"สนธิ" สั่งการใช้ "ปฐพี 149" รับมือการชุมนุมสนามหลวง

หน่วยงานด้านความมั่นคง เปิดเผยว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้สั่งการให้ทหารเตรียมความพร้อมอยู่ในกรม กองของตนเอง และสามารถเคลื่อนย้ายกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ได้ภายใน 30 นาที หากมีคำสั่งให้มีการเคลื่อนกำลังตามแผนปฐพี 149 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม 100 % ในการรองรับสถานการณ์หากการชุมนุมของกลุ่มม็อบที่บริเวณท้องสนามหลวงมีเหตุการณ์บานปลาย

 

นอกจากนี้ เมื่อเวลา 15.00 น. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ประธาน คมช. พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม เลขาธิการ คมช. นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธาน สสร. นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ได้เข้าพบและหารือกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลถึงการตัดสินใจประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่พล.อ.สนธิ ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยให้เหตุผลถึงความมั่นคงของประเทศ

 

พล.อ.สุรยุทธ์ แถลงภายหลังการประชุมว่าได้หารือเรื่องเตรียมการให้มีการเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยรัฐบาลต้องเตรียมการประชาสัมพันธ์ งบประมาณเลือกตั้ง งบประมาณในการทำประชามติและได้ข้อยุติในเรื่องนี้ว่าจะทำประชามติในเดือนกันยายน 2550 สำหรับการจัดการเลือกตั้งได้พูดคุยถึงวันที่ว่าเป็นวันที่ 16 ธ.ค. หรือวันที่ 23 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ โดยทั้งหมดพิจารณาถึงความเหมาะสม ความพร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ การเตรียมการเลือกตั้ง การร่างกฎหมายลูกที่จำเป็น

 

พล.อ.สุรยุทธ์ ระบุว่ายังไม่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นและเข้าองค์ประกอบตามกฎหมาย ก็มอบอำนาจให้ตนในฐานะนายกฯ สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์อยู่ในสภาวะฉุกเฉิน ก็จะดำเนินการ แต่ช่วงนี้เราจะทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพื่อไม่ให้สถานการณ์ไปถึงจุดนั้น จะพยายามรักษาสถานการณ์การเมือง ไม่ให้ไปถึงจุดที่เกิดการเผชิญหน้า เกิดการปะทะกันของคนไทย

 

ปิดสนามหลวง

พล.ต.ท.อดิศร นนทรีย์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พร้อมด้วย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่รับผิดชอบงานกิจการพิเศษ งานสืบสวนป้องกันปราบปราม และ ผบก.น.1-9 ผบก. ตปพ. ประชุมร่วมกับหน่วยงานทหาร และ กทม. โดยมี พล.ต.ชาย คำวงษา รองแม่ทัพภาค 1 พล.ต.ดาว์พงษ์ รัตนสุบรรณ ผบ.พล.1 รอ. นายวัลลภ สุวรรณดี รอง ผู้ว่าฯ กทม. นายธีระชัย เธียรสรรชัย ผอ.สำนักเทศกิจ นายเริงศักดิ์ โหราเรือง ผอ.สำนักงานเขตพระนคร และคณะทำงาน เพื่อทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยและดูแลความสงบเรียบร้อยกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านคณะมนตรีความมั่นคง (คมช.) และขับไล่รัฐบาล ซึ่งนัดหมายเคลื่อนไหวแสดงพลังวันที่ 30 มีนาคม บริเวณท้องสนามหลวง

 

พล.ต.ท.อดิศร กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า มีข้อสรุปที่ตรงกันว่าไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมไม่ว่ากลุ่มใดใช้เครื่องขยายเสียงและจัดตั้งเวทีปราศรัยภายในบริเวณท้องสนามหลวงโดยเด็ดขาด พร้อมกำหนดให้ท้องสนามหลวงเป็นพื้นที่ปิดมีกำหนดเวลาชัดเจนยามวิกาล ซึ่งจะติดป้ายประกาศอย่างชัดเจนอีกครั้ง มีผลตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคมถึงวันที่ 5 เมษายน หากพบว่าผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายทันทีโดยพนักงานสอบสวนจะพิจารณาความผิดตั้งแต่สถานเบาจนถึงขั้นสถานหนัก

 

ผบช.น. กล่าวอีกว่า หากจะมีการชุมนุมโดยสงบก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ห้ามตั้งเวทีปราศรัยและเปิดใช้เครื่องขยายเสียงโดยเด็ดขาด โดยเจ้าหน้าที่จะตั้งจุดตรวจค้นบุคคลผ่านเข้าออกอย่างละเอียดทั้งรอบนอกรอบในตลอด 24 ชั่วโมง

