ปัญหาเรื้อรังคนกับป่า กับสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ

มนูญ มุ่งชู

สำนักข่าวประชาธรรม

 

ระหว่างที่กำลังมีการผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันอยู่นี้  ประเด็นที่อาจจะอยู่ห่างไกลศูนย์กลางอำนาจ  และได้รับการกล่าวถึงน้อย   คือประเด็น "สิทธิชุมชน"   ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ 

 

กรณีตัวอย่างความขัดแย้งของชุมชนที่ในเขตป่ากับเจ้าหน้าที่รัฐยังเป็นกรณีคลาสสิคที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก   ดังเช่นกรณีความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐในเขตป่าสงวนเขาพระวิหาร  .บักดอง  .ขุนหาญ  .ศรีสะเกษ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความขัดแย้งจากกรณีปัญหาการประกาศพื้นที่เขตป่าสงวนเขาพระวิหารทับที่ทำกินชาวบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาที่นับเนื่องมาหลายสิบปีแล้ว  เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากหลาย ๆ ปัจจัยด้วยกัน

 

ยุคเกษตรเชิงเดี่ยว  รัฐไฟเขียวให้รุกป่า

 

หากย้อนมองกลับไปเมื่อ 40 - 50 ปีก่อน  จะพบว่าภาคเกษตรกรรมของไทยได้เริ่มเปลี่ยนจากเกษตรพอเพียงที่ชาวบ้านทำมาหากินอย่างเรียบง่าย ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง แต่ในมุมมองของรัฐบาลยุคนั้นกลับมองว่าการดำรงอยู่อย่างนั้นของชาวบ้านไม่ได้ช่วยให้ประเทศพัฒนาขึ้นมาได้ ทำให้แนวคิดเรื่องการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้เข้ามาแทน  และนี่เองคือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าไม้อย่างชนิดใครมีกำลังก็มากหน่อย  ใครทำน้อยก็ได้น้อย    ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลกลับมองว่าเป็นเรื่องที่ดีและไม่เข้าข่ายการทำลายป่าไม้แต่เป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

 

มา    จันทร์หอม  พ่อเฒ่าวัย  84 ปี ชาวบ้านสำโรงเกียรติ  .บักดอง  .ขุนหาญ  ย้อนอดีตให้ฟังว่า  เมื่อประมาณปี 2504  พ่อเป็นคนแรกที่เข้ามาอาศัยจับจองพื้นที่แถบนี้ทำกินซึ่งตอนแรกที่เข้ามาก็มาปักหลักปักฐานอยู่บริเวณที่เป็นปัญหากันอยู่ในปัจจุบัน ( กม. 9 - 13 ถนนสำโรงเกียรติ - ช่องกะบาลกะไบ)

 

"สมัยนั้นเป็นยุคของการบุกเบิกจับจองพื้นที่ทำกินป่าไม้ยังมีเยอะทางการจึงไม่ได้เข้มงวดเหมือนทุกวันนี้  ชาวบ้านที่ทยอยตามมาต่างก็บุกเบิก แผ้วถางป่าใครที่ขยันก็ได้มากหน่อย  ใครขี้เกียจก็ได้ที่ดินน้อยกว่าเพื่อน"

 

พ่อเฒ่าเล่าต่อว่า  ยุคนั้นนอกจากทางการจะไม่จับกุมแล้วยังส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชไร่เริ่มจากปลูกแตงก่อน จากนั้นก็มาปลูกปอ   และมันสัมปะหลัง  เศรษฐกิจในช่วงนั้นถือว่าดีมาก  ผลผลิตก็งามเพราะดินยังอุดมสมบูรณ์อยู่  จึงได้เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านขยับขยายพื้นที่เพื่อปลูกพืชไร่ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรสมัยนั้น  ทำให้ป่าโล่งเตียนอย่างรวดเร็ว  ไม่นานพื้นที่แถบนั้นก็กลายเป็นรั้วเป็นสวน ชาวบ้านรวมกันเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นและทำกินกันมาอย่างสงบสุข

 

ฉวยโอกาสประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์

 

พ่อเฒ่า  เล่าต่ออีกว่า กระทั่งประมาณปี 2518 ถึง 19 คอมมิวนิสต์ได้เข้ามาในพื้นที่  ทางการกลัวว่าจะโดนลูกหลงจากการสู้รบและเกรงว่าบางส่วนจะเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์จึงได้มีคำสั่งให้อพยพออกจากพื้นที่โดยสัญญาว่าถ้าเหตุการณ์สงบก็สามารถกลับเข้าไปทำกินในที่ดินของตัวเองได้ใหม่อีกครั้ง โดยมีหนังสือรับรองเป็น สค.1 ที่ยังเก็บไว้เป็นหลักฐานยืนยันมาจนปัจจุบัน

