Skip to main content
sharethis

อรรคพล สาตุ้ม รายงาน


 







ในห้วงเวลาที่สังคมไทยกำลังตั้งคำถามกับหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็น "สันติภาพจะเกิดที่ภาคใต้ของประเทศไทยได้หรือไม่? ความรุนแรงที่ปรากฏนั้นเกิดขึ้นจากอะไร?" หรือการตั้งคำถามต่อ "สิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองในปัจจุบัน" ซึ่งการหาคำตอบนั้น วิจารณญาณจำเป็นอย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างรอบด้านเพื่อที่เราจะได้ทำความเข้าใจกับคำถามตั้งต้นดังกล่าวได้


 


โอกาสนี้ ผู้เรียบเรียงขอนำเสนอประเด็นที่นักปรัชญา 3 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.มารค ตามไท ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ, รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวไว้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2550 ณ คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานสัมมนาหัวข้อ "สันติภาพเป็นทางออกของสังคมไทยได้เพียงใด" จัดโดยภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


 


โดยการสัมมนาดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการทำวิทยานิพนธ์ของ น.ส.คัทลียา รัตนวงค์ ในหัวข้อ "แนวคิดสันติภาพของซัยยิด กูฎุบ" และ "การศึกษาแนวคิดเรื่องเมตตาในศาสนาพุทธและอัรเราะห์มะฮ์ในศาสนาอิสลาม" ของนางสาวเวลา กัลหโสภา นักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกว. ด้านสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ในประเด็นการข้ามวัฒนธรรม


 


จึงขอนำเสนอ "บทสนทนา" จากการสัมมนาดังกล่าวเพื่อเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งในการอธิบายถึงคำถามที่สังคมไทยกำลังหาคำตอบในขณะนี้


 


มารค ตามไท : พึงระวัง! สันติวิธีที่เป็น "เป้าหมาย" กับ "วิธีการ" นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต่างกัน


 


 









"บางครั้งเราลืมไปว่าสันติวิธีเป็น "วิธี" ดังนั้นสามารถเป็น "วิธี" ไปสู่ "ของไม่ดี" ก็ได้ คนที่มี "เป้าหมาย" ซึ่งไม่เหมาะสม ก็สามารถใช้สันติวิธีนำไปสู่ "เป้าหมาย" ตรงนั้นก็ได้ เราเห็นกรณีนี้ต้นปีที่แล้ว ที่บางคนรณรงค์เพื่อเป้าหมายทางด้านการเมือง ด้านอะไรบางอย่างที่หลายคนก็อาจจะคิดว่าเป้าหมายไม่เหมาะสม ก็สามารถรณรงค์ล้มของดีก็ได้โดยสันติวิธี ดังนั้นไม่ควรปนกัน ระหว่าง "วิธี" กับ "ความชอบธรรมของเป้าหมาย" ที่เอาไปใช้


 


รศ.ดร.มารค ตามไท ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางสันติจะเป็นทางออกได้อย่างไรนั้น สิ่งแรกต้องพิจารณาถึงความหมายใหญ่ 2 ประการ คือ ในเชิงวิธีการ (สันติวิธี) และเชิงเป้าหมาย (สันติภาพ-ความสงบสุข)


 


ด้านสันติในฐานะวิธีการพบว่ามีการตีความและถูกใช้อย่างแตกต่างกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนเหตุที่เกิดการแบ่งนั้น เพราะสันติวิธีเป็นคำฮิต เช่น บางทีรัฐก็ใช้ว่าเราจะใช้แนวทางวิธีการสันติวิธี ซึ่งบางคนงงมาก สันติวิธีกับรัฐก็ต้องแปลกมาก เพราะรัฐมันอิงกับอำนาจ มันไม่ค่อยชัดว่ากำลังพูดว่าอะไร? มันต้องแยกแยะ สันติวิธีในภาคประชาชนมันก็เป็นอีกแบบ ในภาษาไทยอาจจะเป็นคนละเรื่อง


 


ภาษาไทยทำให้สับสนมากเพราะรัฐก็ใช้คำว่าสันติวิธี พอการเคลื่อนไหวภาคประชาชนก็พูดถึงสันติวิธี ถ้าภาษาอื่นไม่ค่อยเป็นปัญหาเพราะมันคนละคำ สันติวิธีภาครัฐ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ รัฐใช้ Conflict Resolution ภาษาไทยคือใช้ "การจัดการปัญหาแบบสันติวิธี" ส่วนสันติวิธีภาคประชาชน การเคลื่อนไหวนั้นใช้คำในภาษาอังกฤษว่า Non-Violence Action หรือ "การเรียกร้องโดยสันติวิธี" ภาษาอังกฤษมันแยกกันแต่ภาษาไทยใช้คำเดียวกัน มันก็เลยใช้ปนกันกลับไปกลับมา