 

ส่วนการประเมินสถานการณ์ด้านการข่าวนั้น คาดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางมาจากหลายกลุ่มเป็นจำนวนมาก และเพื่อความไม่ประมาท บช.น.ได้เตรียมกำลังตำรวจเพื่อดูแลควบคุมสถานการณ์ไว้พร้อมแล้ว โดยมีกำลังร่วมทหาร และเจ้าหน้าที่เทศกิจ รับมืออย่างเต็มที่ โดยที่ประชุมกำชับการปฏิบัติให้เน้นการป้องกันมากกว่าปราบปราม หลีกเลี่ยงการปะทะ การใช้ความรุนแรง แม้จะมีการยั่วยุจากผู้ชุมนุมก็ตาม ผู้ปฏิบัติต้องอดทนจนถึงที่สุด

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมายังบริเวณพื้นที่จัดงานกาชาดเพื่อแสดงพลังกดดันรัฐบาลนั้น พล.ต.ท.อดิศร กล่าวว่า ตำรวจนครบาลมีมาตรการดำเนินการอยู่แล้ว และเชื่อว่าไม่น่ามีความรุนแรงเกิดขึ้น คาดว่าแกนนำคงเข้าใจดีและไม่เดินขบวนมาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายแน่นอน อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ประมาทมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนลงพื้นที่หาข่าวความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องพร้อมกำลังตำรวจปราบจราจล ณ ที่ตั้ง

 

"อนุพงษ์" ลั่นถ้าคุมไม่อยู่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และผู้ช่วยเลขาธิการ คมช. กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มม็อบพีทีวีในวันที่ 30 มีนาคมว่า เรื่องการชุมนุมไม่ถือว่ามีความเป็นห่วง แต่ไม่อยากให้ส่งผลกระทบต่อการร่างรัฐธรรมนูญและเศรษฐกิจ การชุมนุมเรามองว่าเมื่อมีการชุมนุมอาจจะเกิดมือที่สามหรือใครก็แล้วแต่ที่จะนำสังคมไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรง ซึ่งไม่อยากให้มันเป็นเช่นนั้น

 

 "หากไม่สามารถควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมได้ เราก็จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพียงข้อเดียว คือ ข้อห้ามการชุมนุม โดยจะให้ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้น้อยที่สุด และจะยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้น" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวและว่า คิดว่าไม่น่าจะมีการต่อต้านการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะจากกระแสข่าวที่ได้รับมาประชาชนต้องการความสงบสุขเรียบร้อย ไม่น่ากังวลในเรื่องนี้

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่จะพิจารณาประกาศ พ.ร.ก.เพราะ คมช. มีภาพที่ผู้บริหารพีทีวีได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่กรุงปักกิ่งใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เราทราบมาตั้งนานแล้ว ส่วนที่สาธารณะสงสัยกันว่าจะมีการเชื่อมโยงหรือไม่ ขอให้ตัดสินใจกันเอาเอง

 

คมช.แยก 3 กลุ่มชุมนุม

หน่วยงานด้านการข่าวได้สรุปความเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มในช่วงนี้ให้ คมช.ว่า มีอยู่ 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือกลุ่มรัฐมนตรี ได้แก่ กลุ่มผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม พีทีวี ได้แก่ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจักรภพ เพ็ญแข นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร หรหมพันธุ์ ชมรมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ นำโดย นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ ศูนย์กลางประชาชนแห่งชาติ นำโดย นายชูพงษ์ ถี่ถ้วน ชมรมแท็กซี่แห่งประเทศไทย วิทยุชุมชนเอ็มเอฟ 92.75 นำโดย นายชินวัฒน์ หาบุญพาด องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนพิทักษ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ นำโดย ผศ.เสถียร วิพรมหา และ ผศ.ดร.เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ และกลุ่มเครือข่ายพลังประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย นายสุรพงษ์ โตวิจักรชัยกุล

 

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีนัยทางการเมือง ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจเก่า ได้แก่ กลุ่มพิราบขาว 2006 นำโดย นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล นายภาณุวัฒน์ งามสุจริต และนายวิภูมิแถลง พัฒนภูมิไทย กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ นำโดย นายวราวุธ ฐานังกรณ์ หรือ นายสุชาติ นาคบางไทร นายสุดชาย บุญไชย และ นายนพพร นามเชียงใต้ กลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 35/49 นำโดย นางดารณี ชาญเชิงศิลปกุล

