Skip to main content
sharethis


 


วันนี้ (30 มี.ค.) ที่โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด จ.เชียงใหม่  สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้จัดเวทีสัมมนาทางวิชาการเรื่อง สันติวิธีในสังคมพหุวัฒนธรรมมุมมองจากปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ระดมสถาบันอุดมศึกษาทั่วภาคเหนือ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อสร้างเครือข่ายสันติวิธีแบบสังคมพหุวัฒนธรรม


 


นางจิราพร บุนนาค รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานการสัมมนา กล่าวว่า ที่ผ่านมา สังคมไทยได้ละเลยปัญหาชายแดนภาคใต้ ไม่รับรู้ความจริงที่แตกต่างในแต่ละภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะภาครัฐกับภาคประชาชน จึงทำให้การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมานั้นดูเหมือนจะบิดเบือนไปจากความจริง ซึ่งภาครัฐก็พยายามแก้ไขปัญหา แต่ที่ผ่านมา ภาครัฐไม่ได้มองเห็นความต่าง จึงทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้น และดูเหมือนว่าในขณะนี้ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับประชาชน ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตอาจขยายไปยังภาคอื่นได้


 


"ดังนั้น การจัดสัมมนาในครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างหลากหลายเกี่ยวกับต้นเหตุของปัญหา วิธีการจัดการและแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี โดยให้ภาคราชการทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจและอื่น ๆ รวมทั้งจากภาคประชาสังคมอันได้แก่ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ และสื่อมวลชน โดยได้เริ่มขึ้นที่ภาคเหนือเป็นแห่งแรก เพื่อสร้างเครือข่ายสันติวิธีในสังคมพหุวัฒนธรรม ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข โดยใช้สถาบันอุดมศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อน"


 


รศ.ดร.มารค ตามไท ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า ในส่วนของ ม.พายัพ ก็ได้ทำใน 4 ภารกิจของมหาวิทยาลัย คือ ผลิตบัณฑิต ทำการศึกษาวิจัย บริการด้านสังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งภารกิจเรื่องการผลิตบัณฑิตนั้น ทาง ม.พายัพ ยังได้ส่งเสริมประเด็นเรื่องสันติวิธีเอาไว้ในหลักสูตรด้วย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น


 


"จะเห็นได้ว่าปัญหาชายแดนใต้ทุกวันนี้ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น ความปรารถนาดียังไม่พอ แต่ในส่วนสถาบันอุดมศึกษาจะต้องร่วมกันเสริมสร้างความรู้ในเรื่องสันติวิธีนี้ด้วย"


 


ผศ.ดร.สรรค์ วรอินทร์ ที่ปรึกษาด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวว่า ทาง สกอ.สนใจเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด และพบว่า นักศึกษาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) สงขลาและปัตตานี นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาซึ่งเป็นคนในพื้นที่ถึง 70 % ซึ่งทำให้ทุกคนล้วนคิดเหมือนกันหมด ดังนั้น จึงอยากให้ระบบสังคมพหุวัฒนธรรมฯ ได้เข้าไปเสริม เพื่อให้นักศึกษาได้เกิดความรู้สึกยอมรับความแตกต่างในวัฒนธรรมของผู้อื่น


 


"และที่ สกอ.มองไปถึงอนาคต ก็คือ อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า อาเซียนคงจะมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม และวัฒนธรรมมุสลิมอาจเป็นวัฒนธรรมหลักในอาเซียน ดังนั้น ถ้าเราไม่เริ่มต้นศึกษาแบบสังคมพหุวัฒนธรรมตอนนี้ ก็อาจเกิดปัญหาความขัดแย้งได้ ซึ่งที่ผ่านมา เราละเลยมองข้ามความแตกต่างทางชาติพันธุ์ เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรถึงจะช่วยกันลดปัญหานี้" ผศ.ดร.สรรค์ กล่าว


 


ด้านสุภาพรรณ์ ตั้งตรงไพโรจน์ ตัวแทนจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว จริงๆ แล้ว ทางสถาบันเอเชียศึกษา ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาชายแดนภาคใต้มานานแล้ว เพียงแต่ก่อนนั้น จะเน้นปัญหาการย้ายถิ่น แรงงาน และปัจจุบันได้มาเน้นปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเราได้ลงไปในพื้นที่ พบว่า ชาวบ้านเขาไม่ได้ปฏิเสธระบบการศึกษา ไม่ได้ปฏิเสธรัฐ แต่มีเงื่อนไขก็คือ ลงไปแล้วอย่าไปแทรกแซงเขา อย่าไปทำอะไรที่กระทบอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของเขา


 


"ซึ่งปัจจุบัน จะเห็นว่าเงื่อนไขมันเปลี่ยนไป เราต้องมาตั้งคำถามกันว่า ช่องทางสันติวิธีที่ให้ชาวบ้านไปใช้นั้นมีหรือยัง แต่มันก็ยังบดบังและมืดมนอยู่ เพราะฉะนั้น ทำอย่างไร รัฐจึงจะคลายความรุนแรงนั้นได้ ซึ่งหากจะทำการศึกษาแบบสังคมพหุวัฒนธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขอความร่วมมือในการทำวิจัยกับหลายๆ สถาบัน โดยลงไปศึกษาในพื้นที่" ตัวแทนสถาบันเอเชียศึกษา กล่าว