 


รศ.ดร.มารค ตามไท ยังเสนอภาพอีกด้านของ "สันติวิธี" ว่า "ผมว่าบางครั้งเราลืมไปว่าสันติวิธีเป็น "วิธี" ดังนั้นสามารถเป็น "วิธี" ไปสู่ "ของไม่ดี" ก็ได้ คนที่มีเป้าหมายซึ่งไม่เหมาะสม ก็สามารถใช้สันติวิธีนำไปสู่เป้าหมายตรงนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราหลวมตัวว่าคนใช้สันติวิธีแล้วเดินตามไปมันอาจจะไปสิ้นสุด ไปเพื่อทำอย่างอื่น"


 


"เราเห็นกรณีนี้ต้นปีที่แล้ว (ต้นปี 2549) ที่บางคนรณรงค์เพื่อเป้าหมายทางด้านการเมือง ด้านอะไรบางอย่างที่หลายคนก็อาจจะคิดว่าเป้าหมายไม่เหมาะสม ก็สามารถรณรงค์ล้มของดีก็ได้โดยสันติวิธี สมมุติมีของดีอยู่ในสังคม เกิดไม่ชอบแต่อยากได้ของที่บางคนคิดว่าไม่ค่อยดี เราก็ใช้วิธีที่สันติวิธีล้มก็ได้ เราก็ไปกดดัน ไปทำอะไรตามแบบสันติวิธี เพื่อล้มของที่ใช้ได้ ดังนั้นไม่ควรปนกัน ระหว่าง "วิธี" กับ "ความชอบธรรมของเป้าหมาย" ที่เอาไปใช้"


 


ผมสังเกตที่เถียงกันเมื่อต้นปีที่แล้ว ว่าเราควรกดดันหรือไม่ แค่ไหน แล้วมีการเถียงแนวทางต่างๆ ในการล้มรัฐบาลลง บางคนก็กดดันโดยสันติวิธี ผมก็นั่งในการประชุมซึ่งคนเถียงกันว่า เอ๊ะ...ถ้ากดดันโดยสันติวิธี ก็แปลว่าเราสนับสนุนสันติวิธีสิ ถึงแม้ว่าสันติวิธีในรูปแบบนั้นนำไปสู่สิ่งที่เราไม่ชอบ คนก็สับสน ไม่รู้ไปอยู่ข้างใครดี


 


ผมว่าอันนี้ถ้าเราชัดเจนและเราก็ต้องแยกแยะได้ จะเห็นว่าสันติวิธีมันเป็นวิธีที่ใช้กับอะไรก็ได้ ของที่แย่ที่สุด นโยบายที่แย่ที่สุดก็รณรงค์ด้วยสันติวิธีก็ได้ ตรงนี้ เป็นเรื่องของความเหมาะสมหรือเปล่า? สันติวิธีนำไปสู่สิ่งที่ดีเปล่าไม่ใช่คำถามที่ตอบได้ เพราะอาจนำไปสู่ของดีก็ได้ ของไม่ดีก็ได้ ปลายทางของสันติวิธีอาจผูกกับของดี มันเป็นแค่วิธีการ ตัววิธีอาจจะดี แต่สิ่งที่จะบรรลุมันจะเป็นอะไรก็ได้ทั้งหมด


 


ในคำถามที่ว่า เวลารัฐใช้สันติวิธี แล้วถามว่าจะได้ผลไหม รศ.ดร.มารค ตามไท กล่าวว่า


 


" "วิธี" โดยตัวมันเองไม่ศักดิ์สิทธิ์ ต้อง "วิธี" บวกกับ "ฐานความคิด" สมมติว่าผู้นำรัฐบาล หรือ คนในหน่วยงานรัฐ ทหาร หรือตำรวจบอกว่าเราจะใช้แนวทางสันติแก้ปัญหาบางอย่าง ก็จะมีอีกเสียงหนึ่งบอก ไม่ได้หรอก ไม่เหมาะสม แก้ไม่ได้ ปัญหามันร้ายแรงเกินไป ใช้สันติวิธีไม่เหมาะกับปัญหานี้ สุดท้ายก็ไปลองใช้ดู พอใช้ไม่ได้ผล ก็มีเสียงทันที่ว่า "เห็นไหม บอกแล้วไม่ให้ใช้" ซึ่งทุกครั้งที่เกิดปัญหาแบบนี้เราต้องถามว่า คนที่ใช้ ใช้ควบคู่กับความเข้าใจที่ถูกต้องหรือเปล่า เพราะถ้าใช้ควบคู่กับวิธีการที่ไม่ถูกต้อง วิธีการดีแค่ไหนก็ไม่ได้ผล"


 