 

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มอุดมการณ์ประชาธิปไตย ได้แก่ กลุ่มเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร นำโดย นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง นายอุเชนร์ เชียงเสน น.ส.ชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์ นายอดิศร เกิดมงคล และนายศราวุฒิ ประทุมราช กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ (THAI SAY NO) นำโดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ สมาพันธ์ประชาธิปไตย นำโดย น.พ.เหวง โตจิราการ น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์ และนางประทีป อึ้งทรงธรรม (ฮาตะ) กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน นำโดย นายใจ อึ๊งภากรณ์ กลุ่มกรรมการปฏิรูป นำโดย นายสุนทร บุญยอด และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม บก.นิตยสารฟ้าเดียวกัน นำโดย นายธนาพล อิ๋วสกุล

 

พีทีวีย้ายไปชุมนุมลานคนเมือง

นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานกรรมการพีทีวี กล่าวว่า กรณี บช.น. มทภ.1 และ กทม. มีมติว่าจะปิดสนามหลวงไปจนถึงวันที่ 5 เมษายน เท่ากับประกาศไม่ให้กลุ่มพีทีวีเปิดเวทีปราศรัยชุมนุมที่สนามหลวง ก็ไม่เป็นไร กลุ่มพีทีวีจึงขอเปลี่ยนแปลงสถานที่การชุมนุมเป็นที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม. ตั้งแต่เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป

 

นายจตุพร พรหมพันธุ์ รองประธานกรรมการฯ กล่าวว่า ยอมรับกรณีสื่อมวลชนนำภาพที่ตนและนายจักรภพ เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ประเทศจีน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์นั้น แต่ไปกราบลาขอลาออกจากพรรคไทยรักไทย เพื่อมาทำสถานีโทรทัศน์พีทีวี ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ยังอวยพรให้พวกเรา และการเดินทางครั้งนั้น ก็ไม่ได้ขอเงินเพื่อทำโทรทัศน์พีทีวี

 

อย่างไรก็ดี การนำภาพออกมาเปิดเผยเวลานี้ เป็นการดิสเครดิตการชุมนุม หาก คมช.เพียงหวังเอาประเด็นนี้มาโยงใยว่าไปรับท่อน้ำเลี้ยงเพื่อประกาศ พ.ร.ก.นั้นก็ไม่คุ้ม จะทำให้ประเทศชาติเสียหาย ทำให้คนมอง คมช.และรัฐบาล ว่าเป็นพวกหยุมหยิมใจแคบ

 

นายจักรภพ เพ็ญแข ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์พีทีวี กล่าวว่า คนที่นำภาพตนและนายจตุพร ไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ มาเผยแพร่เป็นนายทหารยศ พล.อ.ต. ก่อนหน้านี้ก็เจอหน้าและได้ทักทายกันว่า หากอยากได้ภาพที่ชัดๆ ก็มาถ่ายได้เลย ไม่ต้องไปแอบถ่าย จึงอยากให้ คมช.พิสูจน์ว่า ภาพดังกล่าวมีผลกระทบอะไรต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นการชุมนุมของพีทีวี ในวันที่ 30 มีนาคม ทราบข่าวว่า คมช.และรัฐบาล จะใช้วิธีการรุนแรง โดยส่งทหารปลอมตัวเข้ามาปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุม ยั่วยุให้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อจะได้ปราบปรามพวกเรา

 

"อภิสิทธิ์" เตือนใช้ ก.ม.ฉุกเฉินยิ่งบานปลาย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการนำ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาใช้ในการควบคุมการชุมนุมว่า อยากให้รัฐบาลและ คมช.มีความระมัดระวัง เพราะหากจะตรากฎหมายหรือใช้กฎหมายในลักษณะนี้ อาจจะทำให้ชาวโลกตื่นตระหนกและจะเป็นผลเสียต่อประเทศทั้งเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องอื่น ขณะที่ผู้ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของตัวเองก็ควรคิดถึงบ้านเมืองด้วยว่า จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมาหรือไม่

 

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการควบคุมการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ว่า รัฐบาลไม่ควรนำ พ.ร.ก.ดังกล่าวมาใช้ เพราะการใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ นั้น ต้องอธิบายกับประชาชนหรือต่างประเทศให้ดี เนื่องจากเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร ควรนำกฎหมายปกติมาใช้จะเหมาะสมกว่า ทั้งนี้กฎหมายในการควบคุมม็อบนั้นมีหลายระดับ