 

"เมื่อมีนโยบาย 66/23 หมดยุคคอมมิวนิสต์ ชาวบ้านก็กลับเข้าไปทำกินอีกครั้ง แต่ทำได้ไม่กี่ปี คือประมาณปี 2526 ถึง 28 ก็มาถึงยุคเขมรแตกมีชาวเขมรอพยพลี้ภัยสงครามมาอยู่บริเวณที่ทำกินชาวบ้านเป็นจำนวนมาก  และพื้นที่แถวนั้นก็เต็มไปด้วยกับระเบิด  ชาวบ้านจึงถูกอพยพออกมาใหม่อีกครั้ง "

 

พ่อเฒ่า  เล่าต่อว่า หลังสงครามสงบก็ได้นำต้นเงาะ และทุเรียนอย่างละ 200 ต้น ไปปลูกลงทุนทั้งค่าปุ๋ยค่ายาหมดไปหลายหมื่นบาท  แต่พอปลูกเสร็จเจ้าหน้าที่กลับไม่ให้เข้าไปดูแลอ้างว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติเมื่อทิ้งไว้นานหญ้าคาก็ขึ้นเต็มไฟจึงไหม้เสียหายไปบางส่วน  จึงได้ตัดสินใจกลับเข้าไปเพื่อจะบำรุงรักษาต้นไม้ส่วนที่เหลืออยู่จึงได้โดนจับ  โดยเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ต้องตกใจ  ไปเสียค่าปรับไม่เท่าไหร่แล้วทางการจะออกเอกสารสิทธิ์ให้แล้วค่อยกลับมาทำใหม่ แต่พอไปถึงกลับบอกว่าเข้าไปไม่ได้อีกแล้วโดยอ้างว่าตนทำกินไม่ต่อเนื่อง

 

"พอโดนจับก็รู้สึกแปลกใจ  เพราะเราก็ทำกินมาโดยตลอด ความไม่ต่อเนื่องนั้นไม่ใช่ความผิดของชาวบ้านแต่เหตุการณ์บ้านเมืองมันบังคับ  วันนี้พ่อก็อายุปูนนี้แล้วส่วนตัวก็ไม่คิดจะต่อสู้กับทางการหรอกแต่ที่ต้องทำก็เพราะเป็นห่วงลูกหลานกลัวพวกเขาจะลำบากหากไม่มีที่ดินทำกิน"  พ่อเฒ่ากล่าว

 

รัฐทำงานซ้ำซ้อน แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

 

กรณีปัญหาดังกล่าวชาวบ้านเคยร่วมกันต่อสู้เรียกร้องในนาม สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย..)มาตั้งแต่ปี 2541  กระทั้งได้มีคำสั่งลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2541 โดยมีนายชำนิ  ศักดิเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะตัวแทนรัฐบาลสมัยนั้น ลงนามร่วมกับนายนคร   ศรีวิพัฒน์ ตัวแทน สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน จนได้ข้อตกลงให้  ศูนย์ปฏิบัติการที่ดินและป่าไม้ดำเนินการโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติเขาพระวิหาร  ทำการสำรวจวางแผนกำหนดความเหมาะสมการใช้พื้นที่ ทำการตรวจสอบและรับรองสิทธิ์ให้แก่ราษฎรซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน  2541

 

โดยคณะทำงานได้ทำการสำรวจจับพิกัดเพื่อเตรียมปักหมุดและออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน (สทก.)ให้แก่ราษฎรจำนวน 705 (ที่มาขึ้นทะเบียน)ครอบคลุมพื้นที่ 8,421 ไร่  ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้ผ่านการสำรวจการถือครองที่ดินในพื้นที่ป่าแล้วตั้งแต่ปี พ.. 2539 - 2541   ซึ่งตามข้อตกลงเดิมทางศูนย์จะดำเนินสำรวจให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน  2548 โดยมีข้อตกลงว่าในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาห้ามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำการขับไล่  จับกุม คุมขัง ชาวบ้านเหล่านั้นจนกว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จ

 

