณ์เศร้าได้แบบไม่ฟูมฟายจนเกินไป


 


ดูเหมือนนิทานแห่งยุคสมัย Modern Times นี้จะกอปรด้วยความรู้สึกหม่นเศร้าโดยมาก แต่กระนั้นก็ไม่ได้สิ้นหวังไปเสียหมด อัลบั้มนี้ยังคงมีเพลงที่ฟังดูมีความหวังอย่าง Beyond the Horizon ทั้งยังเจืออารมณ์ขันร้าย ไว้ในเพลงที่มีดนตรีเหงา ๆ อย่าง Nettie Moore ที่นำชื่อมาจากเพลงอเมริกันเก่า ๆ เพลงหนึ่ง


 


The world of research has gone berserk
Too much paperwork
Albert's in the grave-yard, Frankie's raising hell
I'm beginning to believe what the scriptures tell


 


อารมณ์ขันร้าย ๆ แบบนี้เด่นชัดขึ้นมาอีกใน "The Levee"s Gonna Break" ซึ่งอิงเพลง "When the Levee break" ของ Kansas Joe McCoy และ Memphis Minnie (แต่ฉบับที่จะเป็นที่รู้จักกันดีคือของ Led Zeppelin) ซึ่งพูดถึงเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ของมิสซิซิปปี้ ในปี 1929 สำหรับ "The Levee"s Gonna Break" ในอัลบั้มนี้ จะเป็นเพลงเร็วจังหวะสนุก ๆ ชวนให้นึกภาพคนกำลังลนลานเก็บของหนีน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี แถมมีบางคนบอกว่าเพลงนี้พูดถึงเหตุการณ์ พายุแคทรีน่าอีกด้วย


 


มาจนถึงเพลงปิดยาวกว่า 8 นาทีอย่าง Ain"t Talking ซึ่งมาพร้อมกับเนื้อหาท่าทีชวนให้นึกถึงคำพูดจากการ์ตูน 20th century boys การ์ตูนที่ได้รับอิทธิพลโดยมากจาก Bob Dylan และร็อคยุค 60"s ที่บอกว่า "เราทำอะไรกับความสิ้นหวังไม่ได้หรอก ได้แต่เดินออกมา" ตัวเนื้อเพลงเต็มไปด้วยความรู้สึกอัดอั้นหลากหลาย ทั้งการถูกหักหลัง คิดถึงคนรัก ความอยุติธรรม ไปจนถึงความอยากทำลายสิ่งต่าง ๆ ความรู้สึกที่คุโชนของเนื้อหาถูกห่อคลุมเก็บอาการมิดชิดด้วยดนตรีที่มีสำเนียงเปลี่ยวเหงา ชวนให้นึกถึงนักเดินทางรอนแรมกลางแสงไฟยามค่ำ ที่จะเพียงแค่ "เดินต่อไป และไม่พูดอะไร"


 


Ain't talkin', just walkin'
Through this weary world of woe
Heart burnin', still yearnin'
No one on earth would ever know


 


เรื่องที่เล่าด้วยภาษากวีงดงามของ Modern Times เต็มไปด้วยความรู้สึกหลากหลาย ทั้งความโกรธ การประชดประชัน อารมณ์อ่อนไหว ความรัก ความฝัน การถูกกดขี่ และความรู้สึกต่าง ๆ อีกมากมายโดยมีฉากหลังคือยุคสมัยที่พ้นผ่าน ดนตรี Folk-Rock , Folk-Blue ของชายเสียงแหบแห้งผู้นี้ แม้จะฟังดูเก่าเก็บ แต่ก็มีบ้างบางส่วนที่พยายามปรับให้เข้ากับยุคสมัย


 


อัลบั้มนี้จึงเป็นอัลบั้มที่อยากให้ทุกคนได้ลองฟัง ไม่ว่าจะเป็นคนยุค Modern , Post-Modern หรือ Post ของ Post-Modern อีกทีก็ตาม


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net