         

12องค์กร ยื้อยื่น "อภิรักษ์" ขอใช้สนามหลวง

น.พ.เหวง โตจิราการ แกนนำเครือข่ายต่อต้านการทำรัฐประหารจาก 12 องค์กร พร้อมตัวแทนกว่า 30 คน เดินทางมายื่นหนังสือจดหมายเปิดผนึก ถึงนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. เรื่องขอให้สนามหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อระบอบประชาธิปไตย พร้อมกับนำดินจากสนามหลวง มามอบให้รำลึกถึงเลือดเนื้อของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผ่านนายนิพนธ์ บุญญภัทโร ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. และนายรัฐพล มีธนาถาวร รองปลัด กทม.

 

น.พ.เหวง กล่าวว่า ขณะนี้มีการรวมตัวกัน 12 องค์กร เพื่อแสดงออกทางเจตนารมณ์ทางระบอบประชาธิปไตย และเห็นว่าท้องสนามหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่มีประวัติศาสตร์ในการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยมาตั้งแต่สมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม จึงต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม.เข้าใจ และสนับสนุนการแสดงออกดังกล่าว โดยทางกลุ่มจะขอใช้พื้นที่สนามหลวง ชุมนุมยืดเยื้อระหว่างวันที่ 5-11 เมษายน ตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น. เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน

 

น.พ.เหวง กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ คมช.เตรียมเสนอให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พิจารณาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อสกัดสารพัดม็อบว่า ขอกล่าวหา พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช. ที่ได้สร้างเงื่อนไขกดดันให้นายกฯ ลาออก และมีความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจในการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว รวมทั้ง พล.อ.สนธิ ยังได้สร้างเงื่อนไข จนทำให้ขณะนี้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าจะมีปฏิวัติซ้อน

 

จึงขอเตือนให้เลิกประกาศ พ.ร.ก. เพราะการจะออกได้จะต้องอยู่ในสถานการณ์สงคราม ปัญหาความมั่นคง หรือความปลอดภัยสงบเรียบร้อยเท่านั้น แต่พื้นที่ใน กทม.ยังไม่เกิดขึ้นเลย และการที่มีคนมาชุมนุมกันแค่ 1-2 พันคน ถึงกับจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยหรืออย่างไร

 

กก.สิทธิฯ ค้านใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิฯ เรื่อง "ข้อท้วงติงกรณีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร" โดยนายเสน่ห์ จามริก ได้อ่านแถลงการณ์มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 คณะกรรมการสิทธิฯ เคยมีหนังสือเสนอแนะต่อ ครม.ถึง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ว่าเป็นการขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ในระบอบประชาธิปไตยและหลักการนิติธรรมหลักการตรวจสอบโดยใช้อำนาจตุลาการตลอดจนจะเป็นการกระตุ้นสถานการณ์ให้ขยายวงรุนแรงขึ้นไปอีก

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ในขณะนี้คณะกรรมการสิทธิฯ ก็มีความเข้าใจว่า รัฐบาลที่จัดตั้งโดย คมช. ต้องเผชิญการต่อต้านและการชุมนุมที่มีทั้งการเรียกร้องโดยบริสุทธิ์ใจและด้วยเจตนายั่วยุให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งๆ ขึ้น แต่เหตุการณ์ดังกล่าวคณะกรรมการสิทธิฯ เกรงว่าจะกลายเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลรู้สึกจำเป็นต้องขยายพื้นที่การบังคับใช้ใน กทม.

 

หากนำมาใช้คณะกรรมการสิทธิฯ มองเห็นชัดเจนว่า มาตรการดังกล่าวรังแต่จะผลักไสเปิดช่องทางให้พฤติการณ์ยั่วยุท้าทายรัฐบาลหนักมือขึ้นและขยายวงออกไปอีก ยังผลให้การดำเนินงานของรัฐบาลต้องหยุดชะงักและเบี่ยงเบนออกไปจากภารกิจจำเป็นเฉพาะหน้า ที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน

นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิ กล่าวว่า วิธีจัดการกับเรื่องนี้คือ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่จะต้องใช้ความอดทน และใช้กฎหมายที่มีอยู่ในการจัดการ แต่ต้องแยกจัดการเฉพาะคนที่ก่อความวุ่นวายเท่านั้น จะจัดการทั้งหมดไม่ได้

 

เรียบเรียงจาก : กรุงเทพธุรกิจและคมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท