"Bong hits 4 Jesus" เสรีภาพบนแผ่นผ้า "พี้…เพื่อพระเยซู"

รัฐธรรมนูญอเมริกันปกป้องสิทธิในการพูดอย่างเสรี (Freedom of speech) ของประชาชนทุกคน แม้แต่คนที่ไม่มีอะไรจะพูดก็ตาม

เมื่อ 5 ปีก่อน ในช่วงของการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมือง Salt Lake city ในมลรัฐ Utah ขณะที่มีการวิ่งถือคบเพลิงผ่านเมือง Juneau ในมลรัฐ Alaska นั้น นาย Joseph Frederick นักเรียนมัธยมอายุ 18 ปี ได้ชูป้ายผ้ายาว 14 ฟุต มีข้อความว่า "Bong hits 4 Jesus" หรือ "พี้ เพื่อพระเยซู" หลายคนเข้าใจว่า "Bong" เป็นสแลงหมายถึงบ้องกัญชา (Associate Press, 15 มีนาคม 2006) และ "Bong hits" ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับการสูบกัญชา

เขากำลังต่อต้านความเชื่อของผู้นับถือศาสนาคริสต์? หรือว่าเขากำลังส่งเสริมการสูบกัญชา?

เปล่าเลย Frederick บอกว่า ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง เขาลอกเลียนสโลแกนนี้มาจากข้อความที่เห็นบนกระดานเล่นหิมะ และเขาไม่ได้คิดว่า มันจะมีความหมายเฉพาะเจาะจงไปในเรื่องใด เขาคิดเพียงว่า มันน่าจะเป็นข้อความที่ขบขันและล่อแหลม และอาจจะทำให้เขาได้ออกโทรทัศน์...ก็เท่านั้น

Deborah Morse ครูฝ่ายปกครองของโรงเรียนแห่งนั้น ไม่ขำด้วย เธอเห็นว่า ข้อความนี้ เป็นความตั้งใจสั่นคลอนนโยบายต่อต้านยาเสพติดของโรงเรียน และก่อให้เกิดความไร้กฎระเบียบ

ในช่วงที่คบเพลิงโอลิมปิกฤดูหนาวผ่านรัฐ Alaska โรงเรียนหยุดการเรียนการสอน และอนุญาตให้นักเรียน เข้าร่วมต้อนรับการวิ่งถือคบเพลิงโอลิมปิค ในวันนั้น นักเรียนหลายคนปั้นลูกหิมะขว้างกันเล่น บ้างก็ขว้างขวดน้ำพลาสติกมาจากริมถนน

ในตอนนั้น เมื่อครู Morse เห็นป้ายผ้าของ Frederick เธอจึงเดินตรงเข้าไปบอกให้ Frederick เอาป้ายผ้านั้นลงเสีย แต่ Frederick ไม่ยอมทำตาม ครู Morse จึงสั่งลงโทษพักการเรียนเป็นเวลา 5 วัน

นับเป็นการกวนโทสะมากยิ่งขึ้น เมื่อ Frederick ยกคำพูดของ Thomas Jefferson (ผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา) ขึ้นมาโต้เถียง ผลก็คือ ครู Morse สั่งลงโทษพักการเรียนเป็นสองเท่า Frederick จึงฟ้องศาล!

ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คดีเข้าสู่กระบวนการของศาล จนในที่สุด คดีเข้าสู่การไต่สวนของศาลสูง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา (มีนักเรียนมัธยมจากโรงเรียนต่างๆ เดินทางมาถือป้ายสนับสนุนเสรีภาพในการพูดอยู่ที่หน้าศาลสูงของสหรัฐ)

ประเด็นใจกลางของกรณีนี้คือ การต่อสู้กันระหว่างหลักการของเสรีภาพในการพูดตามรัฐธรรมนูญ กับการบังคับใช้กฎระเบียบของโรงเรียน

ในปี 1969 ช่วงของสงครามเวียดนาม นักเรียนมัธยมในโรงเรียนแห่งหนึ่ง สวมปลอกแขนสีดำเพื่อต่อต้านสงครามเวียดนาม ทว่าโรงเรียนไม่อนุญาตให้นักเรียนเหล่านั้นเข้าชั้นเรียน ในที่สุดศาลสูงได้ชี้ว่า โรงเรียนไม่มีสิทธิห้ามนักเรียนที่สวมปลอกแขนสีดำเข้าชั้นเรียน

ผู้พิพากษาศาลสูง ระบุว่า นักเรียนไม่ได้ "ทิ้งสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของตนเอง เมื่อเข้าประตูโรงเรียน..." และนักเรียนก็มีเสรีภาพที่จะพูด ตามที่พวกเขาปรารถนา ตราบใดที่การพูดของเขาไม่กระทบระเบียบวินัยของโรงเรียนอย่างชัดเจน