 


ในขณะที่ นายพิชัย รัตนพล ประธานกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี กล่าวว่า ในอดีต นโยบายรัฐมักเชื่อว่า ความมั่นคงคือการทำให้สังคมไทยนั้นเหมือนๆ กัน การทำให้เหมือนคือความมั่นคง การแตกแยกคือความไม่มั่นคง ใครทำความแตกต่างต้องจัดการตอบโต้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นบทเรียนที่สะท้อนออกมาให้เห็น


 


"กรณีปัญหาชายแดนภาคใต้ ต้องยอมรับว่าพื้นที่การเมือง สิทธิเสรีภาพได้ถูกจำกัด ถูกปิดกั้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งทาง สมช.ได้พยายามสร้างแนวคิดใหม่ คือเคารพในความแตกต่าง เพราะฉะนั้นทำอย่างไรเราถึงจะมองความแตกต่าง โดยไม่ถูกมองว่าไปทางลบ"ประธานกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี กล่าวทิ้งท้าย.


 










ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ชี้สาเหตุรุนแรงใต้ เหยื่อรายแรกคือ "ความจริง"


 



(ที่มาของภาพ : สถาบันข่าวอิศรา)


 


"ถึงแม้เรายังไม่ใช่ศึกสงคราม แต่ก็ถือว่าในสังคมไทยในขณะนี้เราอยู่ในความขัดแย้งถึงตาย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ ซึ่งสภาพปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น มันเกิดขึ้นอย่างน้อย 5 ข้อ..."


 


วานนี้ (30 มี.ค. 50) ระหว่างเวทีสัมมนาเรื่อง สันติวิธีในสังคมพหุวัฒนธรรมมุมมองจากปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ได้จัดขึ้น ณ โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด จ.เชียงใหม่ นั้น รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พูดถึงปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยย้ำว่า "เหยื่อรายแรกของสงครามนั้นคือ ความจริง"


 


รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่มาพูดกันเรื่องปัญหาชายแดนภาคใต้ที่เชียงใหม่นี้ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ปัญหาชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เป็นปัญหาท้องถิ่น แต่เป็นปัญหาของประเทศไทย เพราะทุกภาคส่วนจะต้องมีสิทธิที่จะเสนอความคิดเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา และในเวลานี้ เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ สื่อมวลชนและสาธารณชนในสังคมไทยกำลังสงสัย ไม่แน่ใจว่า จะใช้กระบวนการสันติวิธีแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ได้หรือไม่ ฉะนั้น เวลาพูดกันถึงเรื่องสันติวิธี ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เอาด้วย และก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจจะทำ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าสันติวิธีมันคืออะไร


 


รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ได้กล่าวถึง "ความจริง" ของปัญหา ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นใหญ่ที่จะต้องช่วยกันตั้งคำถามว่า ความจริงของปัญหามันอยู่ตรงไหน และมีผลอย่างไร เพราะสุภาษิตเก่าๆ นั้นบอกไว้ว่า ในเวลาที่มีศึกสงคราม เหยื่อรายแรกของสงครามนั้นก็คือ ความจริง


 


รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ถึงแม้เรายังไม่ใช่ศึกสงคราม แต่ก็ถือว่าในสังคมไทยในขณะนี้เราอยู่ในความขัดแย้งที่ถึงตาย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ ซึ่งสภาพปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น มันเกิดขึ้นอย่างน้อย 5 ข้อ คือ 1.เวลาความจริงถูกทำร้าย ศัตรูกลายเป็นอะไรบางอย่างที่ถูกมองว่าไม่ใช่มนุษย์ หรือศัตรูกลายเป็นอะไรที่ไม่ใช่คนไทย


 


2.เวลาเกิดความรุนแรง เรามักเอาเหยื่อมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาครูจูหลิง หรือคนอื่นๆ มาใช้ในหลายลักษณะ เพื่อประโยชน์ของสถาบันองค์กรปกครองตัวเอง


 


3.สภาพความรุนแรงเข้มข้นเช่นนี้ มันจะบดบังปัญหาปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆ ซึ่งทำให้เรามองเห็นแต่คนฆ่ากัน แต่ทำให้เรามองไม่เห็นว่า ความไม่เป็นธรรมมันอยู่ตรงไหน


 


4.ภายใต้กรอบความขัดแย้งอย่างเข้มข้น ทำให้ความจริงหนีหายไป ทำให้ข้อมูลเอกสารของทางราชการกลายเป็นความจริง ซึ่งถ้าเราเชื่อข้อมูลของทางราชการทั้งหมดเราก็แย่ เพราะข้อมูลราชการมักจะชี้ให้เห็นว่า เราถูก เขาผิด


 


และ 5. แนวคิดสันติวิธีหรือสันติภาพหายไป ก็เพราะความรุนแรงทำให้เราลืม 4 ข้อที่กล่าวมาทั้งหมด ดังนั้น ถ้า สกอ.จะเริ่มต้นโครงการสันติวิธีในสังคมพหุวัฒนธรรมมุมมองจากปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะต้องคิดถึงและยอมรับความจริงเหล่านี้เสียก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net