รศ.ดร.มารค ได้ยกตัวอย่างกรณีที่นายกรัฐมนตรีลงไปขอโทษอย่างสันติต่อคนในภาคใต้ สำหรับความผิดพลาดของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้นก็เกิดความรุนแรงตามมานั้นจะอ้างว่าสันติวิธีใช้ไม่ได้ผลไม่ได้ เพราะคนในพื้นที่สะท้อนตรงกันว่าการนั่นเป็นขอโทษบนฐานเข้าใจที่ผิด เพราะต้องเป็นการขอโทษต่อแนวทางปฏิบัติงานของรัฐตั้งแต่ 60 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ขอโทษต่อแนวทางแค่รัฐบาลที่ผ่านมา ถ้าขอโทษไม่ถูกเรื่องสันติวิธีก็หมดความหมาย ไม่มีน้ำหนักอะไร ดังนั้นการจะใช้สันติวิธีให้ได้ต้องเข้าใจบริบทและไม่ควรคิดว่าจะเป็นวิธีที่ใช้แป๊บเดียวแล้วได้ผลอย่างรวดเร็ว


 


"ตรงนี้สำหรับสังคมไทย ผมว่าเป็นไปได้แต่ยากนิดหน่อย เพราะอยากได้ยาง่ายๆ อยู่เรื่อย ต้องไปฝึกนิดหน่อย เพราะไม่ค่อยดูบริบทรอบๆ"


 


รศ.ดร.มารค อธิบายต่อไปถึงสันติวิธีในภาคประชาชนว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนก็ใช้วิธีการสันติในการผลักดันเคลื่อนไหวรณรงค์ประเด็นต่างๆ มาโดยตลอด แต่ความสำเร็จนั้นกลับขึ้นอยู่กับความเข้าใจของภาครัฐ และสังคมว่าจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองและยอมให้ใช้ประโยชน์จากสันติวิธีนี้ได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันสังคมและรัฐยังไม่เปิดพื้นที่


 


เช่น เคยมีกรณีชาวเขามาชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดโกรธ เพราะเห็นว่าคนเหล่านี้มาเรียกร้องบนฐานว่าตัวเองมีสิทธิ แต่ผู้ว่าฯ บอกว่าอยากให้ด้วยความเมตตา ถ้ามาแล้วบอกว่าช่วยหน่อยเรื่องที่ดินทำกิน เรื่องสัญชาติ ผู้ว่าฯ จะบอกว่าผมจะพยายามครับ แต่นี่เขาไม่มาขอ เขามา Demand ว่าเป็นสิทธิของเขา ผู้ว่าฯ รับไม่ได้ เพราะ ผู้ว่าฯ ไม่มีบทบาทในการให้ ความดีของผู้ว่าฯ หายไป


 


กลุ่มสมัชชาคนจนมาชุมนุมก็ถูกกฎหมายทุกข้อที่สามารถหาได้มาดำเนินคดี เช่น ข้อหาทำให้รถติด เพื่อจะได้มาจับผู้ชุมนุม หรือกรณีคนในภาคใต้ที่ออกเรียกร้องอย่างสันติ แต่ก็มักถูกอุ้มหายไป การเรียกร้องสันติวิธีท่ามกลางสภานะที่รัฐเห็นว่าอันตรายอย่างสามจังหวัด รัฐจึงมองว่าการเรียกร้องสันติวิธีเช่นนั้นกำลังท้าทายอำนาจรัฐ เป็นต้น


 


ส่วนแนวทางสันติในฐานะเป้าหมายนั้น รศ.ดร.มารค กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่ที่ความพร้อม ว่าจะสร้างสันติภาพหรือไม่ เพราะมันมีต้นทุนเสมอ ภาครัฐอาจต้องยอมเสียสละ ยอมปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม หรืออำนาจอะไรบางอย่าง เพื่อให้สันติวิธีใช้ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายจุดไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่สำหรับสังคมไทยมักทำให้เป็นเรื่องน่ากลัว


 

ส่วนสันติภาพในฐานะเป้าหมายของปัจเจกชนนั้น ต้องย้อนมาพิจารณาด้วยเช่นกันว่า สันติภาพย่อมเกิดจากการเลือกทางศีลธรรม คือเกิดจากไตร่ตรองด้วยตนเอง ไม่ใช่ทำตามคนที่เราเคารพนับถือแล้วบอกให้เราทำหรือเห็นว่าศีลธรรมเป็นข้อห้ามหรือข้อละเว้นที่ถูกกำหนดโดยผู้อื่น "ศีลธรรมเป็นเรื่องการไตร่ตรองทดลองกับชีวิต อาจผิดหรือถูกก็ได้ เราไม่รู้ แต่อย่างน้อยเราต้องเลือกเอง" รศ.ดร.มารค ตามไท กล่าวปิดท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net