แต่ระหว่างที่ทางคณะทำงานดำเนินการสำรวจไปได้ระยะหนึ่งก็ได้ยุติการสำรวจลงเนื่องจากทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชมีโครงการที่จะผนวกพื้นที่ส่วนหนึ่งจำนวน 669 ไร่ (จาก 8,241 ไร่) เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก  จึงมีชาวบ้านที่ตกสำรวจอยู่อีก  35 ราย  ซึ่งโดยหลักการของกรมป่าไม้หากพื้นที่ใดได้ทำโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าสงวนแห่งชาติ  จะต้องดำเนินการตามแผนที่วางไว้จนเสร็จสิ้นตามขั้นตอนทั้งหมด จากนั้นจึงรายงานเสนอต่อ รมต.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นเขตป่าเสื่อมโทรมแล้วจึงจะสามารถดำเนินการมอบเอกสารสิทธิทำกิน (สทก.) โดยถูกต้องตามกฎหมายได้

 

เมื่อมีโครงการผนวกพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯแล้วในส่วนของศูนย์ปฏิบัติการที่ดินป่าไม้(อุบลราชธานี) จึงไม่สามารถดำเนินการใด ๆต่อไปได้  ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับการจับพิกัดเพื่อปักหมุดสทก.ไปแล้วจำนวน 670 รายไม่มีสิทธิเข้าไปใช้ประโยชน์ใด ๆในพื้นที่ของตัวเอง  แม้ว่าจะได้ลงทุนปลูกพืชไร่โดยเฉพาะมีหลายรายที่ได้รับการจับพิกัดไปแล้วนั้นก็ได้ปลูกยางพาราลงทุนไปหลายหมื่นบาทเพราะมั่นใจว่าจะได้เอกสารสิทธิทำกิน (สทก.)อย่างแน่นอน 

 

หลังจากปลูกเสร็จ พอเข้าไปบำรุงรักษาต้นยางพาราและพืชไร่ของตัวเองก็จะโดนเจ้าหน้าที่จับ ปรับ ข้อหาบุกรุก แผ้วถางป่าสงวน ชาวบ้านถูกแจ้งข้อหาในลักษณะนี้มาแล้วร่วม 40 กว่าคดี ต่อสู้ในชั้นศาลเสียค่าปรับ ค่าทนาย รายละหลายหมื่นบาท  บางรายที่ไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัวก็ต้องไปเช่าโฉนดที่ดินของคนอื่นมาประกันตัว 

 

ทั้งที่มีข้อตกลงชัดเจนว่าจะไม่มีการจับ  กุม  คุมขัง  และชาวบ้านที่ได้รับการจับพิกัด ปักหมุด สทก.แล้วนั้น ให้สามารถเข้าไปทำกินได้แต่ห้ามบุกรุกเพิ่มเติม ในระหว่างที่ ศูนย์ปฏิบัติการฯดำเนินการพิสูจน์สิทธิยังไม่แล้วเสร็จ

 

ประสิทธิ    หนองเทา  เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ทำหน้าที่หัวหน้าโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  จังหวัดอุบลราชธานี  กล่าวว่า ในส่วนข้อเสนอของชาวบ้านที่จะให้กรมป่าไม้โดยศูนย์ปฏิบัติการที่ดินและป่าไม้ดำเนินการโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติเขาพระวิหาร ตามแผนที่วางไว้ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่ 35 รายจากทั้งหมด 700 กว่ารายนั้น ในส่วนของศูนย์ปฏิบัติการไม่มีปัญหาและพร้อมที่จะดำเนินการต่อได้ทันที แต่ติดขัดตรงที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ทับซ้อนกับกรมอุทยานแห่งชาติที่มีโครงการผนวกพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตรักษาพันธุ์   ซึ่งทางศูนย์ได้ทำหนังสือไปยังกรมอุทยานแห่งชาติเพื่อขออนุญาติเข้าไปดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามแผนงานเดิมแล้ว  

 

" ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอคำสั่งตอบรับจาก อธิบดีกรมอุทยานว่าจะอนุญาติให้ทางศูนย์ดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จตามแผนหรือจะให้หน่วยงานอื่นมารับผิดชอบต่อก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท่าน " หัวหน้าโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  จังหวัดอุบลราชธานี  กล่าว

 

การปฏิบัติงานในฐานะผู้พิทักษ์ป่านั้นเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง  แต่ถ้าเป็นการกระทำไปด้วยความลุแก่อำนาจ หรือมีเงื่อนงำที่ไม่โปร่งใส  ไม่เห็นหัวคนจน ก็ถือว่าเป็นการรังแกชาวบ้านที่ไม่มีทางสู้   ครั้นพวกเขารวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นก็หาว่าเป็นพวกก่อความไม่สงบซะงั้นไป 

 

ปัญหานี้คงต้องฝากความหวังไว้กับ  สภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการยกร่างว่าจะบรรจุ หมวดที่ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเข้าสู่วาระการพิจารณาได้หรือไม่  คงต้องติดตามดูกันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท