Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เสียงโทรศัพท์จากเพื่อนที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา ปลุกผมให้ตื่นขึ้นมาในเช้าวันที่ 12 มีนาคม เพื่อมาเจอข่าวร้าย นั่นคือการจากไปของพี่ที่รักนับถือ ผู้ที่ผมสามารถก้มกราบได้อย่างสนิทใจ "สุวิทย์ วัดหนู" ในบ้านพักที่กรุงเทพฯ ซึ่งห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร


 


เป็นอีกครั้งที่ความใกล้ของระยะทาง ไม่ได้ทำให้คนเราใกล้กัน


 


ผมมีโอกาสได้คุยกับพี่สุวิทย์ยาวๆ หลายครั้ง และอยู่ในความทรงจำก็หลายครั้ง ครั้งหนึ่งก็คือหลังกลับจากการพำนักในต่างประเทศเป็นเวลานับปี ตาม "โครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย" ที่พี่สุวิทย์ได้รับทุน ผมจำได้ว่า พี่เขายังชักชวนให้ผมไปรับทุนในโครงการนี้


 


ผมจำได้ด้วยว่า แกเอื้อนเอ่ยถึงทางเดินข้างหน้า นั่นคือการตั้งพรรคการเมือง พรรคของประชาชน คำพูดของแกท่อนหนึ่งยังอยู่ในหูผม เป็นคำพูดธรรมดา แต่บังเอิญจำได้ นั่นคือ "ผมจะทำพรรคในช่วงสุดท้ายของชีวิต" และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้แกไม่รับตำแหน่งใดๆ ในคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ในการประชุมสมัชชาครั้งล่าสุด ในปลายปี 2548 ซึ่งเป็นวาระที่ผมมีโอกาสพบร่างเป็นๆ ของแกเป็นครั้งสุดท้าย


 


หลังจากนั้นก็ได้แต่เห็นพี่สุวิทย์บนเวที "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" กับหน้าที่ในฐานะโฆษก ดำเนินรายการบนเวที ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผมมักจะได้เห็นนับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 2535 เป็นต้นมา


 


พูดตามจริงนะครับ ในเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เราควรจะได้เห็นพี่สุวิทย์ คุมเวที และมีอำนาจเต็มในการจัดการบนเวทีตลอดรายการ แต่การชุมนุมของพันธมิตรและโครงสร้างของการเคลื่อนไหวไม่ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคประชาชนในฐานะผู้ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวกับการไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อย่างพี่สุวิทย์ได้ทำหน้าที่เท่าไรนัก


 


กระทั่ง ขณะที่ลมแรงพัดพาการชุมนุมให้ชูธงมาตรา 7 ขณะที่พี่ๆ เพื่อนๆ หลายคนร่วมกลุ่มก๊วนกับพี่สุวิทย์บอกผมว่า "พอรับได้" ผมยังแอบเชื่อและเลือกที่จะเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า พี่สุวิทย์น่าจะอยู่ในสภาพที่อึดอัดขมขื่นมากกว่าแค่แสดงออกด้วยคำๆ นั้น 


 


ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือไม่ หลังจากนั้น ผมก็เห็นบทบาทบนเวทีของพี่สุวิทย์ลดลง อาจจะเพราะแกเลือกเอง หรืออำนาจบนเวทีถูกผ่องถ่ายไปอยู่ในมือ "เจ้าของ" การชุมนุมมากขึ้นก็ไม่ทราบได้


 


ไม่ว่าจะอย่างไร  ผมเชื่อยิ่งกว่าเชื่อว่า "สุวิทย์ วัดหนู" ร้องเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" ได้จบครบถ้วน ทุกบาททุกบท ทุกนัยความหมาย ทั้งบนบรรทัดและระหว่างบรรทัด ทั้งนัยแห่งอดีตและปัจจุบัน และเลือกที่จะร้องมันไปตลอดชีวิต แม้จำเป็นต้องยืนนิ่งไปกับ เพลง 'ความฝันอันสูงสุด" หลังเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาจบลงบนเวทีพันธมิตรฯก็ตาม


 


ด้วยความเคารพ ผมไม่ได้ประสงค์มาจัดให้แกเป็นอะไร เพื่อเป็นเครื่องมือของอะไร เพราะในขณะที่เราขัดแย้งด้วยความคิดทางการเมืองกับเพื่อนสนิทมิตรสหายหลายคน สำหรับสุวิทย์ วัดหนู ยังคงเป็นเพื่อนให้กับเพื่อนในพรรคไทยรักไทย เช่นเดียวกับเป็นเพื่อนที่ดีในพันธมิตรฯ ยังคงเป็นพี่ๆ ของน้อง ไม่ว่าจะขั้วไหน หรือโปรใคร


 


คนๆ นี้นี่แหละที่ประกาศด้วยการกระทำตลอดชีวิตของแกว่า "ความเป็นมนุษย์" เป็นความงามชนิดหนึ่งที่มีค่าเหนือหรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอุดมการณ์หรืออุดมคติใดๆ  


 


คนๆ นี้นี่แหละ ที่ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นของมายา และมิตรภาพต่างหากที่เป็นของจริง


 


หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผมยังคงไม่ได้เจอพี่สุวิทย์ ไม่มีการสื่อสารใดๆ ต่อกัน รู้แต่เพียงสารที่ส่งต่อกันมาถามไถ่ถึง ว่าเมื่อไรจะมีโอกาสได้คุยกันและลดช่องว่างระหว่างกัน


 


ที่น่าเศร้าก็คือ บ้านพี่สุวิทย์ ก็ใกล้แค่นี้ วันที่แกจากไป ข่าวคราวของแก ผมยังต้องรู้จากฮาวาย  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net