ในขณะเดียวกัน คำพิพากษาในบางคดี ก็มิได้คุ้มครองเสรีภาพในการพูดของนักเรียนในทุกเรื่อง เช่น คดี Bethel V. Fraser ในปี 1986 ศาลชี้ว่า โรงเรียนมีสิทธิลงโทษนักเรียนที่แสดงวาจาสามหาว อันเป็นการส่อเสียดทางเพศ

กรณีของ Frederick เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับองค์กรสิทธิพลเมืองสหรัฐอเมริกา (American Civil Liberties Union) ในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ หนึ่ง การกระทำของ Frederick เกิดขึ้นนอกอาณาเขตของโรงเรียน ครูจึงไม่มีสิทธิหรืออำนาจเหนือการกระทำของเขา

สอง ข้อความในป้ายผ้าของเขา ไม่มีเจตนาต่อต้านระเบียบวินัยของโรงเรียน

และ สาม Frederick กล่าวว่า เขาได้แสดงออกซึ่งเสรีภาพในการพูดตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นสิทธิพลเมือง ซึ่งเขาเรียนมาจากโรงเรียน แต่โรงเรียนเองกลับไม่ซื่อสัตย์ต่อสิ่งนั้น

Kenenth Starr (อดีตทนายความคดี Monica Lewinsky ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการของโรงเรียนโต้แย้งว่า ในวันนั้นเป็นวันเรียนตามปกติ หากแต่โรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนเข้ากิจกรรมโอลิมปิก จึงถือว่า Frederick ยังอยู่ในวันเรียนตามปกติ ซึ่งครูมีสิทธิสั่งให้นักเรียนปฏิบัติตาม และที่สำคัญ โรงเรียนมีนโยบายต่อต้านยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่

นอกจากนี้ ป้ายผ้าของ Frederick "กำลังทำลายภารกิจรากฐานของโรงเรียน ซึ่งก็คือการให้การศึกษา" โรงเรียนจึงมีสิทธิเซ็นเซอร์ข้อความใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อภารกิจนั้น

ข้อโต้แย้งของทั้งสองฝ่าย อาจทำให้ศาลสูงตัดสินไปในทางใดทางหนึ่งได้ยาก หากผู้พิพากษายอมรับเหตุผลของ Kenenth Starr ก็เท่ากับว่า เป็นการขยายขอบเขตให้โรงเรียนจำกัดเสรีภาพในการพูดของนักเรียน

และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ กลุ่มคริสเตียนอนุรักษ์นิยม (ที่ปกติมักจะยืนอยู่ข้างเดียวกับโรงเรียน) หันมายืนอยู่ข้างเดียวกับ Frederick เนื่องจากกลุ่มคริสเตียนอนุรักษ์นิยมเกรงว่า บางโรงเรียน (ที่มีจุดยืนทางการเมืองที่ถูกต้อง) อาจลงโทษนักเรียนที่ยึดคัมภีร์ไบเบิล และแสดงออกซึ่งความเชื่อของตนไปตามนั้น เช่น การแสดงวาจาส่อเสียดต่อผู้รักเพศเดียวกัน เป็นต้น

John Robert ผู้พิพากษาหัวหน้าองค์คณะศาลสูงให้ความเห็นว่า คดีนี้ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพในการพูดเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับค่าเสียหายที่เป็นตัวเงินด้วย เนื่องจาก Frederick ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดยตรงกับครู Morse

John Robert วิตกว่า หากครูตกอยู่ในภาวะของความกลัว ครูก็จะไม่กล้าออกคำสั่งให้นักเรียนหยุดพูด และการควบคุมนักเรียนให้อยู่ในระเบียบก็จะกลายเป็นเรื่องยาก

หลายฝ่ายทำนายว่า ศาลสูงจะตัดสินคดีนี้ โดยยืนยันในหลักเสรีภาพในการพูดตามรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกันก็จะจำกัดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับครู Morse

อนึ่ง หลังจาก Frederick จบมัธยม เขาเคยถูกตำรวจจับเรื่องกัญชาในมหาวิทยาลัย และในปัจจุบัน เขาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในประเทศจีน อันเป็นประเทศที่นักเรียนผู้รักเสรีภาพในการพูด ไม่ได้ถูกปฏิบัติอย่างละมุนละม่อมเหมือนกับในสหรัฐอเมริกา

 

………………………………………………………
แปลจาก Of banners and bongs The Economist, 22 มีนาคม 2007
เพิ่มเติมข้อมูลจาก Justices hear " Bong Hits 4 Jesus" Associated Press 19 มีนาคม 2007 และ Court to Hear " Bong Hits 4 Jesus " Case " Associated Press 15 มีนาคม 2006

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท